วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 12: MACKPACKER (5)


ACT I
PROLOGUE

Two households, both alike in dignity,
In fair Verona, where we lay our scene,
From ancient grudge break to new mutiny,
Where civil blood makes civil hands unclean....

ROMEO
[To JULIET] "If I profane with my unworthiest hand
This holy shrine, the gentle fine is this:
My lips, two blushing pilgrims, ready stand
To smooth that rough touch with a tender kiss.

JULIET
Good pilgrim, you do wrong your hand too much,
Which mannerly devotion shows in this;
For saints have hands that pilgrims' hands do touch,
And palm to palm is holy palmers'kiss.

...." (End of Act I)

เมื่อแรกที่ผู้เขียนมาถึงควิเบกซิตี้ สภาพภูมิศาสตร์ อาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างของควิเบกซิตี้ทำให้อดคิดถึงบรรยากาศและบทสนทนาของตัวละครในบทละครอมตะเรื่อง Romeo & Juliet ของ William Shakespear ตามที่กล่าวมาข้างบนไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งเหตุการณ์ที่ Shakespear ประพันธ์บทละครเรื่อง Romeo & Juliet และการก่อตั้งเมืองควิเบกซิตี้เป็นระยะเวลาร่วมยุคสมัยเดียวกัน โดยบทละครเรื่อง Romeo & Juliet มีหลักฐานเชื่อกันว่า Shakespear ประพันธ์บทละครเรื่องนี้ก่อนหน้าที่จะนำมาเผยแพร่ครั้งแรกเื่มื่อปี ค.ศ. 1597 ไม่นานนัก ในขณะที่ Samuel de Champlain ที่เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้ก่อตั้งเมืองควิเบกเมื่อปี ค.ศ. 1608 และจากการที่ทั้งคู่เป็นชาวยุโรปร่วมสมัยเดียวกัน ดังนั้นแนวคิดการสร้างบ้านแปงเมืองของ de Champlain และการสร้าง prop บทละครของ Shakespear ย่อมจะมีความคิด ความเชื่อตามยุคสมัยนั้น มาเหมือนๆ กัน

สำหรับตัวผู้เขียนนั้นชื่นชอบบทประพันธ์ของ Shakespear มาอยู่ก่อนแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าได้รับอิทธิพลจากเมื่อสมัยเรียนปริญญาตรีที่ต้องเรียนวรรณคดีอังกฤษ โดยอาจารย์ได้นำภาพยนต์เรื่อง Romeo & Juliet เวอร์ชันปี ค.ศ. 1968 ตามคลิปข้างบนที่ Leonard Whiting เล่นเป็น Romeo Montague และ Olivia Hussey เล่นเป็น Juliet Capulet มาฉายให้ดู ซึ่งผู้เขียนต้องขอบอกว่าชื่นชอบกับภาพยนต์เวอร์ชันนี้มากๆ เพราะคิดว่าภาพยนต์เวอร์ชันนี้มีความคลาสสิกค่อนข้างมากในเรื่องการนำเสนอ ตัวผู้แสดง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงประกอบภาพยนต์ที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักคือเพลง "A Time for Us" โดย "A Time for Us" นี้เป็นเพลงประกอบภาพยนต์อีกเวอร์ชันหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องของเพลงต้นฉบับที่ชื่อ "What Is a Youth" ซึ่งต่อมามีนักร้องโอเปร่านำไปร้องกันอย่างแพร่หลาย

สำหรับผู้ที่มีความชื่นชอบภาษาอังกฤษ รวมไปถึงชอบอ่านหนังสือบทละคร บทกวีโดยใช้ศัพท์แสงโบร่ำโบราณของนักประพันธ์ยุคเก่าๆ ที่เขาเรียกว่า playwrights ร่วมยุคเดียวกับ Shakespear อย่างเช่น Christopher Marlowe ถ้าได้ชมภาพยนต์ชุดนี้คิดว่าน่าจะชอบเหมือนกัน

อารัมภบทมาเสียยืดยาวถึงตรงนี้ก็เพียงแต่จะเล่าว่าควิเบกซิตี้มีบรรยากาศและที่มาคล้ายคลึงกับบรยากาศในบทละครของ Shakespear ก็เท่านั้นเอง ผู้เขียนใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงในการเดินทางจากมอนทรีอัลมายังสถานีรถโดยสารของควิเบกซิตี้ เมื่อมาถึงก็เป็นเวลาสี่โมงเย็นซึ่งพระอาทิตย์ตกและท้องฟ้าก็มืดไปแล้วในช่วงเวลาหน้าหนาวเช่นนี้

การเดินทางมายังควิเบกซิตี้มีความสะดวกมาก ไม่ว่าจะเป็นทางเครื่องบินถึงแม้ว่าเส้นทางบินจะครอบคลุมแค่ไม่กี่เมืองในแคนาดาและอเมริกา เช่น มอนทรีอัล โตรอนโต ออตตาวา นิวยอร์ก ชิคาโก ดีทรอยด์ รวมไปถึงมีเส้นทางบินไปปารีสด้วย แต่ก็ยังนับว่า Jean Lesage International Airport ที่ควิเบกซิตี้เป็นทางเลือกสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินทางโดยเครื่องบิน

อีกเส้นทางหนึ่งที่นำท่านมาสู่ควิเบกซิตี้ได้ก็คือรถไฟ เส้นทางการเดินรถไฟของแคนาดานั้นค่อนข้างครอบคลุมในหลายๆ เมืองที่สำคัญตั้งแต่ฝั่งตะวันออกไปจนถึงฝั่งตะวันตก ด้วยความที่แคนาดามีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีคนเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าหากว่าต้องการเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของแคนาดาโดยทางรถไฟ หรือ VIA Rail Canada ต้องใช้เวลาถึงสามวันเต็มๆ จึงจะเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง





อีกเส้นทางหนึ่งที่สะดวกที่สุดก็คือเดินทางรถโดยสารแบบเดียวกันกับผู้เขียนในตอนนี้ ด้วยความเหนื่อยจากการนั่งรถประกอบกับขี้เกียจศึกษาเส้นทางเดินของรถเมล์เพราะที่นี่ไม่มีรถไฟใต้ดินเหมือนเมืองใหญ่ๆ อย่างมอนทรีอัล ผู้เขียนจึงเรียกรถแท๊กซี่เพื่อให้พาไปส่งที่ Auberge Internationale de Quebec (HI International Hostel of Quebec)

hostelling ที่ควิเบกซิตี้นี้ ผู้เขียนค่อนข้างถูกใจมากกว่าทุกๆ ที่ที่เคยไปพัก เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่บริการแก่ผู้เข้าพักหลายอย่าง โดยเฉพาะครัวที่ใหญ่กว่าทุกที่ และมีตู้เย็นที่เราสามารถซื้อของสดมาเก็บไว้ได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงทำกับข้าวกินเองระหว่างท่องเที่ยวที่นี่ เพราะนอกจากจะประหยัดเงินแล้วรสชาติอาหารไทยที่เราทำกินเองย่อมถูกใจเราด้วย ลืมเล่าไปว่าเครื่องปรุง กะปิ น้ำปลาของบ้านเราหาได้ไม่ยากในแคนาดา ไม่ว่าเมืองนั้นจะเป็นเมืองเล็ก เมืองน้อยแค่ไหน จะมีหรือไม่มี China Town นั่นไม่ใช่ปัญหาของคนไทยที่อยากหาเครื่องปรุงแบบบ้านเรา เพราะตาม Supermarket มีเครื่องปรุงจากเอเชียขายแทบทั้งนั้น ข้าวสารจากประเทศไทยยังมีขายเลย ลองสำรวจบรรยากาศของ hostelling เสียหน่อยตามคลิปข้างล่างโดยผู้นำทัวร์คนเดิมที่เคยพาไปดูบรรยากาศ hostelling ที่ออตตาวามาแล้ว





ควิเบกซิตี้เป็นเมืองที่น่าสนใจและน่าท่องเที่ยวรวมทั้งมีประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ สมควรที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในรายละเอียดในตอนหน้า เนื่องจากผู้เขียนคิดว่ายังมีคนไทยจำนวนมากที่มองข้ามเมืองทีี่มีเสน่ห์แห่งนี้ไป เพราะเห็นเวลาใครเดินทางมาทวีปนี้ทีไร มักจะนิยมท่องเที่ยวเฉพาะเมืองท่องเที่ยวในอเมริกา หรือบางคนถ้ามีโอกาสผนวกแคนาดาเข้าไปด้วยก็มักจะจอดป้ายที่แวนคูเวอร์หรือไม่ก็โตรอนโต ซึ่งน่าเสียดายมากที่มองข้ามเมืองอย่างควิเบกซิตี้แห่งนี้ไป



video credit to youtube by pianous, Mattis 10000

Photos crdit to: http://www.viarail.ca/en/trains/

Ref: Play Script by W. Shakespear at http://www.william-shakespeare.info/act1-script-text-romeo-and-juliet.htm

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 11: MACKPACKER (4)

ผู้เขียนออกจากออตตาวาเพื่อเดินทางต่อไปยังมอนทรีอัลและควิเบกซิตี้ด้วยอารมณ์ที่ไม่ค่อยแจ่มใสนัก ไม่ได้เป็นเพราะไม่ถูกอัธยาศัยผู้คนชาวคาเนเดียนในเมืองหลวงแห่งนี้แต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่าคนที่ทำให้เส้นกราฟอารมณ์ของผู้เขียนตกอยู่ในแดนลบดันเป็นคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งจะไม่เล่าในรายละเอียดเพราะอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ และผู้เขียนคิดว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรมที่นำเอาเรื่องราวในแง่ไม่ดีของผู้อื่นมานำเสนอในบล็อกของเราแต่ฝ่ายเดียว โดยผู้อื่นไม่มีโอกาสได้ชี้แจง

วันที่ 16-22 ธันวาคม 2543 (มอนทรีอัล-ควิเบกซิตี้)

ผู้เขียนเดินทางออกจากออตตาวาประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่งของวันที่ 16 ธันวาคม ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่งก็มาถึงมอนทรีอัล

อากาศที่มอนทรีอัลช่วงนั้นไม่ค่อยจะดีนักนอกจากจะมีหิมะแล้วก็ยังมีฝนโปรยปรายเป็นบางช่วงอีกด้วย ทำให้การเดินเท้าไปตามสถานที่ต่างๆ ค่อนข้างลำบากเพราะพื้นถนนและทางเท้าลื่นมาก

เมื่อเริ่มมาถึงมอนทรีอัลผู้เขียนสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นฝรั่งเศสของที่นี่ได้หลากหลายรูปแบบ เริ่มต้นจากเรื่องของภาษาก่อนเป็นอันดับแรก โดยป้ายชื่อถนน ป้ายประกาศบอกชื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นชื่อฝรั่งเศสหมดจนผู้เขียนไม่กล้าอ่านเพราะกลัวอ่านผิด ดังตัวอย่างชื่อย่านหรือเขตต่างๆ ในมอนทรีอัล

Ahuntsic-Cartierville, Anjou, Côte-des-Neiges–Notre-Dame-de-Grâce,Lachine, LaSalle, Le Plateau-Mont-Royal, Le Sud-Ouest, L'Île-Bizard–Sainte-Geneviève, Mercier–Hochelaga-Maisonneuve, Montréal-Nord, Outremont, Pierrefonds-Roxboro, Rivière-des-Prairies–Pointe-aux-Trembles, Rosemont–La Petite-Patrie, Saint-Laurent, Saint Leonard, Verdun, Ville-Marie and Villeray–Saint-Michel–Parc-Extension.

มอนทรีอัล หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า City of Montreal ชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Ville de Montréal เป็นเมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลักที่แพร่หลายมากที่สุดเป็นลำดับสองรองลงมาจากปารีส นอกจากนี้มอนทรีอัลยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการค้า การลงทุน ที่สำคัญของแคนาดาเป็นลำดับที่สองรองจากโตรอนโต สำหรับในเรื่องสถาปัตยกรรม อาคารตึกรามบ้านช่องของเมืองนี้ก็น่าสนใจมากไม่แพ้เรื่องอื่น ที่มอนทรีอัลแห่งนี้เขาสามารถอนุรักษ์สิ่งที่บ่งบอกของชาติกำเนิดของคนมอนทรีอัลได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของเมือง หรือที่เขาเรียกว่า Old Montreal นั้นจะเป็นที่ตั้งของโบสถ์ วิหาร หรือสถานที่ในยุคเก่า เช่น Notre-Dame Basilica ที่นักท่องเที่ยวมักจะไม่พลาดที่จะเข้าเยี่ยมชม โดยในบริเวณเมืองเก่าของมอนทรีอัลมีสถาปัตยกรรมเก่าๆ มากมายรวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาของเมืองนี้ด้วย ซึี่งในแต่ละสถานที่มีที่ตั้งไม่ไกลกันนัก นักท่้องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเดินเท้าในการซึมซับบรรยากาศเพื่อจินตนาการย้อนกลับไปยังปี ค.ศ. 1642 :ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสร้างเมืองแห่งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ชอบเดินที่นี่เขาก็จะมีรถม้าไว้สำหรับบริการด้วย














สำหรับผู้ที่อยากมองทัศนียภาพสวยๆ แบบ panorama ของ downtown มอนทรีอัลสามารถเดินทางขึ้นไปชมวิวได้ที่ Mount Royal ที่ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นที่ฟอกปอดของคนเมืองมอนทรีอัล เพราะนอกจากจะเป็นสุสานสำหรับฝังศพในนิกายคาทอลิกแล้ว ที่นี่ยังมีสวนสาํธารณะขนาดใหญ่ถึงสามแห่ง โดยผู้ที่ออกแบบภูมิสถาปัตย์สวนสาธารณะบน Mount Royal แห่งนี้ เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ออกแบบภูมิสถาปัตย์สวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงอย่าง Central Park ในนครนิวยอร์กด้วย




นอกเหนือจากสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว สิ่งก่อสร้างร่วมสมัยที่มอนทรีอัลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อคราวที่มอนทรีอัลเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ค.ศ. 1976 ซึ่งปัจจุบันสนามกีฬาแห่งนี้ก็ยังคงใช้อยู่ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกับการเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าเพื่อจับจ่ายสินค้าโดยเฉพาะบรรดาสตรีที่ชอบหาซื้อเครื่องสำอางแบรนด์เนมทั้งหลาย มอนทรีอัลก็สามารถตอบสนองความต้องการของคุณได้ เพราะที่นี่มี the underground city ที่เป็น underground complex ใหญ่ที่สุดในโลก โดย underground city แห่งนี้มีจุดเชืีอมต่อทั้งรถไฟใต้ดินหลากหลายสถานี จุดเชื่อมต่อของอาคาร สถานที่ทำงาน ร้านค้าสุด hip หรือห้างสรรพสินค้า chain ดังๆ ของแคนาดา เช่น the Bay, Eaton Centre ห้าง retailer อย่าง Sears Canada เป็นต้น รวมไปถึงธนาคาร และสารพัดสรรพสิ่ง สำหรับความกว้างของเมืองใต้ดินแห่งนี้กว้างประมาณสิบสองตารางกิโลเมตร และประโยชน์ใช้สอยสูงสุดที่ชาวเมืองมอนทรีอัลน่าจะชอบเมืองใต้ดินแห่งนี้น่าจะเป็นช่วงฤดุหนาวที่เมืองใต้ดินต้องรองรับการเดินทางของชาวเมืองเฉลี่ยตกวันละ 500,000 คน ที่ต้องการหลีกเลี่ยงอากาศหนาวเย็นบนพื้นดิน

















เพื่อให้เห็นภาพความสวยงามของเมืองแห่งนี้ ท่านสามารถเที่ยวทั่วเมืองมอนทรีอัลได้ภายในสองนาทีครึ่งตามวีดีโอคลิปข้างล่างนี้






กลิ่นอายแบบฝรั่งเศสถัดมาน่าจะเป็นเรื่องของอาหารขึ้นชื่อและเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ที่มีชื่อเรียกว่า Shepherd’s pie, or ‘pate Chinois’ (ขอความกรุณาผู้สันทัดฝรั่งเศสอ่านเอาเองแล้วกัน) ซึ่งเจ้าพายนี้จะใส่ไส้ข้างในสามชั้น ชั้นล่างสุดจะเป็นเนื้อบดผสมกับหัวหอมชิ้นเล็กๆ ชั้นกลางจะเป็นเหมือนราดด้วยซุปครีมข้าวโพด ส่วนชั้นบนสุดจะโปะด้วยมันฝรั่งบดซึ่งบางทีก็โรยด้วยผงพริกหยวก เครื่องเคียงที่กินกับพายก็มีมากหลายแล้วแต่ความชอบ เช่น แตงกวาดอง ไข่ บีท หรือบางครั้งก็กินกับคุ๊กกี้ที่ทำมาจาก Maple Syrup ก็แล้วแต่จะชอบกันแบบไหน





ทีนี้กลับมาเรื่องที่ใกล้ตัวผู้เขียนในเรื่องที่พักบ้าง ในการมาเที่ยวที่มอนทรีอัลครั้งนี้ไม่ต้องพบกับความกระอักกระอ่วนใจเกี่ยวกับเรื่องความลี้ลับของ hostel เหมือนที่ออตตาวาแต่อย่างใด เพราะ Auberge Jeunesse เป็น hostel ธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ดัดแปลงมาจากอาคารเก่าที่มีประวัติน่ากลัวแต่อย่างใด นอกจากนี้สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องพัก ห้องครัว มีสภาพดีกว่าที่ออตตาวาค่อนข้างมาก










นอกจากนี้รูมเมทของผู้เขียนที่เป็นนักเรียนจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเนปาลสามคนก็มีอัธยาศัยต้องกัน คุยกันถูกคอจนพากันไปไหนต่อไหนด้วยกันได้เหมือนคนเคยรู้จักกันมานานอย่างนั้นเลย สิ่งเหล่านี้เลยเป็นการสร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนที่มีต่อเมืองปารีสน้อยแห่งนี้

ผู้เขียนกล่าวคำอำลาเพื่อนร่วมห้องพักสามคนในตอนสายๆ ของวันที่ยี่สิบธันวาคมเพื่อออกเดินทางต่อไปยังควิเบกซิตี้ต่อไป

Photos credit to: http://highnotes.concordia.ca/2007/images/about/B37.jpg, http://www.bonjourquebec.com/fileadmin/Image/decouvrez/experiences/villes/montreal/tq_002754_g.jpg, http://xwdesigns.com/blog/wp-content/uploads/2009/06/800px-Mount_Royal_Montreal_Lookout.jpg, http://www.montreal.com/top/index.html, http://www.dkimages.com/discover/previews/988/50252008.JPG, http://www.play-montreal.com/wordpress/wp-content/uploads/2007/11/mtlsouterrain2_maxymegdelisle.jpg, http://static.squidoo.com/resize/squidoo_images/-1/lens2285644_1230757640shepherds-pie-recipes.jpg, http://images.google.co.th/imgres?imgurl=http://images.hostelworld.com/images/hostels/5273_1.jpg&imgrefurl=http://www.hostelworld.com/hosteldetails.php/Auberge-de-Jeunesse-Maeva-Montreal/Montreal/5273&usg=__vQuu7DztThsUhzlPRGIWvcfxp8M=&h=375&w=500&sz=237&hl=en&start=5&sig2=K3OYlTnpTfj-k2o5Qq7JMQ&um=1&tbnid=JWPFsTHQuBloGM:&tbnh=98&tbnw=130&prev=/images%3Fq%3DAuberge%2BJeunesse%2Bhostel%2Bin%2BMontreal%26hl%3Den%26rlz%3D1T4ADRA_enTH348TH348%26um%3D1&ei=wjYvS5rcEYrW7AOxzpjsBw

video credit to youtube by Virtual Canada

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 10: MACKPACKER (3)

หมายเหตุ: รู้สึกว่าจะมีผู้สนใจ Carlton Hostel อยากรู้ว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรก็เลยจะขอโพสท์วีดีโอของ youtube พาทัวร์ hostel แห่งนี้เผื่อมีผู้สนใจที่มีโอกาสได้ไปออตตาวา อยากไปพิสูจน์ก็ตามสะดวกกันเลย (เทคโนโลยีสมัยใหม่นี่ดีจริงๆ เราสามารถหาได้ทุกอย่างใน youtube)



ความเดิมต่อจากตอนที่แล้วว่าด้วยสภาพที่ค่อนข้างน่าสะพรึงของ Carlton Youth Hostel อันเป็นสถานที่พักของผู้เขียนช่วงที่ท่องเที่ยวในออตตาวา ตลอดระยะเวลาสามคืนที่พักอยู่ผู้เขียนก็ไม่ได้ประสบพบเห็นสิ่งใดๆ ที่เหนือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่จะมีอย่างเดียวก็คือในช่วงดึกๆ จะเกิดเสียงดังเหมือนเสียงโลหะกระทบกันเป็นจังหวะๆ ในท่อน้ำ ซึ่งภายหลังมาพบคำให้สัมภาษณ์ของ Wade Kirkpatrick ผู้จัดการ hostel แห่งนี้ เล่าเรื่องที่เผอิญตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนได้ยิน โดยตัวเขาเองก็ไม่เคยพบเจอวิญญาณในนี้ แต่เขาก็ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจสามารถอธิบายได้

"My wife, Crystal, and I lived here for four months before we bought our first house. We lived in an apartment of the seventh floor. We often heard voices and banging on the pipes, although no one was to be seen. People often claim to hear cell doors closing behind them as they walk down death row, which is on the floor above the apartment. One time we want away for the week and shut the water off to our apartment. When we returned from our holiday the water was turned on the hot water was now coming out of the cold water tap.?"

ยังไงก็แล้วแต่ตามความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าด้วยสภาพเก่าแก่ของสถานที่ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดเสียงดังได้บ้าง สำหรับกรณีนี้ผู้เขียนไม่คิดว่าเกิดมาจากอิทธิฤทธิ์ของวิญญาณใน hostel แต่อย่างใด แต่ก็นั่นแหละนะสิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้และดูลึกๆ ลับๆ มักจะมีแรงดึงดูดให้คนเดินทางมาพิสูจน์ความลึกลับเหล่านี้ ดังนั้นในแต่ละปี Carton Hostel จึงมีโอกาสต้อนรับ backpackers จำนวนมากที่พิสมัยเรื่องราวลึกลับแบบนี้

สำหรับประวัติโดยย่อของเมืองหลวงแคนาดาแห่งนี้นั้นได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองหลวงในสมัยของควีนวิกตอเรียในปี ค.ศ. 1857 โดยในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ 1857-1866 ได้สร้างอาคารตึกรามสำหรับเป็นที่ทำการของรัฐบาลที่สำคัญๆ ได้แก่ อาคารรัฐสภา หรือที่รู้จักกันว่า Parliament Hill ในหมู่นักท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ที่ต้องเข้าเยี่ยมชมหากเดินทางมาเยือนออตตาวา



ก่อนที่กรุงออตตาวาจะมีภูมิสถาปัตย์และมีที่ทำการของรัฐบาลกลางได้สวยงามเช่นปัจจุบัน ออตตาวาเคยประสบกับหายนะครั้งใหญ่นั่นคือเกิดไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1900 และ ค.ศ. 1916 แต่ผลจากการเกิดไฟไหมุ้ึถึงสองครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ออตตาวาได้รับการบูรณะและมีการจัดวางผังเมืองเป็นอย่างดีในเวลาต่อมา

ผู้เขียนใช้เวลาสองวันหมดไปกับการเที่ยวชมสถานที่อาคารทำการของรัฐบาลกลางแคนาดาไม่ว่าจะเป็น Parliament Hill หรือศาลฎีกาของรัฐบาลกลางแคนาดา หรือ Supreme Court of Canada (ศาลแห่งนี้เองที่ตัดสินให้ส่งนายราเกรซ สักเสนา กลับเมืองไทยในขณะที่เจ้าตัวนั่งรอฟังคำสั่งศาลอยู่ที่บ้านพักในเมืองแวนคูเวอร์ที่ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับออตตาวา)



นอกเหนือจากนั้นก็เดินชมวิถีการใช้ชีวิตของชาวคาเนเดียนในเมืองหลวงว่าเขาทำกิจกรรมอะไรกันบ้างในหน้าหนาว ที่เห็นชัดๆ คือการใช้ชีวิตของคนที่นี่ก็เหมือนกับชาวตะวันตกทั่วไปที่นิยมกิจกรรมกลางแจ้ง แต่กิจกรรมก็จะแตกต่างๆ ไปตามฤดูกาล ถ้าเป็นหน้าร้อนอากาศดีๆ เขามักจะชอบจ๊อกกิ้ง หรือขี่จักรยาน แต่ถ้าหน้าหนาวแบบนี้ก็จะเล่นสกี หรือสเก็ตน้ำแข็ง สำหรับในออตตาวาในฤดูหนาวเช่นนี้ ที่น่าสนใจมากคือจะมีคนมาเล่นสเก็ตน้ำแข็งบน Rideau Canal ที่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง มีทั้งเด็ก วัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ มาเล่นสเก็ต หรือบ้างก็เดิน บนลานสเก็ตแห่งนี้ ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นลานสเก็ตน้ำแข็งที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวประมาณ 7.8 กิโลเมตร รวมทั้ง Rideau Canal ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือ World Heritage Site ของ UNESCO เมื่อปี ค.ศ. 2007 ด้วย ทั้งนี้อันเนื่องมาจากความเก่าแก่ของแม่น้ำสายนี้ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1832 และความสำคัญในเรื่องการคมนาคมขนส่งสิืนค้าในยุคนั้นของแคนาดา ซึ่งปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ถือว่าเป็นแม่น้ำสายที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ในอเมริกาเหนือ



Photos credit: http://z.about.com/d/gocanada/1/0/t/9/-/-/Parliament_Hill.jpg, http://www.ottawatourism.ca/en/what-to-do/canadian-heritage-experiences/national-sites, http://www.geosottawa.com/images/skating1-k2155-img014.jpg

video credit to youtube by lemonrind and by Mattis 10000

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ราชาของราชาทั้งปวง (King of Kings)

วันนี้เป็นวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่ประชาชนคนไทยมีความสุขยิ่งเมื่อได้เห็นในหลวงเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๒ พรรษา ผู้เขียนและพ่อแม่ได้ดูการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจนับตั้งแต่เสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราชจนกระทั่งเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเสด็จกลับไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช

เราสามคนพ่อแม่ลูกดูการถ่ายทอด ซึ่งบางช่วงบางตอนไ้ด้มีการสัมภาษณ์ประชาชนที่รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เต็มฝั่งถนนตลอดเส้นทาง เห็นบางคนน้ำตาซึม บางคนร้องไห้ด้วยความปลื้มใจที่ได้เห็นในหลวง ผู้เขียนเห็นว่าตอนนั้นแม่มีน้ำตาซึมๆ ออกมาด้วย

ครอบครัวเราอาจจะดูเป็นครอบครัวอนุรักษ์นิยมและเป็น royalist จัดมากๆ ในสายตาของคนหัวสมัยใหม่ที่ไม่รู้จักกำพืดและหัวนอนปลายเท้าของตนเองที่ตอนนี้เขานิยามตัวเองว่าพวกไม่นิยมเจ้าจะเป็นไปด้วยเหตุผลประการใดไม่ว่าจะเป็นพวกนิยมบูชาลัทธิกบฏผีบุญหน้าสี่เหลี่ยมศตวรรษที่ ๒๑ หรือพวกหัวนอกแต่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เก่งแต่ทฤษฎีแต่ปฏิบัติไม่เอาไหน นิยมชมชอบรูปแบบการปกครองแบบตะวันตกอยากจะมีการปกครองแบบตะวันตกโดยไม่มองบริบทของสังคมไทยว่าเหมาะหรือไม่

สำหรับตัวผู้เขียนมีเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมถึงรักและเคารพเทิดทูนในหลวงมาก อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงหนึ่งของชีวิตได้เคยปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าฯ ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่ได้เคยเข้าเฝ้าในหลวงอย่างใกล้ชิดถึงสองครั้งเมื่อคราวที่ท่านเสด็จมาที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว ผู้เขียนได้เห็นและได้สัมผัสสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่เขาเรียกว่าบุญญาบารมีที่เปล่งออกมาให้เราสัมผัสได้ไม่ว่าจะออกมาจากสีพระพักตร์ หรือพระวรกายยามเมื่อองค์พระประมุขเสด็จผ่าน และอีกครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้แม่นยำคือเมื่อคราวที่ท่านเสด็จมาที่วัดพระแก้ว และท่านกำลังดำเนินอยู่ตามลาดพระบาท ซึ่งตลอดสองฝั่งลาดพระบาทมีประชาชนถวายเงินเพื่อเสด็จพระราชกุศล โดยในหลวงท่านทรงยื่นพระหัตถ์เพื่อรับเิงินเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง ผู้เขียนเห็นดังนั้นจึงหยิบเงินขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อตั้งใจจะถวาย พร้อมตั้งจิตอธิษฐานในสิ่งที่คนไทยจำนวนมากปวารณาไว้นั่นคือในชีวิตหน้าถัดๆ ไป ขอให้ได้เกิดเป็นพสกนิกรของในหลวงพระองค์นี้เหมือนอย่างที่เป็นพสกนิกรของท่านในชีวิตนี้

ผู้เขียนรู้สึกหัวใจเต้นแรงเมื่อท่านเสด็จมาใกล้ตรงที่ผู้เขียนนั่งอยู่ และเมื่อท่านเสด็จมาถึงจุดที่ผู้เขียนนั่งอยู่ความรู้สึกของผู้เขียนเหมือนว่างเปล่าตัวเบาไม่มีความรู้สึก เมื่อได้มีโอกาสถวายเงินในมือของตนเองพร้อมได้มีโอกาสสัมผัสพระหัตถ์องค์พระประมุขเมื่อท่านยื่นพระหัตถ์มาเพื่อรับเงินที่ผู้เขียนถวาย แต่ความรู้สึกหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกได้ในขณะนั้นคืออุ้งพระหัตถ์ของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระราชา เป็นพระมหากษัตริย์มิได้อ่อนนุ่มอย่างที่จินตนาการว่าจะเหมือนอุ้งมือของพระราชาในเทพนิยายที่ใช้ชีวิตสุขสบายอยู่แต่ในรั้วในวังแต่อย่างใด กลับตรงกันข้ามผู้เขียนรู้สึกว่าอุ้งพระหัตถ์ของในหลวงนั้นถ้าจะว่าตามประสาชาวบ้านก็คือ สากและหยาบกระด้างเหมือนผู้ที่ต้องใช้มือในการทำงานอย่างมาก สิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้นี้ก็ไม่แปลกอะไรเพราะพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดหกสิบกว่าปีเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่าพระองค์ได้อุทิศพระวรกายและความอุตสาหะอย่างหนักเพื่อพสกนิกรและประเทศไทยของเรามีมากมายเพียงใด

ในวโรกาสนี้ผู้เขียนคงเหมือนกับคนไทยทั้งมวลที่ตั้งจิตตั้งใจอธิษฐานขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์โดยเร็ว ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หมู่มารที่คิดร้ายต่อพระองค์ท่านและชาติบ้านเมืองขอให้พ่ายแพ้ต่อบุญญาบารมีของพระองค์ สถิตย์อยู่เป็นเจ้าอยู่หัวของคนไทยตราบนานเท่านาน






Video Credit to youtube by US Embassy in BKK.

ขอบคุณวีดีโอจาก youtube โดย Sk Sutawee

(ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้อ่านที่คลิกเข้ามาอ่านเรื่องราวสรรเพเหระของผู้เขียนทุกท่าน ดูจาก counter ก็มีคน follow อยู่พอควร ระยะนี้ต้องขออภัยคนอ่านที่รอการ updated เรื่องเปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดาตอน MACKPACKER ด้วย คงอีกประมาณสามสี่วันถึงจะมา updated ได้เพราะตอนนี้ร่างกายและหัวสมองไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมเพราะเมื่อเร็วๆ นี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวผู้เขียนเอง สถานที่ก็ไม่ใช่ที่ไหนก็คือที่โรงพยาบาลศิริราช วันนั้นพาแม่ไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพไต ทำธุระเสร็จแล้วกำลังจะเดินกลับมาที่จอดรถนอกโรงพยาบาล ด้วยอารามจะรีบข้ามถนนทำให้ตัวเองไปสะดุดกับฝาท่อระบายน้ำที่มันชำรุดอยู่ ล้มคว่ำแล้วเอาหน้าลง เลือดไม่รู้มาจากไหนต่อจากไหนไหลเลอะเทอะเต็มเสื้อผ้าไปหมด สรุปวันนั้นแม่ซึ่งเป็นคนป่วยต้องเป็นฝ่ายพยุงคนดีอย่างผู้เขียนไปหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล ตอนนี้เลยยังไม่ค่อยหายดีเพราะปวดเมื่อยจากบาดแผลและมีอาการไข้อยู่บ้าง แต่คงจะดีขึ้นในอีกไม่ช้า)

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 9: MACKPACKER (2)




"เลขที่ 75 ถนนนิโคลัส อยู่เยื้องๆ มหาวิทยาลัยออตตาวา เอ ก็น่าจะอยู่แถวนี้นา" ผู้เขียนนึกในใจพร้อมกับอ่านข้อมูลในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวรวมทั้งเหลียวซ้ายแลขวามองหาบ้านพักเยาวชนไปพลาง หลังจากลงจากรถเมล์มาเมื่อประมาณสิบห้านาทีก่อน และก็ต้องเดินย้อนมาเป็นระยะทางพอสมควรท่ามกลางความหนาวเหน็บในเวลาเกือบสามทุ่ม ทั้งนี้เพราะรถเมล์แล่นเลยป้ายที่ผู้เขียนจะต้องลงไปไกลพอสมควร

"Could you please drop me off at the stop nearby Ottawa U.?" ทันทีที่ขึ้นรถเมล์ผู้เขียนบอกคนขับว่าถึงป้ายใกล้กับมหาวิทยาลัยออตตาวาช่วยจอดให้ผู้เขียนลงด้วย พลางหาที่นั่งใกล้คนขับเพื่อสะดวกสำหรับการสอบถามเส้นทางเดินรถ

"sure, gal" คนขับรถเมล์ชายสูงวัยหน้าตาท่าทางใจดีตอบกลับผู้เขียนพร้อมด้วยรอยยิ้ม

ระหว่างนั่งมาในรถผู้เขียนก็คอยสังเกตเส้นทางไปด้วย แต่ก็จดจำอะไรไม่ได้มากเนื่องจากเป็นเวลามืดค่ำแล้ว แต่ก็พยายามสังเกตดูป้ายบอกชื่อถนนว่าใกล้ถึงที่หมายหรือยัง สักพักตาลุงคนขับก็หยุดรถกะทันหัน พร้อมหันมาบอกผู้เขียนด้วยน้ำเสียงอุทานตกใจนิดหน่อย

"Oh, holy cow! we've just passed by the stop that you'd like to get off. I'm so sorry. I forgot it.

"โธ่เอ้ยคุณลุง จะมาอุทานวัวศักดิ์สิทธิ์อะไรเนี่ย นี่ขับเลยมาไกลประมาณไหนเนี่ย เฮ้อ" ผู้เขียนนึกในใจหลังจากได้ยินคำอุทาน holy cow แบบที่คนแ่ก่ๆ ที่นี่เขาชอบใช้กัน

"Is that far from here?" ผู้เขียนถามลุงคนขับรถเมล์ว่าเลยมาไกลหรือเปล่า

"It's not that far, just ten minutes walk, gal. Straight back to this street, and you'll see the U. on the right corner." ลุงคนขับบอกเส้นทางเดินกลับให้ผู้เขียน

ลุงคนขับจอดรถเพื่อบอกเส้นทางแก่ผู้เขียนเป็นพักหนึ่ง แต่ผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในรถสามสี่คนก็ยังมีน้ำใจดีไม่มีใครอารมณ์เสียที่ต้องเสียเวลา

ผู้เขียนเดินลงจากรถ พร้อมกับเสียงขอโทษขอโพยของตาลุงคนขับไล่หลังมาด้วย "I'm so sorry, have a good night gal" "No problem, you too" ผู้เขียนตอบกลับลุงคนขับไป

แล้วตัวผู้เขียนก็ต้องระหกระเหินเดินท่อมๆ ท่ามกลางกองหิมะเฉอะแฉะมาตามถนนที่ลุงคนขับบอกมาเรื่อยๆ "นี่ถ้าต้องใช้เวลาเดินย้อนกลับเป็นครึ่งชั่วโมงนะ ไม่มีทางยอมเด็ดขาด หนาวก็หนาวเมื่อยก็เมื่อย ต้องให้ตาลุงนั่นขับกลับมาส่ง" ผู้เขียนบ่นกับตัวเองดังๆ จะว่าไปผู้เขียนใช้เสียงดังเพื่อเป็นเพื่อน เพราะแถวนั้นนอกจากจะมีแค่ไฟสลัวๆ จากไฟทางแล้ว ยังไม่มีใครสักคนเดินผ่านเลย ที่จริงก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นหน้าหนาวและก็ล่วงเข้าสู่ยามค่ำคืนอย่างนี้ถ้าคนเขาไม่มีธุระปะปังจริงๆ คงไม่มีใครสิ้นคิดมาเดินท่อมๆ เหมือนอย่างที่ผู้เขียนทำอยู่ตอนนี้หรอก

แล้วผู้เขียนก็พาตัวเองมาถึงจุดหมายตรงมหาวิทยาลัยออตตาวาจนได้ แล้วก็พยายามมองหาตึกรามที่มีความน่าจะเป็นว่าเป็นบ้านพักเยาวชน ส่วนใหญ่บ้านพักเยาวชนที่ผู้เขียนเคยไปสัมผัสมาแล้วจะเป็นตึกสมัยใหม่ตกแต่งค่อนข้างดี พอมาที่นี่ผู้เขียนก็จินตนาการว่าภูมิสถาปัตย์ก็คงไม่ต่างจากที่อื่น เมื่อมองจากจุดที่ตั้งของมหาวิทยาลัยออตตาวาแล้วผู้เขียนก็ไม่เห็นตึกตามที่ตัวเองจินตนาการไว้อย่างไรเลย มองเห็นก็แต่ตึกหอคอยทรงเก่าๆ เหมือนปราสาทท่านเคาท์แดรกคูลาตั้งทมึนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม เหลียวซ้ายแลขวาว่าจะคิดอ่านทำประการใดดี ทันใดก็มีหนุ่มรูปร่างสูงเดินผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นนักศึกษาของม.ออตตาวา

"เดี๋ยวลองถามหนุ่มคนนี้ดูดีกว่า" "X'cuse me, could you please tell me where Carleton Youth Hostel is?"

"Over there" หนุ่มหน้าตาดีคล้ายคีอานู รีฟส์ ชี้ไปที่ตึกรูปร่างหอคอยเก่าๆ ฝั่งตรงกันข้าม



View Larger Map

สิบนาทีต่อมาผู้เขียนก็มายืนอ่อนระโหยพร้อมกับแสดงหลักฐานการจองที่พักให้พนักงานหน้าโต๊ะจองห้องพักของ Carleton Youth Hostel สักครู่พนักงานก็ส่งกุญแจห้องพร้อมผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน มาให้ผู้เขียน

ถึงตรงนี้แล้วคงต้องเล่าเกี่ยวกับลักษณะและระเบียบการเข้าพักที่บ้านพักเยาวชนเพื่อให้บางท่านที่อาจจะยังไม่เคยใช้บริการได้เห็นภาพสักหน่อย คือมาตรฐานห้องพักของบ้านพักเยาวชนในเกือบทุกที่เนี่ย จะเป็นห้องพักรวมประมาณ 6-8 เตียง ในห้องพักก็จะมีล็อกเกอร์ไว้เก็บสัมภาระของผู้มาพักในแต่ละเตียง ซึ่งผู้เข้าพักต้องนำกุญแจมาเอง สำหรับห้องอาบน้ำและห้องน้ำก็จะเป็นห้องน้ำรวมแยกหญิงชาย บางที่ก็จะดีหน่อยในแต่ละห้องพักก็จะมีห้องน้ำในตัวไว้ให้บริการเฉพาะคนที่พักอยู่ในห้องนั้นๆ แต่บางที่ห้องน้ำก็จะแยกออกมาต่างหาก ผู้พักจากทุกๆ ห้องก็มาใช้รวมกัน นอกจากนั้นก็มีบริการห้องครัวไว้สำหรับคนมาพักทำอาหารกินเองได้ เหล่านี้คือสิ่งอำนวยความสะดวกหลักที่ทุกบ้านพักเยาวชนจะจัดไว้ แต่บางที่อาจจะหรูขึ้นมาสักนิด ก็จะมีทางเลือกให้ผู้เข้าพักที่ชอบความเป็นส่วนตัวก็จะมีเป็นห้องเดี่ยว ห้องคู่ อะไรทำนองนี้ แต่ราคาค่าห้องก็จะสูงขึ้นมาอีก บางที่ก็จัดส่วนสันทนาการให้คนเข้าพัก เช่น ห้องดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ฯลฯ

นอกจากนี้ผู้เข้าพักมีหน้าที่ในการปูที่นอนเอง บางที่ใจดีหน่อยก็ไม่คิดค่าผ้าปูที่นอนหรือผ้าห่ม แต่บางที่ก็เขี้ยวคิดค่าเช่าผ้าปูที่นอนกับผ้าห่มเพิ่มเติมจากคนเข้าพักด้วย แต่โดยสรุปแล้วบ้านพักเยาวชนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากๆๆๆ เมื่อเทียบกับค่าพักโรงแรมประเภทหนึ่งดาวสองดาวอะไรเงี้ย เพราะตอนสมัยนั้นรู้สึกว่าผู้เขียนจ่ายค่าที่พักแบบนี้คิดเป็นเงินไทยแล้วเฉลี่ยตกคืนละหกร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง สุดแสนจะถูก และยิ่งเป็นช่วงหน้าหนาวแบบนี้ด้วยราคาก็ถูกลงมาอีก

ทีนี้ย้อนกลับมาเล่าเรื่องลักษณะของบ้านพักเยาวชนที่มีชื่อว่า Carleton กันดีกว่า เมื่อสักครู่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วว่า บ้านพักเยาวชนแห่งนี้มีรูปทรงเป็นหอคอยลักษณะเก่าๆ เหมือนปราสาทในยุคโบราณ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีหอคอยแห่งนี้มีชื่อว่า Carleton County Gaol หรือแปลเป็นไทยก็คือ "คุกแห่งคาลีตันเคาน์ตี" นั่นเอง



รู้สึกตอนนี้เริ่มมีเสียงหมาหอนมาตามลมหน่อยๆ พร้อมกับขนที่แขนชักลุกขึ้นมาน้อยๆ แล้ว ตามประวัติเขาเล่ากันว่าคุกแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1862 (ถ้านับมาถึงปีที่ผู้เขียนเข้าพักคือ ปี 2000 ก็ 138 ปีผ่านมาแล้ว) รูปทรงอาคารเขาบอกว่าเป็นแบบจอร์เจียนสไตล์ (เป็นยังไงก็ไม่รู้) และเขาก็ยังบอกอีกว่าช่วงเวลานั้นสภาพของคุกคาลีตันแห่งนี้มีสภาพที่แย่มากสำหรับผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กและคับแคบ ไม่สะอาด หน้าหนาวก็ไม่มีสิ่งที่จะทำความอบอุ่น อากาศก็ไม่ปลอดโปร่ง จนในที่สุดคุึกแห่งนี้ก็ปิดตัวลงเมื่อปี ค.ศ.1972 และได้โอนให้เป็นสมบัติของ Canadian Youth Hostel Association เพื่อเริ่มเปิดเป็นบ้านพักเยาวชนแก่นักท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคมในปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1973

เขาในที่นี้ก็คือแผ่นพับข้อมูลบ้านพักเยาวชนแห่งนี้ที่ผู้เขียนหยิบติดมือมาด้วยจากโต๊ะของพนักงานต้อนรับ ซึ่งผู้เขียนนำมานอนอ่านหลังจากที่ไ้ด้อาบน้ำอาบท่าเรียบร้อยแล้ว มิน่าห้องพักของผู้เขียนมันถึงหน้าตาเป็นซี่ลูกกรงแบบนี้ ลองดูซิ




โดยภายในยังคงรูปลักษณ์เดิมแบบคุกทุกอย่าง เพียงแต่ปรับปรุงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมา เช่น ติดตั้งเครื่องฮีทเตอร์อะไรประมาณนั้น

"อืม สิ่งก่อสร้างที่เคยเป็นคุกมีอายุถึง 138 ปี แล้วยังไงอ่ะ มันจะมีอะไรหลงเหลืออยู่ในนี้บ้าง" ผู้เขียนนึกในใจ

"Do you believe in ghosts?" เสียงของคนที่พักห้องเดียวกันกับผู้เขียนถามขึ้นมาขัดจังหวะความคิดของผู้เขียน "I just joined them for jail tour last night, it's so exciting, and lots of spooky stories." สาวฝรั่งที่เป็นรูมเมทเพียงคนเดียวของผู้เขียนยังคงเล่าเจื้อยแจ้วให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อคืนที่แล้วเธอเพิ่งเข้าไปร่วมทัวร์เพื่อไปตามล่าหาวิญญาณในคุกเ่ก่าแห่งนี้ ถ้าจะว่าไปสาวคนนี้แกก็คงเหมือนแฟนคลับพี่ป๋อง กพล ทองพลับบ้านเรา ที่ชอบไปพิสูจน์หาวิญญาณตามบ้านร้างอ่ะนะ แต่ตัวผู้เขียนมันไม่ใช่สักหน่อย "หลงเข้ามาแท้ๆ เลยเรา ทำไมไม่หาข้อมูลก่อนว่าแต่ละที่มันเป็นมายังไง" ผู้เขียนบ่นตัวเองในใจ

"แล้วจะหลับลงหรือเปล่าเนี่ย ชักกลัวขึ้นมาหน่อยๆ แล้ว สวดมนต์ภาษาเราผีฝรั่งมันจะฟังรู้เรื่องเร้อ สาธุ อย่าปวดฉี่กลางดึกเลย ไม่อยากออกไปเข้าห้องน้ำข้างนอกกลางดึกอ่ะ" ผู้เขียนนึกคิดไปเรื่อยเปื่อย ความกลัวผีชักเกิดขึ้นตะหงิดๆ พร้อมกับนึกเคืองสาวฝรั่งเพื่อนร่วมห้องขึ้นมาซะยังงั้น




Photos Credit: http://www.yhaschooltrips.org.uk/assets/images/Snapshots/HI-orange%20circle.jpg, google map, http://www.carletoncountygaol.com/content/history/history.shtml

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 8: MACKPACKER (1)


ตอนนี้มีชื่อว่า MACKPACKER จริงๆ ไม่ได้เขียนผิดหรอก MAC+BACKPACKER เลยกลายเป็น MACKPACKER ไปโดยปริยาย สำหรับตอนนี้เข้ามาเขียนช้าหน่อยเพราะติดงานส่วนตัวและยังไม่มีอารมณ์ปลอดโปร่ง ประเภทที่เด็กวัยรุ่นชอบพูดประมาณ chill out เพียงพอที่จะมานั่งเขียนเล่าเรื่องแบบสบายๆ สาเหตุคงไม่ต้องเกริ่นอะไรกันมาก คนที่รู้จักผู้เขียนดีคงเดาออกว่าสาเหตุมาจากเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งที่ "ชั่วเกินจินตนาการ" คำนิยามนี้มาจากอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ซึ่งตรงใจคนไทยหลายๆ คน สำหรับอาทิตย์ที่แล้วผู้เขียนได้ไปร่วมกับเพื่อนร่วมชาติที่สนามหลวงด้วยเหมือนกัน ตัวผู้เขียนเองใช้วิํธีเดินทางโดยใช้บริการเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ เห็นผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่จัดงานก็รู้สึกดีที่คนไทยจำนวนมากยังรักบ้านเมืองและรักในหลวง เลยเก็บภาพไว้สักหน่อยรวมทั้งภาพตึกโรงพยาบาลที่ในหลวงท่านประทับอยู่มาด้วย




ผู้เขียนและคนที่ไปด้วยช่วยกันหามุมที่นั่ง เดินวนไปมาสองรอบ ก็ได้ที่ตรงข้างซ้ายเวทีอยู่เยื้องกันกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ห่างจากจุดที่คนไม่หวังดีมันยิง M79 ลงมาไม่น่าเกินร้อยเมตร เพราะตรงนั้นไม่ค่อยมีคน ลมพัดเย็นสบายดี นั่งฟังคนบนเวทีพูด ฟังพี่หรั่งร้องเพลง ฟัง อ. ณัฐ กับคุณพวงเดือน ยนตรรักษ์ เล่นเปียโนและร้องเพลงหนักแผ่นดิน ฟัง สว คำนูณ อภิปรายนอกสภา แล้วก็ถึงคิวคุณสนธิพูด กำลังนั่งฟังเพลินๆ ก็มีเสียงดังสนั่นลงมาไม่ไกลจุดที่เรานั่งมากนัก เห็นกลุ่มคนที่นั่งใกล้ๆ กันกับเราลุกขึ้นยืนดูเหตุการณ์แบบงงๆ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงของอะไร แต่ประชาชนก็ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไร ก็ยังเฉยๆ กัน ไม่ได้ลุกฮือหนีออกไปอย่างที่หนังสือพิมพ์หัวสีแดงบางฉบับลงข่าว มารู้ทีหลังว่าเป็นเสียงระเบิดและมีคนบาดเจ็บก็ตอนที่เราเดินไปทางนั้นเพื่อจะกลับบ้าน เหตุการณ์นั่นก็อย่างหนึ่งแล้ว นี่ก็จะเอากันอีกแล้วปลายเดือนนี้ "ชั่วเกินจินตนาการ" อยากจะให้มีสงครามกลางเมืองซะให้ได้ ไม่รู้ไอ้สิ่งมีชิวิตสปีชีส์นี้จะเลวให้ได้ถ้วยไปอวดพญายมราชในนรกซักกี่ใบกัน พอรู้สึกตึงเครียดกันซะขนาดนี้ ก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายกันบ้าง สำหรับตัวผู้เขียนชอบที่จะไปเดินตลาดน้ำแถบย่านบ้านตัวเอง บรรยากาศคลองใสๆ สวนปลูกผักและสวนกล้วยไม้ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก มันพอที่จะทำให้ใจผ่อนคลายไปได้บ้างจากสภาพปัญหาบ้านเมือง ส่วนอาทิตย์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็จะรอดูกันว่ามันจะแสดงความเถื่อน ถ่อย กันระดับไหน

คงต้องเข้าเรื่องที่เป็นชื่อตอนนี้ซักที ไม่อย่างนั้นอารมณ์แบบชิลชิลจะหายไปซะหมด เมื่อตอนที่แล้วเล่าเรื่องคุณลักษณะเฉพาะตัวของมณฑลควิเบกไปแล้วตามมุมมองของนักเดินทางผู้โดดเดี่ยวพร้อมเป้สะพายหลังอย่างผู้เขียน และเพื่อให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องตอนนี้ก็ขอเล่าบรรยากาศและรูปแบบการท่องเที่ยวของผู้เขียนที่ควิเบกในช่วงหน้าหนาวก่อนเทศกาลคริสต์มาสเสียหน่อย

ตลอดช่วงเวลาที่ผู้เขียนอยู่ที่แคนาดา มักจะไปไหนมาไหนคนเดียว อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคยกับชีวิตแบบนี้จากการที่ตนเองเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่น ดังนั้นถ้าไม่ได้ไปไหนกับพ่อแม่ก็มักจะไปไหนมาไหนตามลำพัง เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดาก็จะชอบไปไหนตามลำพัง ที่จริงเพื่อนสนิทในชั้นเรียนที่เป็นชาวแคนาดามีอยู่สองสามคน แต่บรรดาเพื่อนเหล่านี้มีบ้านอยู่ต่างเมืองออกไป และก็เป็นเหมือนชาวตะวันตกทั่วไปที่เขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ดังนั้นเมื่อไม่มีชั่วโมงเรียนพวกเพื่อนเหล่านี้ก็ต้องไปทำงานในที่ไกลๆ ออกไป เพื่อนสนิทของผู้เขียนคนหนึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทไปรษณีย์แคนาดา (Canada Post)ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานเป็นพนักงาน part-time ที่ห้าง Walmart ดังนั้นนอกเวลาเรียนจึงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้พบเจอกันบ่อยนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการผจญภัยแบบโดดเดี่ยวผู้น่ารักก็ต้องเกิดขึ้น

เมื่อคิดอาจหาญที่จะเดินทางคนเดียวในหลายๆ เมืองเช่นนั้นจึงต้องมีเตรียมการล่วงหน้าให้ดี จริงๆ แล้วผู้เขียนเตรียมตัวตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้ว โดยเริ่มจากการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชน หรือ Youth Hostel Association ซึ่งสมาคมบ้านเยาวชนนี้ให้บริการที่พักทั่วทุกมุมโลกแก่นักท่องเที่ยวในราคาประหยัด สำหรับในประเทศไทยเองก็มีสมาคมบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทยตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านคนใดมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดงบค่าใช้จ่าย การหาที่พักแบบบ้านเยาวชนนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง

เมื่อขึ้นชื่อว่าบ้านพักเยาวชนแล้ว นักท่องเที่ยวที่มีอายุมากที่มีวัยล่วงเลยคำว่าเยาวชนมานับสิบปีแต่ใจยังรักการท่องเที่ยวแบบ backpack อาจจะคิดว่าคุณสมบัติด้านอายุของตนเองไม่เข้ากับการเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชนนี้ได้ ถ้าท่านคิดเช่นนั้นขอตอบว่านั่นเป็นการเข้าใจผิด เพราะบ้านเยาวชนเปิดรับสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย โดยสถานภาพของสมาชิกมีตั้งแต่ 1,2,3 ปี หรือตลอดชีพ ค่าสมัครสมาชิกก็แตกต่างกันออกไป สำหรับตัวผู้เขียนเลือกสมัครแบบหนึ่งปี เมื่อสมัครแล้วก็จะได้บัตรสมาชิกรูปร่างหน้าตาแบบนี้



ตอนนี้ท่านก็รับประกันได้ว่าท่านมีสิทธิที่จะเข้าพักบ้านเยาวชนได้ทุกแห่งทั่วโลกในราคาประหยัด เมื่อเรื่องที่พักพร้อมแล้วเรื่องต่อไปที่จะต้องคำนึงถึงคือเรื่องของพาหนะการเดินทาง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าราคาค่าพาหนะการเดินทางในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถไฟ หรือเครื่องบินนั้นราคาค่อนข้างสูง ทางหนึ่งที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้หากท่านมีสถานภาพเป็นนักศึกษานั่นก็คือการสมัครบัตรนักศึกษาต่างชาติหรือ International Student Identity Card (ISIC) โดยบัตรนี้จะให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของบัตรมากมายในเรื่องส่วนลดราคาค่าพาหนะเดินทางไปไหนต่อไหน ส่วนลดเมื่อไปใช้บริการร้านค้าและบริการอื่นๆ มากมาย ในกรณีของผู้เขียนนั้นไม่ไ้ด้สมัครบัตรนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ในเมืองไทย เลยต้องไปสมัครที่สำนักงานตัวแทนของ ISIC ที่ตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยของแคนาดา เมื่อสมัครแล้วท่านก็จะได้รับบัตรรูปร่างแบบนี้



เพียงเท่านี้ท่านก็พร้อมที่จะเดินทางไปไหนด้วยค่าใช้จ่ายในราคาประหยัดแล้วละ

การเตรียมการเดินทางของผู้เขียนนั้นเิริ่มต้นจากการกำหนดวันเวลาและเส้นทางการเดินทาง เมื่อกำหนดการและเส้นทางเรียบร้อยแล้วจึงไปสำรองที่พักและซื้อบัตรรถโดยสาร โดยเริ่มจากการไปติดต่อสมาคมบ้านพักเยาวชนที่โตรอนโตเพื่อสำรองที่พักในบ้านพักเยาวชนในห้าเมืองคือ ออตตาวา มอนทรีอัล ควิเบกซิตีั้ บอสตัน วอชิงตันดีซี พร้อมจ่ายเงินค่าที่พักให้เรียบร้อยทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อไปถึงเมืองนั้นๆ จะมีที่นอนแน่ๆ ต่อไปก็นำบัตร ISIC ไปซื้อบัตรรถโดยสารตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ซึ่งมีส่วนลดราคาได้เกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลย ตอนนี้ก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจไร้กังวลแล้วเมื่อที่พักและพาหนะพร้อมแล้ว เอ๊ะ ยังก่อน ลืมไปอย่างถ้าระหว่างการเดินทางเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุทำอย่างไร โชคดีที่ทางสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนไปเรียนได้จัดทำประกันสุขภาพให้ผู้เขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เลยไม่ต้องยุ่งยากเพียงนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วย

เราก็จะได้รับการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพตลอดการเดินทาง และเพื่อเป็นการไม่ประมาทในการใช้ชีวิตสำหรับตัวผู้เขียนเองมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำก่อนการเดินทางคือโทรศัพท์มาบอกทางบ้านที่เมืองไทยว่าช่วงเวลาไหนวันไหนอยู่เมืองอะไร ทั้งนี้เผื่อเกิดเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝันเป็นอะไรขึ้นมาทางบ้านจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราบ้าง เอาละคราวนี้ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจ

วันที่ 13-16 ธันวาคม 2543 (โตรอนโต-ออตตาวา)



ผู้เขียนมาถึงสถานีรถโดยสารของโตรอนโตเมื่อประมาณบ่ายโมงเศษๆ ของวันที่ 13 ธันวาคม ทั้งๆ ที่ออกจาก Barrie มาประมาณ 11 โมงเช้า ทั้งนี้เป็นเพราะคนขับต้องขับรถอย่างระมัดระวังเพราะมีหิมะอยู่เต็มถนนเลย รถที่ผู้เขียนโดยสารเดินทางออกจากโตรอนโตประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง ระยะเวลาเดินทางจากโตรอนโตถึงออตตาวาใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงเศษ มาถึงที่สถานีรถโดยสารในเมืองหลวงของแคนาดาก็ปาเข้าไปเกือบทุ่มแล้ว




เวลาทุ่มในหน้าหนาวก็คงนึกภาพออกว่าพระอาทิตย์ตกดินไปก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมงแล้ว เมื่อออกจากสถานีรถโดยสารพร้อมเป้สัมภาระผู้เขียนจึงได้มองไปยังท้องถนนที่ค่อนข้างมืดเบื้องหน้าจะมีแสงสว่างบ้างก็แค่แสงสลัวของไฟทางพร้อมทั้งถามตนเองในใจว่า "แล้วนี่เราจะเดินทางไปบ้านพักเยาวชนยังไงกันเนี่ย" (ถ้าเป็นบ้านเราคงเรียกมอ'ไซด์รับจ้างไปส่งแล้ว)

ออตตาวาก็เหมือนกับเมืองหลวงของประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจการบริหารราชการของรัฐบาลกลาง ดังนั้นที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญๆ เช่น รัฐสภา ทำเนียบ ฯลฯ และส่วนใหญ่เมืองหลวงของประเทศเหล่านี้มักจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เพราะไม่ได้มีแนวความคิดเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาที่เมืองหลวงเป็นแหล่งรวมศูนย์ความเจริญทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นที่ออตตาวาจึงมีขนาดเล็กกว่าโตรอนโตค่อนข้างมาก และระบบการคมนาคมหลักและครอบคลุมการให้บริการทุกพื้นที่ในเมืองนี้จึงมีเฉพาะรถเมล์โดยสาร ดังนั้นสำหรับตัวผู้เขียนที่ค่อนข้างชอบใช้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าไม่ว่าจะบนดินใต้ดินจึงรู้สึกพะว้าพะวังพอสมควร และยิ่งเป็นหน้าหนาวอย่างนี้ด้วย การไปยืนรอรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์โดยไม่ศึกษาเส้นทางและกำหนดการเดินรถเป็นสิ่งที่ต้องพึงหลีกเลี่ยง เป็นเพราะว่าอากาศข้างนอกหนาวจับจิตอุณหภูมิต่ำสุดของที่นี่ในช่วงหน้าหนาวนี้ติดลบประมาณสามสิบถึงสี่สิบองศาเซลเซียส แล้วคนจากเมืองร้อนอย่างผู้เขียนที่คุ้นเคยแต่กับอุณหภูมิบวกสามสิบองศาเซลเซียสของบ้านเราจะทนเข้าไปได้ยังไง ขืนออกไปยืนรอแบบไม่มีจุดมุ่งหมายมีหวังได้ยืนแข็งอยู่ที่ป้ายรถเมล์แน่ๆ คิดดังนั้นแล้วก็ย้อนกลับเข้าไปในสถานีรถโดยสารอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ไออุ่นจากฮีทเตอร์ข้างใน พลางมองหากระดานประกาศการเดินรถสาธารณะของเมืองนี้ ดีอยู่อย่างว่านี่มีระบบการประกาศเส้นทางเดินรถไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐาน และมีป้ายประกาศบอกเส้นทางการเดินรถพร้อมบอกเวลาที่รถจะเดินทางมาถึงแต่ละจุดๆ ผู้โดยสารจะได้คำนวณเวลาที่จะไปรอที่ป้ายรถเมล์ได้ถูก



ผู้เขียนศึกษาป้ายบอกเส้นทางเดินรถประกอบการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของบ้านพักเยาวชนในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวที่นำติดตัวมาด้วย จนเมื่อมั่นใจก็บอกตัวเองว่าพร้อมแล้วที่จะเดินทางออกจากสถานีรถโดยสารแห่งนี้


Photos Credit: http://www.clker.com/clipart-2398.html, http://static.panoramio.com/photos/original/5202880.jpg, http://ottawaproject.files.wordpress.com/2008/12/dsc01069.jpg, http://www.octranspo1.com/images/files/routes/043map.gif

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 7: สังคมพหุวัฒนธรรม (2)


นอกเหนือจากพลเมืองคาเนเดียนเชื้อสายเอเชียแล้ว แคนาดายังมีพลเมืองที่สืบทอดเชื้อสายจากชนชาติฝรั่งเศสอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในควิเบกซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา รวมทั้งเป็นมณฑลที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นอันดับสองรองจากออนตาริโอ นอกจากนี้ควิเบกยังมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนกับมณฑลอื่นในเรื่องของการเมือง การปกครอง โดยที่นี่จะใช้เฉพาะภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษมีใช้บ้างในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไรก็ตามหากท่านได้ไปท่องเที่ยวในควิเบกแล้ว บรรยากาศจะเสมือนหนึ่งท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญคือมอนทรีอัล (Montreal) สำหรับเมืองหลวงของควิเบกได้แก่ ควิเบกซิตี้(Quebec City) ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่ามอนทรีอัลมากมายนัก



ตอนที่ผู้เขียนเดินทางไปเที่ยวที่มณฑลควิเบกและที่อื่นๆ ด้วยนั้นเป็นช่วงหน้าหนาวใกล้เทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาวนาน จึงถือโอกาสนี้วางแผนเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ของแคนาดาและเมืองต่างๆ ของอเมริกาที่อยู่ในแถบใกล้เคียง โดยเป็นการเดินทางเพียงลำพัง และมีเส้นทางการเดินทางเป็นวงรอบ (ดูจากเส้นสีน้ำเงินในแผนที่) โดยตั้งต้นจากโตรอนโตและเริ่มขึ้นไปออตตาวา ต่อไปมอนทรีอัลและควิเบกซิตี้ ย้อนกลับมามอนทรีอัลอีกครั้งเพื่อมาสถานีรถเกรย์ฮาวด์ในการเดินทางเข้าอเมริกา นั่งรถผ่านรัฐเวอร์มองเข้ามายังแมซซาซูเซสเพื่อมาเที่ยวบอสตันกับเคมบริดจ์ นั่งรถต่อมายังนิวยอร์กซิตี้เพื่อต่อรถไปยังเมืองหลวงของอเมริกาที่ดีซี จากนั้นจึงได้ฤกษ์เดินทางกลับแคนาดา โดยแวะรายทางผ่านเมืองบัลติมอร์ไปยังเมืองบัฟฟาโลเมืองชายแดนของรัฐนิวยอร์ก อเมริกา ก่อนจะข้ามสะพานสันติภาพ หรือ Peace Bridge บริเวณน้ำตกไนแองการาเพื่อกลับเข้าสู่เมืองไนแองการาออนเดอะเลค (Town of Niagara-on-the-Lake) ของมณฑลออนตาริโอต่อไป


View Larger Map



พอมาดูเส้นทางการเดินทางครั้งนั้นของตัวเอง ก็รู้สึกตกใจว่าช่างทำไปได้ เดินทางคนเดียวในช่วงอากาศหนาวเหน็บพายุหิมะถล่มในหลายพื้นที่ พอมานั่งนึกดูก็คิดว่าเป็นการสิ้นคิดจริงๆ ที่เดินทางในช่วงนั้น เพราะผู้เขียนประสบอุปสรรคจากสภาวะอากาศที่ย่ำแย่จากพายุหิมะ แต่อย่างไรก็ดีในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง จากการได้เรียนรู้ประสบการณ์และความมีน้ำใจของผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งเป็นเรื่องยาวที่จะเล่าถึง ก็คงจะนำมาเล่ากันต่อไปในตอนถัดๆ ไป เพราะตอนนี้ก็ออกนอกเรื่องมาพอควร

ที่ยังเล่าค้างอยู่คือคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปของมณฑลควิเบกในเรื่องของประชากรและการเมืองการปกครอง ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส และพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ (Francophone)ภาษาอังกฤษมีใช้อยู่บ้างในมณฑลนี้แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย บางครั้งผู้เขียนก็รู้สึกติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของการใช้ภาษาสื่อสารเมื่อเดินทางมาที่นี่ ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่ผู้เขียนนั่งรอรถเพื่อจะเดินทางไปบอสตันที่สถานีรถโดยสารที่มอนทรีอัล ในขณะที่ผู้ประกาศให้ผู้โดยสารในสถานีได้ทราบถึงกำหนดการเดินรถ เขาก็เริ่มประกาศเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่าเป็นวิถีปฏิบัติของมณฑลนี้ ในขณะที่เงี่ยหูฟังว่าเมื่อไหร่เขาจะประกาศเป็นภาษาอังกฤษต่อ ก็ไม่มีซะเฉยๆ อย่างนั้น ก็เลยไม่รู้กันว่าประกาศอะไรออกไป ทั้งๆ ที่สถานีรถโดยสารน่าจะใช้ทั้งสองภาษาสำหรับการสื่อสาร เพราะคนเดินทางมีหลากหลายสัญชาติ เป็นนักท่องเที่ยวก็เยอะ ผู้เขียนก็เลยรู้สึกเสียอารมณ์บ้างพอสมควร

เมื่อตอนที่แล้วได้เกริ่นไปบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในเรื่องของการเมืองการปกครองของแคนาดาว่าเคยมีชนชาติฝรั่งเศสปกครองแคนาดามาแต่เก่าก่อน จากนั้นจึงมีการสู้รบชิงแผ่นดินกันกับชนชาติิอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีชัยเหนือฝรั่งเศสได้ครอบครองแผ่นดินและสถาปนาระบบปกครองแบบอังกฤษในประเทศแคนาดาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของชนชาติฝรั่งเศสก็ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะอพยพคนของตัวเองกลับประเทศ ก็ยังมีการรวมตัวกันของคนฝรั่งเศสกันอย่างเหนียวแน่นและก็สืบทอดเชื้อสายความเข้มข้นของชนชาติฝรั่งเศสมาถึงทุกวันนี้ในพื้นที่ของมณฑลควิเบก คนมีชื่อเสียงโด่งดังที่เรารู้จักกันดีในแวดวงนักร้องนักแสดงที่มาจากควิเบกก็มีเยอะ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันคือ ซิลีน ดิิออน และลาร่า เฟเบียน ซึ่งคนหลังนี้เป็นชาวเบลเยี่ยมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว ลาร่าได้โอนสัญชาติเป็นคาเนเดียนและมีถิ่นพำนักในควิเบก สำหรับซิลีนนี่ ไม่มีข้อสงสัยเพราะเธอเกิดและเิติบโตที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของควิเบก ดังนั้นเธอจึงมีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแต่เท่าที่สังเกตเธอก็ใช้ภาษาทั้งสองได้ดีพอๆ กัน จะว่าไปชาวคาเนเีดียนที่เข้าสู่วงการนักร้องนักแสดงในอเมริกามีอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ล่าสุดเท่าที่ผู้เขียนรู้และเห็นว่ามีชื่อเสียงมากพอสมควรคือ เอวริล ลาวีน (Avril Lavigne) ซึ่งตอนแรกนึกว่าสาวคนนี้มีถิ่นเกิดที่ควิเบกและมีเชื้อสายฝรั่้งเศส แต่ตรวจสอบดูแล้วเกิดและเติบโตที่ออนตาริโอ แต่ยังไงก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าเธอมีเชื้อสายฝรั่งเศสหรือเปล่า

เมื่อควิเบกซึ่งป็นส่วนหนึ่งของแคนาดายังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของคนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตแบบฝรั่งเศส มาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็คงเดาได้ไม่ยากว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป นั่นก็คือการขอแยกตัวประกาศเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ตอนที่ผู้เขียนไปใช้ชีวิตที่แคนาดาในช่วงนั้นตัวผู้เขียนเองไม่ได้รับรู้ข่าวสารหรือเรียนรู้กับระบบการเมืองของควิเบกมากไปกว่าการที่รู้เพียงว่ามณฑลนี้เป็นของคนเชื้อสายฝรั่งเศส สำหรับเรื่องข้อขัดแย้งกับรัฐบาลส่วนกลางในเรื่องการปกครองนั้นผู้เขียนไม่ได้รับรู้เลย มาได้เรียนรู้ในรายละเอียดจริงๆ ก็ตอนที่ผู้เขียนได้กลับไปแคนาดาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อฝึกอบรมหลักสูตร "Conflict Management" และได้ไปเรียนรู้ในเชิงลีกของการบริหารจัดการข้อขัดแย้งของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่ออตตาวา และไปเรียนรู้ในมุมมองของรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลควิเบก

แนวคิดที่จะขอแยกตัวเป็นอิสระจากแคนาดาของชาวคาเนเดียนเชื้อสายฝรั่งเศสค่อนข้างมีความเกี่ยวเนื่องและเริ่มต้นจากสงครามการปฏิวัติอเมริกาและสงครามกลางเมืองในอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่รายละเอียดผู้เขียนคงต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม อย่างไรก็แล้วแต่นับตั้งแต่ศตรวรรษที่ 18 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 มีการต่อสู้และเรียกร้องของชาวควิเบกในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะแยกตัวเป็นอีกประเทศหนึ่งไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติเงียบหรือมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย ที่แย่ที่สุดในความรู้สึกของแคนาดาน่าจะเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 1960-1970 ที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เหมือนภาคใต้ของเราจริงเลย)เช่น การปล้นสดมภ์ การวางระเบิดสังหาร โดยพุ่งเป้าหมายไปที่หน่วยงานสถานที่ของชุมชนเชื้อสายชาวอังกฤษ แต่ปัจจุบันความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้คนก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่แนวความคิดที่จะแยกควิเบกออกไปเป็นรัฐอิสระก็ยังมีอยู่ในความคิดของชาวควิเบกจำนวนไม่น้อย

เท่าที่รู้รัฐบาลกลางที่ออตตาวาพยายามที่จะขจัดปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยสันติวิํีธีและใช้วิถีทางระบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ล่าสุดในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ได้ประกาศว่า ควิเบกเป็นประเทศหนึ่งที่ผนวกเข้ากับแคนาดา ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังเป็นหัวข้อที่ไม่ชัดเจนและหลายฝ่ายก็นำมาถกเถียงกัน ดังนั้นสถานะของควิเบกก็คงยังคลุมเครืออยู่ถึงทุกวันนี้

Credits to googlemap,
www.hicker-fine-art.com/quebec-city-at-dusk-i...
www.pgscanada.com/.../Montreal_Notre_Dame.jpg

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 6: สังคมพหุวัฒนธรรม (1)



ช่วงนี้ได้ติดตามข่าวนายราเกรซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงธนาคารกรุงเทพพาณิชยการที่หลบหนีคดีไปพักอาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็นเวลาสิบกว่าปี จนกระทั่งก็ถึงวันสิ้นสุดเสียทีสำหรับการต่อสู้คดีระหว่างผู้ต้องหารายนี้ เื่มื่อศาลฎีกาของแคนาดาพิพากษายกคำร้องของผู้ต้องหา และให้ส่งตัวคนผู้นี้กลับมาดำเนินคดีต่อในประเทศไทยตามสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับแคนาดา

เมื่อคนทั่วบ้านทั่วเมืองให้ความสนใจเกี่ยวกับคดีของ fugitive คนนี้ที่ไปฝังตัวอยู่ที่แคนาดาในระยะเวลายาวนาน ก็นึกอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับแคนาดาว่าทำไมจึงมีคนหลากหลายเชื้อชาติไปตั้งรกรากกันที่ประเทศนี้กันนัก ประการแรกน่าจะมาจากแคนาดาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกตามการจัดลำดับใน human development index ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่จะมีผู้คนมากหน้าหลายตา หลากเชื้อชาติ ต้องการมาลงหลักปักฐานในประเทศนี้ เช่น ชนชาติจีน ยิ่งตอนช่วงที่ฮ่องกงต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ช่วงนั้นชาวจีนฮ่องกงโอนสัญชาติไปเป็นพลเมืองของประเทศแคนาดาจำนวนมาก เมืองสำคัญๆ ใหญ่ๆ ตามมณฑลต่างๆ ในแคนาดาจะมีชุมชนใหญ่ของชาวจีนไปตั้งรกรากอยู่มากมาย ที่สำคัญๆ เช่น แวนคูเวอร์ ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย หรือที่โตรอนโตในออนตาริโอ เป็นต้น ยิ่งถ้าเราไปเดินอยู่ในแวนคูเวอร์เนี่ยจะมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในประเทศแถบเอเชียเลย เพราะมีชาวจีนและชาวเอเชียอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เด็กรุ่นใหม่ที่สืบเชื้อสายชาวเอเชียที่นี่จะมีความเป็นอยู่เหมือนฝรั่งทั่วไป มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพูดภาษาบรรพบุรุษของตัวเองได้ เรียกว่าภายนอกดูเป็นชาวเอเชียแต่ความนึกคิดและการแสดงออกทั้งวัจนะและอวัจนะภาษาจะเป็นแบบฝรั่งไปทั้งหมด

ประการถัดมา ประเทศแคนาดาจัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางเป็นลำดับที่สองของโลกรองจากประเทศรัสเซีย ในขณะที่จำนวนประชากรไม่สมดุลกับขนาดพื้นที่ของประเทศ มีเพียงสามสิบกว่าล้านคนเท่านั้น (ยังน้อยกว่าประเทศไทยเราเกือบเท่าตัวเลย) ดังนั้นแคนาดาจึงอ้าแขนรับบุคคลจากชนชาติต่างๆ เพื่อไปเป็นพลเมืองของแคนาดา กฎระเบียบของการสมัครเป็น citizen ของแคนาดาดูจะไม่ค่อยเข้มงวดเท่าของอเมริกา แต่ก็มีการตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างละเอียดพอสมควร เพื่อที่จะได้คนมีคุณภาพไปเป็นประชากรของแคนาดาต่อไป


และก็เหมือนกันกับประวัติศาสตร์ชาติของสหรัฐอเมริกา เดิมทีพื้นที่ของประเทศแคนาดามีชนเผ่าพื้นเมือง (aborigin) อาศัยมาแต่เก่าก่อนย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 โน่นเลย ชนเผ่าพื้นเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า อีนุอิืท (Inuit)
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็มีชาวยุโรปมาค้นพบดินแดนทวีปอเมริกาเหนือแห่งนี้ ก็เกิดมีการรบพุ่งกันกับชนพื้นเมืองเพื่อแย่งกันครอบครองดินแดน และผลก็เป็นอย่างที่เราได้เรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์ก็คือว่าชาวยุโรปผิวขาวก็มีชัยเหนือชนเผ่าพื้นเมือง โดยชนชาติอังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งพื้นที่การครอบครองโดยฝรั่งเศสได้พื้นที่ตอนบนซึ่งก็คือประเทศแคนาดาในปัจจุบัน และอังกฤษได้ครอบครองส่วนที่เป็นสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน แต่ตอนหลังทำกันท่าไหนไม่ทราบเกิดการรบกันเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างฝรั่งสองชนชาตินี้ และในที่สุดฝ่ายอังกฤษได้รับชัยชนะได้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ


อย่างไรก็ตามมรดกตกทอดของชาวฝรั่งเศสก็ยังคงมีอิทธิพลกับประเทศแคนาดามาจนจวบทุกวันนี้ที่สำคัญคือเรื่องของภาษา แคนาดาเป็นประเทศที่มีภาษาราชการจำนวนสองภาษาได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทุกวันนี้ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ไหนทั่วแคนาดา แผ่นป้ายทางหลวง ป้ายโฆษณา ป้ายชื่อร้าน ป้ายรถเมล์ สารพัดประกาศต่างๆ หรือเสียงประกาศในสนามบิน สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ท่านจะเห็นเขาใช้สองภาษาทั้งสิ้น โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเริ่มต้นก่อน และจะตามมาด้วยภาษาฝรั่งเศส โดยแบบแผนการใช้ภาษาราชการนี้จะใช้ทั่วประเทศยกเว้นเพียงมณฑลเดียวคือ "มณฑลควิเบค"

พูดถึงควิเบคแล้ว มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับมณฑลที่สวยงามและมีเสน่ห่แห่งนี้ รวมทั้งที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของนักร้องเสียงดีชื่อก้องโลกที่เรารู้จักเธอกันอย่างดี นั่นก็คือ ซิลิน ดีออน (Celine Dion) คงต้องนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดาในตอนหน้า

photos credit: members.virtualtourist.com/m/9f189/dc80f/, www.oecglobal.net/.../CAN_Intrax_Promotion.htm, www.closetcanuck.com/2006/11/vancouver-ready
video credit to youtube by ZELDALINKX123

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตอนนี้ไม่มีชื่อเรื่อง

วันนี้ผู้เขียนไม่อายที่จะบอกว่า ผู้เขียนเสียน้ำตาสาเหตุมาจากความรักต่อตัวบุคคลหนึ่ง เป็นเวลาเนิ่นนานที่ต้องรอด้วยใจจดจ่อ รอด้วยความหวังเพื่อจะทราบข่าวคราว วันเวลาผ่านไปแต่ละวันแต่ละวัน ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่มีความชัดเจน ไม่มีอะไรที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้เขียน ยิ่งมีข่าวที่มีผลกระทบต่อจิตใจของผู้เขียน อันเนื่องมาจากจิตใต้สำนึกต่ำๆ ของคนไม่หวังดีที่สร้างข่าว ยิ่งเพิ่มความไม่มั่นใจและความกระทบจิตใจของผู้เขียนมากยิ่งขึ้น แต่พอมาถึงวันนี้เวลา 12.30 น. ความไม่มั่นใจและความไม่สบายใจทุกอย่างเลือนหายไปทันที มีแต่ความสุขใจและความตื้นตันใจเข้ามาแทนที่ เมื่อวันนี้ปรากฏภาพข่าวของบุคคลที่ผู้เขียนรัก รวมทั้งเป็นที่รักของประชาชนไทยที่ดีทั่วประเทศ บุคคลนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่

"ในหลวงของพวกเรา"

ตั้งแต่จำความได้ ก็เคยชินกับภาพของท่านที่เสด็จไปทั่วประเทศไทยไม่ว่าจะทุรกันดารอย่างไร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ในพระหัตถ์ถือดินสอ และแผนที่และมีกล้องสะพายพระศอตลอดเวลา จนกระทั่งบัดนี้ที่ท่านมีพระชนมายุมากขึ้นแต่ก็ยังทรงงานอยู่ตลอด เพราะเหตุนี้เองท่านจึงเป็นที่รักและเคารพยิ่งของประชาชน มิใช่เพียงเพราะท่านเป็นกษัตริย์หรือเป็นเพียงเพราะเราถูกปลูกฝังมาจากผู้ใหญ่ว่าต้องเคารพกษัตริย์ ที่เรารักคือเรารักคุณงามความดีที่ท่านได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ เมื่อท่านมีพระชนมายุมากขนาดนี้แล้วพวกเราก็อยากจะให้ท่านได้ทรงพักผ่อนเหมือนกับผู้สูงอายุทั่วไป ให้ท่านไ้ด้หายจากการเหน็ดเหนื่อยและทรงพระสำราญกับชีิวิตส่วนพระองค์

แต่อย่างไรก็ตามผู้มีบุญญามักจะมีมารผจญ ซึ่งผู้เขียนคงไม่ต้องลงรายละเอียดว่ามารตัวนั้นเป็นใคร และมีพฤติกรรมโฉดชั่วอย่างไร ในฐานะที่เป็นข้าราชการในพระองค์ ผู้เขียนได้บอกตนเองว่าต้องปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เห็นแก่อามิส เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นให้ได้ และก็คาดหวังว่าข้าราชการคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตจะได้สำเหนียกถึงความรับผิดชอบและบทบาทของตนเองที่มีต่อบ้านเมืองในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าสักแต่เพียงว่าจงรักท่านเพียงแต่ปาก แต่พฤติกรรมเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับพระราชดำรัสในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ชาติบ้านเมือง








ขอบคุณวีดีโอจาก youtube ASTV ผู้จัดการ และภาพจากบล็อกเกอร์ลูกเสือหมายเลข 9 จากบล็อกโอเคเนชัน

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความตายที่ผ่านมาแล้วและความตายที่เพิ่งผ่านไป




วันนี้เป็นวันที่เจ็ดตุลาคม พ.ศ. 2552 สำหรับคนไทยทั่วไปซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าไร อาจจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่ใช้ชีวิตวุ่นวายอยู่กับตนเองในสังคมที่ยุ่งเหยิงของโลกยุคปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นวันที่น่าเบื่อสำหรับคนที่สิ้นหวังในการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบหายใจทิ้งไปวันๆ แต่สำหรับประชาชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนอยากคาดหวังว่าเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ใช้ชื่อกลุ่มที่ทราบกันดีทั่วไปว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า People's Alliance for Democracy (PAD)" เป็นวันหนึ่งที่พวกเขาต้องหวนรำลึกถึงวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ในเรื่องของความอยุติธรรม ความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของบุคลากรในคราบนักกินเมือง และข้าราชการที่สวมใส่เครื่องแบบที่มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบสุขและสันติของประชาชน แต่กลับกระทำตรงกันข้ามกับภารกิจที่ตนเองได้รับมอบหมาย โดยมีการเข่นฆ่าประชาชาชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและความดีงามให้กับสังคม การสังหารประชาชนในวันนั้นที่มาด้วยใจกับสองมือเปล่าเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงอย่างอุกอาจและท้าทายเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ที่ว่าด้วยการใช้เครื่องมือสำหรับบันทึกภาพเหตุการณ์เคลื่อนไหวและภาพนิ่ง กลิ่นควันการสังหารและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นสาวน้อยที่มีอนาคตไกลอย่างน้องโบว์ หรือนายตำรวจนอกราชการอย่างสารวัตรจ๊าบ และผู้เสียสละท่านอื่น ที่บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงกลิ่นของมันได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เขียนและพี่ๆ น้องๆ สังกัดหน่วยราชการเดียวกัน ได้ออกมามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นด้วยหลังจากที่ได้รับทราบถึงพฤติกรรมการสั่งฆ่าประชาชนของผู้บริหารบ้านเมืองและคนใหญ่คนโตของหน่วยงานตำรวจ

มาถึงวันนี้ความตายและความสูญเสียของประชาชนเหล่านั้นได้ครบรอบหนึ่งปีแล้ว พธม ได้พยายามที่จะทำให้ความตายของประชาชนเหล่านั้นไม่สูญเปล่าด้วยการจัดงานรำลึกและกระตุ้นเตือนให้สังคมได้เห็นถึงความชั่วร้ายของผู้บริหารบ้านเมืองที่หวงแหนอำนาจและใช้อำนาจนั้นในการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นในฐานะของผู้เข้าร่วมอุดมการณ์คนหนึ่งของ พธม ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเข้าร่วมการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีิวิตในเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว แต่ความตั้งใจของผู้เขียนก็ต้องหยุดไป เมื่อความตายอันใหม่กำลังคืบคลานมาในวันที่เจ็ดตุลาคมของปีนี้

เช้าวันอังคารที่หกตุลาคม 2552 ผู้เขียนเดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจรวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่เป็นญาติสนิทของครอบครัวผู้เขียน ซึ่งท่านเดินทางมาจากจังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นสามีของน้าแท้ๆ ของผู้เขียน โดยครอบครัวท่านประกอบไปด้วยน้าสาว และลูกสองคนของท่านซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียนสนิทกับครอบครัวของเรามาก น้าเขยท่านนี้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ใจกว้างต่อทุกคน ทำให้ท่านเป็นที่ชื่นชมแก่เพื่อนฝูงและญาติมิตร ซึ่งรวมทั้งแม่ของผู้เขียนด้วย ดูเหมือนว่าแม่จะมีความนิยมชมชอบน้าเขยท่านนี้มากกว่าน้องชายแท้ๆ ของแม่เสียอีก ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าสมัยที่ยายของผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่และได้พักอาศัยกับครอบครัวของน้าสาว ก็ได้น้าเขยท่านนี้ดูแลความเป็นอยู่ของยายผู้เขียนเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นยามปกติหรือยามป่วยไข้

น้าเขยของผู้เขียนมีอาชีพรับราชการครู ตำแหน่งรองผู้อำนวยการในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอำเภอบางระจัน ซึ่งปีนี้ท่านขอเข้าโครงการเกษียนราชการก่อนอายุ เนื่องจากท่านต้องการกลับมาใช้ชีิวิตอย่างสงบสบายกับแม่ของท่าน และน้าของผู้เขียน ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อกลางเดือนกันยายน ลูกสาวคนโตของน้าเขยซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องผู้เขียนโทรศัพท์มาคุยสารทุกข์สุกดิบ โดยน้องได้เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่าพ่อและแม่ของเขากำลังจะได้พักผ่อนอยู่ที่บ้่าน และช่วงปลายเดือนกันยายนเพื่อนๆ จะมีการจัดงานเลี้ยงอำลาชีวิตราชการให้กับทั้งน้าเขยและน้าสาว ซึ่งผู้เขียนก็พลอยรู้สึกยินดีไปด้วย

แต่แล้วเวลาผ่านไปเพียงสองอาทิตย์ เช้าวันเสาร์ที่สามตุลาคม น้องสาวคนเดิมก็โทรมาอีกแต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องที่นำความสุขใจมาให้เสียแล้ว เมื่อน้องโทรมาเล่าเรื่องถึงอาการป่วยของน้าเขยแต่ผู้เขียนก็ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก รู้แต่เพียงว่าน้า่เขยท่านมีก้อนเนื้อซึ่งอาจจะเป็นเนื้อร้ายที่ปอด โดยน้องสาวได้เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าอาจจะส่งตัวพ่อของเขามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งอาจจะต้องให้ผู้เขียนช่วยเป็นธุระในระหว่างที่มาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

ต่อมาในวันที่หกตุลาคม น้าเขยของผู้เขียนก็ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดสิงห์บุรีมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลยว่าการเดินทางออกจากบ้านมาครั้งนี้ ท่านไม่มีโอกาสกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในแบบที่ยังมีลมหายใจ เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลและได้พบกับคนที่ติดตามน้าเขยมาด้วยสามคนก็คือน้าสาว น้องสาว และน้าสาวอีกท่านหนึ่ง เมื่อได้พูดคุยกันแล้วผู้เขียนก็รู้สึกหนักใจและเศร้าใจเมื่อรู้ว่าอาการของน้าเขยหนักกว่าที่ผู้เขียนคาดคิด ผลตรวจออกมาค่อนข้างแน่ชัดว่าท่านเป็นมะเร็งที่ปอด และลามไปที่ตับกับต่อมน้ำเหลือง โดยเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าสภาพร่างกายของน้าเขยจะค่อนข้างแย่ แต่สติสัมปชัญญะของท่านยังดีเยี่ยม และสามารถพูดคุยกันได้รู้เรื่อง เมื่อแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ตรวจดูแล้ว ก็เรียกน้องสาวเข้าไปคุยเนื้อหาใจความหลักก็คงเป็นการแนะนำการดูแลตนเองไปตามสภาพ เพราะหมดทางเยียวยาแก้ไข

เมื่อเสร็จจากขั้นตอนของโรงพยาบาลแล้วน้าเขยและผู้ที่มาด้วยเตรียมตัวที่จะเดินทางกลับโดยได้ขอใช้รถพยาบาลจากโรงพยาบาลสมิติเวช ระหว่างที่เคลื่อนย้ายคนป่วยจากเตียงโรงพยาบาลเพื่อเข้าไปในรถพยาบาลนั้นเอง น้าเขยของผู้เขียนเกิดอาการโคม่าขึ้นมากะทันหัน ในช่วงเวลานั้นพยาบาลที่กำลังจะช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องช่วยกันปั๊มหัวใจจนท่านฟื้นกลับขึ้นมาได้ เมื่อมีอาการเช่นนี้พยาบาลได้แนะนำว่าการนำน้าเขยเดินทางกลับสิงห์บุรีในสภาพเช่นนี้จะไม่ปลอดภัย ดังนั้นพวกเราจีงได้นำตัวน้าเขยเข้าพักที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้เขียน ในช่วงเวลานี้ผู้เขียนได้มองเห็นถึงความเข้มแข็งและความเป็นผู้ใหญ่เกินอายุของน้องสาว เขาต้องคอยปลอบใจและปลุกขวัญพ่อเขาตลอดเวลา รวมทั้งให้กำลังใจแม่เขาเป็นบางครั้ง

น้าเขยเข้าัพักที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เพียงหนึ่งคืน ท่านก็เรียกร้องอยากจะขอกลับบ้านเพื่อไปหาแม่ของท่านที่รออยู่ที่บ้าน บรรดาสมาชิกในครอบครัวของน้าเขยและครอบครัวของผู้เขียนเห็นดีด้วยและคิดว่าควรจะตามใจท่าน และก่อนที่ท่านจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากโรงพยาบาลผู้เขียนได้ไปยืนชิดปลายเตียงของท่านร่วมกับน้าสาวและลูกของท่านทั้งสองคน ผู้เขียนต้องสารภาพว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นนาทีชีวิตแห่งความเป็นและความตาย เห็นสีหน้าเศร้าโศกและเจ็บปวดของสมาชิกในครอบครัวคนป่วยที่กำลังสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รัก ได้ยินคำพูดปลุกปลอบให้คนป่วยได้รำลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน และให้รำลึกถึงคุณงามความดีที่ทำมาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวผู้เขียนเองก็ได้พูดคุยและปลุกปลอบใจน้าเขยให้รำลึกถึงคุณงามความดีด้วยใจที่สงบนิ่ง ในช่วงเวลานั้นน้าเขยของผู้เขียนยังสามารถพูดคุยได้ดี และมีสัมปชัญญะครบถ้วน ท่านยังหันมาถามผู้เขียนด้วยน้ำเสียงแหบแห้งว่าผู้เขียนจะเดินทางไปส่งท่านกลับบ้านด้วยหรือไม่ ผู้เขียนไม่ได้ตอบอะไรท่านออกไปเพราะรู้ว่าตนเองไม่สามารถสะกดกลั้นน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ และรังแต่จะทำให้ผู้ป่วยจิตใจไม่สงบ ทำให้น้องสาวต้องบอกพ่อเขาไปเบาๆ ว่า ผู้เขียนจะขับรถตามไป

ระหว่างที่โรงพยาบาลนำตัวน้าเขยออกมาจากห้องไอซียูเพื่อนำตัวท่านกลับไปบ้าน พ่อและแม่ของผู้เขียนได้เดินมาหาน้าเขยที่เตียง โดยพ่อได้ให้กำลังใจไปว่า "ใจสู้นะ" ส่วนแม่ของผู้เขียนอวยพรว่า "บูญรักษานะ" ซึ่งน้าเขยยังสามารถพูดตอบรับได้อย่างมีสติว่า "ครับ ครับ" ครอบครัวของผู้เขียนมาส่งน้าเขยและครอบครัวของท่านขึ้นรถของโรงพยาบาลเพื่อนำตัวท่านกลับไปพบแม่ของท่านที่รออยู่ที่บ้าน ผู้เขียนมองเขาเข็นเตียงของน้าเขยเข้าไปในรถพยาบาลด้วยใจที่โศกเศร้าเพราะรู้แน่แก่ใจว่าคงไม่ได้มีโอกาสพบกันอีกแล้ว เราสามคนพ่อ แม่ ลูก มองรถพยาบาลแล่นห่างออกไปเรื่อยๆ จนรถเี้ลี้ยวลับไปตรงประตูทางออกโรงพยาบาล

เราสามคนพ่อ แม่ ลูก กลับมาถึงบ้านได้ประมาณสองชั่วโมง น้องสาวก็โทรศัพท์เข้ามาที่มือถือของผู้เขียน ผู้เขียนยอมรับว่าไม่อยากได้ยินคำพูดจากน้องสาว กลัวว่าจะเป็นคำพูดในเรื่องที่ตนเองกำลังคิดอยู่ จึงชิงพูดขึ้นก่อนว่า "น้าเขาถึงบ้านแล้วใช่ไหม ได้พบคุณย่าแล้วใช่ไหม" คำตอบที่น้องสาวส่งมาตามสายโทรศัพท์คือเสียงร่ำไห้ เท่านี้ผู้เขียนก็รู้ได้ทันทีว่ามีอะไรเกิดขึ้น น้องสาวบอกว่าเมื่อรถพยาบาลแล่นมาถึงเขตจังหวัดสิงห์บุรีน้าเขยท่านก็สิ้นใจ ผู้เขียนคิดว่าน้าเขยท่านคงต้องมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน แต่เป็นที่น่าเสียดายแม้ว่าท่านจะมีใจสู้สักเพียงไหนท่านก็ไม่สามารถจะประคองร่างกายให้อยู่ยืดยาวจนกระทั่งพบหน้าแม่ที่ตั้งหน้าตั้งตารออยู่ที่บ้านได้ ผู้เขียนนำข่าวร้ายมาบอกพ่อและแม่ บ้านเราตกอยู่ในความเงียบและซึมเศร้า เพราะการเสียชีวิตของน้าเขยมันรวดเร็วมากจนเรารับไม่ทัน จากวันที่เรารับทราบข่าวจนกระทั่งถึงวันที่ท่านเสียชีวิตเพียงห้าวันเท่านั้น

จากทั้งหมดที่เขียนมานี้ทำให้ผู้เขียนต้องย้ำเตือนตัวเองให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เราเหมือนยิปซีที่เร่ร่อนไปทั่ว ไม่สามารถลงหลักปักฐานที่ใดได้อย่างยั่งยืน คงต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ พบการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ต่อไป หากเราไม่สามารถทำจิตให้หลุดพ้นได้ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนา ถึงตรงนี้ผู้้เขียนทำได้แต่ภาวนาให้จิตวิญญานของน้าเขยจงไปสู่ภพภูมิที่ดี และหมั่นบอกตัวเองเสมอว่าตัวเองก็ต้องพบกับความตายเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะตายแบบใดและตายตอนไหน แต่เรารู้ว่าจะเลือกใช้ชีวิตในปัจจุบันแบบไหนในอันที่จะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อไปเมื่อเวลาแห่งความตายนั้นมาถึง ตามหลักเหตุและปัจจัยที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันเป็นผลของอดีตและเป็นเหตุของอนาคต

ขอบคุณภาพจาก http://www.amulet.in.th/forums/images/347.jpg

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอนพิเศษ: รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ 9/11








ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญของชาวโลกรวมไปถึงความสะเทือนใจของญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์วินาศกรรมอาคารแฝด World Trade Center เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) เกิดขึ้นมาครบรอบ 8 ปี แล้ว วันนั้นจำได้ว่าตามเวลาที่เมืองไทยเป็นช่วงค่ำๆ ผู้เขียนกำลังดูโทรทัศน์กับพ่ออยู่ สักครู่รายการโทรทัศน์ปกติก็ตัดเข้ารายงานสถานการณ์ด่วน โดยรายการทุกช่องรายงานข่าวเดียวกันพร้อมกับมีภาพเหตุการณ์ประกอบ ผู้เขียนดูรายงานข่าวด่วนนั้นด้วยความตกตะลึงและคาดไม่ถึงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นจริง มันช่างเหมือนเรากำลังดูเหตุการณ์ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ภาพอาคารสูงที่สวยงามที่เป็นอาคารแฝด และเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเที่ยวมหานครนิวยอร์ก กำลังถูกเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่งบินพุ่งเข้าใส่ และอีกไม่กี่นาทีก็มีเครื่องบินอีกลำหนึ่งบินเข้าชนซ้ำ ทำให้อาคารที่ได้รับการขนามนามว่าเป็น landmark ของนครแห่งนี้พังถล่มลงมาพร้อมกับฝุ่นสีขาวที่ฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่ พร้อมๆ กับความสูญเสียชีวิตของผู้คนที่อยู่ในอาคาร ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมไปทั้งชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกไม่รู้กี่ร้อยคนในเครื่องบินสัญชาติอเมริกันสองลำนั้น และไม่นับรวมไปถึงทรัพย์สินที่เสียหายไปโดยไม่อาจประเมินค่าได้

ผู้เขียนมองเห็นภาพเหตุการณ์นั้นจากการรายงานข่าวโดยตลอด มันเหมือนมีก้อนอะไรแข็งๆ ติดอยู่ลำคอไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้ ความรู้สึกที่มีอย่างเดียวคือความสะเทือนใจ และใจก็หวนรำลึกไปถึงเมี่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) หรือก่อนหน้าเหตุการณ์โศกนาฎกรรมนี้หนึ่งปี นิวยอร์กในวันนั้นยังเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ และเป็นเมืองที่ไม่มีวันหลับที่ดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ไปเยือน แน่นอนที่สุดว่าในช่วงเวลานั้นมีผู้เขียนรวมอยู่ในจำนวนนักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วย โดยผู้เขียนมักใช้เวลาว่างจากการเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงต้นหรือปลายๆสัปดาห์ เดินทางจากแคนาดาเข้าไปเที่ยวที่นิวยอร์กอยู่เนืองๆ เพราะการคมนาคมด้วยรถโดยสาร Greyhound สะดวกสบาย และระยะทางระหว่างโตรอนโตกับนิวยอร์กไม่ได้ไกลกันมาก และก็เป็นที่แน่นอนอีกเหมือนกันว่าผู้เขียนไม่มีวันพลาดที่จะไปเยี่ยมเยือน landmark ของนครแห่งนี้ก็คือ อาคารแฝด World Trade Center ตอนนั้นในอาคารแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเต็มไปหมด ผู้เขียนจำได้ว่าในช่วงเวลานั้นในอาคารแห่งนี้มีการแสดงรถยนต์ยี่ห้อหรูรุ่นใหม่ที่จัดแสดงสำหรับลูกค้าที่กระเป๋าหนัก และผู้สนใจทั่วไป โดยการจัดแสดงรถจัดอยู่ที่พื้นที่กลางแจ้งที่มีบริเวณกว้างขวางและเป็นพื้นที่อยู่ช่วงชั้นกลางๆ ของอาคาร โดยพื้นที่นี้ไว้ใช้เพื่อเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารแฝดหนึ่งและสอง ในวันนั้นผู้เขียนไม่ได้สนใจรถ แต่สนใจสถาปัตยกรรมและการตกแต่งอาคารแห่งนี้มากกว่า อาคารนี้จัดได้ว่าเป็นอาคารที่คนอเมริกันเชื่อมั่นว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยสูง และตัวอาคารมีความคงทนแข็งแรง สามารถทนทานต่อแรงระเบิดได้ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า หากเกิดการก่อวินาศกรรมจากการวางระเบิด (ข้อมูลนี้ผู้เขียนได้มาจากการเดินตามไกด์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่กำลังอธิบายประวัติของอาคารแห่งนี้) แต่จะมีคนอเมริกันสักกี่คนที่จะคาดเดาถึงเหตุการณ์ในอนาคตได้ว่า การก่อวินาศกรรมจะมาในรูปแบบอื่นที่ทำให้อาคารแห่งนี้ต้องมีจุดจบในสภาพแบบนี้

ภาพตัวผู้เขียนที่กำลังโลดแล่นไปในอาคารแฝดแห่งนี้ รวมไปถึงภาพความสวยงามและโอ่อ่าของอาคาร World Trade Center เมื่อมองมาจากเรือของนักท่องเที่ยวบนแม่น้ำฮัดสัน ที่ใช้โดยสารระหว่าง South Ferry และเกาะเอลลิส กับเกาะลิเบอร์ตี้ที่เป็นที่ตั้งของเทพีเสรีภาพ ภาพการ์ดรักษาความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดตรวจสัมภาระของนักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นไปชมความสวยงามของอาคาร ภาพผู้คนที่ทำงานอยู่ในอาคารที่เดินขวักไขว่ที่เดินสวนไปมากับผู้เขียนยังติดตาผู้เขียนอยู่ไม่รู้เลือน พร้อมกับคำถามต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้เขียน ในจำนวนผู้เสียชิวิตเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใดหนอที่เป็นคนที่ผู้เขียนเคยเดินสวนกับเขามาแล้ว หรือจะเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยของอาคารสักกี่คนที่ผู้เขียนเคยสนทนาโต้ตอบด้วย ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองได้โหดเหี้ยมถึงเพียงนี้

ความนึกคิดของผู้เขียนสะดุดลงตรงนี้ เมื่อพ่อหันมาพูดกับผู้เขียนเบาๆ ว่า “นี่ โชคดีแค่ไหนแล้วเราน่ะ ถ้าเหตุการณ์นี้มันเกิดเร็วขึ้นไปหนึ่งปี ป่านนี้เราจะไปอยู่ที่ไหนแล้ว ฮึ”
“นั่นน่ะซิ ถ้ามันเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ปีหนึ่งผู้เขียนจะไปอยู่ที่ไหนแล้ว” ผู้เขียนนึกถึงวันที่ 11 กันยายน 2543 วันนี้ของปีที่แล้ว ที่ตัวผู้เขียนเดินท่อมๆ อยู่ในนครใหญ่แห่งนี้
ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานอีกสักเท่าใด ที่ญาติๆ ของผู้เสียชีวิต รวมไปถึงชาวนิวยอร์กที่ประสบเหตุจะลืมเลือนเหตุการณ์นี้ไปได้ หรือไม่อาจลืมมันได้เลยจนชั่วชีวิต

RIP สำหรับทุกชีวิตที่สูญเสีย


9/11 video credit to youtube.com and Audio: Hands By Jewel Creator: Brian Bezalel (Skyracer90) and www.hymoo.com, NetworkLive

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

Colours of the Wind



You think you own whatever land you land on
The Earth is just a dead thing you can claim
But I know every rock and tree and creature
Has a life, has a spirit, has a name
You think the only people who are people
Are the people who look and think like you
But if you walk the footsteps of a stranger
You'll learn things you never knew, you never knew

Chorus:
Have you ever heard the wolf cry to the blue corn moon
Or asked the grinning bobcat why he grinned
Can you sing with all the voices of the mountain
Can you paint with all the colours of the wind
Can you paint with all the colours of the wind

Come run the hidden pine trails of the forest
Come taste the sun sweet berries of the Earth
Come roll in all the riches all around you
And for once, never wonder what they're worth
The rainstorm and the river are my brothers
The heron and the otter and my friends
And we are all connected to each other
In a circle, in a hoop that never ends

Have you ever heard the wolf cry to the blue corn moon
Or let the eagle tell you where he's been
Can you sing with all the voices of the mountain
Can you paint with all the colours of the wind
Can you paint with all the colours of the wind

How high does the sycamore grow
If you cut it down
Then you'll never know

And you'll never hear the wolf cry to the blue corn moon
For whether we are white or copper skinned
We need to sing with all the voices of the mountain
We need to paint with all the colours of the wind

You can own the earth and still
All you own is Earth until
You can paint with all the colours of the wind

(Lyric Source: http://www.stlyrics.com/songs/v/vanessawilliams4042/colourofthewind574550.html) (Picture by: www.treehugger.com/2008/10/19-week)

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 5: เรื่องของคนกินยาก อยู่ยาก (2)

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าถึงความเชยของผู้เขียนในเรื่อง daylight saving time ในเรื่องนี้ได้ให้บทเรียนบางสิ่งบางอย่างแก่ตัวผู้เขียนเองในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่ใช่ประเทศไทยของเรา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็อดที่จะพูดถึงปรากฏทางสังคมวิทยาที่ใครๆ มักจะกล่าวถึงกัน เมื่อคนคนหนึ่งจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่นที่ต่างทั้งทางด้านวัฒนธรรม และความต่างในการใช้ภาษา นั่นก็คือ “culture shock” หรือความรู้สึกสับสนทางวัฒนธรรม เท่าที่รู้นี่ “culture shock” เกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกคน มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในที่สุดก็จะค่อยปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เอง แต่ก็มีบางคนเป็นมากถึงขนาดไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ มีอาการซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว และอยากกลับบ้าน




ทีนี้สำหรับตัวผู้เขียนเองก็มีอาการ culture shock กับเขาเหมือนกัน ในช่วงที่เข้าเรียนคอร์สปกติที่ต้องเรียนรวมกับนักศึกษาแคนาเดียนอีก 19 คน โดยตัวผู้เขียนเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวในชั้น เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้นผู้เขียนคิดว่าตนเองไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษนัก แต่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ศัพท์แสง แสลงต่างๆ ทั้งอาจารย์ผู้สอน ทั้งเพื่อนนักเรียนใช้กันให้กระจายในห้องเรียน โอพระเจ้า ฉันจะรู้ จะตามทันไม๊เนี่ย ยิ่งเวลามีการแบ่งกลุ่มการทำงาน พวกเพื่อนเหล่านั้นใช้แสลง สำนวน แบบผู้เขียนพลิกตำราไม่ทัน ทำเอาเครียดไปช่วงเดือนสองเดือนแรกเลย แต่ก็ดีอยู่อย่างที่เพื่อนๆ เข้าใจ บางครั้งเวลาเห็นเราทำหน้างง ก็จะขยายความโดยใช้ศัพท์ที่เรารู้มาอธิบายให้เราเข้าใจ

เรื่องการใช้ภาษานั่นก็อย่างหนึ่ง เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัญหาของผู้เขียนอีกอย่างหนึ่ง คนที่รู้จักผู้เขียนดีเนี่ย จะรู้ว่าผู้เขียนเป็นคนค่อนข้างกินยาก จะเน้นแต่อาหารไทย ขนมก็ต้องเป็นขนมไทย พวกกล้วยบวชชี กล้วยเชื่อมทั้งหลาย แล้วที่นี้พอไปอยู่ที่แคนาดาแล้ว จะหาอาหารไทยที่ไหนกินได้ทุกมื้อๆ ถึงแม้ว่าแคนาดาจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม หรือมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และมีอาหารหลากหลายเชื้อชาติ ดังนั้นการปรับตัวให้สามารถกินอาหารที่ขายใน Cafeteria ของ College ได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นี่เองจึงเป็นที่มาของการฝากท้องไว้กับร้าน Tim Hortons อยู่ทุกมื้อทุกคราว เพราะร้าน Tim มีอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหงของแคนาดา พูดง่ายๆ ก็เหมือน McDonalds นั่นเอง







ร้านอาหารสไตล์แคนาเดียนอีกร้านหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ Swiss Chalet ร้านนี้จะขายไก่ย่างเป็นหลัก และก็ยังมีอาหารอีกหลากหลายประเภทไว้บริการลูกค้า ร้าน Swiss Chalet นี้เป็นร้านที่ผู้เขียนเต็มใจมาใช้บริการเป็นอย่างยิ่งเพราะรสชาติถูกอกถูกใจ พอจะกล้อมแกล้มไม่ให้คิดถึงไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างห้าดาวของบ้านเราไปได้บ้าง :) แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือของหวานของที่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลือนรสชาติจนกระทั่งบัดนี้นั่นก็คือ พายมะนาว (Lemon Meringue Pie) เขาทำได้อร่อยมากขอบอก ผู้เขียนคิดว่าร้านอาหาร typical Canadian สองร้านนี้มีคุณูปการแก่ตัวผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งในฐานะแหล่งเสบียงหลักของผู้เขียนตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา





แต่อย่างไรก็แล้วแต่อาหารเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถสู้อาหารที่พ่อของผู้เขียนทำเอาไว้ให้มากินที่นี่ช่วงวันสองวันแรก นั่นก็คือผัดพริกขิงถั่ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านด่านมาได้ยังไง พ่ออุตส่าห์แพ็คมาให้อย่างดี พอมาถึงก็เข้าช่อง freeze ไว้ ช่วยบรรเทาความคิดถึงอาหารไทยไปได้หลายมื้อเชียวละ เวลากินไปน้ำตาก็รื้นไปคิดถึงพ่อกับแม่ที่บ้าน เฮ้อตอนท้ายนี้เรื่องมันเศร้า เกิด homesick ขึ้นมาเฉยๆ ซะยังงั้น

ขอบคุณภาพจาก

www.cartoonstock.com/.../c/culture_shock.asp
www.squidoo.com/tim_hortons
www.buffalorising.com/.../2009/05/
toronto.ibegin.com/.../pictures/3973.html
dealcetera.com/.../