วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว ตอนสุดท้าย

พวกเราใช้เวลาเดินทางจากหลวงพระบางถึงเวียงจันทน์ เบ็ดเสร็จเกือบสิบชั่วโมง ในจำนวนนี้เราแวะพักอิริยาบถกับกินข้าวกลางวันด้วย โดยเรามาแวะกินข้าวกันที่วังเวียงก็ประมาณเที่ยงกว่าเกือบบ่ายแล้ว ดังนั้นทุกคนอยู่ในอาการหิวโหยตาลาย โดยเฉพาะคนขับ เรามาแวะพักกินข้าวที่โรงแรมขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำซอง โดยเขาได้เปิดบริการเป็นร้านอาหารด้วย



ตอนที่เราเข้าไปนั้นร้านอาหารไม่มีลูกค้าคนใดใช้บริการอยู่ มีเพียงเจ้าของที่เป็นผู้หญิงฝรั่ง กับพนักงานร้านที่กำลังนั่งเล่นนอนเล่นกันอยู่ พอพวกเราเข้าไปกัน 7 คน ก็ลุกกันพรึ่บพรั่บ คงนึกในใจว่างานนี้คงได้เงินจากเราไปหลาย แต่เปล่าหรอกคณะเรายังคงตั้งมั่นอยู่ในหลักการเดิมคือ budget trip ก็ยังคงใช้เงินแบบประหยัด ดังนั้นเราจึงสั่งอาหารตามสั่งคนละจาน อย่าง กะเพราราดข้าว ไข่เจียวราดข้าว อะไรเงี้ย แถมพี่นิยังงัดเอามาม่าคัพที่ซื้อไปตั้งแต่อุดร และยังไม่ได้เปิดกิน ก็เอามาเปิดกินซะตอนนี้ ไม่อยากเอากลับไปให้หนักกระเป๋า คนที่จริงจังกับการกินมาม่าคัพเห็นจะเป็นคนขับ บุญคงหิวมากชั่วเวลาแป๊ปเดียวกินซะเกลี้ยงถ้วย



ในขณะที่ในครัวเราได้ยินเสียงเขาสับหมูกันให้วุ่นวาย งานนี้เราก็เลยมั่นใจกันว่าคงอีกนานกว่าจะได้กิน ก็เลยนั่งมองวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำซองไปพลางๆ เห็นน้ำแล้วใจจะได้เย็นๆ เพื่อจะได้นั่งรออาหารได้อย่างอดทน เห็นเด็กๆ โดดลงน้ำกันให้ตูมตาม เล่นสนุกสนานกันก็ให้นึกถึงเด็กบ้านเรา โดยเฉพาะเด็กในเมืองหลวงที่วันๆ ไม่ได้มีโอกาสดีได้สัมผัสธรรมชาติอย่างเด็กพวกนี้ เสร็จจากเล่าเรียนเขียนอ่านประจำวันในโรงเรียนแล้ว ต้องไปเรียนพิเศษต่อ เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียน หรือบางรายต้องไปเรียนกิจกรรมเสริมที่พ่อแม่ในแวดวงเซเลบเขาเอาไว้คุยอวดกันเพื่อแสดงความสามารถของลูกตัวเอง

ที่จริงผู้เขียนไม่ได้มีจิตใจต่อต้านการประพฤติปฏิบัติอะไรทำนองนี้ของคนไทยเราเท่าไหร่นะ ความจริงแล้วการเรียนพิเศษหรือการเรียนกิจกรรมเสริมพวกนั้นถ้าเป็นไปด้วยความเต็มใจของเด็ก และพ่อแม่มีฐานะไม่เดือดร้อนก็ควรจะส่งเสริม ซึ่งทุกอย่างต้องมีความพอดีและเหมาะสม เวลาเรียนตั้งใจเรียน เวลาเล่นเล่นให้เต็มที่ แต่ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ปลูกฝังค่านิยมอะไรที่ผิดๆ ให้แก่เด็กๆ ของเราตั้งแต่อายุยังน้อย ในเรื่องการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องเรียน มันเลยทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตธรรมชาติภายนอก ที่จริงการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมันก็เป็นโลกของการเรียนของชีวิตเราจริงๆ เลยละ มันเป็นห้องเรียนที่ใหญ่โตมาก เรามีพื้นดินพื้นหญ้าเป็นที่นั่งเรียน มีท้องฟ้าที่บางวันก็ฟ้าใสกระจ่าง บางวันก็มืดครึ้ม เป็นกระดานดำ มีสรรพสิ่งที่เป็นทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตรอบตัวเสมือนเป็นเนื้อหาในตำรา แต่คนเราก็ยังขวนขวายที่จะมี จะเป็น ที่ฝืนต่อกฎแห่งธรรมชาติ







พวกเรารออาหารที่สั่งด้วยความใจเย็นถึงแม้จะนาน แต่พ่อครัวก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง อาหารส่วนใหญ่รสชาติอร่อย โดยเฉพาะจานข้าวผัดกะเพราของผู้เขียน เราใช้เวลาจัดการอาหารมื้อกลางวันพร้อมกับมาม่าคัพด้วยความรวดเร็ว ไม่นานเราก็เดินทางออกจากวังเวียงมุ่งสู่เวียงจันทน์

ระหว่างทางเราได้พบเห็นขบวนรถตู้ทะเบียนกรุงเทพฯ ของนักท่องเที่ยวชาวไทยจอดอยู่ข้างทางหลายคัน โดยมีรถตู้คันหนึ่งจอดอยู่ในลักษณะที่ผิดท่าทาง และมีรอยบุบอยู่ที่ตัวรถ เราก็เลยคาดว่ารถตู้คันดังกล่าวคงจะไปเฉี่ยวชนอะไรเข้า ผู้โดยสารจากคันอื่นๆ ลงมาช่วยกันสำรวจดูความเสียหาย คณะของพวกเราได้แต่มองผ่านคณะนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มนี้ไป เพราะเห็นว่ามีผู้คนมากมายคอยช่วยกันดูอยู่แล้ว

รถของเราผ่านขบวนรถตู้ของคนไทยกลุ่มนั้นมาได้ไม่นานนัก ขบวนรถตู้ดังกล่าวก็กลับมาขับแซงรถตู้ของเราไป และก็ขับแข่งไปแซงรถที่อยู่คันหน้าของเราต่อไปอีก เรียกง่ายๆ ว่า นำนิสัยถาวรในเรื่องการขับรถเร็วมาใช้ที่ประเทศลาวนี่ ผู้เขียนชำเลืองดูอากัปกิริยาของบุญว่าเขาจะทำท่าทางหรือสีหน้าอะไรบ้าง แต่ก็เห็นบุญเฉยๆ ไม่มีอารมณ์ใดๆ แสดงออกทางสีหน้า ยังคงขับรถด้วยความใจเย็น ไม่มีคำสบถ คำบ่นใดๆ ออกจากปาก สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกละอายใจแทนคนขับรถตู้เหล่านั้นซะจริงๆ เลย เรามักชอบแสดงปมเขื่องต่อเพื่อนบ้านของเรา นี่ไงที่เราด้อยกว่าลาวเขา เราขาดในเรื่องน้ำใจและการให้ความเคารพความเป็นตัวตนของผู้อื่น

เรามาถึงเวียงจันทน์ประมาณสี่โมงเศษ บุญพาพวกเรามาซื้อตั๋วที่สถานีรถโดยสารเพื่อจะนั่งรถ Inter Bus ไปอุดรธานี โดยรถที่เราจะนั่งไปนั้นจะออกจากสถานีประมาณหกโมงเย็น ซึ่งก็ยังพอมีเวลาที่จะไปเดินดูอะไรรอบๆ กำแพงเมืองเวียงจันทน์บ้าง บุญพาเราไปที่ประตูชัย เราก็เดินดูรอบๆ ความโอ่อ่าของประตูไซในภาษาลาว ที่สร้างเลียนแบบมาจากประตูชัยที่ปารีส โดยประตูชัยนี้ก่อสร้างเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของวีรชนของชนชาติลาวที่เสียชีวิตในสงคราม





รอบๆ พื้นที่ของประตูชัยเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการกระทรวง กรมต่างๆ ของลาว ซึ่งช่วงนั้นเป็นเวลาเลิกงานพอดี เราจึงได้เห็นข้าราชการทั้งหญิงชายทยอยเดินทางออกมา โดยส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซต์เป็นยานพาหนะ เราได้ใช้เวลาที่เหลืออีกนิดหน่อยไปแวะดูพระธาตุหลวง ซึ่งขณะนั้นเขาปิดให้เข้าชมแล้ว เราก็เลยได้แต่ถ่ายรูปอยู่ด้านนอก ซึ่งข้างหน้าเจดีย์พระธาตุหลวงเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งตามประวัติแล้วพระธาตุหลวงนี้มีอายุการก่อสร้างนับพันปีเหมือนกับเจดีย์พระธาตุพนมที่บ้านเรา สำหรับพระไชยเชษฐาธิราชท่านมีความสำคัญตรงที่เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรล้านช้างที่ย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาที่เวียงจันทน์นี้ และได้โปรดให้บูรณะและสร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่



เดินเที่ยวได้ไม่นาน เราก็ต้องรีบกลับไปที่สถานีขนส่งเพื่อไปรอขึ้นรถ แต่ถึงยังงั้นก็ตามทีก็ยังมีพี่บางคนสามารถใช้ความสามารถพิเศษในการใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดซื้อผ้าไหมจากร้ายขายของที่ระลึกที่พระธาตุหลวงกลับมาจนได้

เรามาร่ำลาบุญที่สถานีขนส่ง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเหมารถจำนวนสี่วันแล้ว เราได้ให้ค่าตอบแทนสำหรับความมีน้ำใจของเขาตลอดสี่วันที่ผ่านมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นพวกเรามานั่งคิดคำนวนกันว่าเราได้ใช้จ่ายสำหรับการเที่ยวครั้งนี้เป็นเงินเท่าไหร่ คำตอบที่ได้ก็คือคนละ 6,000 บาท ซึ่งอาจมีเศษนิดหน่อย นับว่าถูกมากสำหรับการเดินทางที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวอย่างนี้

รถ Inter Bus จากบริษัทขนส่งไทยมารับเราและผู้โดยสารอื่นๆ ที่เวียงจันทน์ค่อนข้างช้ากว่ากำหนด เมื่อเราไปถึงด่านตรวจตรงสะพานมิตรภาพเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ตกดินไปนานแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการออกเมืองที่ฝั่งลาวแล้ว รถของเราจึงแล่นขึ้นสะพานมิตรภาพเพื่อข้ามพรมแดนกลับไปฝั่งไทย มองออกไปนอกตัวรถเห็นแม่น้ำโขงอยู่ในความมืดมิดลิบๆ ข้างหน้า ในขณะที่รถก็แล่นออกห่างจากฝั่งลาวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกึ่งกลางสะพานที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนของเราสองประเทศ



เห็นธงชาติลาวและธงชาติไทยปักไว้คู่กันห่างกันเพียงเล็กน้อย เป็นสิ่งบ่งบอกว่าเราคงต้องบอกลาประเทศลาวไว้ตรงนี้ ขอขอบคุณสำหรับน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของเพื่อนชาวลาวที่เราได้พบปะ ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้เราได้กลับไปเยี่ยมเยือนอดีตของเรา หวังว่าประเทศลาวจะรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามไว้ได้ตราบนานเท่านาน ขอบคุณพี่ๆ ที่ไปเที่ยวด้วยกันและผู้อ่านคนอื่นๆ ที่ติดตามอ่านมาถึงตอนจบ หวังว่าเราคงจะได้มีโอกาสไปทักทาย "สะบายดี" เพื่อนบ้านที่น่ารักของเราอีกครั้งในเร็ววันนี้

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา (ตอน 1: เมื่อแม็กเจอแม็ก)

วันแรกที่ผู้เขียนได้เหยียบย่างสู่พื้นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศแคนาดา เป็นวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นเวลาเกือบสี่ทุ่มของเวลาที่ท่าอากาศยานนานาชาติเพียร์สัน นครโตรอนโต มณฑลออนตาริโอ หลังจากที่ต้องบินเดี่ยว โดยทิ้งเพื่อนร่วมทางที่มาเป็นหมู่คณะเดียวกันกว่า 20 ชีวิต ไว้ที่นครลอสแองเจลลิส อเมริกา เนื่องมาจากความผิดพลาดตอน check in ที่เมืองไทย ซึ่งมีผู้เขียนคนเดียวเท่านั้นที่มีที่นั่งจากลอสแองเจลลิสต่อไปยังโตรอนโตได้ ก็ยังงงๆ อยู่สำหรับระบบ check in ตอนนั้น แต่ก็ช่างเหอะพวกพี่ๆ น้องๆ เหล่านั้น ออกจะชอบใจซะมากกว่า เพราะสายการบินเขาให้ที่พักฟรีด้วยนิ แถมเที่ยวอะไรต่อมิอะไรที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของลอสแองเจลลิส เพื่อมาคุยข่มเราซะอีก

จริงๆ แล้วผู้เขียนเองต้องออกจากสนามบินเพียร์สันไม่น่าเกินสี่ทุ่มครึ่ง แต่เป็นเพราะว่าสัมภาระของเรามันไม่มาด้วย รอแล้วรอเล่าที่สายพานรับกระเป๋าจนใครๆ ที่มาเที่ยวบินเดียวกันเขาออกไปจนหมดแล้ว ก็ไม่เห็นของเรา มองซ้าย ขวา หน้า หลัง ไม่เห็นมีป้าย baggage claim ที่ไหนเลย เลยต้องจำใจเดินผ่านด่านศุลกากรออกไป เพื่อตรงไปประตูทางออกสนามบิน เพราะเกรงว่าคนที่มารอรับจะรอนาน



ออกไปก็เห็นชายชาวแคนาเดียนสองคนในวัยไม่หนุ่มและไม่แก่ ยืนทำหน้าตาละห้อย มีคนหนึ่งถือป้าย "Georgian College" "อืม สองคนนี้แน่แล้วที่มารอรับเรา" ผู้เขียนนึกในใจ

"Hello my name is สุรีย์พร from Thailand. I'm so sorry to keep you waiting for so long.

Hi, I'm Steve Litchy and this is my friend, Mac Greaves from Georgian College. Nice to meet you. "Where're the others?" ชายที่แนะนำตัวว่าชื่อ Steve ถามถึงเพื่อนร่วมคณะคนอื่นๆ ที่ควรจะมาถึงด้วยกัน

"They're in Los Angeles at the moment 'cuz there was no seats in this flight available. I think there's something wrong with our check-in process in Bangkok. But anyway, don't worry they're supposed to be here tomorrow, same time, same flight as mine" ผู้เขียนขยายความให้ Steve เข้าใจถึงเหตุผลที่คนอื่นๆ ไม่สามารถเดินทางมาพร้อมกันกับผู้เขียนได้ แต่ก็ยืนยันไปว่าพรุ่งนี้พวกเขาเหล่านั้นจะเดินทางมาแน่ๆ

"Where's the luggage?" Steve ถามถึงกระเป๋าสัมภาระของผู้เขียน

"I don't know, It took me so long to find my baggages inside. Unfortunately, they're gone.

"Don't worry, it's kind of usual thing in here. Tommorrow I'm pretty sure that your luggage will be here" อะไรนะเป็นเหตุการณ์ปกติของที่นี่รึที่กระเป๋ามันอันตรธานหายไปน่ะ ผู้เขียนนึกในใจหลังจาก Steve บอกว่าเหตุการณ์เช่นนี้ค่อนข้างธรรมดา ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แล้วถ้าเกิดมันไม่มาล่ะ ฉันจะเอาเสื้อผ้าที่ไหนใส่ และข้าวของเครื่องใช้ที่ pack มาในกระเป๋าอีกล่ะ นี่มาอยู่เป็นปีนะ ไม่ใช่สองวัน ผู้เขียนได้แต่พูดประโยคเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่สีหน้าคงบ่งบอกถึงความกังวล ทำให้ Steve เห็น เขาก็เลยส่งยิ้มเย็นๆ ให้ผู้เขียน พร้อมชวนให้ออกจากสนามบินเพื่อไปที่พักก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาตามหากระเป๋าพร้อมกับมารับคณะที่ตกค้างที่มาจากลอสแองเจลลิสด้วย

ตลอดการสนทนากับ Steve ที่สนามบิน ผู้มารับอีกคนหนึ่งที่ชื่อ Mac Greaves ไม่ได้พูดอะไรและไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ได้แต่ยิ้ม
"คนชื่อ Mac Greaves พูดภาษาอังกฤษได้รึเปล่าเนี่ย" ผู้เขียนนึกแบบขำๆ ในใจ
"สวัสดีคร๊าบ" อยู่ๆ Mac Greaves ก็ส่งเสียงประโยคทักทายแรกออกมาเป็นภาษาไทย "เฮ้ยพูดไทยได้" ผู้เขียนนึกอยู่ในใจแบบแปลกใจหน่อยๆ

ผู้เขียนเลยส่งภาษาไทยตอบกลับไปว่าพูดไทยได้หรืออะไรประมาณนั้น ผลที่ได้คือ Mac ทำหน้างง แล้วบอกผู้เขียนว่าพูดไทยได้แค่สวัสดีเท่านั้นแหละ อย่างอื่น บ่ฮู้ บ่หัน

ชายไม่หนุ่มไม่แก่สองคนนั้นนำผู้เขียนไปขึ้นรถเก๋งกลางเก่ากลางใหม่คันหนึ่ง เพื่อพาผู้เขียนไปเมือง Barrie ซึ่งมีระยะทางห่างจาก Toronto ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร ดูตามแผนที่ข้างล่างทั้ง Toronto และ Barrie อยู่ในมณฑล Ontario ซึ่งเป็นแถบสีเหลืองมีเนื้อที่กว้างใหญ่มาก



โดย Ontario จัดว่าเป็นมณฑลที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นลำดับที่สอง รองจากมณฑล Quebec แต่ถ้านับจำนวนประชากรแล้ว Ontario เป็นอันดับหนึ่งของแคนาดาในแง่ของความหนาแน่นของประชากร และเป็นแหล่งธุรกิจการค้าที่สำคัญที่สุด เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะเล่าเลยไปถึงข้อมูลภูมิศาสตร์เชิงการปกครองของแคนาดาเสียหน่อย

แคนาดานั้นเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่มีควีนเอลิซาเบธของอังกฤษเป็นประมุข ดังนั้นแคนาดาจึงถือว่าเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ หรือ Commonwealth แคนาดาแบ่งการปกครองออกเป็น 10 มณฑล และ 3 เขตอาณา หรือภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า 10 provinces and 3 territories ที่เราๆ พอจะคุ้นชื่อก็คือ Ontario Province, Quebec Province, Nova Scotia Province อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นผู้เขียนจึงรู้สึกขัดอกขัดใจเวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังข่าวเวลาผู้ประกาศข่าวแปลความหมาย province ในการแบ่งการปกครองของประเทศแคนาดาว่า เป็น "จังหวัด" ซึ่งแปลตรงแบบการปกครองของบ้านเรา ซึ่งมันไม่ครือเลย province ของแคนาดานั้นเทียบเท่า state หรือมลรัฐของอเมริกานั่นเลย เพียงแต่ว่าสองประเทศนี้การปกครองเขาต่างกัน ดังนั้นการเรียกชื่อจึงต่างกัน

ทีนี้เมื่อเขาแบ่งการปกครองเป็นมณฑล หรือ provinces แล้ว แต่ละ province เขาก็จะมีเมืองหลวงของแต่ละ province อย่าง Ontario นี้ เมืองหลวงคือ Toronto แต่ Toronto ก็ไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศแคนาดา เมืองหลวงของประเทศคือ Ottawa ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใน Ontario เหมือนกัน


ดังนั้นการปกครองของแคนาดาก็จะเริ่มตั้งแต่ระดับประเทศที่มีรัฐบาลกลางปกครอง (Central Government) มี Ottawa เป็นเมืองหลวง จากนั้นระดับถัดลงมาคือการแบ่งการปกครองแบบท้องถิ่นระดับมณฑลหรือ province รองลงมาคือ County ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่ายังไงแต่ County นี้เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งรวมเมืองเล็กเมืองน้อยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันให้รวมเป็น County เดียวกัน เพื่อให้สะดวกแก่การให้บริการของทางราชการด้านสังคมและสุขภาพ สำหรับเมือง Barrie สมัยที่ผู้เขียนไปอยู่ยังสังกัดใน Simcoe County แต่ต่อมาแยกเป็นอิสระเนื่องจากมีขนาดของประชากรหนาแน่นขึ้น

เล่ามาซะยาวเชียว มาเข้าเรื่องที่เล่าค้างต่อดีกว่า จากการที่นั่งมาในรถกับผู้ชายสองคนท่ามกลางความมืดมิด ในประเทศที่เราเคยมาครั้งแรก ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ทำให้รู้สึกกังวล

"เฮ้อ จะไว้ใจได้เปล่าเนี่ย และเกิดเอาเราไปปล่อยไหนจะทำไงเนี่ย แถมหน้าตาดียังงี้ด้วย :)" ผู้เขียนนึกในใจ เพราะไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

และเหมือนสองคนนั้นจะรู้สึกถึงความนึกคิดของผู้เขียน เขาสองคนเลยชวนผู้เขียนคุยระหว่างทางที่เรานั่งรถไป Barrie เพื่อสร้างความเป็นกันเอง โดยคนที่คุยมากที่สุดคือ Mac เพราะ Steve ทำหน้าที่เป็นสารถี

"You have a short name, don't you?" Mac เริ่มคุยอย่างเป็นกันเองโดยเริ่มถามว่าผู้เขียนมีชื่ออื่นที่เรียกง่ายกว่าชื่อจริงไม๊

"yes, you can call me Mac" อะฮ้า เป็นไงเล่า เราก็ชื่อเดียวกันน่ะละ

Mac ฝรั่งทำหน้างงๆ ก่อนที่จะอุทานว่า "You're also Mac!" "Mac what MacDonald's or somewhat different? โอยจะอยากรู้ไปทำไมว่าชื่อฉันมีอะไรต่อท้ายเนี่ย และแมคโดนัลด์จะเป็นไปได้ยังไง ตอนสมัยฉันเกิดน่ะเมืองไทยยังไม่มีหรอก แมคโดนัลด์ หรือแมคโดนัทอะไรอ่ะ

"Well...it's kind of long story. Anyhow, I'll tell you later on. ผู้เขียนพูดปัดๆ ไปว่าจะเล่าที่มาของชื่อเล่นผู้เขียนให้ฟังทีหลัง เพราะมันเรื่องยาวจริงๆ นะ กว่าจะเล่าจบทั้งคนเล่า คนฟังคงหลับกันไปก่อนแล้วมั้ง

เราสามคนมาถึง Barrie ในอีกชั่วโมงถัดมา Steve พารถของเขามาตามถนน Georgian Drive



Mac ฝรั่งชี้ชวนให้ผู้เขียนดูกลุ่มอาคารต่างๆ ที่เรียงรายอยู่อีกฟากถนน พร้อมทั้งกล่าวว่า นั่นคือ Georgian College


และถัดมาอีกฝั่งถนนคือ student residence



residence เป็นอาคารสูงหกชั้น (ไม่รวมใต้ดิน) มีทั้งหมดสามอาคารติดกัน ข้างๆ residence ไม่มีอาคารสูงใดๆ เลย




ดูๆ ไปท่ามกลางความมืดยังเงี้ย มันดูทะมึนๆ น่ากลัวยังไงไม่รู้ และยิ่งตอนที่ผู้เขียนไปยังไม่เปิดเรียน residence จึงยังคงว่างเปล่าไม่มีนักศึกษาอยู่เลยสักคน

Steve หันมาถามผู้เขียนว่า จะอยู่ได้ไม๊คนเดียวภายในอาคารแบบนี้ ถ้ากลัวไม่ปลอดภัยก็ไปพักที่บ้าน Mac ได้เพราะเขามีลูกสาวอยู่ที่บ้านสามคน ไม่ต้องกลัวหรือไม่สะดวกใจ

ผู้เขียนชั่งใจสักพัก เลยตอบ Steve ไปว่าขออยู่ที่ residence ดีกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้าแล้ว

ชายชาวแคนาเดียนสองคน เลยทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ผู้เขียนติดต่อกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน แล้วก็พากันกลับไป

ก็รู้สึกว่ากลัวเหมือนกัน ลองดูภาพ residence ข้างบน แล้วลองนึกดูว่าท่านต้องอยู่คนเดียวภายในอาคารสามหลังในช่วงเวลาตีสอง จะรู้สึกไงบ้าง นี่ดีนะว่าเรื่องราวอะไรที่น่ากลัวของ residence แห่งนี้มารู้เอาตอนหลังๆ ไม่งั้นละก็...ขนลุก อาจจะเพราะเหนื่อยจากการเดินทางมากว่า 20 ชั่วโมง ทำให้หลับไปได้ไม่ยากนัก แล้วจะทำอะไรยังไงต่อ ก็เป็นเรื่องของพรุ่งนี้เช้า

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่ต่างแดน

"Fancies are for remembrance"
June 22/2001
Sincerly,

Mary


วันนี้ผู้เขียนได้ฤกษ์ทำความสะอาดห้องนอนซะที หลังจากที่ปล่อยให้ห้องรกไปด้วยหนังสือหนังหาหลากหลายประเภท พอที่จะเริ่มเก็บบรรดาหนังสือเหล่านั้นขึ้นวางบนหิ้งหนังสือ ก็มีหนังสือจิ๋วเล่มหนึ่งตกลงมา ชื่อปกหนังสือเขียนว่า "Life's Little Treasure Book on Wisdom"



"เอ เรามีหนังสือแบบนี้ด้วยหรือ เล่มจิ๋วมาก" พอเปิดหน้าแรกของหนังสือก็เห็นข้อความภาษาอังกฤษตามที่เขียนโปรยไว้ข้างบน

"Mac, I'm glad to have you here. I'm so happy that we know each other. I hope you'll get back to Barrie again sometimes. So, give me a hug".

ข้อความข้างบนนั้นเป็นคำพูดของ Mary ผู้ที่เขียนข้อความในหนังสือเล่มจิ๋วนั้นให้ผู้เขียนเก็บไว้เป็นที่ระลึก หลังจากที่ผู้เขียนเดินทางไปบ้านของเธอเพื่อกล่าวคำอำลาก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทย ในสมัยเมื่อตอนผู้เขียนไปใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนอีกครั้งหนึ่งที่เมือง Barrie มณฑล Ontario ของแคนาดาเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2543-2544

Mary เป็นผู้หญิงวัยกลางคนรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ของผู้เขียน เธอเป็นเพื่อนสนิทของ Marilyn Jenkinson ผู้หญิงที่เป็น landlady หรือเจ้าของบ้านที่ผู้เขียนพักอาศัยอยู่ด้วย ผู้เขียนรู้จักกับ Mary เมื่อวันที่ Marilyn พาผู้เขียนไปโบสถ์ประจำเมือง Barrie ในวันอาทิตย์ ซึ่งนอกเหนือจาก Mary แล้ว Marilyn ยังแนะนำผู้เขียนให้รู้จักเพื่อนเธอคนอื่นๆ ด้วย ถ้าจะว่าไปแล้วผู้เขียนรู้สึกผูกพันกับ Mary มากกว่า Marilyn ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ อาจจะเป็นเพราะอะไรบางอย่างในตัวของ Mary ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่ของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ่นที่อ้วนท้วน ลักษณะการพูดการจา แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือความคิด ค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างฝรั่งกับไทย

สามีของ Mary เสียชีวิตไปนานแล้ว ในขณะที่ลูกสาว 3 คน แยกย้ายมีครอบครัว ไปอยู่ตามที่ต่างๆ ไกลออกไป นานๆ เวลามีเทศกาลที่ครอบครัวฝรั่งเขาต้องมาพบกัน เช่น Thanksgiving Day ก็ถึงจะมาเยี่ยมแม่กันสักที Mary นั้นมีโรคประจำตัวอย่างที่คนอ้วนเป็น เช่น ความดัน ไขมันสูง ทำให้เธอเดินเหินเหมือนจะไม่ค่อยคล่อง และดูสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามเธอก็สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังกะทัดรัดชานเมือง Barrie ได้อย่างมีความสุข

"So Mary, I know this might be my impolite conversation, but it really sticks in my throat that why your children let you go it alone. ผู้เขียนเคยถามเธอครั้งหนึ่งว่าทำไมลูกๆ ของเธอถึงได้ปล่อยให้เธออยู่ตามลำพังเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแม่มีโรคประจำตัว ที่จริงแล้วผู้เขียนเองรู้ดีว่าสิ่งนี้เป็นวิถีของชาวตะวันตกในเรื่องของการแยกครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังรู้สึกเหมือนๆ จะรับไม่ได้กับการทอดทิ้งแม่ที่เป็นหญิงหม้ายและมีโรคประจำตัวรุมเร้าอย่าง Mary ให้อยู่อย่างเดียวดายในบ้าน

"That's OK., I know the way you treat your parents, Mac. I'm doing OK. นั่นเป็นประโยคที่ Mary ตอบผู้เขียนแบบกลางๆ พร้อมด้วยรอยยิ้ม หลังเหตุการณ์วันนั้นผู้เขียนเองก็ไม่เคยคิดจะตั้งคำถามแบบนี้กับ Mary อีก เพราะกลัวว่าอาจจะไปกระทบใจเธอเข้า

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะเล่าประสบการณ์ในสมัยที่อยู่ในแคนาดา อันที่จริงพวกพี่ๆ ที่ไปเที่ยวลาวด้วยกันและได้ติดตามอ่าน blog ของผู้เขียนก็เคยแนะนำว่าให้เขียนเล่าตอนที่ไปอยู่ที่แคนาดาบ้าง แต่เข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านอาจมีประสบการณ์ตรงจากการได้ไปเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเหล่านี้มาแล้ว ดังนั้นการเล่าว่าเคยไปเที่ยวสถานที่นั้น เมืองนี้ ก็อาจจะเฝือ และที่จริงแล้วผู้เขียนชอบการเล่าเรื่องในเชิงที่จะออกไปในแนวสังคมวิทยา การได้พบปะผู้คน การคบหาเพื่อนต่างชาติ เพราะเหมือนเราได้เรียนรู้ชีวิตคนหลากหลายประเภท อาจจะมีการแทรกการเล่าเรื่องว่าไปสถานที่อะไรมาบ้างระหว่างอยู่ที่โน่น แต่จะไม่ใช่ประเด็นหลักของการเล่าเรื่อง

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางท่านสงสัยว่าเวลาผ่านมานานแล้ว ผู้เขียนยังจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้อยู่หรือ ลองกลับไปอ่านข้อเขียนตอนหนึ่งที่บอกว่าตอนเด็กๆ ชอบเขียนไดอารี ดังนั้นเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่แคนาดาผู้เขียนได้จดบันทึกไว้หมด หวังว่าจะยังคงมีคนคอยติดตามเรื่องของผู้เขียนตอน "เปิดลิ้นชักความทรงจำที่ต่างแดน ที่แคนาดา"

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คาร์บอน สินค้าตัวใหม่ในภาวะโลกร้อน


"ร้อน ทำไมมันร้อนอย่างนี้ ร้อน จริงจริงเลยเนี่ย" เพื่อนของผู้เขียนส่งเสียงมาแต่ไกล ก่อนที่จะทิ้งตัวลงนั่งบนเก้าอี้ตรงข้ามกับผู้เขียนใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง

"ร้อนอะไร ร้อนกายหรือร้อนใจล่ะ" ผู้เขียนถามกลับไป

"ก็ทั้งสองอย่างแหละ แต่ร้อนกายมากกว่า ลองมองดูสิเนี่ย แดดร้อนเปรี้ยงออกยังเงี้ย ไม่บ่นแล้วทนไหวหรือ" พูดจบพลางคว้าแก้วเครื่องดื่มชามะนาวเย็นของผู้เขียนไปดูดเกือบหมดแก้ว

"อ้าว ยังงี้มันหงุดหงิดบริโภคนี่" ผู้เขียนต่อว่าเพื่อนทันที "มันเป็นยังไงไอ้หงุดหงิดบริโภคเนี่ย ชั้นเห็นเขามีแต่ตลกบริโภค" เพื่อนผู้เขียนสวนกลับทันที

"ก็ไอ้ตลกบริโภคเนี่ย ก็เป็นกิริยาอาการของคนตะกละตะกรามเที่ยวหลอกกินของชาวบ้านโดยอาศัยมุขตลกของตัวเองหลอกล่อชาวบ้านให้หันเหไปสนใจมุขตลกของตัวเอง แต่สำหรับคุณแกเนี่ยก็ใช้มุขหงุดหงิดเรื่องอากาศร้อน หันเหความสนใจของฉัน แล้วแกก็มาแย่งดูดน้ำของฉันอยู่นี่ไง"

"เฮ้ย นี่ดีนะว่าเราคุยกันอยู่แค่สองคน แกไม่ควรใช้คำสั้นๆ ว่าดูดน้ำของแก มันตีความเป็นอย่างอื่นได้นา 555"

"โธ่ คุณช่างเป็นคนลามกซะจริงๆ" ผู้เขียนโยนคำสรรเสริญกลับไป (ที่จริงใช้คำพูดอีกแนวหนึ่ง)

"พูดถึงเรื่องร้อนแล้ว ก็จริงของแกเนอะ ว่าอากาศมันร้อนมากจริงๆ นับวันๆ มันก็จะยิ่งร้อนเพิ่มขึ้น ก็ตอนนี้เราอยู่ในภาวะโลกร้อนนี่"

"เออ แก ก็ในเมื่อโลกมันร้อนอย่างนี้แล้ว ฉันไม่เห็นใครจะทำอะไรจริงจังเพื่อช่วยแก้ปัญหาซักที ทั้งๆ ที่เขาก็มีพันธะกรณีของพิธีสารเกียวโตนะ" เพื่อนผู้เขียนเปรยขึ้นมาแบบนักวิชาการ ซึ่งดูเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาหน่อย

"มันก็จริง แต่เท่าที่ฉันรู้ ก็มีบางประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เขาก็ให้ความสำคัญกับพิธีสารตัวนี้นะ แต่รู้สึกสหรัฐกับออสเตรเลียยังไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารตัวนี้ ทั้งๆ ที่สองประเทศอุตสาหกรรมนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมามากแลย

"อืม ใช่ ซึ่งชั้นก็รู้มาว่า พิธีสารตัวนี้เนี่ยเขาพยายามที่ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามพิธีสารโดยการสร้างกลไกเพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์ของพิธีสาร" เพื่อนผู้เขียนกล่าว

"มันมีอยู่สามอย่างใช่ไม๊ อย่างแรกคือ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ หรือที่เขาเรียกว่า Joint Implementation หรือ JI อย่างที่สองคือ การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก หรือ Emissions Trading หรือ ET และอย่างสุดท้ายคือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism ย่อว่า CDM

"กลไกตัวที่สอง ET ใช่ ET หนังมนุษย์ต่างดาวสมัยเราเด็กๆ เปล่า 555"

เพื่อนผู้เขียนเสริมต่อว่า "ตอนนี้หลายๆ ประเทศเขาเริ่มสนใจกับกลไกตัวที่สองกับที่สามนะ คือการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซกับกลไกการพัฒนาที่สะอาดน่ะ"

"ไหนลองอธิบายเพิ่มซิ" ผู้เขียนพูดขึ้น

"ค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าคาร์บอนเครดิต เป็นกระบวนการที่ซื้อขายคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นสินค้าที่คนในแวดวงโรงงานอุตสาหกรรมให้ความสนใจกันมากเลย"

"อ๊ะไม่ต้องเลย เดี๋ยวจะอธิบายต่อ" เพื่อนพูดขึ้นหลังจากที่เห็นผู้เขียนทำท่าจะซักถามต่อ

"คือในพิธีสารเกียวโตเนี่ย กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วที่ให้สัตยาบัน ให้ลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่กำหนดกันไว้ พวกประเทศเหล่านี้ก็เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ประเทศสมาชิกอียู แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยเราน่ะ เขายังไม่ได้กำหนดมา ดังนั้นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ก็เลยมีปริมาณ "คาร์บอน" เพื่อนำไปขายให้กับประเทศที่พัฒนาแล้วในกรณีที่เขาต้องการเพิ่มการปล่อยก๊าซ เพราะประเทศพวกนี้เขามีแหล่งกำเนิดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่มากทีเดียว



"แล้วมันมีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง" ผู้เขียนซัก

"มันก็มีอยู่หกประเภท ก็คือ กิจกรรมการผลิตและใช้พลังงาน กระบวนการอุตสาหกรรม การผลิตและการใช้สารทำละลาย กิจกรรมการเกษตร ป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และก็ของเสีย" เพื่อนให้คำอธิบาย

"แล้ว..." ผู้เขียนทำท่าจะซักต่อ "พอเลย พอเลย ตั้งแต่มาเนี่ย นอกเหนือจากชามะนาวแกแล้ว น้ำสักแก้วยังไม่ได้มาให้เพื่อนกินเลย ฉันคอแห้งจะตาย เดี๋ยวค่อยคุยกันใหม่ ไปเอาน้ำมาให้กินก่อน" เพื่อนผู้เขียนโวยวาย

"เอ แล้วเปิดๆ ปิดๆ ตู้เย็นเพื่อเอาน้ำมาให้แกเนี่ย มันทำให้โลกร้อนขึ้นหรือเปล่า" ผู้เขียนรีบเดินออกไปก่อนที่เพื่อนจะขว้างอะไรมาใส่หัว เอาน่าเดี๋ยวค่อยมาฟังเพื่อนโม้เรื่องนี้ต่อก็ได้

(ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย, วิชาการดอทคอม)

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 11: さようなら หลวงพระบาง กาแฟเป็นพิษกับหัวเผือกของฉัน)

วันนี้เริ่มต้นชื่อตอนด้วยภาษาญี่ปุ่นเลย อ่านว่า さ= ซะ, よう = โย, な = นะ, ら = ระ, รวมเป็นซะโยนะระหลวงพระบาง หรือลาก่อนหลวงพระบาง อย่าแปลกใจนะวันนี้ไม่ได้พูดเรื่องภาษาญี่ปุ่น เพียงแต่อยากให้ชื่อตอนนี้ดูแหวกแปลกแนวบ้าง และก็ดูชื่อตอนแล้วก็คงงงว่าคนเขียนจะเล่าอะไรเนี่ย เอาเถอะ ไหนๆ ก็หลวมตัวอ่านมาตั้งนานแล้ว อ่านต่อจะเป็นไรไป

เมื่อตอนก่อนเราจบตรงที่ผู้เขียนกับพี่วัฒน์แยกมาเดินเที่ยวกันต่างหากในเมืองหลวงพระบาง ในขณะที่พี่ๆ อีก 4 คน และบุญล่องเรือเที่ยวแม่น้ำโขง ซึ่งตอนหลังเห็นมาเล่าให้ฟังว่าสนุกสนานกัน แวะขึ้นฝั่งไปดูชาวบ้านเขาทอผ้ากันด้วยนิ เลยขอ post รูปพี่ๆ เขาหน่อยเดี๋ยวน้อยใจ อิอิ



หลังจากเราได้เที่ยวตามความสนใจกันในช่วงบ่ายเกือบเย็นกันแล้ว ค่ำคืนนั้นเราก็ยังคงแยกย้ายกันเดินเที่ยวตลาดไนท์เพื่อร่ำลาหลวงพระบาง และเพื่อเป็นการกระจายรายได้ด้วยการซื้อข้าวของไปฝากเพื่อนและคนรู้จักที่เมืองไทยด้วย



เดินช็อปปิ้งไปเป็นชั่วโมงๆ ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน จนกระทั่งความมืดมาเยือน บางร้านที่อยู่ในมุมมืดต้องเพิ่มแสงสว่างให้ร้านตัวเองด้วยการเปิดโคมไฟ เห็นบางร้านที่คนขายเป็นเด็กๆ เอาการบ้านมานั่งทำด้วย ก็เลยลองส่องๆ ดูหนังสือเรียนเขาเสียหน่อย อืมก็อ่านไม่ค่อยยากหรอก ครือๆ กับภาษาไทยเหมือนกัน ประเภท กอ เอ๋ย กอ ไก่ ขอ ไข่ อันนี้เหมือนกัน พอมาถึง งอ งู ของลาวเขาเป็น งอ งัว อืมน่าสนใจ ยอ ยุง (แล้วทำเสียงขึ้นจมูกหน่อยๆ เหมือนภาษาอีสาน)มอ แมว นอ นก อันที่จริงแล้วภาษาของเราสองประเทศมีส่วนที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ที่มายังมีข้อโต้แย้งกันอยู่บ้าง บางสำนักวิชาการก็ว่าลาวนั้นยืมมาจากไทย แต่บางที่ก็ว่าของไทยยืมมาจากลาว แต่อย่างไรก็แล้วแต่ใครจะยืมของใครมาไม่สำคัญเพราะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่มีไว้เพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่มีไว้เพื่อนำมาเป็นประเด็นมาขัดแย้งกัน ผู้เขียนคิดว่าทั้งลาวและไทยต้องเคยเป็นชนเผ่าเดียวกันมาก่อน อาจมาแยกแตกแขนงกันไปตามเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ก็อาจจะเนื่องมาจากความแตกต่างของแนวคิดเรื่องการเมืองการปกครอง หรือวิถีทางสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นได้

พวกพี่ๆ เขาได้ของคนละชิ้นสองชิ้น หลังจากผ่านการต่อรองกับคนขายอย่างมาราธอน เห็นพี่ที่ซื้อกันเก่งๆ บอกว่าวันนี้บรรดาแม่ค้าลดราคาให้ง่ายๆ กว่าเมื่อวาน เพราะวันนี้มีลูกค้าน้อยกว่าเมื่อวาน ทำให้ต้องรีบๆ ขาย ตัวผู้เขียนไม่ได้คิดอยากจะได้อะไรติดไม้ติดมือมาสักกะชิ้น เพราะเห็นว่าสินค้าของเขาก็คล้ายกันกับของเรา แต่ก็อุตส่าห์ได้ซื้อของฝากกับเขาหนึ่งชิ้นให้เจ๊ไฝ(อันนี้ร่วมกันซื้อกับพี่หวาดเพราะโดนคนรับของฝากบังคับมา 555)

พอซื้อเสร็จมองหากลุ่มพี่คนอื่นๆ ก็มองไม่เห็นใครนอกจากพี่วัฒน์กับพี่หวาด ก็เลยชวนกันไปกินข้าวเย็นที่ร้านริมโขงกันสามคน กับข้าวที่สั่งก็ไม่หรูเลิศอะไร แค่สั่งอาหารจานเดียวสำหรับแต่ละคน แต่คนลาวนี่อุปนิสัยน่ารักจริงๆ (ยกเว้นตาคนที่เล่าเมื่อตอนก่อนนะ) ให้บริการเรายังกับเราสั่งหูฉลาม เป็ดย่างอะไรยังเงี้ยเลย เลยทำให้เราเกรงใจจริงๆ แถมนะยังไปขอเข้าห้องน้ำที่บ้านเขาตรงอีกฝั่งถนนตรงข้ามกับร้านอีกต่างหาก (ที่ร้านไม่มีบริการห้องน้ำ)เสร็จเรียบร้อยจากอาหารค่ำแล้วเราก็พากันเดินกลับมาที่พัก พอมาถึงก็เจอกับพวกพี่ๆ เขาอีกสามคน ก็เลยนัดแนะกันว่ารุ่งเช้าบุญจะมารับพวกเราออกจากที่พักแต่เช้ามืดเลย ตั้งแต่ตีห้าแน่ะ ก็เลยรีบแยกย้ายกันเข้านอน เพราะพรุ่งนี้ต้องนั่งรถกันอีกหลายชั่วโมงกว่าจะถึงเวียงจันทน์

รุ่งเช้าเราออกจากที่พักวิลลาพิไลลักษณ์ตรงตามเวลาที่นัดหมาย แต่ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากหลวงพระบางต้องหาอาหารเช้าใส่ท้องก่อน ดังนั้นบุญเลยพาเรามาร้านขายเฝอและข้าวเปียกที่เรามากินเมื่อเช้าวาน ก่อนไปกินกาแฟที่ประชานิยม เพราะว่าคุ้นเคยรสชาติดีแล้วไม่ต้องเลือกมาก ตอนที่ผ่านมาไม่ได้เล่ารายละเอียดของร้านนี้เพราะผู้เขียนไปให้ความสำคัญของร้านกาแฟประชานิยมซะมากกว่า ดังนั้นตอนนี้จะเล่าให้ฟังสักหน่อย

ร้านนี้เขามีชื่อร้านนะ แต่จำไม่ได้ ก็เป็นห้องแถวธรรมดา ที่หน้าร้านมีตู้ขายเฝอตั้งอยู่ ส่วนหน้าร้านก็จะมีเป็นของทอด (ชื่ออะไรจำไม่ได้อีก) คือรูปร่างของของทอดนี้เนี่ยมันจะเป็นท่อนรีรี รสชาติจะกึ่งๆ กะหรี่พัฟบ้านเรา แต่ก็ยังไม่ใช่ซะทีเดียว ผู้เขียนคิดว่าถ้าเปรียบเทียบรสชาติตัวข้างนอกที่ห่อหุ้มไส้ข้างในน่าจะใกล้เคียงกับ hash brown ที่เป็นของเช้าของคนอเมริกัน ไม่แน่ใจว่าในประเทศเราร้าน fast food มีหรือเปล่า แต่ที่อเมริกาเนี่ยจะมีเสิร์ฟให้เฉพาะตอนเช้า เนี่ยรูปร่างจะประมาณเนี้ย



ที่นี่เขาอาจจะประยุกต์มาจาก hash brown ก็ได้ แถมขายตอนเช้าเหมือนกันอีก ที่ร้านนี้เขาก็มีโต๊ะบริการลูกค้าข้างในกับข้างนอกเหมือนบ้านเราทั่วไป แต่ดูเหมือนคนจะชอบนั่งข้างนอกมากกว่า รวมทั้งพวกเราด้วย โต๊ะที่นั่งก็เตี้ยๆ สูงกว่าโต๊ะญี่ปุ่นหน่อยนึง แต่พวกเราก็ชอบ บรรยากาศก็ดี ลมพัดเย็นๆ ไม่มีฝุ่นมลพิษเหมือนกรุงเทพฯ นั่งๆ อยู่ก็มีแม่ค้าหาบกระจาดบรรจุไคแผ่นมาขาย แต่เราก็ไม่ได้ซื้อ



อาหารที่เราสั่งก็เป็นเมนูเดิมเหมือนเมื่อเช้าวาน คือเฝอกับข้าวเปียก แค่คนละชามแถมไปด้วยขนมทอดนั่นอีก บวกกับที่พี่นิสั่งขนมปังฝรั่งเศส baguette ที่ใส่สารพัดไส้ราดด้วยมายองเนส แค่นี้ก็อิ่มอร่อยแล้ว เสร็จจากอาหาร พวกพี่ๆ เขาก็สั่งกาแฟลาวมากินกัน ป้าศรีชักชวนให้ผู้เขียนสั่งกาแฟมากินด้วยกัน อาจจะเป็นเพราะกลิ่นกาแฟหอมยั่วยวนใจ ทำให้คนคอกาแฟอย่างผู้เขียนอดรนทนไม่ได้ เลยต้องสั่งมากินร่วมกันกับพี่ๆ เขา หารู้ไม่ว่ากาแฟแก้วนั้นมันจะสร้างปัญหาตามมาภายหลัง อุตส่าห์อดทนมาได้ตั้งแต่ที่อุดรธานีแล้วนะ มาสมาธิเสียก็ตอนนี้นี่เอง

พอเริ่มเห็นตะวันขึ้นเรื่อเรือง ก็พอดีกับที่เราเสร็จจากอาหารเช้าและพร้อมที่จะนั่งรถแบบมาราธอนเพื่อไปถึงเวียงจันทน์แบบม้วนเดียวจบ (คุ้นไม๊สำนวนแบบนี้พี่น้อง 555)

บุญขับรถพาพวกเรามุ่งหน้าสู่เส้นทางเดิมที่เป็นเทือกเขา ผ่านนับร้อยๆ โค้งเพื่อให้ถึงเวียงจันทน์ก่อนช่วงเย็น โดยทิ้งหลวงพระบางเมืองที่น่าประทับใจไว้เบื้องหลัง ระหว่างทางพวกเราบันทึกภาพประทับใจของขุนเขาไว้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หมอกที่ปกคลุมเทือกเขาแต่ละลูกดูสวยงามมากๆ



ระหว่างทางผู้เขียนได้บันทึกภาพที่สวยงามของธรรมชาติด้วยความเพลิดเพลิน หลังจากมีความสุขกับภาพอันสวยงามของธรรมชาติได้ไม่ทันเท่าไหร่ เอาแล้ว มันมาแล้ว เหงื่อเริ่มซึมตามไรผม มือเท้าเย็น ตอนนี้รู้สึกนั่งไม่เป็นสุขแล้ว ผู้เขียนอยู่ในอาการแบบนั้นไปได้สักระยะหนึ่ง ทันใดนั้นเองมีเสียงสวรรค์จากผู้โดยสารแถวหลังโพล่งขึ้นมาว่า "เฮ้ย ไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวบุญหาป่าละเมาะที่เหมาะๆ หน่อยนะ ปวดฉี่" โอ้โหขอบคุณพระเจ้าจอร์จ ไม่ว่าท่านจะเป็นใครที่พูดคำนี้ขึ้นมาช่างถูกใจข้าพเจ้านัก เพราะเราก็ปวดฉี่เหมือนกันแต่ไม่กล้าบอกอะ

มาถึงตรงนี้ขอบอกสิ่งที่ค้างไว้ของตอนเก่าเรื่องทำไมผู้เขียนถึงไม่กินกาแฟ มันก็คือว่าเวลากินกาแฟไปแล้วเนี่ยผู้เขียนจะต้องเข้าห้องน้ำบ่อยมากๆ เพราะกาแฟเป็นสารกระตุ้นปัสสาวะ (อันนี้ฟังพี่ตุ่นมาอีกที) ถ้าใครรู้จักและสนิทกับผู้เขียนเนี่ยจะรู้ว่าถ้าต้องเดินทางไปไหนไกลๆ หาห้องน้ำไม่ค่อยได้ หรือประเภทต้องเข้าประชุม ที่การเดินเข้าเดินออกระหว่างห้องประชุมกับห้องน้ำบ่อยๆ ดูไม่ค่อยงาม ช่วงก่อนหน้ากิจกรรมนั้นๆ ผู้เขียนจะงดกาแฟ จะไม่กินโดยเด็ดขาด

และแล้วผู้โดยสารทั้งสี่ ยกเว้นพี่นิ กับพี่อ้อย (คนนี้เล่าให้ฟังว่าถ้าไม่ใช่ห้องน้ำที่เป็นกิจจะลักษณะจะฉี่ไม่ออก ถึงแม้จะปวดมากแค่ไหนก็ตาม) ก็จัดแจงทำธุระท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอย่างมีความสุข และก็นั่งรถต่อไป หลังจากแวะทำกิจกรรมส่วนตัวแบบนี้ไปครั้งแรกแล้ว ผู้เขียนจำต้องทำกิจกรรมกลางทางนี้อีกครั้งหนึ่งเพราะกาแฟมันยังไม่หมดฤทธิ์ จนพี่วัฒน์พูดขึ้นมาด้วยความแปลกใจว่าทำไมตอนขากลับผู้เขียนถึงอยากเข้าห้องน้ำบ่อย ในขณะที่ตอนขาไปไม่มีปัญหาเลย

เสร็จสิ้นเรื่องกาแฟเจ้าปัญหาแล้ว เราก็เดินทางต่อไป ขากลับเนี่ยดูเหมือนบุญจะขับรถเร็วขึ้นกว่าตอนไป ไม่ช้าไม่นานเราก็มาแวะพักรถแป๊ปนึงที่สามแยกพูคูณที่เราเคยแวะพักมาแล้วตอนขาไป ที่นี่บุญแวะซื้อของป่าจะกลับไปทำเป็นอาหารเย็น ผู้เขียนก็แวะมั่งเพราะตอนขาไปเล็งไว้แล้วว่า มีชาวเขานำหัวเผือกมาขายดูน่ากินมาก ลองซื้อสักสองสามหัวกลับไปกรุงเทพฯ ให้พ่อไปต้มทำเป็นเผือกน้ำกะทิ คัดเลือกเป็นอย่างดีได้มาสามหัวเล็กๆ มั่นใจว่า จะต้องร่วนน่ากินแน่ๆ หลังจากที่พูดจาเรื่องราคาค่าเผือกกับชาวเขาที่เป็นคนขายอยู่เป็นนานสองนานเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ได้เผือกมาสามหัวในมูลค่ายี่สิบบาท อุตส่าห์หิ้วมาจนถึงบ้านที่กรุงเทพฯ พอมาถึงก็ให้พ่อต้มทันทีเลยนะ พ่อก็ดี๊ดีต้มให้ทันที พอสุกแล้วก็รีบถามพ่อว่า
"เป็นไงพ่อ เผือกร่วนดีเลยไม๊"
"ร่วนเริ่นที่ไหนกัน ดูสิเนี่ยเป็นตับเป็ดทั้งสามหัวเลย โธ่เอ้ย อุตส่าห์หอบหิ้วมาตั้งไกล" พ่อตะโกนตอบมา

สรุปแล้วเผือกสามหัวนั่นกินไม่ได้ ต้มเสร็จแล้วต้องทิ้งไปหมดเลย เปลืองค่าน้ำ ค่าแก๊สจริงๆ เลย

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (ฤ เรานี้อยู่ในกลียุค)

ทำไปทำมา รู้สึกว่าการเขียน blog นี้สนุกกว่าเขียนเรื่องในสมุดไดอารี่ที่สมัยเด็กๆ ชอบเขียน เพียงแต่ว่า blog ไม่สามารถเขียนอะไรที่เป็นส่วนตั๊ว ส่วนตัวได้ เช่น วันนี้ยิ้มให้คนที่เราชอบกี่ครั้ง แล้วคนที่เราชอบเขายิ้มตอบเรากี่ครั้งอะไรเงี้ย



แต่ว่าการเขียน blog น่าจะดูเป็นประโยชน์โภชผลมากกว่า เพราะเราจะเขียนเรื่องที่มีสาระ และแง่มุมที่มีประโยชน์สำหรับตนเองและคนอ่านด้วย นอกเหนือจากการเล่าเรื่องเที่ยวลาวที่ใกล้จะเล่าจบแล้วนั้น ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะคุยเรื่องอะไรที่มีสาระ ความรู้ และเป็นเรื่องที่คนอย่างเราเรา ควรต้องติดตามเพื่อไม่ให้ตกข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ส่งผลได้เสียต่อเราโดยตรง

มาถึงวันนี้วันที่ 2 พฤษภาคม 2552 โลกทั้งใบกำลังตื่นตระหนก หวาดกลัว กับไวรัสตัวใหม่ล่าสุด "H1N1" หรือบางทีก็เรียก "A(H1N1)" หรือชื่อจริงแบบยาวยาวคือ "Influenza A virus subtype H1N1"

เอาเหอะจะชื่ออะไรก็ตามแต่ แต่ไอ้เจ้าไวรัสนี้มันคร่าชีวิตคนไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแดนดินถิ่นเริ่มต้นการแพร่กระจายของเจ้าไวรัสตัวนี้คือที่ เม็กซิโก ไวรัสตัวนี้เริ่มแพร่กระจายเมื่อประมาณเดือนมีนาคม จากนั้นก็ได้แพร่ไปยังสหรัฐอเมริกาในหลายๆ รัฐ และก็แพร่ครอบคลุมทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งหมายรวมถึงประเทศแคนาดาด้วย (ในบางส่วนของมณฑลบริติชโคลัมเบีย)

และ ณ ขณะนี้วันที่ 2 พฤษภาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการ updated ข้อมูลความเคลื่อนไหวของสถานการณ์เกือบทุกชั่วโมง โดยล่าสุดพาหะคือคนเนี่ยแหละได้แพร่เชื้อเจ้าไวรัวตัวนี้ไปหลายประเทศในยุโรปและเอเชียของเราแล้ว คือฮ่องกงและเกาหลีใต้ คาดว่าประเทศไทยไม่น่าจะรอดพ้นจากการมาเยือนของเจ้าไวรัสชนิดนี้ไปได้



ฉะนั้นเรามาเตรียมพร้อมกันแต่เนิ่นๆ เลยดีกว่า จากเว็บไซด์ของ WHO แนะนำเรื่องการเตรียมรับมือกับเจ้าไวรัสร้ายด้วยการ เตรียมผ้าสำหรับปิดปากปิดจมูกเมื่อเราคิดว่าอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น ในโรงพยาบาล หรือในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือเวลาเราต้องสัมผัสกับคนป่วย


ต่อไปก็คือให้เราหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนป่วยโดยเฉพาะคนที่เป็นไข้และมีอาการไอ ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดและล้างบ่อยๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ และทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์


ที่นี้ถ้าเกิดในกรณีที่เราเกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เขาบอกว่าให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ไม่งั้นท่านจะกลายเป็นพาหะไปได้ พยายามดื่มน้ำเยอะๆ ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อมีอาการไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หลังจากการไอและจาม และก็บอกคนในครอบครัวให้ทราบว่าเราป่วยเป็นไข้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ส่งหมอได้ทัน

ไม่รู้ว่าเราจะเจอโรคอะไรแปลกๆ อีกนะเนี่ย ผู้เขียนรู้สึกว่าเราอาศัยอยู่ในช่วงกลียุคอย่างคนโบราณท่านว่าไว้ซะแล้วละ โดยคัมภีร์ฮินดูได้บอกลักษณะของโลกกลียุคไว้สามอย่าง คือ ลักษณะของผู้ปกครอง จะเป็นประเภทเหลวไหลไม่มีเหตุผล ไม่ส่งเสริมทางด้านจิตวิญญาณ (คงจะเป็นแบบจิตที่คิดดีมั้ง อันนี้ตีความเอาเอง)ก็ลองดูแล้วกันไอ้พวก ส.ส. ในสภาบ้านเราที่ทำหน้าที่ปกครองมีพฤติกรรมอย่างที่เขาว่าไม๊

อันที่สองคือ เรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน คือเรื่องความโลภและความโกรธแค้นจะเป็นเรื่องธรรมดา และผู้คนจะแสดงความเกลียดชังต่อผู้อื่นอย่างเปิดเผย (พฤติกรรมเสื้อแดง ใช่เลย)

อย่างสุดท้ายสภาพอากาศและธรรมชาติแปรปรวน (น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ฝนตกหน้าร้อน หิมะตกในตะวันออกกลาง อย่างนี้ใช่ยัง)



เฮ้อ ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าเราจะอยู่ในโลกกลียุคนี้อย่างไร แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าเราใช้ชีวิตตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่เราจะทำได้ และที่สำคัญให้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาที่เรานับถือ นั่นก็เป็นภูมิคุ้มกันพอแล้วสำหรับเราแล้ว เพราะฉะนั้นหากอะไรร้ายๆ ที่อาจเกิดกับเราก็ต้องพยายามละวางให้ได้ ถึงยังไงคนเราก็มีจุดสิ้นสุดคือความตายด้วยกันทั้งนั้น

แต่ยังไงตอนนี้ขอไปกินยาทามิลฟลูก่อนนะ รู้สึกเจ็บคอแล้ว

(ขอขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากเว็บไซต์ WHO และ วิกีพีเดีย รวมทั้งภาพจาก oknation, health.allrefer.com, www.cmupark.com, pistolpete.wordpress.com)