วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา (ตอน 3: เพื่อนคนแรก)

“Mac ให้มาดูคุณน่ะ คุณก็ชื่อแม๊กเหมือนกันใช่ไม๊”

หญิงสาวที่ชื่อ Akiko ทักทายผู้เขียนเป็นประโยคแรก หลังจากที่ผู้เขียนเปิดประตูด้านนอกให้เธอเข้ามา

“คุณพักอยู่ใน residence เหมือนกันหรือ ไหน Mac บอกว่าไม่มีใครอยู่เลยไง” ผู้เขียนถามสาวน้อยชาวญี่ปุ่นไป

“Mac คงลืมน่ะ ตอนนี้คุณทำธุระส่วนตัวเสร็จรึยัง คุณสนใจที่จะไปดูอะไรข้างนอกไหม เดี๋ยวจะพาไปเอง” Akiko เสนอตัวเป็นไกด์พาผู้เขียนไปทัวร์ดูอะไรต่อมิอะไรข้างนอก

สิบห้านาทีต่อมา เราสองคนก็มาเดินรอบๆ Georgian College Akiko ชี้ชวนให้ผู้เขียนดูอาคารนั้น อาคารนี้ ด้วยความคุ้นเคยและคล่องแคล่ว

ซึ่งพอเสร็จจากเที่ยวชม Georgian College เราสองคนเดินออกมารับอากาศบริสุทธิ์ แถวทะเลสาบซิมโค (Lake Simcoe) ใกล้ๆ college นั่นเอง




อาจจะเป็นไปด้วยเพราะอากาศที่บริสุทธิ์ สถานที่เงียบสงบ และมีเพื่อนใหม่ที่มีน้ำใจ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการตามหากระเป๋าสัมภาระ

ระหว่างนั้นเราสองคนได้สอบถามชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น Akiko เป็นสาวชาวญี่ปุ่นร่างเล็ก อายุอานามประมาณยี่สิบห้า ยี่สิบหก หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้มตามสไตล์ญี่ปุ่น เธอมาอยู่ที่นี่ก่อนผู้เขียนเดินทางมาถึงสักหนึ่งเดือน นอกเหนือจากความต้องการศึกษาหาความรู้ด้านการออกแบบแฟชั่นแล้ว Akiko ต้องการมาตามหาความฝันของเธอในเรื่องของการใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมไปถึงการได้มีโอกาสใช้และพัฒนาภาษาอังกฤษ โดยเธอมาเริ่มต้นที่ Georgian College ในฐานะนักเรียนต่างชาติเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่าหลักสูตร Learning English as a Second Language หรือ ESL นั่นเอง

ที่นี่มีนักศึกษาชาวเอเชียมากมายที่เข้ามาเรียน ESL บางคนเมื่อเรียบจบหลักสูตร ESL แล้ว ก็เข้าเรียนต่อโปรแกรมหลักของ Georgian เลย เช่น Marketing , Hotel and Management, Automotive นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่จะมาจากประเทศเกาหลี รองลงมาคงเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดียก็มีเยอะเหมือนกัน ซึ่งเกือบทั้งหมดของนักศึกษาอินเดียจะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่าคนอินเดียเก่งทางด้านนี้ ซึ่ง Georgian College มี Campus ที่อินเดียด้วยในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ทีนี้พอมีนักศึกษาจากหลากหลายที่มาอยู่รวมกัน ประเด็นความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ต้องมีบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมาจากสาเหตุในเรี่องส่วนตัว หรือความที่มีอคติอันเกิดมาจากในเรื่องเชื้อชาติ ตัวของ Akiko เอง ก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกันในเรื่องความไม่ลงรอยกับนักศึกษาชาวเกาหลี เพราะถ้าผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและเกาหลีคงพอจะรู้ว่าสองชาตินี้เขามีภูมิหลังฝังใจกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในแถบเอเชียบางทีก็เรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ที่กองทัพของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปรุกรานประเทศในเอเชีย ที่สำคัญๆ ได้แก่ เกาหลี จีน โดยในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีพลเมืองของทั้งสองประเทศนี้ถูกสังหารจากทหารลูกพระอาทิตย์ไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสตรีชาวจีนและเกาหลี ต้องตกอยู่ในสภาพที่เขาเรียกว่า “comfort women” ของทหารญี่ปุ่น ดังนั้นเหตุการณ์เหล่านี้เลยเป็นเหมือนรอยแผลที่ประทับอยู่ในใจของชาวเกาหลี และจีน และมันได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีวันลบเลือน

ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ตรงมาจากเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งที่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวของ Akiko อย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นทั้งคำพูดและกริยาอาการ โดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันนั้น ไม่ได้มาจากปัญหาส่วนตัวระหว่างกันแต่อย่างใด ซึ่งตัวผู้เขียนเองมีหน้าที่แค่รับฟัง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ แต่ผู้เขียนก็รู้สึกเห็นใจทั้งสองฝ่าย

จะว่าไป Akiko นับว่าเป็นเพื่อนคนแรกของผู้เขียนในประเทศนี้ จึงทำให้เราสองคนสนิทกันได้ง่ายและรวดเร็ว หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ใน residence ของ college ได้หนึ่งเดือน ผู้เขียนและ Akiko ได้ออกไปอาศัยอยู่ในบ้านที่เปิดให้เช่ารายเดือนในลักษณะ B&B หรือ bed and breakfast โดยแชร์ค่าห้องกัน

สถานที่ที่เราอยู่นั้น เจ้าของบ้านเปิดชั้นใต้ดินหรือ basement ให้เราอยู่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นครบ มีห้องน้ำ ส่วนที่เป็นสำหรับการทำครัว เครื่องซักผ้า สำหรับการเดินเข้าบ้านก็มีประตูแยกต่างหาก ไม่ต้องไปใช้รวมกับเจ้าของบ้าน




ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนและ Akiko ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนี้ เราสองคนก็อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อาจจะมีแนวคิดแตกต่างกันบ้างในเรื่องวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาขัดแย้งอะไร สำหรับการทำอาหารเราสองคนก็สลับกันทำอาหารประจำชาติของตัวเองในบางครั้งบางคราว และก็มีแบ่งปันให้กับเจ้าของบ้านบ้าง บางครั้งเมื่อมีเวลาว่างจากการเรียนเราสองคนก็เคยเดินทางเข้าไปนิวยอร์กซิตี้ ที่อเมริกา ไปเปิดหูเปิดตาดูเมืองใหญ่บ้าง




เท่าที่สังเกต Akiko เป็นคนชอบศิลปะและพวกดนตรี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไปเที่ยวนิวยอร์กซิตี้ Akiko ชวนผู้เขียนเข้าไปในคลับชื่อดังแห่งหนึ่งของนิวยอร์กซิตี้ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงดนตรีแจ๊ซ ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้ไปในสถานที่แบบนี้ของมหานครใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ก ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองเวลาที่ไปต่างประเทศ สถานที่ท่องเที่ยวของผู้เขียนส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่อง landmark ของเมืองนั้น หรือสถานที่ในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่เคยผนวกสถานที่เช่น การแสดงศิลปะ ดนตรีเข้าไปในรายการท่องเที่ยวของผู้เขียนเลย นับว่า Akiko นี่เป็นคนที่เปิดโลกอีกด้านหนึ่งให้กับผู้เขียนอยู่เหมือนกัน

ผู้เขียนและ Akiko พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่ Akiko ต้องไปตามหาฝันของตนเองในเมืองที่ใหญ่กว่า Barrie นั่นก็คือ Toronto โดยเธอจะต้องเข้าไปเริ่มเรียนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ Design และในวันที่ Akiko จะต้องเดินทางไปอยู่ที่ Toronto ผู้เขียนเองก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน เพราะ Akiko เป็นเพื่อนสนิทคนแรกของผู้เขียนที่นี่ อย่างไรก็ตามการที่ได้มีโอกาสรู้จัก Akiko ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้แนวคิด ความหวัง ความฝันของผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่พื้นฐานทางครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยอะไร ซึ่ง Akiko เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเธอต้องทำงานอย่างหนักที่ญี่ปุ่นเพื่อจะได้เก็บหอมรอมริบเงินที่ได้มาศึกษาต่อ โดยความหวัง ความฝันของเธอนั้นอาจจะเหมือนกับของผู้หญิงอีกหลายๆ คนในโลกใบนี้ แต่ที่อาจมีไม่เหมือนกันคือผู้หญิงหลายๆ คนนั้น อาจจะยังไม่เคยลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้ความฝัน ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมา เหมือนอย่างที่ Akiko ทำก็ได้

ก่อนที่ Akiko จะเดินทางออกจากบ้านหลังนี้พร้อมด้วยสัมภาระที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร เธอก็ได้มาร่ำลาผู้เขียนและกล่าวคำพูดเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนประสบผลสำเร็จในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ให้กำลังใจตอบกลับเธอไปเช่นกัน

รถที่มารับ Akiko แล่นออกไปแล้ว เห็นท้ายรถลิบๆ อยู่ข้างหน้า ซึ่งก็ได้เวลาของผู้เขียนแล้วเหมือนกันที่จะเริ่มใช้ชีวิตและเดินทางต่อไปในประเทศนี้


ขอบคุณภาพบางส่วนจาก http://www.travel-destination-pictures.com/data/media/49/spirit-catcher-barrie-ontario_73.jpg

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มา update blog

เป็นเวลามากกว่าเดือนแล้วที่ไม่ได้เข้ามา up blog ของตนเอง ด้วยสาเหตุสำคัญหลายๆ ประการ ที่สำคัญได้แก่ ตอนนี้กำลังยุ่งขิงเรื่องอ่าน journals ต่างๆ เพื่อประกอบการทำ thesis ของตัวเอง

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนึ่งเดียวที่เหลือที่เป็นต้นตระกูลไทยของผู้เขียนได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา คือท่านเป็นย่าของผู้เขียนเอง ดังนั้นครอบครัวเราต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงานศพให้ท่านเพราะพ่อเป็นลูกชายคนโตและดูเหมือนว่าจะมีความพร้อมทางด้านปัจจัยมากกว่าใครเขา ผู้เขียนเลยต้องวิ่งรอกคอยรับ-ส่งบุพการีทั้งสอง ระหว่างกรุงเทพ-สระบุรี ที่เป็นบ้านของย่า จนกระทั่งเสร็จงาน พูดมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกโหวงในใจลึกๆ เหมือนกันถึงแม้ว่าจะทำใจมาก่อนหน้านี้มาแล้ว เพราะย่าเองก็อายุมาก ตั้ง 91 ปี และมีโรคประจำตัวอยู่พอสมควร แต่ก็รู้สึกใจหายเพราะตัวผู้เขียนเองเหลือท่านเพียงคนเดียวที่เป็นคนเก่าแก่และเป็นตัวเชื่อมให้เราได้รับรู้เรื่องราวในอดีตเมื่อสมัยท่านยังสาวๆ

ถ้าจะว่าไปแล้วผู้เขียนเองชอบคุยกับคนเฒ่าคนแก่เหมือนกัน เพราะชอบฟังเรื่องราวสมัยที่บ้านเรายังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวเขียวขจีในนา มีพันธุ์ปลาหลากหลายในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้รับรู้ว่าคนสมัยก่อนเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร ครอบครัวของพ่อผู้เขียนนั้นดำรงอาชีพหลักของคนไทย นั่นก็คือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้เขียนภูมิใจที่จะบอกว่าย่าของผู้เขียนนั้นเป็นชาวนา และสามารถเลี้ยงดูลูกๆ จำนวน 8 คน โดยลำพังได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเท่าที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะทำได้ เนื่องจากว่าปู่ของผู้เขียนได้เสียชีวิตเมื่อท่านยังเป็นสาวๆ และพ่อของผู้เขียนเองก็ยังเล็กอยู่มาก







ในวันฌาปนกิจศพท่านนั้น ผู้เขียนได้ไปส่งท่านเป็นครั้งสุดท้าย เห็นสภาพร่างกายและสีหน้าท่านยังเป็นปกติเหมือนคนนอนหลับ ก็ให้รู้สึกว่าท่านคงไปในที่ที่ดี เพราะตลอดช่วงชีวิตของท่าน ผู้เขียนไม่เคยเห็นท่านโกรธใคร นินทาว่าร้ายใคร จนแม่ของผู้เขียนออกปากว่าเป็นแม่สามีและลูกสะใภ้ที่ไม่เข้าคอนเซ็ปท์หนังไทยเอาซะเลย

พอเสร็จเรื่องของย่าแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะมาทำงานของตัวเองต่อ โชคร้ายมาเยือนระหว่างหาข้อมูลทางเน็ต ปรากฏว่าโน๊ตบุ๊ตที่ใช้ทำงานเกิดติดมัลแวร์ หรือสปายแวร์ชื่อไอ้เจ้าม้าโทรจันเข้าซะอย่างจัง ตอนแรกยังไม่เชื่อนึกว่ามีการหลอกขายซอฟแวร์ เพราะตอนนี้มันมีอย่างนี้จริงๆ ที่พวกไม่หวังดีมีการแกล้งตัดการทำงานบางอย่างในคอมของเราผ่านเน็ต ทำให้เหมือนว่าคอมเราติดไวรัสอย่างหนัก และมันก็จะขึ้นคำถามว่าจะ activate ไหม ถ้าเราคลิกไป activate ก็จะให้เราซื้อซอฟแวร์ ดูไปก็เหมือนหลอก





แต่เท่าที่รู้เนี่ยมัลแวร์โทรจันเนี่ยค่อนข้างอันตรายในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลในคอม ไม่ว่าจะเป็น passwords ใน mail เรา หรือข้อมูลบัตรเครดิตที่เราเคยซื้อของผ่านเน็ต เพราะ hackers มันมีความสามารถสูงในเรื่องล้วงเอาข้อมูลเหล่านี้ สำหรับในกรณีของผู้เขียนมาแน่ใจตอนที่ หน้าจอโชว์ทั้ง local IP address และ remote IP address เพราะเจ้า local แน่นอนว่าเป็นของเรา แต่ remote IP address นั่นนะเป็นของผู้ไม่หวังดี โดยที่ผู้เขียนเจอขึ้น IP address ว่า 128.154.26.11 ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็น IP หลอกหรือจริง เพราะคนพวกนี้เก่งในเรื่องทำอะไรลึกลับซับซ้อนอยู่แล้ว และผู้เขียนเองก็เคยใช้บัตรเครดิตซื้อ journals อ่านออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะจ่ายเงินเขาได้ ทีนี้ก็อยู่ไม่สุขแล้ว เพราะกลัวโดน hack ข้อมูลบัตร

วันนั้นทั้งวันพยายามหาโปรแกรมมาสแกนและกำจัดเจ้าม้าจากเมืองทรอยตัวนี้ไม่ว่าจะเป็น nod 32 Trojan Remover Spyware Doctor หรือพวกที่ต้องใช้การกำจัดโดยเทคนิคระดับสูงขึ้นไป ใน regedit ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

วันรุ่งขึ้นเลยต้องไปพันธุ์ทิพย์ที่ประตูน้ำ ทั้งๆ ที่ไม่อยากไปที่แบบนี้เลย เพราะเรื่องไข้หวัดระบาดเนี่ยแหละ พอไปถึงก็รีบซื้อของที่ต้องการและรีบกลับบ้าน มาเทถุงดูกันสักหน่อยว่าผู้เขียนได้อะไรมาจากพันธุ์ทิพย์บ้าง หลักๆ ก็มีโปรแกรมของแท้ของ Windows XP Service Pack 2 และโปรแกรม Microsoft Office และโปรแกรมเสริมอื่นๆ

ผู้เขียนตัดสินใจว่าจะ format เครื่องใหม่หมดทุกไดร์ฟ เพื่อเป็นการล้างเจ้าม้านั่นออกไป ถ้าจะว่าไปผู้เขียนไม่จำเป็นต้องซื้อแผ่น XP มาใหม่ก็ได้ ถ้าหากโน๊ตบุ๊คที่ใช้อยู่สามารถให้เราใช้แผ่นกู้ระบบได้ แต่เผอิญว่ายี่ห้อนี้ไม่เปิดโอกาสให้เราสำรองแผ่น เลยต้องเสียเงินซื้อใหม่

มาถึงตอนนี้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว โน๊ตบุ๊คกลับมาทำงานได้ตามปกติเหมือนเครื่องใหม่ มานั่งนึกดูอีกทีถ้าเราคิดในเชิงบวก การได้นั่งทำอะไรแบบนี้ที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญหรือคุ้นเคยของเรา อย่างพวกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เนี่ย ก็เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ให้เราได้มีความรู้เพิ่มเติม มาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนก็ชักชอบที่จะนั่งแกะ นั่งแงะพวกของใช้ไฮเทคแบบนี้ขึ้นมาซะแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะเปลี่ยนสายงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์แทนเจ้าหน้าที่วิเทศก็ได้ ใครจะไปรู้ 555

เจอกันตอนหน้าในเปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา

ขอบคุณภาพจาก thaimtb.com, siamensis.org, thaiclinic.com,arstechnica.com