วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

สายพันธุ์ทรราช (The Tyrant's Clan)

คำปรารภ

ชายหนุ่มทอดสายตามองออกไปตรงขอบฟ้าเวิ้งว้างที่อยู่ข้างหน้า จุดหมายจับจ้องอยู่ที่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนั้น คงเป็นการยากที่จะ
คาดเดาว่าภายใต้อาการและกริยาที่สงบนิ่ง ภายในใจของเขาคิดอะไรอยู่ หากสังเกตให้ดีในมือขวาของเขาถือหนังสือปกเก่าคร่ำคร่าเล่มหนึ่งไว้ ตัวอักษรระบุชื่อหนังสือยังคงมีลายเส้นเห็นชัดเจนเขียนว่า "อัตชีวประวัติ ทักกี้ ซิน 1949-2009"

Prolog

With a very calm manner, it's abstruse to anticipate the thought of young man at the time being whilst gazing at the Blue Planet in outer space. Anyhow, as one is catching sight of a book with its archaic cover in his right hand, the title with clear alphabet states "biographial of Tuggie Sin 1949-2009".

หมายเหตุ: นวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นโดยอาศัยจินตนาการของผู้เขียน ดังนั้นหากชื่อของตัวละครและเหตุการณ์ไปพ้องเข้ากับผู้หนึ่งผู้ใดขอให้ทราบว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ

Remark: This story is written based on the imagination of the writer. Just by coincidence, if names, characters and incidents are associated with those belong to particular persons.

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 9: ฉันเห็นเสื้อเหลืองแดงปะทะกันในหลวงพระบาง)

"เบื่อ พวกม็อบ นปช. หนีมาเที่ยวหลวงพระบางดีกว่า"

เปล่านะข้อความข้างต้นน่ะผู้เขียนไม่ได้เป็นคนพูดนะ ถึงแม้จะมีความคิดเหมือนกันก็ตามที 555 ข้อความเมื่อกี้น่ะอยู่ในสมุดเยี่ยมที่เหล่าบรรดาลูกค้าคอกาแฟของร้านกาแฟยอดนิยมอันเอกอุในเมืองหลวงพระบางชื่อว่าร้าน "ประชานิยม" หรือ "ปะซานิยม" ในภาษาลาว เขียนเอาไว้เพื่อแสดงว่าตัวเองได้มาถึงหลวงพระบางแล้ว ซึ่งใครมาหลวงพระบางแล้วโดยเฉพาะพวกคอกาแฟไม่ได้มาแวะร้านกาแฟเจ้านี้ถือว่ายังไม่ได้มาหลวงพระบาง

ดังนั้นหลังจากได้ใส่บาตรพระเป็นที่ชื่นอกชื่นใจแล้ว ผู้เขียนเป็นคนขอให้บุญพาคณะเรามากินกาแฟร้านนี้หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราไปแวะกินข้าวเปียกและเฝอกันมาคนละชามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ร้านกาแฟเจ้านี้ไม่ได้เป็นร้านหรูหราอย่างที่ใครหลายคนจินตนาการ เป็นเพียงร้านค้าเพิงไม้หลังเล็กๆ ที่มีม้านั่งยาวไว้บริการลูกค้า ตอนที่เราไปถึงร้าน เป็นเวลาสายพอสมควรแล้ว จำนวนลูกค้าเลยบางตา พอหลังๆ เหลือเฉพาะเรา 7 คนที่เป็นลูกค้า อุปกรณ์ที่แม่ค้าคนงามใช้เป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ ช่างทำให้เรานึกถึงร้านกาแฟอาโกหน้าปากซอยที่สมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ใช้ให้เราวิ่งไปซื้อโอเลี้ยง โอยั๊วะ ซะจริงๆ เลย อย่างแก้วทรงโบราณที่ก้นแก้วเป็นรูปทรงจีบและมีหลายๆ จีบ (คงพอจำกันได้นะ) หม้อต้มกาแฟเตาถ่านหรือฟืน (ของที่นี่เขาใช้ฟืนท่อนใหญ่ๆ เป็นเชื้อเพลิง เพราะไม้ที่นี่ยังเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายและไม่แพง ดูซิใช้ฟืนซะหม้อดำเป็นเหนี่ยงเลย ได้อารมณ์จริงๆ)

ในกลุ่มพวกเราใครที่กินกาแฟได้ก็สั่งกาแฟร้อน ใครกินไม่ได้ก็สั่งโอวัลตินร้อน พอรับออเดอร์ลูกค้าแล้ว แม่ค้าเธอก็จัดการชงกาแฟร้อน โอวัลตินร้อนทันที กรรมวิธีก็เหมือนกับที่บ้านเราสมัยก่อนไม่มีผิด ก่อนอื่นต้องนำน้ำร้อนที่เดือดๆ ในหม้อต้มมาลวกแก้วทุกใบให้ร้อนก่อน เพื่อเป็นการรักษาความร้อนของกาแฟไม่ให้เย็นเร็ว เหมือนสมัยก่อนเลยใช่ไม๊ล่ะ แม่ค้าเธอชงกาแฟอย่างแคล่วคล่อง แป๊ปเดียวกาแฟลาวหอมกรุ่นก็มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว พวกเราร้องขอขนมคู่หรือปาท่องโก๋จากแม่ค้าเพื่อมากินคู่กับกาแฟ ปรากฏว่าหมดซะแล้ว ขายดีจริงๆ ปาท่องโก๋หรือที่ภาษาลาวเรียกว่าขนมคู่เนี่ยอร่อยจริงๆ ขอบอก ระหว่างนั่งละเมียดละไมไปกับกาแฟรสชาติดี พวกเราก็เปิดดูสมุดเยี่ยมของร้านที่มีลูกค้ามาเซ็นชื่อและเขียนข้อความเอาไว้ ดูแล้วเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และในจำนวนนี้ (มีมากซะด้วย) เป็นบรรดาเหล่านักรบมือตบเสื้อเหลือง บางคนก็เขียนข้อความระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องการบ้านการเมือง บางคนก็เขียนแค่ว่าฉันเป็นพันธมิตรมาเที่ยวหลวงพระบาง อะไรประมาณเนี้ย พวกเราเลยถือโอกาสเขียนชื่อตัวเองต่อท้ายให้รู้ว่าฉันก็มาหลวงพระบางและก็มาร้านประชานิยมด้วยเหมือนกันนะ

เสร็จการดื่มกาแฟแล้ว เราก็เริ่มเดินเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบางเพื่อดูสถานที่เก่าแก่และวัดวาอารามของเมือง ที่แรกที่เราแวะชมได้แก่ วังเจ้ามหาชีวิตพระองค์สุดท้ายของประเทศลาว ซึ่งสถานที่ก็อยู่ตรงกันข้ามกับพระธาตุจอมพูสีที่เราไปมาเมื่อวานนี้เอง แต่เมื่อวานนี้เราไม่สามารถเข้ามาที่วังนี้ได้เพราะเลยเวลาเปิดให้เข้าชมแล้ว

อนุสาวรีย์ที่อยู่ในรูปนั่นคือ "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา" เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย โดยราชวงศ์ของลาวสิ้นสุดเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตอนที่ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ที่จริงเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์และราชวงศ์รวมไปถึงเรื่องราวของอาณาจักรลาวนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากเหมือนกัน โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยเดียวกันกับช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาเลยเชียวละ ตอนนั้นหลวงพระบางเป็นอาณาจักรใหญ่และเป็นเมืองหลวงของลาว ถ้าหากจะเล่าเท้าความกันถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชาติลาวนี้ เห็นทีจะต้องเปิดชั้นเรียนวิชา "ประวัติศาสตร์และการเมืองของลาว" เป็นแน่แท้ และที่จริงแล้วผู้อ่านบางคนอาจจะมีความรู้ลึกและรู้เรื่องดีในเรื่องนี้มากกว่าผู้เขียนก็เป็นได้ เอาเป็นเล่าคร่าวๆ ว่า "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา" ท่านก็ยังมีสาแหรกและทายาทที่สืบเชื้อสายเจ้าอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางแห่งนี้

และก็เหมือนกับประเทศอื่นทั่วไปที่มีกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง โดยที่ลาวนี้ยังมีกลุ่มที่ใครๆ เรียกว่า "กลุ่มกบฏม้ง" หรือ "ขบวนการต่อต้านลาว" หรือ "กลุ่มลาวขาว" โดยเป้าหมายของชนกลุ่มนี้ต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลลาวและสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่สืบเชื้อสายเจ้าและราชวงศ์ของหลวงพระบาง รวมทั้งข้าราชการบางส่วนที่นิยมเจ้า ถ้าผู้อ่านย้อนไปเมื่อประมาณ 3-4 ปีมานี้ มีเหตุการณ์สังหารโหดชาวลาวหญิงชายคู่หนึ่งที่จังหวัดหนองคาย โดยคนทั้งคู่เป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าสายหลวงพระบาง ซึ่งสาเหตุจากการถูกสังหารครั้งนี้สันนิษฐานว่ามาจากการที่ทั้งคู่อยู่ในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวให้เกิดการล้มล้างรัฐบาลลาว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในลาว และก่อนหน้านี้สักเจ็ดแปดปีเหตุการณ์ต่อต้านรัฐบาลลาวของกลุ่มกบฏม้งมีความรุนแรงมาก ความรุนแรงของเหตุการณ์เทียบเท่ากับสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเลย โดยกลุ่มกบฏจะคอยซุ่มโจมตีและซุ่มยิงรถโดยสารของผู้ที่ใช้เส้นทางระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ก็ซึ่งเป็นเส้นทางที่คณะของเราใช้เดินทางนั่นเอง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่แตะต้องทรัพย์สินใดๆ เป้าหมายก็เพียงเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนและสร้างความสั่นคลอนสถานภาพของรัฐบาล ถึงแม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้จะลดระดับความรุนแรงไปแล้ว และผู้คนที่ใช้เส้นทางนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ระหว่างที่เราใช้เส้นทางนี้เดินทางเราเห็นว่ามีตำรวจและทหารลาวประจำการอยู่ตามเส้นทางเป็นระยะๆ

ในกรณีนี้ผู้เขียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองของลาว อาจเป็นเพราะเรายังไม่มีความลึกซึ้งและรู้เรื่องดีพอเกี่ยวกับที่มาของข้อขัดแย้งดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถกล่าวในที่นี้ได้คือ "อำนาจ" เป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง ดังนั้นผู้คนจึงขวนขวายที่อยากจะมีอำนาจไม่ว่าจะเป็นระดับเล็กในองค์กร หรือระดับใหญ่ในระดับประเทศหรือระดับโลก ฉะนั้นผู้ที่มีและใช้อำนาจจะต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้องตามครรลองครองธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้อำนาจเป็นและไม่เป็นคนติดอำนาจ เมื่อคนผู้นั้นหมดอำนาจไปแล้ว ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีความเข้าใจได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ปัญหาที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันคือการลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจของผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งในภาคองค์กรราชการ เลยไปถึงระดับนักการเมืองในระดับประเทศ เพราะสาเหตุนี้จึงทำให้บ้านเมืองเราวุ่นวายไม่รู้จบ ก็คงต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม

เราเดินชมรอบๆ วังของเจ้ามหาชีวิต อยู่แต่เพียงบริเวณภายนอก โดยที่ไม่ได้เข้าไปดูข้างในที่มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิตตอนที่ท่านประทับอยู่ ณ ที่นี้ พวกเราได้แต่เกาะรั้วดูจากข้างนอก อันเนื่องมาจากข้างในมีนักท่องเที่ยวเข้าไปชมจำนวนมาก และก่อนเข้าจะต้องฝากข้าวของไว้ข้างนอก เช่น กล้องถ่ายรูป และประการสำคัญคือต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าซิ่นตามธรรมเนียมลาว ก็เลยเห็นว่าค่อนข้างขลุกขลักเลยไม่เข้าไปดีกว่า แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ได้เป็นการบ่นว่าอะไร ในทางตรงกันข้ามกลับเห็นดีงามไปกับชาวลาวที่ยังคงที่จะรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ในเรื่องการแต่งกาย และเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเราในฐานะผู้มาเยือนควรให้ความเคารพต่อความเชื่อและวัฒนธรรมของสถานที่ที่เรามาเยือน

เท่าที่สังเกตดูจากภายนอก ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิตก็มีลักษณะคล้ายกันกับเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ของเราที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์และตามวังเก่าต่างๆ แต่ในเรื่องรายละเอียดศิลปะการตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ก็แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมประเพณี

หลังจากเราชมวังเจ้ามหาชีวิตจนพอใจแล้ว สถานที่ต่อไปก็ไม่พ้นวัดวาอาราม ที่เมืองหลวงพระบางนี้มีวัดเยอะเหลือเกิน ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมตอนเช้าจำนวนของพระที่ออกบิณฑบาตรจึงมีมากมายเหลือเกิน บางคนก็บอกว่ามีมากถึง 300 รูป แน่ะ บางที่รั้วขอบเขตพัธสีมาอยู่ติดกันเลย จนเราแทบแยกไม่ออกนึกว่าเป็นวัดเดียวกัน แต่ที่เราสังเกตได้วัดในหลวงพระบางจะไม่มีถาวรวัตถุมลังเมลืองเหมือนกับวัดในประเทศไทยที่มีโบสถ์ วิหารใหญ่โต ลักษณะอาคารสถานที่ของวัดของที่นี่มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ใหญ่โต บางที่เหมือนกับเขาจงใจที่จะไม่บูรณะดูเก่าๆ ทึมๆ ดูขลังดี แต่วัดสำคัญที่เราจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือวัด "เชียงทอง" ซึ่งวัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดที่สวยมากจริงๆ ลักษณะของสถาปัตยกรรมคล้ายกับวัดที่อยู่ตามภาคเหนือของบ้านเรา หลังคาโบสถ์ทำเป็นหลังคาซ้อนกันสามชั้น และกระเบื้องหลังคาก็ยังคงปล่อยไว้ตามสภาพเดิม เท่าที่ทราบวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก ของเมืองหลวงพระบาง และวัดแห่งนี้ยังเป็นมีโรงเก็บราชรถของเจ้ามหาชีวิตด้วย (ตามภาพข้างบน) ซึ่งก็คงเหมือนกับราชรถของไทยเราที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สำหรับข้างในโบสถ์นั้นก็คล้ายกันกับของไทยในเรื่องคติความเชื่อของพุทธศาสนา แต่แตกต่างตรงลักษณะศิลปะและลวดลายที่วาดไว้บนผนังโบสถ์เป็นศิลปกรรมแบบลาวที่ใช้เพียงสีทองในการวาดภาพ สำหรับที่ตั้งของวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้จุดที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกัน ดังนั้นเราจึงสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำสองสายได้จากบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้
เราออกจากวัดเชียงทองเป็นเวลาที่สายมากแล้ว แต่ก็เร็วเกินไปที่จะกินข้าวเที่ยงและตอนนั้นแดดก็แรงมากเกินกว่าที่จะเดินดูอะไรได้อีก บุญก็เลยแนะนำว่าไปเที่ยว"น้ำตกตาดกวางสี" กันดีกว่า ซึ่งก็อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไม่มากน่าจะประมาณสิบหรือยี่สิบกิโลประมาณนั้น อืมพวกเราก็เห็นดีด้วยได้ไปดูน้ำตกเย็นๆ จะได้ชุ่มชื่นใจตอนที่อากาศร้อนๆ หน่อย

ไม่นานจากนั้นเราก็มาถึงบริเวณน้ำตก เห็นสถานที่ของน้ำตกแล้วคิดถึงพิษณุโลกจัง เพราะที่จังหวัดนี้ผู้เขียนเคยไปใช้ชีวิตอยู่ตั้งสี่ปี และก็ออกบ่อยที่ผู้เขียนไปนอกเมืองเพื่อไปเที่ยวน้ำตกที่มีมากมายหลายแห่งไล่เรียงตั้งแต่อำเภอวังทองจนเกือบเข้าเขาค้อเพชรบูรณ์โน่น สำหรับที่น้ำตกตาดกวางสีแห่งนี้ ผู้เขียนคิดว่าลักษณะการจัดการภูมิทัศน์ของเขาดีกว่าที่บ้านเรามาก เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูเบาประเทศลาวเป็นอันขาด ทางที่จะขึ้นไปดูน้ำตกนั้นมีทางลาดยางและทางที่เป็นป่าที่เขาถางทางไว้ให้แล้ว แต่ก่อนที่จะขึ้นไปดูน้ำตกพวกเราต้องเสียค่าเข้าเสียก่อน แต่จำไม่ได้แล้วว่าคนละเท่าไหร่


พวกเราเพลิดเพลินกับเสียงและความเย็นของละอองน้ำที่กระเซ็นมาจากน้ำตก พร้อมกับกินโรตี อันเป็นของว่างที่ซื้อมาจากทางเข้าน้ำตก รู้สึกแผ่นละ 20 บาท แต่ของที่นี่แผ่นใหญ่กว่าเล็กน้อยและไม่โรยน้ำตาล รสชาติยังสู้บ้านเราไม่ได้
พอเสร็จจากการกินแล้วก็ได้เวลาเดินย่อย ผู้เขียนกับพวกพี่ๆ ก็เดินลัดเลาะไปตามแนวน้ำตกที่มีการถางทางเดินไว้ให้แล้ว ชื่นชมบรรยากาศธรรมชาติ ฟังเสียงน้ำตก เสียงนกร้องได้ไม่ทันไร ฉับพลันทันใดผู้เขียนก็เห็นกลุ่มคนจำนวนมากอยู่ตรงธารน้ำตกข้างหน้า กำลังส่งเสียงภาษาไทยดังเอะอะ ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านั้นใส่เสื้อเหลืองแดง บางคนก็กำลังกลุ้มรุมทุบตีกัน เอ๊ะ! นี่มันเป็นเหตุการณ์การปะทะกันของพันธมิตรกับนรกป่วนชาติหรือยังไงเนี่ย โอโฮ ระบาดมาถึงหลวงพระบางเลยนะเนี่ย
แหะแหะ จริงๆ เปล่าหรอกคนเขียนล้อเล่นน่ะ ปรากฏว่าเป็นกลุ่มน้องนักศึกษาจากธรรมศาสตร์เขาใส่เสื้อเชียร์ฟุตบอลประเพณีของปีนี้น่ะ ก็สีประจำธรรมศาสตร์สีเหลืองแดงไง "สีเหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้" เขาใส่มาเหมือนกันหมดทุกคนเลย สงสัยมาทัศนศึกษาน่ะ โล่งอกใช่ไม๊ล่ะว่าไม่มีสงครามสีมาแพร่ระบาดถึงบ้านเมืองอื่นเขาให้คนไทยที่รักชาติบ้านเมืองอย่างเราๆ ขายหน้าเพื่อนบ้านและคนต่างชาติอื่นๆ เก็บเอาไว้ตีกันในบ้านละกัน





















































































































































































วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (ตอนรากเหง้าของคนไทยกำลังจะล้มหายตายจาก)

หากท่านผู้อ่านไม่ได้อยู่ในแวดวงของเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน ท่านอาจไม่รู้จักผู้ชายที่กำลังหล่อและปั้นพระที่อยู่ในรูป ตัวผู้เขียนเองก็อาจไม่รู้จักท่านเหมือนกันหากไม่บังเอิญว่าผู้เขียนได้ใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิตนิสิตมหาวิทยาลัยเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมไปถึงบุตรสาวของท่านผู้นี้ก็เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนเดียวกันกับผู้เขียน จึงทำให้ผู้เขียนได้รู้จัก "จ่าทวี บูรณเขตต์" ในฐานะผู้ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในทางที่ดีของจังหวัดพิษณุโลก และการเป็นพ่อของเพื่อนร่วมชั้นเรียน

ในช่วงที่ไปใช้ชีวิตที่พิษณุโลกใหม่ๆ ผู้เขียนมีความสงสัยว่าทำไมผู้ชายที่เกษียณอายุจากราชการทหารที่เป็นเจ้าของโรงหล่อพระจึงเป็นที่ยอมรับนับถือนักจากคนจังหวัดพิษณุโลก ตัวท่านนั้นมีอะไรนอกเหนือไปจากการเป็นเจ้าของโรงหล่อพระ และเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล็กๆ ที่มาจากการจัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านส่วนหนึ่งที่มีอยู่กว้างขวางพอสมควรที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ในตัวเมืองหรือ ตอนนั้นผู้เขียนเองก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ รวมไปถึงคำตอบของคนที่อยู่รอบข้างตัวผู้เขียนที่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่เข้าถึงแก่นคำถาม และอาจจะเป็นช่วงชีวิตวัยรุ่นอายุแค่ 18-19 ปี ทำให้ผู้เขียนไม่ได้สนใจอย่างจริงจังกับสิ่งที่จ่าทวีเป็นและทำอยู่ ณ ขณะนั้น มากไปกว่าการที่ท่านผู้นี้เป็นพ่อของเพื่อน

เมื่อใดที่มหาวิทยาลัยมีงานพระราชทานปริญญาบัตร นิสิตอย่างผู้เขียนมีหน้าที่ไปแสดงความยินดีกับรุ่นพี่และคอยดูพระราชพิธีอยู่ห่างๆ ครั้งหนึ่งที่จ่าทวีได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเสนอชือให้เป็นผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีคุโณปการด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านจากผลงานการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของท่านนั่นเอง และคราวใดที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาจังหวัดพิษณุโลกไม่ว่าจะด้วยการทรงมาพระราชทานปริญญาให้แก่ผู้จบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเรา หรือจะเสด็จมาด้วยการอื่น ทุกๆ ครั้งของหมายเสด็จไปตามที่ต่างๆ จะต้องมีพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยิ่งเพิ่มความอยากรู้ถึงความสำคัญของจ่าทวีและผลงานของท่านให้มีมากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองในช่วงเวลาของการใช้ชีวิตในขณะนั้น ก็ละเลยที่จะหาคำตอบให้กับตัวเอง คงใช้เวลาในฐานะนิสิต เรียน เล่น เที่ยวสนุกสนานกับเพื่อน ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเหยียบย่างเข้าไปดูว่าในพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีนั้นมีความสลักสำคัญอะไรนัก ขนาดเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านถึงต้องเสด็จเข้าไปทอดพระเนตร ทั้งๆ ที่หอพักของผู้เขียนและพิพิธภัณฑ์ห่างกันแค่สองช่วงถนน และตอนนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

จนกระทั่งใกล้จบการศึกษา ผู้เขียนมีความคิดที่อยากตระเวณเที่ยวให้ทั่วพิษณุโลกก่อนกลับบ้านเป็นการถาวร เพื่อเป็นการรำลึกว่าครั้งหนึ่งตัวเองเคยมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ด้วยความสุข ผู้เขียนและเพื่อนๆ จึงได้ออกเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีด้วย เมื่อแรกเข้าไปนั้นผู้เขียนคิดว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดูเหมือนไร้ชีวิต เนื่องมาจากมีคนเข้าเยี่ยมชมน้อยมาก ดูราวกับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงสถานที่เก็บของเก่า ของใช้พื้นบ้าน เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว อุปกรณ์ที่คนสมัยก่อนใช้จับสัตว์ และอะไรอีกมากมาย ของเหล่านั้นเหมือนกับว่ารอให้ผุพังและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนรู้สึกมีความชื่นชมจ่าทวีและครอบครัวที่มีความอุตสาหะในการที่จะรักษาของเหล่านี้ให้แก่บุคคลรุ่นหลังได้ดู และชื่นชมถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในการประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอย นอกไปจากนี้ผู้เขียนได้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่งในการทำสิ่งที่ตัวเองรักและชื่นชอบ ผู้เขียนทราบมาว่าของใช้ที่นำมาแสดงเหล่านั้น จ่าทวีใช้ระยะเวลามาเนิ่นนานในการเสาะหาและเก็บสะสมของใช้พื้นบ้านเหล่านั้น โดยท่านเริ่มสะสมมาตั้งแต่วัยหนุ่ม

หลังจบการศึกษาไปได้ไม่นานนัก ผู้เขียนได้รับทราบเรื่องของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีอีกครั้งหนึ่งจากเพื่อนเมื่อคราวที่เรามานัดพบปะสังสรรค์กัน โดยตอนนั้นผู้เขียนทราบมาว่าลูกสาวอีกคนหนึ่งของท่านชื่อ "คุณปู" ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอันเป็นความต้องการของผู้เป็นพ่อที่อยากเห็นลูกจบการศึกษาด้านโบราณคดี ได้มารับช่วงต่อในการเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนนึกอยู่ในใจว่าสถานการณ์ของพิพิธภัณฑ์น่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นเพราะได้คนรุ่นใหม่มาช่วยบริหารอีกแรงหนึ่ง

ข่าวคราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลือนหายไปจากความนึกคิดของผู้เขียนเป็นเวลาร่วม 20 ปี จนกระทั่งมาวันหนึ่งเมื่อต้นปีนี้เอง



"พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ภูมิปัญญาไทยที่กำลังสิ้นใจ"






นั่นเป็นหัวข้อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งที่ผ่านกระทบสายตาของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนต้องรีบเข้าไปอ่านในรายละเอียดเนื้อหาข่าวโดยทันที โดยในเนื้อหาข่าวระบุว่าได้มีการจัดเสวนาระหว่างนักวิชาการและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ก็คือ "คุณปู" นั่นเอง ซึ่งสาระของการเสวนาเป็นการบอกเล่าของความยากลำบากในการบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ภายใต้กระแสอันเชี่ยวกรากของระบอบทุนนิยมตะวันตก


(รายละเอียดตาม weblink ข้างล่างนี้) http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=8479


อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความขมขื่นและภาระที่หนักอึ้งของผู้หญิงคนหนึ่งที่จะต้องแบกรับ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว "คุณปู" และผู้เขียนก็อยู่ในวัยไล่เรี่ยกัน แต่ภาระและหน้าที่ดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับตัวผู้เขียนเองคงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าการให้กำลังใจ "จ่าทวี" "คุณปู" รวมไปถึงครอบครัวบูรณเขตต์ให้สามารถฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปให้ได้ ถึงแม้ว่าในใจผู้เขียนเองยอมรับแล้วว่ามันมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีลมหายใจยืนยาวไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานภายใต้การดูแลของ "จ่าทวี" และทายาท ที่มีใจรักในการทำสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนมองเห็นภาพอนาคตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เหลือทางเลือกอยู่ไม่มาก ถ้าคนไทยและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกันคนละไม้ละมือเพื่อต่อลมหายใจพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในอนาคตลูกหลานของเราก็คงจะไม่รู้จักรากเหง้าและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ หวังแต่เพียงให้มีผู้เข้าใจถึงความรักในสิ่งที่ตนเองกำลังทำของจ่าทวีและทายาท หวังให้ผู้คนเหล่านั้นที่มีฐานะทางการเงินไม่ลำบาก ได้สละเวลาและทุนทรัพย์ของพวกเขาที่ใช้ไปในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟที่ปารีส หรือบริติช มิวเซียม ที่ลอนดอน ได้หันกลับมาดูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของไทยเรากันบ้าง เพื่อเป็นการรักษาสิ่งดีดีเหล่านี้เอาไว้ให้ยั่งยืนเท่าที่จะทำได้


จากคำถามที่เคยถามตนเองเมื่อ 20 ปีก่อน มาถึงวันนี้ผู้เขียนมีคำตอบให้กับตนเองแล้ว ผู้เขียนมองเห็นผู้ชายวัยกลางคนยืนเคียงข้างกับลูกสาวและคนในครอบครัวบูรณเขตต์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่คุณลุงจ่ามีความอุตสาหะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี คุณลุงจ่าต้องทุ่มเทแรงกาย แรงทรัพย์ เพื่อที่จะรักษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ประวัติและที่มาของคนไทยให้กับเด็กยุคใหม่ ในขณะที่นอกประตูรั้วพิพิธภัณฑ์ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกเเข้ามาเคาะถึงประตูรั้วของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะรู้ตัวดีว่า แรงกาย แรงใจ และแรงทุนทรัพย์ของตนนั้นไม่สามารถต้านทานกระแสความแรงของวัฒนธรรมต่างถิ่นได้ แต่ลุงจ่าก็ยังทำในสิ่งที่ตนเองรักต่อไปถึงแม้ว่าจะรู้ดีว่าจะไม่ได้อะไรตอบแทนกลับคืนมาในรูปของทรัพย์สินเงินทอง สิ่งนี้เองที่ทำให้คุณลุงจ่าเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวพิษณุโลก รวมทั้งได้รับการยกย่องจากคนข้างนอก แต่ยังไงก็ตามเฉพาะแค่คำสรรเสริญเยินยอเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ความฝันของผู้ชายวัยกลางคนนี้เป็นจริงได้ ชาวพิษณุโลกเองก็ดี หรือใครๆ ก็ตามที่เห็นคุณค่าของความคิดและการกระทำของปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ อยากจะขอให้ท่านช่วยกันต่อลมหายใจให้กับพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ด้วยการกระทำใดๆ ที่ท่านพอจะทำได้


สำหรับตัวผู้เขียนเองขอเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยในเบื้องต้นได้รับทราบมาว่า วันที่ 1 เมษายน 2552 นี้ จะมีงาน "ฟื้นวิถีชุมชน ชื่นชมคนท้องถิ่น" ตั้งแต่เวลา 15.00 - 23.00 น.มีเวทีเสวนา “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน่าน - แควน้อย”โดย อ.ศรีศักร วัลลิโภดม และดนตรีเพื่อชีวิตโดย เอ้ ผูกพัน วงคาวบอยบ้านตะวันออกจ.พิษณุโลก หงา คาราวาน, หว่อง มงคล อุทก, และผองเพื่อน บัตรเข้างาน 200 บาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี สอบถามรายละเอียดได้ที่ พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี 055-212749 และกลุ่มหนุ่มสาวศึกษาเพื่อการฟื้นฟูวิถีชุมชนท้องถิ่น หรือท่านอาจจะเข้าไปในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนลิงค์ไว้ให้ข้างๆ คลังบทความก็ได้



พักคุยกันก่อน เดี๋ยวค่อยอ่านเที่ยวลาวตอนใหม่

นี่เป็นเวลาอาทิตย์หนึ่งเต็มๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรใหม่กับ blog ตัวเอง พอวันนี้ก็เริ่มปรับโน่น แต่งนี่ เพิ่มนั่น สาเหตุมาจากว่ามีข้อเสนอแนะมาจากสามีของพี่ที่เคารพนับถือกัน โดยพี่เขาได้มีโอกาสเยี่ยมชม blog ของผู้เขียน ก็เลยบอกว่า blog ยังขาดเฟอร์นิเจอร์ไปพอสมควร วันนี้ก็เลยมานั่งนึกดูว่าจะปรับโฉมของ blog ตัวเองยังไงดี คิดไปคิดมาสักพักพอที่จะได้แนวแล้วก็เลยลงมือทำทันที

เริ่มจากการปรับแม่แบบของ blog ใหม่ ให้อ่านสบายตาหน่อย จากนั้นก็เริ่มใส่เครื่องมือ หรือ gadget เพิ่ม คือปฏิทิน และก็นาฬิกาที่บอกเวลาได้ทั่วโลก เพียงแต่คลิกตรงพื้นที่ประเทศที่ต้องการทราบเวลา

ต่อมาก็เริ่มใส่ links ต่างๆ ที่คนเขียนชอบ (แต่ไม่รู้คนที่แวะเข้ามาอ่านจะชอบหรือเปล่า) ซึ่งจากคำอธิบายชื่อ blog ก็บอกแล้วว่าคนเขียน blog นี้ เป็นคนชอบอ่าน และอยากรู้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน เที่ยวเล่น อาหาร ภาษา สังคมและวัฒนธรรม ยกเว้นเรื่องบันเทิง ละเม็งละคร และเกี่ยวกับดาราสมัยใหม่ไม่ได้ติดตามเลย และประเด็นก็ยังไม่โดนใจ แต่เรื่องเพลงหรือดนตรีก็สนใจบ้าง แต่ต้องเป็นยุค '80s อะไรประมาณเนี้ย

พอรู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็เลยคิดว่าน่าจะหา links อะไรที่มีประโยชน์แก่คนที่เขาแวะเข้ามาอ่านบ้าง หลักๆ ที่ add ไปแล้ว ก็มีเรื่องภาษาที่นำ blog ของพี่ตุ่น คนเก่ง คนขยันของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาแปะไว้ สำหรับเอาไว้ให้ตัวเองได้เข้าไปอ่านเองซะส่วนใหญ่ จะว่าไป blog ของพี่ตุ่นนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากอยู่แล้ว แต่สำหรับท่านผู้อ่านใดที่ยังไม่เคยเข้าไป ขอบอกว่าถ้าท่านเป็นคนชอบภาษาอังกฤษ อย่าพลาดเป็นอันเด็ดขาด เพราะ blog นี้เป็นแหล่งรวมความรู้ภาษาอังกฤษไว้สารพัดอย่างเลย จากนั้นก็นำ link การเรียนภาษาญี่ปุ่นของ web nhk มาแปะไว้ เพราะโดยส่วนตัวผู้เขียนชอบภาษาญี่ปุ่นด้วย และพอมีพื้นฐานของการใช้ภาษานี้อยู้บ้าง

ที่เห็นจะขาดเสียไม่ได้เลยคือ link เรื่องการบ้านการเมืองถ้าดูจาก link แล้วออกจะดูเลือกข้างไปสักหน่อย ก็ยอมรับละ แต่ที่มาเพิ่มพิเศษคือ blog ของ สส.ดร. รัชดา ธนาดิเรก สส. ใหม่เอี่ยมแกะกล่อง เขต 12 กทม. พื้นที่บ้านผู้เขียนเอง อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเป็นหนึ่งเสียงที่ vote ให้ สส.ท่านนี้ ก็เลยติดตามผลงานมาโดยตลอด ดูจาก profile แล้ว เป็นผู้หญิงเก่ง ก็เลยอยากให้กำลังใจให้รักษาความตั้งใจ ให้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีแก่วงการ การเมืองบ้านเราในอนาคต

ที่เหลือก็เป็น links แนะนำเรื่องธรรมะไม่น่าเบื่อ เพราะบางครั้งหากอ่าน blog นี้แล้ว เกิดอารมณ์พลุ่งพล่านซึ่งเกิดจากการโมโหจี๊ดเรื่องการบ้านการเมือง ก็ให้ตัดกลับเข้า link ธรรมะทันที เป็นการสงบอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน

ลองปรับโฉมดูแล้ว ผู้อ่านโดยเฉพาะพี่ๆ ที่ตามอ่านเรื่องเที่ยวลาว มีข้อคิดเห็นก็ add กันเข้ามาได้ ช่วงนี้เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก ก็ระวังรักษาสุขภาพบ้าง
พอดีเห็น collection ภาพฝนตกใน blog ของคุณเนยสีฟ้า ใน bloggang สวยมาก เลยขอยืมมา post ในนี้ให้อารมณ์ เย็นปนเหงาดี

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 8: คนลาวถอยไปขอคนไทยก่อน)



เช้าวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวพุทธที่จะรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการที่พระองค์ประทานโอวาทปาฏิโมกข์ อันได้แก่
๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขานิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธาน หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตีสมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทาสจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1 การบำเพ็ญแต่ความดี 1 การทำจิตของตนให้ผ่องใส 1 นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโตปาติโมกฺเข จ สํวโรมตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึปนฺตญฺจ สยนาสนํอธิจิตฺเต จ อาโยโคเอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๏ การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 1 ที่นั่งนอนอันสงัด 1 ความเพียรในอธิจิต 1นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(ขอขอบคุณสารานุกรมออนไลน์วิกีพีเดียดอทคอมเอื้อเฟื้อข้อมูล)

โอวาทปาฏิโมกข์ดังกล่าวพระพุทธองค์ได้ประทานไว้ในวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เมื่อ 2,500 กว่าปีล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นวันที่เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ 1) พระสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกัน 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย 2) พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือเป็นพระที่พระพุทธเจ้าบวชให้ 3) พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และ 4) วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี หรือวันจาตุรงคสันนิบาต ที่พร้อมด้วยองค์ 4

ที่เกริ่นมาทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ใช่จะอวดภูมิว่าเป็นคนเคร่งศีล ธรรมะธรรมโม รู้ไปหมด แต่ที่เขียนไปทั้งหมดต้องหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนตัวเองว่า อย่าได้เป็นพุทธแต่เพียงในทะเบียนบ้าน แต่ขอให้พยายามให้มีความถึงพร้อมด้วยความเป็นพุทธตามพระธรรมคำสั่งสอน ดังนั้นเช้านี้ผู้เขียนเลยอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ถึงแม้จะต้องตื่นเช้ากว่าทุกวันที่อยู่ในกรุงเทพฯ พวกเราทั้งหกออกจากที่พักตีห้าตรงไม่ขาดไม่เกิน เราบอกบุญไปตั้งแต่เมื่อคืนวานก่อนจะแยกกันกลับที่พักว่า ช่วงเช้าตอนใส่บาตรพระ บุญยังไม่ต้องมาก็ได้ เพราะถนนที่พระท่านจะเดินรับบาตร อยู่ตรงหน้าปากซอยที่พักเรานั่นเอง ดังนั้นพวกเราสามารถเดินออกมาเองได้ บรรยากาศเช้ามืดอย่างนี้เงียบดีจริงๆ อากาศค่อนข้างเย็น ตอนที่เราออกมาจากบ้านพัก เราเห็นแสงไฟในครัวของเจ้าของบ้าน สงสัยแม่บ้านกำลังหุงข้าวอยู่มั้ง พอเดินออกมาก็เห็นบางบ้านเริ่มเปิดไฟ คงจะมีนักท่องเที่ยวอย่างเรากำลังเตรียมตัวออกมาใส่บาตรเหมือนกับพวกเรา

พอเดินมาถึงหัวถนนที่พระท่านจะเดินรับบาตร ซึ่งขณะนั้นฟ้ายังมืดอยู่ พวกเราก็ยังไม่เห็นใครออกมาสักคน มีแต่พวกเราหกคนเท่านั้นที่เตรียมพร้อมกว่าใครเพื่อน ไม่ช้าไม่นานก็มีเหล่าบรรดาแม่ค้าเดินปรี่มาที่กลุ่มเราเพื่อจะเสนอขายของที่จะไปใส่บาตร อันประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวหนึ่งหรือสองกระติ๊บ (จำไม่ได้แล้ว) ข้าวต้มลูกโยนห่อขนาดย่อมๆ จำนวนหนึ่ง ดอกดาวเรืองสำหรับถวายพระจำนวนหนึ่ง รู้สึกว่าชุดละร้อยบาทนะนั่น พวกเราทั้งหกคนก็แบ่งกันซื้อจากแม่ค้าคนละคน เพื่อเป็นการกระจายรายได้ ค่าใช้จ่ายนี้รวมไปถึงให้บริการเสื่อสำหรับนั่งด้วยนะ พวกเราซื้อของเพื่อเตรียมใส่บาตรเสร็จแล้ว เวลาก็เพิ่งตีห้ากว่าๆ เอง ก็เลยสอบถามแม่ค้าว่าพระท่านจะเดินรับบาตรกี่โมง ก็ได้ความว่าประมาณหกโมงเช้า อ้าว! เมื่อคืนใครเป็นคนบอกเนี่ยว่าพระท่านจะเริ่มเดินบิณฑบาตรตอนตีห้าครึ่ง รีบออกมาซะตั้งแต่ไก่โห่เชียว ดังนั้นพวกเราจึงเป็นพุทธมามกะที่ปูเสื่อสาด พร้อมจัดข้าวของที่จะใส่บาตรเสร็จเป็นกลุ่มแรก ดูในภาพสินั่งกันตั้งแต่ฟ้ายังมืดอยู่เลย พอนั่งไปสักพัก เหลียวไปทางขวา เหลียวไปทางซ้ายก็ไม่เห็นใครนอกจากคนในกลุ่มตัวเอง ก็เลยคุยกับน้องคนหนึ่งที่มาช่วยแม่ขายของใส่บาตร ขยันจริงๆ เลย เพราะเท่าที่ถามตอนสายๆ น้องเขาต้องไปโรงเรียนต่ออีก ดีจริงเลยรู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ คุยกันเสร็จแล้วป้าศรีเขาเกิดเอ็นดูเด็ก เลยเรียกน้องบอกว่า "มา มา ถ่ายรูปกับป้า" อืมยอมรับความจริงก็ดีนะเนี่ยว่าอยู่ในวัยเป็นป้าคนแล้ว ป้าศรีเนี่ย งั้นที่เรียกป้าศรีเป็นป้าโดยตลอดก็ถูกแล้วดิ 5555 แหมแต่ดูในภาพแล้วน้องเขาหน้าตาเหยๆ ยังไงชอบกล ป้าไปแอบหยิกเขาหรือเปล่าเนี่ย


เราทำโน่นทำนี่สังหารเวลาไปพักใหญ่ เช่น ถ่ายรูปบ้าง เดินไปดูทางโน้นทางนี้ สักพักก็เริ่มมีคนทยอยเดินออกมา เปล่านะไม่ใช่คนท้องถิ่นหรอก นักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งนั้น ส่งภาษาไทยกันให้ขรมเชียว พวกเราก็เลยสงสัยว่าแล้วคนท้องถิ่นล่ะไปไหน นี่เรามาจับจองพื้นที่ของเขาหรือเปล่า จนเขาต้องหลบลี้หนีหน้าไม่มาตักบาตร แต่ยังไม่ทันได้คำตอบก็เริ่มมีแถวพระเดินมาอย่างไม่ขาดสาย ก็เลยต้องเก็บข้อกังขานั้นไว้ในใจก่อน พอพระท่านเดินมาถึงเราก็ปั้นข้าวเหนียวในกระติ๊บใส่บาตรรูปละก้อน บางทีก็ใส่ข้าวต้มลูกโยนรูปละห่อ ก็ใส่ได้หลายรูปเหมือนกัน ระหว่างเรากำลังตั้งอกตั้งใจใส่บาตรอยู่นั้นก็มีฝรั่งมาถ่ายรูปกันเป็นมหกรรมเลย เฮ้อ นี่พระท่านเป็นนายแบบตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย ของที่เราเอาไว้ใส่บาตรหมดแล้ว แต่พระท่านก็ยังทยอยเดินมาไม่ขาดสาย ก็เลยออกมาสังเกตการณ์อยู่มุมนอก เห็นข้างๆ ตรงที่เราใส่บาตรมีป้ายตั้งไว้เขียนเป็นภาษาอังกฤษแปลความว่า "ขอความกรุณาท่านนักท่องเที่ยวอย่าถ่ายรูปประชิดตัวกับพระสงฆ์เวลารับบาตร ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับเราในอันที่จะรักษาประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีนี้ไว้" พอเราได้อ่านแล้วก็รู้สึกหน้าร้อนด้วยความละอายเพราะเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนของผู้ที่ถ่ายรูปพระท่านขณะรับบาตรด้วยไม่ใช่แต่เฉพาะฝรั่งพวกนั้นหรอก นี่ไงหลักฐาน




พอได้เห็นป้ายอันนั้นแล้ว เราก็เลยเดินแยกออกมาให้ห่างจากแถวของพระ และก็สังเกตไปรอบๆ ว่าเพิ่งมีคนท้องถิ่นขนเสื่อ บ้างก็ขนเก้าอี้ และของต่างๆ เพื่อเตรียมใส่บาตร ที่เห็นก็มีบรรดารุ่นคุณย่า คุณยาย นุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าเหมือนสไบทับเสื้อตัวใน ดูสวยแบบสมัยก่อนเลย โดยกิจกรรมนี้คนท้องถิ่นเขาทำหลังจากที่นักท่องเที่ยวใส่บาตรพระกันเกือบเสร็จแล้ว ดูราวกับว่าชาวลาวเขารอให้ชาวเราที่เป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทยใส่บาตรกันให้พอใจกันเสียก่อน เขาถึงมาใส่ของเขาบ้าง และสถานที่ก็ไม่ได้มาปะปนกับของเรา เขาก็แยกออกไปทางหัวถนนโน่น รู้สึกเหมือนเรามาแย่งพื้นที่ของคนท้องถิ่นยังไงไม่รู้ (อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะ นักท่องเที่ยวท่านอื่นอาจเห็นต่างก็ได้)



พอเล่ามาถึงประเด็นนี้แล้ว ก็อยากจะคุยถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาติเรากับประเทศเพื่อนบ้านเสียหน่อย เป็นเวลานานแค่ไหนแล้วที่คนไทยมีมุมมองว่าประเทศเพื่อนบ้านด้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา จริงอยู่บางครั้งความขัดแย้งในเรื่องการครอบครองเขตแดนอะไรที่ซ้ำซ้อนกันมันย่อมทำให้เราเกิดทัศนคติในเชิงลบ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยและบางครั้งการแก้ไขปัญหาที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องการถือสิทธิครอบครองเป็นสิ่งที่รัฐบาลของเราและคู่กรณีเขาต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ในกรณีของเราที่เป็นพลเมืองของประเทศ ถ้าเราสามารถสร้างทัศนคติในเชิงบวกให้เพิ่มมากขึ้นต่อระดับปัจเจกบุคคลในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เขียนคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราเขาก็จะมองเราในเชิงบวกมากขึ้น อย่างเช่นที่ลาวนี้ ทำไมคนไทยถึงชอบพูดว่าเราเป็นบ้านพี่ เมืองน้อง ใครเป็นพี่และใครเป็นน้อง คนฟังทุกคนย่อมรู้ดี ถ้ามีใครเปรียบเทียบเรากับสิงคโปร์ว่าเป็นบ้านพี่ เมืองน้องบ้างล่ะ เราซึ่งเป็นคนไทยรู้อยู่แก่ใจว่าในกรณีนี้ใครเป็นพี่ และใครเป็นน้องถ้าเปรียบเทียบกันในเชิงความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ และเมื่อมีคนพูดแบบนี้เราซึ่งเป็นคนไทยชอบใจหรือเปล่าล่ะ

ก็คงจะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับประชาชนลาวเพื่อนบ้านเราน่ะละ เขาก็ไม่ชอบใจเหมือนกันที่เขาโดนเรียกว่าน้อง ของบางสิ่งบางอย่างเราอย่ามองแค่มุมเดียว จริงละในแง่ความเจริญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง เราอาจจะเจริญกว่าเขา แต่ในด้านอื่นล่ะในเรื่องของน้ำจิตน้ำใจ อะไรอีกสารพัดเราอาจจะด้อยกว่าเขาก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านอยากให้คนอื่นเคารพในความเป็นตัวตนของท่าน ท่านก็ต้องเคารพตัวตนของเขาก่อน จริงไม๊

ตอนนี้คุยมายืดยาวแล้ว เห็นทีต้องไว้คุยต่อตอนหน้าว่าเสร็จจากตักบาตรตอนเช้าแล้วเราไปทำอะไรต่อ สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพันธุ์แท้ อย่าพลาดนะ รู้ใช่ไม๊ว่าจอของใคร อิอิ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 7: อารมณ์ค้างที่ดาวฟ้า)

เมื่อตอนที่แล้วเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบางในแง่มุมที่ดูหนักๆ ไปนิด แต่ก็เป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองนี้กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อแรกเราเดินทางมาถึง มีแม่ค้าสาวชาวหลวงพระบางนำข้าวเหนียวหัวหงอกมาขาย รสชาติเป็นที่ถูกอกถูกใจเราพอสมควร แต่ซื้อเสร็จแล้วก็ใช่ว่าจะหาบกระจาดเดินไปเฉยๆ เลยก็หาไม่ แม่ค้าสาวคนนั้นอยู่คุยกับเราอยู่เป็นนานเหมือนกัน (พวกเราก็ชอบคุยด้วยแหละ โดยเฉพาะพี่หวาดกับพี่วัฒน์ เห็นถามเรื่องกรรมวิธีทำข้าวเหนียวกันใหญ่) แม่ค้าเธอก็เป็นงานอยู่เหมือนกัน พอพูดจาพาทีเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับข้าวเหนียวที่เธอนำมาขายแล้ว เธอก็เริ่มถามพวกเราว่า พรุ่งนี้เช้า (วันที่ 9 กุมภาพันธ์) พวกเราจะใส่บาตรพระสงฆ์ อันเป็นกิจกรรมเด่นที่สุดสำหรับคนมาเยือนหลวงพระบางที่เป็นชาวพุทธจะพลาดไม่ได้หรือเปล่า (ตอนนั้นพี่นิและป้าศรีซึ่งตอนแรกๆ ไม่รู้อยู่ไหนก็เริ่มเดินมาสมทบที่กลุ่มเรา) พวกเราเลยตอบไปอย่างซื่อๆ ว่า แม่นแล้วเจ้า
"เอื้อย เอื้อย ถ้างั้นพรุ่งนี้น้องจะทำของสำหรับใส่บาตรมาให้เน้อ น้องคิดราคาไม่แพงหรอก" พวกเราหารือกันอยู่พักหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะอัธยาศรัยไมตรีของแม่ค้าสาวทำให้เราสี่คนประกอบด้วย พี่อ้อย พี่หวาด พี่วัฒน์ และผู้เขียนตอนแรกก็เหมือนจะตกปากรับคำแม่ค้าไป และพอมาถามว่าแล้วพรุ่งนี้เช้าจะเจอกันยังไงล่ะ

"ไม่ยากหรอกเอื้อย บ้านน้องอยู่ฝั่งโน้น (เธอหมายถึงบ้านเธออยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง เวลาที่เธอมาฝั่งหลวงพระบาง ก็นั่งเรือจ้างข้ามมา) เดี๋ยวน้องนั่งเรือมาส่งของแต่เช้าเลย" พอแม่ค้าสาวตอบไปอย่างนั้น พวกเราก็เลยลังเล ทำไปทำมาเราก็เลยปฏิเสธแม่ค้าไปเพราะกลุ่มของเราเองก็ไม่รู้จะออกไปเวลากี่โมง เดี๋ยวนัดแนะกันแล้วเกิดไม่เจอก็จะเสียเวลากันทั้งสองฝ่าย ขอโทษด้วยนะจ๊ะแม่ค้า เอาไว้ไปคราวหน้าจะเหมาข้าวเหนียวทั้งกระจาดเลย แต่คราวนี้ซื้อแค่สามห่อก่อนนะ




เมื่อตอนก่อนเกริ่นให้ฟังไปเล็กน้อยว่าพวกเราเข้าพักที่ guest house ชื่อวิลลาพิไลลักษณ์ ซึ่งการมาที่หลวงพระบางนี่เราไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องหาที่พักเหมือนที่วังเวียง เพราะที่พักมีอยู่มาก เป็นลักษณะบ้านพักที่ปรับปรุงให้พร้อมกับการเข้าพักของแขก สภาพห้องพักและห้องน้ำดูดีกว่าที่พักที่วังเวียงที่เราไปพัก แต่ก่อนหน้านั้นเราก็ลองหาที่อื่นดูเหมือนกันนะ ประเภทที่ติดกับวิวแม่น้ำโขง แต่ก็ยังไม่ค่อยถูกใจ มาลงตัวที่วิลลาพิไลลักษณ์นี่แหละ ราคาก็ถูกเช่นเดิมห้องละห้าร้อยบาทต่อคืน ก็พอดีว่าที่นี่มีห้องพักเหลือสามห้องสำหรับเราหกคนพอดี ทีนี้กลุ่มเราก็เป็นห่วงบุญขึ้นมาว่าจะไปพักไหน ก็เลยบอกบุญไปว่าให้ไปหาที่พักที่ใกล้ๆ พวกเราราคาพอเหมาะพอสม เราจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งบุญเขาก็บอกไปว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวเขาดูแลตัวเอง เราก็เลยเข้าใจว่าเขาน่าจะไปพักอยู่กับเพื่อน เพราะทำอาชีพลักษณะนี้คงมีเพื่อนอยู่ทั่วไป

เสร็จจากเรื่องที่พักเราก็ไม่รอช้า ออกเที่ยวทันที ที่แรกที่ไปคือ"พระธาตุจอมพูสี" ซึ่งอยู่ตรงตลาดไนท์นั่นเอง ตอนที่เราไปร้านรวงต่างๆ ยังไม่ได้ตั้งร้านเพราะยังหัววันอยู่ ที่พระธาตุแห่งนี้เป็นสถานที่ตั้งอยุ่บนเขาสูง ทางขึ้นมีความสูงชันมาก จำไม่ได้ว่าขึ้นบันไดไปกี่ขั้น แต่ทำให้พวกเราเหนื่อยมากจริงๆ เลย เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบออกกำลังกายเป็นอย่างมาก เต้นแอโรบิคของพี่วัฒน์ยังสู้ไม่ได้เลย


ระหว่างทางเดินขึ้นพระธาตุ พวกเราต้องแวะหยุดพักหายใจระหว่างขั้นบันไดเป็นระยะ ตามภาพที่เห็น เพราะเหนื่อยมากจริงๆ ถึงแม้ว่าจะอายุยังน้อยอยู่ก็ตาม 555 แต่พอถึงข้างบนแล้วก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเพราะวิวของหลวงพระบางที่มองลงมาจากพระธาตุสวยจริงๆ เราเห็นสะพานข้ามแม่น้ำคาน (ที่หลวงพระบางมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านคือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำคาน) ทอดผ่านแม่น้ำโดยมีเขาสูงชันเป็นภาพพื้นหลัง ทำให้รู้สึกว่าตัวเรานั้นช่างเล็กกะจิดริด เมื่อเที่ยบกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ เช่น ขุนเขา แล้วทำไม๊ทำไมคนเราถึงคิดว่าเรื่องอะไรๆ ของตัวเองนั้นยิ่งใหญ่ สลักสำคัญเป็นนักหนา


เราเข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์หลังเล็ก และก็ชื่นชมบรรยากาศบนยอดพระธาตุอยู่เป็นเวลาพอสมควร เราก็เห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ไปจับจองมุมหนึ่งของทางฝั่งทิศตะวันตกของพระธาตุ เพื่อจะรอบันทึกภาพประทับใจพระอาทิตย์ของวันนี้ลาลับเหลี่ยมเขาของเมืองหลวงพระบาง แต่กลุ่มเราเห็นว่าถ้าเรารอบันทึกภาพเหมือนกับกลุ่มประชากรนักท่องเที่ยวเหล่านั้น อาจทำให้เรามีเวลาไม่พอสำหรับกิจกรรมต่อไปได้ จะอะไรซะอีก การเดินดูและซื้อสินค้าของตลาดไนท์ไง
เท้าไวเท่าความคิด พวกเราก็รีบลงมาจากยอดพระธาตุทันที ตอนลงมาเนี่ยช่างไวจริงๆ และก็ไม่เหนื่อยเหมือนตอนขาขึ้น แต่จะไม่ค่อยดีสำหรับผู้ที่ข้อเข่าไม่ดี และยิ่งกลุ่มพวกเราเนี่ยอายุน้อยๆ ทั้งนั้น อิอิอิ ระหว่างเดินลงมาเราก็สวนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก อายุมากบ้าง น้อยบ้าง สภาพแต่ละคนเหมือนเราตอนขาขึ้นไป เราก็ได้แต่ทักทายและให้กำลังใจว่าใกล้ถึงแล้ว อะไรประมาณเนี้ย
เราเดินลงมาถึงข้างล่างก็พอดีกับร้านรวงต่างๆ ของตลาดไนท์เริ่มตั้งเต็นท์ขายกันแล้ว จะเล่าให้ฟังว่าเต็นท์ร้านค้าที่นี่มีสภาพดีกว่าบางแห่งที่เมืองไทยอีก (อันนี้ฟังมาจากพี่วัฒน์) เพราะของเขาเป็นเต็นท์สำเร็จรูป ตั้งง่าย (ไม่รู้จะอธิบายยังไง) แต่ก็เห็นด้วยกับพี่วัฒน์ ลองดูภาพประกอบโดยมีป้าศรีเป็นนางแบบละกัน
ระหว่างรอให้ร้านทุกร้านตั้งร้านเสร็จ ด้วยความเป็นคอกาแฟและยังไม่ได้กินกาแฟเลยตั้งแต่อุดรจนเข้ามาที่ประเทศลาวเป็นเวลาสามวันแล้ว นักนิยมชมชอบกาแฟอย่างผู้เขียนก็อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นร้านกาแฟตั้งอยู่ข้างหน้า ก็เลยชวนพี่นิ รวมทั้งพี่คนโน้น พี่คนนี้เข้าไปนั่งในเต็นท์ร้านกาแฟซะเลย อาจจะมีคนอ่านบางคนบอกว่า อ้าวทำไมทีเงี้ยกินได้ แต่พอป้าศรีชวนให้กินครั้งก่อนๆ ทำไมไม่กินละ เล่นตัวหรือไง อ๊ะ อ๊ะ ยังก่อน ยังไม่เฉลย ตอนหน้าๆ ก็แล้วกันมีเรื่องเล่าเด็ด เรื่องกาแฟนี่ละ

เสร็จจากร้านกาแฟแล้ว เราก็เดินเที่ยวตลาดไนท์ ผสมผสานกับการเดินเข้าวัดที่อยู่ใกล้กัน (ชื่อวัดจำไม่ได้อะ ตอนนั้นเริ่มสนใจตลาดอย่างเดียวแล้ว แต่มีรูปภาพป้ายชื่อวัดนะ เป็นภาษาลาวอ่านเองละกัน)

เราเดินดูของที่ตลาดไนท์เป็นเวลานานโขเหมือนกัน แต่ยังไม่มีแม่ค้าคนใดควักเงินในกระเป๋าของพวกเราได้ พอได้เวลาอาหารแล้วท้องก็เริ่มร้อง พวกเราก็ต้องมารวมกลุ่มถามกันว่าจะกินข้าวเย็นประมาณไหน

"ข้อยอยากกินปลา" ให้เดาว่าใครเป็นคนพูดประโยคนี้ อืม ไม่มีใครหรอกพี่วัฒน์น่ะละ พอมีสมาชิกบอกว่าอยากกินปลา พวกเราก็เลยเดินดูอาหารที่เขาขายริมทางบริเวณตลาดไนท์ ก็จะมีร้านประเภทไก่ย่าง ปลาเผา รู้สึกว่าจะมีกุ้งเผาด้วยเปล่าไม่แน่ใจเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เราเดินผ่านร้านเหล่านี้ไปหนึ่งรอบ ก็ยังซื้ออะไรไม่ได้ พอดีข้างๆ กันเป็นซอยที่มีร้านอาหารอยู่อีกเหมือนกัน ก็เลยลองเดินเข้าไปดู ก็จะเป็นอาหารประเภท ส้มตำ ไก่ย่าง มีขนมขายด้วย และที่เห็นขายกันเยอะๆ คือไคแผ่นบรรจุถุง (ไคเป็นภาษาลาวที่เรียกสาหร่ายในน้ำโขงแล้วนำมาตากแห้งมั้ง กรรมวิธีทำไคเนี่ยไม่ค่อยรู้)


เดินไปเดินมาก็ยังไม่ถูกใจอะไรเลย ก็เลยเดินย้อนกลับมาที่นอกถนนอีกครั้ง และก็ตัดสินใจเลือกซื้อปลาเผาตัวเขื่อง และไก่ย่าง ซื้อเสร็จแล้วจะไปนั่งกินที่ไหนล่ะ เพราะที่ร้านเขาให้ซื้อห่อกลับไปบ้านไม่มีโต๊ะนั่ง สรุปก็คือถือห่อปลาเผากับไก่ย่างไปนั่งกินที่ร้านอาหารริมโขง ตอนแรกก็กระมิดกระเมี้ยนเพราะไม่แน่ใจว่าที่ร้านเขาจะให้นำอาหารจากข้างนอกเข้ามากินในร้านได้หรือเปล่า แต่ปรากฏว่าคนลาวน่ารักมากนอกจากจะไม่ห้ามแล้ว ยังนำจาน ถ้วยมาให้เราใส่ปลาเผา ไก่ย่าง และน้ำจิ้มอีกด้วย เราก็เลยสมนาคุณร้านนี้ด้วยการสั่งไข่เจียว ผัดผักรวม ข้าวผัด มาประกอบกับการกินไก่และปลาของเรา 5555
อิ่มอร่อยแล้ว ก็ได้เวลากลับที่พัก แต่ยังก่อน ราตรีนี้ยังอีกยาวนาน พี่วัฒน์ขอเป็นกรณีพิเศษ นั่นก็คือไปเที่ยวกลางคืน ฮ้า!!! พี่วัฒน์เนี่ยนะจะเที่ยวกลางคืน คือเรื่องมีอยู่ว่าพี่วัฒน์ไปรับทราบมาจากไหนว่าที่นี่มีไนท์คลับที่นำเสนอการรำวงแบบลาว (คือ show step ประเภท ชะ ชะ ช่า อะไรอย่างนี้แหละ ลองหาดูใน youtube หาคำว่า "รำวงแบบลาว" นั่นนะที่พี่วัฒน์อยากดู)
บุญก็ดีจริงๆ เลยขับรถพาพวกเราไปไนท์คลับชื่อ "ดาวฟ้า" พอไปถึงจอดรถเสร็จสรรพ พวกเราก็เดินดุ่มกันเข้าไปเลย ไม่ถามเลยว่าก่อนเข้าต้องซื้อบัตร drink อะไรหรือเปล่า พอโผล่เข้าไป โอโหมืดจังแหะข้างในน่ะ พอสายตาเริ่มปรับแสงได้ โอโฮ แม่เจ้าโวย คนจากไหนนักหนานั่น นั่งกันหัวดำดำสลอนไปหมด ไม่มีที่ว่างให้กลุ่มเราเลย พวกเราก็เลยต้องล่าถอยออกมาพร้อมด้วยสีหน้าสีตาที่ผิดหวังเล็กน้อยของคนต้นคิดที่อยากดูรำวงแบบลาว เอาน่ะพี่ช่วงนี้ก็ดูจาก youtube ไปก่อนก็ละกัน
ที่จริงกลับไปพักผ่อนเร็วก็ดี เพราะเราต้องตื่นแต่เช้ามาใส่บาตร วันนี้เหนื่อยทั้งนั่งรถและไปโน่นไปนี่มาทั้งวันแล้ว ก่อนที่เราจะกลับเข้าห้องพักของแต่ละคน เราก็นัดแนะกันว่าพรุ่งนี้เช้าเจอกันที่หน้าที่พักตอนตีห้า เพราะรู้มาว่าพระท่านออกจากวัดเช้า เอาละราตรีสวัสดิ์ ไว้เจอกันพรุ่งนี้วันมาฆบูชา



วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 6: หลวงพระบาง ลมหายใจที่อ่อนระโหยของอดีต)







"เอื้อย เอื้อย ช่วยซื้อข้าวเหนียวน้องหน่อยจ๊ะ" สิ้นเสียงเรียกซื้อสินค้าของแม่ค้าสาว พวกเราชะโงกลงไปดูสินค้าของแม่ค้าในกระจาด เห็นเป็นข้าวเหนียวดำ ดูหน้าตาน่ากิน พี่วัฒน์เลยอยากขอลองชิมว่ารสชาติเป็นยังไง เลยขอลองซื้อกินสักห่อหนึ่ง "อร๊อย อร่อย" พี่วัฒน์แกว่างั้น (แต่ทำไมในรูปทำหน้าแหยๆ งั้นก็ไม่รู้) เพื่อเป็นการยืนยันคำบอกเล่าของพี่วัฒน์ พวกเราอีกสามคนอันประกอบไปด้วย พี่อ้อย พี่หวาด และผู้เขียน (ไม่รู้พี่นิกับป้าศรีไปอยู่ไหน) ก็เลยลองหยิบข้าวเหนียวในห่อของพี่วัฒน์มาลองชิมกันบ้าง "อืม อร่อยจริงด้วยแหะ" พอได้ลิ้มรสชาติของข้าวเหนียวห่อนั้นแล้ว ก็เลยซื้อเพิ่มอีกสองห่อ ข้าวเหนียวที่ว่านั่นถ้าเป็นที่บ้านเราเขาเรียกว่าข้าวเหนียวหัวหงอก พวกเด็กๆ คงไม่รู้จักหรอก ถ้าว่ากันไปตามจริงแล้วผู้เขียนก็เด็ก :) คงจะไม่รู้จักเหมือนกัน แต่เผอิญว่าญาติผู้ใหญ่ที่บ้านชอบทำกินกันนักก็เลยรู้จัก แต่ข้าวเหนียวหัวหงอกของไทยและลาวไม่เหมือนกันตรงที่ ของไทยเราใช้ข้าวเหนียวขาวที่ไม่ได้มูน (ไม่ได้ใส่กะทินั่นละ ที่กินกับส้มตำ น้ำตกไง) แล้วใส่มะพร้าวขาวขูดสักหน่อย โรยเกลือไปอีกนิด ก็กินได้แล้ว แต่ที่ลาวเนี่ยเขาใช้ข้าวเหนียวดำผสมกะทินิดหน่อย (คงไม่ได้ใส่กะทิมากเหมือนข้าวเหนียวที่จะเอาไปกินกับมะม่วง หรือทุเรียนบ้านเรา) ใส่มะพร้าวขาวขูด (ดูจากเส้นมะพร้าวแล้วใช้ที่ขูดด้วยมือ ไม่ได้ใช้เครื่องขูดจนเส้นออกมาป่นเหมือนบ้านเรา) แต่ที่นี่โรยน้ำตาล แต่ทั้งสองอย่างเรียกชื่อเหมือนกันเลย





ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นคืออาหารว่างมื้อแรกเมื่อทันทีที่พวกเราย่างก้าวเข้ามาในหลวงพระบางเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ขณะที่นั่งมาในรถและเราเริ่มเข้าใกล้เขตพื้นที่ของหลวงพระบาง ผู้เขียนก็ยังไม่ได้เห็นบรรยากาศหรืออาคารบ้านเรือนอะไรที่แตกต่างไปจากเมืองอื่นทั่วไปตามต่างจังหวัดในบ้านเรา มองฝ่าเปลวแดดและฝุ่นควันออกไปนอกตัวรถ ก็มองเห็นประเภทร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ ร้านอาหารตามสั่งเรียงรายตามสองข้างทาง แต่ทันทีที่เราเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทั้งสภาพอาคารบ้านเรือน ผู้หญิงท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้เฒ่า ผู้แก่ยังนุ่งซิ่นเดินขวักไขว่ไปมา ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงเมื่อสมัยตอนตัวเองอายุสักหกเจ็ดขวบที่ตอนนั้นพ่อกับแม่มักจะพาลูกไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ เนื่องจากเป็นลูกคนเดียว พ่อกับแม่คงไม่อยากให้ลูกเหงาและห่างเหินจากญาติพี่น้อง ตอนนั้นดูเหมือนเราจะเป็นครอบครัวเดียวที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ นอกนั้นอยู่ต่างจังหวัดหมด ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าสมัยเด็ก ตอนปิดเทอมใหญ่จะไปอยู่บ้านยาย จนกระทั่งโรงเรียนเปิดนั่นทีเดียว ที่โน่นมีพี่น้องซึ่งเป็นลูกป้า ลูกน้าเยอะแยะ อยู่กันในบ้านแบบมีประตูบ้านเป็นบานเฟี้ยมไม้ (เด็กยุคไอทีสมัยนี้คงไม่รู้จัก) ตอนนี้ประตูแบบนี้หาดูยากแล้วในบ้านเรา ญาติพี่น้องมีบ้านอยู่ใจกลางตลาด อาคารบ้านเรือนเป็นเรือนไม้สองชั้นอายุเก่าแก่ มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ผู้เขียนกำลังซึมซับบรรยากาศได้ในขณะนี้ที่เมืองหลวงพระบาง แต่ทว่าบรรยากาศในอดีตที่น่าทรงจำแห่งนี้กำลังมีสิ่งใหม่ที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า "ความเจริญ" หรือ "civilization" ภายใต้มุมมองของวัฒนธรรมตะวันตก เข้ามาแทรกตัวปะปนอยู่กับสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นความเจริญทางด้านจิตใจมากกว่านั่นคือ "วัฒนธรรมตะวันออก"





สิ่งไรบ้างที่ผู้เขียนเห็นในหลวงพระบางแล้วอยากนำมาเล่า อาทิเช่น บ้านพักหรือ Guest House ให้เช่าเรียงรายกันเป็นทิวแถวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไหลบ่าเข้ามาในเมืองนี้ไม่เว้นแต่ละวัน นอกเหนือจากบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมที่มีจำนวนมากแล้ว ยังมีบ้านพักให้เช่าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บ้านที่เป็นที่อาศัยอยู่จริงๆ ของชาวหลวงพระบางต้องอยู่นอกๆ ออกไป จริงอยู่ว่าบ้านพักให้เช่ารายวันแบบนั้นยังคงอนุรักษ์รูปแบบสภาพการตกแต่งให้คล้ายคลึงกับวิถีของชาวเมืองหลวงพระบาง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้เขียนประทับใจและชื่นชอบโดยเฉพาะบ้านพักที่เราเข้าไปพักชื่อ วิลลาพิไลลักษณ์ แต่สิ่งที่เราเห็นกันอยู่คือบ้านพักให้เช่าเหล่านั้นมีจำนวนไม่น้อยที่เจ้าของไม่ใช่คนท้องถิ่น ดูกันง่ายๆ ที่กลุ่มของผู้เขียนพบเห็นมาด้วยตาคือ หัวมุมถนนก่อนที่จะเข้าไปในซอยบ้านพักเรา มีการปรับปรุงบ้านเก่าแก่หลังหนึ่งเพื่อปรับปรุงเป็น Guest House กลุ่มของเรามองเห็นฝรั่งหนุ่มสองคนกำลังขมีขมันก่ออิฐบล็อกหน้าที่พักหลังนั้น ซึ่งเราดูก็ทราบดีว่าเขาสองคนคงเป็นเจ้าของบ้านพักหลังนั้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะเป็นหุ้นส่วนกับคนท้องถิ่นที่จะเปิดกิจการห้องพักให้เช่าก็ได้
สิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกอะไรกับเรา แน่นอนตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนแล้วในเมืองไทยกับการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติซึ่งจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิถีของการกลืนทางวัฒนธรรม และการตกเป็นเมืองขึ้นในรูปแบบสมัยใหม่ คนในพื้นที่ต้องถอยร่นออกไปจากพื้นที่ และท้ายที่สุดก็จะไม่ผืนดินให้ยืนอยู่ สำหรับตัวผู้เขียนเองหมดความหวังกับระบบและวิธีการจัดการของประเทศไทยไปนานแล้ว อันนี้รวมไปถึงวิธีคิดของคนไทยแบบเราๆ ด้วย จริงๆ แล้วคิดว่าตนเองนั้นมิใช่คนที่มองโลกในแง่ร้าย ออกจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่ในกรณีนี้ผู้เขียนขอมองอนาคตสังคมไทยว่า อีกไม่เกินสิบปี โครงสร้างสังคมไทยจะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง คนไทยจะเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตสินค้าการเกษตรจากผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของตัว และในขณะเดียวกันคนไทยต้องบริโภคสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่สินค้านั้นผลิตมาจากประเทศไทยนั่นเอง ลองมองย้อนกลับมาที่หลวงพระบางบ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้อ่านคอลัมน์ของคุณวิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ จากหนังสือผู้จัดการเรื่อง "หลวงพระบางกำลังจะเปลี่ยนไป" โดยคอลัมน์นี้ได้กล่าวถึงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งจากของไทยเราเอง ในเรื่องการสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม สนามกอล์ฟ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง ทำให้มีการเวนคืนพื้นที่จากชาวบ้านให้ไปอยู่นอกนอกออกไปอีก ประกอบกับวิธีคิดของชาวบ้านท้องถิ่นเองที่อึดอัดใจที่ต้องบำรุงรักษาอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพเดิม รวมไปถึงแนวคิดของเด็กลาวรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะออกไปตามแนววัฒนธรรมตะวันตก สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานี้น่าวิตกเป็นอย่างมากสำหรับการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมตะวันออกที่งดงามของชาวเอเชียเรา
สำหรับในตอนนี้คงเป็นอย่างที่จั่วหัวชื่อตอนเอาไว้ว่า หลวงพระบางกำลังอ่อนระโหยโรยแรงที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อฝ่ากระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังไหลบ่าเข้ามาท่วมเมืองแห่งนี้ ตราบใดที่สังคมและปัจเจกบุคคลยังคงค่านิยมการวัดคุณค่าของความรวยด้วย "เงิน" มิใช่รวยด้วย "จิตใจและวัฒนธรรมที่งดงาม"แต่อย่างไรก็ตามคณะเดินทางของเราก็ยังซึมซับบรรยากาศความเป็นหลวงพระบางเมืองมรดกโลกได้ในหลายแง่มุม ซึ่งจะนำมาเล่าในตอนหน้า