วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เตรียมตัว backpack อีกครั้ง

ห่างหายไปนานกับการเข้ามาเขียนบล็อกของตัวเอง หายไปเป็นเดือนๆ จนแทบจะเป็นบล็อกร้างไปเลย แต่ก็ยังดีใจว่ายังมีคนหลงเข้ามาอ่านเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศซึ่งรวมถึงในแคนาดาด้วย ผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าผู้เขียนทราบได้อย่างไรว่ามีผู้อ่านจากส่วนไหนของโลกเข้ามาอ่าน ก็ขอเรียนให้ทราบเสียตรงนี้เลยว่า blogger เขามีแผงควบคุมที่แสดงให้เจ้าของบล็อกทราบสถิติคนเข้ามาชมบล็อกกับทราบถึงสถานที่ว่าผู้เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนั้นใช้คอมพิวเตอร์มาจากส่วนไหนของโลก ยังไงก็แล้วแต่ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

อันที่จริงว่าจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับแคนาดาต่อ แต่เป็นเพราะว่าช่วงนี้นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว ที่เข้ามามีส่วนทำให้ชีวิตผู้เขียนยุ่งขึ้นไปอีกคือการเตรียมตัวไป backpack อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปไกลหลายประเทศเลย และก็ไม่ใช่การเดินทางคนเดียวเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ไปกันหลายคนก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลพี่ๆ ที่ทำงานอยู่กระทรวงเดียวกันนั่นเลย




กำหนดการที่วางแผนไว้คือเดินทางไปในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เบ็ดเสร็จก็ขอลางานเฉพาะวันทำการก็สิบเอ็ดวัน แต่รวมๆ แล้วใช้เวลาไปเที่ยวยี่สิบสองวัน (เพราะมีวันหยุดพิเศษบ้าง เสาร์อาทิตย์บ้าง) สำหรับประเทศที่จะไปคืออังกฤษ ฝรั่งเศส สวิส ออสเตรีย สาธารณรัฐเชค และสุดท้ายคือฮังการี อาจจะมีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่าจะเดินทางตั้งปีหน้าโน้น ทำไมรีบร้อนเตรียมตัวกันตั้งแต่ตอนนี้ ก็เลยอยากจะแบ่งปันข้อมูลที่พอจะทราบกับประสบการณ์ที่ตัวเองเคยพบมาว่า การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในแบบฉบับของผู้เขียนที่มีงบประมาณแบบจำกัดจำเขี่ย (เป็นข้าราชการจนๆ แต่อยากไปเที่ยวยุโรปกับเขาบ้าง แบบไปเที่ยวจริงๆ ไม่ใช่ไปทำงาน) จะต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างแรกก็คือค่าใช้จ่ายยานพาหนะระหว่างประเทศ เช่น เครื่องบิน รถไฟ เหล่านี้ถ้าซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานานจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมาก

สำหรับกรณีของกลุ่มผู้เขียนนั้นในขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยเริ่มตั้งแต่การซื้อตั๋วเครื่องบินเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยซื้อตั๋วของสายการบินอียิปต์แอร์แบบ multi-destination แบบราคาถูกสุดราคาสองหมื่นเก้า (มีใครบางคนในกลุ่มร้องอุทานว่า พระเจ้า ไปยุโรปเนี่ยนะราคาสองหมื่นเก้า นั่นแนะฟังไม่ผิดหรอกสองหมื่นเก้า เงื่อนไขอะไรของสายการบินก็ดูหมดแล้ว อายุตั๋วหนึ่งปี คืนตั๋วได้ เปลี่ยนได้แต่มีค่าปรับในอัตราที่เรารับกันได้ ข้อสำคัญสายการบินนี้เขาสะสมไมล์รอยัลออร์คิดพลัสของการบินไทยได้ด้วยเพราะเป็น star alliance members แต่ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือวันเดินทางต้องไปเช็คอินล่วงหน้านานๆ หน่อย มากกว่าสองชั่วโมงได้ยิ่งดี เพราะกลัวเรื่อง over booking จริงๆ เลย ถ้าท่านผู้อ่านท่านไหนไม่ทราบเรื่อง over booking วันหลังจะนำมาเล่าให้ฟัง)




สำหรับกำหนดการก็นั่งอียิปต์แอร์ที่สุวรรณภูมิไปแวะที่ไคโรสักสองสามชั่วโมงจากนั้นก็ต่อไปฮีทโธรว์ จากนั้นอยู่เที่ยวลอนดอนกับเมืองใกล้เคียงสี่วัน จากนั้นนั่งยูโรสตาร์จากสถานีเซ็นแพนคราสของลอนดอนไปประมาณสองชั่วโมงเศษๆ เพื่อไปเที่ยวปารีส อยู่เที่ยวปารีสสามสี่วัน ต่อไปสวิสไปอินเตอลาเคนหรือเมืองใกล้เคียงเพื่อจะไปขึ้นจุงเฟรา จากจุงเฟราต่อไปซูริค เพื่อนั่งรถไฟแบบ night train เพื่อไปถึงเวียนนาในตอนเช้า แล้วออกเที่ยวเลย อยู่เที่ยวเวียนนาอีกสามวันไปปรากกับเชสกี้ครุมลอฟของประเทศเชค จากนั้นก็มาจบที่บูดาเปสต์ของฮังการี แล้วก็ขึ้นเครื่องอียิปต์แอร์ที่บูดาเปสต์นี่แหละกลับกรุงเทพฯ ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่ก็ต้องเตรียมตัวเยอะเหมือนกัน

มาถึง ณ ขณะนี้ทุกคนในกลุ่มได้รับอนุมัติวีซ่าของอังกฤษเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงซื้อตั๋วของยูโรสตาร์ในราคาที่ผู้เขียนพอใจสุดๆ คนละสามสิบเก้าปอนด์ คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ถึงสองพันบาท ตั๋วยูโรสตาร์เนี่ยเป็นสาเหตุหลักเลยที่ผู้เขียนต้องรีบดำเนินการอะไรต่อมิอะไรล่วงหน้านานๆ เพราะราคาค่าตั๋วจะเขยิบสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไปซื้อใกล้วันเดินทาง ราคาเป็นหมื่นบาทก็ยังเคยเห็น



ดังนั้นเลยต้องขออภัยสำหรับบางท่านที่อาจจะอยากอ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับแคนาดา คงต้องขอติดเอาไว้ก่อน คงจะไม่เกินเดือนหน้าการเตรียมตัวเรื่องการเดินทางครั้งนี้น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้เยอะ และทำให้ผู้เขียนมีเวลาแบบสบายๆ มานั่งเขียนเล่าเรื่องความประทับใจในช่วงเวลาที่อยู่ที่แคนาดา รวมทั้งในปีหน้าอาจจะมีประสบการณ์การเดินทางครั้งใหม่มาเล่าสู่กันฟังอีกก็ได้





photos credit to: http://www.showded.com/myprofile/mainblog.php?user=pimaksorn&jnId=67006, http://www.arabiansupplychain.com/article-4262-egyptair-to-commence-copenhagen-flights/, http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?p=54393857

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทรงพระเจริญ (Long Live My Beloved King)




ทรงพระเจริญ Long Live My Beloved King

หมายเหตุ:ช่วงนี้ผู้เขียนไม่ค่อยมีเวลาว่างมาอัพเดทบล็อกเลย เพราะนอกจากจะยุ่งเรื่องงานแล้ว ยังมีแผนการที่จะเป็นหัวหน้าแบ็คแพ็คเกอร์เพื่อไปยุโรปกับบรรดาพี่ๆ ในกระทรวงแรงงานในเดือนมีนาคมปีหน้า ก็เลยวุ่ยวายอยู่กับการเตรียมจัดการหลายอย่าง เลยยังไม่มีเวลามานั่งเขียนเรื่องการใช้ชีวิตที่แคนาดา คงต้องประมาณปลายเดือนนี้น่าจะเข้าที่เข้าทางแล้วมีเวลามาเขียนอะไรต่อมิอะไร แต่อย่างไรก็ตามถึงจะไม่มีเวลากับบล็อกตัวเองนัก แต่ที่ขาดไม่ได้คือการเขียนถึงพระเจ้าอยู่หัวอันเนื่องเป็นคล้ายวันพระราชสมภพของท่าน โดยมีพระชนมายุครบ ๘๓ พรรษาแล้ว ผู้เขียนเห็นท่านมีพระพักต์สดชื่นแจ่มใสดีก็รู้สึกดีใจอย่างมากแล้ว ในวาระที่เป็นมงคลเช่นนี้พรใดที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ ได้แก่

"บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นร่มเย็นปกติสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ และต่างร่วมมือร่วมมือร่วมแรงใจกันทำหน้าที่โดยนึกถึงประโยชน์ ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด ท่านทั้งหลายในสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่า จึงควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่าง และนำไปปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะการกระทำโดยประมาท ขาดความรอบคอบ เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด เสียหายในหน้าที่และการกระทำโดยขาดสติยั้งคิด ขาดเหตุผล เป็นเหตุให้เกิดหลงลืมความกลัว ทำให้กระทำสิ่งที่มิใช่หน้าที่โดยชอบได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก อาจจะนำความเสื่อมสลายมาสู่ตนเองตลอดทั้งประเทศชาติได้ จึงขอให้ทุกคน ได้สังวรณ์ระวังให้มากและประคับประคองกาย ใจ ให้เที่ยงตรง หนักแน่น ในอันที่จะปฏิบัติภารกิจตามเหตุผลของตนให้ถูกต้องตามหน้าที่ เพื่อความมั่นคงและเพื่อประโยชน์สุขอันยั่งยืนของชาติไทยเรา

ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านให้ปราศจากทุกข์ปราศจากภัยและอำนวยสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลให้สำเร็จผลขึ้นแก่ท่านทั่วหน้ากัน”


ผู้เขียนที่ในฐานะพสกนิกรและข้าราชการที่หมายความถึงข้าของพระราชา ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมในการนำพระบรมราโชวาทดังกล่าวมาปฏิบัติเพื่อการเป็นข้าราชการที่ดี รวมทั้งขอถวายพระพรนั้นกลับคืนแก่พระองค์ท่านให้เป็นร้อยเท่าทวีคูณ "ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คนไทยเคารพนับถือ รวมทั้งพระสยามเทวาธิราช จงปกปักรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน"

photo credit to Manager Online

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 18: อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน (แม้จะเป็นคนชาติเดียวกันก็เถอะ)

เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่มักจะเกิดขึ้นในแคนาดา พอเล่ามาถึงตอนนี้แล้วก็เลยอยากจะเล่าให้ต่อเนื่องถึงภัยอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือภัยที่มาจาก "คน"

เปล่า ในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้กำลังจะเล่าถึงภัยที่มาจากคนเชื้อชาติ สัญชาติแคนาดาแต่อย่างใด แต่เป็นเชื้อชาติและสัญชาติเดียวกันกับผู้เขียนและผู้อ่านทุกท่านก็คือ "คนไทยเรานั่นเอง"

ตลอดเวลาที่อยู่ที่แคนาดาผู้เขียนไม่เคยรู้สึกวิตกกังวัลเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมที่มีที่มาจากคนแคนาดาเลย เป็นเพราะว่าแคนาดาเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ดังนั้นเมื่อช่วงใดช่วงหนึ่งที่เกิดคดีอาชญากรรมขึ้นมา ไม่ว่าคดีนั้นๆ จะ้เกิดขึ้นที่ใดในประเทศ จะได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวขานโจษจันกันอย่างมากในสังคมของแคนาดา อย่างเช่น คดีฆาตกรรมนักศึกษาชาวไต้หวันในโตรอนโต มณฑลออนตาริโอ คนที่มณฑลบริติชโคลัมเบีย ซึ่งอยู่กันคนละฟากกับมณฑลออนตาริโอ ก็นำคดีนี้ไปโจษขาน เป็น talk of the town อยู่นานเชียวละ เพราะประเทศเขาไม่ค่อยคุ้นเคยกับคดีฆ่าโหดๆ แบบนี้ แต่้ถ้าเป็นบ้านเรา ขึ้นหน้าหนึ่งวันเดียว วันรุ่งขึ้นมีคดีใหม่ให้ได้รับความสนใจกันอีกแล้ว ดังนั้นเวลาที่ผู้เขียนไปไหนต่อไหนมา แล้วกลับบ้านดึกมากๆ บางทีเดินคนเดียวตอนดึกๆ บนถนนที่มีแค่ไฟสลัวๆ ก็ไม่ค่อยรู้สึกกลัว หรือกังวลแต่อย่างใด

แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ขอบอกว่าเป็นประสบการณ์หนึ่งที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าท่านใดที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศอย่างผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามจะได้ระมัดระวังกันไว้

เมืองที่ผู้เขียนไปใช้ชีวิตอยู่คือเมืองแบร์รี่ ซึ่งอยู่ห่างจากโตรอนโตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณเก้าสิบกิโลเมตร





ด้วยความที่ว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ค่อยใหญ่นัก และเมืองนี้ไม่ได้เน้นไปในเรื่องการทำธุรกิจ แต่จะไปเน้นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะมีทะเลสาปและก็สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมืองมาตากอากาศเวลาหน้าร้อน และมาเล่นสกีตอนหน้าหนาว ดังนั้นแบร์รีก็เลยไม่มีสังคมชาวไทยไปทำธุีรกิจจำพวกร้านอาหารอะไรทำนองนี้ ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่โตรอนโตกัน ดังนั้นผู้เขียนพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าในเมืองนี้ทั้งเมืองมีคนไทยอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นคือตัวผู้เขียนเอง ในช่วงเวลานั้นร้านอาหารของคนเอเชียมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นร้านคนจีนและเกาหลีที่มีอยู่ตามฟู้ดคอร์ทในห้างสรรพสินค้า รสชาติก็พอประทังไปได้ ทั่วทั้งเมืองมีร้านอาหารไทยอยู่ร้านเดียวชื่อร้าน "Royal Thai Cuisine" และก็ไม่ใช่ร้านของคนไทยแต่เจ้าของเป็นคนลาว

ร้านที่ว่านี้ตั้งอยู่ห้าแยกกลางใจเมือง หรือที่ชาวเมืองที่นี่เรียกว่า five points ซึ่งเป็นทำเลที่ดีมาก อาคารบริเวณนี้เป็นอาคารเก่าแก่ที่รัฐบาลเขาอนุรักษ์เอาไว้ โดยเมื่อปลายปี ค.ศ. 2007 อาคารแถวนี้รวมทั้งร้านอาหารไทยร้านนี้ด้วยโดนไฟไหม้หมด โดยต้นเพลิงตามข่าวของ CBC บอกว่ามาจากครัวร้านอาหารไทยแห่งนี้



ภาพข้างล่างเป็นบริเวณ 5 points ก่อนถูกไฟไหม้ จะสังเกตเห็นว่าร้านอาหารไทยตั้งอยู่ตรงหัวมุม


ร้านอาหารไทยที่ว่าผู้เขียนไปใช้บริการเป็นบางครั้งบางคราว เวลาที่คิดถึงอาหารที่บ้าน แรกเริ่มเดิมทีเจ้าของร้านที่เป็นชาวลาวเขาทำหน้าที่สองตำแหน่งคือเจ้าของร้าน กับพ่อครัว โดยมีลูกสาวเป็นคนเสริฟ หลังๆ ที่สังเกตเห็นเมื่อมีแขกมาใช้บริการมากขึ้น เขาก็เริ่มจ้างนักศึกษา Georgian มาเป็นพนักงานเสริฟ ซึ่งต่อมาตาคนพ่อเริ่มจะทำอาหารไม่ทันลูกค้า เพราะมีทั้งลูกค้าที่นั่งทานที่ร้าน และก็ take out เอาเป็นว่าขายดีจนทำไม่ทัน เขาก็จ้างคนครัวเพิ่มอีกคนซึ่งเป็น "คนไทย"

"คนครัวคนไทย" คนนี้มาทำงานที่ร้านอาหารไทยแห่งนี้หลังจากที่ผู้เขียนอยู่ที่แบร์รีได้เกือบครึ่งปีเห็นจะได้ เป็นอันว่าช่วงเวลานี้เมืองนี้ก็มีคนไทยสองคนคือผู้เขียนกับ "คนครัว" คนนี้ ช่วงแรกที่ได้พบกันก็เป็นความรู้สึกเหมือนคนทั่วไปที่จากบ้านเกิดมา แล้วมาพบคนบ้านเดียวกันย่อมจะดีใจพูดคุยกันถูกคอ ดีใจที่มีโอกาสได้พูดภาษาไทยกับคนอื่นได้บ้าง แรกๆ ก็คุยกันเรื่องทั่วๆ ไป สอบถามกันว่าเป็นใครมาจากไหน บ้านอยู่จังหวัดอะไร มาทำอะไรที่นี่ บทสนทนาก็จะเป็นประมาณนี้

พอหลังๆ เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น รวมทั้ง "คนครัว" คนนี้เริ่มมารู้ว่าผู้เขียนชอบไปนิวยอร์กบ่อยๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ "คนครัว" คนนี้ก็เริ่มสนใจไถ่ถามว่าผู้เขียนไปทำอะไรที่นิวยอร์กบ่อยๆ ตัวเขาเองก็อยากจะเข้าอเมริกาเหมือนกัน เพราะว่ามีญาติอยู่ที่เมืองอะไรสักแห่ง ผู้เขียนเองก็จำที่เขาบอกไม่ได้แล้ว ทำไปทำมาตอนหลังๆ "คนครัว" คนนี้ก็เริ่มนำพฤติกรรมของเจ้าของร้านชาวลาวมาเล่าให้ผู้เขียนฟังประมาณว่าเป็นไปในเชิงลบ แล้วก็เปรยๆ ว่าอยากจะลาออกแล้วไปอยู่กับญาติที่อเมริกาที่อยู่ที่เมืองที่ว่านั่น

พอท้ายสุดเขาก็มาขอร้องให้ผู้เขียนพาเขานั่งรถไปส่งเข้าประเทศอเมริกา โดยผ่านแดนที่เมืองบัฟฟาโลที่ผู้เขียนเดินทางเข้าออกเป็นประจำ โดยเขาจะเป็นคนออกค่าเดินทางเอง ผู้เขียนก็ถามกลับไปว่า ตัวเขาจะเข้าได้หรือ มีวีซ่าเข้าอเมริกาหรือเปล่า เขาก็ยังยืนยันบอกว่าไม่มีปัญหา ขอให้เห็นใจว่าเป็นคนไทยด้วยกันอะไรประมาณนี้

บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นผู้เขียนเองไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ยังน้อย แค่คิดว่าไปส่งเข้าชายแดนก็พอแล้ว ไหนๆ ก็คนไทยด้วยกัน ซึ่งพอมานั่งนึกตอนนี้ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่า แม้แต่วีซ่าเข้าประเทศแคนาดาของ "คนครัว" คนนี้ เป็นประเภทไหนกันแน่ เพราะถ้าเป็นวีซ่าท่องเที่ยวแล้วแอบมาทำงานแบบนี้โดนแน่

ผลสุดท้ายก็คือว่าก็นั่งรถบัสเกรย์ฮาวน์จากโตรอนโตไปด้วยกัน พอไปถึง immigration ของฝั่งแคนาดาทุกคนต้องลงจากรถเพื่อไปแสดงตัวและเอกสารผ่านพิธีการออกเมือง ซึ่งตรงนี้ก็ผ่านไปได้ ผู้เขียนก็ไม่ทันได้เฉลียวใจว่าวีซ่าเข้าแคนาดาของคนๆ นี้ เป็นแบบเข้าออกครั้งเดียว หรือหลายครั้ง ถ้าเข้าออกได้ครั้งเดียวนั่นหมายถึงคนๆ นี้จะเข้าแคนาดาไม่ได้อีก พอมาถึงวันนี้ และตรงนี้ก็เกิดคำถามในใจอีกว่า แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ immigration ของแคนาดาไม่ตรวจสอบว่า "คนครัว" คนนี้มีวีซ่าเข้าอเมริกาหรือเปล่า แต่สรุปก็คือ "คนครัว" คนนี้ผ่านพิธีออกเมืองจากฝั่งแคนาดาไปเรียบร้อยแล้ว

พอรถแล่นผ่านไปได้อีกสักหน่อย ก็ถึง immigration ฝั่งอเมริกา ผู้เขียนกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ก็ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง โดยทุกอย่างผ่านไปด้วยดีไม่มีอะไร พอมาถึง "คนครัว" คนนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็พลิกดูพาสปอร์ต พลิกไปพลิกมา แล้วก็ถามว่าวีซ่าเข้าอเมริกาไม่เห็นมี เขาก็เลยซัก "คนครัว" คนนี้ใหญ่เลย สุดท้ายเป็นอันว่าเขาก็ไล่กลับมาฝั่งแคนาดา







ก็เลยต้องกลับมาฝั่งแคนาดา โดยผู้เขียนก็ต้องตามมาด้วย ตอนนั้นผู้เขียนก็เริ่มไม่ไว้วางใจแล้วว่า คนคนนี้จะมาไม้ไหน จะลักลอบเข้าฝั่งอเมริกาแบบผิดกฏหมายหรือเปล่า ทีนี้พอมาถึง immigration แคนาดาที่เำพิ่งผ่านออกไปเมื่อสักครู่ คราวนี้ละเรื่องใหญ่ เขาซักทั้ง "คนครัว" คนนี้ กับผู้เขียนเป็นการใหญ่ เขาถามว่าผู้เขียนรู้จักคนๆ นี้อย่างไร แล้วทำไมจะไปอเมริกาถึงไม่มีวีซ่า เป็นคนชักชวนให้เข้าไปหรืออะไรทำนองนี้ แล้วก็ถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน คราวนี้ผู้เขียนนึกถึงพ่อแก้วแม่แก้วพร้อมกับคิดไปว่า "ซวยแล้ว สงสัยงานเข้า คงสงสัยว่าเราเป็นคนชักชวนให้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายแน่เลย"

ผู้เขียนก็อธิบายตามความเป็นจริง ตั้งแต่เริ่มต้นว่ารู้จักคนๆ นี้ยังไง แล้วเขาขอร้องให้ทำอย่างนี้ โดยผู้เขียนไม่ได้รู้เห็น และก็ไม่ได้รู้เจตนาที่แท้จริงของคนๆ นี้เลย ใช้เวลาอธิบายความจริงไปพักใหญ่ ประกอบกับพาสปอร์ตของผู้เขียนเป็นพาสปอร์ตราชการ เจ้าหน้าที่เขาอาจคิดว่าที่พูดมาทั้งหมดเป็นความจริงก็ได้มั้ง เขาก็เลยปล่อยให้ผู้เขียนกลับเข้าไปฝั่งแคนาดา โดยที่ไม่ได้ทำอะไรหรือบันทึกอะไรไว้เป็นหลักฐาน พอออกมาได้ผู้เขียนก็รีบเดินทางกลับเลย ไม่สนใจว่า "คนครัว" นั่นจะเป็นยังไง

พอมาถึงตรงนี้ก็มานั่งนึกหวาดเสียวว่า ถ้าวันนั้นเจ้าหน้าที่เขาไม่เชื่อ แล้วเขาทำเรื่องอะไรต่อมิอะไร ชะตาชีวิตของตัวเองจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ เป็นเพราะหลวมตัวไว้วางใจคนที่มาจากประเทศเดียวกันนี่เอง เรื่องนี้ก็เลยเป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน แม้จะเป็นคนไทยเหมือนกันก็ตามที

ผู้เขียนหวังว่าเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดคงจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้อ่านหลายๆ ท่านที่ทั้งอยู่ที่ต่างประเทศแล้วและที่กำลังจะไป ให้ได้เกิดความระมัดระวัง ไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ เพราะบางทีในเวลาที่เราอยู่ต่างประเทศแล้วได้พบกันคนไทยด้วยกัน ความไว้วางใจบางครั้งบางคราก็เกิดขึ้นได้ง่าย โดยที่เราไม่ทันคิดหน้าคิดหลังให้ดี ถ้าคนนั้นดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีความซวยก็จะมาถึงตัวอย่างที่ผู้เขียนพบเจอมาแล้ว




http://www.peacebridge.com/images/PBAbuilding.jpg

video credit to youtube by Mediascrape

photos credit to http://en.wikipedia.org/wiki/File:Barrie_in_relation_to_North_America.png,
http://mw2.google.com/mw-panoramio/photos/medium/3401163.jpg, http://cdn.wn.com/pd/b0/04/154939319aaaffc8fedab943f057_grande.jpg,http://www.peacebridge.com/images/PBAbuilding.jpg

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 17: นักเรียนต่างชาติกับภัยธรรมชาติในท้องถิ่น

เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวที่โด่งดังมากที่สุดที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติในต่างประเทศเห็นจะไม่พ้นข่าวแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิส์ช ในประเทศนิวซีแลนด์ เมืองการศึกษาที่มีนักเรียนต่างชาติรวมทั้งนักเรียนจากประเทศไทยไปเรียนต่อกันจำนวนมาก ผู้เขียนคิดว่ามีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในประเทศที่ตนเองไปศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพายุทอร์นาโด พายุหิมะ แผ่นดินไหว เหตุหนึ่งเพราะว่าไม่มีความคุ้นเคยกับภัยธรรมชาติเหล่านั้น

บ้านเมืองเราจะว่าไปโชคดีมากมายนักที่ไม่มีภัยธรรมชาติแบบนั้น ที่จะพบบ่อยก็เป็นประเภทน้ำท่วม โคลนถล่ม ถึงจะมีที่รุนแรงที่เกิดขึ้นไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมาคือสึนามิที่ภาคใต้ แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก เรียกว่าครั้งหนึ่งในช่วงพระจันทร์มีสีฟ้า ที่แปลตรงตัวตามสำนวนอังกฤษที่ว่า "once in a blue moon" :) เพราะเหตุนั้นทำให้เราคนไทย รวมทั้งภาครัฐไม่ตระหนักที่จะเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมกับการมาของภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับอานุภาพทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้าได้

ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่ว่ามานั่นแหละ เมื่อเดือนแรกที่ไปถึงแคนาดาเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อน ถ้าใครคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในอเมริกา แคนาดา จะทราบดีว่าหน้าร้อนในประเทศอเมริกาเหนือ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดจะเป็นอะไรไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่พายุทอร์นาโด หรือที่เรารู้จักกันว่าทวิสเตอร์ แค่ไปอยู่ได้ไม่ครบเดือนเลยผู้เขียนก็ต้องรับรู้ถึงความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินของชาวแคนาดาที่อยู่เมืองใกล้เคียงจากทอร์นาโด ดีที่ว่าคืนวันเกิดเหตุไอ้เจ้าพายุนี้มันไม่ได้ตรงดิ่งมาเมืองที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ แต่ก็เฉียดๆ ไปถล่มเมืองใกล้เคียง ที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า "touch down" รุ่งเช้าตื่นขึ้นมาถึงเพิ่งรู้ว่ามีพายุนี้เกิดขึ้นมา

ตามปกติหน่วยงานที่ทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ และสำนักงานเตือนภัยของรัฐบาลเขาจะมีประกาศเตือนประชาชนเสมอ หากคาดการณ์ว่าจะมีภัยธรรมชาติพวกนี้เกิดขึ้น เขาจะประกาศเตือนในวิทยุ โทรทัศน์ให้ประชาชนเตรียมพร้อม ไม่ว่าท่านจะอยู่บ้านกำลังชมโทรทัศน์อยู่ หรือกำลังซื้อข้าวของอยู่ที่ตามห้าง หรือขับรถอยู่ เขาก็จะมีการประกาศเตือนภัยออกอากาศในทีวีหรือในวิทยุตามตัวอย่างข้างล่าง




อย่างไรก็แล้วแต่ คนแคนาดาเองก็วิจารณ์ระบบเตือนภัยของประเทศตัวเองว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่แม่นย่ำและก็ดีเท่ากับของสหรัฐอเมริกา อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่ชิคาโก หน่วยงานที่คอย monitor การก่อตัวของพายุทอร์นาโดตรวจได้ว่าจะเกิดทอร์นาโด เรียกว่ากลางใจเมืองชิคาโกเลย ซึ่งระบบการเตือนภัยของอเมริกาดีมาก มีไซเรนเตือนให้ประชาชนทราบทั้งเมืองเลย





ถ้าคนที่พักอาศัยในบริเวณที่เขาเตือนภัยก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ให้หลบภัยบริเวณชั้นใต้ดินของบ้านพร้อมกับเตรียมข้าวของที่จำเป็นในกรณีที่ระบบน้ำไฟไม่มีบริการ ดูดูไปชีวิตของประชาชนในประเทศเหล่านี้ก็น่าลำบากอยู่เหมือนกัน ผิดกันกับบ้านเราที่การเตือนภัยสำหรับภาวะฉุกเฉินหรือ emergency alert เกี่ยวกับภัยธรรมชาติรุนแรงไม่ค่อยมีเท่าไหร่ จะมีก็แต่ภาวะฉุกเฉินที่มีมาจากภัยของกลุ่มสิ่งมีชิวิตที่ทั้งไม่ฉลาด และเป็นคนไม่ดีที่ชอบใส่เสื้อแดง และมีคนหน้าเหลี่ยมบงการให้เผาเมืองไทยมาสองรอบแล้ว โดยที่รัฐบาลก็มี emergency alert มาทั้งสองครั้งเหมือนกัน พูดเรื่องภัยธรรมชาติอยู่ดีดีทำไมวกมาเรื่องนี้จนได้ พูดถึงไอ้ตัวประหลาดหน้าสี่เหลี่ยมกับแก๊งค์มันแล้วของขึ้น เล่าเรื่องภัยธรรมชาติต่อดีกว่า

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ที่ผู้เขียนได้ยินข่าวว่ามีพายุทอร์นาโดที่เมืองมิดแลนด์ (Town of Midland) ทำให้บ้านเรือนเสียหายเยอะมาก เมืองมิดแลนด์นี้ถ้าไม่นับ Barrie กับ Toronto ก็ถือว่าเป็นเมืองที่ผู้เขียนไปบ่อยอยู่เหมือนกัน เหตุผลหนึ่งที่นอกเหนือจากมี Georgian College, Midland Campus ตั้งอยู่แล้ว เมืองมิดแลนด์ที่สังกัด Simcoe County ก็ยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่มากพอสมควร และก็อยู่ไม่ไกลจาก Barrie มาก แค่ประมาณห้าสิบกิโลเมตรเท่านั้น



เห็นคุณป้าที่ประสบภัยที่ให้สัมภาษณ์นักข่าว ทำให้รู้สึกคิดถึงคุณป้าเจ้าของบ้านที่ผู้เขียนเคยไปพักอาศัยอยู่ด้วยจัง เห็นสภาพบ้านเรือน ข้าวของที่พังเสียหายแล้วก็น่าสลดใจเหมือนกัน คุณป้าแกก็ให้สัมภาษณ์แบบปลงๆ ว่ามันเป็นภัยธรรมชาติจะทำไงได้

พอเข้าหน้าหนาวก็อย่านึกว่าจะสบายกว่าหน้าร้อน คิดว่าหน้าหนาวมีหิมะดูโรแมนติก สวยงามอะไรประมาณนั้น บางครั้งบางคราวต้องเผชิญกับพายุหิมะ ถ้ารุนแรงมากฝรั่งเขาจะเรียกว่า blizzard อย่างที่ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังตอน Macpacker ที่ว่าไปติดพายุึหิมะที่วอชิงตันดีซี เกือบจะกลับแคนาดาไม่ได้ และอีกครั้งหนึ่งก็อยู่ที่ Barrie นั่นแหละเป็นช่วงกลางเดือนมกราคม พายุหิมะถล่มเมืองซะจนร้านค้า โรงเรียน ปิดทำการ สำหรับประชาชนตามบ้าน ต้องออกมากวาดหิมะออกจากประตูบ้านไม่งั้นจะเดินทางเข้าออกลำบาก ตัวผู้เขียนก็ต้องมีหน้าที่กวาดหิมะออกจากหน้าบ้านเหมือนกัน เพราะคุณป้าแกแก่แล้วจะให้ทำเองได้ไง แถมเครื่องมือยังเป็นแบบ mannual ก็ต้องออกแรงตักมากขึ้นไปอีก บางบ้านใช้เครื่องกวาดหิมะ ก็เลยทุ่นแรงไปหน่อย ถ้าจะว่าไปแถบเมืองในออนตาริโอที่มีพื้นที่ติดกับทะเลสาป จะเป็นพื้นที่ีที่มีหิมะตกหนักและมีพายุหิมะเข้าบ่อย เพราะแถบๆ นี้เขาเรียกว่าเป็น "snowbelt"

พื้นที่ที่เป็น snowbelt ก็จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตอเมริกาเหนือที่อยู่ใกล้เคียงกับทะเลสาป อย่างในอเมริกาก็มีแถวบริเวณใกล้ทะเลสาปมิชิแกน เป็นต้น และเมืองเหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเล่นสกี อย่างใน Barrie ก็มีสกีรีสอร์ทที่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นสกีกันเยอะเหมือนกัน คุณป้าก็เคยพาผู้เขียนไปดูเขาเล่นสกีที่รีสอร์ทเหล่านั้นเหมือนกัน

สำหรับผู้ที่คิดว่าหิมะในหน้าหนาวในประเทศแคนาดาน่าจะดูโรแมนติก ลองดูเหตุการณ์ข้างล่างนี้ท่านอาจจะเปลี่ยนความคิด ลองดูความหนาของหิมะบนพื้นถนนที่มีหิมะตกอยู่ตลอดเวลา จนทำให้รถบัสอย่าง Barrie Transit ซึ่งเป็นพาหนะที่ผู้เขียนใช้อยู่ประจำระหว่างที่อาศัยอยู่ใน Barrie ติดหล่มของหิมะทำให้เคลื่อนตัวไปไม่ได้



ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าสำหรับคนไทยอย่างเราๆ ที่ิคิดจะไปอยู่เมืองนอกไม่ว่าจะไปศึกษาต่อ หรือทำงานก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพสังคมของประเทศที่เราจะไปอยู่ ต้องศึกษาสภาพการใช้ชีวิตของคนในประเทศของเขา และก็ปฏิบัติให้เหมือนเขาอย่างที่ภาษาอังกฤษเขามีสำนวนที่ว่่า "When in Rome,do as the Romans do" เราจะได้อาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขตามอัตภาพ

video credit to youtube by pplk23, ferris2583, rolls283

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 16: explore the world with the national flag carrier



ในจำนวนสายการบินพาณิชย์ชาติต่างๆ ที่มีนับพันที่บินกันให้ไขว่อยู่บนฟ้าตอนนี้ การบินไทยก็เป็นสายการบินหนึ่งที่มีเส้นทางการบินอยู่ทั่วทุกมุมโลก ถึงแม้ว่าจะไม่ครอบคลุมหลายเส้นทางอย่างสายการบินของประเทศใหญ่ๆ ใครจะคิดอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างภูมิใจที่ประเทศเรามีสายการบินของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ การบินไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสายการบินที่ดีที่สุดในโลกของปีนี้ จาก "Skytrax" รวมทั้งปีที่ผ่านๆ มาการบินไทยก็เป็นสายการบินที่ติดอันดับหนึ่งในสิบสายการบินที่ดีที่สุดมาโดยตลอด

worldairlineawards.com/main/2010Awards.htm

การเดินทางไปตามที่ต่างๆ ที่ผ่านมา ผู้เขียนใช้บริการสายการบินแห่งชาติมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการเดินทางไปราชการมีข้อกำหนดว่าต้องใช้บริการการบินไทยเท่านั้น น้อยครั้งที่จะเดินทางด้วยสายการบินของชาติอื่นด้วยเหตุผลที่ว่าหน่วยงานของต่างประเทศสนับสนุนงบประมาณ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับรู้สึกดีและสบายใจทุกครั้งที่เดินทางไปกับสายการบินของชาติตัวเอง สำหรับการเดินทางไปแคนาดาครั้งนี้ การบินไทยก็ยังคงเป็นพาหนะที่พาผู้เขียนได้ไปเรียนรู้และเห็นโลกกว้าง ถึงแม้ว่าจะไปส่งแค่ลอสแองเจลลิส แล้วให้สายการบินพันธมิตรอย่าง Air Canada ส่งต่อจนถึงจุดหมายปลายทางที่โตรอนโต

ไม่ทราบว่าผู้อ่านคนอื่นๆ จะมีความรู้สึกอย่างเดียวกันกับผู้เขียนหรือเปล่าที่ว่า เวลาที่เราจากบ้านไปอยู่ต่างชาติต่างถิ่นเป็นเวลานาน แค่ได้เห็นสิ่งไหนที่เป็นสัญญลักษณ์ของบ้านเรา ความคิดถึงบ้านมันจะพลุ่งพล่านขึ้นมาทันทีทันใด อยากกลับให้ถึงบ้าน ณ นาทีนั้นเลย ตอนเที่ยวกลับจากแคนาดาผู้เขียนมาแวะเปลี่ยนเครื่องที่เทอร์มินัล Tom Bradley ของสนามบินลอสแองเจลลิส แค่ได้เห็นโลโก้เจ้าจำปีบนเครื่องการบินไทยก็รู้สึกคิดถึงบ้านคิดถึงประเทศไทยมากยิ่งขึ้น สมัยนั้นกว่าจะเดินทางกลับจากลอสแองเจลลิสมาถึงประเทศไทยต้องขึ้นเครื่องมาสองต่อ ต้องแวะที่ญี่ปุ่นไม่ที่นาริตะ ก็โอซาก้าก่อน ถึงจะนั่งเครื่องจากญี่ปุ่นมาถึงเมืองไทยได้ ตอนนี้การบินไทยเขาพัฒนาแล้ว โดยซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ทั้งแอร์บัส A340 และโบอิ้ง 777 ที่มีศักยภาพการบินได้ไกลกว่าเดิม รวมทั้ง cabin ก็ดีขึ้นกว่าเดิม ที่นั่งกว้างขึ้น และมีจอดูหนังส่วนตัวในแต่ละที่นั่ง ตอนนี้การบินไทยเลยสามารถใช้เครื่อง A340 บินตรงจากลอสแองเจลลิสมาถึงกรุงเทพฯ ได้เลย โดยใช้เวลาบินประมาณ 16 ถึง 18 ชั่วโมง (ช่างเป็นการนั่งเครื่องบินที่ยาวนานจริงๆ)

ก็ขอยินดีกับการบินไทยที่ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินท็อปเทนของโลก รวมทั้งขอชื่นชมความตั้งใจในการทำงานของพนักงานการบินไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานการบินไทย "พันธมิตรรักคุณเท่าฟ้า" และความเข้มแข็งของประธานสหภาพฯ ของการบินไทย ที่ทำให้เกิดสิ่งดีดีสำหรับการบินไทยและประเทศไทย



video credit to youtube by TheTGLover

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Mama

Long Live Her Majesty. And happy on Mother Day for All

She used to be my only enemy and never let me be free
Catching me in places that I knew I shouldn't be
Every other day I crossed the line I didn't mean to be so bad
I never thought you would become the friend I never had
Back then I didn't know why
Why you were misunderstood
So now I see through your eyes
All that you did was love
Mama I love you.Mama I care
Mama I love you . Mama my friend. You're my friend
I didn't want to hear it then but I'm not ashamed to say it now
Every little thing you said and did was right for me
I had a lot of to think about,about the way I used to be
Never had a sense of my responsibility
Back then I didn't know why
Why you were misunderstood
So now I see through your eyes, all that you did was love
Mama, I love you. Mama, I care
Mama, I love you. Mama ,my friend. You're my friend
But now I'm sure I know why,
Why you were misunderstood
So now I see through your eyes
All I can give you is love is love
Mama I love you. Mama, I care
Mama, I love you. Mama, my friend,You're my friend
Mama, I love you, Mama ,I care
Mama, I love you, Mama, my friend, You're my friend



video credit to youtube by MelCforever1
"Mama" lyrics credit to http://www.lyrics007.com/Spice%20Girls%20Lyrics/Mama%20Lyrics.html

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 15: กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง



ชีวิตหนึ่งวันของน้องแดเนียลใน Georgian College Barrie Campus ในคลิปวีดีโอข้างบน ก็คล้ายๆ กับชีวิตในหนึ่งวันใน Georgian College ของผู้เขียนเหมือนกัน เพียงแต่น้องแดเนียลนั่นคงจะเรียนระดับ diploma แต่ของผู้เขียนเรียน post grad. ในคลิปจะเห็นสภาพโดยทั่วๆ ไปของ Georgian College ตั้งแต่ในหอพักนักเรียนหรือที่เรียกว่า "residence" หรือสนามหญ้าระหว่างตึกเรียนกับผับที่นักเรียนชอบมานั่งสังสรรค์กันหลังเลิกเรียน เขาก็เลยตั้งชื่อผับว่า "the Last Class"

สถานที่โปรดใน Georgian College ของผู้เขียนตอนไม่มีชั่วโมงเรียนก็มีไม่กี่ที่ นอกเหนือจากการสั่ง timbits รสชาติอร่อยๆ กับกาแฟสักถ้วยจากคีออส (kiosk) ของ Tim Hortons มานั่งกินมุมสงบในคาเฟทีเรียแล้ว ก็ยังชอบใช้เวลานานๆ ในห้องคอมพิวเตอร์เพื่อทำการบ้านบ้างหรือไม่ก็จะท่องอินเตอร์เน็ต คอยเช็คข่าวทางบ้าน

แต่อีกที่หนึ่งที่ต้องคอยแวะเวียนไปสม่ำเสมอ แม้จะอยากหรือไม่อยากไปก็คือ peer service หรือ counselling services หรือแผนกที่ปรึกษาของนักศึกษา แรกๆ ที่ไปถึงผู้เขียนต้องไปที่แผนกนี้ค่อนข้างบ่อย เพราะเขาเกรงว่านักเรียนต่างชาติจะปรับตัวไม่ได้ในระยะแรกๆ ที่เขาเรียกว่าความรู้สึกสับสนทางวัฒนธรรม หรือ culture shock ดังนั้นเขาเลยต้องมีนักจิตวิทยาประจำแผนกที่ปรึกษาไว้คอยพูดคุยกับนักเรียน คอยสังเกตอาการเพราะบางคนก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเกิดอาการ culture shock

ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่มีเจ้าหน้าที่ประจำแผนก peer service ท่านหนึ่งให้ความสนใจความเป็นอยู่ของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตกับ host family เรื่องชีวิตในห้องเรียน หรือเรื่องความสัมพันธ์กับอาจารย์และเพื่อนในชั้นเรียน ผู้เขียนรู้สึกว่า College เขาคัดเลือกคนมาำทำหน้าที่ได้ดีจริงๆ เพราะนอกจากการวางตัวและการใช้คำพูดที่ทำให้นักศึกษารู้สึกเป็นกันเองแล้ว ผู้เขียนคิดว่าภาษาและจังหวะการพูด แนนซี่ เบลน ใช้ได้อย่างเหมาะสม พูดช้า ชัดถ้อยชัดคำ เพราะเธอเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนต่างชาติดีว่ามีข้อจำกัดเรื่องของภาษาอังกฤษ ถึงวันนี้แนนซี่ เบลน ก็ยังคงทำหน้าที่ของเธอในฐานะที่ปรึกษาแก่นักเรียนต่างชาติที่ Georgian College

Georgian College มีฐานะเป็น community college ซึ่งมีวิทยาเขตหรือ campus ในหลายๆ เมือง แต่ที่ Barrie จะเป็นวิทยาเขตหลัก โดยหลักสูตรการศึกษาจะเน้นให้นักศึกษามีทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพได้ ดังนั้น College จึงเน้นให้มีการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษา หลักสูตรที่นี่สำหรับระดับ diploma เรียกว่า co-op program ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปฝึกงานตามสถานประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จะได้ทำงานและมีรายได้ในระหว่างเรียน เพราะประเทศแคนาดาไม่อนุญาตให้ผู้มีวีซ่านักเรียนทำงานในระหว่างเรียน ยกเว้นว่านักศึกษาผู้นั้นจะเรียนในสถานศึกษาที่มีหลักสูตร co-op และสถานศึกษานั้นๆ ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลแล้ว

ในกรณีของผู้เขียนถึงแม้ว่าจะเป็นระดับ post grad.แต่หลักสูตรก็บังคับให้ต้องฝึกงานเช่นเดียวกัน หลักสูตรทีูู่้ผู้เขียนเรียนมีชื่อว่า "RAP" หรือ Research Analysis Program ผู้เขียนเลือกที่จะฝึกงานใน campus มากกว่าจะเลือกไปฝึกตามบริษัทหรือสถานประกอบการข้างนอกที่เกี่ยวข้องกับ marketing research เหมือนเพื่อนๆ เพราะรู้ข้อจำกัดของตัวเองในเรื่องของความสามารถทั้งทางด้านภาษาและความรู้ที่ได้จากชั้นเรียน อีกอย่างหนึ่งผู้เขียนคิดว่าฝึกงานใน campus กับเจ้าหน้าที่หรืออาจารย์ที่เราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว น่าจะรู้สึกสบายใจมากกว่าที่ต้องไปทำความคุ้นเคยกับคนใหม่ๆ ข้างนอก

อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ได้ค่าตอบแทนจากการทำงานใน research department ใน campus เหมือนคนอื่นๆ โดยเขาจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงานให้อาทิตย์ละครั้ง จำนวนเงินไม่ใช่น้อยเหมือนกัน มากพอที่จะไปเที่ยวแบบ macpacker ได้หลายรอบเชียวละ :) ประกอบกับช่วงนั้น Georgian รับโครงการทำ research ให้รัฐบาลท้องถิ่นของออนตาริโอ ชื่อโครงการ "Food for Thought" ก็เลยได้ประสบการณ์ในการร่วมทำโครงการวิจัยกับเขาด้วย

โครงการที่ว่าเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับน้องผู้หิวโหยที่เป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่เมือง Barrie ท่านเชื่อหรือไม่ว่าในแคนาดาก็มีน้องผู้หิวโหยเหมือนกัน ผู้เขียนมารู้เรื่องแบบนี้ก็เพราะได้เข้ามาทำงานวิจัยนี้ร่วมกับ college คงจะได้นำมาเล่าเรื่องนี้ในรายละเอียดในตอนถัดๆไป

อย่างไรก็ตามเมื่อท่านที่เป็นนักเรียนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานแล้ว ใช่ว่าท่านจะไ้ด้รับค่าตอบแทนจากการทำงานเลย ท่านต้องไปสมัครทำ SIN ก่อน SIN ที่ว่าย่อมาจาก Social Insurance Number เหมือนๆ กับว่าท่านต้องเข้าระบบประกันสังคม แล้วเงินค่าตอบแทนจากการทำงานเขาจะหักภาษีเข้า Social Insurance แล้วเราก็จะได้รับประโยชน์จาก Social Insurance เหมือนกับชาวแคนาดาทั่วไป

รูปร่างบัตร SIN ก็เป็นอย่างข้างล่างนี่แหละ



ตอนสมัยนั้นมีหน่วยงานที่ชื่อ Human Resources Development Canada เป็นหน่วยงานที่ออกบัตร SIN นี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Service Canada แล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่

video credit to youtube by georgianvideos

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โลซานน์

ช่วงสามอาทิตย์ที่ผ่านมาผู้เขียนไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ก็เลยทำให้ห่างหายจากการมาอัพเดทเล่าเรื่องในแคนาดา ซึ่งตอนนี้ขอคั่นการเล่าเรื่องของอีกประเทศหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งเดินทางจากมาสดๆ ร้อนๆ นั่นก็คือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศนี้ในมุมมองของคนจำนวนมากเห็นว่าเป็นประเทศที่มีทิวทัศน์สวยงามที่ติดอันดับโลก หรือคนจำนวนมากที่ชอบซื้อชอบหา ก็อาจจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยยี่ห้อนาฬิกาที่หลากหลาย แต่สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยประเทศนี้เป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าต่อสถาบันกษัตริย์ของเราเป็นอย่างมาก ใช่แล้วผู้เขียนกำลังพูดถึงเมืองโลซานน์ เมืองที่พระมหากษัตริย์ของเราถึงสองพระองค์ทรงดำเนินชีวิตอยู่อย่างยาวนาน

ผู้เขียนเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ด้วยวัตถุประสงค์ของงานราชการ นอกเหนือจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติในห้องประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติอันเป็นความใฝ่ฝันของคนที่ทำงานด้านต่างประเทศแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนฝันอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ถ้ามีโอกาสได้ไปประเทศสวิส นั่นคือตามหาอดีตที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และครอบครัวของพระองค์ท่านที่เมืองโลซานน์

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อสมัยเด็กๆ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่สมเด็จพระพี่นางฯ ได้นิพนธ์ขึ้นเรื่อง "แม่เล่าให้ฟัง" ที่ท่านบรรยายสภาพการดำรงพระชนมชีพของพระองค์ท่านเอง กับสมเด็จย่าและพระอนุชาอีกสองพระองค์ ซึ่งในการอ่านครั้งนั้นผู้เขียนก็อ่านเพื่อประเทืองปัญญา แล้วก็คิดว่าคงไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสเมืองที่ท่านทรงบรรยายถึงแต่อย่างใด แต่พอมาถึงคราวนี้ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศนี้เข้าจริงๆ ผู้เขียนต้องวางแผนการเดินทางเพื่อตามหาอดีตของราชสกุล "มหิดล" อย่างจ้าละหวั่นเนื่องจากมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก แต่โชคดีมากที่ในอินเตอร์เนตที่มีคนไทยแบบผู้เขียนได้บรรยายที่ตั้งทั้ง "แฟลตเลขที่ ๑๖" สมัยที่ทั้งสามพระองค์ยังทรงพระเยาว์ และที่ตั้งของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" ในตำบลปุยยี (Pully) เขตชานเมืองโลซานน์

ถ้าท่านที่เป็นแฟนประจำที่ติดตามอ่านบล็อกของผู้เขียนมาโดยตลอด จะสังเกตได้ว่าผู้เขียนนิยมชมชอบการเดินทางท่องเที่ยวแบบ backpack และเป็นการเดินทางที่ต้องเป็นขาลุยสักหน่อย ประเภทที่ต้องเดินเท้าตลอด ครั้งนี้ก็เหมือนกัน concept การท่องเที่ยวของผู้เขียนเหมือนเดิมทุกประการ ดังนั้นการที่จะชวนพี่ๆ ที่เขาเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยก็เห็นจะไม่เหมาะ ก็เลยต้องเดินทางเดี่ยวอีกครั้ง

ผู้เขียนใช้เวลาในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ที่ว่างเว้นจากการประชุมเป็นวันเดินทาง โดยเดินทางออกจากเจนีวาในเวลาประมาณ ๑๐ โมงเข้า ต้องขอสารภาพตามตรงว่าในช่วงนั้นผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" ที่ตั้งอยู่ถนน "Tissot" ใกล้กับสถานีรถไฟโลซานน์ได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่ตั้งของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" ที่อยู่ในชานเมืองโลซานน์ออกไป แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ยังไงก็ขอลองดูกันสักตั้ง

ผู้เขียนเลือกเดินทางด้วยรถไฟ IR ซึ่งเป็นรถไฟชั้นหนึ่งจากสถานีเจนีวา วิ่งตรงไปยังโลซานน์โดยไม่แวะจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีอื่น แต่ปรากฏว่าตั๋วที่ผู้เขียนซื้อเป็นตั๋วรถไฟชั้นสอง ก็เลยเป็นอันว่าต้องจ่ายค่ารถเพิ่มกับคนที่มาตรวจตั๋วบนรถไฟนั่นเอง ใช้เวลาประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟโลซานน์ ผู้เขียนใช้เวลาตั้งหลักอยู่ที่สถานีโลซานน์อยู่เป็นเวลาพอสมควร ศึกษาแผนที่ที่ได้มาจากการท่องเที่ยวเมืองโลซานน์ จนแน่ใจได้ว่า "ถนน Tissot" และ "Pully" อยู่ที่ใด ก็เดินทางออกจากสถานีรถไฟ โชคดีมากที่ "แฟลตเลขที่ ๑๖" อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนั่นเอง โดยใช้เวลาเดินไม่ถึงสามสิบนาทีผู้เขียนก็ตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" พบ

สภาพของแฟลตดูแตกต่างไปจากที่พระพี่นางฯ ท่านทรงบรรยายไว้พอสมควร อันนี้อาจจะเป็นเพราะว่ากาลเวลาผ่านมาหกสิบเจ็ดสิบปีแล้ว เลยต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันไปบ้าง หลังจากถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวจนพอใจแล้ว ผู้เขียนก็นั่งรถเมล์สายแปดที่ป้ายรถเมล์หลัง "แฟลตเลขที่ ๑๖" เพื่อเดินทางออกไปชานเมืองโลซานน์คือที่ตำบล "ปุยยี" หรือ "Pully" ใช้เวลาเดินเลาะทะเลสาปเจนีวา หรือที่ชาวสวิสเขาเรียกว่า "Lac Lemon" นานพอสมควรกว่าจะตามหา "บ้านเลขที่ ๕๑ ถนน Chamblandes" ได้ พอไปถึงก็เห็นป้ายแขวนไว้หน้าบ้าน ซึ่งผิดแผกไปจากบ้านอื่นที่ไม่ได้แขวนป้ายอะไรไว้ ป้ายที่แขวนไว้หน้าบ้านเลขที่ ๕๑ เขียนไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสถึงแม้ว่าจะอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออกก็ตามที ผู้เขียนก็พอจะเดาความหมายได้เพราะใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ คงจะบอกเป็นทำเนาว่า "บ้านหลังนี้เป็นที่ส่วนตัว อย่าเข้ามาก่อนได้รับอนุญาต" อะไรทำนองนั้นละกระมัง ผู้อ่านท่านใดที่มีความเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสถ้าได้ดูภาพหลังจากนี้แล้ว จะเขียนมาบอกความหมายก็จะดีอย่างมาก ผู้เขียนเดาเอาว่าคงจะมีคนไทยที่ทำตัวแบบผู้เขียนจำนวนไม่น้อยที่ไปตามหาอดีตของ "วิลล่าวัฒนา" จนไปรบกวนชีวิตส่วนตัวของเจ้าบ้านคนใหม่ เขาก็เลยต้องแขวนป้ายแบบนั้นไว้

แค่ได้ตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" และอดีตของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" พบผู้เขียนก็มีความดีใจอย่างมากแล้ว ปรากฏได้เจอของแถมเมื่อตอนเดินลงมาจากถนน Chamblandes ที่ในแผนที่ระบุที่ตั้งของ "ศาลาไทย" ที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะใกล้ๆ โดยรัฐบาลไทยได้สร้างศาลาไทยนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ของในหลวงด้วย โดยสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงมาเปิดศาลาไทยนี้ด้วยพระองค์เองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนเดินทางจากเมืองโลซานน์กลับมาเจนีวาด้วยความอิ่มเอมใจ และในใจรู้สึกขอบคุณเมืองนี้เป็นอย่างมาก ที่เมืองโลซานน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นแหล่งบ่มเพาะในเรื่องของวิชาความรู้แด่พระมหากษัตริย์ของเราทั้งสองพระองค์ นอกจากนั้นผู้เขียนยังรู้สึกคิดถึงในหลวง คิดถึงสมเด็จย่า พระพี่นางฯ และผู้คนในอดีตที่เกี่ยวข้อง คิดถึงสิ่งดีๆ ที่ทุกพระองค์ทำเพื่อประเทศไทยและคนไทย ทุกสิ่งเริ่มต้นจากเมืองนี้นี่เอง

ขอบคุณโลซานน์

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

The day I cried for my hometown



The day I cried for my hometown. I feel heartache and have no words to touch upon my full feeling. Just wanna cry out lound for the doom that happened in the City that I was born and raised.





ที่นี่คือกรุงเทพฯ บ้านเกิดของฉันเมื่อวันวาน ตั้งแต่เล็กจนมาถึงอายุ ณ ขณะนี้ ไม่เคยคิดถามตัวเองเลยว่ารู้สึกอย่างไรกับบ้านเกิดของตัวเอง ใช้ชีิวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ตอนเด็กก็จากบ้านไปโรงเรียนแล้วกลับมาบ้าน พอตอนโตก็ออกจากบ้านไปทำงานแล้วก็กลับบ้าน ไปโน่นไปนี่ตามสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเหมือนกับคนอื่นทั่วไป แล้วความรู้สึกล่ะ อยู่ที่บ้านแห่งนี้มานานหลายปีดีดักแล้ว รู้สึกอย่างไรหรือเปล่า คำถามนี้ไม่เคยเลยสักที ไม่เคยเกิดขึ้นในห้วงความคิด แต่แล้วเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านของฉัน ใครก็ไม่รู้ที่คงไม่ใช่คนไทย เขาทำอะไรกับบ้านของฉัน เป็นเพียงเพราะเขาหลง งมงายกับเศรษฐีขี้โกง เห็นแก่ได้ ทำให้พวกเขาทำลายบ้านเกิดของฉันได้ถึงเพียงนี้ ฉันเห็นควันไฟ เปลวเพลิงพวยพุ่งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในบ้านของฉัน ทำไมน้ำตาของฉันไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว ฉันมารู้ถึงความรู้สึกของตนเองที่มีต่อบ้านเกิดก็วันนี้นี่เอง ฉันรักบ้านของฉันนักหนา บ้านของฉันกรุงเทพมหานคร ถึงแม้จะไม่สวยงามเพียบพร้อมเหมือนมหานครอื่นๆ เขา แต่ฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะมีมหานครที่ไหนที่ดีไปกว่ากรุงเทพมหานครบ้านของฉัน ฉันรักบ้านของฉัน

ถึงแม้ว่าวันนี้กรุงเทพฯ บ้านของฉันจะไม่สวยงามเหมือนเมื่อวาน แต่ฉันเชื่อว่าอีกไม่นานกรุงเทพฯ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือความสำนึกรักบ้าน รักประเทศของคนไทยทั้งมวลจะปรากฏออกมาให้เห็นมากขึ้น เพราะถึงวันนี้พวกเรารับรู้แล้วว่าการเมินเฉย เพิกเฉยไม่นำพาปัญหาส่วนรวม มันนำมาซึ่งความหายนะต่อพวกเราคนไทยอย่างไรบ้าง แม้ว่าน้ำตาของฉันและเพื่อนร่วมบ้านเดียวกันที่ไหลออกมาวันนี้จะเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าเสียใจและสะเทือนใจ และอาจสร้างความพึงพอใจให้เศรษฐีขี้โกงชั่วช้าที่ตอนนี้เลื่อนระดับมาเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ฉันมั่นใจว่าวันข้างหน้าน้ำตาที่จะไหลออกมาจากดวงตาของพวกเราชาวไทย จะเป็นน้ำตาของความตื้นตัน ปลื้มใจที่เรามีความสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น ร่วมมือ ร่วมใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรค และพร้อมที่จะช่วยกันนำพาชาติบ้านเมืองของเรา มั่นคง สถาพรต่อไป



video credit to youtube by ilovedoraemon2112, paul19781978

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"we live in a cynical world"




Jerry: "We live in a cynical world, a cynical, cynical world, and we work in a business of tough competitors. I love you. You complete me. And if I just had..."

Dorothy: "Shut up. Just shut up.....You had me at hello. You had me at hello."


ผู้เขียนนำคลิปหนังเรื่อง Jerry Maguire มาโพสท์ไว้ในตอนนี้เพียงเพราะความรู้สึกในตอนนี้เหมือนกับที่ Jerry พูดว่า เราอยู่ในโลกที่โหดร้าย เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี น่าเหนื่อยหน่ายใจ แต่ดูเหมือนว่าคำว่า "ความรัก" จะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเติมเต็มความบกพร่องของจิตใจมนุษย์ "ความรัก" สามารถเป็นแสงสว่างส่องไปยังมุมมืดในใจคนได้ "ความรัก" ยังเป็นอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถลดทอนความโหดร้ายของโลกใบนี้ได้

ในหนังเรื่องนี้ Jerry ได้เข้าถึงความรักที่ Dorothy ที่มีต่อเขา และเป็นสิ่งเติมเต็มความพร่องในจิตใจ

ถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากจะบอกว่าหนังฝรั่งหลายๆ เรื่อง ได้ให้สาระและคำพูดดีดีให้คนดูได้มาฉุกคิด สำหรับเรื่อง Jerry Maguire ก็เป็นหนังเรื่องโปรดของผู้เขียนอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบดูซ้ำๆ หลายหน เพียงเพราะชอบ climax คำพูดของ Jerry ข้างบนนั้น key words คือ "cynical world" และ "you complete me" คำพูดสองคำนั้นกินใจจริงๆ

หันมาดูสถานการณ์บ้านเรา ก็คงเข้าข่าย cynical world สำหรับคนอย่างเราๆ ก็คงต้องมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้เข้าใจว่ามันเป็นไปตามแบบ cynical world เพราะมีสิ่งนั้น สิ่งนี้จึงเกิด ตอนนี้ที่เราๆ สามารถทำได้อย่างเดียวคือ "ให้ความรัก" "เติมความรัก" ให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความรักในรูปแบบใดก็ตามที ผลที่ตามมามันอาจจะทำให้โลกนี้ลดความโหดร้ายลงก็ได้

ในช่วงวันหยุดราชการในพื้นที่ กทม. ระหว่างนี้ขอแนะนำให้ดูหนังฝรั่ง sound on film ไปพลางๆ ฝึกฟัง พูดภาษาอังกฤษตามตัวละครในหนัง เผื่อว่าวันข้างหน้าต้องเป็นคนไทยทิ้งแผ่นดิน เพื่อไปอยู่แผ่นดินที่มีความ cynical น้อยกว่านี้จะได้ไม่ลำบากมากนัก

ก็ขอให้ผู้อ่านทุกคนมีความสุขตามอัตภาพ ณ เวลานี้ เป็นทั้งคนที่เติมเต็มความพร่องในใจแก่ผู้อื่น และก็เป็นผู้ได้รับการเติมเต็มในใจที่ยังพร่องจากคนที่เรารัก สำหรับการเล่าเรื่องที่แคนาดา ก็จะขอผลัดเป็นในโอกาสถัดๆ ไป ขอบคุณที่ตามอ่านบล็อกของผู้เขียนมาอย่างต่อเนื่อง อยากจะบอกทุกคนว่า "you complete me"

video credit to youtube by myextension 2002

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันฉัตรมงคล




ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน Long Live my beloved King. I'm pround to be Thai and Your Majesty's subject.







ประชาชนเฝ้ารับเสด็จในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์จากศิริราชถึงพระบรมมหาราชวัง ในวันฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ท่ามกลางพสกนิกรที่ถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" ตลอดเส้นทาง
The King's Motorcade Route to the Royal Grand Palace to celebrate his 60th Annivasary of the Coranation Day on 5 May 2010. "Long Live the King" cheered by Thais.


ขอบคุณวีดีโอจาก youtube by sakooclub และ mahhaudj

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

gimme a break



April 2009 ........ sick & tired...............gimme a break


March 2010....... discouraged................gimme a break


April...May.... 2010.... civil war? genocide & bloodshed?!!!!
give us a break those shit and damn bastards





Video credit to youtube by 2331152channel

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าเก็บตกจาก MACKPACKER

เมื่อตอนที่แล้วตั้งใจว่าจะให้เป็นบทส่งท้ายของการเล่าเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวแบบ backpack ของผู้เขียนในหลายๆ เมืองของแคนาดาและอเมริกา ในช่วงปิดภาคเรียนในเทศกาลคริสต์มาส แต่ก็ยังมีเรื่องเล่าเล็กน้อยที่ยังคงค้างอยู่ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงไม่เล่าเรื่องต่อในช่วงที่ท่องเที่ยวที่บอสตันและดีซีในอเมริกา ก็อยากจะบอกในที่นี้ว่าผู้เขียนเห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากคุ้นเคยกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของอเมริกาอยู่แล้ว ดีไม่ดีผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยไปเที่ยวกันจนหลับตาเดินกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมิธโซเนียน ทำเนียบขาว หรือที่ทำการรัฐบาลหลายๆ แห่ง หรือไม่ว่าจะเป็น Harvard U. มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ผู้เขียนเลยไม่ขอเล่าดีกว่า จะกลายเป็นว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนกันซะเปล่าๆ ประกอบกับชื่อหัวเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเล่าในแคนาดา เดี๋ยวจะไม่เข้า concept ชื่อเรื่อง แต่ที่อยากจะนำมาเล่าเป็นเรื่องเก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อสถานที่หรือผู้คนในบอสตันและดีซี

ผู้เขียนไปถึงบอสตันในตอนเช้าตรู่ของวันที่ยี่สิบสามธันวาคมและอยู่ในเมืองนี้จนถึงวันที่ยี่สิบหก เมื่อแรกไปถึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอเมริกา เพราะบรรยากาศเงียบมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสดังนั้นร้านรวงต่างๆ จึงปิดทำการ แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวในบางแห่ง แต่ยังไงก็ตามผู้เขียนก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่หนึ่งสมความตั้งใจของคนไทยที่รักในหลวงอย่างผู้เขียนนั่นก็คือ โรงพยาบาล Mount Auburn อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของในหลวง ที่ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์อันเป็นส่วนหนึ่งของ Greater Boston Area เพียงแต่ข้ามแม่น้ำ Charles จากบอสตันมาก็จะมาถึงยังเมือง Cambridge เมืองอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกสองแห่งคือ Harvard และ MIT

ผู้เขียนประทับใจความมีน้ำจิตน้ำใจของชาวอเมริกันที่เมืองบอสตันค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มและความเอื้อเฟื้อที่ช่วยเหลือในการบอกเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้กับผู้เขียน หรือการแสดงการเป็นเจ้าภาพที่ดีเมื่อยามผู้เขียนเข้าไปสังเกตการณ์การทำพิธีของชาวคริสต์ในค่ำคืนวันที่ยี่สิบสี่ธันวาคมในโบสถ์ใหญ่ประจำเมืองบอสตัน ผู้เขียนยอมรับว่ามีความรู้สึกดีกับคนอเมริกันที่บอสตันเกินกว่าที่คาดหวังไว้

ผู้เขียนออกจากบอสตันในวันที่ยี่สิบหกธันวาคมในเวลาสี่ทุ่มเพื่อเดินทางต่อไปยังวอชิงตันดีซี โดยมาแวะัพักเพื่อเปลี่ยนรถที่นิวยอร์กซิตี้ช่วงประมาณตีสอง ต่อจากนั้นช่วงเวลาตีสามเศษก็ไ้ด้เวลาเดินทางต่อไปยังวอชิงตันดีซี ในขณะที่รถแล่นมาถึงสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำฮัดสัน(จำชื่อสะพานไม่ได้เพราะที่นี่มีสะพานเยอะมาก)เพื่อข้ามไปยังฝั่งนิวเจอร์ซีย์ ผู้เขียนมองออกไปนอกหน้าต่างรถมองไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ก็ยังคงเห็นแสงไฟตามตึกราม อาคารสูงระฟ้าที่ส่องสว่างเจิดจ้าไปทั่วมหานครใหญ่ที่ไม่มีวันหลับแห่งนี้ ก็ให้รู้สึกว่าตัวเองช่างเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงยังไงก็ไม่รู้ ถึงแม้จะเป็นคนมาจากกรุงเทพมหานครของบ้านเราก็เถอะ ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งของทอม ครูส สมัยยังหนุ่มๆ เรื่อง Cocktail ที่ครูสรับบทเป็นเด็กหนุ่มมาจากเมืองชนบทเล็กๆ ต้องการมาตามหาฝันของตนเองในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก เมื่อแรกมาถึงและเห็นสภาพความเจริญของมหานครนี้ทำให้เด็กหนุ่มจากเมืองชนบทอย่างครูสรู้สึกตื่นเต้น ก็คงคล้ายๆ กับความรู้สึกของผู้เขียนในช่วงเวลานี้



ทั้งๆ ที่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนมานิวยอร์กซิตี้ จะว่าไปแล้วผู้เขียนมาที่นี่หลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งก็จะรู้สึกแบบนี้ทุกที อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้กิตติศัพท์ของเมืองนี้ในแง่ลบ ทำให้ผู้เขียนต้องระมัดระวังตัวอย่างมากเวลาจะท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ในเมืองนี้ ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาจะไปไหนต่อไหน ยังไงก็ตามผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่านิวยอร์กซิตี้ก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเองในบางสิ่งบางอย่าง ไม่เช่นนั้นจะดึงดูดให้ผู้เขียนมาได้บ่อยๆ ได้อย่างไรกัน

ผู้เขียนมาถึงเมืองหลวงของอเมริกาในเช้าวันที่ยี่สิบเจ็ด บรรยากาศช่วงเช้าในเมืองหลวงไม่ค่อยวุ่นวายเมื่อเทียบกับนิวยอร์กซิตี้ ที่สำคัญผู้เขียนชอบความสะอาดสะอ้านและทันสมัยของรถไฟใต้ดินที่ดีซีจริงๆ ถ้าจะว่าไปในบรรดาความเก่าแก่และไม่ค่อยสะอาดของรถไฟใต้ดิน ที่บอสตันน่าจะได้รับรางวัลที่หนึ่งแต่ก็เป็นเพราะว่ารถไฟใต้ดินที่บอสตันมีอายุอานามยาวนานมากแล้ว และก็เป็นรถไฟใต้ดินสายแรกที่สร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกาจะไม่ให้เก่าบุโรทั่งยังไงไหว แต่ถ้าพูดถึงรถไฟใต้ดินที่มีเส้นทางการเดินรถที่ซับซ้อนชวนให้น่าสับสนที่สุด นิวยอร์กซิตี้ก็สมควรได้รับรางวัลนี้ไป เพราะมีทั้งสาย express ไม่ express มีสามรางสี่รางแล่นขนานกันไป ทำเอาผู้เขียนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในการใช้รถไฟใต้ดินถึงกับงงงวยไปพักใหญ่เมื่อไปถึงนิวยอร์กซิตี้เป็นครั้งแรก

DC Green Line Metro



ผู้เขียนใช้เวลาท่องเที่ยวไปตามสถานที่ทำการของรัฐบาลอยู่สองสามวัน ก็ได้คำตอบสำหรับตนเองว่า วอชิงตันดีซีมีบางสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ สิ่งแรกคือความมีน้ำใจของเจ้าของร้านอาหารไทยที่ผู้เขียนไปฝากท้องไว้หลายมื้อ หลังจากที่การเดินทางก่อนหน้านี้ในหลายๆ วันพึ่งพาอาศัยแต่ McDonald's ถึงแม้จะมีชื่อพยางค์แรกชื่อเดียวกันกับร้านฟาสท์ฟู้ดที่ว่า แต่ก็ไม่ได้พิสมัยการกินอาหารแบบนั้นนัก พอหลังๆ มาชักจะไม่ไหวยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อขอกินอาหารบ้านเราบ้างดีกว่า ยังไงก็ใกล้จะกลับแคนาดาแล้ว ร้านอาหารไทยที่พูดถึงมีชื่อร้านว่า "HADD THAI Restaurant" มีเว็บไซท์ด้วยตามข้างล่าง

http://www.haadthairestaurant.com

ร้านนี้ตั้งอยู่เลขที่ 1100 New York Ave., NW ตามแผนที่ข้างล่าง



ผู้เขียนประทับใจการบริการและความมีน้ำใจของเจ้าของร้าน เท่าที่ดูและก็คิดเดาเอาเองคิดว่าร้านนี้น่าจะเป็นร้านที่ร่วมหุ้นกันระหว่างเพื่อนฝูง ดูอายุอานามเจ้าของร้านแต่ละคนไม่น่ามากน่าจะอยู่ระหว่างช่วงยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบปลายๆ ด้วยความที่ผู้เขียนเคยไปใช้บริการร้านอาหารไทยในเมืองนอกเมืองนาแล้วหลายครั้ง ยอมรับว่าบางครั้งเคยพบกับความไม่ยินดียินร้ายที่จะให้บริการคนไทยด้วยกันจากร้านอาหารบางร้าน พอมาเจอการบริการแบบประทับใจของร้าน HADD THAI เข้าก็เลยอดที่จะนำมาพูดไม่ได้ ร้านนี้ตกแต่งค่อนข้างทันสมัย มีแขกมาใช้บริการค่อนข้างเยอะ เพราะแถบใกล้เคียงเป็นอาคารสำนักงานจำนวนมาก จำได้ว่าก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเดินทางไปสถานีรถโดยสารเพื่อกลับแคนาดาก็แวะไปกินอาหารร้านนี้อีก พอจะเรียกเก็บเงินเจ้าของร้านให้พนักงานเดินถือถ้วยไอศครีมมาให้ ผู้เขียนก็เลยทำหน้างง แล้วบอกว่าไม่ได้สั่ง เจ้าของร้านก็เดินมาบอกว่าไม่ได้สั่งแต่แถมให้พร้อมกับส่งรอยยิ้มที่น่าประทับใจมาให้ เลยทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีดีกับความมีน้ำใจของเจ้าของร้านนี้

หลังจากนั้นผู้เขียนเดินทางมาถึงสถานีรถโดยสารเมื่อประมาณสี่โมงเย็นเศษๆ เพราะมีกำหนดการเดินทางออกจากดีซีประมาณหกโมงเย็นเพื่อจะไปเมืองบัฟฟาโลที่เป็นเมืองชายแดนติดกับแคนาดา แต่พระเจ้าช่วยกล้วยทอดหลังจากที่ฝ่าพายุหิมะจาก downtown DC เพื่อจะมาสถานีรถโดยสารด้วยความยากลำบาก เพียงเพื่อจะมาพบว่าเขาประกาศหยุดการเดินรถทุกเส้นทาง เนื่องจากมีหิมะตกหนักปกคลุมเส้นทางถนนสายหลักไปทุกสาย ทำให้รถไม่สามารถแล่นฝ่าไปได้ ช่วงนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าละล้าละลังพอสมควรไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ เคยดูแต่ภาพข่าวต่างประเทศในบ้านเราที่ออกข่าวว่ามีพายุหิมะตกที่นั่นที่นี่ ทำให้เส้นทางถนนถูกตัดขาด ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาเจอกับตัวเองเข้าจังๆ ภาพความโกลาหลในสถานีรถโดยสารของผู้โดยสารที่ตกค้างดูเหมือนจะเพิ่มความวิตกให้ผู้เขียน และยิ่งเมื่อเอากระเป๋าตังค์ขึ้นมานับดูเงินสดที่เหลือก็ยิ่งกังวลเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะในกระเป๋าเงินเหลือเงินสดไม่พอจ่ายค่าเช่าที่พักที่ hostel อีกหนึ่งคืนหากมีความจำเป็นจะต้องกลับไปพักค้่างที่นั่นอีก ที่เหลือก็มีแต่บัตรเอทีเอ็ม/เดบิตของธนาคาร Scotia Bank ของแคนาดา ซึ่งคงไม่มีตู้ atm ที่นี่เป็นแน่ แล้วก็บัตรเครดิตอีกสองใบซึ่งถึงยังไงๆ ก็ไม่อุ่นใจเท่ากับการมีเงินสดในกระเป๋าไว้บ้าง

หลังจากเวลาผ่านไปร่วมชั่วโมง และตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรต่อไปดี ทันใดนั้นเองก็มีเสียงประกาศเรียกผู้โดยสารที่จะเดินทางไปเมืองบัฟฟาโล โดยจะมีรถโดยสารออกจากสถานีเพื่อเดินทางไปเมืองบัฟฟาโลแต่การเดินรถจะต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางสายรองๆ ลงไป เพราะถนนสายหลักยังคงใช้การไม่ได้ พอได้ฟังประกาศดังนันผู้เขียนรีบขึ้นรถทันทีกลัวเขาเปลี่ยนใจ สรุปว่าบนรถคันนั้นมีผู้โดยสารอยู่ประมาณสามสี่คนรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย ซึ่งหลังจากนั้นเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร หยุดรถเป็นพักๆ ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยให้เขาเกลี่ยหิมะออกจากถนน เป็นอันว่าผู้เขียนมาถึงเมืองบัฟฟาโลด้วยความสวัสดิภาพในช่วงใกล้เที่ยงของอีกวัน ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิมไปหลายชั่วโมง แต่ก็คิดว่าเอาเหอะให้มาถึงก็พอแล้ว พอมองออกไปนอกสถานีรถโดยสารเห็นรถ greyhound canada เส้นทาง บัฟฟาโล-โตรอนโต มาจอดรอรับผู้โดยสารอยู่ภายนอก ก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความกังวลลงไปมาก และก็คิดว่าการผจญภัยในการเดินทางคนเดียวครั้งนี้กำลังจะจบลงแล้วด้วยความสวัสดิภาพ

Video credit to youtube by arab30002, supersonic 3783

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 14: MACKPACKER (หลงในตอนจบ)

เป็นเวลาร่วมสองเดือนที่ไม่ได้มาอัพบล็อกเลย ไฟสำหรับการเขียนเล่าเรื่องเกือบจะจุดไม่ติดแ้ล้วเนี่ย ทั้งงานราษฎร์งานหลวงเต็มมือไปหมด แต่ก็เป็นงานที่ผู้เขียนเลือกแล้วและเป็นงานที่ชอบ จะพูดมากไปกระไรได้ เพิ่งมีโอกาสมาเปิดดูบล็อกตัวเองก็วันนี้หลังจากให้พี่ธเนศ วรากุลนุเคราะห์กับลุงคิดและชิดชัยในแดนศิวิไลซ์ช่วยเฝ้าบล็อกไปพลางก่อน เห็นมีคนเข้ามาเยี่ยมเยียนดูเหมือนกัน ขอบคุณผู้อ่านที่ยังคอยแวะเวียนมาดูข่าวคราวบล็อกนี้

หวังว่าช่วงนี้ผู้อ่านที่เป็นชาวกรุงเทพฯ คงจะไม่คร่ำเครียดมากไปกับกลุ่มตัวไรสีแดงๆ ที่เดินยั้วเยี้ยทำกิจกรรมสกปรกโสโครกอยู่แถวราชดำเนิน บางครั้งบางคราพอได้น้ำเลี้ยงจากไรแดงตัวพ่อก็ออกอาละวาดป่วนให้คนกรุงอย่างเราปวดหัวเล่นซะทีหนึ่ง ตอนนี้ก็ออกฤทธิ์ออกเดชที่ราชประสงค์ ร่ำๆ จะเอาระบอบอันธพาลแบบอนาธิปไตยมาปกครองบ้านนี้เมืองนี้ให้ได้ ใครเห็นด้วยกับไอ้พวกนี้ถ้าไม่บ้าก็คงเลวสุดขั้ว ชั่วสุดใจเหมือนไอ้มะเร็งตัวนั้นแน่ๆ อย่างเราๆ ก็เลยต้องอดทนกันให้ถึงที่สุด ถึงเวลาเหมาะเมื่อไรก็ให้ทั้งกฎแห่งกรรมและกฎหมายชำระสะสางกันไป

กลับมาเ่ล่าเรื่องที่แคนาดาต่อกันดีกว่า เมื่อตอนที่แล้วเ่ล่าค้างถึงสภาพบ้านเมืองของควิเบก และก็สถานที่เที่ยวของเมืองนี้ อันที่จริงผู้เขียนก็ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนได้อย่างใจคิด เพราะหิมะเป็นอุปสรรคอย่างที่พูดมาเมื่อตอนที่แล้ว หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมเยือนสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองนี้สองสามแห่ง นอกนั้นผู้เขียนก็ได้แต่เดินเที่ยวเล่นดูกิจกรรมของคนเมืองนี้ไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเล่นสเก๊ตน้ำแข็งหรือว่าสกี รู้สึกตัวเองในขณะนั้นได้ว่าไม่ค่อยสนุกเหมือนกับที่มอนทรีอัลที่มีเพื่อนร่วมห้องเดินทางไปโน่นไปนี่ อาจจะเป็นเพราะที่นี่คนมาเที่ยวน้อย คนก็มาพักที่ hostel น้อยลงไปด้วย ทำให้จัดกิจกรรมกลุ่มไม่ได้เพราะไม่มีคนใช้บริการ ผู้เขียนเลยใช้เวลาที่เหลือนั่งเซ็งอยู่ที่ hostel ใช้เวลาดูหนัง ทำกับข้าวกินเองเพื่อใช้ของสดที่ซื้อมาให้หมดๆ ไป

วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2543

หลังจากใช้เวลาเดินทางจากควิเบกซิตี้ประมาณสามชั่วโมงเศษ ผู้เขียนก็เดินทางกลับมาที่มอนทรีอัลอีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณบ่ายโมงเศษ เพื่อจะมารอนั่งรถต่อไปบอสตันช่วงสี่ทุ่ม ระหว่างนั้นก็ท่องเที่ยวไปตามสถานที่เดิมๆ ที่เคยเล่าเมื่อตอนเที่ยวที่มอนทรีอัลครั้งที่แล้ว แต่จะใช้เวลานานหน่อยที่ underground city และยิ่งเป็นประเภทร้านหนังสืออย่าง Chapters ที่เป็นร้านหนังสือประเภท chain ของแคนาดา ก็จะอยู่นานหน่อยเพราะเป็นคนชอบซื้อและอ่านหนังสืออยู่แล้ว



เวลาผ่านไปแป๊ปๆ ก็เกือบได้เวลาที่จะต้องไปรอรถแล้ว ช่วงนั้นได้รับแจ้งก่อนล่วงหน้าว่าควรไปรอรถแต่เนิ่นๆ เพราะว่าเป็นวันศุกร์และใกล้กับเทศกาลคริสต์มาส ดังนั้นคนเดินทางจึงเยอะมาก



มองไปรอบตัว เห็นคนเดินทางมากันเป็นกลุ่มบ้าง บางทีก็มาเป็นคู่ หรือบางทีก็มีคนในครอบครัวมาส่งร่ำลากันขึ้นรถ ดูวุ่นวายเต็มสถานีรถโดยสาร หันมาดูตัวเองไม่มีใคร นั่งหัวเดียวกระเทียมลีบจริงๆ แว๊บหนึ่งที่เข้ามาในความรู้สึกคือความเหงา แล้วก็ตั้งคำถามในใจว่าเรามาทำอะไรที่นี่ หันไปมองรอบตัวอีกที ก็เห็นอะไรบางอย่าง "อืม open กันดีจริงๆ" ผู้เขียนนึกในใจ สักพักก็ตัดสินใจเดินไปที่โทรศัพท์สาธารณะ




เสียบบัตรโทรศัพท์ กด 661 แล้วตามด้วยเลขหมาย สักพักก็มีเสียงตอบรับ คุยกับคนทางปลายสายได้สักพักใหญ่ ก็ได้เวลาที่จะต้องขึ้นรถแล้ว จึงจบบทสนทนาเพียงเท่านั้น

รถโดยสารแล่นออกมาจากสถานีเมืองมอนทรีอัลได้พักใหญ่ๆ แล้ว แต่ในความคิดของผู้เขียนก็ยังนึกถึงแต่บทสนทนาในโทรศัพท์ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นความรู้สึกแบบก้ำกึ่ง จะว่าโล่งใจก็ใช่ที่ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดอีกต่อไป จะว่าเสียดายก็ใช่อีก ผู้เขียนรู้ดีว่าคนขับรถโดยสารคันนี้รู้จุดหมายปลายทางของตัวเองดีว่า เขามีหน้าที่พาผู้โดยสารไปเมืองบอสตัน เพราะฉะนั้นเขาไม่มีวันขับรถหลงทางไปไหน แต่ตัวผู้เขียนเองต่างหากที่กำลังหลงทาง "หลงอยู่ในบางสิ่งบางอย่าง" อยู่ในขณะนั้น




Photos credit to: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/01/Chapters_bookstore_and_Starbucks_café,_downtown_Montréal_2006-01-27.JPG
http://www.barraclou.com/stations/quebec/montreal_terminus4.jpg
http://sophiebury.ca/ocanada/wp-content/uploads/2009/12/canadian-payphone.jpg

video credit to youtube by zoyeczka69

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 13: MACKPACKER (6)


ห่างหายไปนานกับการเล่าเรื่องท่องเที่ยวในแคนาดา ต้องยอมรับว่าการเข้ามาเขียนบล็อกเพื่อเล่าเรื่องอะไรต่างต่างนานา ก็คงเหมือนกับการเขียนเรื่องสั้นที่ต้องอาศัยอารมณ์ของคนเขียนที่เข้ากับบรรยากาศของการเล่าเรื่องในขณะนั้น ในขณะที่ตอนนี้อารมณ์คนเขียนก็ยังคงอยู่กับเรื่องเล่าเมื่อตอนที่แล้ว ก็เลยดูแปร่งๆ สักหน่อยที่ต้องเล่าเรื่องเมืองในต่างประเทศ แต่ใจไพล่ไปนึกถึงกรุงเทพฯ ของเราในสมัยก่อนซะนี่ แต่ก็เอาเถอะก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่เพราะก็เป็นเรื่องเมืองเก่าๆ ครือกัน




เมื่อสามสี่วันที่แล้วช่วงดึกๆ หน่อยมีคนเปิดเข้ามาอ่านบล็อกของผู้เขียน แล้วก็ให้บังเอิญว่าผู้เขียนกำลัง
ออนไลน์ Pingbox ของ yahoo บนหน้าบล็อกพอดี คุณผู้อ่านท่านนั้นที่ใช้ชื่อว่า "โบว์" ก็เลยส่งข้อความเข้ามาทักทายว่าสนใจอ่านเรื่องเล่าที่แคนาดา เพราะว่ามีโครงการจะไปเรียนต่อที่แคนาดาพอดี ผู้เขียนกำลังจะตอบกลับไปแต่ก็พอดีว่าหน้า chat ค้างส่งข้อความไปไม่ได้ ก็เลยขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้อ่านท่านนั้นที่ติดตามอ่านและเห็นว่าเรื่องเล่าที่แคนาดาของผู้เขียนมีประโยชน์อยู่บ้าง




เมื่อตอนที่แล้วได้เกริ่นไปแล้วว่าควิเบกซิตี้เป็นเมืองเก่าแก่ร่วมสมัยกับยุคเช็คสเปียร์โน่นเลย ควิเบกซิตี้เพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 400ปี เมื่อปี ค.ศ. 2008 นี่เอง บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของควิเบกซิตี้ยังคงมีกลิ่นไอของความเก่าแก่สมัยเมื่อสี่ร้อยปีก่อนหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมาก ตอนที่ผู้เขียนไปเยี่ยมเยือนเมืองนี้นั้นผู้เขียนคิดว่าบรรยากาศไม่เป็นใจเอามากๆ เป็นเพราะว่าหิมะตกหนักเกือบจะตลอดเวลา ดังนั้นการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ค่อนข้างจะลำบาก เพราะนอกจากพื้นถนนลื่นจากหิมะแล้ว ภูมิประเทศที่เป็นทางลาดชันสูงๆ ต่ำๆ ทำเอาผู้เขียนวัดพื้นซะหลายครั้ง



ตามความเห็นส่วนตัวผู้เขียนว่าการมาเที่ยวที่ควิเบกซิตี้แห่งนี้น่าจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนน่าจะดีกว่านี้ เพราะเราสามารถที่จะเห็นดอกไม้สีโน้น สีนี้ และก็สิ่งอื่นๆ ที่บ่งบอกความเป็นเมืองเก่าแก่แห่งนี้ได้ดีกว่าตอนหน้าหนาวที่มีแต่หิมะและหิมะ เพราะหน้าหนาวบางทีพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญบางแห่งต้องปิดไม่ให้เข้าชมเพราะสภาวะอากาศไม่อำนวย ถึงแม้ว่าจะมีกิจกรรมให้ชมประเภทการเล่นสเก็ตหรือสกีก็ตามทีเถอะ ลองเปรียบเทียบดูเองก็ได้



จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคือส่วนที่เรียกว่า "Old Town" ซึ่งจะมีสถาปัตยกรรมสมัยก่อตั้งเมืองแห่งนี้เมื่อสี่ร้อยปีที่แล้วหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมาก และบางแห่งก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่แต่ตกแต่งให้คล้ายคลึงกับอาคารยุคเก่าๆ

Old Town ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ Upper Town และ Lower Town โดยทั้งสองส่วนนี้มีบันไดยุคโบราณหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Breakneck Stairs สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ไว้ใ้ช้สำหรับเชื่อม Upper Town และ Lower Town ไว้ด้วยกัน












Breakneck Stairs แต่ละที่จะมีเอกลักษณ์และศิลปะเฉพาะตัว แรกเริ่มเดิมทีบันไดเหล่านี้ทำมาจากไม้ และต่อมาเมื่อมีการบูรณะซ่อมแซมก็เปลี่ยนมาใช้เหล็กแทนเพื่อความคงทนถาวร อย่างไรก็ตาม Breakneck Stairs คงใช้ได้แต่กับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ยังพอมีกำลังวังชาเดินขึ้นบันไดสูงชันหลายๆ ขั้นเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สูงวัยเขาก็มีทางเลือกให้เหมือนกันด้วยเคเบิลคาร์ที่สร้างขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ชื่อ "Funicular"











ที่ Old Town แห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อย่างเช่น Place-Royale ที่เป็นจัตุรัสหรือสแควร์อยู่ Lower Town ที่ Samuel de Champlain ผู้ก่อตั้งเมืองแห่งนี้มาถึงเป็นจุดแรก ในยุคก่อนจัตุรัสแห่งนี้ใช้ไว้สำหรับการแสดงของขบวนพาเหรด ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งค้าขายหรือ marketplace สำหรับในปัจจุบันจัตุรัสแห่งนี้เป็นสถานที่คนนิยมถ่ายรูปเพื่อนำไปจัดทำโปสการ์ด และนอกจากนั้นในอาคารแถบใกล้เคียงก็ใช้สำหรับจัดนิทรรศการแสดงความเป็นมาของ Place-Royale แห่งนี้







Video credit to WatchMojo
Photos credit to http://www.societehistoriquedequebec.qc.ca/images/escalier_casse_cou.jpg
http://www.funiculaire-quebec.com/en/PhotosFuniculaire.htm#thumb
hhttp://www.bonjourquebec.com/qc-en/attractions-directory/museum-interpretation-centre-historic-site/musee-de-lamerique-francaise_1171481.htmlttp://leo.koppel.ca/geo/photos/placeroyale.jpg

Partial source of info.: http://wikitravel.org/en/Quebec_City

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว (เนื้อหาแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบเรื่องเก่าๆ)




ใครหลายคนเคยพูดว่า หากอยากรู้ว่าคนไหนใครคนหนึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ให้จับสังเกตอาการแสดงออกทั้งทางสีหน้าและกิริยาอาการ หรือแม้กระทั่งคำรำพึงรำพันในช่วงเวลานั้นดูก็อาจจะพอจะเดาความรู้สึกนึกคิดของคนๆ นั้นได้

เรื่องเล่าในบล็อกนี้เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนไม่ได้อรรถาธิบายอะไรแก่ผู้อ่านมากนัก อยู่ๆ ก็เปิดขึ้นมาด้วยวิีดีโอภาพสไลด์ที่บังเิอิญได้ไปพบเจอใน youtube ที่โพสโดยคนไทยที่ใช้ชื่อว่า denubthong โดยมีข้อความประกอบว่า

"ดูภาพสไลด์ประกอบเพลงนี้แล้ว รู้สึก นึก คิดอะไรกันบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ชื่นชมในแผ่นดิน และบารมี และความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ และความรักสามัคคีของชาวไทยตั้งแต่อดีต แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก และไม่วุ่นเหมือนในปัจจุบัน" รายละเอียดตาม link นี้

www.youtube.com/watch?v=I26PTJC9_nA&feature=related

ที่บังเอิญเหลือเกินว่าความรู้สึกนึกคิดของผู้โพสตรงกับความรู้สึกของผู้เขียนในช่วงเวลานี้พอดี มีหลายครั้งหลายคราที่ผู้เขียนนึกคิดและจินตนาการย้อนกลับไปยังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่สองและสาม มาถึงตรงนี้แล้วคงจับความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของผู้เขียนในช่วงเวลานี้ได้

ในสมัยนั้นตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า บ้านเมืองสงบสุขและรุ่งเรืองสุดขีดเพราะไม่มีศึกใดๆ ติดพัน ทำให้พระมหากษัตริย์และคนสยามในยุคนั้นมีเวลามากมายที่จะคิดอ่านในการสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองไม่่ว่าจะเป็นการรังสรรค์ผลงานบทประพันธ์ประเภท กาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน ของกวีในสมัยรัชกาลที่สอง หรือการทำมาค้าขายไปทางเรือสำเภากับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนจนมีเิงินมากมายล้นพระคลังในสมัยรัชกาลที่สาม ที่เรียกว่า "เงินถุงแดง" ซึ่ง "เงินถุงแดง" ที่เป็นทรัพย์สินตกทอดจากรัชกาลที่สามนี่เองที่ช่วยให้บ้านเมืองของเรารอดพ้นจากภยันตรายและการคุกคามของชาติมหาอำนาจในยุคสมัยนั้นมาได้

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้เขียนมีจินตนาการและอยากรู้อยากเห็นโดยละเอียดถึงความเป็นไปของสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษในยุคนั้น ประการแรกน่าจะมาจากเคยอยู่ในรั้วในวังมาก่อน ก็ที่เคยเล่าให้ฟังว่าเคยทำงานในพระบรมมหาราชวังเมื่อสิบหกสิบเจ็ดปีที่แล้วนั่นแหละ ก็คิดว่าตัวเองคงซึมซับเรื่องราวสมัยก่อนรวมทั้งของเก่าภายในรั้วในวังนั่นเอง

อีกประการที่คิดว่าสำคัญน่าจะเป็นเพราะนิสัยชอบอ่านหนังสือของตัวเองเป็นแน่ เพราะตั้งแต่เด็กมาจนโตป่านนี้ช่วงเวลาหย่อนใจที่มีความสุขที่สุดคือการได้อ่านหนังสือที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน นิยาย หรือไปจนกระทั่งหนังสือวิชาการ ถ้าชอบก็จะหมกหมุ่นอ่านซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง สำหรับหนังสือนวนิยายที่ถูกอกถูกใจผู้เขียนมีค่อนข้างเยอะ และนักประพันธ์ที่ชอบก็มีอยู่หลายท่าน ตัวอย่างเช่น หนังสือหัสนิยายของ ป. อินทปาลิต ที่เป็นชุดชื่อว่า "วัยหนุ่ม" ของสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ผู้เขียนชอบลักษณะการเขียนและมุกตลกที่แทรกไปกับบทสนทนาของตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหนังสือชุดนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคุณปัจจนึก หรือเจ้าแห้ว คนรับใช้ของบ้านสามเกลอ ที่มาพร้อมกับคำพูดเอกลักษณ์ว่า "รับประทาน" หรือเจ้าสัวกิมหงวนหนึ่งในสมาชิกของสามเกลอที่มีชื่อจริงว่า กิมหงวน ไทยแท้ มีนิสัยชอบฉีกแบ๊งค์ เป็นต้น ผู้เขียนคิดว่าคงต้องมีผู้อ่านบางท่านเคยอ่านหัสนิยายชุดนี้ของ ป. อินทปาลิต มาบ้างแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลองอ่านขอแนะนำว่าหัสนิยายชุดสามเกลอนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน



นักประพันธ์อีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนชอบอ่านงานของท่านมากคือ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ซึ่งท่านมีนามปากกาหลายชื่อด้วยกัน แต่ที่ผู้เขียนติดตามอ่านผลงานของท่านผู้นี้จะมีนามปากกาอยู่สองชื่อด้วยกันคือ "แก้วเก้า" กับ "ว.วินิจฉัยกุล" สำหรับนามปากกา "แก้วเก้า" นั้นท่านจะใช้สำหรับนวนิยายประเภทแฟนตาซี มีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ อย่างนวนิยายเรื่อง "เรือนมยุรา (นกยูงและคุณพระนาย)" "จากฝันสู่นิรันดร (ตรัยและคุณการะเกด)" เป็นต้น และใช้นามปากกา ว.วินิจฉัยกุลสำหรับนวนิยายแนวสมจริง เช่น "โสดสโมสร" "ฟ้าต่ำ" เป็นต้น แต่ที่เป็นที่น่าประทับใจและตรึงความสนใจของผู้เขียนได้มากที่สุดคือเรื่อง "รัตนโกสินทร์" จนมาถึงทุกวันนี้ยังไม่มีนวนิยายเล่มใดและเรื่องใดที่สร้างความประทับใจได้มากที่สุดและชักชวนให้ผู้เขียนสามารถอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้เหมือน "รัตนโกสินทร์" เล่มนี้เลย




"รัตนโกสินทร์" เป็นหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไว้อ่านนอกเวลา นอกจากนี้นิยายเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลเป็นหนังสือนวนิยายดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อีกด้วย

เรื่องโดยย่อของรัตนโกสินทร์กล่าวถึงตัวเอกของเรื่องคือ "พ่อฟัก" และ "แม่เพ็ง" โดยฉากและบรรยากาศที่เล่าเรื่องเป็นยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ ถึง ๓)

"พ่อฟัก" เป็นลูกเจ๊สัวนายเตาพ่อค้าจีนในยุคสมัยนั้น และมีแม่ชื่อแม่นายพลับที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ดังนั้นพ่อฟักจึงเป็นผู้ชายผิวขาวอย่างจีนในขณะที่มีเครื่องหน้าคมเข้มแบบไทยผสมมอญ ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยจากการค้าขาย แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะดูเหมือนว่าสกุลรุนชาติของ "พ่อฟัก" อาจจะดูน้อยไปหน่อยในสายตาของขุนน้ำขุนนาง

"แม่เพ็ง" เป็นธิดาของพระยาสุเรนทร เจ้าคุณปลัดทูลฉลองวังหน้าในแผ่นดินที่ ๑ และเนื่องจากเป็นบุตรสาวคนเดียวและหน้าตาผิวกายสะสวย บิดาจึงรักใคร่ตามใจแม่เพ็งเป็นหนักหนา จนทำให้แม่เพ็งมีนิสัยที่แตกต่างไปจากหญิงอื่นในกรุงรัตนโกสินทร์ในเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองและกล้าแสดงออกในยุคสมัยที่สิทธิสตรีไม่ได้รับการบัญญัติศัพท์ไว้

เส้นทางของ "ฟัก" และ "เพ็ง" มาบรรจบกันครั้งแรกเมื่อตอนแม่เพ็งมีอายุสิบปีและพ่อฟักในอายุที่แก่กว่าหล่อนสิบปีในคราวที่แม่เพ็งตกน้ำหน้าเรือนแพของหล่อน บังเอิญที่ฟักพายเรือมาเห็นเหตุการณ์พอดีจึงกระโดดลงไปช่วยเหลือหล่อนขึ้นมาจากน้ำได้ เพราะเหตุการณ์คราวนี้เองทำให้ชื่อของ "ฟัก" ที่เป็นทนายหน้าหอของคุณพระราชพินิจจัยซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อสามีของ "ส้มจีน" พี่สาวของฟัก เป็นที่รู้จักของครอบครัวพระยาสุเรนทร เจ้าคุณปลัดทูลฉลองวังหน้า ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าคุณฯ "แม่เรียม" ซึ่งเป็นแม่ของแม่เพ็ง รวมไปถึงบรรดาบ่าวไพร่ในบ้่าน รวมทั้งบ่าวคนสำคัญที่เป็นนางพี่เลี้ยงของแม่เพ็งคือ "นางไปล่"

ด้วยอุปนิสัยที่ขยันหมั่นเพียรในการใฝ่หาความรู้ รวมทั้งได้ทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเมืองเมื่อคราวไปออกศึก ฟักได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "หลวงแพ่ง" เมื่อมีอายุยี่สิบห้าปี โดยมีหน้าที่ชำระความคดีทั้งหลาย ในอายุยี่สิบห้าปีเช่นนี้ฟักได้ชื่อว่าเป็นผู้ชายที่แปลกแยกจากผู้ชายอื่นเพราะไม่มีเมียไม่ว่าจะเมียหลวง เมียบ่าว ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่การงานและสนใจแต่ตัวบทกฎหมายจนไม่สนใจผู้หญิงคนไหนไม่ว่า "แม่พลับ" โดยความช่วยเหลือจากพ่อสื่อตัวเอ้ที่เป็นน้องชายของฟักคือ "พ่อทั่ง" จะเพียรพยามเคี่ยวเข็ญให้ฟักไปดูตัวสาวตามบ้านต่างๆ ฟักก็จะคอยบ่ายเบี่ยงและหลีกเลี่ยง เพราะมีสาเหตุมาจากอาการอกหักสมัยรุ่นหนุ่มเพราะผู้หญิงนาม "แม่ช้อง" ตีจากหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามนักเลงฝิ่นบรรดาศักดิ์ที่มีเมียเต็มบ้านเต็มเมืองนาม "คุณสน" หลานรักเจ้าพระยาสมุหกลาโหม ขุนนางผู้ใหญ่โต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฟักไม่สนใจผู้หญิงคนไหนเลย

เมื่อแม่เพ็งมีอายุครบได้สิบปี แม่เรียมเห็นว่าลูกสาวตัวเองควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนวิชาการตามแบบฉบับผู้หญิงในรั้วในวัง ดังนั้นจึงส่งแม่เพ็งเข้าไปอยู่ในวังหลวงกับพี่สาวที่เป็นนางข้าหลวงอาวุโสของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีของรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อมีการผลัดแผ่นดินมาเป็นรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกมาประทับ ณ ตำหนักแดงในพระราชวังเดิม (กองทัพเรือปัจจุบัน)แม่เพ็งจึงตามเสด็จด้วย ซึ่งการที่มาอยู่ที่วังเดิมนี่เองทำให้แม่เพ็งได้มีโอกาสกลับไปบ้านบ้างเป็นครั้งคราว แต่คราวที่แม่เพ็งกลับไปทางบ้านทีไร สมเด็จท่านก็จะรับสั่งถึงเพราะขาดคนอ่านกลอนเรื่องอิเหนาถวาย เพราะแม่เพ็งหล่อนพอมีความรู้อ่านออกเขียนได้อยู่บ้าง

เส้นทางของฟักและแม่เพ็งมาบรรจบกันอีกครั้งและไม่เคยแยกจากกันอีกเลย เมื่อคราวแม่เพ็งในวัยสิบหกปีกลับมาเยี่ยมบ้านในขณะที่ขุนนางหนุ่ม "หลวงแพ่ง" ถูกแม่กับน้องชายบังคับให้ไปดูตัว "แม่ลำดวน" ลูกสาวขุนนางกรมท่า ในระหว่างทางที่ฟักและทั่งนั่งเรือพายที่บรรทุกไปด้วยผ้าแพรจีน ลูกไม้ผลไม้จีน และเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีนเพื่อไปกำนัลแก่ครอบครัวแม่ลำดวน เรือของฟักได้พายผ่านบ้านพระยาสุเรนทร ฟักเห็นทีได้โอกาสที่จะไม่ไปดูตัวผู้หญิงจึงบอกทั่งให้แวะบ้านพระยาสุเรนทรพร้อมนำของที่มากับเรือขึ้นไปกราบไหว้ผู้ใหญ่บ้านนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฟักและแม่เพ็งได้พบกันอีกครั้งจนผูกสมัครรักใคร่และแต่งงานร่วมชีวิตกันในที่สุด แต่ระหว่างนั้นทั้งสองต้องพบอุปสรรคมากมายจากเหตุการณ์และผู้คนต่างๆ แต่ทั้งคู่ก็ฝ่าฟันมาได้และที่สำคัญพ่อฟักก็ไม่เคยคิดจะหาเมียอื่นอีก คงเป็นผู้ชายที่แปลกจากผู้ชายอื่นในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่เพ็งเป็นเมียคนเดียว ในขณะที่ค่านิยมสมัยนั้นผู้ชายมักมีเมียหลายๆ คนไว้ประดับบารมี

ว.วินิจฉัยกุลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านว่า เรื่องราวของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของบรรพบุรุษของท่านคือแม่เพ็งและพ่อฟัก โดยอาศัยหลักฐานบันทึกเรื่องราวที่หลานปู่พ่อฟักที่เป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้จัดทำไว้ นอกจากนั้นผู้อ่านยังเห็นถึงความวิริยะของ ว.วินิจฉัยกุล สำหรับการทำการบ้านมาอย่างดีในเรื่องการค้นหาเอกสารและบันทึกเหตุการณ์ในสมัยนั้น รวมทั้งสอบถามกับผู้รู้ เปรียบได้กับการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

ตามความเห็นของผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างผู้เขียน นวนิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็็นเรื่องที่มีคุณค่ายิ่ง ผู้แต่งนวนิยายเรื่องนี้มีความสามารถมากในเรื่องของการใช้วรรณศิลป์เพื่อให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับการโลดแล่นของตัวละครต่างๆ และสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมบ้านเมืองในขณะนั้นได้อย่างแยบคาย แม้ว่าตัวผู้แต่งจะออกตัวว่าการแต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์มีกรอบจำกัดจินตนาการเพราะต้องอิงกับข้อเท็จจริงบางประการในอดีต นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากคือต้องระมัดระวังในการเอ่ยพาดพิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าจะต้องกล่าวถึงบุคคลผู้นั้นในแง่ร้าย เช่น กรณี "คลื่นใต้น้ำ" ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น

ที่สำคัญผู้เขียนประทับใจแนวคิดของ ว.วินิจฉัยกุล เกี่ยวกับนวนิยายของท่านเรื่องนี้ โดยท่านได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนนิยายเรื่องนี้ในคำนำของท่านตอนหนึ่งว่า

"นวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของไทยเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ในช่วงก่อนที่วิทยาการตะวันตก หรือเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้อง สภาพชีวิตแบบไทยดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากความเข้าใจของคนไทยในปัจจุบันออกไปทุกที นับว่าน่าเสียดายมาก เพราะการดำเนินชีวิตตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๓ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรแก่ความภูมิใจในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ และวรรณคดีของกรุงรัตนโกสินทร์...

ผู้เขียนคิดว่าหนังสือเล่มนี้สมควรมีติดไว้บนชั้นหนังสือเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเชื่อว่าจะมีหลายท่านเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจกับความเป็นไทยและเข้าใจรากเหง้าของเราขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

ดังนั้นตอนนี้ขออนุญาตจบการเล่าเรื่องตอนนี้แต่เพียงเท่านี้ก่อน คิดว่าคงต้องไปหาซื้อหนังสือรัตนโกสินทร์เล่มใหม่มาไว้บนชั้นหนังสือที่บ้าน เพราะเล่มเก่้าที่ซื้อหามาอ่านเมื่อเกือบสิบห้าปีที่แล้วเก่าคร่ำคร่า กระดาษเป็นสีเหลืองคล้ำไปหมดแล้ว เพราะหนังสือถูกใช้งานมาหลายรอบเต็มที

สำหรับการเล่าเรื่องเมืองควิเบกขอยกยอดไปคราวหน้าก็แล้วกัน

ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/721/7721/images/Pol_Nikon/samgler_03.jpg, http://siambookcenter.com/images/products/861_image.gif

ขอขอบคุณวีดีโอจาก youtube โดย naanping

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

หนึ่งเพลงสิบภาพกับหนึ่งความรู้สึก




บางสิ่งบางอย่างมิพักต้องอธิบายความให้ยืดยาว ได้ชมภาพพร้อมฟังเพลงประกอบละคร "รัตนโกสินทร์" ของ ว. วินิจฉัยกุล แล้ว คงมีคำตอบแล้วว่าหนึ่งเพลง หลากหลายภาพนี้ทำให้เราท่านผู้อาศัยอยู่ในรัตนโกสินทรศก ๒๒๘ รู้สึกเช่นไรบ้าง


ขอบคุณวีดีโอจาก youtube by denubthong