วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว (เนื้อหาแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบเรื่องเก่าๆ)




ใครหลายคนเคยพูดว่า หากอยากรู้ว่าคนไหนใครคนหนึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ให้จับสังเกตอาการแสดงออกทั้งทางสีหน้าและกิริยาอาการ หรือแม้กระทั่งคำรำพึงรำพันในช่วงเวลานั้นดูก็อาจจะพอจะเดาความรู้สึกนึกคิดของคนๆ นั้นได้

เรื่องเล่าในบล็อกนี้เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนไม่ได้อรรถาธิบายอะไรแก่ผู้อ่านมากนัก อยู่ๆ ก็เปิดขึ้นมาด้วยวิีดีโอภาพสไลด์ที่บังเิอิญได้ไปพบเจอใน youtube ที่โพสโดยคนไทยที่ใช้ชื่อว่า denubthong โดยมีข้อความประกอบว่า

"ดูภาพสไลด์ประกอบเพลงนี้แล้ว รู้สึก นึก คิดอะไรกันบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ชื่นชมในแผ่นดิน และบารมี และความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ และความรักสามัคคีของชาวไทยตั้งแต่อดีต แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก และไม่วุ่นเหมือนในปัจจุบัน" รายละเอียดตาม link นี้

www.youtube.com/watch?v=I26PTJC9_nA&feature=related

ที่บังเอิญเหลือเกินว่าความรู้สึกนึกคิดของผู้โพสตรงกับความรู้สึกของผู้เขียนในช่วงเวลานี้พอดี มีหลายครั้งหลายคราที่ผู้เขียนนึกคิดและจินตนาการย้อนกลับไปยังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่สองและสาม มาถึงตรงนี้แล้วคงจับความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของผู้เขียนในช่วงเวลานี้ได้

ในสมัยนั้นตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า บ้านเมืองสงบสุขและรุ่งเรืองสุดขีดเพราะไม่มีศึกใดๆ ติดพัน ทำให้พระมหากษัตริย์และคนสยามในยุคนั้นมีเวลามากมายที่จะคิดอ่านในการสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองไม่่ว่าจะเป็นการรังสรรค์ผลงานบทประพันธ์ประเภท กาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน ของกวีในสมัยรัชกาลที่สอง หรือการทำมาค้าขายไปทางเรือสำเภากับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนจนมีเิงินมากมายล้นพระคลังในสมัยรัชกาลที่สาม ที่เรียกว่า "เงินถุงแดง" ซึ่ง "เงินถุงแดง" ที่เป็นทรัพย์สินตกทอดจากรัชกาลที่สามนี่เองที่ช่วยให้บ้านเมืองของเรารอดพ้นจากภยันตรายและการคุกคามของชาติมหาอำนาจในยุคสมัยนั้นมาได้

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้เขียนมีจินตนาการและอยากรู้อยากเห็นโดยละเอียดถึงความเป็นไปของสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษในยุคนั้น ประการแรกน่าจะมาจากเคยอยู่ในรั้วในวังมาก่อน ก็ที่เคยเล่าให้ฟังว่าเคยทำงานในพระบรมมหาราชวังเมื่อสิบหกสิบเจ็ดปีที่แล้วนั่นแหละ ก็คิดว่าตัวเองคงซึมซับเรื่องราวสมัยก่อนรวมทั้งของเก่าภายในรั้วในวังนั่นเอง

อีกประการที่คิดว่าสำคัญน่าจะเป็นเพราะนิสัยชอบอ่านหนังสือของตัวเองเป็นแน่ เพราะตั้งแต่เด็กมาจนโตป่านนี้ช่วงเวลาหย่อนใจที่มีความสุขที่สุดคือการได้อ่านหนังสือที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน นิยาย หรือไปจนกระทั่งหนังสือวิชาการ ถ้าชอบก็จะหมกหมุ่นอ่านซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง สำหรับหนังสือนวนิยายที่ถูกอกถูกใจผู้เขียนมีค่อนข้างเยอะ และนักประพันธ์ที่ชอบก็มีอยู่หลายท่าน ตัวอย่างเช่น หนังสือหัสนิยายของ ป. อินทปาลิต ที่เป็นชุดชื่อว่า "วัยหนุ่ม" ของสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ผู้เขียนชอบลักษณะการเขียนและมุกตลกที่แทรกไปกับบทสนทนาของตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหนังสือชุดนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคุณปัจจนึก หรือเจ้าแห้ว คนรับใช้ของบ้านสามเกลอ ที่มาพร้อมกับคำพูดเอกลักษณ์ว่า "รับประทาน" หรือเจ้าสัวกิมหงวนหนึ่งในสมาชิกของสามเกลอที่มีชื่อจริงว่า กิมหงวน ไทยแท้ มีนิสัยชอบฉีกแบ๊งค์ เป็นต้น ผู้เขียนคิดว่าคงต้องมีผู้อ่านบางท่านเคยอ่านหัสนิยายชุดนี้ของ ป. อินทปาลิต มาบ้างแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลองอ่านขอแนะนำว่าหัสนิยายชุดสามเกลอนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน



นักประพันธ์อีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนชอบอ่านงานของท่านมากคือ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ซึ่งท่านมีนามปากกาหลายชื่อด้วยกัน แต่ที่ผู้เขียนติดตามอ่านผลงานของท่านผู้นี้จะมีนามปากกาอยู่สองชื่อด้วยกันคือ "แก้วเก้า" กับ "ว.วินิจฉัยกุล" สำหรับนามปากกา "แก้วเก้า" นั้นท่านจะใช้สำหรับนวนิยายประเภทแฟนตาซี มีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ อย่างนวนิยายเรื่อง "เรือนมยุรา (นกยูงและคุณพระนาย)" "จากฝันสู่นิรันดร (ตรัยและคุณการะเกด)" เป็นต้น และใช้นามปากกา ว.วินิจฉัยกุลสำหรับนวนิยายแนวสมจริง เช่น "โสดสโมสร" "ฟ้าต่ำ" เป็นต้น แต่ที่เป็นที่น่าประทับใจและตรึงความสนใจของผู้เขียนได้มากที่สุดคือเรื่อง "รัตนโกสินทร์" จนมาถึงทุกวันนี้ยังไม่มีนวนิยายเล่มใดและเรื่องใดที่สร้างความประทับใจได้มากที่สุดและชักชวนให้ผู้เขียนสามารถอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้เหมือน "รัตนโกสินทร์" เล่มนี้เลย




"รัตนโกสินทร์" เป็นหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไว้อ่านนอกเวลา นอกจากนี้นิยายเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลเป็นหนังสือนวนิยายดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อีกด้วย

เรื่องโดยย่อของรัตนโกสินทร์กล่าวถึงตัวเอกของเรื่องคือ "พ่อฟัก" และ "แม่เพ็ง" โดยฉากและบรรยากาศที่เล่าเรื่องเป็นยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ ถึง ๓)

"พ่อฟัก" เป็นลูกเจ๊สัวนายเตาพ่อค้าจีนในยุคสมัยนั้น และมีแม่ชื่อแม่นายพลับที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ดังนั้นพ่อฟักจึงเป็นผู้ชายผิวขาวอย่างจีนในขณะที่มีเครื่องหน้าคมเข้มแบบไทยผสมมอญ ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยจากการค้าขาย แต่อย่างไรก็ตามก็อาจจะดูเหมือนว่าสกุลรุนชาติของ "พ่อฟัก" อาจจะดูน้อยไปหน่อยในสายตาของขุนน้ำขุนนาง

"แม่เพ็ง" เป็นธิดาของพระยาสุเรนทร เจ้าคุณปลัดทูลฉลองวังหน้าในแผ่นดินที่ ๑ และเนื่องจากเป็นบุตรสาวคนเดียวและหน้าตาผิวกายสะสวย บิดาจึงรักใคร่ตามใจแม่เพ็งเป็นหนักหนา จนทำให้แม่เพ็งมีนิสัยที่แตกต่างไปจากหญิงอื่นในกรุงรัตนโกสินทร์ในเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองและกล้าแสดงออกในยุคสมัยที่สิทธิสตรีไม่ได้รับการบัญญัติศัพท์ไว้

เส้นทางของ "ฟัก" และ "เพ็ง" มาบรรจบกันครั้งแรกเมื่อตอนแม่เพ็งมีอายุสิบปีและพ่อฟักในอายุที่แก่กว่าหล่อนสิบปีในคราวที่แม่เพ็งตกน้ำหน้าเรือนแพของหล่อน บังเอิญที่ฟักพายเรือมาเห็นเหตุการณ์พอดีจึงกระโดดลงไปช่วยเหลือหล่อนขึ้นมาจากน้ำได้ เพราะเหตุการณ์คราวนี้เองทำให้ชื่อของ "ฟัก" ที่เป็นทนายหน้าหอของคุณพระราชพินิจจัยซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อสามีของ "ส้มจีน" พี่สาวของฟัก เป็นที่รู้จักของครอบครัวพระยาสุเรนทร เจ้าคุณปลัดทูลฉลองวังหน้า ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าคุณฯ "แม่เรียม" ซึ่งเป็นแม่ของแม่เพ็ง รวมไปถึงบรรดาบ่าวไพร่ในบ้่าน รวมทั้งบ่าวคนสำคัญที่เป็นนางพี่เลี้ยงของแม่เพ็งคือ "นางไปล่"

ด้วยอุปนิสัยที่ขยันหมั่นเพียรในการใฝ่หาความรู้ รวมทั้งได้ทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเมืองเมื่อคราวไปออกศึก ฟักได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "หลวงแพ่ง" เมื่อมีอายุยี่สิบห้าปี โดยมีหน้าที่ชำระความคดีทั้งหลาย ในอายุยี่สิบห้าปีเช่นนี้ฟักได้ชื่อว่าเป็นผู้ชายที่แปลกแยกจากผู้ชายอื่นเพราะไม่มีเมียไม่ว่าจะเมียหลวง เมียบ่าว ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่การงานและสนใจแต่ตัวบทกฎหมายจนไม่สนใจผู้หญิงคนไหนไม่ว่า "แม่พลับ" โดยความช่วยเหลือจากพ่อสื่อตัวเอ้ที่เป็นน้องชายของฟักคือ "พ่อทั่ง" จะเพียรพยามเคี่ยวเข็ญให้ฟักไปดูตัวสาวตามบ้านต่างๆ ฟักก็จะคอยบ่ายเบี่ยงและหลีกเลี่ยง เพราะมีสาเหตุมาจากอาการอกหักสมัยรุ่นหนุ่มเพราะผู้หญิงนาม "แม่ช้อง" ตีจากหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามนักเลงฝิ่นบรรดาศักดิ์ที่มีเมียเต็มบ้านเต็มเมืองนาม "คุณสน" หลานรักเจ้าพระยาสมุหกลาโหม ขุนนางผู้ใหญ่โต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฟักไม่สนใจผู้หญิงคนไหนเลย

เมื่อแม่เพ็งมีอายุครบได้สิบปี แม่เรียมเห็นว่าลูกสาวตัวเองควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนวิชาการตามแบบฉบับผู้หญิงในรั้วในวัง ดังนั้นจึงส่งแม่เพ็งเข้าไปอยู่ในวังหลวงกับพี่สาวที่เป็นนางข้าหลวงอาวุโสของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีของรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อมีการผลัดแผ่นดินมาเป็นรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกมาประทับ ณ ตำหนักแดงในพระราชวังเดิม (กองทัพเรือปัจจุบัน)แม่เพ็งจึงตามเสด็จด้วย ซึ่งการที่มาอยู่ที่วังเดิมนี่เองทำให้แม่เพ็งได้มีโอกาสกลับไปบ้านบ้างเป็นครั้งคราว แต่คราวที่แม่เพ็งกลับไปทางบ้านทีไร สมเด็จท่านก็จะรับสั่งถึงเพราะขาดคนอ่านกลอนเรื่องอิเหนาถวาย เพราะแม่เพ็งหล่อนพอมีความรู้อ่านออกเขียนได้อยู่บ้าง

เส้นทางของฟักและแม่เพ็งมาบรรจบกันอีกครั้งและไม่เคยแยกจากกันอีกเลย เมื่อคราวแม่เพ็งในวัยสิบหกปีกลับมาเยี่ยมบ้านในขณะที่ขุนนางหนุ่ม "หลวงแพ่ง" ถูกแม่กับน้องชายบังคับให้ไปดูตัว "แม่ลำดวน" ลูกสาวขุนนางกรมท่า ในระหว่างทางที่ฟักและทั่งนั่งเรือพายที่บรรทุกไปด้วยผ้าแพรจีน ลูกไม้ผลไม้จีน และเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีนเพื่อไปกำนัลแก่ครอบครัวแม่ลำดวน เรือของฟักได้พายผ่านบ้านพระยาสุเรนทร ฟักเห็นทีได้โอกาสที่จะไม่ไปดูตัวผู้หญิงจึงบอกทั่งให้แวะบ้านพระยาสุเรนทรพร้อมนำของที่มากับเรือขึ้นไปกราบไหว้ผู้ใหญ่บ้านนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฟักและแม่เพ็งได้พบกันอีกครั้งจนผูกสมัครรักใคร่และแต่งงานร่วมชีวิตกันในที่สุด แต่ระหว่างนั้นทั้งสองต้องพบอุปสรรคมากมายจากเหตุการณ์และผู้คนต่างๆ แต่ทั้งคู่ก็ฝ่าฟันมาได้และที่สำคัญพ่อฟักก็ไม่เคยคิดจะหาเมียอื่นอีก คงเป็นผู้ชายที่แปลกจากผู้ชายอื่นในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีแม่เพ็งเป็นเมียคนเดียว ในขณะที่ค่านิยมสมัยนั้นผู้ชายมักมีเมียหลายๆ คนไว้ประดับบารมี

ว.วินิจฉัยกุลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านว่า เรื่องราวของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของบรรพบุรุษของท่านคือแม่เพ็งและพ่อฟัก โดยอาศัยหลักฐานบันทึกเรื่องราวที่หลานปู่พ่อฟักที่เป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้จัดทำไว้ นอกจากนั้นผู้อ่านยังเห็นถึงความวิริยะของ ว.วินิจฉัยกุล สำหรับการทำการบ้านมาอย่างดีในเรื่องการค้นหาเอกสารและบันทึกเหตุการณ์ในสมัยนั้น รวมทั้งสอบถามกับผู้รู้ เปรียบได้กับการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

ตามความเห็นของผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างผู้เขียน นวนิยายเรื่องนี้ถือว่าเป็็นเรื่องที่มีคุณค่ายิ่ง ผู้แต่งนวนิยายเรื่องนี้มีความสามารถมากในเรื่องของการใช้วรรณศิลป์เพื่อให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับการโลดแล่นของตัวละครต่างๆ และสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมบ้านเมืองในขณะนั้นได้อย่างแยบคาย แม้ว่าตัวผู้แต่งจะออกตัวว่าการแต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์มีกรอบจำกัดจินตนาการเพราะต้องอิงกับข้อเท็จจริงบางประการในอดีต นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากคือต้องระมัดระวังในการเอ่ยพาดพิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าจะต้องกล่าวถึงบุคคลผู้นั้นในแง่ร้าย เช่น กรณี "คลื่นใต้น้ำ" ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น

ที่สำคัญผู้เขียนประทับใจแนวคิดของ ว.วินิจฉัยกุล เกี่ยวกับนวนิยายของท่านเรื่องนี้ โดยท่านได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนนิยายเรื่องนี้ในคำนำของท่านตอนหนึ่งว่า

"นวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของไทยเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ในช่วงก่อนที่วิทยาการตะวันตก หรือเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้อง สภาพชีวิตแบบไทยดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากความเข้าใจของคนไทยในปัจจุบันออกไปทุกที นับว่าน่าเสียดายมาก เพราะการดำเนินชีวิตตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๓ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรแก่ความภูมิใจในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ และวรรณคดีของกรุงรัตนโกสินทร์...

ผู้เขียนคิดว่าหนังสือเล่มนี้สมควรมีติดไว้บนชั้นหนังสือเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเชื่อว่าจะมีหลายท่านเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจกับความเป็นไทยและเข้าใจรากเหง้าของเราขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

ดังนั้นตอนนี้ขออนุญาตจบการเล่าเรื่องตอนนี้แต่เพียงเท่านี้ก่อน คิดว่าคงต้องไปหาซื้อหนังสือรัตนโกสินทร์เล่มใหม่มาไว้บนชั้นหนังสือที่บ้าน เพราะเล่มเก่้าที่ซื้อหามาอ่านเมื่อเกือบสิบห้าปีที่แล้วเก่าคร่ำคร่า กระดาษเป็นสีเหลืองคล้ำไปหมดแล้ว เพราะหนังสือถูกใช้งานมาหลายรอบเต็มที

สำหรับการเล่าเรื่องเมืองควิเบกขอยกยอดไปคราวหน้าก็แล้วกัน

ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/721/7721/images/Pol_Nikon/samgler_03.jpg, http://siambookcenter.com/images/products/861_image.gif

ขอขอบคุณวีดีโอจาก youtube โดย naanping

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

หนึ่งเพลงสิบภาพกับหนึ่งความรู้สึก




บางสิ่งบางอย่างมิพักต้องอธิบายความให้ยืดยาว ได้ชมภาพพร้อมฟังเพลงประกอบละคร "รัตนโกสินทร์" ของ ว. วินิจฉัยกุล แล้ว คงมีคำตอบแล้วว่าหนึ่งเพลง หลากหลายภาพนี้ทำให้เราท่านผู้อาศัยอยู่ในรัตนโกสินทรศก ๒๒๘ รู้สึกเช่นไรบ้าง


ขอบคุณวีดีโอจาก youtube by denubthong