วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

gimme a break



April 2009 ........ sick & tired...............gimme a break


March 2010....... discouraged................gimme a break


April...May.... 2010.... civil war? genocide & bloodshed?!!!!
give us a break those shit and damn bastards





Video credit to youtube by 2331152channel

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าเก็บตกจาก MACKPACKER

เมื่อตอนที่แล้วตั้งใจว่าจะให้เป็นบทส่งท้ายของการเล่าเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวแบบ backpack ของผู้เขียนในหลายๆ เมืองของแคนาดาและอเมริกา ในช่วงปิดภาคเรียนในเทศกาลคริสต์มาส แต่ก็ยังมีเรื่องเล่าเล็กน้อยที่ยังคงค้างอยู่ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงไม่เล่าเรื่องต่อในช่วงที่ท่องเที่ยวที่บอสตันและดีซีในอเมริกา ก็อยากจะบอกในที่นี้ว่าผู้เขียนเห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากคุ้นเคยกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของอเมริกาอยู่แล้ว ดีไม่ดีผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยไปเที่ยวกันจนหลับตาเดินกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมิธโซเนียน ทำเนียบขาว หรือที่ทำการรัฐบาลหลายๆ แห่ง หรือไม่ว่าจะเป็น Harvard U. มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ผู้เขียนเลยไม่ขอเล่าดีกว่า จะกลายเป็นว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนกันซะเปล่าๆ ประกอบกับชื่อหัวเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเล่าในแคนาดา เดี๋ยวจะไม่เข้า concept ชื่อเรื่อง แต่ที่อยากจะนำมาเล่าเป็นเรื่องเก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อสถานที่หรือผู้คนในบอสตันและดีซี

ผู้เขียนไปถึงบอสตันในตอนเช้าตรู่ของวันที่ยี่สิบสามธันวาคมและอยู่ในเมืองนี้จนถึงวันที่ยี่สิบหก เมื่อแรกไปถึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอเมริกา เพราะบรรยากาศเงียบมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสดังนั้นร้านรวงต่างๆ จึงปิดทำการ แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวในบางแห่ง แต่ยังไงก็ตามผู้เขียนก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่หนึ่งสมความตั้งใจของคนไทยที่รักในหลวงอย่างผู้เขียนนั่นก็คือ โรงพยาบาล Mount Auburn อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของในหลวง ที่ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์อันเป็นส่วนหนึ่งของ Greater Boston Area เพียงแต่ข้ามแม่น้ำ Charles จากบอสตันมาก็จะมาถึงยังเมือง Cambridge เมืองอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกสองแห่งคือ Harvard และ MIT

ผู้เขียนประทับใจความมีน้ำจิตน้ำใจของชาวอเมริกันที่เมืองบอสตันค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มและความเอื้อเฟื้อที่ช่วยเหลือในการบอกเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้กับผู้เขียน หรือการแสดงการเป็นเจ้าภาพที่ดีเมื่อยามผู้เขียนเข้าไปสังเกตการณ์การทำพิธีของชาวคริสต์ในค่ำคืนวันที่ยี่สิบสี่ธันวาคมในโบสถ์ใหญ่ประจำเมืองบอสตัน ผู้เขียนยอมรับว่ามีความรู้สึกดีกับคนอเมริกันที่บอสตันเกินกว่าที่คาดหวังไว้

ผู้เขียนออกจากบอสตันในวันที่ยี่สิบหกธันวาคมในเวลาสี่ทุ่มเพื่อเดินทางต่อไปยังวอชิงตันดีซี โดยมาแวะัพักเพื่อเปลี่ยนรถที่นิวยอร์กซิตี้ช่วงประมาณตีสอง ต่อจากนั้นช่วงเวลาตีสามเศษก็ไ้ด้เวลาเดินทางต่อไปยังวอชิงตันดีซี ในขณะที่รถแล่นมาถึงสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำฮัดสัน(จำชื่อสะพานไม่ได้เพราะที่นี่มีสะพานเยอะมาก)เพื่อข้ามไปยังฝั่งนิวเจอร์ซีย์ ผู้เขียนมองออกไปนอกหน้าต่างรถมองไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ก็ยังคงเห็นแสงไฟตามตึกราม อาคารสูงระฟ้าที่ส่องสว่างเจิดจ้าไปทั่วมหานครใหญ่ที่ไม่มีวันหลับแห่งนี้ ก็ให้รู้สึกว่าตัวเองช่างเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงยังไงก็ไม่รู้ ถึงแม้จะเป็นคนมาจากกรุงเทพมหานครของบ้านเราก็เถอะ ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งของทอม ครูส สมัยยังหนุ่มๆ เรื่อง Cocktail ที่ครูสรับบทเป็นเด็กหนุ่มมาจากเมืองชนบทเล็กๆ ต้องการมาตามหาฝันของตนเองในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก เมื่อแรกมาถึงและเห็นสภาพความเจริญของมหานครนี้ทำให้เด็กหนุ่มจากเมืองชนบทอย่างครูสรู้สึกตื่นเต้น ก็คงคล้ายๆ กับความรู้สึกของผู้เขียนในช่วงเวลานี้



ทั้งๆ ที่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนมานิวยอร์กซิตี้ จะว่าไปแล้วผู้เขียนมาที่นี่หลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งก็จะรู้สึกแบบนี้ทุกที อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้กิตติศัพท์ของเมืองนี้ในแง่ลบ ทำให้ผู้เขียนต้องระมัดระวังตัวอย่างมากเวลาจะท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ในเมืองนี้ ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาจะไปไหนต่อไหน ยังไงก็ตามผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่านิวยอร์กซิตี้ก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเองในบางสิ่งบางอย่าง ไม่เช่นนั้นจะดึงดูดให้ผู้เขียนมาได้บ่อยๆ ได้อย่างไรกัน

ผู้เขียนมาถึงเมืองหลวงของอเมริกาในเช้าวันที่ยี่สิบเจ็ด บรรยากาศช่วงเช้าในเมืองหลวงไม่ค่อยวุ่นวายเมื่อเทียบกับนิวยอร์กซิตี้ ที่สำคัญผู้เขียนชอบความสะอาดสะอ้านและทันสมัยของรถไฟใต้ดินที่ดีซีจริงๆ ถ้าจะว่าไปในบรรดาความเก่าแก่และไม่ค่อยสะอาดของรถไฟใต้ดิน ที่บอสตันน่าจะได้รับรางวัลที่หนึ่งแต่ก็เป็นเพราะว่ารถไฟใต้ดินที่บอสตันมีอายุอานามยาวนานมากแล้ว และก็เป็นรถไฟใต้ดินสายแรกที่สร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกาจะไม่ให้เก่าบุโรทั่งยังไงไหว แต่ถ้าพูดถึงรถไฟใต้ดินที่มีเส้นทางการเดินรถที่ซับซ้อนชวนให้น่าสับสนที่สุด นิวยอร์กซิตี้ก็สมควรได้รับรางวัลนี้ไป เพราะมีทั้งสาย express ไม่ express มีสามรางสี่รางแล่นขนานกันไป ทำเอาผู้เขียนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในการใช้รถไฟใต้ดินถึงกับงงงวยไปพักใหญ่เมื่อไปถึงนิวยอร์กซิตี้เป็นครั้งแรก

DC Green Line Metro



ผู้เขียนใช้เวลาท่องเที่ยวไปตามสถานที่ทำการของรัฐบาลอยู่สองสามวัน ก็ได้คำตอบสำหรับตนเองว่า วอชิงตันดีซีมีบางสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ สิ่งแรกคือความมีน้ำใจของเจ้าของร้านอาหารไทยที่ผู้เขียนไปฝากท้องไว้หลายมื้อ หลังจากที่การเดินทางก่อนหน้านี้ในหลายๆ วันพึ่งพาอาศัยแต่ McDonald's ถึงแม้จะมีชื่อพยางค์แรกชื่อเดียวกันกับร้านฟาสท์ฟู้ดที่ว่า แต่ก็ไม่ได้พิสมัยการกินอาหารแบบนั้นนัก พอหลังๆ มาชักจะไม่ไหวยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อขอกินอาหารบ้านเราบ้างดีกว่า ยังไงก็ใกล้จะกลับแคนาดาแล้ว ร้านอาหารไทยที่พูดถึงมีชื่อร้านว่า "HADD THAI Restaurant" มีเว็บไซท์ด้วยตามข้างล่าง

http://www.haadthairestaurant.com

ร้านนี้ตั้งอยู่เลขที่ 1100 New York Ave., NW ตามแผนที่ข้างล่าง



ผู้เขียนประทับใจการบริการและความมีน้ำใจของเจ้าของร้าน เท่าที่ดูและก็คิดเดาเอาเองคิดว่าร้านนี้น่าจะเป็นร้านที่ร่วมหุ้นกันระหว่างเพื่อนฝูง ดูอายุอานามเจ้าของร้านแต่ละคนไม่น่ามากน่าจะอยู่ระหว่างช่วงยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบปลายๆ ด้วยความที่ผู้เขียนเคยไปใช้บริการร้านอาหารไทยในเมืองนอกเมืองนาแล้วหลายครั้ง ยอมรับว่าบางครั้งเคยพบกับความไม่ยินดียินร้ายที่จะให้บริการคนไทยด้วยกันจากร้านอาหารบางร้าน พอมาเจอการบริการแบบประทับใจของร้าน HADD THAI เข้าก็เลยอดที่จะนำมาพูดไม่ได้ ร้านนี้ตกแต่งค่อนข้างทันสมัย มีแขกมาใช้บริการค่อนข้างเยอะ เพราะแถบใกล้เคียงเป็นอาคารสำนักงานจำนวนมาก จำได้ว่าก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเดินทางไปสถานีรถโดยสารเพื่อกลับแคนาดาก็แวะไปกินอาหารร้านนี้อีก พอจะเรียกเก็บเงินเจ้าของร้านให้พนักงานเดินถือถ้วยไอศครีมมาให้ ผู้เขียนก็เลยทำหน้างง แล้วบอกว่าไม่ได้สั่ง เจ้าของร้านก็เดินมาบอกว่าไม่ได้สั่งแต่แถมให้พร้อมกับส่งรอยยิ้มที่น่าประทับใจมาให้ เลยทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีดีกับความมีน้ำใจของเจ้าของร้านนี้

หลังจากนั้นผู้เขียนเดินทางมาถึงสถานีรถโดยสารเมื่อประมาณสี่โมงเย็นเศษๆ เพราะมีกำหนดการเดินทางออกจากดีซีประมาณหกโมงเย็นเพื่อจะไปเมืองบัฟฟาโลที่เป็นเมืองชายแดนติดกับแคนาดา แต่พระเจ้าช่วยกล้วยทอดหลังจากที่ฝ่าพายุหิมะจาก downtown DC เพื่อจะมาสถานีรถโดยสารด้วยความยากลำบาก เพียงเพื่อจะมาพบว่าเขาประกาศหยุดการเดินรถทุกเส้นทาง เนื่องจากมีหิมะตกหนักปกคลุมเส้นทางถนนสายหลักไปทุกสาย ทำให้รถไม่สามารถแล่นฝ่าไปได้ ช่วงนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าละล้าละลังพอสมควรไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ เคยดูแต่ภาพข่าวต่างประเทศในบ้านเราที่ออกข่าวว่ามีพายุหิมะตกที่นั่นที่นี่ ทำให้เส้นทางถนนถูกตัดขาด ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาเจอกับตัวเองเข้าจังๆ ภาพความโกลาหลในสถานีรถโดยสารของผู้โดยสารที่ตกค้างดูเหมือนจะเพิ่มความวิตกให้ผู้เขียน และยิ่งเมื่อเอากระเป๋าตังค์ขึ้นมานับดูเงินสดที่เหลือก็ยิ่งกังวลเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะในกระเป๋าเงินเหลือเงินสดไม่พอจ่ายค่าเช่าที่พักที่ hostel อีกหนึ่งคืนหากมีความจำเป็นจะต้องกลับไปพักค้่างที่นั่นอีก ที่เหลือก็มีแต่บัตรเอทีเอ็ม/เดบิตของธนาคาร Scotia Bank ของแคนาดา ซึ่งคงไม่มีตู้ atm ที่นี่เป็นแน่ แล้วก็บัตรเครดิตอีกสองใบซึ่งถึงยังไงๆ ก็ไม่อุ่นใจเท่ากับการมีเงินสดในกระเป๋าไว้บ้าง

หลังจากเวลาผ่านไปร่วมชั่วโมง และตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรต่อไปดี ทันใดนั้นเองก็มีเสียงประกาศเรียกผู้โดยสารที่จะเดินทางไปเมืองบัฟฟาโล โดยจะมีรถโดยสารออกจากสถานีเพื่อเดินทางไปเมืองบัฟฟาโลแต่การเดินรถจะต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางสายรองๆ ลงไป เพราะถนนสายหลักยังคงใช้การไม่ได้ พอได้ฟังประกาศดังนันผู้เขียนรีบขึ้นรถทันทีกลัวเขาเปลี่ยนใจ สรุปว่าบนรถคันนั้นมีผู้โดยสารอยู่ประมาณสามสี่คนรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย ซึ่งหลังจากนั้นเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร หยุดรถเป็นพักๆ ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยให้เขาเกลี่ยหิมะออกจากถนน เป็นอันว่าผู้เขียนมาถึงเมืองบัฟฟาโลด้วยความสวัสดิภาพในช่วงใกล้เที่ยงของอีกวัน ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิมไปหลายชั่วโมง แต่ก็คิดว่าเอาเหอะให้มาถึงก็พอแล้ว พอมองออกไปนอกสถานีรถโดยสารเห็นรถ greyhound canada เส้นทาง บัฟฟาโล-โตรอนโต มาจอดรอรับผู้โดยสารอยู่ภายนอก ก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความกังวลลงไปมาก และก็คิดว่าการผจญภัยในการเดินทางคนเดียวครั้งนี้กำลังจะจบลงแล้วด้วยความสวัสดิภาพ

Video credit to youtube by arab30002, supersonic 3783

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 14: MACKPACKER (หลงในตอนจบ)

เป็นเวลาร่วมสองเดือนที่ไม่ได้มาอัพบล็อกเลย ไฟสำหรับการเขียนเล่าเรื่องเกือบจะจุดไม่ติดแ้ล้วเนี่ย ทั้งงานราษฎร์งานหลวงเต็มมือไปหมด แต่ก็เป็นงานที่ผู้เขียนเลือกแล้วและเป็นงานที่ชอบ จะพูดมากไปกระไรได้ เพิ่งมีโอกาสมาเปิดดูบล็อกตัวเองก็วันนี้หลังจากให้พี่ธเนศ วรากุลนุเคราะห์กับลุงคิดและชิดชัยในแดนศิวิไลซ์ช่วยเฝ้าบล็อกไปพลางก่อน เห็นมีคนเข้ามาเยี่ยมเยียนดูเหมือนกัน ขอบคุณผู้อ่านที่ยังคอยแวะเวียนมาดูข่าวคราวบล็อกนี้

หวังว่าช่วงนี้ผู้อ่านที่เป็นชาวกรุงเทพฯ คงจะไม่คร่ำเครียดมากไปกับกลุ่มตัวไรสีแดงๆ ที่เดินยั้วเยี้ยทำกิจกรรมสกปรกโสโครกอยู่แถวราชดำเนิน บางครั้งบางคราพอได้น้ำเลี้ยงจากไรแดงตัวพ่อก็ออกอาละวาดป่วนให้คนกรุงอย่างเราปวดหัวเล่นซะทีหนึ่ง ตอนนี้ก็ออกฤทธิ์ออกเดชที่ราชประสงค์ ร่ำๆ จะเอาระบอบอันธพาลแบบอนาธิปไตยมาปกครองบ้านนี้เมืองนี้ให้ได้ ใครเห็นด้วยกับไอ้พวกนี้ถ้าไม่บ้าก็คงเลวสุดขั้ว ชั่วสุดใจเหมือนไอ้มะเร็งตัวนั้นแน่ๆ อย่างเราๆ ก็เลยต้องอดทนกันให้ถึงที่สุด ถึงเวลาเหมาะเมื่อไรก็ให้ทั้งกฎแห่งกรรมและกฎหมายชำระสะสางกันไป

กลับมาเ่ล่าเรื่องที่แคนาดาต่อกันดีกว่า เมื่อตอนที่แล้วเ่ล่าค้างถึงสภาพบ้านเมืองของควิเบก และก็สถานที่เที่ยวของเมืองนี้ อันที่จริงผู้เขียนก็ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนได้อย่างใจคิด เพราะหิมะเป็นอุปสรรคอย่างที่พูดมาเมื่อตอนที่แล้ว หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมเยือนสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองนี้สองสามแห่ง นอกนั้นผู้เขียนก็ได้แต่เดินเที่ยวเล่นดูกิจกรรมของคนเมืองนี้ไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเล่นสเก๊ตน้ำแข็งหรือว่าสกี รู้สึกตัวเองในขณะนั้นได้ว่าไม่ค่อยสนุกเหมือนกับที่มอนทรีอัลที่มีเพื่อนร่วมห้องเดินทางไปโน่นไปนี่ อาจจะเป็นเพราะที่นี่คนมาเที่ยวน้อย คนก็มาพักที่ hostel น้อยลงไปด้วย ทำให้จัดกิจกรรมกลุ่มไม่ได้เพราะไม่มีคนใช้บริการ ผู้เขียนเลยใช้เวลาที่เหลือนั่งเซ็งอยู่ที่ hostel ใช้เวลาดูหนัง ทำกับข้าวกินเองเพื่อใช้ของสดที่ซื้อมาให้หมดๆ ไป

วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2543

หลังจากใช้เวลาเดินทางจากควิเบกซิตี้ประมาณสามชั่วโมงเศษ ผู้เขียนก็เดินทางกลับมาที่มอนทรีอัลอีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณบ่ายโมงเศษ เพื่อจะมารอนั่งรถต่อไปบอสตันช่วงสี่ทุ่ม ระหว่างนั้นก็ท่องเที่ยวไปตามสถานที่เดิมๆ ที่เคยเล่าเมื่อตอนเที่ยวที่มอนทรีอัลครั้งที่แล้ว แต่จะใช้เวลานานหน่อยที่ underground city และยิ่งเป็นประเภทร้านหนังสืออย่าง Chapters ที่เป็นร้านหนังสือประเภท chain ของแคนาดา ก็จะอยู่นานหน่อยเพราะเป็นคนชอบซื้อและอ่านหนังสืออยู่แล้ว



เวลาผ่านไปแป๊ปๆ ก็เกือบได้เวลาที่จะต้องไปรอรถแล้ว ช่วงนั้นได้รับแจ้งก่อนล่วงหน้าว่าควรไปรอรถแต่เนิ่นๆ เพราะว่าเป็นวันศุกร์และใกล้กับเทศกาลคริสต์มาส ดังนั้นคนเดินทางจึงเยอะมาก



มองไปรอบตัว เห็นคนเดินทางมากันเป็นกลุ่มบ้าง บางทีก็มาเป็นคู่ หรือบางทีก็มีคนในครอบครัวมาส่งร่ำลากันขึ้นรถ ดูวุ่นวายเต็มสถานีรถโดยสาร หันมาดูตัวเองไม่มีใคร นั่งหัวเดียวกระเทียมลีบจริงๆ แว๊บหนึ่งที่เข้ามาในความรู้สึกคือความเหงา แล้วก็ตั้งคำถามในใจว่าเรามาทำอะไรที่นี่ หันไปมองรอบตัวอีกที ก็เห็นอะไรบางอย่าง "อืม open กันดีจริงๆ" ผู้เขียนนึกในใจ สักพักก็ตัดสินใจเดินไปที่โทรศัพท์สาธารณะ




เสียบบัตรโทรศัพท์ กด 661 แล้วตามด้วยเลขหมาย สักพักก็มีเสียงตอบรับ คุยกับคนทางปลายสายได้สักพักใหญ่ ก็ได้เวลาที่จะต้องขึ้นรถแล้ว จึงจบบทสนทนาเพียงเท่านั้น

รถโดยสารแล่นออกมาจากสถานีเมืองมอนทรีอัลได้พักใหญ่ๆ แล้ว แต่ในความคิดของผู้เขียนก็ยังนึกถึงแต่บทสนทนาในโทรศัพท์ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นความรู้สึกแบบก้ำกึ่ง จะว่าโล่งใจก็ใช่ที่ไม่ต้องรู้สึกอึดอัดอีกต่อไป จะว่าเสียดายก็ใช่อีก ผู้เขียนรู้ดีว่าคนขับรถโดยสารคันนี้รู้จุดหมายปลายทางของตัวเองดีว่า เขามีหน้าที่พาผู้โดยสารไปเมืองบอสตัน เพราะฉะนั้นเขาไม่มีวันขับรถหลงทางไปไหน แต่ตัวผู้เขียนเองต่างหากที่กำลังหลงทาง "หลงอยู่ในบางสิ่งบางอย่าง" อยู่ในขณะนั้น




Photos credit to: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/01/Chapters_bookstore_and_Starbucks_café,_downtown_Montréal_2006-01-27.JPG
http://www.barraclou.com/stations/quebec/montreal_terminus4.jpg
http://sophiebury.ca/ocanada/wp-content/uploads/2009/12/canadian-payphone.jpg

video credit to youtube by zoyeczka69