วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 15: กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง



ชีวิตหนึ่งวันของน้องแดเนียลใน Georgian College Barrie Campus ในคลิปวีดีโอข้างบน ก็คล้ายๆ กับชีวิตในหนึ่งวันใน Georgian College ของผู้เขียนเหมือนกัน เพียงแต่น้องแดเนียลนั่นคงจะเรียนระดับ diploma แต่ของผู้เขียนเรียน post grad. ในคลิปจะเห็นสภาพโดยทั่วๆ ไปของ Georgian College ตั้งแต่ในหอพักนักเรียนหรือที่เรียกว่า "residence" หรือสนามหญ้าระหว่างตึกเรียนกับผับที่นักเรียนชอบมานั่งสังสรรค์กันหลังเลิกเรียน เขาก็เลยตั้งชื่อผับว่า "the Last Class"

สถานที่โปรดใน Georgian College ของผู้เขียนตอนไม่มีชั่วโมงเรียนก็มีไม่กี่ที่ นอกเหนือจากการสั่ง timbits รสชาติอร่อยๆ กับกาแฟสักถ้วยจากคีออส (kiosk) ของ Tim Hortons มานั่งกินมุมสงบในคาเฟทีเรียแล้ว ก็ยังชอบใช้เวลานานๆ ในห้องคอมพิวเตอร์เพื่อทำการบ้านบ้างหรือไม่ก็จะท่องอินเตอร์เน็ต คอยเช็คข่าวทางบ้าน

แต่อีกที่หนึ่งที่ต้องคอยแวะเวียนไปสม่ำเสมอ แม้จะอยากหรือไม่อยากไปก็คือ peer service หรือ counselling services หรือแผนกที่ปรึกษาของนักศึกษา แรกๆ ที่ไปถึงผู้เขียนต้องไปที่แผนกนี้ค่อนข้างบ่อย เพราะเขาเกรงว่านักเรียนต่างชาติจะปรับตัวไม่ได้ในระยะแรกๆ ที่เขาเรียกว่าความรู้สึกสับสนทางวัฒนธรรม หรือ culture shock ดังนั้นเขาเลยต้องมีนักจิตวิทยาประจำแผนกที่ปรึกษาไว้คอยพูดคุยกับนักเรียน คอยสังเกตอาการเพราะบางคนก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเกิดอาการ culture shock

ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่มีเจ้าหน้าที่ประจำแผนก peer service ท่านหนึ่งให้ความสนใจความเป็นอยู่ของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตกับ host family เรื่องชีวิตในห้องเรียน หรือเรื่องความสัมพันธ์กับอาจารย์และเพื่อนในชั้นเรียน ผู้เขียนรู้สึกว่า College เขาคัดเลือกคนมาำทำหน้าที่ได้ดีจริงๆ เพราะนอกจากการวางตัวและการใช้คำพูดที่ทำให้นักศึกษารู้สึกเป็นกันเองแล้ว ผู้เขียนคิดว่าภาษาและจังหวะการพูด แนนซี่ เบลน ใช้ได้อย่างเหมาะสม พูดช้า ชัดถ้อยชัดคำ เพราะเธอเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนต่างชาติดีว่ามีข้อจำกัดเรื่องของภาษาอังกฤษ ถึงวันนี้แนนซี่ เบลน ก็ยังคงทำหน้าที่ของเธอในฐานะที่ปรึกษาแก่นักเรียนต่างชาติที่ Georgian College

Georgian College มีฐานะเป็น community college ซึ่งมีวิทยาเขตหรือ campus ในหลายๆ เมือง แต่ที่ Barrie จะเป็นวิทยาเขตหลัก โดยหลักสูตรการศึกษาจะเน้นให้นักศึกษามีทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพได้ ดังนั้น College จึงเน้นให้มีการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษา หลักสูตรที่นี่สำหรับระดับ diploma เรียกว่า co-op program ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปฝึกงานตามสถานประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จะได้ทำงานและมีรายได้ในระหว่างเรียน เพราะประเทศแคนาดาไม่อนุญาตให้ผู้มีวีซ่านักเรียนทำงานในระหว่างเรียน ยกเว้นว่านักศึกษาผู้นั้นจะเรียนในสถานศึกษาที่มีหลักสูตร co-op และสถานศึกษานั้นๆ ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลแล้ว

ในกรณีของผู้เขียนถึงแม้ว่าจะเป็นระดับ post grad.แต่หลักสูตรก็บังคับให้ต้องฝึกงานเช่นเดียวกัน หลักสูตรทีูู่้ผู้เขียนเรียนมีชื่อว่า "RAP" หรือ Research Analysis Program ผู้เขียนเลือกที่จะฝึกงานใน campus มากกว่าจะเลือกไปฝึกตามบริษัทหรือสถานประกอบการข้างนอกที่เกี่ยวข้องกับ marketing research เหมือนเพื่อนๆ เพราะรู้ข้อจำกัดของตัวเองในเรื่องของความสามารถทั้งทางด้านภาษาและความรู้ที่ได้จากชั้นเรียน อีกอย่างหนึ่งผู้เขียนคิดว่าฝึกงานใน campus กับเจ้าหน้าที่หรืออาจารย์ที่เราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว น่าจะรู้สึกสบายใจมากกว่าที่ต้องไปทำความคุ้นเคยกับคนใหม่ๆ ข้างนอก

อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ได้ค่าตอบแทนจากการทำงานใน research department ใน campus เหมือนคนอื่นๆ โดยเขาจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงานให้อาทิตย์ละครั้ง จำนวนเงินไม่ใช่น้อยเหมือนกัน มากพอที่จะไปเที่ยวแบบ macpacker ได้หลายรอบเชียวละ :) ประกอบกับช่วงนั้น Georgian รับโครงการทำ research ให้รัฐบาลท้องถิ่นของออนตาริโอ ชื่อโครงการ "Food for Thought" ก็เลยได้ประสบการณ์ในการร่วมทำโครงการวิจัยกับเขาด้วย

โครงการที่ว่าเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับน้องผู้หิวโหยที่เป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่เมือง Barrie ท่านเชื่อหรือไม่ว่าในแคนาดาก็มีน้องผู้หิวโหยเหมือนกัน ผู้เขียนมารู้เรื่องแบบนี้ก็เพราะได้เข้ามาทำงานวิจัยนี้ร่วมกับ college คงจะได้นำมาเล่าเรื่องนี้ในรายละเอียดในตอนถัดๆไป

อย่างไรก็ตามเมื่อท่านที่เป็นนักเรียนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานแล้ว ใช่ว่าท่านจะไ้ด้รับค่าตอบแทนจากการทำงานเลย ท่านต้องไปสมัครทำ SIN ก่อน SIN ที่ว่าย่อมาจาก Social Insurance Number เหมือนๆ กับว่าท่านต้องเข้าระบบประกันสังคม แล้วเงินค่าตอบแทนจากการทำงานเขาจะหักภาษีเข้า Social Insurance แล้วเราก็จะได้รับประโยชน์จาก Social Insurance เหมือนกับชาวแคนาดาทั่วไป

รูปร่างบัตร SIN ก็เป็นอย่างข้างล่างนี่แหละ



ตอนสมัยนั้นมีหน่วยงานที่ชื่อ Human Resources Development Canada เป็นหน่วยงานที่ออกบัตร SIN นี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Service Canada แล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่

video credit to youtube by georgianvideos