วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก (2)

ถ้าพูดถึงเรื่อง "เดินแบบขาลาก" ของพวกเราแล้วละก็ คงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงเกือบเที่ยงของวันแรกที่เราไปถึงคือวันที่ ๒๖ มีนาคม ๕๔ หลังจากเสร็จสิ้นการเช็คอินที่ YHA London Central โดยเราต้องฝากกระเป๋าที่ห้องเก็บสัมภาระเอาไว้ก่อนเพราะเวลาที่จะเข้าห้องได้คือบ่ายสองเป็นต้นไป รวมทั้งจัดการเจ้า "Panini" ให้เป็นอาหารกลางวันของพวกเราแบบง่ายๆ เราก็ไม่รีรอที่จะไปตลาด Portabello ถนน Portabello Road ย่าน Notting Hill






พอดีว่าวันที่เราไปคือวันเสาร์นั้นเป็นตลาดนัดใหญ่พอดี มีของขายทุกประเภทตั้งแต่ของกิน ของใช้ต่างๆ รวมไปถึงของเก่า และช่วงเวลาที่ไปมีทั้งคนอังกฤษเองและนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาคลาคล่ำไปหมด จนกลัวว่าคนในกลุ่มเราจะหลงกัน นอกจากการเที่ยวชมตลาดที่เหมือนตลาดจตุจักรบ้านเราแล้ว พวกพี่ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับฮิวจ์ แกรนน์ พระเอกหนังเรื่อง Notting Hill ก็ยังอุตส่าห์ได้ไปถ่ายรูปหน้าร้านหนังสือท่องเที่ยว ที่ตามท้องเรื่องเขาสมมติให้เป็นร้านหนังสือของ วิล แทกเกอร์ พระเอกของเรื่อง (อันที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะพี่ๆ เขาหรอก ผู้เขียนเองก็ชอบหนังเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ชอบตรงประโยคเด็ดของวิล แทกเกอร์ ที่พูดกับแอนนา สก็อต ที่แสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ตส์ โดยในหนังเธอรับบทตรงกับชีวิตจริงคือเป็นดาราสาวชื่อดังของฮอลลีวู้ดที่มาตกหลุมรักวิล แทกเกอร์ ที่ว่า "I live in Notting Hill. You live in Beverly Hills. Everyone in the world knows who you are; my mother has troubles remembering my name." คนเขียนบทสนทนาของตอนนี้นี่ช่างคิดดีจริงๆ เลยทำให้ประโยคข้างต้นเป็น movie quote ที่มีชื่อเสียงและคนมักจะจำได้ เดินเที่ยวชมตลาด Portabello และย้อนรำลึกถึงหนังเรื่อง Notting Hill บริเวณ Notting Hill เป็นที่พอใจแล้ว เราก็เดินกลับมาทางเดิมเพื่อที่จะลงรถไฟใต้ดินสถานีที่เรามาลงก่อนหน้าที่จะมาตลาด Portabello คือ สถานี Notting Hill Gate เพื่อจะต่อไปยังสถานี Tower Hill เมื่อเดินทางมาถึงสถานี Tower Hill แล้ว ดูท่าทีพี่ๆ แต่ละคนก็ยังมีกำลังวังชาดีอยู่ นอกจากนี้ยังสนุกสนานกับการถ่ายรูปบริเวณสถานี Tower Hill เป็นอย่างยิ่ง เพราะฝั่งตรงกันข้ามของถนนเราจะมองเห็นความอลังการของ Tower of London ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเหมาะแก่การที่พี่ๆ ทั้งหลายจะชักภาพตัวเองโดยมี Tower of London เป็นฉากอยู่ด้านหลังเป็นอย่างยิ่ง (อ่ะนะ Tower ก็เก๊าเก่า สร้างมาเป็นไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว คนรึก็...ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เหอะ เหอะ)




ถ่ายรูปกับอาคารเก่าๆ อันเหมาะสมกับช่วงวัยแล้ว backpackers กลุ่มนี้ก็ได้เวลาเดินไปสถานีรถไฟชานเมืองที่ชื่อว่า Docklands Light Railways หรือ DLR โดยสถานีที่เราไปขึ้นชื่อว่าสถานี Tower Gateway ซึ่งระยะทางเดินไม่ไกลจากสถานีรถไฟใต้ดิน Tower Hill ซึ่งเป้าหมายของเราคือ สถานี Cutty Sark for Maritime Greenwich ดูจากชื่อสถานีเป้าหมายของเราก็คงไม่ต้องสาธยายอะไร เพราะที่เที่ยวแห่งต่อไปของเราคือกรีนิชนั่นเอง ที่ำกรีนิชแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของ Royal Observatory อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นลองติจูดศูนย์องศาหรือ Prime Meridian ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นเส้นแบ่งเวลาของโลกชื่อ Greenwich Mean Time หรือ GMT ที่ในภาพมีคนไปยืนตรงเส้นแถบสีเงินเยอะๆ ยังมีพิพิธภัณ์อื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมไปถึงตลาดกรีนิชที่ขายของกินหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งก็รวมไปถึงอาหารไทยของเราด้วย หลังจากเดิน (ไม่ีรู้เดินไปกี่กิโลเมตรแล้วสำหรับวันแรก) ชมสถานที่ต่างๆ ของกรีนิชแล้ว เราก็เปลี่ยนบรรยากาศจากการนั่งรถไฟมานั่งเรือดูบ้าง โดยเรือโดยสารที่เราใช้บริการเป็นของ Thames Clipper ซึ่งเป็นเรือโดยสารสาธารณะเหมือนกับเรือด่วนเจ้าพระยาบ้านเรา แต่ราคาค่าโดยสารเขาคิดราคาเดียวกันหมดไม่ได้คิดเป็นระยะทางที่เรานั่ง สำหรับผู้ถือ Oyster Card ลดให้อีก ๕๐ เพนนี

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก (1)

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวของเราครั้งนี้ จะจำกัดรูปแบบการท่องเที่ยวเป็น budget travel คือทุกอย่างต้องคำนึงถึงราคาถูกก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าขนส่งสาธารณะทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ก็ใช่ว่าเราจะไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความสะดวกสบายเอาเสียเลย โดยเฉพาะเรื่องปากเรื่องท้อง สำหรับผู้เขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนกินยากกินเย็นกว่าใครๆ ในกลุ่ม เรื่องรสชาดถูกปากคุณภาพถูกใจ ต้องมาก่อนเรื่องราคาเสมอ และดูเหมือนว่าพี่ๆ เขาก็จะตามใจผู้เขียนเสียด้วยสิ ผู้เขียนเสนอร้านอะไร เขาก็ว่าตามนั้น (เสียเด็กหมด)

ดังนั้นเพียงแค่วันที่สองในลอนดอน เราก็ไม่พลาดที่จะไปทำเท่ห์ที่ร้านเป็ด Four Seasons ร้านเป็ดชื่อดังของลอนดอน ซึ่งเขามีอยู่สามสาขา สำหรับสาขาที่เราไปเป็นสาขาแรกดั้งเดิมของร้านเขาตั้งอยู่ถนน Queenways ย่าน Bayswater ส่วนอีกสองสาขาที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ย่านๆ โซโห































ขอบอกว่ารสชาดอร่อยสมคำร่ำลือ ขนาดพี่รินที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรักษาสุขภาพและระวังเรื่องอาหารมาก ยังอดใจไว้ไม่อยู่เลย สำหรับค่าเสียหายไม่แพงเลยเราเฉลี่ยกันแปดคนคิดเป็นเงินไทย คนละไม่ถึงพันบาทได้มั้ง(ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดถ้าผิดเดี๋ยวก็จะมีพี่อ้อยหนึ่งในสมาชิกมา comment ตามข้างล่างอย่างแน่นอน)



ร้านอาหารอีกร้านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ร้าน "Pret A Manger" ร้านนี้ออกแนวเป็นร้านขายอาหารจานด่วนที่คำนึงถึงสุขภาพลูกค้ามากกว่าร้านอาหารจานด่วนชื่อดังหลายๆ ร้าน ดังนั้นเมนูของร้าน Pret A Manger เลยมีทั้งสลัดหน้าตาหลากหลาย น้ำผลไม้นานาชนิด หรืออาหารแนว fusion ทั่วไป เลยทำให้พี่ๆ เขาติดใจมาฝากท้องที่ Pret A Manger อยู่หลายมื้อเหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องราคาผู้เขียนว่าก็ไม่เรียกว่าถูก แต่ก็ไม่แพงถ้าเทียบกับมาตรฐานการครองชีพในกรุงลอนดอน







(บรรยากาศในร้าน Pret A Manger สาขาหน้าสวนสาธารณะ Green Park กับลูกค้าผู้มีเกียรติชาวไทย)

เสร็จสิ้นเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว ก็ต้องมีกำลังวังชาเดินท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้แล้ว ผู้เขียนขอย้ำว่า เดินจริงๆ ในแต่ละวันถ้าไม่นับการนั่งรถไฟใต้ดิน ที่เหลือคือการเดิน ไม่ว่าจะเดินขึ้นลงสถานีรถไฟใต้ดิน เดินจากสถานีรถไฟใต้ดินไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็ไม่อยากจะมานั่งคิดว่าในแต่ละวันพวกเราต้องใช้สองขาเนี่ยเดินเป็นระยะทางกี่กิโลเมตรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเรารู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า "เดินจนขาลาก" ก็เที่ยวนี้เอง คือเรียกว่าถ้าเิดินแล้วต้องเดินเรื่อยๆ ไม่หยุด อย่าได้คิดลงนั่งเพราะจะไม่อยากลุกขึ้นยืนเพราะกล้ามเนื้อขามันตึงไปหมด แต่ก็อีกนั่นแหละคนเราลองเมื่อยขาแล้ว ก็ต้องหาโอกาสนั่งพักให้ได้ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม




























เครดิตรูปภาพ: จากกล้องพี่จุ๋ม พี่ริน และรูปที่แอบถ่ายโดยพี่อ้อย

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กว่าจะถึงบ้านเรา...Great Portland Street




เรามาถึงฮีทโธรว์ในวันที่ ๒๖ มีนาคม เมื่อเวลาประมาณเกือบเจ็ดโมงเช้า โดยขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่เราคิด เจ้าหน้าที่ ตม.ของอังกฤษแทบจะไม่ถามอะไรเลย เพียงแต่ให้เราผ่านขั้นตอน biometric หรือการเก็บลายนิ้วมือ หรือการสแกนม่านตา ตามที่เราให้ตัวอย่างไว้ตั้งแต่ตอนที่ไปขอวีซ่า แค่นั้นก็ผ่านฉลุย รวมไปถึงการผ่านช่องเขียวของศุลกากรแบบไม่มีสิ่งของต้องสำแดงด้วย

เราออกมาตั้งหลักตรงโถงผู้โดยสารขาเข้าของอาคาร ๔ อยู่พักหนึ่งโดยมองหาป้ายบอกทางลงไปสถานี underground เพื่อต่อรถไฟใต้ดินสาย Picadilly Line เข้าไปในตัวเมืองลอนดอน ซึ่งขอชมว่าที่นี่ป้ายบอกทิศทางทำได้ชัดเจนมาก รับรองว่าไม่มีทางหลง

และด้วยความที่พี่บางคนในกลุ่มเป็นโรคเทเลโฟนลิซึ่ม ซึ่งก็รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย ดังนั้นก่อนที่จะลงไปต่อ underground ที่สถานีตั้งอยู่ชั้นล่างของสนามบิน สายตาอันแหลมคมของพี่คนหนึ่งในกลุ่มก็ไปเห็นตู้ขายซิมโทรศัพท์อัตโนมัติ ซึ่งบรรจุไปด้วยแพ็จเกจซิมของหลายๆ ค่ายในอังกฤษ





เท่านั้นเองในเวลาอันไม่นานกลุ่มเราก็มายืนอยู่หน้าตู้ขายซิมอัตโนมัตินั้น ปรึกษาหารือกันอยู่นาน (ซื้อน่ะซื้อแน่ แต่ไม่รู้จะซื้อค่ายไหน โปรโมชันอะไรยังไง)ท้ายสุดก็มาได้ข้อสรุปว่าจะซื้อซิมของ Lebara Mobile ซึ่งเป็นซิมเจ้าเดียวกันกับที่ผู้เขียนซื้อไว้ใช้ระหว่างที่ต้องไปทำงานในสวิส โดยซิมที่ว่าใช้ได้ในหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งที่สวิสด้วย (อย่าได้คิดว่าผู้เขียนได้ค่าโฆษณาจากสินค้าชนิดนี้ เพียงแต่เห็นว่าใช้ดี อัตราค่าโทรกลับมาเมืองไทยถูกสุดๆ ก็เลยนำมาเล่าให้ฟัง)ก็เป็นอันว่ามีหนูทดลองจำนวนสามคนได้ซื้อ Lebara Mobile ไปตามคำแนะนำของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจว่าแพ็กเกจซิมประเภท prepaid ราคา ๑๐ ปอนด์ที่กำลังจะซื้อเหมือนกับของตัวเองที่ซื้อในสวิสที่ซิมมาพร้อมกับ top up หรือจำนวนเวลาที่เราสามารถโทรออกได้ตามจำนวนเงินที่เราจ่าย

หลังจากหนูทดลองสามคนอันประกอบด้วย พี่จุ๋ม พี่โป่ง พี่ริน (สำหรับผู้เขียนไม่ได้ซื้อเพราะใช้ของเก่าที่ยังมีเงินเหลืออยู่ และพี่ๆ อีกสี่คนก็ไม่ได้ซื้อ) ได้ซิมสมความประสงค์แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำตามขั้นตอนในคู่มือเพื่อเปิดใช้ซิม ใส่ซิมก็แล้ว กดโทรตามหมายเลขที่บอกก็แล้ว ทำยังไง๊ยังไงก็ยังเปิดใช้ไม่ได้สักที หันรีหันขวางกันอยู่หน้าตู้ขายซิมนั่นอยู่นานพอควรแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เลยตกลงกันว่าเดินทางออกจากที่สนามบินก่อนก็แล้วกันแล้วค่อยไปจัดการเจ้าซิมนี่ทีหลัง

ช่วงที่รอผู้เขียนซื้อบัตรหอย หรือ Oyster Card ที่สถานี underground พี่ๆ ที่เหลือก็สำรวจบริเวณนั้นไปรอบๆ ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ มีร้านขายบุหรี่และของจิปาถะอยู่ร้านเดียว ก็ให้เผอิญว่าร้านนี้มีซิมโทรศัพท์ขายเสียด้วย และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาพี่โป่งก็เลยถือโอกาสไปถามวิธีการเปิดใช้ซิมกับเจ้าของร้าน หลังจากซักไซ้ไล่เรียงกันโดยละเอียดแล้ว เราก็ได้พบว่า ง งู มาก่อน ฉ ฉิ่ง จริงๆ หรือถ้าแปลให้เข้าใจโดยสุภาพก็คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนความรู้เท่าถึงการณ์จริงๆ เพราะเจ้าของร้านที่ว่าเขาบอกกับพี่โป่งว่า ไม่มีใครเขาไปซื้อซิมกับตู้พวกนี้หรอกเพราะแพงกว่าซื้อตามร้านขายบุหรี่ สำหรับราคาที่พวกเราจ่ายไปนั้นถ้าไปซื้อตามร้านขายบุหรี่จะได้ทั้งซิมและ top up

และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าไอ้เจ้าตู้ขายของอัตโนมัตินี้เริ่มตั้งตนเป็นศัตรูกับเรานับตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเดินทางมาถึงเลยเชียว เพราะว่าอีกหลายวันถัดจากนี้เจ้าตู้ขายของอัตโนมัติหรือ vending machine ก็ประกาศศักดาเหนือคนอย่างเราๆ
อีกจนได้ จะเป็นเหตุการณ์อะำไรคอยติดตามอ่านต่อไป

หลังจาก enlighten เรื่องการซื้อซิมแล้วก็ได้เวลาออกจากสถานี underground ของ terminal 4 เสียที พวกเรานั่ง Picadilly Line ที่จะไปสุดสายที่สถานี Cockfosters





พอสิ้นเสียงประกาศของ Picadilly Line เท่านั้นแหละ ฝรั่งต่างถิ่นที่ไม่ใช่ลอนดอนเนอร์จะหัวเราะกันคิกคัก แหมช่างคิดลึกกันจริงๆ ก็แค่ชื่อสถานที่เท่านั้นเอง ก็คงเหมือนสถานี BTS บ้านเราน่ะแหละ พอถึงสถานีเพลินจิตที่สะกดว่า Ploenchit ฝรั่งที่ชอบคิดมากต้องยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันไปตามๆ กัน

จาก Picadilly Line เราต้องมาต่อ Hammersmith & City Line ที่สถานี Hammersmith เพื่อมาลงที่สถานี Great Portland Street และเดินลงไปทางทิศใต้ประมาณสามร้อยเมตรเห็นจะได้ ก็มาถึงบ้านพักชั่วคราวของเราที่ลอนดอนคือ YHA London Central ที่ตั้งอยู่บริเวณ Great Portland Street









การเดินทางมา YHA London Central สามารถนั่งรถไฟใต้ดินมาลงได้ทั้งที่สถานี Great Portland Street หรือที่สถานี Oxford Circus ก็ได้ แต่ระยะทางจากสถานี Great Portland Street จะใกล้กว่า แต่อย่างไรก็ตามทีนี่ก็มีข้อด้อยกว่าที่สถานี Oxford Circus คือไม่มีลิฟท์ พวกเราเลยต้องออกกำลังด้วยการแบกกระเป๋าเดินทางเดินขึ้นบันไดเอง กว่าจะถึงข้างบนก็เหนื่อยเอาการ





Photos credit to: http://www.vendpoint.co.uk/communities/7/004/007/458/257/images/4529829359_160x220.jpg


Video credit to: youtube by etherealsl, hostelworld