วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 6: สังคมพหุวัฒนธรรม (1)



ช่วงนี้ได้ติดตามข่าวนายราเกรซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงธนาคารกรุงเทพพาณิชยการที่หลบหนีคดีไปพักอาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็นเวลาสิบกว่าปี จนกระทั่งก็ถึงวันสิ้นสุดเสียทีสำหรับการต่อสู้คดีระหว่างผู้ต้องหารายนี้ เื่มื่อศาลฎีกาของแคนาดาพิพากษายกคำร้องของผู้ต้องหา และให้ส่งตัวคนผู้นี้กลับมาดำเนินคดีต่อในประเทศไทยตามสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับแคนาดา

เมื่อคนทั่วบ้านทั่วเมืองให้ความสนใจเกี่ยวกับคดีของ fugitive คนนี้ที่ไปฝังตัวอยู่ที่แคนาดาในระยะเวลายาวนาน ก็นึกอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับแคนาดาว่าทำไมจึงมีคนหลากหลายเชื้อชาติไปตั้งรกรากกันที่ประเทศนี้กันนัก ประการแรกน่าจะมาจากแคนาดาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกตามการจัดลำดับใน human development index ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่จะมีผู้คนมากหน้าหลายตา หลากเชื้อชาติ ต้องการมาลงหลักปักฐานในประเทศนี้ เช่น ชนชาติจีน ยิ่งตอนช่วงที่ฮ่องกงต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ช่วงนั้นชาวจีนฮ่องกงโอนสัญชาติไปเป็นพลเมืองของประเทศแคนาดาจำนวนมาก เมืองสำคัญๆ ใหญ่ๆ ตามมณฑลต่างๆ ในแคนาดาจะมีชุมชนใหญ่ของชาวจีนไปตั้งรกรากอยู่มากมาย ที่สำคัญๆ เช่น แวนคูเวอร์ ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย หรือที่โตรอนโตในออนตาริโอ เป็นต้น ยิ่งถ้าเราไปเดินอยู่ในแวนคูเวอร์เนี่ยจะมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในประเทศแถบเอเชียเลย เพราะมีชาวจีนและชาวเอเชียอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เด็กรุ่นใหม่ที่สืบเชื้อสายชาวเอเชียที่นี่จะมีความเป็นอยู่เหมือนฝรั่งทั่วไป มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพูดภาษาบรรพบุรุษของตัวเองได้ เรียกว่าภายนอกดูเป็นชาวเอเชียแต่ความนึกคิดและการแสดงออกทั้งวัจนะและอวัจนะภาษาจะเป็นแบบฝรั่งไปทั้งหมด

ประการถัดมา ประเทศแคนาดาจัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางเป็นลำดับที่สองของโลกรองจากประเทศรัสเซีย ในขณะที่จำนวนประชากรไม่สมดุลกับขนาดพื้นที่ของประเทศ มีเพียงสามสิบกว่าล้านคนเท่านั้น (ยังน้อยกว่าประเทศไทยเราเกือบเท่าตัวเลย) ดังนั้นแคนาดาจึงอ้าแขนรับบุคคลจากชนชาติต่างๆ เพื่อไปเป็นพลเมืองของแคนาดา กฎระเบียบของการสมัครเป็น citizen ของแคนาดาดูจะไม่ค่อยเข้มงวดเท่าของอเมริกา แต่ก็มีการตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างละเอียดพอสมควร เพื่อที่จะได้คนมีคุณภาพไปเป็นประชากรของแคนาดาต่อไป


และก็เหมือนกันกับประวัติศาสตร์ชาติของสหรัฐอเมริกา เดิมทีพื้นที่ของประเทศแคนาดามีชนเผ่าพื้นเมือง (aborigin) อาศัยมาแต่เก่าก่อนย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 โน่นเลย ชนเผ่าพื้นเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า อีนุอิืท (Inuit)
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็มีชาวยุโรปมาค้นพบดินแดนทวีปอเมริกาเหนือแห่งนี้ ก็เกิดมีการรบพุ่งกันกับชนพื้นเมืองเพื่อแย่งกันครอบครองดินแดน และผลก็เป็นอย่างที่เราได้เรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์ก็คือว่าชาวยุโรปผิวขาวก็มีชัยเหนือชนเผ่าพื้นเมือง โดยชนชาติอังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งพื้นที่การครอบครองโดยฝรั่งเศสได้พื้นที่ตอนบนซึ่งก็คือประเทศแคนาดาในปัจจุบัน และอังกฤษได้ครอบครองส่วนที่เป็นสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน แต่ตอนหลังทำกันท่าไหนไม่ทราบเกิดการรบกันเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างฝรั่งสองชนชาตินี้ และในที่สุดฝ่ายอังกฤษได้รับชัยชนะได้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ


อย่างไรก็ตามมรดกตกทอดของชาวฝรั่งเศสก็ยังคงมีอิทธิพลกับประเทศแคนาดามาจนจวบทุกวันนี้ที่สำคัญคือเรื่องของภาษา แคนาดาเป็นประเทศที่มีภาษาราชการจำนวนสองภาษาได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทุกวันนี้ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ไหนทั่วแคนาดา แผ่นป้ายทางหลวง ป้ายโฆษณา ป้ายชื่อร้าน ป้ายรถเมล์ สารพัดประกาศต่างๆ หรือเสียงประกาศในสนามบิน สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ท่านจะเห็นเขาใช้สองภาษาทั้งสิ้น โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเริ่มต้นก่อน และจะตามมาด้วยภาษาฝรั่งเศส โดยแบบแผนการใช้ภาษาราชการนี้จะใช้ทั่วประเทศยกเว้นเพียงมณฑลเดียวคือ "มณฑลควิเบค"

พูดถึงควิเบคแล้ว มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับมณฑลที่สวยงามและมีเสน่ห่แห่งนี้ รวมทั้งที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของนักร้องเสียงดีชื่อก้องโลกที่เรารู้จักเธอกันอย่างดี นั่นก็คือ ซิลิน ดีออน (Celine Dion) คงต้องนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดาในตอนหน้า

photos credit: members.virtualtourist.com/m/9f189/dc80f/, www.oecglobal.net/.../CAN_Intrax_Promotion.htm, www.closetcanuck.com/2006/11/vancouver-ready
video credit to youtube by ZELDALINKX123

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตอนนี้ไม่มีชื่อเรื่อง

วันนี้ผู้เขียนไม่อายที่จะบอกว่า ผู้เขียนเสียน้ำตาสาเหตุมาจากความรักต่อตัวบุคคลหนึ่ง เป็นเวลาเนิ่นนานที่ต้องรอด้วยใจจดจ่อ รอด้วยความหวังเพื่อจะทราบข่าวคราว วันเวลาผ่านไปแต่ละวันแต่ละวัน ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่มีความชัดเจน ไม่มีอะไรที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้เขียน ยิ่งมีข่าวที่มีผลกระทบต่อจิตใจของผู้เขียน อันเนื่องมาจากจิตใต้สำนึกต่ำๆ ของคนไม่หวังดีที่สร้างข่าว ยิ่งเพิ่มความไม่มั่นใจและความกระทบจิตใจของผู้เขียนมากยิ่งขึ้น แต่พอมาถึงวันนี้เวลา 12.30 น. ความไม่มั่นใจและความไม่สบายใจทุกอย่างเลือนหายไปทันที มีแต่ความสุขใจและความตื้นตันใจเข้ามาแทนที่ เมื่อวันนี้ปรากฏภาพข่าวของบุคคลที่ผู้เขียนรัก รวมทั้งเป็นที่รักของประชาชนไทยที่ดีทั่วประเทศ บุคคลนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่

"ในหลวงของพวกเรา"

ตั้งแต่จำความได้ ก็เคยชินกับภาพของท่านที่เสด็จไปทั่วประเทศไทยไม่ว่าจะทุรกันดารอย่างไร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ในพระหัตถ์ถือดินสอ และแผนที่และมีกล้องสะพายพระศอตลอดเวลา จนกระทั่งบัดนี้ที่ท่านมีพระชนมายุมากขึ้นแต่ก็ยังทรงงานอยู่ตลอด เพราะเหตุนี้เองท่านจึงเป็นที่รักและเคารพยิ่งของประชาชน มิใช่เพียงเพราะท่านเป็นกษัตริย์หรือเป็นเพียงเพราะเราถูกปลูกฝังมาจากผู้ใหญ่ว่าต้องเคารพกษัตริย์ ที่เรารักคือเรารักคุณงามความดีที่ท่านได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ เมื่อท่านมีพระชนมายุมากขนาดนี้แล้วพวกเราก็อยากจะให้ท่านได้ทรงพักผ่อนเหมือนกับผู้สูงอายุทั่วไป ให้ท่านไ้ด้หายจากการเหน็ดเหนื่อยและทรงพระสำราญกับชีิวิตส่วนพระองค์

แต่อย่างไรก็ตามผู้มีบุญญามักจะมีมารผจญ ซึ่งผู้เขียนคงไม่ต้องลงรายละเอียดว่ามารตัวนั้นเป็นใคร และมีพฤติกรรมโฉดชั่วอย่างไร ในฐานะที่เป็นข้าราชการในพระองค์ ผู้เขียนได้บอกตนเองว่าต้องปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เห็นแก่อามิส เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นให้ได้ และก็คาดหวังว่าข้าราชการคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตจะได้สำเหนียกถึงความรับผิดชอบและบทบาทของตนเองที่มีต่อบ้านเมืองในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าสักแต่เพียงว่าจงรักท่านเพียงแต่ปาก แต่พฤติกรรมเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับพระราชดำรัสในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ชาติบ้านเมือง








ขอบคุณวีดีโอจาก youtube ASTV ผู้จัดการ และภาพจากบล็อกเกอร์ลูกเสือหมายเลข 9 จากบล็อกโอเคเนชัน

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความตายที่ผ่านมาแล้วและความตายที่เพิ่งผ่านไป




วันนี้เป็นวันที่เจ็ดตุลาคม พ.ศ. 2552 สำหรับคนไทยทั่วไปซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าไร อาจจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่ใช้ชีวิตวุ่นวายอยู่กับตนเองในสังคมที่ยุ่งเหยิงของโลกยุคปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นวันที่น่าเบื่อสำหรับคนที่สิ้นหวังในการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบหายใจทิ้งไปวันๆ แต่สำหรับประชาชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนอยากคาดหวังว่าเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ใช้ชื่อกลุ่มที่ทราบกันดีทั่วไปว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า People's Alliance for Democracy (PAD)" เป็นวันหนึ่งที่พวกเขาต้องหวนรำลึกถึงวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ในเรื่องของความอยุติธรรม ความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของบุคลากรในคราบนักกินเมือง และข้าราชการที่สวมใส่เครื่องแบบที่มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบสุขและสันติของประชาชน แต่กลับกระทำตรงกันข้ามกับภารกิจที่ตนเองได้รับมอบหมาย โดยมีการเข่นฆ่าประชาชาชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและความดีงามให้กับสังคม การสังหารประชาชนในวันนั้นที่มาด้วยใจกับสองมือเปล่าเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงอย่างอุกอาจและท้าทายเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ที่ว่าด้วยการใช้เครื่องมือสำหรับบันทึกภาพเหตุการณ์เคลื่อนไหวและภาพนิ่ง กลิ่นควันการสังหารและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นสาวน้อยที่มีอนาคตไกลอย่างน้องโบว์ หรือนายตำรวจนอกราชการอย่างสารวัตรจ๊าบ และผู้เสียสละท่านอื่น ที่บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงกลิ่นของมันได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เขียนและพี่ๆ น้องๆ สังกัดหน่วยราชการเดียวกัน ได้ออกมามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นด้วยหลังจากที่ได้รับทราบถึงพฤติกรรมการสั่งฆ่าประชาชนของผู้บริหารบ้านเมืองและคนใหญ่คนโตของหน่วยงานตำรวจ

มาถึงวันนี้ความตายและความสูญเสียของประชาชนเหล่านั้นได้ครบรอบหนึ่งปีแล้ว พธม ได้พยายามที่จะทำให้ความตายของประชาชนเหล่านั้นไม่สูญเปล่าด้วยการจัดงานรำลึกและกระตุ้นเตือนให้สังคมได้เห็นถึงความชั่วร้ายของผู้บริหารบ้านเมืองที่หวงแหนอำนาจและใช้อำนาจนั้นในการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นในฐานะของผู้เข้าร่วมอุดมการณ์คนหนึ่งของ พธม ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเข้าร่วมการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีิวิตในเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว แต่ความตั้งใจของผู้เขียนก็ต้องหยุดไป เมื่อความตายอันใหม่กำลังคืบคลานมาในวันที่เจ็ดตุลาคมของปีนี้

เช้าวันอังคารที่หกตุลาคม 2552 ผู้เขียนเดินทางไปโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจรวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่เป็นญาติสนิทของครอบครัวผู้เขียน ซึ่งท่านเดินทางมาจากจังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นสามีของน้าแท้ๆ ของผู้เขียน โดยครอบครัวท่านประกอบไปด้วยน้าสาว และลูกสองคนของท่านซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียนสนิทกับครอบครัวของเรามาก น้าเขยท่านนี้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ใจกว้างต่อทุกคน ทำให้ท่านเป็นที่ชื่นชมแก่เพื่อนฝูงและญาติมิตร ซึ่งรวมทั้งแม่ของผู้เขียนด้วย ดูเหมือนว่าแม่จะมีความนิยมชมชอบน้าเขยท่านนี้มากกว่าน้องชายแท้ๆ ของแม่เสียอีก ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าสมัยที่ยายของผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่และได้พักอาศัยกับครอบครัวของน้าสาว ก็ได้น้าเขยท่านนี้ดูแลความเป็นอยู่ของยายผู้เขียนเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นยามปกติหรือยามป่วยไข้

น้าเขยของผู้เขียนมีอาชีพรับราชการครู ตำแหน่งรองผู้อำนวยการในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอำเภอบางระจัน ซึ่งปีนี้ท่านขอเข้าโครงการเกษียนราชการก่อนอายุ เนื่องจากท่านต้องการกลับมาใช้ชีิวิตอย่างสงบสบายกับแม่ของท่าน และน้าของผู้เขียน ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อกลางเดือนกันยายน ลูกสาวคนโตของน้าเขยซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องผู้เขียนโทรศัพท์มาคุยสารทุกข์สุกดิบ โดยน้องได้เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่าพ่อและแม่ของเขากำลังจะได้พักผ่อนอยู่ที่บ้่าน และช่วงปลายเดือนกันยายนเพื่อนๆ จะมีการจัดงานเลี้ยงอำลาชีวิตราชการให้กับทั้งน้าเขยและน้าสาว ซึ่งผู้เขียนก็พลอยรู้สึกยินดีไปด้วย

แต่แล้วเวลาผ่านไปเพียงสองอาทิตย์ เช้าวันเสาร์ที่สามตุลาคม น้องสาวคนเดิมก็โทรมาอีกแต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องที่นำความสุขใจมาให้เสียแล้ว เมื่อน้องโทรมาเล่าเรื่องถึงอาการป่วยของน้าเขยแต่ผู้เขียนก็ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก รู้แต่เพียงว่าน้า่เขยท่านมีก้อนเนื้อซึ่งอาจจะเป็นเนื้อร้ายที่ปอด โดยน้องสาวได้เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าอาจจะส่งตัวพ่อของเขามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งอาจจะต้องให้ผู้เขียนช่วยเป็นธุระในระหว่างที่มาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

ต่อมาในวันที่หกตุลาคม น้าเขยของผู้เขียนก็ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดสิงห์บุรีมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลยว่าการเดินทางออกจากบ้านมาครั้งนี้ ท่านไม่มีโอกาสกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในแบบที่ยังมีลมหายใจ เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลและได้พบกับคนที่ติดตามน้าเขยมาด้วยสามคนก็คือน้าสาว น้องสาว และน้าสาวอีกท่านหนึ่ง เมื่อได้พูดคุยกันแล้วผู้เขียนก็รู้สึกหนักใจและเศร้าใจเมื่อรู้ว่าอาการของน้าเขยหนักกว่าที่ผู้เขียนคาดคิด ผลตรวจออกมาค่อนข้างแน่ชัดว่าท่านเป็นมะเร็งที่ปอด และลามไปที่ตับกับต่อมน้ำเหลือง โดยเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าสภาพร่างกายของน้าเขยจะค่อนข้างแย่ แต่สติสัมปชัญญะของท่านยังดีเยี่ยม และสามารถพูดคุยกันได้รู้เรื่อง เมื่อแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ตรวจดูแล้ว ก็เรียกน้องสาวเข้าไปคุยเนื้อหาใจความหลักก็คงเป็นการแนะนำการดูแลตนเองไปตามสภาพ เพราะหมดทางเยียวยาแก้ไข

เมื่อเสร็จจากขั้นตอนของโรงพยาบาลแล้วน้าเขยและผู้ที่มาด้วยเตรียมตัวที่จะเดินทางกลับโดยได้ขอใช้รถพยาบาลจากโรงพยาบาลสมิติเวช ระหว่างที่เคลื่อนย้ายคนป่วยจากเตียงโรงพยาบาลเพื่อเข้าไปในรถพยาบาลนั้นเอง น้าเขยของผู้เขียนเกิดอาการโคม่าขึ้นมากะทันหัน ในช่วงเวลานั้นพยาบาลที่กำลังจะช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องช่วยกันปั๊มหัวใจจนท่านฟื้นกลับขึ้นมาได้ เมื่อมีอาการเช่นนี้พยาบาลได้แนะนำว่าการนำน้าเขยเดินทางกลับสิงห์บุรีในสภาพเช่นนี้จะไม่ปลอดภัย ดังนั้นพวกเราจีงได้นำตัวน้าเขยเข้าพักที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้เขียน ในช่วงเวลานี้ผู้เขียนได้มองเห็นถึงความเข้มแข็งและความเป็นผู้ใหญ่เกินอายุของน้องสาว เขาต้องคอยปลอบใจและปลุกขวัญพ่อเขาตลอดเวลา รวมทั้งให้กำลังใจแม่เขาเป็นบางครั้ง

น้าเขยเข้าัพักที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เพียงหนึ่งคืน ท่านก็เรียกร้องอยากจะขอกลับบ้านเพื่อไปหาแม่ของท่านที่รออยู่ที่บ้าน บรรดาสมาชิกในครอบครัวของน้าเขยและครอบครัวของผู้เขียนเห็นดีด้วยและคิดว่าควรจะตามใจท่าน และก่อนที่ท่านจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากโรงพยาบาลผู้เขียนได้ไปยืนชิดปลายเตียงของท่านร่วมกับน้าสาวและลูกของท่านทั้งสองคน ผู้เขียนต้องสารภาพว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นนาทีชีวิตแห่งความเป็นและความตาย เห็นสีหน้าเศร้าโศกและเจ็บปวดของสมาชิกในครอบครัวคนป่วยที่กำลังสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รัก ได้ยินคำพูดปลุกปลอบให้คนป่วยได้รำลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน และให้รำลึกถึงคุณงามความดีที่ทำมาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวผู้เขียนเองก็ได้พูดคุยและปลุกปลอบใจน้าเขยให้รำลึกถึงคุณงามความดีด้วยใจที่สงบนิ่ง ในช่วงเวลานั้นน้าเขยของผู้เขียนยังสามารถพูดคุยได้ดี และมีสัมปชัญญะครบถ้วน ท่านยังหันมาถามผู้เขียนด้วยน้ำเสียงแหบแห้งว่าผู้เขียนจะเดินทางไปส่งท่านกลับบ้านด้วยหรือไม่ ผู้เขียนไม่ได้ตอบอะไรท่านออกไปเพราะรู้ว่าตนเองไม่สามารถสะกดกลั้นน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ และรังแต่จะทำให้ผู้ป่วยจิตใจไม่สงบ ทำให้น้องสาวต้องบอกพ่อเขาไปเบาๆ ว่า ผู้เขียนจะขับรถตามไป

ระหว่างที่โรงพยาบาลนำตัวน้าเขยออกมาจากห้องไอซียูเพื่อนำตัวท่านกลับไปบ้าน พ่อและแม่ของผู้เขียนได้เดินมาหาน้าเขยที่เตียง โดยพ่อได้ให้กำลังใจไปว่า "ใจสู้นะ" ส่วนแม่ของผู้เขียนอวยพรว่า "บูญรักษานะ" ซึ่งน้าเขยยังสามารถพูดตอบรับได้อย่างมีสติว่า "ครับ ครับ" ครอบครัวของผู้เขียนมาส่งน้าเขยและครอบครัวของท่านขึ้นรถของโรงพยาบาลเพื่อนำตัวท่านกลับไปพบแม่ของท่านที่รออยู่ที่บ้าน ผู้เขียนมองเขาเข็นเตียงของน้าเขยเข้าไปในรถพยาบาลด้วยใจที่โศกเศร้าเพราะรู้แน่แก่ใจว่าคงไม่ได้มีโอกาสพบกันอีกแล้ว เราสามคนพ่อ แม่ ลูก มองรถพยาบาลแล่นห่างออกไปเรื่อยๆ จนรถเี้ลี้ยวลับไปตรงประตูทางออกโรงพยาบาล

เราสามคนพ่อ แม่ ลูก กลับมาถึงบ้านได้ประมาณสองชั่วโมง น้องสาวก็โทรศัพท์เข้ามาที่มือถือของผู้เขียน ผู้เขียนยอมรับว่าไม่อยากได้ยินคำพูดจากน้องสาว กลัวว่าจะเป็นคำพูดในเรื่องที่ตนเองกำลังคิดอยู่ จึงชิงพูดขึ้นก่อนว่า "น้าเขาถึงบ้านแล้วใช่ไหม ได้พบคุณย่าแล้วใช่ไหม" คำตอบที่น้องสาวส่งมาตามสายโทรศัพท์คือเสียงร่ำไห้ เท่านี้ผู้เขียนก็รู้ได้ทันทีว่ามีอะไรเกิดขึ้น น้องสาวบอกว่าเมื่อรถพยาบาลแล่นมาถึงเขตจังหวัดสิงห์บุรีน้าเขยท่านก็สิ้นใจ ผู้เขียนคิดว่าน้าเขยท่านคงต้องมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน แต่เป็นที่น่าเสียดายแม้ว่าท่านจะมีใจสู้สักเพียงไหนท่านก็ไม่สามารถจะประคองร่างกายให้อยู่ยืดยาวจนกระทั่งพบหน้าแม่ที่ตั้งหน้าตั้งตารออยู่ที่บ้านได้ ผู้เขียนนำข่าวร้ายมาบอกพ่อและแม่ บ้านเราตกอยู่ในความเงียบและซึมเศร้า เพราะการเสียชีวิตของน้าเขยมันรวดเร็วมากจนเรารับไม่ทัน จากวันที่เรารับทราบข่าวจนกระทั่งถึงวันที่ท่านเสียชีวิตเพียงห้าวันเท่านั้น

จากทั้งหมดที่เขียนมานี้ทำให้ผู้เขียนต้องย้ำเตือนตัวเองให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เราเหมือนยิปซีที่เร่ร่อนไปทั่ว ไม่สามารถลงหลักปักฐานที่ใดได้อย่างยั่งยืน คงต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ พบการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ต่อไป หากเราไม่สามารถทำจิตให้หลุดพ้นได้ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนา ถึงตรงนี้ผู้้เขียนทำได้แต่ภาวนาให้จิตวิญญานของน้าเขยจงไปสู่ภพภูมิที่ดี และหมั่นบอกตัวเองเสมอว่าตัวเองก็ต้องพบกับความตายเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะตายแบบใดและตายตอนไหน แต่เรารู้ว่าจะเลือกใช้ชีวิตในปัจจุบันแบบไหนในอันที่จะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อไปเมื่อเวลาแห่งความตายนั้นมาถึง ตามหลักเหตุและปัจจัยที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันเป็นผลของอดีตและเป็นเหตุของอนาคต

ขอบคุณภาพจาก http://www.amulet.in.th/forums/images/347.jpg