วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 9: MACKPACKER (2)




"เลขที่ 75 ถนนนิโคลัส อยู่เยื้องๆ มหาวิทยาลัยออตตาวา เอ ก็น่าจะอยู่แถวนี้นา" ผู้เขียนนึกในใจพร้อมกับอ่านข้อมูลในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวรวมทั้งเหลียวซ้ายแลขวามองหาบ้านพักเยาวชนไปพลาง หลังจากลงจากรถเมล์มาเมื่อประมาณสิบห้านาทีก่อน และก็ต้องเดินย้อนมาเป็นระยะทางพอสมควรท่ามกลางความหนาวเหน็บในเวลาเกือบสามทุ่ม ทั้งนี้เพราะรถเมล์แล่นเลยป้ายที่ผู้เขียนจะต้องลงไปไกลพอสมควร

"Could you please drop me off at the stop nearby Ottawa U.?" ทันทีที่ขึ้นรถเมล์ผู้เขียนบอกคนขับว่าถึงป้ายใกล้กับมหาวิทยาลัยออตตาวาช่วยจอดให้ผู้เขียนลงด้วย พลางหาที่นั่งใกล้คนขับเพื่อสะดวกสำหรับการสอบถามเส้นทางเดินรถ

"sure, gal" คนขับรถเมล์ชายสูงวัยหน้าตาท่าทางใจดีตอบกลับผู้เขียนพร้อมด้วยรอยยิ้ม

ระหว่างนั่งมาในรถผู้เขียนก็คอยสังเกตเส้นทางไปด้วย แต่ก็จดจำอะไรไม่ได้มากเนื่องจากเป็นเวลามืดค่ำแล้ว แต่ก็พยายามสังเกตดูป้ายบอกชื่อถนนว่าใกล้ถึงที่หมายหรือยัง สักพักตาลุงคนขับก็หยุดรถกะทันหัน พร้อมหันมาบอกผู้เขียนด้วยน้ำเสียงอุทานตกใจนิดหน่อย

"Oh, holy cow! we've just passed by the stop that you'd like to get off. I'm so sorry. I forgot it.

"โธ่เอ้ยคุณลุง จะมาอุทานวัวศักดิ์สิทธิ์อะไรเนี่ย นี่ขับเลยมาไกลประมาณไหนเนี่ย เฮ้อ" ผู้เขียนนึกในใจหลังจากได้ยินคำอุทาน holy cow แบบที่คนแ่ก่ๆ ที่นี่เขาชอบใช้กัน

"Is that far from here?" ผู้เขียนถามลุงคนขับรถเมล์ว่าเลยมาไกลหรือเปล่า

"It's not that far, just ten minutes walk, gal. Straight back to this street, and you'll see the U. on the right corner." ลุงคนขับบอกเส้นทางเดินกลับให้ผู้เขียน

ลุงคนขับจอดรถเพื่อบอกเส้นทางแก่ผู้เขียนเป็นพักหนึ่ง แต่ผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในรถสามสี่คนก็ยังมีน้ำใจดีไม่มีใครอารมณ์เสียที่ต้องเสียเวลา

ผู้เขียนเดินลงจากรถ พร้อมกับเสียงขอโทษขอโพยของตาลุงคนขับไล่หลังมาด้วย "I'm so sorry, have a good night gal" "No problem, you too" ผู้เขียนตอบกลับลุงคนขับไป

แล้วตัวผู้เขียนก็ต้องระหกระเหินเดินท่อมๆ ท่ามกลางกองหิมะเฉอะแฉะมาตามถนนที่ลุงคนขับบอกมาเรื่อยๆ "นี่ถ้าต้องใช้เวลาเดินย้อนกลับเป็นครึ่งชั่วโมงนะ ไม่มีทางยอมเด็ดขาด หนาวก็หนาวเมื่อยก็เมื่อย ต้องให้ตาลุงนั่นขับกลับมาส่ง" ผู้เขียนบ่นกับตัวเองดังๆ จะว่าไปผู้เขียนใช้เสียงดังเพื่อเป็นเพื่อน เพราะแถวนั้นนอกจากจะมีแค่ไฟสลัวๆ จากไฟทางแล้ว ยังไม่มีใครสักคนเดินผ่านเลย ที่จริงก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นหน้าหนาวและก็ล่วงเข้าสู่ยามค่ำคืนอย่างนี้ถ้าคนเขาไม่มีธุระปะปังจริงๆ คงไม่มีใครสิ้นคิดมาเดินท่อมๆ เหมือนอย่างที่ผู้เขียนทำอยู่ตอนนี้หรอก

แล้วผู้เขียนก็พาตัวเองมาถึงจุดหมายตรงมหาวิทยาลัยออตตาวาจนได้ แล้วก็พยายามมองหาตึกรามที่มีความน่าจะเป็นว่าเป็นบ้านพักเยาวชน ส่วนใหญ่บ้านพักเยาวชนที่ผู้เขียนเคยไปสัมผัสมาแล้วจะเป็นตึกสมัยใหม่ตกแต่งค่อนข้างดี พอมาที่นี่ผู้เขียนก็จินตนาการว่าภูมิสถาปัตย์ก็คงไม่ต่างจากที่อื่น เมื่อมองจากจุดที่ตั้งของมหาวิทยาลัยออตตาวาแล้วผู้เขียนก็ไม่เห็นตึกตามที่ตัวเองจินตนาการไว้อย่างไรเลย มองเห็นก็แต่ตึกหอคอยทรงเก่าๆ เหมือนปราสาทท่านเคาท์แดรกคูลาตั้งทมึนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม เหลียวซ้ายแลขวาว่าจะคิดอ่านทำประการใดดี ทันใดก็มีหนุ่มรูปร่างสูงเดินผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นนักศึกษาของม.ออตตาวา

"เดี๋ยวลองถามหนุ่มคนนี้ดูดีกว่า" "X'cuse me, could you please tell me where Carleton Youth Hostel is?"

"Over there" หนุ่มหน้าตาดีคล้ายคีอานู รีฟส์ ชี้ไปที่ตึกรูปร่างหอคอยเก่าๆ ฝั่งตรงกันข้าม



View Larger Map

สิบนาทีต่อมาผู้เขียนก็มายืนอ่อนระโหยพร้อมกับแสดงหลักฐานการจองที่พักให้พนักงานหน้าโต๊ะจองห้องพักของ Carleton Youth Hostel สักครู่พนักงานก็ส่งกุญแจห้องพร้อมผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน มาให้ผู้เขียน

ถึงตรงนี้แล้วคงต้องเล่าเกี่ยวกับลักษณะและระเบียบการเข้าพักที่บ้านพักเยาวชนเพื่อให้บางท่านที่อาจจะยังไม่เคยใช้บริการได้เห็นภาพสักหน่อย คือมาตรฐานห้องพักของบ้านพักเยาวชนในเกือบทุกที่เนี่ย จะเป็นห้องพักรวมประมาณ 6-8 เตียง ในห้องพักก็จะมีล็อกเกอร์ไว้เก็บสัมภาระของผู้มาพักในแต่ละเตียง ซึ่งผู้เข้าพักต้องนำกุญแจมาเอง สำหรับห้องอาบน้ำและห้องน้ำก็จะเป็นห้องน้ำรวมแยกหญิงชาย บางที่ก็จะดีหน่อยในแต่ละห้องพักก็จะมีห้องน้ำในตัวไว้ให้บริการเฉพาะคนที่พักอยู่ในห้องนั้นๆ แต่บางที่ห้องน้ำก็จะแยกออกมาต่างหาก ผู้พักจากทุกๆ ห้องก็มาใช้รวมกัน นอกจากนั้นก็มีบริการห้องครัวไว้สำหรับคนมาพักทำอาหารกินเองได้ เหล่านี้คือสิ่งอำนวยความสะดวกหลักที่ทุกบ้านพักเยาวชนจะจัดไว้ แต่บางที่อาจจะหรูขึ้นมาสักนิด ก็จะมีทางเลือกให้ผู้เข้าพักที่ชอบความเป็นส่วนตัวก็จะมีเป็นห้องเดี่ยว ห้องคู่ อะไรทำนองนี้ แต่ราคาค่าห้องก็จะสูงขึ้นมาอีก บางที่ก็จัดส่วนสันทนาการให้คนเข้าพัก เช่น ห้องดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ฯลฯ

นอกจากนี้ผู้เข้าพักมีหน้าที่ในการปูที่นอนเอง บางที่ใจดีหน่อยก็ไม่คิดค่าผ้าปูที่นอนหรือผ้าห่ม แต่บางที่ก็เขี้ยวคิดค่าเช่าผ้าปูที่นอนกับผ้าห่มเพิ่มเติมจากคนเข้าพักด้วย แต่โดยสรุปแล้วบ้านพักเยาวชนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากๆๆๆ เมื่อเทียบกับค่าพักโรงแรมประเภทหนึ่งดาวสองดาวอะไรเงี้ย เพราะตอนสมัยนั้นรู้สึกว่าผู้เขียนจ่ายค่าที่พักแบบนี้คิดเป็นเงินไทยแล้วเฉลี่ยตกคืนละหกร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง สุดแสนจะถูก และยิ่งเป็นช่วงหน้าหนาวแบบนี้ด้วยราคาก็ถูกลงมาอีก

ทีนี้ย้อนกลับมาเล่าเรื่องลักษณะของบ้านพักเยาวชนที่มีชื่อว่า Carleton กันดีกว่า เมื่อสักครู่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วว่า บ้านพักเยาวชนแห่งนี้มีรูปทรงเป็นหอคอยลักษณะเก่าๆ เหมือนปราสาทในยุคโบราณ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีหอคอยแห่งนี้มีชื่อว่า Carleton County Gaol หรือแปลเป็นไทยก็คือ "คุกแห่งคาลีตันเคาน์ตี" นั่นเอง



รู้สึกตอนนี้เริ่มมีเสียงหมาหอนมาตามลมหน่อยๆ พร้อมกับขนที่แขนชักลุกขึ้นมาน้อยๆ แล้ว ตามประวัติเขาเล่ากันว่าคุกแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1862 (ถ้านับมาถึงปีที่ผู้เขียนเข้าพักคือ ปี 2000 ก็ 138 ปีผ่านมาแล้ว) รูปทรงอาคารเขาบอกว่าเป็นแบบจอร์เจียนสไตล์ (เป็นยังไงก็ไม่รู้) และเขาก็ยังบอกอีกว่าช่วงเวลานั้นสภาพของคุกคาลีตันแห่งนี้มีสภาพที่แย่มากสำหรับผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กและคับแคบ ไม่สะอาด หน้าหนาวก็ไม่มีสิ่งที่จะทำความอบอุ่น อากาศก็ไม่ปลอดโปร่ง จนในที่สุดคุึกแห่งนี้ก็ปิดตัวลงเมื่อปี ค.ศ.1972 และได้โอนให้เป็นสมบัติของ Canadian Youth Hostel Association เพื่อเริ่มเปิดเป็นบ้านพักเยาวชนแก่นักท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคมในปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1973

เขาในที่นี้ก็คือแผ่นพับข้อมูลบ้านพักเยาวชนแห่งนี้ที่ผู้เขียนหยิบติดมือมาด้วยจากโต๊ะของพนักงานต้อนรับ ซึ่งผู้เขียนนำมานอนอ่านหลังจากที่ไ้ด้อาบน้ำอาบท่าเรียบร้อยแล้ว มิน่าห้องพักของผู้เขียนมันถึงหน้าตาเป็นซี่ลูกกรงแบบนี้ ลองดูซิ




โดยภายในยังคงรูปลักษณ์เดิมแบบคุกทุกอย่าง เพียงแต่ปรับปรุงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมา เช่น ติดตั้งเครื่องฮีทเตอร์อะไรประมาณนั้น

"อืม สิ่งก่อสร้างที่เคยเป็นคุกมีอายุถึง 138 ปี แล้วยังไงอ่ะ มันจะมีอะไรหลงเหลืออยู่ในนี้บ้าง" ผู้เขียนนึกในใจ

"Do you believe in ghosts?" เสียงของคนที่พักห้องเดียวกันกับผู้เขียนถามขึ้นมาขัดจังหวะความคิดของผู้เขียน "I just joined them for jail tour last night, it's so exciting, and lots of spooky stories." สาวฝรั่งที่เป็นรูมเมทเพียงคนเดียวของผู้เขียนยังคงเล่าเจื้อยแจ้วให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อคืนที่แล้วเธอเพิ่งเข้าไปร่วมทัวร์เพื่อไปตามล่าหาวิญญาณในคุกเ่ก่าแห่งนี้ ถ้าจะว่าไปสาวคนนี้แกก็คงเหมือนแฟนคลับพี่ป๋อง กพล ทองพลับบ้านเรา ที่ชอบไปพิสูจน์หาวิญญาณตามบ้านร้างอ่ะนะ แต่ตัวผู้เขียนมันไม่ใช่สักหน่อย "หลงเข้ามาแท้ๆ เลยเรา ทำไมไม่หาข้อมูลก่อนว่าแต่ละที่มันเป็นมายังไง" ผู้เขียนบ่นตัวเองในใจ

"แล้วจะหลับลงหรือเปล่าเนี่ย ชักกลัวขึ้นมาหน่อยๆ แล้ว สวดมนต์ภาษาเราผีฝรั่งมันจะฟังรู้เรื่องเร้อ สาธุ อย่าปวดฉี่กลางดึกเลย ไม่อยากออกไปเข้าห้องน้ำข้างนอกกลางดึกอ่ะ" ผู้เขียนนึกคิดไปเรื่อยเปื่อย ความกลัวผีชักเกิดขึ้นตะหงิดๆ พร้อมกับนึกเคืองสาวฝรั่งเพื่อนร่วมห้องขึ้นมาซะยังงั้น




Photos Credit: http://www.yhaschooltrips.org.uk/assets/images/Snapshots/HI-orange%20circle.jpg, google map, http://www.carletoncountygaol.com/content/history/history.shtml

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 8: MACKPACKER (1)


ตอนนี้มีชื่อว่า MACKPACKER จริงๆ ไม่ได้เขียนผิดหรอก MAC+BACKPACKER เลยกลายเป็น MACKPACKER ไปโดยปริยาย สำหรับตอนนี้เข้ามาเขียนช้าหน่อยเพราะติดงานส่วนตัวและยังไม่มีอารมณ์ปลอดโปร่ง ประเภทที่เด็กวัยรุ่นชอบพูดประมาณ chill out เพียงพอที่จะมานั่งเขียนเล่าเรื่องแบบสบายๆ สาเหตุคงไม่ต้องเกริ่นอะไรกันมาก คนที่รู้จักผู้เขียนดีคงเดาออกว่าสาเหตุมาจากเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งที่ "ชั่วเกินจินตนาการ" คำนิยามนี้มาจากอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ซึ่งตรงใจคนไทยหลายๆ คน สำหรับอาทิตย์ที่แล้วผู้เขียนได้ไปร่วมกับเพื่อนร่วมชาติที่สนามหลวงด้วยเหมือนกัน ตัวผู้เขียนเองใช้วิํธีเดินทางโดยใช้บริการเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ เห็นผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่จัดงานก็รู้สึกดีที่คนไทยจำนวนมากยังรักบ้านเมืองและรักในหลวง เลยเก็บภาพไว้สักหน่อยรวมทั้งภาพตึกโรงพยาบาลที่ในหลวงท่านประทับอยู่มาด้วย




ผู้เขียนและคนที่ไปด้วยช่วยกันหามุมที่นั่ง เดินวนไปมาสองรอบ ก็ได้ที่ตรงข้างซ้ายเวทีอยู่เยื้องกันกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ห่างจากจุดที่คนไม่หวังดีมันยิง M79 ลงมาไม่น่าเกินร้อยเมตร เพราะตรงนั้นไม่ค่อยมีคน ลมพัดเย็นสบายดี นั่งฟังคนบนเวทีพูด ฟังพี่หรั่งร้องเพลง ฟัง อ. ณัฐ กับคุณพวงเดือน ยนตรรักษ์ เล่นเปียโนและร้องเพลงหนักแผ่นดิน ฟัง สว คำนูณ อภิปรายนอกสภา แล้วก็ถึงคิวคุณสนธิพูด กำลังนั่งฟังเพลินๆ ก็มีเสียงดังสนั่นลงมาไม่ไกลจุดที่เรานั่งมากนัก เห็นกลุ่มคนที่นั่งใกล้ๆ กันกับเราลุกขึ้นยืนดูเหตุการณ์แบบงงๆ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงของอะไร แต่ประชาชนก็ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไร ก็ยังเฉยๆ กัน ไม่ได้ลุกฮือหนีออกไปอย่างที่หนังสือพิมพ์หัวสีแดงบางฉบับลงข่าว มารู้ทีหลังว่าเป็นเสียงระเบิดและมีคนบาดเจ็บก็ตอนที่เราเดินไปทางนั้นเพื่อจะกลับบ้าน เหตุการณ์นั่นก็อย่างหนึ่งแล้ว นี่ก็จะเอากันอีกแล้วปลายเดือนนี้ "ชั่วเกินจินตนาการ" อยากจะให้มีสงครามกลางเมืองซะให้ได้ ไม่รู้ไอ้สิ่งมีชิวิตสปีชีส์นี้จะเลวให้ได้ถ้วยไปอวดพญายมราชในนรกซักกี่ใบกัน พอรู้สึกตึงเครียดกันซะขนาดนี้ ก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายกันบ้าง สำหรับตัวผู้เขียนชอบที่จะไปเดินตลาดน้ำแถบย่านบ้านตัวเอง บรรยากาศคลองใสๆ สวนปลูกผักและสวนกล้วยไม้ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก มันพอที่จะทำให้ใจผ่อนคลายไปได้บ้างจากสภาพปัญหาบ้านเมือง ส่วนอาทิตย์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็จะรอดูกันว่ามันจะแสดงความเถื่อน ถ่อย กันระดับไหน

คงต้องเข้าเรื่องที่เป็นชื่อตอนนี้ซักที ไม่อย่างนั้นอารมณ์แบบชิลชิลจะหายไปซะหมด เมื่อตอนที่แล้วเล่าเรื่องคุณลักษณะเฉพาะตัวของมณฑลควิเบกไปแล้วตามมุมมองของนักเดินทางผู้โดดเดี่ยวพร้อมเป้สะพายหลังอย่างผู้เขียน และเพื่อให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องตอนนี้ก็ขอเล่าบรรยากาศและรูปแบบการท่องเที่ยวของผู้เขียนที่ควิเบกในช่วงหน้าหนาวก่อนเทศกาลคริสต์มาสเสียหน่อย

ตลอดช่วงเวลาที่ผู้เขียนอยู่ที่แคนาดา มักจะไปไหนมาไหนคนเดียว อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคยกับชีวิตแบบนี้จากการที่ตนเองเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่น ดังนั้นถ้าไม่ได้ไปไหนกับพ่อแม่ก็มักจะไปไหนมาไหนตามลำพัง เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดาก็จะชอบไปไหนตามลำพัง ที่จริงเพื่อนสนิทในชั้นเรียนที่เป็นชาวแคนาดามีอยู่สองสามคน แต่บรรดาเพื่อนเหล่านี้มีบ้านอยู่ต่างเมืองออกไป และก็เป็นเหมือนชาวตะวันตกทั่วไปที่เขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ดังนั้นเมื่อไม่มีชั่วโมงเรียนพวกเพื่อนเหล่านี้ก็ต้องไปทำงานในที่ไกลๆ ออกไป เพื่อนสนิทของผู้เขียนคนหนึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทไปรษณีย์แคนาดา (Canada Post)ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานเป็นพนักงาน part-time ที่ห้าง Walmart ดังนั้นนอกเวลาเรียนจึงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้พบเจอกันบ่อยนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการผจญภัยแบบโดดเดี่ยวผู้น่ารักก็ต้องเกิดขึ้น

เมื่อคิดอาจหาญที่จะเดินทางคนเดียวในหลายๆ เมืองเช่นนั้นจึงต้องมีเตรียมการล่วงหน้าให้ดี จริงๆ แล้วผู้เขียนเตรียมตัวตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้ว โดยเริ่มจากการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชน หรือ Youth Hostel Association ซึ่งสมาคมบ้านเยาวชนนี้ให้บริการที่พักทั่วทุกมุมโลกแก่นักท่องเที่ยวในราคาประหยัด สำหรับในประเทศไทยเองก็มีสมาคมบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทยตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านคนใดมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดงบค่าใช้จ่าย การหาที่พักแบบบ้านเยาวชนนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง

เมื่อขึ้นชื่อว่าบ้านพักเยาวชนแล้ว นักท่องเที่ยวที่มีอายุมากที่มีวัยล่วงเลยคำว่าเยาวชนมานับสิบปีแต่ใจยังรักการท่องเที่ยวแบบ backpack อาจจะคิดว่าคุณสมบัติด้านอายุของตนเองไม่เข้ากับการเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชนนี้ได้ ถ้าท่านคิดเช่นนั้นขอตอบว่านั่นเป็นการเข้าใจผิด เพราะบ้านเยาวชนเปิดรับสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย โดยสถานภาพของสมาชิกมีตั้งแต่ 1,2,3 ปี หรือตลอดชีพ ค่าสมัครสมาชิกก็แตกต่างกันออกไป สำหรับตัวผู้เขียนเลือกสมัครแบบหนึ่งปี เมื่อสมัครแล้วก็จะได้บัตรสมาชิกรูปร่างหน้าตาแบบนี้



ตอนนี้ท่านก็รับประกันได้ว่าท่านมีสิทธิที่จะเข้าพักบ้านเยาวชนได้ทุกแห่งทั่วโลกในราคาประหยัด เมื่อเรื่องที่พักพร้อมแล้วเรื่องต่อไปที่จะต้องคำนึงถึงคือเรื่องของพาหนะการเดินทาง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าราคาค่าพาหนะการเดินทางในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถไฟ หรือเครื่องบินนั้นราคาค่อนข้างสูง ทางหนึ่งที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้หากท่านมีสถานภาพเป็นนักศึกษานั่นก็คือการสมัครบัตรนักศึกษาต่างชาติหรือ International Student Identity Card (ISIC) โดยบัตรนี้จะให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของบัตรมากมายในเรื่องส่วนลดราคาค่าพาหนะเดินทางไปไหนต่อไหน ส่วนลดเมื่อไปใช้บริการร้านค้าและบริการอื่นๆ มากมาย ในกรณีของผู้เขียนนั้นไม่ไ้ด้สมัครบัตรนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ในเมืองไทย เลยต้องไปสมัครที่สำนักงานตัวแทนของ ISIC ที่ตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยของแคนาดา เมื่อสมัครแล้วท่านก็จะได้รับบัตรรูปร่างแบบนี้



เพียงเท่านี้ท่านก็พร้อมที่จะเดินทางไปไหนด้วยค่าใช้จ่ายในราคาประหยัดแล้วละ

การเตรียมการเดินทางของผู้เขียนนั้นเิริ่มต้นจากการกำหนดวันเวลาและเส้นทางการเดินทาง เมื่อกำหนดการและเส้นทางเรียบร้อยแล้วจึงไปสำรองที่พักและซื้อบัตรรถโดยสาร โดยเริ่มจากการไปติดต่อสมาคมบ้านพักเยาวชนที่โตรอนโตเพื่อสำรองที่พักในบ้านพักเยาวชนในห้าเมืองคือ ออตตาวา มอนทรีอัล ควิเบกซิตีั้ บอสตัน วอชิงตันดีซี พร้อมจ่ายเงินค่าที่พักให้เรียบร้อยทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อไปถึงเมืองนั้นๆ จะมีที่นอนแน่ๆ ต่อไปก็นำบัตร ISIC ไปซื้อบัตรรถโดยสารตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ซึ่งมีส่วนลดราคาได้เกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลย ตอนนี้ก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจไร้กังวลแล้วเมื่อที่พักและพาหนะพร้อมแล้ว เอ๊ะ ยังก่อน ลืมไปอย่างถ้าระหว่างการเดินทางเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุทำอย่างไร โชคดีที่ทางสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนไปเรียนได้จัดทำประกันสุขภาพให้ผู้เขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เลยไม่ต้องยุ่งยากเพียงนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วย

เราก็จะได้รับการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพตลอดการเดินทาง และเพื่อเป็นการไม่ประมาทในการใช้ชีวิตสำหรับตัวผู้เขียนเองมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำก่อนการเดินทางคือโทรศัพท์มาบอกทางบ้านที่เมืองไทยว่าช่วงเวลาไหนวันไหนอยู่เมืองอะไร ทั้งนี้เผื่อเกิดเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝันเป็นอะไรขึ้นมาทางบ้านจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราบ้าง เอาละคราวนี้ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจ

วันที่ 13-16 ธันวาคม 2543 (โตรอนโต-ออตตาวา)



ผู้เขียนมาถึงสถานีรถโดยสารของโตรอนโตเมื่อประมาณบ่ายโมงเศษๆ ของวันที่ 13 ธันวาคม ทั้งๆ ที่ออกจาก Barrie มาประมาณ 11 โมงเช้า ทั้งนี้เป็นเพราะคนขับต้องขับรถอย่างระมัดระวังเพราะมีหิมะอยู่เต็มถนนเลย รถที่ผู้เขียนโดยสารเดินทางออกจากโตรอนโตประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง ระยะเวลาเดินทางจากโตรอนโตถึงออตตาวาใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงเศษ มาถึงที่สถานีรถโดยสารในเมืองหลวงของแคนาดาก็ปาเข้าไปเกือบทุ่มแล้ว




เวลาทุ่มในหน้าหนาวก็คงนึกภาพออกว่าพระอาทิตย์ตกดินไปก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมงแล้ว เมื่อออกจากสถานีรถโดยสารพร้อมเป้สัมภาระผู้เขียนจึงได้มองไปยังท้องถนนที่ค่อนข้างมืดเบื้องหน้าจะมีแสงสว่างบ้างก็แค่แสงสลัวของไฟทางพร้อมทั้งถามตนเองในใจว่า "แล้วนี่เราจะเดินทางไปบ้านพักเยาวชนยังไงกันเนี่ย" (ถ้าเป็นบ้านเราคงเรียกมอ'ไซด์รับจ้างไปส่งแล้ว)

ออตตาวาก็เหมือนกับเมืองหลวงของประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจการบริหารราชการของรัฐบาลกลาง ดังนั้นที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญๆ เช่น รัฐสภา ทำเนียบ ฯลฯ และส่วนใหญ่เมืองหลวงของประเทศเหล่านี้มักจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เพราะไม่ได้มีแนวความคิดเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาที่เมืองหลวงเป็นแหล่งรวมศูนย์ความเจริญทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นที่ออตตาวาจึงมีขนาดเล็กกว่าโตรอนโตค่อนข้างมาก และระบบการคมนาคมหลักและครอบคลุมการให้บริการทุกพื้นที่ในเมืองนี้จึงมีเฉพาะรถเมล์โดยสาร ดังนั้นสำหรับตัวผู้เขียนที่ค่อนข้างชอบใช้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าไม่ว่าจะบนดินใต้ดินจึงรู้สึกพะว้าพะวังพอสมควร และยิ่งเป็นหน้าหนาวอย่างนี้ด้วย การไปยืนรอรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์โดยไม่ศึกษาเส้นทางและกำหนดการเดินรถเป็นสิ่งที่ต้องพึงหลีกเลี่ยง เป็นเพราะว่าอากาศข้างนอกหนาวจับจิตอุณหภูมิต่ำสุดของที่นี่ในช่วงหน้าหนาวนี้ติดลบประมาณสามสิบถึงสี่สิบองศาเซลเซียส แล้วคนจากเมืองร้อนอย่างผู้เขียนที่คุ้นเคยแต่กับอุณหภูมิบวกสามสิบองศาเซลเซียสของบ้านเราจะทนเข้าไปได้ยังไง ขืนออกไปยืนรอแบบไม่มีจุดมุ่งหมายมีหวังได้ยืนแข็งอยู่ที่ป้ายรถเมล์แน่ๆ คิดดังนั้นแล้วก็ย้อนกลับเข้าไปในสถานีรถโดยสารอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ไออุ่นจากฮีทเตอร์ข้างใน พลางมองหากระดานประกาศการเดินรถสาธารณะของเมืองนี้ ดีอยู่อย่างว่านี่มีระบบการประกาศเส้นทางเดินรถไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐาน และมีป้ายประกาศบอกเส้นทางการเดินรถพร้อมบอกเวลาที่รถจะเดินทางมาถึงแต่ละจุดๆ ผู้โดยสารจะได้คำนวณเวลาที่จะไปรอที่ป้ายรถเมล์ได้ถูก



ผู้เขียนศึกษาป้ายบอกเส้นทางเดินรถประกอบการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของบ้านพักเยาวชนในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวที่นำติดตัวมาด้วย จนเมื่อมั่นใจก็บอกตัวเองว่าพร้อมแล้วที่จะเดินทางออกจากสถานีรถโดยสารแห่งนี้


Photos Credit: http://www.clker.com/clipart-2398.html, http://static.panoramio.com/photos/original/5202880.jpg, http://ottawaproject.files.wordpress.com/2008/12/dsc01069.jpg, http://www.octranspo1.com/images/files/routes/043map.gif

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 7: สังคมพหุวัฒนธรรม (2)


นอกเหนือจากพลเมืองคาเนเดียนเชื้อสายเอเชียแล้ว แคนาดายังมีพลเมืองที่สืบทอดเชื้อสายจากชนชาติฝรั่งเศสอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในควิเบกซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา รวมทั้งเป็นมณฑลที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นอันดับสองรองจากออนตาริโอ นอกจากนี้ควิเบกยังมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนกับมณฑลอื่นในเรื่องของการเมือง การปกครอง โดยที่นี่จะใช้เฉพาะภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษมีใช้บ้างในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไรก็ตามหากท่านได้ไปท่องเที่ยวในควิเบกแล้ว บรรยากาศจะเสมือนหนึ่งท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญคือมอนทรีอัล (Montreal) สำหรับเมืองหลวงของควิเบกได้แก่ ควิเบกซิตี้(Quebec City) ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่ามอนทรีอัลมากมายนัก



ตอนที่ผู้เขียนเดินทางไปเที่ยวที่มณฑลควิเบกและที่อื่นๆ ด้วยนั้นเป็นช่วงหน้าหนาวใกล้เทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาวนาน จึงถือโอกาสนี้วางแผนเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ของแคนาดาและเมืองต่างๆ ของอเมริกาที่อยู่ในแถบใกล้เคียง โดยเป็นการเดินทางเพียงลำพัง และมีเส้นทางการเดินทางเป็นวงรอบ (ดูจากเส้นสีน้ำเงินในแผนที่) โดยตั้งต้นจากโตรอนโตและเริ่มขึ้นไปออตตาวา ต่อไปมอนทรีอัลและควิเบกซิตี้ ย้อนกลับมามอนทรีอัลอีกครั้งเพื่อมาสถานีรถเกรย์ฮาวด์ในการเดินทางเข้าอเมริกา นั่งรถผ่านรัฐเวอร์มองเข้ามายังแมซซาซูเซสเพื่อมาเที่ยวบอสตันกับเคมบริดจ์ นั่งรถต่อมายังนิวยอร์กซิตี้เพื่อต่อรถไปยังเมืองหลวงของอเมริกาที่ดีซี จากนั้นจึงได้ฤกษ์เดินทางกลับแคนาดา โดยแวะรายทางผ่านเมืองบัลติมอร์ไปยังเมืองบัฟฟาโลเมืองชายแดนของรัฐนิวยอร์ก อเมริกา ก่อนจะข้ามสะพานสันติภาพ หรือ Peace Bridge บริเวณน้ำตกไนแองการาเพื่อกลับเข้าสู่เมืองไนแองการาออนเดอะเลค (Town of Niagara-on-the-Lake) ของมณฑลออนตาริโอต่อไป


View Larger Map



พอมาดูเส้นทางการเดินทางครั้งนั้นของตัวเอง ก็รู้สึกตกใจว่าช่างทำไปได้ เดินทางคนเดียวในช่วงอากาศหนาวเหน็บพายุหิมะถล่มในหลายพื้นที่ พอมานั่งนึกดูก็คิดว่าเป็นการสิ้นคิดจริงๆ ที่เดินทางในช่วงนั้น เพราะผู้เขียนประสบอุปสรรคจากสภาวะอากาศที่ย่ำแย่จากพายุหิมะ แต่อย่างไรก็ดีในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง จากการได้เรียนรู้ประสบการณ์และความมีน้ำใจของผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งเป็นเรื่องยาวที่จะเล่าถึง ก็คงจะนำมาเล่ากันต่อไปในตอนถัดๆ ไป เพราะตอนนี้ก็ออกนอกเรื่องมาพอควร

ที่ยังเล่าค้างอยู่คือคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปของมณฑลควิเบกในเรื่องของประชากรและการเมืองการปกครอง ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส และพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ (Francophone)ภาษาอังกฤษมีใช้อยู่บ้างในมณฑลนี้แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย บางครั้งผู้เขียนก็รู้สึกติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของการใช้ภาษาสื่อสารเมื่อเดินทางมาที่นี่ ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่ผู้เขียนนั่งรอรถเพื่อจะเดินทางไปบอสตันที่สถานีรถโดยสารที่มอนทรีอัล ในขณะที่ผู้ประกาศให้ผู้โดยสารในสถานีได้ทราบถึงกำหนดการเดินรถ เขาก็เริ่มประกาศเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่าเป็นวิถีปฏิบัติของมณฑลนี้ ในขณะที่เงี่ยหูฟังว่าเมื่อไหร่เขาจะประกาศเป็นภาษาอังกฤษต่อ ก็ไม่มีซะเฉยๆ อย่างนั้น ก็เลยไม่รู้กันว่าประกาศอะไรออกไป ทั้งๆ ที่สถานีรถโดยสารน่าจะใช้ทั้งสองภาษาสำหรับการสื่อสาร เพราะคนเดินทางมีหลากหลายสัญชาติ เป็นนักท่องเที่ยวก็เยอะ ผู้เขียนก็เลยรู้สึกเสียอารมณ์บ้างพอสมควร

เมื่อตอนที่แล้วได้เกริ่นไปบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในเรื่องของการเมืองการปกครองของแคนาดาว่าเคยมีชนชาติฝรั่งเศสปกครองแคนาดามาแต่เก่าก่อน จากนั้นจึงมีการสู้รบชิงแผ่นดินกันกับชนชาติิอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีชัยเหนือฝรั่งเศสได้ครอบครองแผ่นดินและสถาปนาระบบปกครองแบบอังกฤษในประเทศแคนาดาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของชนชาติฝรั่งเศสก็ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะอพยพคนของตัวเองกลับประเทศ ก็ยังมีการรวมตัวกันของคนฝรั่งเศสกันอย่างเหนียวแน่นและก็สืบทอดเชื้อสายความเข้มข้นของชนชาติฝรั่งเศสมาถึงทุกวันนี้ในพื้นที่ของมณฑลควิเบก คนมีชื่อเสียงโด่งดังที่เรารู้จักกันดีในแวดวงนักร้องนักแสดงที่มาจากควิเบกก็มีเยอะ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันคือ ซิลีน ดิิออน และลาร่า เฟเบียน ซึ่งคนหลังนี้เป็นชาวเบลเยี่ยมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว ลาร่าได้โอนสัญชาติเป็นคาเนเดียนและมีถิ่นพำนักในควิเบก สำหรับซิลีนนี่ ไม่มีข้อสงสัยเพราะเธอเกิดและเิติบโตที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของควิเบก ดังนั้นเธอจึงมีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแต่เท่าที่สังเกตเธอก็ใช้ภาษาทั้งสองได้ดีพอๆ กัน จะว่าไปชาวคาเนเีดียนที่เข้าสู่วงการนักร้องนักแสดงในอเมริกามีอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ล่าสุดเท่าที่ผู้เขียนรู้และเห็นว่ามีชื่อเสียงมากพอสมควรคือ เอวริล ลาวีน (Avril Lavigne) ซึ่งตอนแรกนึกว่าสาวคนนี้มีถิ่นเกิดที่ควิเบกและมีเชื้อสายฝรั่้งเศส แต่ตรวจสอบดูแล้วเกิดและเติบโตที่ออนตาริโอ แต่ยังไงก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าเธอมีเชื้อสายฝรั่งเศสหรือเปล่า

เมื่อควิเบกซึ่งป็นส่วนหนึ่งของแคนาดายังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของคนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตแบบฝรั่งเศส มาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็คงเดาได้ไม่ยากว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป นั่นก็คือการขอแยกตัวประกาศเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ตอนที่ผู้เขียนไปใช้ชีวิตที่แคนาดาในช่วงนั้นตัวผู้เขียนเองไม่ได้รับรู้ข่าวสารหรือเรียนรู้กับระบบการเมืองของควิเบกมากไปกว่าการที่รู้เพียงว่ามณฑลนี้เป็นของคนเชื้อสายฝรั่งเศส สำหรับเรื่องข้อขัดแย้งกับรัฐบาลส่วนกลางในเรื่องการปกครองนั้นผู้เขียนไม่ได้รับรู้เลย มาได้เรียนรู้ในรายละเอียดจริงๆ ก็ตอนที่ผู้เขียนได้กลับไปแคนาดาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อฝึกอบรมหลักสูตร "Conflict Management" และได้ไปเรียนรู้ในเชิงลีกของการบริหารจัดการข้อขัดแย้งของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่ออตตาวา และไปเรียนรู้ในมุมมองของรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลควิเบก

แนวคิดที่จะขอแยกตัวเป็นอิสระจากแคนาดาของชาวคาเนเดียนเชื้อสายฝรั่งเศสค่อนข้างมีความเกี่ยวเนื่องและเริ่มต้นจากสงครามการปฏิวัติอเมริกาและสงครามกลางเมืองในอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่รายละเอียดผู้เขียนคงต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม อย่างไรก็แล้วแต่นับตั้งแต่ศตรวรรษที่ 18 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 มีการต่อสู้และเรียกร้องของชาวควิเบกในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะแยกตัวเป็นอีกประเทศหนึ่งไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติเงียบหรือมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย ที่แย่ที่สุดในความรู้สึกของแคนาดาน่าจะเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 1960-1970 ที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เหมือนภาคใต้ของเราจริงเลย)เช่น การปล้นสดมภ์ การวางระเบิดสังหาร โดยพุ่งเป้าหมายไปที่หน่วยงานสถานที่ของชุมชนเชื้อสายชาวอังกฤษ แต่ปัจจุบันความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้คนก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่แนวความคิดที่จะแยกควิเบกออกไปเป็นรัฐอิสระก็ยังมีอยู่ในความคิดของชาวควิเบกจำนวนไม่น้อย

เท่าที่รู้รัฐบาลกลางที่ออตตาวาพยายามที่จะขจัดปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยสันติวิํีธีและใช้วิถีทางระบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ล่าสุดในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ได้ประกาศว่า ควิเบกเป็นประเทศหนึ่งที่ผนวกเข้ากับแคนาดา ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังเป็นหัวข้อที่ไม่ชัดเจนและหลายฝ่ายก็นำมาถกเถียงกัน ดังนั้นสถานะของควิเบกก็คงยังคลุมเครืออยู่ถึงทุกวันนี้

Credits to googlemap,
www.hicker-fine-art.com/quebec-city-at-dusk-i...
www.pgscanada.com/.../Montreal_Notre_Dame.jpg