วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

พลายบุญหลง

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวอยู่หนึ่งข่าวที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษและรู้สึกกระทบใจตัวเองอย่างมาก ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายคนที่รู้จักผู้เขียนดีคงเดาว่าต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแบบ animal farm ในประเทศนี้แน่ๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสัตว์การเมืองประเภทนั้นหรอก แต่เป็นเรื่องของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลนั่นก็คือช้างนั่นเอง

ช้างที่ตกเป็นข่าวในช่วงนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า "พลายบุญหลง" โดยพลายบุญหลงเป็นลูกช้างป่าอายุประมาณ ๓ ถึง ๖ เดือน ลูกช้างในช่วงวัยเท่าพลายบุญหลงถือว่ายังเป็นช้างเด็กมากๆ และการดำรงชีวิตอยู่ของช้างเด็กวัยนี้ต้องอาศัยนมแม่เป็นหลัก ถึงจะอยู่รอดปลอดภัยจนโตเป็นช้างพลายตัวโตๆ ในอนาคต แต่ก็ให้มีเหตุทำให้พลายบุญหลงต้องพลัดพรากจากอกแม่ที่อบอุ่น เมื่อมีน้ำป่าไหลแรงพัดพาเจ้าช้างป่าตัวน้อยนี้ที่กำลังหากินอยู่กับแม่ช่วงกลางคืนในป่าบริเวณ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง" จังหวัดเลย ทำให้เจ้าช้างตัวนี้หลงเข้ามาบริเวณชุมชนของชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านจับตัวช้างน้อยตัวนี้ได้ (ลักษณะนามของช้างป่าเรียกว่า "ตัว" ในขณะที่ช้างบ้านที่ถูกเลี้ยงไว้จะเรียกลักษณะนามเป็น "เชือก") ก็ตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่า "พลายบุญหลง" พร้อมกับส่งให้ "โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง" อำเภอภูเรือ จ. เลย ดูแลพลายน้อยนี้ต่อไป

เมื่อแรกมาถึงพลายบุญหลงค่อนข้างผอม ถ่ายเหลว มีบาดแผลบริเวณปากและลำคอ ทำให้สัตวแพทย์ต้องคอยประคบประหงมเพราะช้างเล็กๆ อย่างนี้มีความเสี่ยงกับชีวิตอยู่เหมือนกันหากต้องดำรงชีวิตอยู่โดยขาดน้ำนมจากแม่ช้าง และมีสภาพย่ำแย่อย่างที่กล่าว

ตัวผู้เขียนเองโดยพื้นฐานเป็นคนใจอ่อนกับสิ่งมีชีวิตที่กำลังประสบกับความทุกข์ยากไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีเสมอไป แต่สำหรับพลายบุญหลงนี้ ตอนแวบแรกที่ได้เห็นภาพพลายบุญหลงในคลิบวิีดีโอที่สำนักข่าวท้องถิ่นเมืองเลยเขาโพสประกอบหัวข้อข่าว มันรู้สึกกระทบใจตัวเองอย่างแรงซึ่งผู้เขียนเองก็อธิบายไม่ถูก ผู้เขียนเองเชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยเกิดความรู้สึกอย่างนี้

ในช่วงนั้นหลังจากได้ทราบว่าทางศูนย์ฯ ขอความร่วมมือผู้ใจบุญช่วยบริจาคเงินเพื่อช่วยค่านม ค่ายาสำหรับพลายบุญหลง ผู้เขียนเองไม่ได้รีรอเลยที่่จะร่วมบริจาค และก็ดีอยู่อย่างที่ธนาคารที่ทางศูนย์ฯ เปิดบัญชีไว้มีสาขาตั้งอยู่ที่ทำงานผู้เขียนพอดี เรื่องก็เลยง่าย

(คลิบข้างล่างเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ย้ายพลายบุญหลงไปเลี้ยงไว้ที่คอกกักของศูนย์ฯ เพื่อให้ห่างไกลจากการรบกวนของชาวบ้านและเด็กๆ)




และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้เขียนก็คอยติดตามข่าวของเจ้าพลายบุญหลงมาโดยตลอดจากเว็บไซท์ข่าวท้องถิ่นของเมืองเลย ทำให้ทราบว่าสุขภาพของพลายบุญหลงเริ่มดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ พร้อมกันนั้นผู้เขียนก็ได้ทราบว่าทางสัตวแพทย์ขอบริจาคโปรตีนผงยี่ห้อดังจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของพลายบุญหลง

(คลิบข้างล่างเป็นช่วงเวลาที่พลายบุญหลงได้รับการอนุบาลในคอกกักของศูนย์ฯ เพื่อให้สัตวแพทย์คอยดูแลและเฝ้าสังเกตอาการ)




มาถึงตรงนี้ผู้เขียนต้องขอบคุณพี่ริน (พี่ที่ไปเที่ยวด้วยกันที่ยุโรป) ที่ช่วยกรุณาบริจาคเงินสมทบเพื่อช่วยซื้อโปรตีนให้พลายบุญหลง และขอบคุณเพื่อนแป๋วที่เป็นธุระจัดหาโปรตีนที่ว่าให้ผู้เขียนได้ส่งไปให้พลายบุญหลงจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนรู้แล้วว่าความรู้สึกอิ่มเอมใจในฐานะที่เป็นผู้ให้นั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่ผู้เขียนได้เพียรพยามติดตามตรวจสอบสถานะการเดินทางของกล่องพัสดุที่ผู้เขียนส่งไปให้พลายบุญหลงตั้งแต่วันพุธที่ ๑๔ กันยายน ในเว็บไซท์ของไปรณีย์ไทย เมื่อกล่องพัสดุที่ว่ามีสถานะการนำจ่ายที่ถึงมือผู้รับเรียบร้อยแล้ว (แน่นอนว่าเจ้าพลายบุญหลงไม่ได้เซ็นรับพัสดุเองหรอก ถึงแม้ว่าหน้ากล่องจะระบุชื่อพลายบุญหลงเป็นผู้รับก็ตามที)






หลังจากเห็นข้อความของสถานะของพัสดุที่ว่าแล้ว ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองได้รับของขวัญทางด้านจิตใจที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้รับมาเลยในช่วงเวลาที่เดือนนี้เป็นเดือนเกิดของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าบางครั้งความสุขในการฉลองวันเกิดของคนเราก็คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำเงินไปซื้อของขวัญที่หรูหราราคาแพง แต่ถ้าเงินจำนวนนั้นสามารถที่จะต่อชีวิตหรือบรรเทาความทุกข์ยากให้กับเพื่อนร่วมโลกหรือตามคำพระท่านว่าคือเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย แค่นี้ก็มีความสุขล้นเหลือแล้ว

video credit to youtube by linkloei

photo credit to http://www.golokdo.go.th/index.php?mo=3&art=514962

หมายเหตุ: เข้ามาเพิ่มเติมข้อมูล ณ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทางศูนย์ฯ ได้ย้ายพลายบุญหลงไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่จังหวัดลำปางแล้ว หลังจากไม่สามารถตามหาแม่ช้างป่าของพลายบุญหลงได้ พลายบุญหลงคงต้องปรับสภาพการใช้ชีวิตจากช้างป่าเป็นช้างเลี้ยงต่อแต่นี้ไป



รายละเอียดข่าวจาก manager online

"ลำปาง - ลูกช้างป่าพลายบุญหลง อายุ 4 เดือนที่พลัดหลงฝูงจากป่าภูหลวง ถูกส่งมาเลี้ยงดูที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยลำปางแล้ว ทางศูนย์เตรียมหาแม่รับให้ หลังลูกช้างไม่ได้ดื่มนมแม่เกรงจะส่งผลกระทบด้านการเจริญเติบโต

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า ลูกช้างป่าพลายบุญหลง อายุ 4 เดือน ซึ่งพลัดหลงฝูงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เข้ามาในหมู่บ้านบ้านเลยวังไสย์ ต.เลยวังไสย์ จ.เลย หลังเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก จนชาวบ้านแจ้งให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงทราบ จึงได้มีจัดชุดปฏิบัติการ 5 ชุดเพื่อตามหาโขลงแม่ช้างที่คาดว่าลูกช้างจะหลงออกมาตามแนวชายป่า ด้วยการตามรอยเท้าและเสียงร้องตามหาลูกของแม่ช้าง แต่ไม่พบว่ามีโขลงแม่ช้างที่มีลูกเล็กแต่อย่างใด ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูกช้างพลายไว้ในเขตอนุรักษ์ฯ

แต่เนื่องจากลูกช้างยังเล็กและยังไม่หย่านม เกรงว่าหากลูกช้างไม่ได้ดื่มนมแม่ก็อาจจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ทางเขตจึงได้พยายามติดตามหาโขลงช้างที่มีลูกช้างพลัดหลงเพื่อนำลูกช้างกลับคืนแต่สุดท้ายก็ติดตามหาไม่พบ

ดังนั้น ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งนำโดยนายชัยณรงค์ ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และนายวัชระ ธรรมสอน หัวหน้าโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง พร้อมด้วยทีมสัตว์แพทย์ศูนย์ช่วยเหลืออาหารช้างป่าภูหลวง ได้นำลูกช้างพลายบุญหลง เดินทางมาถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เมื่อ 1 ต.ค.54 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทางศูนย์ฯ เป็นผู้ดูแลต่อไป

เบื้องต้นทางทีมสัตว์แพทย์ ได้นำลูกช้างไว้ในโรงเรือนและพักผ่อนก่อนหนึ่งคืน หลังจากนั้นในวันพรุ่งนี้จะได้หาช้างมาเทียบเพื่อหาช้างแม่รับให้กับลูกช้างพลายต่อไป และหากได้แม่รับที่สามารถให้นมกับลูกช้างได้ก็จะเป็นการดี เพราะลูกช้างยังต้องดื่มน้ำนมแม่เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

สำหรับลูกช้างพลายบุญหลง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่อาจจะขาดสารอาหารบ้าง แต่โดยรวมถือว่าสุขภาพดี และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ไม่ดุร้ายและไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีการคุมขัง"

เครติดรูปภาพและเนื้อหาข่าวจาก manager online



ปัจจุบันพลายบุญหลงมีแม่รับแล้วชื่อพังพุ่มพวง ช่างเป็นข่าวดีจริงๆ ดีใจด้วยนะเจ้าช้างน้อยขอให้โตไวๆ

“พลายบุญหลง” ได้แม่รับแล้ว
วันศุกร์ ที่ 07 ต.ค. 2554




ลำปาง 7 ต.ค.- ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยหาแม่รับให้ช้างน้อยหลงแม่จากป่าภูหลวงได้เรียบร้อยแล้ว ชื่อ พังพุ่มพวงกำลังตั้งท้อง มีประวัติดี เคยเป็นแม่รับให้พลายปฐมภพช้างเชือกแรกของเอเชียเกิดจากผสมเทียมน้ำเชื้อสด

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง เปิดเผยถึงพลายบุญหลง อายุ 4 เดือน พลัดหลงจากแม่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย และถูกส่งมาให้อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ระหว่างจัดหาแม่รับให้กับลูกช้าง ทางศูนย์ฯ ให้นมถั่วเหลืองกับพลายบุญหลงวันละกว่า 3 ลิตร ทดแทนนมแม่และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ขณะนี้ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว เนื่องจากหาแม่รับช้างได้เรียบร้อย คือ พังพุ่มพ่วง อายุ 30 ปี กำลังท้องอยู่ 12 เดือน ซึ่งสามารถเข้ากันได้ดี และยอมให้พลายบุญหลงกินนมจากเต้า แต่ยังต้องให้นมถั่วเหลืองเสริมด้วย เพื่อให้ลูกช้างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขณะนี้พลายบุญหลงไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว
นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวว่าพังพุ่มพวงเป็นแม่พันธุ์ที่ดีมากนิสัยไม่ดุร้าย เป็นช้างท่องเที่ยวเคยตกลูกมาแล้ว 1 เชือก อีกทั้งยังเคยเป็นแม่รับของพลายเอไอ หรือพลายปฐมสมภพ ชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช้างที่เกิดขึ้นจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสดเชือกแรกของเอเชีย ถือว่าพังพุ่มพวงมีประวัติในการดูแลช้างน้อยอย่างดี.-สำนักข่าวไทย


ที่มา http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/278153.html

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

เลอ มง แซ็ง มิแชล (Le Mont Saint Michel) มนต์ของเก่าที่เรียกเราไปเยือน

กว่าที่กำหนดการท่องเที่ยวครั้งนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ผู้เขียนต้องอาศัยข้อมูลการท่องเที่ยวจากหลายแหล่งทั้งของไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดสนทนาใน blueplanet ของพันธ์ทิพย์ seat61 หรือเว็บไซท์ทางการของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

สำหรับการจัดกำหนดการท่องเที่ยวในฝรั่งเศส ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะออกไปโลดโผนโจนทะยานนอกเมืองปารีสแต่อย่างใด แต่ให้บังเอิญว่าได้ไปอ่านกระทู้หนึ่งในบอร์ดสนทนา blueplanet ซึ่งเจ้าของกระทู้ได้ขอคำแนะนำจากผู้รู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของฝรั่งเศส มีผู้ตอบท่านหนึ่งให้คำแนะนำเจ้าของกระทู้ว่าหากมีเวลาออกไปเที่ยวนอกปารีส ขอให้ลองไปเที่ยว "มง แซ็ง มิแชล หรือภาษาฝรั่งเศสเขาเรียก Le Mont Saint Michel” รวมทั้งมีภาพประกอบให้ดูด้วย ยังไงก็ตามผู้แนะนำท่านนั้นไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางจากปารีสไป มง แซ็ง มิแชล มากนักเพียงแต่บอกว่าการเดินทางไปเองไม่ค่อยง่ายเท่าไหร่ แต่จะบอกว่ายากก็ไม่เชิง และระยะทางจากปารีสก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ยังไงก็ตามผู้เขียนขอบอกว่าเมื่อได้เห็นรูปประกอบของ มง แซ็ง มิแชล ที่ผู้แนะนำท่านนำมาโพสไว้ในกระทู้แล้ว ความคิดก็โลดแล่นขึ้นมาทันทีว่าเราจะต้องไปสถานที่แห่งนี้ให้ได้ ว่าแล้วก็ขอฉันทานุมัติกับบรรดาพี่ๆ ลูกทัวร์ทุกคนว่าผู้เขียนอยากไป มง แซ็ง มิแชล ทุกคนเห็นเป็นอย่างไร พี่เขาก็ดีจริงๆ เลย เห็นดีด้วยทุกอย่าง หลังจากได้ไฟเขียวแล้วก็เริ่มค้นหารายละเอียดความเป็นมาของ มง แซ็ง มิแชล รวมทั้งการเดินทางจากปารีสไปสถานทีแห่งนี้ทันที




มง แซ็ง มิแชล เป็นวิหารเก่าแก่ที่มีอายุนับพันปีของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ถ้าวัดจากยอดสูงสุดของวิหารจะมีความสูง ๑๗๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนเกาะที่มีน้ำทะเลล้อมรอบในแคว้นนอร์มังดี ตัววิหารสร้างด้วยหินแกรนิตที่แข็งแรงทำให้มีความทนทานสู้แดด ลม ฝน และการกัดกร่อนของน้ำทะเลจนอยู่มาได้เป็นพันปี แรกเริ่มเดิมทีวิหารแห่งนี้ไม่ได้เป็นวิหารสูงใหญ่โตเท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน การก่อสร้างและต่อเติมรวมทั้งการบูรณะ มง แซ็ง มิแชล มีมาหลายยุคสมัยเริ่มตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา วิหารมง แซ็ง มิแชล ได้ผ่านยุคสมัยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างยาวนาน บางยุคบางสมัยที่มีศึกสงครามผู้ครอบครองดินแดนแถบนี้ได้ใช้วิหาร มง แซ็ง มิแชล เป็นที่คุมขังนักโทษ ในขณะที่บางช่วงเวลา มง แซ็ง มิแชลถูกใช้เป็นสถานที่สงบจิตสงบใจของผู้แสวงบุญและนักบวชชาวคริสต์ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงมีเสน่ห์และมนต์ขลังในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือน มง แซ็ง มิแชล ไม่ต่ำกว่าสามล้านคนเลยทีเดียว จะเป็นเพราะมนต์ของความเก่าหรือเรื่องราวน่าสนใจในอดีตที่มีอย่างยาวนานก็แล้วแต่ แต่ช่วงเวลา ณ ขณะนั้นจิตใจของผู้เขียนได้เดินทางไปถึง มง แซ็ง มิแชลเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นภาพวิหารแห่งนี้


คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซท์ทางการของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ถ้าลองมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยอะๆ อย่างนี้เขาคงต้องมีข้อมูลการเดินทางให้เราสิ ผู้เขียนนึกในใจ และแล้วก็ไม่ผิดหวังเมื่อเว็บไซท์ทางการของ มง แซง มิแชล ตามลิงก์นี้
www. http://www.ot-montsaintmichel.com/en/accueil.htm
บอกข้อมูลการเดินทางไป มง แซง มิแชล ที่ค่อนข้างละเอียดไม่ว่าจะทางเรือ รถยนต์ เครื่องบิน หรือแม้กระทั่งรถไฟ สำหรับพวกเราแล้วเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางโดยรถไฟ ผู้เขียนเลือกเอาวันที่ ๒ เมษายน เป็นวันเดินทาง (เป็นวันดีเสียด้วยเพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่พวกเราทราบดีว่าท่านทรงปราดเปรื่องวิชาหลากหลายแขนง รวมทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ด้วย)

โดยเราออกเดินทางจากปารีสที่สถานีรถไฟมองปานาส (Paris Montparnasse) เวลา ๐๗.๐๕ น. แล้วไปลงที่สถานีรถไฟเมืองเรนเนส (Rennes Gare) ในเวลา ๐๙.๑๐ น. ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถไฟ TGV เส้นทางแรกนี้คนละ ๔๔ ยูโร จากนั้นเราจะต้องนั่งรถโดยสารต่อไปอีกประมาณชั่วโมงครึ่งจึงจะถึง มง แซ็ง มิแชล โดยเยื้องๆ กับสถานีรถไฟเมืองเรนเนสจะเป็นที่ตั้งของสถานีรถโดยสารของเมืองเรนเนสที่จะพาพวกเราไป มง แซ็ง มิแชล

ผู้เขียนทราบดีอยู่แล้วว่าระบบการเดินทางและการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะในยุโรปสะดวกและตรงเวลามาก ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะมีความสะดวกสบายอย่างมากไม่ว่าจะนั่งรถไฟไปต่อรถโดยสาร หรือนั่งรถโดยสารไปต่อรถไฟ การจัดกำหนดการเดินรถของเขาจะส่งต่อเวลากันได้เป็นอย่างดี ในกรณีของเราก็เช่นเดียวกันเมื่อเราลงมาถึงสถานีรถไฟเรนเนสแล้ว เพียงแค่ข้ามถนนเส้นเล็กๆ ไปเท่านั้นเราก็ถึงสถานีรถโดยสารแล้ว (นี่ก็อีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนในยุโรปถึงชอบใช้ขนส่งสาธารณะก็เพราะมีความสะดวกอย่างนี้นี่เอง ทุกท่านลองไปสังเกตดูได้ว่าเมืองส่วนใหญ่ในยุโรปสถานีรถไฟและรถโดยสารจะอยู่ใกล้กันมาก บางแห่งอยู่ในอาคารเดียวกันด้วยซ้ำ)

เมื่อเราลงจากรถไฟเมื่อเวลา ๐๙.๑๐ น. แล้ว เรามีเวลาอีกประมาณ ๒๐ นาทีก่อนที่รถโดยสารเที่ยวแรกของวันจะออกจากสถานีรถโดยสารของเมืองเรนเนส เมื่อเราไปถึงช่องขายตั๋วเราเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายนั่งรอรถโดยสารอยู่แล้ว มองออกไปนอกอาคารสถานีรถโดยสารก็ยังเห็นนักท่องเที่ยวอยู่จำนวนหนึ่งยืนตั้งแถวรอรถโดยสารที่จะพาเราไป มง แซ็ง มิแชล บริเวณชานชาลาที่สอง ไม่นานหลังจากที่เราซื้อตั๋วราคาคนละ ๑๑.๖๐ ยูโรเรียบร้อยแล้ว รถโดยสารก็มาเทียบชานชาลา ผู้เขียนเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากมายแล้วยังนึกว่าแค่รถคันเดียวนี้คงไม่พอละมัง แต่ก็ยังคงคิดในแง่ดีว่าเดี๋ยวเขาคงจะจัดรถอีกคันนึงเพราะทุกคนในที่นี้ซื้อตั๋วเที่ยวนี้กันหมดแล้วนี่ เขาจะขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งในรถได้ไง ผู้โดยสารเรียงแถวทยอยกันขึ้นรถไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงกลุ่มพวกเรา เราส่งตั๋วโดยสารให้คนขับตรวจสอบ หนึ่งคนผ่านไป สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด พอคนที่แปดคนสุดท้ายในกลุ่มเราผู้โชคดีได้แก่ พี่จุ๋ม คนขับรถนั่นส่ายหน้าไม่ยอมรับตั๋วพี่จุ๋มพร้อมกับบอกว่าที่นั่งเต็มแล้ว พวกเราที่ทยอยหาที่นั่งกันได้แล้วลุกกันพรึ่บพรั่บ เมื่อเห็นพี่จุ๋มยืนอยู่หน้ารถไม่ยอมเดินมาสักที ผู้เขียนเลยเดินออกไปข้างหน้ารถแล้วก็ได้รับคำตอบเดียวกันคือไม่มีที่นั่งพอสำหรับพี่จุ๋มแล้ว ผู้เขียนมองออกไปนอกตัวรถก็ยังคงเห็นผู้โดยสารตกค้างอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ก็เลยถามคนขับไปว่าแล้วจะทำไงกับคนที่จ่ายค่าตั๋วสำหรับรถเที่ยวนี้แล้ว คนขับนั่นบอกอย่างไม่ยินดียินร้ายว่าก็ไปขอคืนเงินได้ หรือจะเก็บตั๋วไว้รอรถเที่ยวถัดไปซึ่งจะออกเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น.

มาด้วยกันแล้ว พอถึงเวลาไปก็ต้องไปด้วยกัน พวกเราทั้งเจ็ดที่ได้ที่นั่งแล้วก็เลยต้องเดินลงจากรถ ซึ่งสร้างความยินดีปรีดากับผู้โดยสารที่ต่อแถวหลังจากพี่จุ๋มที่มองชะเง้อชะแง้ขึ้นมาบนรถว่าข้างบนเขาเจรจาอะไรกัน เพราะนั่นหมายความว่าจะมีที่นั่งว่างสำหรับคนเหล่านั้นอีกเจ็ดคน พอพวกเราลงจากรถลงไปเท่านั้นคนเหล่านั้นก็กรูขึ้นไปบนรถ แต่ยังไงก็ตามนอกเหนือจากพวกเราแล้วก็ยังคงมีผู้โดยสารตกค้างอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้เขียนรู้สึกว่าการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้เป็นไปด้วยดีส่วนหนึ่งก็เพราะบรรดาพี่ๆ ลูกทัวร์ของผู้เขียนมีความเข้าใจสถานการณ์และมองโลกในแง่ดี พี่ๆ เขาพูดกับผู้เขียนหลังจากที่เราตกรถเที่ยวแรกว่า ที่จริงก็ดีเหมือนกันที่เราตกรถเที่ยวนี้ เพราะเราจะมีเวลาอีกร่วมสองชั่วโมงที่จะได้ไปดูบ้านดูเมืองเรนเนสแห่งนี้ ก่อนที่เราจะนั่งรถเที่ยวถัดไป เพราะตอนขากลับเราจะไม่กลับมาเมืองนี้อีก เนื่องจากเราต้องนั่งรถไปต่อรถไฟในอีกเมืองหนึ่งเพื่อกลับปารีส คำพูดเหล่านั้นได้กลบความรู้สึกผิดหวังเล็กๆ ของผู้เขียนที่อยากจะไปเห็น มง แซ็ง มิแชล ให้เร็วที่สุดตามที่ตั้งใจไว้

แล้วก็เป็นอย่างที่พี่เขาบอก เราใช้เวลาร่วมชั่วโมงที่จะเดินสำรวจเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งมีอะไรๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ร้านขายของ อาคารบ้านเรือน รวมทั้งผู้คน แต่ยังไงก็ตามเราก็เผื่อเวลาส่วนหนึ่งเพื่อที่จะได้เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่มายืนรอรถโดยสารที่ชานชาลา คราวนี้ไม่พลาดหลังจากมีบทเรียนว่าเมื่อซื้อตั๋วแล้วต้องรีบมายืนรอที่ชานชาลาเลย อย่าโอ้เอ้ ไม่นานหลังจากนั้นเมื่อรถโดยสารมาเทียบชานชาลาพวกเราก็เป็นผู้โดยสารแปดคนแรกที่ได้ขึ้นบนรถ (คราวนี้ทากาวติดไว้เบาะที่นั่งแล้ว)

ระหว่างทางเราได้เห็นบรรยากาศแบบชนบทของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ท้องทุ่งสำหรับปลูกพืชผักและใช้เลี้ยงสัตว์ ผ่านเส้นทางที่เป็นถนนแบบชนบทเล็กๆ คดเคี้ยวไปมาผ่านหมู่บ้านต่างๆ มากมาย ไม่นานหลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็น มง แซ็ง มิแชล ค่อยๆ โผล่พ้นเส้นขอบฟ้าไกลลิบๆ อยู่เบื้องหน้า โดยมีทุ่งหญ้าเขียวขจีอยู่เบื้องหน้าและความเวิ้งว้างของทะเลสุดลูกหูลูกตาเป็นฉากพื้นหลัง ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นของตนเองที่ได้เห็นภาพ มง แซ็ง มิแชล ที่ค่อยๆ ปรากฎอยู่เบื้องหน้าด้วยสายตาของตนเองมากกว่าการเห็นภาพนั้นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากบ้านที่ห่างไกลออกไปจากที่นี่เกือบหมื่นกิโลเมตร

รถโดยสารพาเรามาเทียบถึงประตูทางเข้า มง แซ็ง มิแชล และเมื่อเราเดินลงจากรถแล้วจึงได้เห็นนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัย เดินกันให้คลาคล่ำ เราเดินสำรวจดูสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปตามทางเรื่อยๆ และก็มาหยุดตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์ของวิหารซึ่งต้องซื้อตั๋วเข้าชม โดยราคาของตั๋วขึ้นอยู่กับจำนวนของพิพิธภัณฑ์ที่เราจะเข้าชม มีตั้งแต่ราคาคนละ ๙ ยูโรสำหรับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่ง และ คนละ ๑๘ ยูโรสำหรับทุกพิพิธภัณฑ์ที่เขาจัดแสดง ไหนๆ ก็มาถึงแล้วเราเลือกที่จะจ่ายคนละ ๑๘ ยูโรเพื่อเข้าชมทุกสิ่งอย่าง ข้างในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของ มง แซ็ง มิแชล เครื่องใช้ไม้สอยในยุคเก่าๆ ที่ผ่านมา รวมไปถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับขังนักโทษในช่วงที่สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเรือนจำชั่วคราว และโบสถ์สำหรับทำพิธีภาวนาของชาวคริสต์ เราเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ จนถึงยอดสูงสุดของ มง แซ็ง มิแชล และมองลงมาข้างล่างเพื่อที่จะได้เห็นลานจอดรถบนทางที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแผ่นดินกับตัวเกาะที่ตั้งของ มง แซ็ง มิแชล ในขณะที่ข้างๆ กันนั้นคลื่นจากทะเลก็ซัดเข้าหาทางเชื่อมนั้นเป็น ระยะๆ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจคือการได้ดูน้ำทะเลหนุนทางเชื่อมแห่งนี้ เขาจะมีกำหนดการบอกช่วงเวลาว่าวันไหนบ้างที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูงจนท่วมทางเชื่อม ซึ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่ว่านักท่องเที่ยวจะได้รับคำแนะนำให้ไปจอดรถที่อื่น

หลังจากที่ได้ชมตามที่ต่างๆ สมความตั้งใจแล้ว ก็ได้เวลากลับกันเสียที โดยขากลับนี้เราจะต้องมารอรถตรงจุดที่เขาจอดให้เราลงตอนขามา โดยคราวนี้ที่หมายของเราคือเมือง Dol de Bretagne (ขออภัยอ่านไม่ออก) ซึ่งรถโดยสารจะออกจาก มง แซ็ง มิแชล บ่ายสามโมงห้าสิบห้านาที พอได้เวลาบ่ายสามเศษๆ พวกเราก็มานั่งรอตรงม้านั่งที่เขาจัดไว้ให้รอรถโดยสารแล้ว เพราะกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนตอนขามา ถ้าเกิดพลาดรถเที่ยวนี้จะยุ่งกันใหญ่เพราะจะตกรถไฟและก็กลับปารีสไม่ได้จะเป็นเรื่อง เราวนเวียนอยู่แถวนั้นคอยสอบถามพนักงานของบริษัทรถโดยสารที่ยืนอยู่แถวนั้นว่าจุดที่เรานั่งรออยู่เนี่ยเป็นจุดรับผู้โดยสารไปเมือง Dol de Bretagne แน่นะ พนักงานนั่นตอบเรายิ้มๆ ว่าใช่อย่างจริงแท้แน่นอนเลย เขาคงขำท่าทางเราที่ดูไม่ค่อยมั่นใจลุกลี้ลุกลนยังไงชอบกลมั้ง เอาเหอะเสียฟอร์มไปสักหน่อยดีกว่าตกรถกลับปารีสไม่ได้ก็แล้วกัน

สักพักรถโดยสารที่จะพาเราไปเมืองที่ว่าก็มาถึง ปรากฎว่าผู้โดยสารไม่เต็มรถอย่างที่เรากลัวตอนแรก พอขึ้นรถได้เราก็ถามย้ำกับคนขับอีกทีให้แน่ใจว่าไปเมือง Dol de Bretagne แน่นะ คนขับไม่ได้ตอบแค่พยักหน้างึกงัก สำหรับตั๋วเราก็ซื้อกับคนขับเลยราคาคนละ ๖.๑๐ ยูโร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔๐ นาทีจาก มง แซ็ง มิแชล เราก็มาถึงสถานีรถโดยสารเมือง Dol de Bretagne ในเวลา ๑๖.๓๕ น. อีกเหมือนกันที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ข้างกันนั่นแหละไม่ไปไหนไกล เราเดินข้ามถนนมาเพื่อมารอรถไฟ TGV ขบวนที่ ๘๐๙๐ ที่จะออกจากสถานีเมือง Dol de Bretagne สักพักรถไฟขบวนที่ว่าก็มาถึง จอดรับส่งผู้โดยสารอยู่สักพักก็ออกจากสถานีเมือง Dol de Bretagne ตรงตามเวลาคือ ๑๖.๕๘ น. สำหรับค่าตั๋วรถไฟเที่ยวนี้ราคาคนละ ๓๐ ยูโร เข้าใจว่าที่ถูกกว่าขามาเพราะไม่ใช่ขบวนด่วนเห็นจอดรับผู้โดยสารตลอดทางเลย กว่าจะถึงสถานีรถไฟมองปานาสก็เกือบสองทุ่มแล้ว

ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเดินทางที่ค่อนข้างสมบุกสมบัน แต่ในขณะเดียวกันในฐานะของคนที่ชอบท่องเที่ยวและชอบเรื่องราวเก่าๆ แนวประวัติศาสตร์ ก็รู้สึกได้ว่าความตั้งใจของตัวเองได้เติมเต็มแล้วเมื่อได้มาพบเห็น สัมผัสบรรยากาศ มง แซ็ง มิแชล ในวันนี้









video credit to youtube by thomeisa