คงอีกสักพักจะกลับมาเขียนเรื่องใหม่เมื่อแขกไปแล้ว หวังว่ากลับมาเขียนเรื่องได้เร็วขึ้น คงต้องขอตัวไปแล้วเพราะต้องคอยติดตามข่าวว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ เฮ้อ :-((
วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554
กำลังมีแขกมาเยือน
คงอีกสักพักจะกลับมาเขียนเรื่องใหม่เมื่อแขกไปแล้ว หวังว่ากลับมาเขียนเรื่องได้เร็วขึ้น คงต้องขอตัวไปแล้วเพราะต้องคอยติดตามข่าวว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ เฮ้อ :-((
วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ผมคือนายแบบ rookie ชื่อบุญหลง
ในขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่รู้ว่าเมืองหลวงของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ บ้านเกิดของผู้เขียนจะประสบชะตากรรมเช่นไร แต่ยังไงก็ตามจะท่วมมากท่วมน้อย หรือไม่ท่วมเลย(คงเป็นไปได้ยาก) ก็ต้องรับสภาพกันไป ในขณะที่ผู้คนอย่างเราๆ ประสบกับภาวะยากลำบากโดยเฉพาะในจังหวัดอยุธยา สิงห์สาราสัตว์ก็ต้องพลอยรับเคราะห์โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่จากการกระทำของมนุษย์ไปด้วย ที่น่าสงสารคือช้างกว่า ๗๐ เชือก ที่รอความช่วยเหลือจากคนในเรื่องอาหารการกินที่ขณะนี้ขาดแคลนอย่างหนัก แต่ก็ยังดีที่ว่ามีคณะสัตวแพทย์และสถาบันคชบาลเร่งเข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่คงยังไม่เพียงพอ ถ้าท่านใดใจบุญที่จะช่วยช้างเหล่านั้น และประสงค์จะขอบริจาคสามารถบริจาคผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาลำปาง ชื่อบัญชี กองทุนศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เลขที่ 503-1- 84611-9 และส่งใบสำเนานำฝากพร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ และ ระบุว่าสนับสนุนอาหารช้าง มาที่ 054- 829330 และ info@thailanndelephant.org
ท่ามกลางข่าวน่าเศร้าก็ยังมีข่าวน่ายินดี ผู้อ่านคงจะจำเรื่องของ "พลายบุญหลง" ได้ ที่เป็นลูกช้างป่าพลัดหลงจากแม่ที่ป่าภูหลวงจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้เขาได้ย้ายพลายบุญหลงไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในลำปางแล้ว ดังนั้นชีวิตต่อแต่นี้ไปของพลายบุญหลงจึงต้องกลายเป็นช้างเลี้ยง ผู้เขียนติดตามข่าวของเจ้าพลายน้อยนี้อย่างต่อเนื่อง เห็นว่าชีวิตของพลายบุญหลงดีขึ้นมีแม่รับที่คอยให้นมแล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจไปกับเจ้าช้างตัวน้อยนี้ ตอนนี้ดูเหมือนว่าชีวิตของพลายบุญหลงจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว มีแม่คอยดูแล (ถึงแม้จะไม่ใช่แม่จริงๆ) และได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากควาญที่เป็นพี่เลี้ยง และดูเหมือนว่าจะเป็นดารารุ่นใหม่ของศูนย์ฯ เสียด้วย ลองดูท่าเขาเสียก่อน เหมือนนายแบบน้องใหม่ปรากฏกายท่ามกลางสื่อมวลชนที่คอยถ่ายรูปทำข่าวยังไงไม่รู้ น่ารักจริงๆ
"วันนี้ที่ลำปางของลูกช้างพลายบุญหลง"
เช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 หลังจากที่ลูกช้างพลายบุญหลงได้เข้ารับการดูแลต่อเนื่องที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป) จ.ลำปาง ตั้งแต่เย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2554 นั้น วันนี้ ลูกช้างพลายบุญหลงก็พยามปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และพี่ควาญคนใหม่
น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง ได้กล่าวถึง ลูกช้างพลายบุญหลงนั้นมีสุขภาพดี คาดว่าอายุของช้างน่าจะประมาณ 5 เดือน น้ำหนัก 155 กิโลกรัม และส่วนสูงประมาณ 90 เซนติเมตร
หลังจากที่ได้ตรวจสุขภาพโดยรวมของพลายบุญหลงแล้ว พบว่า สุขภาพดี แต่เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศช่วงนี้มีฝนตก ลูกช้างเองก็มีอาการเป็นหวัดนิดหน่อย มีน้ำมูก ซึ่งก็ได้ฉีดยาปฏิชีวนะ ไปให้แล้วก็ยังต้องเฝ้าดูอาการอยู่ และหลังจากที่พยายามให้ช้างพังพุ่มพวงซึ่งมีประสบการณ์เลี้ยงดูแลลูกได้ดีเข้ามาเป็นแม่รับนั้น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าพลายบุญหลงจะเข้าใกล้ และไปหาดื่มนมแม่ช้าง
อย่างไรแล้วก็ยังให้พุ่มพวงมายืนแถวๆ คอกอนุบาลลูกช้าง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้มากขึ้น คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวในเรื่องนี้ ลูกช้างมีนิสัยร่าเริง และเข้ากับคนได้ดี เริ่มที่จำกลิ่นพี่ควาญคนใหม่ที่ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จัดมาดูแลได้ มีการเรียนรู้นิสัยของกันและกันแล้ว เวลาหิวก็จะบอกและแสดงอาการ
ทางโรงพยาบาลช้างฯ ก็จัดนมที่ใช้เลี้ยงเด็กทารก ให้กับลูกช้าง พอกินนมอิ่มแล้วก็จะนอนหลับ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับเด็กทารก อย่างไรก็ตามก็คงต้องให้วิตามินเสริมเพื่อโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูกและภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย
"ลูกช้างพลายบุญหลงเข้าหาแม่รับแล้ว"
หลังจากที่ทางศูนย์ อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จ.ลำปาง ได้จัดแม่ช้างพังพุ่มพวง ให้เป็นแม่รับลูกช้างพลายบุญหลง นั้น ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ลูกช้าง พลายบุญหลงได้เริ่มเข้าหาแม่ช้างพังพุ่มพวง และกินนมแม่ช้างพังพุ่มพวง รวมทั้งอึแม่ช้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและแสดงให้เห็นว่าทั้งสองนั้นได้ยอมรับซึ่งกันและกันที่จะเป็นแม่ลูก กันแล้ว
จากเหตุการณ์ที่ลูกช้างพลายบุญหลง พลัดพรากจากอกแม่ช้างเพราะถูกกระแสน้ำป่า พลัดหลงจากโขลงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และพลัดหลงเข้ามาในหมู่บ้านเลยวัง ไสย์ ต.เลยวังไสย์ จ.เลย เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมานั้น ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ผ่านมา ลูกช้างพลายบุญหลงได้กินนมเลี้ยงเด็กทารก มาตลอด วันนี้จึงเป็นวันที่ลูกช้าง ได้มีโอกาสดูดนมจากอกแม่ช้างอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะในน้ำนมแม่ช้างมี สารอาหารที่ลูกช้างต้องการมากกว่านมผง
สำหรับช้างพังพุ่มพวง ซึ่งมีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกช้างและเป็นแม่รับให้แก่ลูกช้าง มาแล้วนั้น เลี้ยงดูเป็นอย่างดีทุกเชือกและรักลูกช้างทุกเชือกถึงแม้จะไม่ใช่เป็นลูกแท้ๆๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากระยะเวลาเลี้ยงดูลูกช้างผ่านมาหลายปี น้ำนมก็มีไม่มากเหมือนตอน เป็นแม่ลูกอ่อน แรกๆ บุญหลงก็พยายามดูดนมจากอกพังพุ่มพวง ซึ่งขณะดูดนมอยู่ก็ส่ง เสียงร้องในลำคอเหมือนกับจะบอกว่าน้ำนมแม่ไหลมาไม่ทันใจเลย จนพี่ควาญผู้ดูแล ต้องป้อนนมชงเสริมให้อีกครั้ง จนอิ่มก็จะวิ่งเล่นใกล้ๆกับที่แม่ช้างยืนอยู่ และพอหิวก็จะ เดินเข้าไปหาแม่ช้างและพยายามดูดนมอีก แต่ก็เป็นเช่นเดิม ซึ่งทางคณะสัตวแพทย์โรง พยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง ก็ยังต้องสั่งให้เสริมด้วยนมชงอีก หลังจากดื่มนมอิ่มแล้ว ก็จะวิ่งเล่นสักพัก ไปหาพี่ควาญบ้าง เล่นกับพี่ควาญ แต่ก็จะไม่อยู่ ไกลแม่ช้างเหมือนวันแรกๆๆที่มาถึง เวลาก็จะนอนหลับอยู่ใกล้ๆ กับแม่ช้างพังพุ่มพวง เสมอ และทางสัตวแพทย์ให้กำชับควาญผู้ดูแลลูกช้างพลายบุญหลง ให้นมลูกช้างจน อิ่มและให้ได้พักผ่อนมากๆ ให้นอนมากๆ เหมือนลูกช้างทั่วไป เพื่อจะได้ทำให้ร่างกาย แข็งแรงด้วย
ดังนั้นหากเป็นช่วงเวลาที่ลูกช้างนอนหลับ ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง จะได้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้ประสงค์จะมาเยี่ยมลูกช้างพลายบุญหลง งดเยี่ยม ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อที่ช้างจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะสังเกตจากป้ายแนะนำ หรือ มองดูได้ในระยะห่างๆๆ
ผู้เขียนหวังว่าข่าวของพลายบุญหลงคงจะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อ่านหลายๆ คนที่รักช้างในช่วงเวลานี้ได้ และหากท่านมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะช่วยช้างที่กำลังประสบกับภาวะน้ำท่วมในอยุธยาได้ก็ขอความร่วมมือบริจาคได้ตามที่บัญชีที่แจ้งไว้ข้างบน ท่านก็จะสามารถช่วยชีวิตสัตว์แสนรู้ตัวโตๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนานและได้สร้างคุโณปการให้มนุษย์อย่างเราไว้มากมาย
เครดิตเนื้อหาข่าวและภาพประกอบโดย ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยลำปาง http://www.thailandelephant.org/
วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ปารีส...ในความรู้สึก !!! Paris...it's the way you make me feel !!!
หลังจากเปิดบทความนี้ด้วยคลิปวีดีโอการท่องเที่ยวของพวกเราในปารีสไปช่วงหนึ่งแล้ว ก็ได้เวลามาบรรยายความรู้สึกและเล่าถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาในปารีสในช่วงเวลาสองสามวัน
สำหรับตัวผู้เขียนเองครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปสัมผัสเมืองหลวงแห่งแฟชั่นและศิลปะของโลกอย่างปารีส เมื่อสมัยเพิ่งรับราชการใหม่ๆ ยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย (ตอนนี้ตำแหน่งก็ยังน้อยอยู่) ผู้เขียนมีโอกาสไปยุโรปเป็นครั้งแรกเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานต่างประเทศแห่งหนึ่ง ระยะเวลาฝึกอบรมก็นานพอดู โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งเขาจัดกำหนดการให้ไปอบรมที่องค์การยูเนสโกในปารีส (เอ่ยชื่อหน่วยงานนี้ทีไร คนไทยปวดใจทีนั้น) ครั้งนั้นเลยเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ไปเห็นปารีสในแง่มุมต่างๆ
ปารีสเมื่อครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ภาพวาด งานศิลป์ ข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์สวยงามอย่างไร ก็ยังคงสวยอยู่อย่างนั้น (ถึงแม้ว่าจะสังเกตได้ว่ามีของเก่าบางอย่างหายไป เช่น ข้าวของที่เป็นอารยธรรมเก่าแก่ของอียิปต์บางอย่างถูกส่งคืนกลับไปประเทศเจ้าของแล้ว) นอกจากนั้นความลือชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่คอยล่าของมีค่าจำพวกกระเป๋าเงินหรือของมีค่าอื่นๆของนักท่องเที่ยวและคนทั่วๆไป ในสถานีรถไฟใต้ดินและตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในปารีส ก็ยังคงมีอยู่อย่างยั่งยืน แต่ก็อย่างว่าที่ไหนๆ ก็มีมิจฉาชีพ ฉกชิงวิ่งราว เราซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวก็ต้องคอยระมัดระวังเอาเองจะได้เที่ยวอย่างมีความสุข แต่อย่างน้อยปารีสก็มีคุณูปการอย่างหนึ่งกับตัวผู้เขียนเองนั่นก็คือผู้เขียนรู้จักหัดอ่านแผนที่และวิธีใช้รถไฟใต้ดินก็เมื่อมาปารีสในคราวนั้นนั่นเอง จำได้ว่าพอเริ่มรู้จักอ่านแผนที่และการเปลี่ยนสายรถไฟใต้ดินตามสถานีต่างๆ รู้สึกสนุกมาก (ก็ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้) จนต้องพยายามหาเวลามาทดลองนั่งบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย
การกลับมาอีกครั้งในคราวนี้ความรู้สึกก็ไม่ต่างไปจากครั้งแรก ชอบสิ่งนั้นชังสิ่งนี้ซึ่งก็เป็นธรรมดาของอารมณ์มนุษย์ แต่โดยรวมก็ยังคงรู้สึกว่าปารีสก็ยังคงเป็นปารีสที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของมันเอง สำหรับการจัดเวลาการท่องเที่ยวของกลุ่มเราค่อนข้างผ่อนคลายลงมากเมื่อเทียบกับการเที่ยวในลอนดอน ดูเหมือนว่าเราจะเดินน้อยลง และใช้เวลาในสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งยาวนานมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่า paris musuem pass ที่เราใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ วิหารนอเตรอดาม หรือแม้กระทั่งพระราชวังแวร์ซายน์ มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับ london pass เลยทำให้พวกเรารู้สึกว่าไม่ต้องใช้ให้คุ้มด้วยการเข้าชมหลายๆ แห่งเหมือนกับในลอนดอน นอกจากนี้ราคาค่าตั๋วโดยสารรถไฟใต้ดินของที่นี่ก็ถูกกว่าที่ลอนดอน และก็มีหลากหลายประเภทให้นักท่องเที่ยวเลือก แต่สำหรับพวกเราแล้วเราเลือกที่จะซื้อตั๋วแบบ "a carnet” ที่เป็นตั๋วชุดสิบใบใช้สำหรับการเดินทางครั้งเดียวหรือแบบ single ride ตั๋วชุดสิบใบนี้ราคา เพียง ๑๒.๕๐ ยูโร เฉลี่ยก็คือใบละ ๑.๒ ยูโรต่อการเดินทางหนึ่งครั้งและต่อคน ซึ่งนับว่าถูกกว่าซื้อแบบตั๋วเดี่ยวที่เขาคิดราคาที่ ๑.๗ ยูโร
สำหรับเรื่องอาหารการกินของเราก็เป็นไปตามสภาพของกระเป๋าเงิน มื้อไหนกินหรูแล้วก็ต้องเฉลี่ยกลับมากินแบบแบกะดินบ้างเพื่อให้สถานภาพทางการเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในประเทศสุดท้าย ซึ่งยังเหลืออีกตั้งสี่ประเทศ โดยจะเห็นว่าบางครั้งพวกเราก็ไปนั่งกินในร้านอาหารอย่างดีเลย อย่างเช่น ร้านที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็นร้านที่ตั้งอยู่ถนนชองเอลิเซ่เชียวนา แล้วราคาก็ไม่แพงอย่างที่พวกเรากลัวในตอนแรก เป็นร้านอาหารสัญชาติเบลเยี่ยม แต่ก็ทำสไตล์ฝรั่งเศส โดยอาหารขึ้นชื่อของเขาคือหอยแมลงภู่อบซอสอะไรซักอย่าง คล้ายๆ หอบแมลงภู่อบของบ้านเราที่ขายตามร้านทะเลเผาเหมือนกัน แต่น้ำซอสเขาสุดยอดมากเลย พวกเราตักกินซะจนเกลี้ยงหม้อเลย ส่วนหนึ่งคงอยากให้คุ้มค่าเงินที่จ่าย พูดซะตั้งนานยังไม่ได้บอกชื่อร้านเลย ชื่อร้านคือ “Léon de Bruxelles” ตั้งอยู่ถนนชองเอลิเซ่เลย มีคนรีวิวร้านเขาด้วยเนี่ย
www.mdfeeds.com/2010/06/08/leon-de-bruxelles-champs-elysees-paris-france
และนี่ก็เว็บไซท์ของร้านเขา ท่านไหนมีโอกาสไปปารีสก็ขอฝากร้านนี้ในอ้อมใจท่านด้วย อร่อยจริงเรื่องหอยอบ (นี่ไม่ได้ค่าโฆษณา)
www.leon-de-bruxelles.fr
และบางมื้อบางคราวเราก็ต้องกินแบบถนอมเงินในกระเป๋ามีอะไรนิดหน่อยที่นำไปจากเมืองไทยก็เอามาแบ่งๆ กันกิน อย่างตอนที่ไปแวร์ซายน์น่ะก็นั่งกินกันแบบปิกนิกที่สวนข้างวังแวร์ซายน์อย่างที่เห็น จนบางทีคิดว่าตัวเองเป็นออสการ์ เดอ จาร์เจ กลับชาติมาเกิด ถึงตรงนี้มีหลายคนขมวดคิ้วแล้วซิ ใครเกิดไม่ทันยุคสมัยการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง "กุหลาบแวร์ซายน์" รับรองไม่รู้จักออสการ์ เดอ จาร์เจ แน่ๆ เดอ จาร์เจนะ ไม่ใช่ เดอลา โฮยา เพราะนั่นเขาเป็นนักมวย ใครไม่ทราบลองหาคำว่า "กุหลาบแวร์ซายน์" ในกูเกิลได้
ท้ายสุดของวันเราก็ยังมาพึ่งอาหารผัดๆ ทอดๆ แบบเอเชียที่ร้านอาหารจีนที่ชื่อ "Jinding” ซึ่งเป็นร้านใกล้ ที่พักของเรา หรือไม่ก็อาศัยผลไม้ ไส้กรอก แฮมจาก marche franprixหรือซุปเปอร์ทีอยู่ใกล้ๆ กัน แค่นี้ก็มีแรงที่จะเที่ยววันต่อๆ ไปแล้ว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)