"เอื้อย เอื้อย ช่วยซื้อข้าวเหนียวน้องหน่อยจ๊ะ" สิ้นเสียงเรียกซื้อสินค้าของแม่ค้าสาว พวกเราชะโงกลงไปดูสินค้าของแม่ค้าในกระจาด เห็นเป็นข้าวเหนียวดำ ดูหน้าตาน่ากิน พี่วัฒน์เลยอยากขอลองชิมว่ารสชาติเป็นยังไง เลยขอลองซื้อกินสักห่อหนึ่ง "อร๊อย อร่อย" พี่วัฒน์แกว่างั้น (แต่ทำไมในรูปทำหน้าแหยๆ งั้นก็ไม่รู้) เพื่อเป็นการยืนยันคำบอกเล่าของพี่วัฒน์ พวกเราอีกสามคนอันประกอบไปด้วย พี่อ้อย พี่หวาด และผู้เขียน (ไม่รู้พี่นิกับป้าศรีไปอยู่ไหน) ก็เลยลองหยิบข้าวเหนียวในห่อของพี่วัฒน์มาลองชิมกันบ้าง "อืม อร่อยจริงด้วยแหะ" พอได้ลิ้มรสชาติของข้าวเหนียวห่อนั้นแล้ว ก็เลยซื้อเพิ่มอีกสองห่อ ข้าวเหนียวที่ว่านั่นถ้าเป็นที่บ้านเราเขาเรียกว่าข้าวเหนียวหัวหงอก พวกเด็กๆ คงไม่รู้จักหรอก ถ้าว่ากันไปตามจริงแล้วผู้เขียนก็เด็ก :) คงจะไม่รู้จักเหมือนกัน แต่เผอิญว่าญาติผู้ใหญ่ที่บ้านชอบทำกินกันนักก็เลยรู้จัก แต่ข้าวเหนียวหัวหงอกของไทยและลาวไม่เหมือนกันตรงที่ ของไทยเราใช้ข้าวเหนียวขาวที่ไม่ได้มูน (ไม่ได้ใส่กะทินั่นละ ที่กินกับส้มตำ น้ำตกไง) แล้วใส่มะพร้าวขาวขูดสักหน่อย โรยเกลือไปอีกนิด ก็กินได้แล้ว แต่ที่ลาวเนี่ยเขาใช้ข้าวเหนียวดำผสมกะทินิดหน่อย (คงไม่ได้ใส่กะทิมากเหมือนข้าวเหนียวที่จะเอาไปกินกับมะม่วง หรือทุเรียนบ้านเรา) ใส่มะพร้าวขาวขูด (ดูจากเส้นมะพร้าวแล้วใช้ที่ขูดด้วยมือ ไม่ได้ใช้เครื่องขูดจนเส้นออกมาป่นเหมือนบ้านเรา) แต่ที่นี่โรยน้ำตาล แต่ทั้งสองอย่างเรียกชื่อเหมือนกันเลย
ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นคืออาหารว่างมื้อแรกเมื่อทันทีที่พวกเราย่างก้าวเข้ามาในหลวงพระบางเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ขณะที่นั่งมาในรถและเราเริ่มเข้าใกล้เขตพื้นที่ของหลวงพระบาง ผู้เขียนก็ยังไม่ได้เห็นบรรยากาศหรืออาคารบ้านเรือนอะไรที่แตกต่างไปจากเมืองอื่นทั่วไปตามต่างจังหวัดในบ้านเรา มองฝ่าเปลวแดดและฝุ่นควันออกไปนอกตัวรถ ก็มองเห็นประเภทร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ ร้านอาหารตามสั่งเรียงรายตามสองข้างทาง แต่ทันทีที่เราเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทั้งสภาพอาคารบ้านเรือน ผู้หญิงท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้เฒ่า ผู้แก่ยังนุ่งซิ่นเดินขวักไขว่ไปมา ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงเมื่อสมัยตอนตัวเองอายุสักหกเจ็ดขวบที่ตอนนั้นพ่อกับแม่มักจะพาลูกไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ เนื่องจากเป็นลูกคนเดียว พ่อกับแม่คงไม่อยากให้ลูกเหงาและห่างเหินจากญาติพี่น้อง ตอนนั้นดูเหมือนเราจะเป็นครอบครัวเดียวที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ นอกนั้นอยู่ต่างจังหวัดหมด ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าสมัยเด็ก ตอนปิดเทอมใหญ่จะไปอยู่บ้านยาย จนกระทั่งโรงเรียนเปิดนั่นทีเดียว ที่โน่นมีพี่น้องซึ่งเป็นลูกป้า ลูกน้าเยอะแยะ อยู่กันในบ้านแบบมีประตูบ้านเป็นบานเฟี้ยมไม้ (เด็กยุคไอทีสมัยนี้คงไม่รู้จัก) ตอนนี้ประตูแบบนี้หาดูยากแล้วในบ้านเรา ญาติพี่น้องมีบ้านอยู่ใจกลางตลาด อาคารบ้านเรือนเป็นเรือนไม้สองชั้นอายุเก่าแก่ มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ผู้เขียนกำลังซึมซับบรรยากาศได้ในขณะนี้ที่เมืองหลวงพระบาง แต่ทว่าบรรยากาศในอดีตที่น่าทรงจำแห่งนี้กำลังมีสิ่งใหม่ที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า "ความเจริญ" หรือ "civilization" ภายใต้มุมมองของวัฒนธรรมตะวันตก เข้ามาแทรกตัวปะปนอยู่กับสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นความเจริญทางด้านจิตใจมากกว่านั่นคือ "วัฒนธรรมตะวันออก"
สิ่งไรบ้างที่ผู้เขียนเห็นในหลวงพระบางแล้วอยากนำมาเล่า อาทิเช่น บ้านพักหรือ Guest House ให้เช่าเรียงรายกันเป็นทิวแถวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไหลบ่าเข้ามาในเมืองนี้ไม่เว้นแต่ละวัน นอกเหนือจากบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมที่มีจำนวนมากแล้ว ยังมีบ้านพักให้เช่าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บ้านที่เป็นที่อาศัยอยู่จริงๆ ของชาวหลวงพระบางต้องอยู่นอกๆ ออกไป จริงอยู่ว่าบ้านพักให้เช่ารายวันแบบนั้นยังคงอนุรักษ์รูปแบบสภาพการตกแต่งให้คล้ายคลึงกับวิถีของชาวเมืองหลวงพระบาง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้เขียนประทับใจและชื่นชอบโดยเฉพาะบ้านพักที่เราเข้าไปพักชื่อ วิลลาพิไลลักษณ์ แต่สิ่งที่เราเห็นกันอยู่คือบ้านพักให้เช่าเหล่านั้นมีจำนวนไม่น้อยที่เจ้าของไม่ใช่คนท้องถิ่น ดูกันง่ายๆ ที่กลุ่มของผู้เขียนพบเห็นมาด้วยตาคือ หัวมุมถนนก่อนที่จะเข้าไปในซอยบ้านพักเรา มีการปรับปรุงบ้านเก่าแก่หลังหนึ่งเพื่อปรับปรุงเป็น Guest House กลุ่มของเรามองเห็นฝรั่งหนุ่มสองคนกำลังขมีขมันก่ออิฐบล็อกหน้าที่พักหลังนั้น ซึ่งเราดูก็ทราบดีว่าเขาสองคนคงเป็นเจ้าของบ้านพักหลังนั้นหรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจจะเป็นหุ้นส่วนกับคนท้องถิ่นที่จะเปิดกิจการห้องพักให้เช่าก็ได้
สิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกอะไรกับเรา แน่นอนตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนแล้วในเมืองไทยกับการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติซึ่งจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิถีของการกลืนทางวัฒนธรรม และการตกเป็นเมืองขึ้นในรูปแบบสมัยใหม่ คนในพื้นที่ต้องถอยร่นออกไปจากพื้นที่ และท้ายที่สุดก็จะไม่ผืนดินให้ยืนอยู่ สำหรับตัวผู้เขียนเองหมดความหวังกับระบบและวิธีการจัดการของประเทศไทยไปนานแล้ว อันนี้รวมไปถึงวิธีคิดของคนไทยแบบเราๆ ด้วย จริงๆ แล้วคิดว่าตนเองนั้นมิใช่คนที่มองโลกในแง่ร้าย ออกจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่ในกรณีนี้ผู้เขียนขอมองอนาคตสังคมไทยว่า อีกไม่เกินสิบปี โครงสร้างสังคมไทยจะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง คนไทยจะเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตสินค้าการเกษตรจากผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของตัว และในขณะเดียวกันคนไทยต้องบริโภคสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่สินค้านั้นผลิตมาจากประเทศไทยนั่นเอง ลองมองย้อนกลับมาที่หลวงพระบางบ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้อ่านคอลัมน์ของคุณวิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ จากหนังสือผู้จัดการเรื่อง "หลวงพระบางกำลังจะเปลี่ยนไป" โดยคอลัมน์นี้ได้กล่าวถึงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งจากของไทยเราเอง ในเรื่องการสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม สนามกอล์ฟ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง ทำให้มีการเวนคืนพื้นที่จากชาวบ้านให้ไปอยู่นอกนอกออกไปอีก ประกอบกับวิธีคิดของชาวบ้านท้องถิ่นเองที่อึดอัดใจที่ต้องบำรุงรักษาอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพเดิม รวมไปถึงแนวคิดของเด็กลาวรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะออกไปตามแนววัฒนธรรมตะวันตก สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานี้น่าวิตกเป็นอย่างมากสำหรับการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมตะวันออกที่งดงามของชาวเอเชียเรา
สำหรับในตอนนี้คงเป็นอย่างที่จั่วหัวชื่อตอนเอาไว้ว่า หลวงพระบางกำลังอ่อนระโหยโรยแรงที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อฝ่ากระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังไหลบ่าเข้ามาท่วมเมืองแห่งนี้ ตราบใดที่สังคมและปัจเจกบุคคลยังคงค่านิยมการวัดคุณค่าของความรวยด้วย "เงิน" มิใช่รวยด้วย "จิตใจและวัฒนธรรมที่งดงาม"แต่อย่างไรก็ตามคณะเดินทางของเราก็ยังซึมซับบรรยากาศความเป็นหลวงพระบางเมืองมรดกโลกได้ในหลายแง่มุม ซึ่งจะนำมาเล่าในตอนหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น