วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (รำลึกถึงพระคุณของครู)

เมื่อวานนี้ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในกทม. เพราะว่ามีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลกอย่างกระทันหัน เนื่องจากทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณครูที่ผู้เขียนเคารพนับถือสมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.)

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) Christopher Lloyd Conley คือครูผู้นั้น



คริสโตเฟอร์ หรือที่พวกเรานิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์ มน. เรียกติดปากว่า "อาจารย์คริส" เป็นชายร่างเล็กชาวอเมริกันที่มีถิ่นเกิด ณ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อคริสโตเฟอร์มีอายุได้ประมาณ 23 ปี เขาเดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับวุฒิการศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครอเมริกันในการส่งเสริมเรื่องสันติภาพในภูมิภาค เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างความคิดทางการปกครองสองแบบคือ ประชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์ คริสโตเฟอร์ทำงานในฐานะอาสาสมัครส่งเสริมสันติภาพในจังหวัดอุดรธานีระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางมาจังหวัดพิษณุโลกเพื่อเริ่มต้นชีวิตของความเป็นครู อาชีพเรือจ้างที่เขาได้ปฏิบัติมาอย่างดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

คริสโตเฟอร์เริ่มต้นชีวิตของความเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาวิทยาเขตพิษณุโลก จนกระทั่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้ยกวิทยฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก" และ "มหาวิทยาลันนเรศวร" มาตามลำดับ

ชีวิตการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ของผู้เขียนเป็นช่วงปี พ.ศ.2531-2535 (รหัสรุ่น 31) ตอนแรกเริ่มนั้นผู้เขียนเอ็นทรานซ์ติดเอกภาษาไทย ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (ซึ่งต่อมาตอนผู้เขียนอยู่ปีสองจึงได้ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร) ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตนิสิตปีหนึ่งนั้น การเรียนของผู้เขียนไม่ค่อยดีนักกับวิชาเอกที่ตัวเองเลือกมาคือภาษาไทย เช่น ในเรื่องการเรียนรู้วิชาหลักภาษา บาลี สันสกฤต อะไรยังเงี้ย ในขณะที่ทำคะแนนในวิชาภาษาอังกฤษได้ดี อาจจะเป็นเพราะว่าตอนก่อนสอบเอนทรานซ์ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร พอมารู้จริงๆ ว่าชอบภาษาอังกฤษก็ตอนอยู่ปีหนึ่งแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าทู่ซี้เรียนต่อไปอาจโดนรีไทร์แน่ ก็เลยคิดที่จะขอเปลี่ยนวิชาเอกเป็นภาษาอังกฤษ ในตอนนั้นผู้ที่มีบทบาทมากในการตัดสินใจของผู้เขียนก็คือพี่รหัสที่ให้คำแนะนำที่ดีมาก โดยพี่รหัสแนะนำให้ไปปรึกษากับ อ. คริส ที่เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตกและมีอำนาจในการตัดสินใจในตอนนั้น

ตอนนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่คุณครูผู้นี้มีบทบาทสำหรับอนาคตทางการศึกษาของผู้เขียน ผู้เขียนได้นำความคับข้องใจของชีวิตการเรียนไปปรึกษา อ. คริส และแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนวิชาเอกจากภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนอื่นต้องขอเล่าอุปนิสัยของ อ. คริส ก่อนว่าเป็นคนปากร้าย และก็ชอบมีกิริยากวนอารมณ์นิสิตเป็นประจำ แต่พวกเราก็รู้ว่าในก้นบึ้งจิตใจของ อ. นั้นหวังดีและมีความเมตตาต่อลูกศิษย์

"ถ้งงั้นเทอมหน้าคุณต้องลงวิชาบังคับภาษาอังกฤษเพิ่มอีกสองสามตัว แล้วต้องได้เกรด B ขี้นไป ว่าแต่จะทำได้รื้อ" อ. คริสบอกผู้เขียนแถมคำปรามาสหน่อยๆ ตามสไตล์ของแกด้วยภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ

ก็เป็นอันว่าผู้เขียนได้รับโอกาสในการที่จะทำผลงานให้เป็นที่เข้าตาอาจารย์ผู้นี้ก่อนที่จะได้รับฉันทานุมัติให้เปลี่ยนวิชาเอกได้ ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าในเทอมต่อมาเป็นช่วงชีวิตการเรียนที่หนักมากของผู้เขียน เพราะต้องตามเก็บวิชาบังคับของเอกภาษาอังกฤษให้ครบตามเพื่อนร่วมชั้นปีคนอื่นๆ ที่เรียนอยู่เอกอังกฤษ และในบางวิชาที่มีการสอบเก็บคะแนนย่อยรายอาทิตย์ ผลการสอบและการจัดอันดับของบรรดานิสิตที่ลงเรียนวิชานั้นจะมีการติดประกาศให้สาธารณชนรับทราบให้เป็นเกียรติเป็นศรีสำหรับผู้ที่ทำคะแนนได้ดี และเป็นที่ดูเหมือนแย่สำหรับผู้ที่ได้คะแนนรั้งท้าย ซึ่งจากผู้เข้าเรียนทั้งหมดเกือบร้อยคนในวิชานั้น ผู้เขียนมีชื่อติดบอร์ดอยู่ในลำดับแรกสุด และก็อาจเป็นอุปนิสัยของเด็กๆ ที่พอเห็นผลงานที่ดีของตนเอง ก็อดไม่ได้ที่อยากจะบอกเล่าให้คนที่กำลังรอดูผลงานของเราอยู่ เมื่อมีโอกาสพบปะ อ. คริส ผู้เขียนจึงได้รายงานผลการศึกษาทันที

"ทำดีมาก แต่ผมว่านะ อาทิตย์หน้าคะแนนก็ร่วงแล้ว" อ. คริส ตอบกลับทันทีที่ผู้เขียนรายงานผลการเรียนให้ทราบตามสไตล์ความเป็นคนกวนอารมณ์ แต่สีหน้าของ อ. ไม่ได้เป็นอย่างคำพูด สีหน้าที่มองมายังผู้เขียนยิ้มละไม ดูลึกเข้าไปในดวงตาเห็นถึงความเมตตาต่อศิษย์อยู่ข้างในนั้น

ผลการศึกษาของเทอมนั้นออกมาเป็นที่เกินความคาดหมาย โดยผู้เขียนได้เกรดที่มากกว่า B จึงเป็นอันว่าผู้เขียนสามารถเข้าเรียนในวิชาเอกภาษาอังกฤษได้สมความตั้งใจ

ในช่วง 4 ปี ที่เรียนกับ อ. นั้นพวกเราเห็นว่า อ. คริส ช่างเป็น อ . ที่จู้จี้จุกจิก เคร่งครัดเรื่องความสะอาดเรียบร้อยและความตรงต่อเวลาในการส่งการบ้าน และในขณะที่เราเรียนในชั่วโมงของ อ. หากใครคุยหรือทำกิริยาอะไรที่ไม่เหมาะสมแม้สักนิด จะโดนดุทันที มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ดีในเรื่องกิริยามารยาทระหว่างเรียน ในขณะที่ อ. กำลังสอนอยู่ พวกเราก็ก้มหน้าดูเนื้อหาที่ อ. กำลังสอนในหนังสือ สักพักก็รู้สึกว่า อ. เงียบเสียงไป ก็เงยหน้าขึ้นไปดูหน้าห้อง เห็น อ. เดินงุดๆ มาตรงแถวโต๊ะเรียนของพวกเรา สักพักความเป็นคนเจ้าระเบียบก็สำแดงออกมาด้วยการที่ อ. เตะรองเท้าของเพื่อนผู้หญิงเราคนหนึ่งออกไปหน้าห้อง พร้อมทั้งพูดเสียงดังด้วยภาษาไทยสำเนียงชาวต่างชาติว่า

"ในนี้เป็นห้องเรียน คุณถอดรองเท้าและแกว่งเท้าเปล่าเล่นทำไม ไม่เรียบร้อยเลย" ภายหลังเราจึงรู้มาว่าเพื่อนคนนั้นทำกิริยาอย่างนั้นจริงๆ อาจจะเป็นความเคยชินและเห็นสบายเท้าดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่ อ. กำลังสอนพวกเราอยู่ ไม่เฉพาะแต่วิชาการความรู้เท่านั้น แต่วิชาการใช้ชีวิตในสังคมด้วย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อพวกเรามาก

หลังจากจบการศึกษาไปได้ไม่กี่ปี ผู้เขียนก็มารับทราบว่า อ. คริส ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกไตอยู่เป็นประจำ ซึ่งจากอาการป่วยนี้เองทำให้ อ. ซึ่งจากเดิมที่ดูอ้วนท้วนสมบูรณ์กลับกลายเป็นชายวัยกลางคนที่ซูบผอม (ภาพข้างบนนั้นเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต อ. แล้ว สังเกตได้ว่าที่ข้อพับแขนซ้าย อ. มีผ้าพันแผลปิดอยู่ ซึ่งเกิดจากการรักษาและการฟอกไต) แต่อย่างไรก็ตามวิญญาณของความเป็นครูนั้นไม่ได้เหือดแห้งไปจากใจของชายชาวต่างชาติผู้นี้แลย เมื่อเสร็จจากการฟอกไตแล้ว ก็ใช่ว่าจะได้พักผ่อน แต่ว่าต้องกลับมาทำหน้าที่ครูเพื่อสอนลูกศิษย์ ลูกหา ต่อไป คุณงามความดีของ อ. คริส ข้อนี้ รวมไปถึงความทุ่มเทที่มีให้กับ มน. มาอย่างยาวนานทำให้ในปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ อ. ดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ (พิเศษ)

ชีวิตเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ และแล้วในวันที่ 25 เมษายน 2552 ขณะที่ อ. เข้ารับการฟอกไตที่โรงพยาบาลพุทธชินราช อ. เกิดอาการช็อคและมีความดันต่ำ แพทย์ไม่สามารถช่วยยื้อชีวิตของ อ. ท่านนี้ไว้ได้ อ. คริสจึงได้จากไปด้วยวัย 60 ปี 4 เดือน 8 วัน

ก่อนหน้านั้น อ. ทราบถึงชะตากรรมตนเองเป็นอย่างดี จึงได้เขียนพินัยกรรมไว้ด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษ และฝากบอก อ. ร่วมวิชาชีพว่าได้เก็บพินัยกรรมไว้ที่ใด เมื่อ อ. คริสถึงแก่กรรมแล้ว เพื่อนๆ อ. จึงได้ดำเนินการตามความประสงค์ของ อ. คริส ที่ได้เขียนไว้ในพินัยกรรม และเนื่องจากว่า อ. ไม่ได้แต่งงาน และไม่เคยกลับไปที่สหรัฐอเมริกาอีกเลย ประกอบกับน้องชายได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีญาติของ อ.มาเข้าร่วมพิธีศพ ที่จะมีมาร่วมก็ได้แก่ บุคลากรและอาจารย์จากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยการจัดงานศพของ อ. คริส ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เป็นเจ้าภาพจัดงานให้ อ. อย่างสมเกียรติและสมกับความทุ่มเทของ อ. คริสที่มีให้กับมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน

มหาวิทยาลัยได้จัดงานศพตามความประสงค์ของ อ. คริส ทุกอย่าง ที่ท่านต้องการให้จัดงานแบบพุทธศาสนา ด้วยการจัดงานสวดศพที่วัดจุฬามณี และให้บรรจุศพของท่านในโลงเย็นประดับโลงศพด้วยดอกเบญจมาศ และเมื่อฌาปนกิจศพท่านแล้ว ขอให้ลอยอังคารของท่านในแม่น้ำน่านที่หน้าวัดใหญ่หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพุทธชินราชต่อไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นสิ่งบอกถึงความรักความผูกพันของชายชาวต่างชาติคนหนึ่งที่มีต่อเมืองไทย โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองที่ท่านได้ใช้เป็นสถานที่ในการผลิตบัณฑิตรุ่นแล้ว รุ่นเล่า และเป็นเมืองที่ท่านใช้ชีวิตจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย

ผู้เขียนมีความซาบซึ้งใจกับคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งที่มีผู้แทนคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้อ่านก่อนจะมีการวางดอกไม้จันทน์ โดยคำประกาศตอนนั้นระบุว่า "ถึงแม้ อ. คริสจะมีชาติกำเนิดเป็นชาวสหรัฐอเมริกา และอเมริกาคือบ้านเกิดของท่าน แต่เมืองนอนที่เป็นที่รักของท่าน และท่านได้ใช้ชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตคือประเทศไทย"





ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งที่มีอาชีพการงานที่ดีและมั่นคงอยู่ได้ในขณะนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จของชีวิตหลังจบการศึกษานั้นมาจากความเมตตากรุณาของ อ. ชาวอเมริกันท่านนี้ ดังนั้นการแสดงถึงความกตัญญูต่อ อ. ผู้มีพระคุณ จึงเป็นสิ่งที่วิญญูชนควรพึงกระทำ ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจของท่านเมื่อเย็นวันวาน และระหว่างที่ขึ้นไปเคารพศพและวางดอกไม้จันทน์ ผู้เขียนได้อธิษฐานให้วิญญาณของท่านจงไปสู่สัมปรายภพ และจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำตลอดชั่วชีวิตด้วยความเป็นครู ผู้เขียนเชื่อว่าท่านจะมีแดนกำเนิดในชีวิตหน้าที่ดีแน่นอน

ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาบางส่วนจาก http://www.husonu.com

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 10: ดังแล้วแยกวง )

หลังจากเที่ยวเล่นบริเวณน้ำตกตาดกวางสีเป็นที่พอใจ ก็ถึงเวลากลับเข้าตัวเมืองหลวงพระบาง ถึงตอนนั้นก็เลยเวลาเที่ยงไปมากแล้ว รู้สึกว่าหิวข้าวเป็นกำลังเพราะเฝอที่กินไปเมื่อตอนเช้าย่อยสลายเป็นพลังงานสำหรับกิจกรรมการเดินเที่ยวไปหมดแล้ว

บุญใช้เวลาขับรถไม่นานนักก็พาพวกเราเข้ามาถึงในเมือง พวกเราช่วยกันสอดส่ายสายตาหาร้านอาหารที่ดูเข้าท่าเข้าทาง จนกระทั่งเห็นร้านนึงน่าจะดูดีหน่อยก็เลยตกลงใจกันว่าจะใช้บริการร้านนี้ก็แล้วกัน ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายเศษๆ ภายในร้านไม่มีลูกค้าคนไหนเข้ามาใช้บริการ เข้าใจว่าน่าจะคึกคักตอนช่วงเย็นๆ ถึงหัวค่ำ เท่าที่ดูลักษณะร้าน รวมทั้งการตกแต่งและการจัดวางข้าวของจัดว่าพอใช้ได้ ซึ่งน่าจะเน้นบริการลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะตั้งแต่เรามาประเทศลาวนี้สังเกตว่าคนลาวเองไม่นิยมกินอาหารนอกบ้าน อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่นอันที่หนึ่งคือเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นความเห็นของผู้เขียนเองน่าจะเป็นเพราะสังคมของลาวยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยม ขนาดของครอบครัวยังเป็นครอบครัวขยายที่ประกอบไปด้วยสมาชิกหลายรุ่นตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนกระทั่งรุ่นลูกหลาน ดังนั้นหากหุงหากินเองในบ้านน่าจะอบอุ่นกว่าและประหยัดดีด้วย








เมนูของเรามื้อนี้ ก็คงพอจะทายกันถูก ที่ยืนพื้นคือ ผัดผักรวม ไข่เจียว นอกนั้นก็เป็นต้มยำ และรู้สึกจะมีปลาทอดหรือปลานึ่งอะไรด้วยเนี่ยแหละถ้าจำไม่ผิด แต่ที่มีเพิ่มมาใหม่ได้แก่ ส้มตำ ซึ่งเมนูนี้ป้าศรีแกเป็นคนสั่ง จะเป็นด้วยเพราะเห็นว่ามาประเทศลาวแล้วก็น่าจะสั่งอาหารท้องถิ่นเขาเสียหน่อยและดูสิว่าส้มตำเขากับส้มตำบ้านเรารสชาติต่างกันไม๊ ระหว่างรออาหารพวกพี่เขาก็นั่งคุยกันไป มีแต่พี่หวาดกับผู้เขียนที่ไม่ได้ร่วมวงสนทนาด้วย เพราะกำลังสนใจกับทีวีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เราสองคน ซึ่งเขากำลังเปิดช่องไทยพีบีเอส (ชื่อนี้หรือเปล่า ขอสารภาพว่าไม่เคยเปิดช่องฟรีทีวีดูมานานมากแล้ว เพราะเบื่อความไม่มีสาระของรายการบันเทิงของช่องต่างๆ และการนำเสนอข่าวที่ส่วนใหญ่ไร้จรรยาบรรณ เลยตัดปัญหาไม่ดูเลยดีกว่า)ในช่วงนั้นเขาเอาหนังไทยเก่าๆ มาฉาย เออ เลยน่าสนใจหน่อย เรื่องที่กำลังฉายอยู่ชื่อ "สามเณรใจสิงห์" เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่ ขุนพล ฉ่ำเย็นอุรา เล่นเป็นเณรสิงห์ชัย เลยรู้สึกคิดถึงสมัยตอนเด็กๆ เพราะหนังรุ่นเนี้ยเป็นหนังร่วมสมัยตอนผู้เขียนยังเด็กอยู่


พอพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็อดที่จะเล่าไม่ได้ว่า ที่ประเทศลาวเขานิยมชมชอบที่จะติดตามรับชมรายการโทรทัศน์ของประเทศไทยอย่างที่เราทราบกันอยู่ ตั้งแต่ผู้เขียนมาถึงที่นี่ เดินผ่านไปบ้านไหน ร้านรวงไหนก็เห็นเปิดดูแต่โทรทัศน์ของไทย และก็สังเกตอยู่อย่าง ตลอดทางที่นั่งรถผ่านมาตั้งแต่เวียงจันทน์จนถึงหลวงพระบางเนี่ย ผู้เขียนเห็นบ้านจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นบ้านตึกดูดี หรือจนกระทั่งบ้านมุงหลังคาจากดูซอมซ่อ เกือบทุกบ้านมีจานรับดาวเทียม ที่เขาเรียกว่าจานดำ เอาไว้รับชมโทรทัศน์จากต่างประเทศ ที่เด่นๆ คงเป็นรายการจากประเทศไทยกับประเทศจีน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกระแสหลักของโลกยุคปัจจุบันที่ผู้เขียนคิดว่าอาจจะตรงตามคำจำกัดความของนักมานุษยวิทยาชาวคิวบาที่คิดคำว่า "Transculturation" ที่ว่าด้วยเรื่องของการผสมผสานข้ามวัฒนธรรม ตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองดูประเทศไทยก็ได้ วัฒนธรรม k-pop j-pop อะไรเนี่ยแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมไทยไปแล้ว ผู้เขียนคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้วัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศน่าจะเลือนหายไป กลายเป็นวัฒนธรรมสากล ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นของชาติใด และไม่แน่นะว่าวิถีชีวิตรวมทั้งการแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศอาจจะหายไปเช่นกัน กลับกลายรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก อย่างที่อเมริกาภายใต้การนำของคาวบอยจากเท็กซัส จอร์จ บุช จูเนียร์ เคยประกาศไว้เรื่อง "New World Order" เอาไว้ค่อยคุยเรื่องนี้ในตอนต่อๆ ไปดีกว่า

กลับมาเรื่องของเราต่อ หลังจากนั่งรออาหารที่สั่งอยู่เป็นเวลานานมาก (อันเนี้ยขอบ่นหน่อย) อาหารที่เราสั่งก็ค่อยๆ ทยอยมาตั้งที่โต๊ะ อาหารทุกอย่างดูหน้าตาแล้วน่ากินทั้งนั้น ข้าวก็หุงอร่อยมากมาก (ยกโทษให้ที่ให้รอนาน) แต่เดี๋ยวก่อนมีอย่างหนึ่งที่คนสั่งมองหน้าตาของอาหารแล้วลังเล นั่นก็คือ ส้มตำ ดูรูปร่างแล้วสีมันแปลกๆ ดำกระด่างยังไงไม่รู้ดูไม่น่ากินเลย และแล้วคนที่สั่งคือป้าศรีก็ค่อยๆ เลื่อนจานส้มตำมาตรงหน้าผู้เขียนและพี่หวาดอย่างแนบเนียน แล้วพูดขึ้นว่า "เออ ส้มตำเนี่ยสั่งมาให้พี่หวาดกินนะ เห็นว่าชอบกิน" (คือจำคำพูดแกไม่ได้ทุกคำหรอก แต่ป้าศรีพูดประมาณเนี้ย)

พี่หวาดใช้สายตาเหลือบดูป้าศรีเล็กน้อย แล้วทำหน้าเหมือนรู้ทันประมาณว่า "รู้หรอกน่าว่าไม่อยากกิน เลยยกให้ฉันใช่ไม๊ล่ะ" พี่หวาดไม่ได้พูดอะไร แต่ก็รับน้ำจิตน้ำใจของป้าศรีมาด้วยความซาบซึ้ง 5555 พี่หวาดค่อยๆ ใช้ช้อนตักส้มตำจานนั้น และก็ละเลียดกินอย่างไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ อากัปกิริยาของพี่หวาดอยู่ในสายตาของผู้เขียนโดยตลอด ผู้เขียนมองพี่หวาดกินส้มตำจานนั้นพร้อมกับนึกในใจว่า "โอโห พี่คะช่างเป็นคนกินง่ายจริงๆ ดูสิส้มตำสีกระดำกระด่างยังงั้นคงไม่อร่อยเอร็ดอะไรหรอก พี่ก็ยังกินได้นะ โถคงเสียดายสตางค์ละสิ เลยต้องแค่นกินให้มันหมดๆ ไปใช่มั้ยพี่"

ผู้เขียนมองดูพี่หวาดกินส้มตำจานนั้นแบบไม่วางช้อนไปสามสี่คำ ก็ชักเอะใจ เอ๊ะทำไมแกไม่ไปตักกับข้าวจานอื่นเลย หรืออยากจะจัดการอาหารไม่อร่อยจานนี้ให้เสร็จๆ ไป แต่มองหน้าพี่หวาดแล้วเห็นแกก็เฉยๆนะ และก็ไม่ได้พูดอะไร เอางี้ ขอลองชิมมั่งดีกว่า

"SUPERB" นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนร้องขึ้นในใจหลังจากได้ชิมส้มตำจานนั้นเป็นช้อนแรก อร่อยกว่าบ้านเราเยอะเลย หน้าตาไม่น่ากินแต่รสชาติยอดเยี่ยม มารู้ว่าที่ส้มตำสีออกดำๆ นั่นเพราะเขาใส่กะปิ เลยดูไม่ค่อยน่ากิน หลังจากที่ผู้เขียนรู้รสชาติของส้มตำจานนั้นแล้ว จึงได้โฆษณาให้ผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นๆ รู้ และแล้วทุกคนในโต๊ะก็ได้ลองลิ้มชิมรสของส้มตำจานนั้นอย่างเอร็ดอร่อยรวมทั้งป้าศรีคนที่สั่งด้วย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าวันหลังเวลาไปกินอาหารร่วมโต๊ะกับพี่หวาด อย่าสั่งเมนูอะไรที่ท่านไม่มั่นใจเรื่องรสชาติเป็นอันขาด มิฉะนั้นท่านอาจจะพลาดกินอาหารจานอร่อยด้วยการมอบอาหารจานนั้นให้คนกินง่ายอย่างพี่หวาดไปอย่างน่าเสียดาย 5555

หลังจากเสร็จสิ้นจากอาหารมื้อกลางวัน คณะของเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอะไรต่อ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเวลาบ่ายกว่าแล้ว และก็ได้ข้อสรุปว่าจะกลับที่พักคือที่วิลลาพิไลลักษณ์สักแป๊ปหนึ่ง แล้วจะเช่าเรือล่องแม่น้ำโขงในช่วงเย็น

ผู้เขียนและพี่วัฒน์กลับมาที่ห้องได้สักครู่หนึ่ง สักพักพี่วัฒน์ก็พูดกับผู้เขียนว่า "สงสัยพี่จะไม่ล่องเรือแล้วละ รู้สึกท้องไม่ค่อยดี เดี๋ยวไปแล้วหาห้องน้ำเข้าลำบาก" จากนั้นพี่วัฒน์ก็ขอตัวเข้าห้องน้ำเพื่อเป็นการยืนยันว่าแกมีปัญหาเรื่องท้องไส้จริงๆ ผู้เขียนก็เลยคิดว่า ตัวเองก็คงจะไม่ไปเหมือนกัน น่าจะอยู่เป็นเพื่อนพี่วัฒน์ แล้วเดินเที่ยวแถวนี้ดีกว่า

พอได้ข้อสรุปอย่างนั้น เราทั้งคู่ก็เลยไปแจ้งความประสงค์ให้สมาชิกทราบ ผลที่ตามมาคือป้าศรีมีงอนเล็กน้อย แกคงอยากให้ไปพร้อมหน้าพร้อมตากัน ประเภทเลือดสุพรรณ มาด้วยกันไปด้วยกันอะไรเงี้ย แต่ทุกอย่างก็ลงเอยได้ด้วยดีสรุปก็คือว่า พี่นิ ป้าศรี พี่หวาด พี่อ้อย ไปล่องเรือเที่ยวชมแม่น้ำโขง โดยมีบุญไปด้วย สำหรับพี่วัฒน์และผู้เขียนเที่ยวอยู่แต่ในเมืองหลวงพระบาง ดังนั้นช่วงนี้ผู้เขียนก็จะเขียนถึงสิ่งที่ได้พบเจอมาตอนที่แยกกันเที่ยวกับคณะ

พี่วัฒน์และผู้เขียนเลือกที่จะซึมซับความงดงามของหลวงพระบางด้วยการเดินเท้ากันไปเรื่อยๆ เราตั้งต้นด้วยการเดินไปจุดแรกที่เรามาถึงหลวงพระบาง นั่นก็คือบริเวณด้านทางขึ้นของพระธาตุจอมพูสี เราเลี้ยวลัดเลาะเรื่อยไปตามซอยต่างๆ ที่เต็มไปด้วยบ้านรูปทรงเก่าแก่ที่ส่วนมากดัดแปลงให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว บางที่ก็ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อย่างในภาพข้างล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ "เรือนจัน" ผู้เขียนเห็นไกด์ลาวกำลังพาฝรั่งคู่หนึ่งเดินชมพิพิธภัณฑ์อยู่







เราทั้งคู่เดินออกมาจากซอกซอยต่างๆ ที่ตัดออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งจากการเดินเข้าซอยนั้นออกซอยนี้ทำให้เรารู้ว่าการจัดผังเมืองของหลวงพระบางทำไว้ได้ดีและเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก เดินอย่างไรก็ไม่หลง ก่อนที่ผู้เขียนและพี่วัฒน์จะเดินออกจากซอยเล็กๆ เพื่อออกสู่ถนนใหญ่ เราเดินผ่านบ้านหลังหนึ่งที่ดูเหมือนจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์หรือมูลนิธิอะไรสักอย่าง ดูลักษณะการตกแต่ง และการจัดวางข้าวของ ดูน่าสนใจสำหรับเราสองคน เราจึงหยุดดูอยู่ข้างหน้าประตู แต่เนื่องจากป้ายที่ติดประตูด้านหน้าเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เราอ่านไม่ออก ทำให้เราไม่ทราบว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ไว้สำหรับทำอะไร และให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้หรือไม่ และก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไป ประตูบ้านก็เปิดออกมาพร้อมกับเจ้าของสถานที่ที่เป็นชาวลาวกำลังเดินออกมาส่งแขกชาวฝรั่ง และสนทนากันเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เราไม่เข้าใจ พอแขกชาวฝรั่งคนนั้นเดินพ้นออกประตูบ้านไป เจ้าของสถานที่ซึ่งเป็นผู้ชายชำเลืองมองดูเราสองคนด้วยสายตาที่เราคิดว่าไม่ค่อยเป็นมิตร ชายผู้นั้นไม่ได้กล่าวอะไรกับเราสองคน เขาชำเลืองมองเราอยู่ครู่เดียวก็ปิดประตูใส่หน้าเราสองคน

นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้รับการต้อนรับในลักษณะที่ไม่เป็นมิตรจากคนลาว ตั้งแต่เรามาที่นี่คนลาวมีมิตรจิตรมิตรใจ และอุปนิสัยน่ารัก ถ้าถามผู้เขียนว่ารู้สึกโกรธไม๊ คงตอบตรงๆ ว่าไม่ได้โกรธ เพียงแต่นึกแปลกใจเท่านั้น เพราะเขาแสดงออกถึงอาการรังเกียจค่อนข้างโจ่งแจ้ง ผู้เขียนจึงสงสัยว่าชายผู้นี้คงได้รับประสบการณ์อะไรที่ไม่ค่อยดีนักจากคนไทย

เราสองคนเดินออกมาจากสถานที่แห่งนั้นเพื่อออกมาสู่ถนนใหญ่ เราเดินออกมาได้สักพักก็เห็นมีอาคารจัดแสดงผ้าพื้นเมืองของหลวงพระบาง (จำชื่อเป็นทางการไม่ได้เสียแล้ว)ก็เลยชวนกันขึ้นไปดู พอขึ้นไปแล้วสิ่งแรกที่ทำให้เราปลาบปลื้มใจมากคือมีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ซึ่งเคยเสด็จมาที่แห่งนี้ ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าของเราเป็นที่รักใคร่และนับถือของชาวลาวเหมือนกัน




ก่อนที่เราจะเดินกลับที่พักของเรา เพราะพี่วัฒน์เริ่มรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนต้องการจะเข้าห้องน้ำ เราได้เดินผ่านโรงเรียนชั้นประถมของเมืองหลวงพระบาง เด็กๆ กำลังเลิกเรียนพอดี เห็นมีพ่อแม่มารับ บ้างก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับลูก บ้างก็เดินมา ข้างหน้าโรงเรียนก็เหมือนกับโรงเรียนที่บ้านเรา มีขนมนมเนยขายล่อตาล่อใจให้เด็กๆ ได้หาซื้อกินกัน มองดูแล้วก็รู้สึกดี เด็กๆ ที่ไหนก็เหมือนกันหมด ความอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา พร้อมที่จะซึมซับแบบอย่างจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีหรือไม่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับต้นแบบที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ เป็นที่น่าเสียดายนักที่บ้านเราปัจจุบันจะหาผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีช่างยากเย็นเข็ญใจ จะมีก็แต่ผู้ใหญ่ที่ทำตัวเป็นศรีธนญชัย ไม่อยู่กับร่องกับรอย แล้วอย่างนี้เด็กๆ อนาคตของชาติเรา โตขึ้นไปจะเป็นอย่างไรหนอ

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (รัฐธรรมาภิบาลหรือรัฐล้มเหลว? เส้นทางของประเทศไทยที่คุณเลือกได้)



ปี 2008 Fund for Peace องค์กรที่ไม่แสวงกำไรซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี ได้จัดลำดับสถานะของประเทศและรัฐไว้ 4 สถานะ ได้แก่ สถานะของรัฐในระดับที่ต้องเตือนภัยขั้นสูง (alert) สถานะของรัฐในระดับเตือนภัย (warning) รัฐที่มีสถานะปานกลาง (moderate) และรัฐที่มีสถานะมั่นคง (sustainable) ในจำนวนทั้งหมด 177 รัฐในสังคมโลกปัจจุบัน มีรัฐจำนวน 20 รัฐที่มีสถานะเลวร้ายที่สุดที่ต้องเตือนภัยขั้นสูงหรือที่รู้จักกันทั่วไปคือเป็นรัฐล้มเหลว โดยประเทศโซมาเลียได้รับการจัดเป็นรัฐอันดับที่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวร้ายแรงที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้นได้รับการจัดอันดับอยู่ในสถานะเตือนภัย ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 89 เขยิบขึ้นมาหนึ่งอันดับจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 90 ในปี 2007 สำหรับรัฐที่มีความมั่นคงสถาวรที่สุดโดยได้รับการจัดลำดับที่ 177 คือประเทศนอร์เวย์

สำหรับดัชนีชี้วัดว่ารัฐไหนเป็นหรือไม่เป็นรัฐล้มเหลวดูได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งในภาพรวมรัฐที่ล้มเหลวจะมีลักษณะดังนี้ 1)รัฐนั้นสูญเสียซึ่งการปกป้องคุ้มครองเขตอาณาของรัฐทางด้านกายภาพ หรือรัฐสูญเสียการบังคับใช้ซึ่งอำนาจและการใช้กองกำลังที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2)อำนาจในการสั่งการเพื่อการบังคับใช้กฎหมายถูกกรัดกร่อน 3) รัฐนั้นไม่สามารถให้การบริการสาธารณะที่สมเหตุสมผลแก่ประชากรของรัฐได้ และ 4) รัฐนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศในสังคมโลกได้ นอกเหนือไปจากนี้รัฐนั้นๆ ยังมีรัฐบาลกลางที่อ่อนแอ มีอาชญากรรมและการคอรัปชั่นแพร่หลายไปทั่วรัฐ

ทีนี้มาพูดถึงรัฐไทยของเรากันบ้าง จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ท่านว่าบ้านเมืองของเรานั้นเข้าข่ายเป็นรัฐล้มเหลวแล้วรึยัง บางท่านที่มองโลกในง่ดีท่านอาจจะบอกว่ายังหรอก บ้านเมืองเรายังไปได้ด้วยดี คอรัปชั่นเราก็มีมาตั้งนานแล้วนี่ยังไม่เห็นมีใครบอกว่าเราเป็นรัฐล้มเหลวสักที แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองขอให้คำตอบที่ชัดเจนตรงนี้เลยว่า
"ประเทศไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวแล้ว"

ท่านฟังแล้วรู้สึกยังไงบ้าง รู้สึกตระหนกตกใจและกำลังคิดว่าฉันจะมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองเราดีขึ้นยังไง หรือรู้สึกเฉยๆ และกำลังคิดว่ารัฐล้มเหลวเนี่ยเป็นยังไงหรือแล้วจะเกี่ยวข้องกับฉันอย่างไรล่ะ หรือรู้สึกว่าก็ช่างมันเถิดอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไปเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้หรอกให้ผู้มีอำนาจเขาแก้ไขไป

ถ้าย้อนกลับไปผู้เขียนเคยเขียนเรื่องความหยิ่งยโส ความลำพองใจของจอมโจรหน้าเหลี่ยมจะมีผลทำให้บ้านเมืองของเรากลายเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งตอนนั้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ลองกลับไปอ่านดูได้ มาถึงตอนนี้แล้วทุกอย่างมันชัดยิ่งกว่าชัด เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยด้านสถานะทางสังคม เศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเมืองของเราเข้าข่ายดัชนีชี้วัดของความเป็นรัฐล้มเหลว ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จราจลเผาบ้านเมืองจะจบลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เสียเลือดเนื้อของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องบ้านเมืองกับฝ่ายที่จ้องทำลายล้างบ้านเมืองก็ยังมีให้เห็นในรูปแบบของการลอบสังหารบุคคลสำคัญและการใช้อาวุธสงครามเข้าทำลายล้างกัน ล่าสุดที่เราได้รับทราบกันแล้วก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธสงครามชุดใหญ่ แต่ก็ยังแคล้วคลาดมาได้ ข่าวนี้กระจายไปทั่วโลกจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ทรงอิทธิพล ทำให้สถานการณ์ของชาติอึมครึมขึ้นมาอีก



ทั้งๆ ที่ขณะนี้กทม. อยู่ระหว่างการใช้พรก. สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีกองทหารเฝ้าระวังอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์สังหารโหดนี้ขึ้นได้ ส่วนจะเป็นใครที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดครั้งนี้คงต้องให้สังคมและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมเฝ้าจับตามองผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนสอบสวนตามหาคนร้ายและผู้สั่งการมาให้ได้ มิฉะนั้นแล้วประเทศของเราจะเข้าข่ายการเป็นรัฐล้มเหลวในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายถูกกรัดกร่อนและประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น

กลับมาพูดถึงเรื่องบทบาทของประชาชนกันบ้าง ในสายตาของผู้เขียนในประเทศนี้แบ่งประเภทของประชาชนได้อย่างหยาบๆ สามประเภท ได้แก่
1) ประเภทรักชาติบ้านเมืองและพร้อมที่จะเคลื่อนไหวการแสดงออกต่อสาธารณชน ประเภทนี้ก็อย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ นปช. ซึ่งบางท่านอาจจะแย้งกับผู้เขียนว่า นปช. ไม่ใช่กลุ่มรักชาติบ้านเมืองนะ จริงอยู่ประเภทแกนนำหรือกลุ่มซ้ายอกหักที่ทำหน้าที่เสนาธิการของ นปช. พวกนี้ไม่ได้รักชาติบ้านเมืองแน่นอน แต่ยังมีกลุ่มใหญ่ของ นปช. ที่เป็นประชาชนถูกชักชวนมาด้วยการโฆษณาชวนเชื่อด้วยข้อมูลเท็จของแกนนำว่าให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อชาติบ้านเมือง
2) ประเภทที่รักชาติบ้านเมืองเหมือนกันแต่รักตัวเองมากกว่า ประเภทเหล่านี้มักจะชอบพูดว่าคนที่ออกไปเคลื่อนไหวของกลุ่มแรกเป็นประเภทสุดโต่ง มันไม่คุ้มกันหรอกหากเราออกไปเคลื่อนไหวแล้วเกิดความรุนแรง และถ้าเราเป็นอะไรไปใครจะรับผิดชอบ เรายังทำประโยชน์ให้สังคมได้อีกหากเรายังมีชีวิตอยู่
3) ประเภทไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ใครจะเป็นอะไรไม่สนใจ วันนี้เวลานี้ขอคิดแต่เพียงว่า ตัวฉัน ครอบครัวฉัน แฟนฉัน คนรักฉัน อยู่ดี กินดี พอแล้ว

ผู้เขียนไม่ทราบว่าในจำนวนของประชาชนชาวไทยทั้งหมด ประเภทไหนมีจำนวนมากกว่ากัน ในประเภทแรกที่เป็นกลุ่ม นปช. รักบ้านรักเมือง และได้รับข้อมูลมาผิดๆ นั้น เราคงต้องช่วยกันให้ข้อเท็จจริงแก่พวกเขาว่าใครกันที่เป็นสาเหตุให้ชาติบ้านเมืองต้องแตกแยกในทุกวันนี้

ที่ผ่านๆ มา ประชาชนในกลุ่มที่สองมักจะชอบพูดว่าขอทำตัวเป็นกลางไม่ขอเข้าข้างใคร ผู้เขียนคิดว่าในสถานการณ์ขณะนี้เขาคงต้องนั่งใคร่ครวญให้ดีแล้วว่า ถ้าเขายังมีใจรักชาติบ้านเมืองอยู่บ้าง เขาควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร การนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร สถานการณ์ของชาติบ้านเมืองจะดีขึ้นอย่างไร อย่าลืมว่ามาถึงตอนนี้ บ้านเมืองของเราเดินมาถึงทางแยกแล้ว เราไม่สามารถหลอกตัวเองได้ต่อไปว่าเดี๋ยวเหตุการณ์มันก็ดีไปเองเหมือนครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนอยากจะให้ประชาชนกลุ่มนี้ศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองของประเทศเกาหลีเหนือ พม่า รวันดา คิวบา อิรัก ปากีสถาน และอีกหลายๆ ประเทศให้ดี ว่าประชาชนของประเทศเหล่านี้มีสถานะอย่างไรบ้าง ถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้นำที่ไม่มีความชอบธรรมอย่างไรบ้าง ลำพังแค่อ่านหนังสือพิมพ์วันละสองฉบับแล้วบอกว่าได้ติดตามข้อมูลแล้วรอบด้านแค่นั้นยังไม่เพียงพอ การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการแก่งแย่งชิงอำนาจ บางครั้งข้อมูลข่าวสารที่ลึกลับซับซ้อนมันมีมากกว่าตัวอักษรที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือวารสาร

ดังนั้นหน้าที่ของประชาชนอย่างเราที่รักชาติบ้านเมืองจึงมีหน้าที่ที่ต้องเปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน แล้วใช้วิจารณญาณพินิจพิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ซึ่งในขณะนี้เราคงจะต้องเอาใจช่วยนายกอภิสิทธิ์ให้สามารถบริหารชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นมรสุมร้ายไปให้ได้ เพราะหากนายกทำไม่ได้แล้ว นั่นหมายถึงหายนะของประชาชนอีกหลายล้านคนเช่นเดียวกัน

สำหรับประชาชนในกลุ่มที่สาม ผู้เขียนคงขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึง เพราะตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่าประชาชนที่เข้าข่ายกลุ่มนี้ถ้าเป็นข้าราชการก็จะเป็นประเภทคอรัปชั่นเป็นนิจ เลียผู้ใหญ่เป็นกิจ หรือถ้าทำงานอยู่ภาคเอกชนก็จะเป็นประเภทส่วนรวมจะร้ายดียังไงไม่ว่า ขอให้กิจการของฉันรอดก็พอ คนกลุ่มนี้เมื่อถึงเวลาที่ประเทศประสบกับความหายนะ ก็พร้อมที่จะสละชาติเพื่อชีพของตัวเอง อาจจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศที่สามด้วยเงินที่คอรัปชั่นไว้มากพอแล้ว หรือเงินกำไรที่ได้จากการขูดรีดจากสังคมนี้มามากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะพึ่งพาอาศัยคนที่เป็นไทยแต่ชื่อประเภทนี้

อย่างไรก็ตามประเทศนี้ยังพอพึ่งพาได้ก็คงเป็นประชาชนในกลุ่มที่หนึ่งและสอง ผู้เขียนคิดว่าเรายังพอเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้างก็คงมาจากเหตุการณ์การรวมกลุ่มกันของประชาชนที่จะปกป้องชุมชนและสังคมของเขาตามที่เราได้ทราบจากข่าวจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552 นั่นเอง ผู้เขียนคิดว่าเหตุการณ์นั้นเป็นสัญญาณที่ดีในการรวมตัวกันของประชาชนที่จะร่วมกันต่อต้านสิ่งชั่วร้าย อย่าลืมว่าที่คนชั่วและสิ่งชั่วร้ายมันแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทยทุกวันนี้ เป็นเพราะคนดีท้อถอย ยอมจำนนให้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าคนดีของประเทศนี้ยังมีอยู่อีกมากและมีอยู่ในทุกวงการ รวมไปทั้งคนที่ผู้เขียนรู้จักอีกมากมาย ในสถานการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตเช่นนี้ ผู้เขียนได้แต่หวังว่าขอให้กลุ่มคนดีของบ้านเมืองรวมตัวกันให้เหนียวแน่น จะคิดอ่านทำการณ์ใดให้ตั้งมั่นด้วยสติสัมปชัญญะ บนพื้นฐานของหลักศาสนาที่ตนเองนับถือ เมื่อนั้น เราประชาชนคนไทยก็จะสามารถเลือกทางเดินให้กับประเทศของเราได้ ว่าเราจะเลือกทางให้ประเทศของเราไปสู่รัฐแห่งธรรมาภิบาล ถึงแม้ว่าระหว่างทางเดินเราอาจจะเจ็บปวดในอันที่จะต้องพบกับความสูญเสียอะไรไปบ้าง แต่ว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจะได้มา มันก็คุ้มกันแล้วไม่ใช่หรือ

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (ตอนบ้านเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์)

ถึงวันนี้วันที่ 14 เมษายน 2552 ผู้เขียนยังไม่ได้ post เรื่องเล่าเที่ยวลาวตอน 10 ทั้งๆ ที่เขียนค้างไว้เยอะพอสมควร เพราะไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะทำอะไรได้ เป็นเพราะว่าเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองจากกลุ่มโจรกบฏใส่เสื้อสีแดงที่อ้างว่าเป็นคนไทยภายใต้การนำของซาตานในคราบนักบุญที่ร่อนเร่พเนจรอยู่นอกประเทศ

ตัวผู้เขียนเองเริ่มมีอาการเครียดจากเหตุการณ์การก่อการจราจลของกลุ่มกบฏนี้ตั้งแต่วันพฤหัสที่ 9 แล้ว เนื่องจากว่ามีกลุ่มทาสที่ไม่ยอมปลดปล่อยตัวเองที่เป็นแท็กซี่มาปิดการจราจรที่แยกดินแดงใกล้กับสถานที่ทำงาน รวมไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันนั้นต้องรีบกลับบ้านตั้งแต่ยังไม่สี่โมง โดยต้องใช้เส้นทางอื่นที่ไกลออกไปลิบเลย เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่เป็นอัมพาตของเย็นนั้น กว่าจะถึงบ้านก็เย็นย่ำค่ำมืด

พออีกสองวันต่อมา อารมณ์เริ่มพลุ่งพล่านอีกครั้งเมื่อมีอดีตนักร้องฉายานักร้องอมฮอลล์ (ที่จริงน่าจะอมอวัยวะเบื้องต่ำถึงจะเหมาะสมกับสปีชีส์)ที่เป็นแกนนำ นำพวกพ้องเขาไปก่อการที่พัทยาจนทำให้การประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้มพังพาบอย่างไม่เป็นท่า เป็นที่อับอายขายขี้หน้าเขาไปทั่วโลก ความน่าเชื่อถือของประเทศในเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยผู้นำในสายตาชาวโลกตกต่ำสุดสุด ความเสียหายทางด้านมูลค่าของเงินมากมายมหาศาลยิ่งกว่าตอนพันธมิตรไปชุมนุมที่สุวรรณภูมิซะอีก

ไหนจะเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่กลุ่มโจรเหล่านี้ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ที่กระทรวงมหาดไทยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศพรก. สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในวันต่อมา มันเหมือนกับว่าตัวเองอยู่ในประเทศอะไรสักประเทศ ที่ไม่ใช่เมืองไทยประเทศที่มีความสงบสุขมาโดยตลอดในช่วงก่อนหน้าที่ทรราชกบฏหน้าเหลี่ยมจะมาเสวยอำนาจ ในวันนั้นนั่งดูทีวีกับแม่ ดูรายงานข่าวที่โจรกลุ่มนี้ไล่ล่าทำร้ายนายกรัฐมนตรีและกลุ่มบุคคลสำคัญ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่มีความเห็นต่างด้านการเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ไม่รู้จักเหตุและผล พร้อมที่จะทำร้ายหรือสังหารคนอื่นได้เป็นเพียงเพราะว่าคนอื่นเห็นต่างจากตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีเหตุผลมาหักล้างข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายเลยต้องใช้กำลังเป็นเครื่องมือ เห็นแม่มีสีหน้าเศร้าสร้อยเพราะแม่เขาชอบนายกรัฐมนตรี แล้วรู้สึกหดหู่ เพราะเขาคงสงสารนายกรัฐมนตรี แม่หันมาพูดกับผู้เขียนด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า "สงสารอภิสิทธิ์นะ ทำไมคนดีต้องโดนทำร้ายอย่างนี้"

คืนนั้นหลังจากที่หัวสมองอัดแน่นด้วยข้อมูลข่าวสารจากนักวิเคราะห์หลายท่านที่มีความเห็นตรงกันว่าจะเกิดการปฏิวัติแน่ในคืนนั้น หลังจากที่นายกรัฐมนตรีแสดงอาการเพลี่ยงพล้ำให้แก่โจรกบฏหน้าเหลี่ยม ที่น่าตกใจคือนักวิเคราะห์บอกว่าจะเป็นการปฏิวัติของกลุ่มคนที่สนับสนุนโจรหน้าเหลี่ยม ซึ่งถ้าหากการปฏิวัติสำเร็จบ้านเมืองเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันเลยทีเดียว เราอาจจะไม่มีสถาบันที่เราเคารพนับถืออีกต่อไป ได้รับรู้ข้อมูลเหล่านั้นแล้วรู้สึกตัวว่าเครียดมาก น้ำตาไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัวเมื่อจินตนาการถึงภาพอนาคตหากเหตุการณ์เช่นนั้นเป็นจริงขึ้นมา แต่อย่างไรเสีย ก็บอกกับตนเองว่าไม่มีทางที่จะยอมให้มันเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ หรอก เพราะเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนพสกนิกรอีกหลายล้านคนที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ผู้ที่ทรงงานหนักมาตลอดในระยะเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา พอมาถึงตรงนี้แล้วก็นึกถึงบทความของคุณวิโรจน์ งามแม้น หรือใช้ชื่อนามปากกาว่า "เปลว สีเงิน" ในคอลัมน์คนปลายซอยในหนังสือพิมพ์ "ไทยโพสต์" เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ในหัวข้อเรื่อง อัตประวัติบัดซบ"ทักษิณแม่ทัพแดง" เปลว สีเงิน เปรียบเทียบโจรหน้าเหลี่ยมว่าเป็น "ไพร่ตะกายวอ" มองเห็นภาพเลย ลองอ่านดูมั้ย
http://www.thaipost.net/news/260309/2298

ผู้เขียนคงไม่ต้องเขียนบรรยายสรรพคุณของจอมโจรหน้าเหลี่ยมตนนี้รวมไปถึงญาติโคตรวงศ์ของจอมโจรในเรื่องของความเหิมเกริมคิดจะตีเสมอเจ้า เพราะเปลว สีเงิน ได้เปลือยธาตุแท้ของหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งรวมไปถึงหมาขี้เรื้อนร่วมครอกเดียวกันกับมันที่ได้อาศัยใบบุญจากเจ้าของบ้านที่มีความเมตตาให้น้ำข้าวมันกินอยู่ทุกวี่วัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งมันก็จะไล่เจ้าของบ้านเพื่อจะได้กินทุกอย่างที่ในบ้านนี้อย่างอิสระเสรี

วันรุ่งขึ้นยิ่งมีความหดหู่ใจมากขึ้นไปอีก ที่กลุ่มโจรเสื้อแดงแยกกันไปเผาบ้านเผาเมืองตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ แต่ในสิ่งเลวร้ายที่สุดมันก็ยังมีสิ่งดีเกิดขึ้น ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็ขอขอบคุณจอมโจรหน้าเหลี่ยมกับแก็งค์โจรของเขาด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสามัคคีของประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของกบฏเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในย่านดินแดง ถนนเพชรบุรี แยกยมราช ตลาดนางเลิ้ง เพื่อเป็นการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมเอาอย่างจากปรากฏการไล่โจรเสื้อแดงครั้งแรกที่สาธรนั่นเอง ทำให้เราเห็นว่าหากคนในชาติมีความสามัคคีเราก็สามารถจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ร้ายได้เสมอ

บทสรุปของเหตุการณ์ครั้งนี้มันยังไม่ใช่บทสรุปส่งท้าย เพราะทรราชกับเครือข่ายยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ จะต้องมีสงครามในยกต่อไป จะยังไงก็ตามอยากจะเห็นประชาชนคนไทย รวมทั้งเพื่อนฝูง คนรู้จักที่ใกล้ชิดของผู้เขียนที่ท่านเคยบอกว่าขอทำตัวเป็นกลาง หรือประเภทที่ชอบพูดว่า "บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว" ตัดสินใจได้แล้วว่าท่านจะเลือกอยู่ข้างใด ไม่ใช่สีแดง หรือสีเหลือง แต่เป็นการเลือกข้างของความดีและความเลว ท่านๆ ทั้งหลายที่มีวิจารณญาณ คงเห็นแล้วว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ได้บอกอะไรแก่ท่านบ้าง แล้วท่านล่ะจะมีส่วนช่วยทำให้บ้านเมืองเราดำเนินไปในทิศทางที่ดีต่อไปได้อย่างไร อย่าคิดถึงแต่ตัวเองมากเสียจนลืมชาติบ้านเมือง หากสิ้นชาติเสียแล้วแล้วตัวท่านจะสุขได้อย่างไร ลองหาหนังสือ "บันทึกของแอนแฟรงค์" มาอ่านซะบ้าง พฤติกรรมของฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขา ถ้าเทียบไปแล้วไม่ติดฝุ่นพฤติกรรมของทรราชหน้าเหลี่ยมตนนี้เลย อย่าให้ทุกอย่างมันสายเกินการณ์ แล้วจะมาบ่นว่า "รู้อย่างนี้ เป็นยังโง้น ทำยังงี้ ก็ดี"

สำหรับครั้งนี้ผู้เขียนอยากจะบอกว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" ผู้เขียนคิดว่าท่านนายกแก้ไขเหตุการณ์วิกฤตได้ดีมากๆ วุฒิภาวะของท่านมีมากเกินวัยของท่าน ผู้เขียนเองอยากจะให้กำลังใจท่านนายกอภิสิทธิ์ ให้ท่านนายกได้มีกำลังใจต่อสู้และทำงานให้กับชาติบ้านเมืองต่อไป ประเทศไทยไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีที่ดีอย่างนี้มานานแล้ว (อันนี้สำนวนของพีปอง อัญชลี ชอบมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย) ถ้าจะสังเกตผู้เขียนเรียกว่า "ท่านนายก" ซึ่งเป็นการเรียกที่มาจากใจที่เคารพนับถือในความดีงาม มิใช่เป็นการเรียกตามแบบพิธีการทั่วไปที่ผู้เขียนในฐานะข้าราชการจำเป็นต้องเรียกข้าราชการฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งข้าราชการพลเรือนระดับสูงส่วนใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นคุณวุฒิ ชาติวุฒิ รวมทั้งระดับจริยธรรม ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จึงมีผลทำให้บ้านเมืองเราติดหล่มไม่ไปไหนอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

หวังว่าตื่นเช้าขึ้นมาในเช้าต่อๆ ไป เราคงไม่อยากเห็นภาพเหล่านี้








อย่าลืมว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ที่เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จบลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องของธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ตราบใดที่ท่านนายกอภิสิทธิ์รักษาความดีงาม ความถูกต้อง ความมีวุฒิภาวะได้อย่างนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่ยึดมั่นในความดี ความถูกต้อง ก็จะสนับสนุนท่านต่อไป