วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (รำลึกถึงพระคุณของครู)

เมื่อวานนี้ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในกทม. เพราะว่ามีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลกอย่างกระทันหัน เนื่องจากทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณครูที่ผู้เขียนเคารพนับถือสมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.)

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) Christopher Lloyd Conley คือครูผู้นั้น



คริสโตเฟอร์ หรือที่พวกเรานิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์ มน. เรียกติดปากว่า "อาจารย์คริส" เป็นชายร่างเล็กชาวอเมริกันที่มีถิ่นเกิด ณ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อคริสโตเฟอร์มีอายุได้ประมาณ 23 ปี เขาเดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับวุฒิการศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครอเมริกันในการส่งเสริมเรื่องสันติภาพในภูมิภาค เนื่องจากในช่วงระยะเวลานั้นโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างความคิดทางการปกครองสองแบบคือ ประชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์ คริสโตเฟอร์ทำงานในฐานะอาสาสมัครส่งเสริมสันติภาพในจังหวัดอุดรธานีระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางมาจังหวัดพิษณุโลกเพื่อเริ่มต้นชีวิตของความเป็นครู อาชีพเรือจ้างที่เขาได้ปฏิบัติมาอย่างดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

คริสโตเฟอร์เริ่มต้นชีวิตของความเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาวิทยาเขตพิษณุโลก จนกระทั่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้ยกวิทยฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก" และ "มหาวิทยาลันนเรศวร" มาตามลำดับ

ชีวิตการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ของผู้เขียนเป็นช่วงปี พ.ศ.2531-2535 (รหัสรุ่น 31) ตอนแรกเริ่มนั้นผู้เขียนเอ็นทรานซ์ติดเอกภาษาไทย ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (ซึ่งต่อมาตอนผู้เขียนอยู่ปีสองจึงได้ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร) ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตนิสิตปีหนึ่งนั้น การเรียนของผู้เขียนไม่ค่อยดีนักกับวิชาเอกที่ตัวเองเลือกมาคือภาษาไทย เช่น ในเรื่องการเรียนรู้วิชาหลักภาษา บาลี สันสกฤต อะไรยังเงี้ย ในขณะที่ทำคะแนนในวิชาภาษาอังกฤษได้ดี อาจจะเป็นเพราะว่าตอนก่อนสอบเอนทรานซ์ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร พอมารู้จริงๆ ว่าชอบภาษาอังกฤษก็ตอนอยู่ปีหนึ่งแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าทู่ซี้เรียนต่อไปอาจโดนรีไทร์แน่ ก็เลยคิดที่จะขอเปลี่ยนวิชาเอกเป็นภาษาอังกฤษ ในตอนนั้นผู้ที่มีบทบาทมากในการตัดสินใจของผู้เขียนก็คือพี่รหัสที่ให้คำแนะนำที่ดีมาก โดยพี่รหัสแนะนำให้ไปปรึกษากับ อ. คริส ที่เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตกและมีอำนาจในการตัดสินใจในตอนนั้น

ตอนนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่คุณครูผู้นี้มีบทบาทสำหรับอนาคตทางการศึกษาของผู้เขียน ผู้เขียนได้นำความคับข้องใจของชีวิตการเรียนไปปรึกษา อ. คริส และแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนวิชาเอกจากภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนอื่นต้องขอเล่าอุปนิสัยของ อ. คริส ก่อนว่าเป็นคนปากร้าย และก็ชอบมีกิริยากวนอารมณ์นิสิตเป็นประจำ แต่พวกเราก็รู้ว่าในก้นบึ้งจิตใจของ อ. นั้นหวังดีและมีความเมตตาต่อลูกศิษย์

"ถ้งงั้นเทอมหน้าคุณต้องลงวิชาบังคับภาษาอังกฤษเพิ่มอีกสองสามตัว แล้วต้องได้เกรด B ขี้นไป ว่าแต่จะทำได้รื้อ" อ. คริสบอกผู้เขียนแถมคำปรามาสหน่อยๆ ตามสไตล์ของแกด้วยภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ

ก็เป็นอันว่าผู้เขียนได้รับโอกาสในการที่จะทำผลงานให้เป็นที่เข้าตาอาจารย์ผู้นี้ก่อนที่จะได้รับฉันทานุมัติให้เปลี่ยนวิชาเอกได้ ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าในเทอมต่อมาเป็นช่วงชีวิตการเรียนที่หนักมากของผู้เขียน เพราะต้องตามเก็บวิชาบังคับของเอกภาษาอังกฤษให้ครบตามเพื่อนร่วมชั้นปีคนอื่นๆ ที่เรียนอยู่เอกอังกฤษ และในบางวิชาที่มีการสอบเก็บคะแนนย่อยรายอาทิตย์ ผลการสอบและการจัดอันดับของบรรดานิสิตที่ลงเรียนวิชานั้นจะมีการติดประกาศให้สาธารณชนรับทราบให้เป็นเกียรติเป็นศรีสำหรับผู้ที่ทำคะแนนได้ดี และเป็นที่ดูเหมือนแย่สำหรับผู้ที่ได้คะแนนรั้งท้าย ซึ่งจากผู้เข้าเรียนทั้งหมดเกือบร้อยคนในวิชานั้น ผู้เขียนมีชื่อติดบอร์ดอยู่ในลำดับแรกสุด และก็อาจเป็นอุปนิสัยของเด็กๆ ที่พอเห็นผลงานที่ดีของตนเอง ก็อดไม่ได้ที่อยากจะบอกเล่าให้คนที่กำลังรอดูผลงานของเราอยู่ เมื่อมีโอกาสพบปะ อ. คริส ผู้เขียนจึงได้รายงานผลการศึกษาทันที

"ทำดีมาก แต่ผมว่านะ อาทิตย์หน้าคะแนนก็ร่วงแล้ว" อ. คริส ตอบกลับทันทีที่ผู้เขียนรายงานผลการเรียนให้ทราบตามสไตล์ความเป็นคนกวนอารมณ์ แต่สีหน้าของ อ. ไม่ได้เป็นอย่างคำพูด สีหน้าที่มองมายังผู้เขียนยิ้มละไม ดูลึกเข้าไปในดวงตาเห็นถึงความเมตตาต่อศิษย์อยู่ข้างในนั้น

ผลการศึกษาของเทอมนั้นออกมาเป็นที่เกินความคาดหมาย โดยผู้เขียนได้เกรดที่มากกว่า B จึงเป็นอันว่าผู้เขียนสามารถเข้าเรียนในวิชาเอกภาษาอังกฤษได้สมความตั้งใจ

ในช่วง 4 ปี ที่เรียนกับ อ. นั้นพวกเราเห็นว่า อ. คริส ช่างเป็น อ . ที่จู้จี้จุกจิก เคร่งครัดเรื่องความสะอาดเรียบร้อยและความตรงต่อเวลาในการส่งการบ้าน และในขณะที่เราเรียนในชั่วโมงของ อ. หากใครคุยหรือทำกิริยาอะไรที่ไม่เหมาะสมแม้สักนิด จะโดนดุทันที มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ดีในเรื่องกิริยามารยาทระหว่างเรียน ในขณะที่ อ. กำลังสอนอยู่ พวกเราก็ก้มหน้าดูเนื้อหาที่ อ. กำลังสอนในหนังสือ สักพักก็รู้สึกว่า อ. เงียบเสียงไป ก็เงยหน้าขึ้นไปดูหน้าห้อง เห็น อ. เดินงุดๆ มาตรงแถวโต๊ะเรียนของพวกเรา สักพักความเป็นคนเจ้าระเบียบก็สำแดงออกมาด้วยการที่ อ. เตะรองเท้าของเพื่อนผู้หญิงเราคนหนึ่งออกไปหน้าห้อง พร้อมทั้งพูดเสียงดังด้วยภาษาไทยสำเนียงชาวต่างชาติว่า

"ในนี้เป็นห้องเรียน คุณถอดรองเท้าและแกว่งเท้าเปล่าเล่นทำไม ไม่เรียบร้อยเลย" ภายหลังเราจึงรู้มาว่าเพื่อนคนนั้นทำกิริยาอย่างนั้นจริงๆ อาจจะเป็นความเคยชินและเห็นสบายเท้าดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่ อ. กำลังสอนพวกเราอยู่ ไม่เฉพาะแต่วิชาการความรู้เท่านั้น แต่วิชาการใช้ชีวิตในสังคมด้วย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อพวกเรามาก

หลังจากจบการศึกษาไปได้ไม่กี่ปี ผู้เขียนก็มารับทราบว่า อ. คริส ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกไตอยู่เป็นประจำ ซึ่งจากอาการป่วยนี้เองทำให้ อ. ซึ่งจากเดิมที่ดูอ้วนท้วนสมบูรณ์กลับกลายเป็นชายวัยกลางคนที่ซูบผอม (ภาพข้างบนนั้นเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต อ. แล้ว สังเกตได้ว่าที่ข้อพับแขนซ้าย อ. มีผ้าพันแผลปิดอยู่ ซึ่งเกิดจากการรักษาและการฟอกไต) แต่อย่างไรก็ตามวิญญาณของความเป็นครูนั้นไม่ได้เหือดแห้งไปจากใจของชายชาวต่างชาติผู้นี้แลย เมื่อเสร็จจากการฟอกไตแล้ว ก็ใช่ว่าจะได้พักผ่อน แต่ว่าต้องกลับมาทำหน้าที่ครูเพื่อสอนลูกศิษย์ ลูกหา ต่อไป คุณงามความดีของ อ. คริส ข้อนี้ รวมไปถึงความทุ่มเทที่มีให้กับ มน. มาอย่างยาวนานทำให้ในปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ อ. ดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ (พิเศษ)

ชีวิตเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ และแล้วในวันที่ 25 เมษายน 2552 ขณะที่ อ. เข้ารับการฟอกไตที่โรงพยาบาลพุทธชินราช อ. เกิดอาการช็อคและมีความดันต่ำ แพทย์ไม่สามารถช่วยยื้อชีวิตของ อ. ท่านนี้ไว้ได้ อ. คริสจึงได้จากไปด้วยวัย 60 ปี 4 เดือน 8 วัน

ก่อนหน้านั้น อ. ทราบถึงชะตากรรมตนเองเป็นอย่างดี จึงได้เขียนพินัยกรรมไว้ด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษ และฝากบอก อ. ร่วมวิชาชีพว่าได้เก็บพินัยกรรมไว้ที่ใด เมื่อ อ. คริสถึงแก่กรรมแล้ว เพื่อนๆ อ. จึงได้ดำเนินการตามความประสงค์ของ อ. คริส ที่ได้เขียนไว้ในพินัยกรรม และเนื่องจากว่า อ. ไม่ได้แต่งงาน และไม่เคยกลับไปที่สหรัฐอเมริกาอีกเลย ประกอบกับน้องชายได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีญาติของ อ.มาเข้าร่วมพิธีศพ ที่จะมีมาร่วมก็ได้แก่ บุคลากรและอาจารย์จากคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยการจัดงานศพของ อ. คริส ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เป็นเจ้าภาพจัดงานให้ อ. อย่างสมเกียรติและสมกับความทุ่มเทของ อ. คริสที่มีให้กับมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน

มหาวิทยาลัยได้จัดงานศพตามความประสงค์ของ อ. คริส ทุกอย่าง ที่ท่านต้องการให้จัดงานแบบพุทธศาสนา ด้วยการจัดงานสวดศพที่วัดจุฬามณี และให้บรรจุศพของท่านในโลงเย็นประดับโลงศพด้วยดอกเบญจมาศ และเมื่อฌาปนกิจศพท่านแล้ว ขอให้ลอยอังคารของท่านในแม่น้ำน่านที่หน้าวัดใหญ่หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพุทธชินราชต่อไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นสิ่งบอกถึงความรักความผูกพันของชายชาวต่างชาติคนหนึ่งที่มีต่อเมืองไทย โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองที่ท่านได้ใช้เป็นสถานที่ในการผลิตบัณฑิตรุ่นแล้ว รุ่นเล่า และเป็นเมืองที่ท่านใช้ชีวิตจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย

ผู้เขียนมีความซาบซึ้งใจกับคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งที่มีผู้แทนคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้อ่านก่อนจะมีการวางดอกไม้จันทน์ โดยคำประกาศตอนนั้นระบุว่า "ถึงแม้ อ. คริสจะมีชาติกำเนิดเป็นชาวสหรัฐอเมริกา และอเมริกาคือบ้านเกิดของท่าน แต่เมืองนอนที่เป็นที่รักของท่าน และท่านได้ใช้ชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตคือประเทศไทย"





ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งที่มีอาชีพการงานที่ดีและมั่นคงอยู่ได้ในขณะนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จของชีวิตหลังจบการศึกษานั้นมาจากความเมตตากรุณาของ อ. ชาวอเมริกันท่านนี้ ดังนั้นการแสดงถึงความกตัญญูต่อ อ. ผู้มีพระคุณ จึงเป็นสิ่งที่วิญญูชนควรพึงกระทำ ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจของท่านเมื่อเย็นวันวาน และระหว่างที่ขึ้นไปเคารพศพและวางดอกไม้จันทน์ ผู้เขียนได้อธิษฐานให้วิญญาณของท่านจงไปสู่สัมปรายภพ และจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำตลอดชั่วชีวิตด้วยความเป็นครู ผู้เขียนเชื่อว่าท่านจะมีแดนกำเนิดในชีวิตหน้าที่ดีแน่นอน

ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาบางส่วนจาก http://www.husonu.com

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

คิดถึง อ.คริส เช่นกันครับ พอจะมีรวมรูป อ.คริส ให้ได้เก็บไว้เป็นความทรงจำบ้างไหมครับ อยากได้ครับ ติดต่อที่อีเมล์ tubtimtae@gmail.com ขอบคุณครับ