จริงๆ แล้วผู้เขียนเองต้องออกจากสนามบินเพียร์สันไม่น่าเกินสี่ทุ่มครึ่ง แต่เป็นเพราะว่าสัมภาระของเรามันไม่มาด้วย รอแล้วรอเล่าที่สายพานรับกระเป๋าจนใครๆ ที่มาเที่ยวบินเดียวกันเขาออกไปจนหมดแล้ว ก็ไม่เห็นของเรา มองซ้าย ขวา หน้า หลัง ไม่เห็นมีป้าย baggage claim ที่ไหนเลย เลยต้องจำใจเดินผ่านด่านศุลกากรออกไป เพื่อตรงไปประตูทางออกสนามบิน เพราะเกรงว่าคนที่มารอรับจะรอนาน
ออกไปก็เห็นชายชาวแคนาเดียนสองคนในวัยไม่หนุ่มและไม่แก่ ยืนทำหน้าตาละห้อย มีคนหนึ่งถือป้าย "Georgian College" "อืม สองคนนี้แน่แล้วที่มารอรับเรา" ผู้เขียนนึกในใจ
"Hello my name is สุรีย์พร from Thailand. I'm so sorry to keep you waiting for so long.
Hi, I'm Steve Litchy and this is my friend, Mac Greaves from Georgian College. Nice to meet you. "Where're the others?" ชายที่แนะนำตัวว่าชื่อ Steve ถามถึงเพื่อนร่วมคณะคนอื่นๆ ที่ควรจะมาถึงด้วยกัน
"They're in Los Angeles at the moment 'cuz there was no seats in this flight available. I think there's something wrong with our check-in process in Bangkok. But anyway, don't worry they're supposed to be here tomorrow, same time, same flight as mine" ผู้เขียนขยายความให้ Steve เข้าใจถึงเหตุผลที่คนอื่นๆ ไม่สามารถเดินทางมาพร้อมกันกับผู้เขียนได้ แต่ก็ยืนยันไปว่าพรุ่งนี้พวกเขาเหล่านั้นจะเดินทางมาแน่ๆ
"Where's the luggage?" Steve ถามถึงกระเป๋าสัมภาระของผู้เขียน
"I don't know, It took me so long to find my baggages inside. Unfortunately, they're gone.
"Don't worry, it's kind of usual thing in here. Tommorrow I'm pretty sure that your luggage will be here" อะไรนะเป็นเหตุการณ์ปกติของที่นี่รึที่กระเป๋ามันอันตรธานหายไปน่ะ ผู้เขียนนึกในใจหลังจาก Steve บอกว่าเหตุการณ์เช่นนี้ค่อนข้างธรรมดา ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แล้วถ้าเกิดมันไม่มาล่ะ ฉันจะเอาเสื้อผ้าที่ไหนใส่ และข้าวของเครื่องใช้ที่ pack มาในกระเป๋าอีกล่ะ นี่มาอยู่เป็นปีนะ ไม่ใช่สองวัน ผู้เขียนได้แต่พูดประโยคเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่สีหน้าคงบ่งบอกถึงความกังวล ทำให้ Steve เห็น เขาก็เลยส่งยิ้มเย็นๆ ให้ผู้เขียน พร้อมชวนให้ออกจากสนามบินเพื่อไปที่พักก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาตามหากระเป๋าพร้อมกับมารับคณะที่ตกค้างที่มาจากลอสแองเจลลิสด้วย
ตลอดการสนทนากับ Steve ที่สนามบิน ผู้มารับอีกคนหนึ่งที่ชื่อ Mac Greaves ไม่ได้พูดอะไรและไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ได้แต่ยิ้ม
"คนชื่อ Mac Greaves พูดภาษาอังกฤษได้รึเปล่าเนี่ย" ผู้เขียนนึกแบบขำๆ ในใจ
"สวัสดีคร๊าบ" อยู่ๆ Mac Greaves ก็ส่งเสียงประโยคทักทายแรกออกมาเป็นภาษาไทย "เฮ้ยพูดไทยได้" ผู้เขียนนึกอยู่ในใจแบบแปลกใจหน่อยๆ
ผู้เขียนเลยส่งภาษาไทยตอบกลับไปว่าพูดไทยได้หรืออะไรประมาณนั้น ผลที่ได้คือ Mac ทำหน้างง แล้วบอกผู้เขียนว่าพูดไทยได้แค่สวัสดีเท่านั้นแหละ อย่างอื่น บ่ฮู้ บ่หัน
ชายไม่หนุ่มไม่แก่สองคนนั้นนำผู้เขียนไปขึ้นรถเก๋งกลางเก่ากลางใหม่คันหนึ่ง เพื่อพาผู้เขียนไปเมือง Barrie ซึ่งมีระยะทางห่างจาก Toronto ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร ดูตามแผนที่ข้างล่างทั้ง Toronto และ Barrie อยู่ในมณฑล Ontario ซึ่งเป็นแถบสีเหลืองมีเนื้อที่กว้างใหญ่มาก
โดย Ontario จัดว่าเป็นมณฑลที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นลำดับที่สอง รองจากมณฑล Quebec แต่ถ้านับจำนวนประชากรแล้ว Ontario เป็นอันดับหนึ่งของแคนาดาในแง่ของความหนาแน่นของประชากร และเป็นแหล่งธุรกิจการค้าที่สำคัญที่สุด เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะเล่าเลยไปถึงข้อมูลภูมิศาสตร์เชิงการปกครองของแคนาดาเสียหน่อย
แคนาดานั้นเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่มีควีนเอลิซาเบธของอังกฤษเป็นประมุข ดังนั้นแคนาดาจึงถือว่าเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ หรือ Commonwealth แคนาดาแบ่งการปกครองออกเป็น 10 มณฑล และ 3 เขตอาณา หรือภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า 10 provinces and 3 territories ที่เราๆ พอจะคุ้นชื่อก็คือ Ontario Province, Quebec Province, Nova Scotia Province อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นผู้เขียนจึงรู้สึกขัดอกขัดใจเวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังข่าวเวลาผู้ประกาศข่าวแปลความหมาย province ในการแบ่งการปกครองของประเทศแคนาดาว่า เป็น "จังหวัด" ซึ่งแปลตรงแบบการปกครองของบ้านเรา ซึ่งมันไม่ครือเลย province ของแคนาดานั้นเทียบเท่า state หรือมลรัฐของอเมริกานั่นเลย เพียงแต่ว่าสองประเทศนี้การปกครองเขาต่างกัน ดังนั้นการเรียกชื่อจึงต่างกัน
ทีนี้เมื่อเขาแบ่งการปกครองเป็นมณฑล หรือ provinces แล้ว แต่ละ province เขาก็จะมีเมืองหลวงของแต่ละ province อย่าง Ontario นี้ เมืองหลวงคือ Toronto แต่ Toronto ก็ไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศแคนาดา เมืองหลวงของประเทศคือ Ottawa ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใน Ontario เหมือนกัน
ดังนั้นการปกครองของแคนาดาก็จะเริ่มตั้งแต่ระดับประเทศที่มีรัฐบาลกลางปกครอง (Central Government) มี Ottawa เป็นเมืองหลวง จากนั้นระดับถัดลงมาคือการแบ่งการปกครองแบบท้องถิ่นระดับมณฑลหรือ province รองลงมาคือ County ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่ายังไงแต่ County นี้เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งรวมเมืองเล็กเมืองน้อยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันให้รวมเป็น County เดียวกัน เพื่อให้สะดวกแก่การให้บริการของทางราชการด้านสังคมและสุขภาพ สำหรับเมือง Barrie สมัยที่ผู้เขียนไปอยู่ยังสังกัดใน Simcoe County แต่ต่อมาแยกเป็นอิสระเนื่องจากมีขนาดของประชากรหนาแน่นขึ้น
เล่ามาซะยาวเชียว มาเข้าเรื่องที่เล่าค้างต่อดีกว่า จากการที่นั่งมาในรถกับผู้ชายสองคนท่ามกลางความมืดมิด ในประเทศที่เราเคยมาครั้งแรก ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ทำให้รู้สึกกังวล
"เฮ้อ จะไว้ใจได้เปล่าเนี่ย และเกิดเอาเราไปปล่อยไหนจะทำไงเนี่ย แถมหน้าตาดียังงี้ด้วย :)" ผู้เขียนนึกในใจ เพราะไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้
และเหมือนสองคนนั้นจะรู้สึกถึงความนึกคิดของผู้เขียน เขาสองคนเลยชวนผู้เขียนคุยระหว่างทางที่เรานั่งรถไป Barrie เพื่อสร้างความเป็นกันเอง โดยคนที่คุยมากที่สุดคือ Mac เพราะ Steve ทำหน้าที่เป็นสารถี
"You have a short name, don't you?" Mac เริ่มคุยอย่างเป็นกันเองโดยเริ่มถามว่าผู้เขียนมีชื่ออื่นที่เรียกง่ายกว่าชื่อจริงไม๊
"yes, you can call me Mac" อะฮ้า เป็นไงเล่า เราก็ชื่อเดียวกันน่ะละ
Mac ฝรั่งทำหน้างงๆ ก่อนที่จะอุทานว่า "You're also Mac!" "Mac what MacDonald's or somewhat different? โอยจะอยากรู้ไปทำไมว่าชื่อฉันมีอะไรต่อท้ายเนี่ย และแมคโดนัลด์จะเป็นไปได้ยังไง ตอนสมัยฉันเกิดน่ะเมืองไทยยังไม่มีหรอก แมคโดนัลด์ หรือแมคโดนัทอะไรอ่ะ
"Well...it's kind of long story. Anyhow, I'll tell you later on. ผู้เขียนพูดปัดๆ ไปว่าจะเล่าที่มาของชื่อเล่นผู้เขียนให้ฟังทีหลัง เพราะมันเรื่องยาวจริงๆ นะ กว่าจะเล่าจบทั้งคนเล่า คนฟังคงหลับกันไปก่อนแล้วมั้ง
เราสามคนมาถึง Barrie ในอีกชั่วโมงถัดมา Steve พารถของเขามาตามถนน Georgian Drive
Mac ฝรั่งชี้ชวนให้ผู้เขียนดูกลุ่มอาคารต่างๆ ที่เรียงรายอยู่อีกฟากถนน พร้อมทั้งกล่าวว่า นั่นคือ Georgian College
และถัดมาอีกฝั่งถนนคือ student residence
residence เป็นอาคารสูงหกชั้น (ไม่รวมใต้ดิน) มีทั้งหมดสามอาคารติดกัน ข้างๆ residence ไม่มีอาคารสูงใดๆ เลย
ดูๆ ไปท่ามกลางความมืดยังเงี้ย มันดูทะมึนๆ น่ากลัวยังไงไม่รู้ และยิ่งตอนที่ผู้เขียนไปยังไม่เปิดเรียน residence จึงยังคงว่างเปล่าไม่มีนักศึกษาอยู่เลยสักคน
Steve หันมาถามผู้เขียนว่า จะอยู่ได้ไม๊คนเดียวภายในอาคารแบบนี้ ถ้ากลัวไม่ปลอดภัยก็ไปพักที่บ้าน Mac ได้เพราะเขามีลูกสาวอยู่ที่บ้านสามคน ไม่ต้องกลัวหรือไม่สะดวกใจ
ผู้เขียนชั่งใจสักพัก เลยตอบ Steve ไปว่าขออยู่ที่ residence ดีกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้าแล้ว
ชายชาวแคนาเดียนสองคน เลยทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ผู้เขียนติดต่อกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน แล้วก็พากันกลับไป
ก็รู้สึกว่ากลัวเหมือนกัน ลองดูภาพ residence ข้างบน แล้วลองนึกดูว่าท่านต้องอยู่คนเดียวภายในอาคารสามหลังในช่วงเวลาตีสอง จะรู้สึกไงบ้าง นี่ดีนะว่าเรื่องราวอะไรที่น่ากลัวของ residence แห่งนี้มารู้เอาตอนหลังๆ ไม่งั้นละก็...ขนลุก อาจจะเพราะเหนื่อยจากการเดินทางมากว่า 20 ชั่วโมง ทำให้หลับไปได้ไม่ยากนัก แล้วจะทำอะไรยังไงต่อ ก็เป็นเรื่องของพรุ่งนี้เช้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น