ผู้เขียนเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ด้วยวัตถุประสงค์ของงานราชการ นอกเหนือจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติในห้องประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติอันเป็นความใฝ่ฝันของคนที่ทำงานด้านต่างประเทศแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนฝันอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ถ้ามีโอกาสได้ไปประเทศสวิส นั่นคือตามหาอดีตที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และครอบครัวของพระองค์ท่านที่เมืองโลซานน์
ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อสมัยเด็กๆ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่สมเด็จพระพี่นางฯ ได้นิพนธ์ขึ้นเรื่อง "แม่เล่าให้ฟัง" ที่ท่านบรรยายสภาพการดำรงพระชนมชีพของพระองค์ท่านเอง กับสมเด็จย่าและพระอนุชาอีกสองพระองค์ ซึ่งในการอ่านครั้งนั้นผู้เขียนก็อ่านเพื่อประเทืองปัญญา แล้วก็คิดว่าคงไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสเมืองที่ท่านทรงบรรยายถึงแต่อย่างใด แต่พอมาถึงคราวนี้ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศนี้เข้าจริงๆ ผู้เขียนต้องวางแผนการเดินทางเพื่อตามหาอดีตของราชสกุล "มหิดล" อย่างจ้าละหวั่นเนื่องจากมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก แต่โชคดีมากที่ในอินเตอร์เนตที่มีคนไทยแบบผู้เขียนได้บรรยายที่ตั้งทั้ง "แฟลตเลขที่ ๑๖" สมัยที่ทั้งสามพระองค์ยังทรงพระเยาว์ และที่ตั้งของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" ในตำบลปุยยี (Pully) เขตชานเมืองโลซานน์
ถ้าท่านที่เป็นแฟนประจำที่ติดตามอ่านบล็อกของผู้เขียนมาโดยตลอด จะสังเกตได้ว่าผู้เขียนนิยมชมชอบการเดินทางท่องเที่ยวแบบ backpack และเป็นการเดินทางที่ต้องเป็นขาลุยสักหน่อย ประเภทที่ต้องเดินเท้าตลอด ครั้งนี้ก็เหมือนกัน concept การท่องเที่ยวของผู้เขียนเหมือนเดิมทุกประการ ดังนั้นการที่จะชวนพี่ๆ ที่เขาเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยก็เห็นจะไม่เหมาะ ก็เลยต้องเดินทางเดี่ยวอีกครั้ง
ผู้เขียนใช้เวลาในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ที่ว่างเว้นจากการประชุมเป็นวันเดินทาง โดยเดินทางออกจากเจนีวาในเวลาประมาณ ๑๐ โมงเข้า ต้องขอสารภาพตามตรงว่าในช่วงนั้นผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" ที่ตั้งอยู่ถนน "Tissot" ใกล้กับสถานีรถไฟโลซานน์ได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่ตั้งของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" ที่อยู่ในชานเมืองโลซานน์ออกไป แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ยังไงก็ขอลองดูกันสักตั้ง
ผู้เขียนเลือกเดินทางด้วยรถไฟ IR ซึ่งเป็นรถไฟชั้นหนึ่งจากสถานีเจนีวา วิ่งตรงไปยังโลซานน์โดยไม่แวะจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีอื่น แต่ปรากฏว่าตั๋วที่ผู้เขียนซื้อเป็นตั๋วรถไฟชั้นสอง ก็เลยเป็นอันว่าต้องจ่ายค่ารถเพิ่มกับคนที่มาตรวจตั๋วบนรถไฟนั่นเอง ใช้เวลาประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟโลซานน์ ผู้เขียนใช้เวลาตั้งหลักอยู่ที่สถานีโลซานน์อยู่เป็นเวลาพอสมควร ศึกษาแผนที่ที่ได้มาจากการท่องเที่ยวเมืองโลซานน์ จนแน่ใจได้ว่า "ถนน Tissot" และ "Pully" อยู่ที่ใด ก็เดินทางออกจากสถานีรถไฟ โชคดีมากที่ "แฟลตเลขที่ ๑๖" อยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนั่นเอง โดยใช้เวลาเดินไม่ถึงสามสิบนาทีผู้เขียนก็ตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" พบ
สภาพของแฟลตดูแตกต่างไปจากที่พระพี่นางฯ ท่านทรงบรรยายไว้พอสมควร อันนี้อาจจะเป็นเพราะว่ากาลเวลาผ่านมาหกสิบเจ็ดสิบปีแล้ว เลยต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันไปบ้าง หลังจากถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวจนพอใจแล้ว ผู้เขียนก็นั่งรถเมล์สายแปดที่ป้ายรถเมล์หลัง "แฟลตเลขที่ ๑๖" เพื่อเดินทางออกไปชานเมืองโลซานน์คือที่ตำบล "ปุยยี" หรือ "Pully" ใช้เวลาเดินเลาะทะเลสาปเจนีวา หรือที่ชาวสวิสเขาเรียกว่า "Lac Lemon" นานพอสมควรกว่าจะตามหา "บ้านเลขที่ ๕๑ ถนน Chamblandes" ได้ พอไปถึงก็เห็นป้ายแขวนไว้หน้าบ้าน ซึ่งผิดแผกไปจากบ้านอื่นที่ไม่ได้แขวนป้ายอะไรไว้ ป้ายที่แขวนไว้หน้าบ้านเลขที่ ๕๑ เขียนไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสถึงแม้ว่าจะอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออกก็ตามที ผู้เขียนก็พอจะเดาความหมายได้เพราะใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ คงจะบอกเป็นทำเนาว่า "บ้านหลังนี้เป็นที่ส่วนตัว อย่าเข้ามาก่อนได้รับอนุญาต" อะไรทำนองนั้นละกระมัง ผู้อ่านท่านใดที่มีความเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสถ้าได้ดูภาพหลังจากนี้แล้ว จะเขียนมาบอกความหมายก็จะดีอย่างมาก ผู้เขียนเดาเอาว่าคงจะมีคนไทยที่ทำตัวแบบผู้เขียนจำนวนไม่น้อยที่ไปตามหาอดีตของ "วิลล่าวัฒนา" จนไปรบกวนชีวิตส่วนตัวของเจ้าบ้านคนใหม่ เขาก็เลยต้องแขวนป้ายแบบนั้นไว้
แค่ได้ตามหา "แฟลตเลขที่ ๑๖" และอดีตของ "ตำหนักวิลล่าวัฒนา" พบผู้เขียนก็มีความดีใจอย่างมากแล้ว ปรากฏได้เจอของแถมเมื่อตอนเดินลงมาจากถนน Chamblandes ที่ในแผนที่ระบุที่ตั้งของ "ศาลาไทย" ที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะใกล้ๆ โดยรัฐบาลไทยได้สร้างศาลาไทยนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ของในหลวงด้วย โดยสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงมาเปิดศาลาไทยนี้ด้วยพระองค์เองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนเดินทางจากเมืองโลซานน์กลับมาเจนีวาด้วยความอิ่มเอมใจ และในใจรู้สึกขอบคุณเมืองนี้เป็นอย่างมาก ที่เมืองโลซานน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นแหล่งบ่มเพาะในเรื่องของวิชาความรู้แด่พระมหากษัตริย์ของเราทั้งสองพระองค์ นอกจากนั้นผู้เขียนยังรู้สึกคิดถึงในหลวง คิดถึงสมเด็จย่า พระพี่นางฯ และผู้คนในอดีตที่เกี่ยวข้อง คิดถึงสิ่งดีๆ ที่ทุกพระองค์ทำเพื่อประเทศไทยและคนไทย ทุกสิ่งเริ่มต้นจากเมืองนี้นี่เอง
ขอบคุณโลซานน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น