กลับมาเล่าเรื่องที่ยังคงค้างต่อดีกว่า การท่องเที่ยวในลอนดอนของพวกเราคงไม่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป คือไปตามสถานที่สำคัญๆ ของลอนดอนไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารเซนต์พอลหรือเซนต์ปอลที่มองเห็นได้ชัดเจนจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเทมส์บริเวณสะพานมิลเลนเนียมซึ่่งใช้เฉพาะสำหรับคนเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ หรือจะเป็นการไปเที่ยวทาวเวอร์ออฟลอนดอน หรือชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ Her Majesty's Royal Palace and Fortress ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๐ ก็เก่าแก่ประมาณเกือบพันปี ดังนัั้นจึงมีเสียงเล่าลือถึงเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงสิงสถิตย์อยู่ ที่เด่นๆ เห็นจะเป็นวิญญาณของพระนางแอน โบลีน (Queen Anne Boleyn)ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๓๖ ที่ Tower of London แห่งนี้ ด้วยข้อหาทรยศต่อพระสวามีของนางคือกษัตริย์เฮนรีที่แปด
โดยมีผู้อ้างว่าเห็นวิญญาณของพระนางเดินหิ้วศีรษะบริเวณ White Tower อยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามพระนางแอน โบลีน ได้ทิ้งมรดกตกทอดที่เป็นคุณูปการแก่สังคมอังกฤษในยุคศตวรรษที่สิบหกและก็อาจเป็นมรดกตกทอดที่มีคุณค่าให้แก่สังคมและคนอังกฤษในรุ่นปัจจุบันนั่นก็คือพระธิดาองค์เดียวของพระนางที่ชื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๑ (Queen Elizabeth I)แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ โดยตลอดรัชสมัยซึ่งเป็นเวลากว่าสี่สิบห้าปีของการครองราชสมบัติของพระองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดประกอบกับขุนนางและที่ปรึกษาที่แวดล้อมพระนางเป็นคนเก่ง จึงทำให้สังคมอังกฤษในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวรรณกรรม งานเขียนต่างๆ โดยกวีเอกเก่งๆ ในยุคของพระนางที่เรารู้จักกันดีคือวิลเลียม เชคสเปียร์ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ เป็นต้น นอกจากนี้อังกฤษในยุคสมัยที่เรียกว่า Elizabethan era ก็ยังรุ่งเรืองในแง่ของการเมืองการปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือ โดยมีนักเดินเรือที่สำคัญของยุคสมัยคือ Sir Francis Drake ที่ให้บังเอิญว่ากลุ่มของเราได้เดินไปพบเรือจำลองชื่อ Golden Hind ที่ตั้งแสดงอยู่แถวริมแม่น้ำเทมส์ของท่านเซอร์คนนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเข้าพอดี(เพิ่งจะเห็นข้อดีของทัวร์แบบขาลากๆ นี้ก็เที่ยวนี้แหละ)
ถัดมาจาก Tower of London อีกนิด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญการเดินทางแบบขาลากๆ เดินลัดเลาะมาสำรวจ Tower Bridge ที่เป็นสัญญลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งเวลาพูดถึงลอนดอน เราขึ้นไปชั้นสูงสุดเพื่อดูนิทรรศการที่เขาจัดให้ดู Tower Bridge ในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งการทำงานของสะพานเวลาที่ต้องเปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่าน (ในบ้านเราคือสะพานพุทธยอดฟ้าก็ใช้กลไกเดียวกันที่สามารถยกพื้นถนนของสะพานเปิดให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ โดยอังกฤษเป็นผู้ออกแบบสะพาน ปัจจุบันสะพานพุทธของเราไม่เปิดให้เรือใหญ่ผ่านแล้ว ในขณะที่ Tower Bride เปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านตกปีหนึ่งมากกว่าพันครั้ง)คนส่วนใหญ่มักจะจำสับสนโดยจะเรียก Tower Bridge เป็น London Bridge ที่จริง London Bridge เป็นสะพานอีกหนึ่งแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับ Tower Bridge ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำธรรมดาทั่วไป
ใช้เวลาเดินท่องเที่ยวในลอนดอนกับเมืองใกล้เคียงจนสมใจแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องบอกอำลาลอนดอนกับบ้านชั่วคราวของเราคือ YHA London Central ที่ Great Portland เสียที เพื่อจะเดินทางยังปารีสต่อไป
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลาบ่ายแก่ๆ บรรยากาศดูซืมๆ นิดหนึ่งเพราะฝนตกลงมาปรอยๆ ทำให้พวกเราทั้งแปดคนต้องเปลี่ยนแผนที่จะนั่งรถไฟใต้ดินมาที่สถานี St Pancras เป็นนั่งรถแท๊กซี่แทน เรามาถึงสถานี St Pancras ก่อนเวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเพราะถึงแม้ว่าเราจะเดินทางโดยรถไฟยูโรสตาร์แต่ก็เป็นการเดินทางข้ามประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของฝรั่งเศสให้เสร็จสิ้นที่สถานี St Pancras แห่งนี้เลย และเมื่อเดินทางถึงปารีสเราก็ไม่ต้องผ่านการตรวจอะไรอีกแล้ว นอกจากนี้ขั้นตอนการตรวจสอบกระเป๋า การออก Boarding Pass ของยูโรสตาร์ เป็นแนวปฏิบัติเดียวกันกับการเดินทางโดยเครื่องบิน จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องไปถึงสถานีรถไฟแต่เนิ่นๆ