ได้ฤกษ์กลับมาเขียนเรื่องราวในบล็อกของตัวเองต่อหลังจากห่างหายไปนานด้วยเหตุผลต่างๆนานา ล่าสุดคือการติดตามดูปรากฏการณ์ "animal farm" อย่างต่อเนื่อง เห็นปรากฏการณ์ "animal farm" แล้วก็ให้สังเวชใจ ยังไง "animal" มันก็คือ "animal" ไม่ว่าจะยุคไหนหรือเปลี่ยนไอ้ตัวนำฝูง "animal" ในฟาร์มนั้นกี่ตัวๆ คุณภาพของ "farm" ก็ไม่เปลี่ยนมีแต่จะเลวร้ายลง นี่ถ้า George Orwell ผู้แต่งเรื่อง "animal farm" ได้มาเห็นปรากฏการณ์ "animal farm" จริงๆ ไม่ได้จินตนาการเหมือนในนิยายคงต้องร้องว่า โอ พระเจ้า มันช่าง "dystopia" เกินจินตนาการจริงๆ
กลับมาเล่าเรื่องที่ยังคงค้างต่อดีกว่า การท่องเที่ยวในลอนดอนของพวกเราคงไม่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป คือไปตามสถานที่สำคัญๆ ของลอนดอนไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารเซนต์พอลหรือเซนต์ปอลที่มองเห็นได้ชัดเจนจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเทมส์บริเวณสะพานมิลเลนเนียมซึ่่งใช้เฉพาะสำหรับคนเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ หรือจะเป็นการไปเที่ยวทาวเวอร์ออฟลอนดอน หรือชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ Her Majesty's Royal Palace and Fortress ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๐ ก็เก่าแก่ประมาณเกือบพันปี ดังนัั้นจึงมีเสียงเล่าลือถึงเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงสิงสถิตย์อยู่ ที่เด่นๆ เห็นจะเป็นวิญญาณของพระนางแอน โบลีน (Queen Anne Boleyn)ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๓๖ ที่ Tower of London แห่งนี้ ด้วยข้อหาทรยศต่อพระสวามีของนางคือกษัตริย์เฮนรีที่แปด
(รูปเขียนและลายพระนามาภิไธยของพระนางแอน โบลีน แหล่งที่มาวิกิพีเดีย)
โดยมีผู้อ้างว่าเห็นวิญญาณของพระนางเดินหิ้วศีรษะบริเวณ White Tower อยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามพระนางแอน โบลีน ได้ทิ้งมรดกตกทอดที่เป็นคุณูปการแก่สังคมอังกฤษในยุคศตวรรษที่สิบหกและก็อาจเป็นมรดกตกทอดที่มีคุณค่าให้แก่สังคมและคนอังกฤษในรุ่นปัจจุบันนั่นก็คือพระธิดาองค์เดียวของพระนางที่ชื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๑ (Queen Elizabeth I)แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ โดยตลอดรัชสมัยซึ่งเป็นเวลากว่าสี่สิบห้าปีของการครองราชสมบัติของพระองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดประกอบกับขุนนางและที่ปรึกษาที่แวดล้อมพระนางเป็นคนเก่ง จึงทำให้สังคมอังกฤษในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวรรณกรรม งานเขียนต่างๆ โดยกวีเอกเก่งๆ ในยุคของพระนางที่เรารู้จักกันดีคือวิลเลียม เชคสเปียร์ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ เป็นต้น นอกจากนี้อังกฤษในยุคสมัยที่เรียกว่า Elizabethan era ก็ยังรุ่งเรืองในแง่ของการเมืองการปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือ โดยมีนักเดินเรือที่สำคัญของยุคสมัยคือ Sir Francis Drake ที่ให้บังเอิญว่ากลุ่มของเราได้เดินไปพบเรือจำลองชื่อ Golden Hind ที่ตั้งแสดงอยู่แถวริมแม่น้ำเทมส์ของท่านเซอร์คนนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเข้าพอดี(เพิ่งจะเห็นข้อดีของทัวร์แบบขาลากๆ นี้ก็เที่ยวนี้แหละ)
ถัดมาจาก Tower of London อีกนิด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญการเดินทางแบบขาลากๆ เดินลัดเลาะมาสำรวจ Tower Bridge ที่เป็นสัญญลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งเวลาพูดถึงลอนดอน เราขึ้นไปชั้นสูงสุดเพื่อดูนิทรรศการที่เขาจัดให้ดู Tower Bridge ในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งการทำงานของสะพานเวลาที่ต้องเปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่าน (ในบ้านเราคือสะพานพุทธยอดฟ้าก็ใช้กลไกเดียวกันที่สามารถยกพื้นถนนของสะพานเปิดให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ โดยอังกฤษเป็นผู้ออกแบบสะพาน ปัจจุบันสะพานพุทธของเราไม่เปิดให้เรือใหญ่ผ่านแล้ว ในขณะที่ Tower Bride เปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านตกปีหนึ่งมากกว่าพันครั้ง)คนส่วนใหญ่มักจะจำสับสนโดยจะเรียก Tower Bridge เป็น London Bridge ที่จริง London Bridge เป็นสะพานอีกหนึ่งแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับ Tower Bridge ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำธรรมดาทั่วไป
จากนั้นก็เดินลัดเลาะเรื่อยไปตามริมแม่น้ำเทมส์ เห็นการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณนั้น อย่างเช่น แถวย่าน Barbican เราได้เห็นกำแพงเมืองเก่าซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เท่าที่ลองหาข้อมูลดูกำแพงเหล่านี้สร้างมาตั้งแต่สมัยยุคโรมันที่ตอนนั้นยังครอบครองพื้นที่แถบนี้มาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกำแพงปกป้ิองข้าศึก
เดินชมการใช้ชีวิตของผู้คน บ้างก็เป็นกลุ่มนักเรียนตัวน้อยๆ ที่คุณครูพามาทัศนศึกษา บ้างก็เป็นผู้ใหญ่ชายหญิงนั่งจิบกาแฟอยู่ตามร้านกาแฟกลางแจ้งทั่วไป หรือบางทีก็ดูสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างรูปร่างแปลกตาแถวๆ นั้น จนเดินมาถึง Shakespeare's Globe โดยไม่รู้ตัว
Shakespeare's Globe เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานต่างๆ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกสมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๑ รวมทั้งเป็นสถานที่จำลองโรงละคร the Globe Theatre ที่สร้างเมื่อสมัยศตวรรษที่ ๑๖ โดย the Globe Theatre หรือเรียกสั้นๆ ว่า the Globe เป็นโรงละครที่มีหุ้นส่วนหลายคนเป็นเจ้าของที่สำคัญๆ เช่น คือวิลเลียม เชคสเปียร์ ลอร์ดแชมเบอร์แลน นายริชาร์ด เบอร์เบจ ถ้าใครเคยดูภาพยนต์เรื่อง Shakespeare in love ที่นางเอกของเรื่องแสดงโดยกวินเน็ทธ์ พัลโทรว์ ได้รับรางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้ (นอกจากนี้เธอยังได้รับคำชื่นชมจากคนอังกฤษว่าเป็นนักแสดงจากฝั่งอเมริกาที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงคนอังกฤษได้ดี ตอนนี้คงยิ่งดีมากขึ้นเพราะสามีเธอเป็นคนอังกฤษ) ก็จะรู้จักผู้คนที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นเป็นอย่างดี
ผู้เขียนค่อนข้างชอบที่ the Globe นี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นคนชอบบทละครของเชคสเปียร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาได้เห็นข้าวของสิ่งต่างๆ ก็เลยอยากจะใช้เวลาที่นี่ให้นานกว่าที่อื่น และข้อสำคัญไกด์สาวนำชม the Globe เธอดูดีน่ารักอีกต่างหาก ผสมผสานกับภาษาอังกฤษสำเนียงอังกริ๊ดอังกฤษที่น่าฟัง ก้็เลยฟังแบบเพลิดเพลินไปเลย :)
นอกเหนือจากใช้เวลาส่วนหนึ่งในตัวเมืองลอนดอนแล้ว เรายังออกมาเที่ยวเมืองอื่นที่ใกล้ๆ ลอนดอนด้วย ที่เราไม่พลาดคือการเข้าชมการเรียงตัวของกลุ่มหินประหลาด Stonehenge ที่ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมาตั้งอยู่สถานที่นี้ แต่เอาเหอะเขาบอกว่าสถานที่นี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ก็มาดูเสียหน่อย ถัดจากนั้นก็เดินทางต่อไปที่เมืองบาธเืมืองที่เป็นสถานที่อาบน้ำของชาวโรมันเขา ยอมรับว่าเมืองนี้น่าท่องเที่ยวจริงๆ มีสถานที่สวยงามค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น the Royal Cresent ที่เป็นถนนรูปวงพระจันทร์ หรือ the Circus ที่เป็นตึกเรียงกันเป็นแถวยาวครึ่งวงกลม หรือจะเป็นวิหารเก่าแก่ของเมือง
และที่สำคัญเขาบอกต่อๆ กันมาว่า ขนมที่เขาเรียกว่า Bath bun อร่อยนักอร่อยหนา ที่มีชื่อเสียงมากขายอยู่ที่ "Sally Lunn's house (น่าเสียดายที่พวกเราเดินผ่านร้านนี้อย่างหน้าตาเฉย ด้วยความไม่รู้)แต่เราก็มาหยุดที่ร้าน "the Courtyard" ซึ่งค่อนข้างชอบบรรยากาศแบบบ้านๆ ดี มีซุปโฮมเมดด้วย ขนาดผู้เขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่นิยมอาหารตะวันตกยังว่าซุปของเขานี่อร่อยดีจริงๆ เลย นอกนั้นเพื่อไม่ให้เสียชื่อว่ามาอังกฤษแล้วไม่ดื่มชาอังกฤษเห็นจะไม่ได้ เราจึงสั่งชาอังกฤษให้เข้ากับบรรยากาศเสียหน่อย เสียดายที่เรามีเวลาที่เมืองนี้น้อยไป จึงชื่นชมกับบรรยากาศของเมืองบาธไม่ได้เต็มที่ เพราะเราต้องเดินทางต่อไปที่พระราชวังวินด์เซอร์ต่อไปอีก
ทั้งหมดของวันที่เดินทางออกนอกตัวเมืองลอนดอน พวกเราใช้บริการของ international Friends โดยจัดรถมินิบัสพร้อมกับคนขับสำหรับกลุ่มของเราโดยเฉพาะ เนื่องจากลุ่มเรามีคนถึงแปดคน ซึ่งเมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแล้วคุ้มค่าและประหยัดเวลามากกว่าการเดินทางโดยรถไฟที่เราตั้งใจจะใช้การเดินทางแบบนั้นตั้งแต่ตอนแรก แต่ยังไงก็ตามสำหรับผู้เดินทางคนเดียวหรือมีเพื่อนร่วมกลุ่มจำนวนน้อยไม่สามารถเช่ารถพร้อมคนขับแบบเราได้ เขาก็มีบริษัททัวร์อีกมากมายที่ให้บริการจัดทัวร์สำหรับการเดินทางออกนอกเมืองลอนดอนที่เดินทางร่วมกับคนอื่นได้แบบเช้าไปเย็นกลับ โดยรถจะแวะรับผู้เดินทางตามจุดสำคัญและโรงแรมต่างๆ รายละเีอียดสามารถดูได้จาก
http://www.londontoolkit.com/whattodo/london_day_tours.htm
สำหรับค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ เราใช้บัตรผ่านที่เรียกว่า london pass แบบสามวันในการจ่ายเงินแบบเหมารวม ซึ่งคำนวณดูแล้วคุ้มค่ากว่าการซื้อแบบแยกจ่ายค่าเข้าชมแต่ละแห่ง ซึ่งบัตร london pass นี้สามารถเข้าชมสถานที่สำคัญๆ ได้มากกว่าห้าสิบกว่าแห่งในลอนดอนและเมืองใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องลองคำนวณและเปรียบเทียบดูระหว่างการซื้อบัตร london pass กับการซื้อบัตรแยกเข้าชมในแต่ละแห่ง ทั้งนี้หากท่านมีเวลาน้อยและอยากใช้เวลาในการเข้าชมแต่ละแห่งเป็นเวลานานๆ การซื้อบัตร london pass ก็อาจจะไม่คุ้มก็ได้ รายละเอียดดูได้จาก
http://www.londonpass.com/?aid=17&gclid=CNmAhs7I9KkCFQ166wodKjf2Zw
แล้วเหมือนจะถูกโฉลกกับเรื่องชุมนุมประท้วงหรืออย่างไรไม่ทราบ วันแรกที่เราไปถึงลอนดอนก็เจอเข้ากับเหตุการณ์ที่ประชาชนประท้วงรัฐบาลพอดี เฮลิคอปเตอร์ตำรวจบินฉวัดเฉวียนเสียงดังไปทั่วเลย มีการเผาด้วยนะ แต่ขอโทษอยากบอกว่าที่ลอนดอนเด็กๆ โธ่เผาแค่กระดาษอย่ามาทำคุย ต้องมาศึกษาดูงานว่ามืออาชีพเขาทำยังไง มันเผาแบบไม่เหลือซากเลย ที่ไหนหว่าเหมือนจะคุ้นๆ และมืออาชีพรับจ้างเผามันใครกันน้า
ใช้เวลาเดินท่องเที่ยวในลอนดอนกับเมืองใกล้เคียงจนสมใจแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องบอกอำลาลอนดอนกับบ้านชั่วคราวของเราคือ YHA London Central ที่ Great Portland เสียที เพื่อจะเดินทางยังปารีสต่อไป
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลาบ่ายแก่ๆ บรรยากาศดูซืมๆ นิดหนึ่งเพราะฝนตกลงมาปรอยๆ ทำให้พวกเราทั้งแปดคนต้องเปลี่ยนแผนที่จะนั่งรถไฟใต้ดินมาที่สถานี St Pancras เป็นนั่งรถแท๊กซี่แทน เรามาถึงสถานี St Pancras ก่อนเวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเพราะถึงแม้ว่าเราจะเดินทางโดยรถไฟยูโรสตาร์แต่ก็เป็นการเดินทางข้ามประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของฝรั่งเศสให้เสร็จสิ้นที่สถานี St Pancras แห่งนี้เลย และเมื่อเดินทางถึงปารีสเราก็ไม่ต้องผ่านการตรวจอะไรอีกแล้ว นอกจากนี้ขั้นตอนการตรวจสอบกระเป๋า การออก Boarding Pass ของยูโรสตาร์ เป็นแนวปฏิบัติเดียวกันกับการเดินทางโดยเครื่องบิน จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องไปถึงสถานีรถไฟแต่เนิ่นๆ
เวลาบ่ายสามโมงของวันที่ ๓๐ มีนาคม รถไฟยููโรสตาร์ก็พาพวกเราและผู้โดยสารอื่นๆ ออกจากสถานี St Pancras โดยมีเป้าหมายคือกรุงปารีสที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๔๙๕ กิโลเมตร ในอีกสองชั่วโมงข้างหน้า
(สำหรับคำเฉลยที่มาหัวข้อเรื่องที่ว่า "ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก" ขอให้ย้อนกลับไปดูภาพวีดีโอข้างบนตอนท้ายๆ ช่วงที่พี่ๆ เขาไปช็อปปิ้งที่แฮร์รอดส์ จะเห็นผู้เขียนนั่งหมดสภาพอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดิน knightsbridge ในขณะที่คนอื่นยิ้มสดใสในมือถือถุงข้าวของคนละใบสองใบ อาจจะเป็นเพราะก่อนหน้านั้นหนึ่งวันไปรอชมการเปลี่ยนการ์ดหน้าวังบักกิ้งแฮมเป็นเวลานาน อากาศหนาวเย็น แต่สาเหตุนี้คงไม่เท่าไหร่ สาเหตุจริงๆ คงเป็นโรคแพ้การช็อปปิ้งไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ คนใกล้ชิดหรือเพื่อนชวนไปช็อปปิ้งที่ไร จะต้องปวดหัวตัวร้อนขึ้นมาทันที ขอนอนอยู่บ้านดีกว่า :)
photos credit to wikipedia
video credit to youtube by pepperbell, gozala00
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น