วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 5: เรื่องของคนกินยาก อยู่ยาก (2)

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าถึงความเชยของผู้เขียนในเรื่อง daylight saving time ในเรื่องนี้ได้ให้บทเรียนบางสิ่งบางอย่างแก่ตัวผู้เขียนเองในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่ใช่ประเทศไทยของเรา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็อดที่จะพูดถึงปรากฏทางสังคมวิทยาที่ใครๆ มักจะกล่าวถึงกัน เมื่อคนคนหนึ่งจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่นที่ต่างทั้งทางด้านวัฒนธรรม และความต่างในการใช้ภาษา นั่นก็คือ “culture shock” หรือความรู้สึกสับสนทางวัฒนธรรม เท่าที่รู้นี่ “culture shock” เกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกคน มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในที่สุดก็จะค่อยปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เอง แต่ก็มีบางคนเป็นมากถึงขนาดไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ มีอาการซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว และอยากกลับบ้าน




ทีนี้สำหรับตัวผู้เขียนเองก็มีอาการ culture shock กับเขาเหมือนกัน ในช่วงที่เข้าเรียนคอร์สปกติที่ต้องเรียนรวมกับนักศึกษาแคนาเดียนอีก 19 คน โดยตัวผู้เขียนเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวในชั้น เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้นผู้เขียนคิดว่าตนเองไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษนัก แต่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ศัพท์แสง แสลงต่างๆ ทั้งอาจารย์ผู้สอน ทั้งเพื่อนนักเรียนใช้กันให้กระจายในห้องเรียน โอพระเจ้า ฉันจะรู้ จะตามทันไม๊เนี่ย ยิ่งเวลามีการแบ่งกลุ่มการทำงาน พวกเพื่อนเหล่านั้นใช้แสลง สำนวน แบบผู้เขียนพลิกตำราไม่ทัน ทำเอาเครียดไปช่วงเดือนสองเดือนแรกเลย แต่ก็ดีอยู่อย่างที่เพื่อนๆ เข้าใจ บางครั้งเวลาเห็นเราทำหน้างง ก็จะขยายความโดยใช้ศัพท์ที่เรารู้มาอธิบายให้เราเข้าใจ

เรื่องการใช้ภาษานั่นก็อย่างหนึ่ง เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัญหาของผู้เขียนอีกอย่างหนึ่ง คนที่รู้จักผู้เขียนดีเนี่ย จะรู้ว่าผู้เขียนเป็นคนค่อนข้างกินยาก จะเน้นแต่อาหารไทย ขนมก็ต้องเป็นขนมไทย พวกกล้วยบวชชี กล้วยเชื่อมทั้งหลาย แล้วที่นี้พอไปอยู่ที่แคนาดาแล้ว จะหาอาหารไทยที่ไหนกินได้ทุกมื้อๆ ถึงแม้ว่าแคนาดาจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม หรือมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และมีอาหารหลากหลายเชื้อชาติ ดังนั้นการปรับตัวให้สามารถกินอาหารที่ขายใน Cafeteria ของ College ได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นี่เองจึงเป็นที่มาของการฝากท้องไว้กับร้าน Tim Hortons อยู่ทุกมื้อทุกคราว เพราะร้าน Tim มีอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหงของแคนาดา พูดง่ายๆ ก็เหมือน McDonalds นั่นเอง







ร้านอาหารสไตล์แคนาเดียนอีกร้านหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ Swiss Chalet ร้านนี้จะขายไก่ย่างเป็นหลัก และก็ยังมีอาหารอีกหลากหลายประเภทไว้บริการลูกค้า ร้าน Swiss Chalet นี้เป็นร้านที่ผู้เขียนเต็มใจมาใช้บริการเป็นอย่างยิ่งเพราะรสชาติถูกอกถูกใจ พอจะกล้อมแกล้มไม่ให้คิดถึงไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างห้าดาวของบ้านเราไปได้บ้าง :) แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือของหวานของที่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลือนรสชาติจนกระทั่งบัดนี้นั่นก็คือ พายมะนาว (Lemon Meringue Pie) เขาทำได้อร่อยมากขอบอก ผู้เขียนคิดว่าร้านอาหาร typical Canadian สองร้านนี้มีคุณูปการแก่ตัวผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งในฐานะแหล่งเสบียงหลักของผู้เขียนตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา





แต่อย่างไรก็แล้วแต่อาหารเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถสู้อาหารที่พ่อของผู้เขียนทำเอาไว้ให้มากินที่นี่ช่วงวันสองวันแรก นั่นก็คือผัดพริกขิงถั่ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านด่านมาได้ยังไง พ่ออุตส่าห์แพ็คมาให้อย่างดี พอมาถึงก็เข้าช่อง freeze ไว้ ช่วยบรรเทาความคิดถึงอาหารไทยไปได้หลายมื้อเชียวละ เวลากินไปน้ำตาก็รื้นไปคิดถึงพ่อกับแม่ที่บ้าน เฮ้อตอนท้ายนี้เรื่องมันเศร้า เกิด homesick ขึ้นมาเฉยๆ ซะยังงั้น

ขอบคุณภาพจาก

www.cartoonstock.com/.../c/culture_shock.asp
www.squidoo.com/tim_hortons
www.buffalorising.com/.../2009/05/
toronto.ibegin.com/.../pictures/3973.html
dealcetera.com/.../

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Somewhere Only We Know



I walked across an empty land
I knew the pathway like the back of my hand
I felt the earth beneath my feet
Sat by the river and it made me complete
Oh simple thing where have you gone
I'm getting old and I need something to rely on
So tell me when you're gonna let me in
I'm getting tired and I need somewhere to begin

I came across a fallen tree
I felt the branches of it looking at me
Is this the place we used to love?
Is this the place that I've been dreaming of?

Oh simple thing where have you gone


I'm getting old and I need something to rely on
So tell me when you're gonna let me in
I'm getting tired and I need somewhere to begin

And if you have a minute why don't we go
Talk about it somewhere only we know?
This could be the end of everything
So why don't we go
Somewhere only we know?

Oh simple thing where have you gone
I'm getting old and I need something to rely on
So tell me when you're gonna let me in
I'm getting tired and I need somewhere to begin

And if you have a minute why don't we go
Talk about it somewhere only we know?
This could be the end of everything
So why don't we go
Somewhere only we know?

This could be the end of everything
So why don't we go
Somewhere only we know?



Picture by musicexchange.informe.com/autumn-sun-dt6.html

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 4: เรื่องของคนกินยาก อยู่ยาก (1)

หลังจากที่เดินเที่ยวรอบ college และบริเวณใกล้เคียงกับ Akiko แล้ว ผู้เขียนได้แยกเข้าที่พักส่วนตัว ถึงตอนนี้ก็สายมากพอควร ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย ที่จริง Akiko ก็ถามอยู่เหมือนกันว่าจะให้พาไปซื้ออะไรกินสำหรับตอนเช้าไหม ก็ดันตอบปฏิเสธไป เพราะตอนนั้นรู้สึกอยากกลับไปนอนต่อ เนื่องจากว่าเกิดอาการที่เขาเรียกว่า “Jet lag” หรืออาการที่ร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลเวลาได้ โดยเวลาที่แคนาดาฝั่งตะวันออกรวมทั้งอเมริกาฝั่งตะวันออกที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก (แถบโตรอนโต นิวยอร์ก บอสตัน วอชิงตัน ดี ซี) จะช้ากว่าที่ประเทศไทย 11 ชั่วโมง (ในหน้าร้อน) และจะช้ากว่า 12 ชั่วโมง (หน้าหนาว)
สำหรับแคนาดาฝั่งตะวันตกรวมอเมริกาตะวันตกที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก (แถบแวนคูเวอร์ แคลิฟอร์เนีย) จะช้ากว่าประเทศไทย 14 ชั่วโมง (หน้าร้อน) และ 15 ชั่วโมง (หน้าหนาว)

ซึ่ง ณ ขณะนั้นที่เมืองไทยก็เป็นเวลาประมาณสามถึงสี่ทุ่ม ดังนั้นเวลาในร่างกายยังคงคุ้นเคยกับเวลาที่เมืองไทย ประกอบกับยังคงเพลียจากการเดินทางมาร่วมยี่สิบชั่วโมง ผู้เขียนจึงรู้สึกง่วงมาก ตอนแรกๆ ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศในประเทศที่ข้ามแถบเวลาอย่างในยุโรป หรืออเมริกา ที่เวลาต่างกันกับประเทศไทยค่อนข้างมาก ผู้เขียนเองก็ยังไม่เข้าใจถึงความรู้สึกที่เขาเรียกอาการ jet lag นี้ มารู้ซึ้งตอนที่มาประสบด้วยตัวเองครั้งแรกตอนที่ไปประเทศแถวยุโรป และมาเกิดอีกครั้งก็ที่นี่เอง

พูดถึงความแตกต่างเรื่องเวลาแล้ว ก็ขอเล่าต่อไปอีกหน่อยก็แล้วกัน จะสังเกตได้ว่าเวลาของประเทศเหล่านี้จะมีการปรับให้ช้าลงและเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงในหน้าหนาวและหน้าร้อนตามลำดับ ซึ่งระบบแบบนี้เขาเรียกว่า “daylight saving time” หรือชื่อย่อว่า “DST”



โดยจะใช้โดยทั่วไปในประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ รัสเซีย นิวซีแลนด์ และในบางประเทศ เนื่องจากว่าเวลาขึ้นและลงของดวงอาทิตย์ในประเทศเหล่านี้มีระยะที่ไม่เท่ากันในแต่ละฤดู อย่างในกรณีของฤดูร้อนเวลากลางวันจะมีระยะเวลานานมาก และดวงอาทิตย์ก็ตกช้า ในขณะที่ในฤดูหนาวดวงอาทิตย์ขึ้นช้า และตกดินเร็ว ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ DST นี่แหละ แต่ถ้าจะให้อธิบายมากกว่านี้คงไม่ได้แล้ว เพราะรู้แค่นี้ :)

และเจ้าระบบ DST นี่แหละเคยทำให้ผู้เขียนทำตัวเชยมาแล้ว เพราะมีเช้าวันหนึ่งของช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นวันเสาร์ แหมอากาศข้างนอกบ้านกำลังดีเลย ต้นไม้ดอกไม้ ผลิดอก ออกผลกันให้สวยสดงดงาม หลังจากที่นอนหลับใหลอยู่ใต้กองหิมะขาวโพลนมาหลายเดือน ซึ่งผู้เขียนตั้งใจตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้วว่าจะตื่นแต่เช้าไปรับอากาศบริสุทธิ์ในเช้าของฤดูใบไม้ผลิ และตั้งใจว่าจะเดินให้รอบเมือง เพราะที่นี่ฝุ่นควันก็ไม่มี เดินออกกำลังกายได้อย่างมีความสุขทีเดียวเชียว ว่าแล้วเช้ารุ่งขึ้นก็ไม่รอช้า ออกจากประตูบ้านมา เจอคุณป้า landlady กำลังปรับสวนเล็กๆ หน้าบ้านเพื่อเตรียมปลูกดอกไม้ ทักทายสวัสดีกันตอนเช้านิดหน่อย ก็เดินออกมาโดยที่คุณป้าไม่ได้พูดเรื่องอะไรนอกจากเรื่องสวนและดอกไม้ ยกข้อมือเพื่อดูเวลาบนหน้าปัทม์นาฬิกา อ้อ ตอนนี้เป็นเวลา 7 โมงเช้า “อืม…คงใช้เวลาเดินสักประมาณชั่วโมงก็น่าจะถึง downtown คงประมาณสัก 8 โมงเช้า ไปถึงโน่นก็หาอะไรกินเป็นอาหารเช้าเลยดีกว่า” ผู้เขียนคิดในใจในการวางแผนหาของกินในเช้าวันใหม่

เดินชมความสวยงามของต้นไม้ ดอกไม้ ทั้งที่เป็นสวนสาธารณะ และในบ้านเรือนทั่วไปด้วยความเพลิดเพลินใจ พร้อมได้เหงื่อนิดหน่อย อีกประมาณชั่วโมงถัดมาก็มาถึง downtown รถราในถนนเริ่มขวักไขว่และมีเยอะมากขึ้นเนื่องจากเป็นตัวเมือง ผู้เขียนหยุดรอสัญญาณให้ข้ามถนนที่แยกแห่งหนึ่งเพื่อจะข้ามไปร้าน “Tim Hortons” ร้านอาหารสัญชาติแคนาเดียนสุดโปรดประจำใจร้านหนึ่งของผู้เขียน ระหว่างรอก็เหลียวไปดูนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไปประจำตามแยกใหญ่ๆ ทั่วเมือง เวลาบ่งบอก 9 โมงเช้าเศษๆ “เอ นาฬิกานี่มันเสียรึไง เดินไวไปตั้งชั่วโมง” เพื่อความแน่ใจยกข้อมือตัวเองมาดูเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ของเราแค่แปดโมงกว่าเอง เจ้านาฬิกานั่นมันต้องเสียแน่แน่” ยังมั่นใจความถูกต้องของตัวเองอีกนะ ตอนนั้นน่ะไม่ได้นึกถึงเจ้า DST นี่เลย




พอมาถึงร้าน “Tim Hortons” เดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อสั่งเมนูประจำ
“Morning , Chicken Noodle Soup, Honey Dip and Iced Tea, please.”
“Is that everything?” คนขายถามกลับมาเป็นแบบแผนเหมือนกับพนักงานร้านเซเว่นในบ้านเราที่ถามว่า “รับซาลาเปาหนมจีบเพิ่มไม๊คะ” ยังไงยังงั้นเลยเชียว
“Yeah” ผู้เขียนตอบกลับ และระหว่างรอคนขายจัดอาหารให้ สายตาก็เหลือบไปมองนาฬิกาของร้านที่ติดอยู่ที่ผนัง บ่งบอกว่าขณะนี้เป็นเวลาเก้าโมงเศษ
“ไรเนี่ย นี่มาเจอนาฬิกาเสียอีกแล้ว นาฬิกาเราแค่แปดโมงกว่าเอง” ผู้เขียนนึกฉุนว่าทำไมวันนี้เจอนาฬิกาสองเรือนที่เดินไว แต่ขณะนั้นเริ่มไม่มั่นใจความเที่ยงตรงของนาฬิกาตัวเองแล้ว เริ่มนึกไปว่า “เอ หรือนาฬิกาเรามันเสียทำให้เดินช้าลงหว่า”
“ X Cuse me, you have the time? ผู้เขียนถามคนที่มารอคิวสั่งอาหารต่อจากผู้เขียน ซึ่งเขาทำหน้างงๆ ว่านาฬิกาบนฝาผนังก็มี ทำไมไม่ดู ยังไปถามเวลาเขาอีก แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ตอบกลับมา “Nine twenty”
“You’re kidding? “It’s just eight twenty” ยัง ยังไม่หยุด ไปเถียงเขาอีก
“Don’t you know, we’ve just approaching daylight saving time today, eh? คนแคนาเดียนไม่รู้เป็นไง เวลาที่ต้องการตรวจสอบความเข้าใจของคู่สนทนา ส่วนใหญ่จะชอบลงท้ายด้วย eh (เอ๊ะ) ทุกทีสิน่า
“Oh! have we?” “It seems like I’m just only one in town to lose it” ผู้เขียนกล่าวพร้อมยิ้มอย่างอายๆ ให้แก่คู่สนทนา
ผู้เขียนมารู้ตอนหลังว่า ในปฏิทินของแต่ละปีเขาจะกำหนดไว้เลยว่าวันไหนจะให้เป็น DST ซึ่งเราต้องคอยตรวจสอบดูปฏิทินให้ดี นี่ดีว่าเป็นวันเสาร์ ถ้าเป็นวันปกติมีหวังได้ไปเข้าชั้นเรียนช้าไปหนึ่งชั่วโมงแน่เลย

นั่นก็เป็นประสบการณ์เชยๆ อย่างหนึ่งของผู้เขียนในเวลาที่อยู่ที่นั่น ซึ่งยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าในตอนต่อไป


ขอบคุณภาพจาก http://image07.webshots.com/7/8/52/63/178385263fBZrxo_ph.jpg
http://www.westofwindsor.com/img/daylight%20saving%20time.jpg

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์ คุณนี่ไม่ไหวจะเคลียร์

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ราชอาณาจักรไทย

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ที่เรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ ให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของชาติในเรื่องความมั่นคงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยการดำเนินงานที่ฉับไว การตัดสินใจที่แน่วแน่ และความเด็ดขาดของผู้นำ โดยวิกฤตสำคัญของชาติที่สำคัญและควรได้รับการจัดลำดับให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนได้แก่

๑. ปัญหาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นที่รักและเคารพของประชาชนที่ถูกบั่นทอน จาบจ้วงอย่างหนักจากกลุ่มผู้ประสงค์ร้ายภายใต้การนำของนักโทษชาย ในรูปแบบต่างๆ โดยล่าสุดคือการต้องการถวายฎีกาเพื่อขอล้มล้างความผิดทั้งมวลของนักโทษที่หนีคดีที่ยังมิได้สำนึกต่อความผิดของตนเอง หนำซ้ำยังเป็นตัวเร่งให้เกิดความแตกแยกในมวลหมู่ประชาชนชาวไทย

๒. ปัญหาความขัดแย้งในการครอบครองพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ระหว่างไทยและกัมพูชา อันเนื่องมาจากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมีหลายฝ่ายเรียกร้องว่าการขอขึ้นทะเบียนครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้น และเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของประเทศไทยโดยได้รับความร่วมมือของคนไทยที่มีอำนาจเพื่อหวังต่อรองการได้รับผลประโยชน์จากการสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ และมีแนวโน้มที่จะสูญเสียอธิปไตยเพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่นอีกมากในอนาคตอันใกล้

๓. ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

๔. ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นโครงการของรัฐบาล และการบริหารงานที่ไร้ธรรมาภิบาลของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรตำรวจ

๕. ปัญหาเศรษฐกิจ

ตัวผู้เขียนจดหมายฉบับนี้เฝ้าติดตามการบริหารบ้านเมืองของ ฯพณฯ และผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และตัวผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนและยินดีที่ ฯพณฯ ได้มีโอกาสเป็นผู้นำประเทศ โดยหวังไว้ลึกๆ ว่าบ้านเมืองอาจจะมีทิศทางไปในทางที่ดี เพราะเชื่อมั่นว่า ฯพณฯ เป็นคนหนุ่มการศึกษาดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีบุคลิกภาพที่สามารถนำเสนอเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและมีสง่าราศีในสายตานานาชาติได้ ดังจะเห็นได้จากการเป็นประธานอาเซียน และการเข้าร่วมในฐานะผู้นำประเทศไทยในการประชุมอาเซียนในระดับต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนช่วงสงกรานต์เดือดที่ผ่านมา ในสายตาของผู้เขียน และเชื่อว่าในสายตาของประชาชนชาวไทยทั่วไป ภาพลักษณ์ของ ฯพณฯ ยิ่งเปล่งประกายความเป็นผู้นำที่น่าชื่นชม ดังจะเห็นได้จากบทความของผู้เขียนที่เขียนให้กำลังใน ฯพณฯ ในเรื่องของ "ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม" ซึ่ง ณ ขณะนั้นกระแสความนิยมชมชอบในตัว ฯพณฯ สูงมาก และประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าหาก ฯพณฯ ตัดสินใจทำอะไรเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ใส่เสื้อสีใดๆ ก็แล้วแต่ ฯพณฯ ท่านจะได้รับการชื่นชมและเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างท่วมท้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เวลาผ่านไปเพียงแค่สามเดือนเศษ กระแสความนิยมเหล่านั้นลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งนี้หาก ฯพณฯ ไม่หลงติดยึดกับความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป ลองกรุณาเปิดรับข้อมูลอีกด้านที่มิใช่กระแสจากแม่ยกของพรรคประชาธิปปัตย์ที่ชมชื่นต่อเพียงรูปลักษณ์ภายนอกของ ฯพณฯ กระแสติติงต่อภาพลักษณ์ และคุณภาพการบริหารประเทศของท่านตามสื่อต่างๆ มีมิใช่น้อย และความคิดเห็นเหล่านั้นล้วนเป็นความเห็นจากกัลยณมิตรของท่าน ติติงท่านเพื่อขอให้ท่านปรับปรุงและแก้ไข

อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้รวมทั้งผู้เขียนเองยังมิได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมของท่านแต่อย่างใด หนำซ้ำในบางครั้งบางคราวท่านได้ใช้พรสวรรค์ที่ท่านมีมาตั้งแต่เกิด ในเรื่องของการใช้วาทะ สำนวนและโวหารที่เฉียบแหลม ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่หลงไหลของผู้คนในประเทศนี้ สำหรับการตอบโต้คำติติงของกัลยาณมิตรเหล่านั้นไปในเชิงปฎิปักษ์ ซึ่งการกระทำเหล่านั้นได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้คนรวมทั้งตัวผู้เขียน ในตัว ฯพณฯ เป็นอันมาก และเกิดความไม่มั่นใจว่า ตัว ฯพณฯ นั้นจะสามารถใช้พรสวรรค์ที่ท่านมีอยู่อย่างเดียวคือ วาทกรรม นำพาประเทศนี้ให้อยู่รอดหรือไม่ เนื่องจากปัญหาเร่งด่วนของชาติสามสี่ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ต้องการการลงมือปฏิบัติมิใช่ใช้วาทกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไปวันต่อวัน

และแล้วความอดสูใจและจุด toleration (ขออนุญาตที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเพราะคำนี้น่าจะสื่อสารและบอกถึงความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ได้ดีกว่าภาษาไทยที่อาจจะไม่สุภาพ แต่ศิษย์เก่า oxford อย่าง ฯพณฯ ไม่มีปัญหาในเรื่องการแปลความอยู่แล้ว) ของคนไทยส่วนใหญ่คงสิ้นสุด เมื่อมีข่าวของ ฯพณฯ ใช้เวลาของการบริหารบ้านเมืองเพื่อไปเป็นนายแบบให้กับนิตยสารรายปักษ์ฉบับหนึ่ง เพื่อการสิ่งใดมิสามารถจะทราบได้ แต่ที่เป็นที่แน่ใจว่า การถ่ายแบบนั้นมิได้สร้างคุณูปการแต่อย่างใดให้แก่บ้านเมือง แม้แต่คุณสุทธชัย หยุ่น ยังติติงการปฎิบัติตัวของ ฯพณฯ ดังที่กล่าว

/http://www.oknation.net/blog/black/2009/08/10/entry-1


การถ่ายแบบมิได้น่าติติงแต่ประการใดหาก ฯพณฯ เป็นเพียง นายอภิสิทธิ์ ที่มีความใฝ่ฝันเหมือนซูซาน บอยล์ ที่ต้องการเป็นดาวในแวดวงบันเทิงเมื่อมีอายุที่มากแล้ว แต่นี่ ฯพณฯ เป็น นาย ที่มี ก ไก่ ตามหลัง ดังนั้นจึงมีภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ภาระดังกล่าวมิได้มีใครบีบบังคับให้ท่านทำ เพราะท่านอาสาเข้ามาทำเอง ใช่หรือไม่ ลองนึกย้อนไปถึงวันแรกที่ท่านได้รับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นนายก ท่านได้ให้สัญญาประชาคมแก่คนไทยไว้ว่าอย่างไรบ้าง แล้วขณะนี้ท่านได้ทำตามที่ท่านเปล่งวาจาในวันนั้นแล้วหรือยัง

ที่จำเป็นต้องมาเขียนความอึดอัดใจใน blog ของตนเองในครั้งนี้ เพราะใน website ของ pm ที่เปิดใหม่ให้คุยกับนายก ไม่เปิดรับความเห็นในเชิงติติงต่อการดำเนินงานของนายก จึงต้องมาระบายความคับข้องใจในที่นี้

ขอเสนอข้อคิดเห็นต่อ ฯพณฯ ว่าหากท่านคิดและพิจารณาแล้วเห็นว่าศักยภาพและความตั้งใจของท่านยังมีไม่พอที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้พ้นจากปากหลุมของความเสื่อมได้ และเห็นว่ายิ่งแข็งขืนที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะยิ่งเร่งให้เกิดความเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น ท่านควรจะประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำของประเทศนี้ไปเสีย ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไปแก่ชาติบ้านเมืองก็เป็นเรื่องของกาลข้างหน้าและเป็นหน้าที่ของประชาชนที่มีจิตสำนึกรักชาติบ้านเมือง และมีความกล้าหาญที่เขาจะต่อสู้กันเอาเอง เพราะถึงท่านอยู่ไปสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ประชาชนคนไทยคนหนึ่ง

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คิดถึงบรรพบุรุษไทย

ทุกวันนี้ เหลียวมองไปในทิศทางไหนรอบตัว คนไทยแต่ละคนใช้เวลาของแต่ละวันหมดไปกับเรื่องของตัวเอง ธุระส่วนตัวเยอะ จนไม่สามารถมองอะไรข้ามผ่านสภาพแวดล้อมตัวเองได้

เพราะเป็นอย่างนี้หรือเปล่าคนไทยส่วนใหญ่จึงไม่สนใจปัญหาเรื่องอธิปไตยของประเทศไทยที่ประสบอยู่ในตอนนี้ จริงๆ แล้วผู้เขียนขอบอกก่อนว่าผู้เขียนไม่ใช่คนคลั่งชาติ เพราะจะมีคน (ไม่รักชาติ) หลายคนชอบพูดจาเสียดสีคนที่ยกประเด็นเรื่องปัญหาขัดแย้งกับกัมพูชา ณ ขณะนี้ว่าเป็นคนคลั่งชาติ ถ้าเปิดหาความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ "คลั่ง" เป็นคำกริยา หมายถึง แสดงอาการผิดปรกติอย่าคนบ้า เสียสติ หรือหลงใหลสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ถ้าคนจำนวนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้สังคมให้ความสำคัญและสนใจเรื่องอธิปไตยของประเทศ ถูกคนส่วนใหญ่ (ที่ไม่รักชาติ) เหยียดหยามว่าเป็นคนคลั่งชาติ และคนที่ไม่รักชาติเหล่านี้เขาเรียกว่าคนคลั่งอะไร คลั่งวัตถุ คลั่งเงิน คลั่งยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ

ตอนนี้รู้สึกว่าโครงสร้างสำคัญอะไรต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นประเทศไทย ถูกบั่นทอน ถูกกรัดกร่อนจนใกล้ถึงวาระล่มสลายอีกไม่นานนี้แล้ว เพราะมีปัญหารุมเร้าทุกด้าน แต่คนไทยก็ไม่รู้สึกรู้สม ที่จริงไม่ได้อยากจะโทษไอ้นักโทษหนีคดีที่เป็นสัมภเวสีแต่ฝ่ายเดียวหรอก ถึงแม้มันจะเป็นแหล่งรวมความอุบาทว์ไว้ในตัวเดียวก็ตามที แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ลุ่มหลงไปกับความอุบาทว์ที่มันหยิบยื่นให้ ก็ไม่น่าจะเกิดความอุบาทว์ให้กับบ้านเมืองเหมือนเช่นทุกวันนี้

ที่จริงผู้เขียนไม่ได้อยากจะต่อต้านอะไรกัมพูชามากมายนัก เพราะหนทางแก้มันมี ถ้าผู้มีอำนาจของบ้านเมืองมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาและทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ดีที่สุดเพื่อยังประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง และก็อนุชนรุ่นหลัง (แต่เด็กๆ สมัยนี้คลั่งไคล้อะไรไม่เข้าท่า นักร้องเกาหลี เพลงโนบอดี้อะไรเนี่ย ระวังตื่นมาอีกทีต้องน้ำตาตก ร้องเพลงโนแลนด์ คือไม่มีแผ่นดินจะอยู่)

ถึงตอนนี้แล้วก็ให้รู้สึกสงสารบรรพบุรุษไทยจริงๆ ที่อุตส่าห์เสียเลือดเสียเนื้อ ปกป้องบ้านเมืองให้กับพวกเราที่เป็นคนรุ่นหลังได้มีที่ยืนอย่างสง่า แต่คนไทยยุคนี้ดันจะเอาแผ่นดินไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเสียนี่ ระวังเด็กไทยในยุคหน้า (ถ้ายังมีประเทศนี้อยู่นะ)มันก่นด่าคนรุ่นเราเอาไว้ก็แล้วกัน