วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 5: เรื่องของคนกินยาก อยู่ยาก (2)

เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าถึงความเชยของผู้เขียนในเรื่อง daylight saving time ในเรื่องนี้ได้ให้บทเรียนบางสิ่งบางอย่างแก่ตัวผู้เขียนเองในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่ใช่ประเทศไทยของเรา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วก็อดที่จะพูดถึงปรากฏทางสังคมวิทยาที่ใครๆ มักจะกล่าวถึงกัน เมื่อคนคนหนึ่งจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่นที่ต่างทั้งทางด้านวัฒนธรรม และความต่างในการใช้ภาษา นั่นก็คือ “culture shock” หรือความรู้สึกสับสนทางวัฒนธรรม เท่าที่รู้นี่ “culture shock” เกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกคน มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในที่สุดก็จะค่อยปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เอง แต่ก็มีบางคนเป็นมากถึงขนาดไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ มีอาการซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว และอยากกลับบ้าน




ทีนี้สำหรับตัวผู้เขียนเองก็มีอาการ culture shock กับเขาเหมือนกัน ในช่วงที่เข้าเรียนคอร์สปกติที่ต้องเรียนรวมกับนักศึกษาแคนาเดียนอีก 19 คน โดยตัวผู้เขียนเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวในชั้น เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้นผู้เขียนคิดว่าตนเองไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษนัก แต่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ศัพท์แสง แสลงต่างๆ ทั้งอาจารย์ผู้สอน ทั้งเพื่อนนักเรียนใช้กันให้กระจายในห้องเรียน โอพระเจ้า ฉันจะรู้ จะตามทันไม๊เนี่ย ยิ่งเวลามีการแบ่งกลุ่มการทำงาน พวกเพื่อนเหล่านั้นใช้แสลง สำนวน แบบผู้เขียนพลิกตำราไม่ทัน ทำเอาเครียดไปช่วงเดือนสองเดือนแรกเลย แต่ก็ดีอยู่อย่างที่เพื่อนๆ เข้าใจ บางครั้งเวลาเห็นเราทำหน้างง ก็จะขยายความโดยใช้ศัพท์ที่เรารู้มาอธิบายให้เราเข้าใจ

เรื่องการใช้ภาษานั่นก็อย่างหนึ่ง เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัญหาของผู้เขียนอีกอย่างหนึ่ง คนที่รู้จักผู้เขียนดีเนี่ย จะรู้ว่าผู้เขียนเป็นคนค่อนข้างกินยาก จะเน้นแต่อาหารไทย ขนมก็ต้องเป็นขนมไทย พวกกล้วยบวชชี กล้วยเชื่อมทั้งหลาย แล้วที่นี้พอไปอยู่ที่แคนาดาแล้ว จะหาอาหารไทยที่ไหนกินได้ทุกมื้อๆ ถึงแม้ว่าแคนาดาจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม หรือมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และมีอาหารหลากหลายเชื้อชาติ ดังนั้นการปรับตัวให้สามารถกินอาหารที่ขายใน Cafeteria ของ College ได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นี่เองจึงเป็นที่มาของการฝากท้องไว้กับร้าน Tim Hortons อยู่ทุกมื้อทุกคราว เพราะร้าน Tim มีอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหงของแคนาดา พูดง่ายๆ ก็เหมือน McDonalds นั่นเอง







ร้านอาหารสไตล์แคนาเดียนอีกร้านหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ Swiss Chalet ร้านนี้จะขายไก่ย่างเป็นหลัก และก็ยังมีอาหารอีกหลากหลายประเภทไว้บริการลูกค้า ร้าน Swiss Chalet นี้เป็นร้านที่ผู้เขียนเต็มใจมาใช้บริการเป็นอย่างยิ่งเพราะรสชาติถูกอกถูกใจ พอจะกล้อมแกล้มไม่ให้คิดถึงไก่ย่างวิเชียรบุรี ไก่ย่างห้าดาวของบ้านเราไปได้บ้าง :) แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือของหวานของที่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลือนรสชาติจนกระทั่งบัดนี้นั่นก็คือ พายมะนาว (Lemon Meringue Pie) เขาทำได้อร่อยมากขอบอก ผู้เขียนคิดว่าร้านอาหาร typical Canadian สองร้านนี้มีคุณูปการแก่ตัวผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งในฐานะแหล่งเสบียงหลักของผู้เขียนตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา





แต่อย่างไรก็แล้วแต่อาหารเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถสู้อาหารที่พ่อของผู้เขียนทำเอาไว้ให้มากินที่นี่ช่วงวันสองวันแรก นั่นก็คือผัดพริกขิงถั่ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านด่านมาได้ยังไง พ่ออุตส่าห์แพ็คมาให้อย่างดี พอมาถึงก็เข้าช่อง freeze ไว้ ช่วยบรรเทาความคิดถึงอาหารไทยไปได้หลายมื้อเชียวละ เวลากินไปน้ำตาก็รื้นไปคิดถึงพ่อกับแม่ที่บ้าน เฮ้อตอนท้ายนี้เรื่องมันเศร้า เกิด homesick ขึ้นมาเฉยๆ ซะยังงั้น

ขอบคุณภาพจาก

www.cartoonstock.com/.../c/culture_shock.asp
www.squidoo.com/tim_hortons
www.buffalorising.com/.../2009/05/
toronto.ibegin.com/.../pictures/3973.html
dealcetera.com/.../

ไม่มีความคิดเห็น: