วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 4: เรื่องของคนกินยาก อยู่ยาก (1)

หลังจากที่เดินเที่ยวรอบ college และบริเวณใกล้เคียงกับ Akiko แล้ว ผู้เขียนได้แยกเข้าที่พักส่วนตัว ถึงตอนนี้ก็สายมากพอควร ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย ที่จริง Akiko ก็ถามอยู่เหมือนกันว่าจะให้พาไปซื้ออะไรกินสำหรับตอนเช้าไหม ก็ดันตอบปฏิเสธไป เพราะตอนนั้นรู้สึกอยากกลับไปนอนต่อ เนื่องจากว่าเกิดอาการที่เขาเรียกว่า “Jet lag” หรืออาการที่ร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลเวลาได้ โดยเวลาที่แคนาดาฝั่งตะวันออกรวมทั้งอเมริกาฝั่งตะวันออกที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก (แถบโตรอนโต นิวยอร์ก บอสตัน วอชิงตัน ดี ซี) จะช้ากว่าที่ประเทศไทย 11 ชั่วโมง (ในหน้าร้อน) และจะช้ากว่า 12 ชั่วโมง (หน้าหนาว)
สำหรับแคนาดาฝั่งตะวันตกรวมอเมริกาตะวันตกที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก (แถบแวนคูเวอร์ แคลิฟอร์เนีย) จะช้ากว่าประเทศไทย 14 ชั่วโมง (หน้าร้อน) และ 15 ชั่วโมง (หน้าหนาว)

ซึ่ง ณ ขณะนั้นที่เมืองไทยก็เป็นเวลาประมาณสามถึงสี่ทุ่ม ดังนั้นเวลาในร่างกายยังคงคุ้นเคยกับเวลาที่เมืองไทย ประกอบกับยังคงเพลียจากการเดินทางมาร่วมยี่สิบชั่วโมง ผู้เขียนจึงรู้สึกง่วงมาก ตอนแรกๆ ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศในประเทศที่ข้ามแถบเวลาอย่างในยุโรป หรืออเมริกา ที่เวลาต่างกันกับประเทศไทยค่อนข้างมาก ผู้เขียนเองก็ยังไม่เข้าใจถึงความรู้สึกที่เขาเรียกอาการ jet lag นี้ มารู้ซึ้งตอนที่มาประสบด้วยตัวเองครั้งแรกตอนที่ไปประเทศแถวยุโรป และมาเกิดอีกครั้งก็ที่นี่เอง

พูดถึงความแตกต่างเรื่องเวลาแล้ว ก็ขอเล่าต่อไปอีกหน่อยก็แล้วกัน จะสังเกตได้ว่าเวลาของประเทศเหล่านี้จะมีการปรับให้ช้าลงและเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงในหน้าหนาวและหน้าร้อนตามลำดับ ซึ่งระบบแบบนี้เขาเรียกว่า “daylight saving time” หรือชื่อย่อว่า “DST”



โดยจะใช้โดยทั่วไปในประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ รัสเซีย นิวซีแลนด์ และในบางประเทศ เนื่องจากว่าเวลาขึ้นและลงของดวงอาทิตย์ในประเทศเหล่านี้มีระยะที่ไม่เท่ากันในแต่ละฤดู อย่างในกรณีของฤดูร้อนเวลากลางวันจะมีระยะเวลานานมาก และดวงอาทิตย์ก็ตกช้า ในขณะที่ในฤดูหนาวดวงอาทิตย์ขึ้นช้า และตกดินเร็ว ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ DST นี่แหละ แต่ถ้าจะให้อธิบายมากกว่านี้คงไม่ได้แล้ว เพราะรู้แค่นี้ :)

และเจ้าระบบ DST นี่แหละเคยทำให้ผู้เขียนทำตัวเชยมาแล้ว เพราะมีเช้าวันหนึ่งของช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นวันเสาร์ แหมอากาศข้างนอกบ้านกำลังดีเลย ต้นไม้ดอกไม้ ผลิดอก ออกผลกันให้สวยสดงดงาม หลังจากที่นอนหลับใหลอยู่ใต้กองหิมะขาวโพลนมาหลายเดือน ซึ่งผู้เขียนตั้งใจตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้วว่าจะตื่นแต่เช้าไปรับอากาศบริสุทธิ์ในเช้าของฤดูใบไม้ผลิ และตั้งใจว่าจะเดินให้รอบเมือง เพราะที่นี่ฝุ่นควันก็ไม่มี เดินออกกำลังกายได้อย่างมีความสุขทีเดียวเชียว ว่าแล้วเช้ารุ่งขึ้นก็ไม่รอช้า ออกจากประตูบ้านมา เจอคุณป้า landlady กำลังปรับสวนเล็กๆ หน้าบ้านเพื่อเตรียมปลูกดอกไม้ ทักทายสวัสดีกันตอนเช้านิดหน่อย ก็เดินออกมาโดยที่คุณป้าไม่ได้พูดเรื่องอะไรนอกจากเรื่องสวนและดอกไม้ ยกข้อมือเพื่อดูเวลาบนหน้าปัทม์นาฬิกา อ้อ ตอนนี้เป็นเวลา 7 โมงเช้า “อืม…คงใช้เวลาเดินสักประมาณชั่วโมงก็น่าจะถึง downtown คงประมาณสัก 8 โมงเช้า ไปถึงโน่นก็หาอะไรกินเป็นอาหารเช้าเลยดีกว่า” ผู้เขียนคิดในใจในการวางแผนหาของกินในเช้าวันใหม่

เดินชมความสวยงามของต้นไม้ ดอกไม้ ทั้งที่เป็นสวนสาธารณะ และในบ้านเรือนทั่วไปด้วยความเพลิดเพลินใจ พร้อมได้เหงื่อนิดหน่อย อีกประมาณชั่วโมงถัดมาก็มาถึง downtown รถราในถนนเริ่มขวักไขว่และมีเยอะมากขึ้นเนื่องจากเป็นตัวเมือง ผู้เขียนหยุดรอสัญญาณให้ข้ามถนนที่แยกแห่งหนึ่งเพื่อจะข้ามไปร้าน “Tim Hortons” ร้านอาหารสัญชาติแคนาเดียนสุดโปรดประจำใจร้านหนึ่งของผู้เขียน ระหว่างรอก็เหลียวไปดูนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไปประจำตามแยกใหญ่ๆ ทั่วเมือง เวลาบ่งบอก 9 โมงเช้าเศษๆ “เอ นาฬิกานี่มันเสียรึไง เดินไวไปตั้งชั่วโมง” เพื่อความแน่ใจยกข้อมือตัวเองมาดูเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ของเราแค่แปดโมงกว่าเอง เจ้านาฬิกานั่นมันต้องเสียแน่แน่” ยังมั่นใจความถูกต้องของตัวเองอีกนะ ตอนนั้นน่ะไม่ได้นึกถึงเจ้า DST นี่เลย




พอมาถึงร้าน “Tim Hortons” เดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อสั่งเมนูประจำ
“Morning , Chicken Noodle Soup, Honey Dip and Iced Tea, please.”
“Is that everything?” คนขายถามกลับมาเป็นแบบแผนเหมือนกับพนักงานร้านเซเว่นในบ้านเราที่ถามว่า “รับซาลาเปาหนมจีบเพิ่มไม๊คะ” ยังไงยังงั้นเลยเชียว
“Yeah” ผู้เขียนตอบกลับ และระหว่างรอคนขายจัดอาหารให้ สายตาก็เหลือบไปมองนาฬิกาของร้านที่ติดอยู่ที่ผนัง บ่งบอกว่าขณะนี้เป็นเวลาเก้าโมงเศษ
“ไรเนี่ย นี่มาเจอนาฬิกาเสียอีกแล้ว นาฬิกาเราแค่แปดโมงกว่าเอง” ผู้เขียนนึกฉุนว่าทำไมวันนี้เจอนาฬิกาสองเรือนที่เดินไว แต่ขณะนั้นเริ่มไม่มั่นใจความเที่ยงตรงของนาฬิกาตัวเองแล้ว เริ่มนึกไปว่า “เอ หรือนาฬิกาเรามันเสียทำให้เดินช้าลงหว่า”
“ X Cuse me, you have the time? ผู้เขียนถามคนที่มารอคิวสั่งอาหารต่อจากผู้เขียน ซึ่งเขาทำหน้างงๆ ว่านาฬิกาบนฝาผนังก็มี ทำไมไม่ดู ยังไปถามเวลาเขาอีก แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ตอบกลับมา “Nine twenty”
“You’re kidding? “It’s just eight twenty” ยัง ยังไม่หยุด ไปเถียงเขาอีก
“Don’t you know, we’ve just approaching daylight saving time today, eh? คนแคนาเดียนไม่รู้เป็นไง เวลาที่ต้องการตรวจสอบความเข้าใจของคู่สนทนา ส่วนใหญ่จะชอบลงท้ายด้วย eh (เอ๊ะ) ทุกทีสิน่า
“Oh! have we?” “It seems like I’m just only one in town to lose it” ผู้เขียนกล่าวพร้อมยิ้มอย่างอายๆ ให้แก่คู่สนทนา
ผู้เขียนมารู้ตอนหลังว่า ในปฏิทินของแต่ละปีเขาจะกำหนดไว้เลยว่าวันไหนจะให้เป็น DST ซึ่งเราต้องคอยตรวจสอบดูปฏิทินให้ดี นี่ดีว่าเป็นวันเสาร์ ถ้าเป็นวันปกติมีหวังได้ไปเข้าชั้นเรียนช้าไปหนึ่งชั่วโมงแน่เลย

นั่นก็เป็นประสบการณ์เชยๆ อย่างหนึ่งของผู้เขียนในเวลาที่อยู่ที่นั่น ซึ่งยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าในตอนต่อไป


ขอบคุณภาพจาก http://image07.webshots.com/7/8/52/63/178385263fBZrxo_ph.jpg
http://www.westofwindsor.com/img/daylight%20saving%20time.jpg

ไม่มีความคิดเห็น: