วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันของพ่อ

แม้จะล่วงเลยวันที่ ๕ ธันวาคมมาเกือบครบอาทิตย์ แต่ทุกๆ ปี ผู้เขียนไม่เคยลืมที่จะเขียนถึงวันสำคัญของคนไทยทั้งมวล คือวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นที่รักของ "คนไทย" ทั้งมวล ขอย้ำว่า "คนไทย" ผู้ใดผิดไปจากนี้คงไม่นับว่าเป็น "คนไทย"

พอดีว่าวันที่ ๕ ธันวาคม ปีนี้ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ก็ติดตามข่าวถึงการเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้จากข่าว CNN ที่ถ่ายทอดเป็นหัวข้อข่าว world news พร้อมทั้งได้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ "Angle Princess" สมเด็จพระเทพฯ ของเี่ราด้วย โดยมีการโปรยหัวข้อข่าว "Eye on Thailand"


ผู้เขียนก็คงเหมือนๆ กับคนไทยจำนวนมากที่ขอถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงพระเจริญ" มีพระพลานามัยที่แข็งแรง ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคนไทยตราบนานเท่านาน และในฐานะที่เป็นข้าราชการของในหลวงอยากจะพูดว่า "ความจงรักภักดี" ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมไม่เสื่อมคลาย

"Long Live my Beloved King"








video credit to youtube by MorpiumsVideos, baffevideo

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตั๋วใบเดียว เที่ยวได้ทั่วยุโรป (Just one Pass, you are free to go)

พวกเราออกจากปารีสเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเช้าตรู่ของวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔ โดยก่อนหน้าที่เราจะออกจาก Paris Clichy Youth Hostel บรรยากาศช่างเหมือนกับวันที่เรากำลังจะออกเดินทางจากลอนดอนคือมีฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้พวกเราตัดสินใจที่จะเรียกรถแท๊กซี่จาก Youth Hostel เพื่อมารอขึ้นรถไฟที่สถานี Paris Est Train Station หรือที่รู้จักกันตามภาษาฝรั่งเศสคือ Gare de l'Est ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานี Gare du Nord ที่พวกเรามาถึงในวันแรกสักเท่าไหร่

ที่ปารีสมีสถานีรถไฟใหญ่อยู่ทั้งหมด ๖ สถานี คือ สถานี Gare du Nord หรือสถานีรถไฟสายเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถไปเมืองต่างๆ ทางเหนือของฝรั่งเศส และถ้าเป็นรถไฟข้ามประเทศก็จะเป็นการเดินรถระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศสหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

สถานี Gare de l'Est หรือสถานีรถไฟสายตะวันออก เป็นเส้นทางเดินรถไปเมืองต่างๆ ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส รวมไปถึงเป็นเส้นทางเดินรถระหว่างฝรั่งเศสและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก รวมทั้งเมืองทางตอนใต้ของเยอรมนี

สถานี Gare Montparnasse เป็นสถานีเดินรถไปเมืองต่างๆ ในทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เช่น Rennes (เมืองที่พวกเราแวะไปต่อรถโดยสารเพื่อไปเที่ยวมงต์แซ็งมิเชล)

สถานี Gare de Lyon หรือสถานีเดินรถไฟไปเมืองทางใต้ของฝรั่งเศส โดยชื่อ Lyon นั้นนำมาจากชื่อเมือง Lyon ที่ตั้งอยู่ทางภาคกลางค่อนไปทางตะวันออกของฝรั่งเศส เมืองนี้มีทิวทัศน์และภูมิสถาปัตย์ที่สวยงามมาก โดยเมือง Lyon อยู่ห่างจากเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง ๑๖๐ กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งมีระยะทางที่ใกล้กว่าระยะทางระหว่างปารีสและ Lyonที่มีระยะทางห่างกันถึง ๔๗๐ กิโลเมตร

สถานี Gare Saint-Lazare เป็นสถานีเดินรถไฟชานเมืองทางตะวันตกของปารีส และเป็นเส้นทางเดินรถไฟไปนอร์มังดีด้วย

สถานี Gare d'Austerlitz เป็นสถานีสำหรับการเดินรถไฟระหว่างปารีสและเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) เมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส และนอกจากนี้สถานีรถไฟแห่งนี้ยังเป็นสถานีต้นทางและปลายทางของรถไฟด่วนกลางคืนขบวน Elipsos Train Hotelที่ให้บริการเสมือนหนึ่งเป็นโรงแรม ที่วิ่งระหว่าง Gare d'Austerlitz และมาดริด และบาร์เซโลนา ของประเทศสเปน ดังนั้นผู้โดยสารที่จะเดินทางออกจากปารีสไปเมืองต่างๆ ด้วยรถไฟจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสถานีต้นทางคือที่ใดกันแน่ มิฉะนั้นจะเสียเวลาและที่แย่ไปกว่านั้นก็อาจจะพลาดขบวนรถไฟก็เป็นได้

โชเฟอร์แท๊กซี่ชาวปารีเซียงขับรถพาเราชมเมืองปารีสตอนเช้าตรู่อยู่นานพอสมควรจนมิเตอร์ขึ้นราคาจนพี่โชเฟอร์พอใจ (คิดว่าเราไม่รู้เหรอว่าขับอ้อมไปอ้อมมา) ก็มาส่งพวกเราที่หน้าประตูทางเข้าสถานี Gare de l'Est โดยสวัสดิภาพ สิ่งที่เราต้องทำก่อนสิ่งอื่นใดเมื่อเข้าไปถึงสถานีคือการตรวจสอบหมายเลขชานชาลาของขบวนรถไฟที่เราจะเดินทาง เพราะสถานีรถไฟตามเมืองใหญ่ๆ ของยุโรปกว้างขวางมาก บางที่ชานชาลาก็มีหลายชั้นดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาทเราจะต้องตรวจสอบหมายเลขชานชาลาของขบวนรถที่เราจะโดยสารให้แน่นอน และเตรียมเผื่อเวลาในการเดินไปรอรถที่ชานชาลานั้นๆ โดยผู้โดยสารสามารถตรวจสอบได้จากป้ายบอกเวลาของขบวนรถไฟขาออก (Departure Board) หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการผู้โดยสารที่ประจำอยู่เคาน์เตอร์



ในวันนี้กลุ่มของเรามีกำหนดเดินทางออกจากปารีสโดยมีจุดหมายปลายทางที่เมือง เซอร์แมทท์ (Zermatt) เมืองแห่งยอดเขาแมทเทอฮอร์น ยอดเขาที่โด่งดังและสวยที่สุดในเทือกเขาแอลป์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงตรงนั้นได้เราจะต้องมีตั๋วโดยสารเสียก่อน เมื่อสองสามตอนก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าตั๋วโดยสารตลอดการเดินทางในยุโรปซึ่งตั้งต้นจากปารีสตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเราใช้ตั๋วที่เรียกว่า"ยูเรลพาส (Eurail Pass)” ยูเรลพาสคืออะไรและมีวิธีการใช้อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักตั๋วชนิดนี้กัน เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่มีแผนการเดินทางไปเที่ยวยุโรป



ยูเรลพาส เป็นผลิตภัณฑ์ตั๋วโดยสารการเดินทางด้วยรถไฟของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป (บางกรณียูเรลพาสสามารถใช้ได้กับการเดินทางโดยเรือโดยสารได้ด้วย ซึ่งจะกำหนดไว้ในเงื่อนไขของการใช้ตั๋ว) ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิใช้ยูเรลพาสต้องเป็นผู้มีสัญชาติอื่นนอกประชาคมยุโรปเท่านั้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยูเรลพาสได้แก่ "Eurail Group” ที่เป็นการรวมตัวขององค์กรตัวแทนของผู้ดำเนินกิจการรถไฟในทวีปยุโรปสามสิบองค์กร

ประเภทของ "ยูเรลพาส" มี ๔ ประเภท คือ Eurail Global Pass ที่สามารถใช้เป็นตั๋วรถไฟเดินทางไปได้ทั่วยุโรปใน ๒๒ ประเทศ (ยกเว้นสหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วยอังกฤษ เวลส์ และสก็อตแลนด์ ที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน Eurail ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สามารถใช้ Eurail Pass เป็นตั๋วเดินทางออกจากประเทศอังกฤษได้)

Eurail Select Pass ใช้เป็นตั๋วรถไฟเดินทางได้ในสามประเทศ สี่ประเทศ และห้าประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าประเทศเหล่านั้นต้องมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นลำดับ เช่น ถ้าเลือกซื้อ Eurail Select Pass สำหรับสามประเทศโดยเริ่มต้นเดินทางจากฝรั่งเศสและเดินทางต่อไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเดินทางต่อไปยังประเทศออสเตรียซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยผู้ถือตั๋ว Eurail Select Pass จะเดินทางเข้าออกภายในสามประเทศที่ว่านั้นกี่ครั้งก็ได้ตามจำนวนวันที่ระบุไว้หน้าตั๋ว กรณีนี้ถือว่าถูกต้องตามเงื่อนไขของตั๋ว

Eurail Regional Pass ใช้เป็นตั๋วโดยสารสำหรับการใช้รถไฟในสองประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน

และ Eurail National Pass สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเดียว (ตั๋วชนิดนี้ของ Eurail ผู้เขียนคิดว่าไม่ค่อยเป็นที่นิยมของผู้โดยสารส่วนมาก ที่เห็นผู้โดยสารมักไปซื้อ Pass ของประเทศนั้นๆ มากกว่า เพราะจะได้รับส่วนลดสำหรับการใช้บริการประเภทอื่นๆ มากมาย เช่น Swiss Pass หากต้องการท่องเที่ยวเฉพาะในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น)

นอกจากนี้ Eurail Pass แต่ละประเภทก็จำแนกแยกย่อยราคาค่าตั๋วออกเป็นอีกหลายอย่าง ได้แก่ ตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นเยาว์อายุตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๒๕ ปี หรือตั๋วสำหรับการเดินทางเป็นกลุ่มตั้งแต่ ๒ คน ขึ้นไปก็จะเรียกว่าเป็นประเภท Saver คือลดราคาลงมาจากค่าตั๋วปกติ ตั๋วประเภทที่มีวันเดินทางแบบต่อเนื่องกันที่เรียกว่า “Consecutive” หรือตั๋วที่มีวันการเดินทางที่ไม่ต่อเนื่อง ที่เขาใช้คำว่า "Flexi” ราคาค่าตั๋วก็จะต่างกันอีก

รายละเอียดต่างๆ ผู้ที่สนใจจริงๆ เพราะมีแผนที่จะเดินทางไปยุโรป สามารถศึกษาข้อมูลได้จากหลายเว็บไซต์ เช่น raileurope eurail และ seat61 ตามข้างล่าง

www.raileurope.com/index.html

www.eurailgroup.com/Rail%20Passes/Where%20to%20buy%20Eurail%20Passes.aspx

www.seat61.com

ที่นี้ก็จะเล่าถึงกรณีของกลุ่มเราว่าซื้อตั๋วแบบไหน ซื้อที่ไหน และใช้อย่างไร ก่อนอื่นเลยผู้เขียนต้องจัดทกำหนดการโดยคร่าวๆ ว่าจะมีวันไหนบ้างที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟ และการเดินทางของแต่ละวันใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลในรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของ raileurope แค่เราใส่ชื่อสถานีต้นทางและสถานีปลายทางในช่อง search ข้อมูลการเดินทางของรถไฟตามเส้นทางที่เราค้นหาก็จะปรากฏออกมาเพื่อเป็นข้อมูลให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
www.raileurope.com/us/rail/point_to_point/triprequest.htm


ในส่วนการเดินทางของพวกเราได้ข้อสรุปว่าจะมีการเดินทางโดยรถไฟจำนวนทั้งสิ้น ๕ วัน โดยเป็นการเดินทางแบบไม่ต่อเนื่องหรือ Flexi ดังนั้นตั๋ว Eurail Pass ที่เหมาะสมกับกลุ่มเราก็คือ Eurail Pass Saver Flexi แบบ ๕ ประเทศ (ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สาธารณรัฐเชค และฮังการี)



ทีนี้มาถึงขั้นตอนการซื้อตั๋วว่าเราจะซื้อที่ไหน Eurail เขาเปิดเว็บไซต์ให้ลูกค้าสามารถซื้อผ่านเน็ตโดยจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตได้ที่เว็บไซต์ของ Eurail และเว็บไซต์ของsales agencies ซึ่งในส่วนของลูกค้าในประเทศไทยถ้าจะซื้อผ่านเน็ตต้องซื้อผ่านเว็บไซต์ของ raileurope และเนื่องจากการออกตั๋ว Eurail เขาไม่ได้ออกเป็น e-ticket ดังนั้นลูกค้าจึงไม่สามารถ print ตั๋วผ่าน e-mail address เหมือนกับตั๋วแบบอื่นได้ Eurail เขาจะส่งตั๋วให้ถึงประตูบ้านลูกค้าเลยเพียงแต่ว่านอกเหนือจากราคาค่าตั๋วแล้ว ลูกค้าจะต้องเสียค่าจัดส่ง Pass ผ่านไปรษณีย์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ค่อยสะดวกในการซื้อแบบนี้คือเราไม่ค่อยมั่นใจว่า Pass จะส่งมาถึงเราได้ทันตามกำหนดการเดินทางหรือเปล่า จะมีเหตุขัดข้องระหว่างการจัดส่งหรือไม่ ดังนั้น Eurail เลยเปิดช่องทางอื่นให้ลูกค้าได้ซื้อ Pass ในประเทศของตัวเองได้เหมือนกัน

เราสามารถซื้อ Eurail Pass ในประเทศไทยผ่านทางบริษัทที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวและจำหน่ายตั๋วเดินทางประเภทต่างๆ ได้ เท่าที่ทราบรู้สึกว่ามีบริษัทท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในไทยแค่สองบริษัทที่ Eurail เขาอนุญาตให้เป็นผู้แทนจำหน่ายตั๋ว Eurail Pass โดยผู้เขียนสอบถามรายละเอียดต่างๆ จากทั้งสองบริษัทแล้ว ก็เลยเลือกที่จะซื้อจาก "กัลลิเวอร์ส แทรเวล แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย)” โดยแผนกขายตั๋ว Eurail Pass อยู่ที่ตึกลุมพินีทาวเวอร์ ถนนพระรามสี่ เหตุผลคือ นอกเหนือจากราคาค่าตั๋วที่เราต้องจ่ายแล้ว เขายังคิดค่าใช้จ่ายในการออกตั๋วด้วย โดย กัลลิเวอร์ส แทรเวล คิดค่าออกตั๋วที่ถูกกว่า คือใบละ ๘๐๐ บาท ขณะที่อีกบริษัท (ไม่ขอเอ่ยชื่อแต่ไปหาดูก็ทราบได้เอง) คิดค่าออกตั๋วเป็นคนละ ๘๐๐ บาท มาถึงตรงนี้อาจจะงงว่าแตกต่างกันอย่างไร ระหว่าง "ใบละ" กับ "คนละ"

ตั๋วประเภท saver ที่เป็นตั๋วการเดินทางแบบกลุ่ม เขากำหนดให้ในตั๋วแต่ละใบระบุชื่อผู้เดินทางได้ตั้งแต่ ๒ ถึง ๕ คน ดังนั้นเราจึงต้องออกตั๋ว Eurail จำนวนสองใบ ซึ่งในแต่ละใบระบุชื่อผู้โดยสาร ๔ คน รวมสองใบก็จะครบจำนวนผู้เดินทางแปดคนพอดี ที่นี้ผู้อ่านคงจะเห็นความแตกต่างของลักษณะนามระหว่าง "ใบละ" และ "คนละ" แล้ว ถ้าซื้อผ่านกัลลิเวอร์ส แทรเวล แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย) พวกเราก็มีค่าใช้จ่ายออกตั๋วคนละ ๒๐๐ บาท ถ้าซื้ออีกบริษัทก็ต้องเสียคนละ ๘๐๐ บาท (เป็นนโยบายของแต่ละบริษัทในช่วงต้นปี ๒๕๕๔ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือไม่) และที่ทั้งสองบริษัทมีความแตกต่างกันอีกอย่างคือ กัลลิเวอร์ส แทรเวล เขาจะรับเงินเป็นเงินยูโรเท่านั้น ในขณะที่อีกบริษัทเขาจะรับเป็นเงินไทยที่คิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่เราไปซื้อ โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มเราราคาค่าตั๋วเป็นเงินคนละ ๓๕๑ ยูโร

สำหรับวิธีใช้ตั๋ว Eurail Pass นั้น เริ่มแรกผู้โดยสารต้องนำตั๋วไปขอเปิดใช้ก่อน หรือที่เรียกว่าการ Validate ตั๋ว โดยสามารถขอเปิดใช้ได้ที่เจ้าหน้าที่แผนก international ticket ตามสถานีรถไฟได้ทุกแห่ง



โดยเจ้าหน้าที่เขาจะขอดูหนังสือเดินทางของผู้โดยสารทุกคนที่มีชื่ออยู่ในตั๋ว และจะประทับตราที่ช่องสี่เหลี่ยมด้านขวา รวมทั้งกรอกวัน เดือน ปีที่เปิดใช้ตั๋ววันแรกในช่องบนด้านซ้าย (ก็คือวันที่เราให้เขา validate นั่นแหละ) และวันสุดท้ายที่เราสามารถใช้ตั๋วได้ในช่องล่างด้ายซ้าย ซึ่งในกรณีของพวกเราสามารถใช้ตั๋วได้ภายในสองเดือน





ทีนี้เราก็สามารถใช้ตั๋วขึ้นรถไฟชั้นหนึ่งได้ไม่จำกัดรอบและขบวนของในแต่ละวันตามอายุตั๋วและจำนวนวันที่เราซื้อ เช่น ๕ วัน ๖ วัน หรือ ๑๕ วัน (โดยมีเงื่อนไขว่ารถไฟด่วนบางประเภท หรือรถไฟประเภท night train อาจจะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสำรองที่นั่งหรือตู้นอนเพิ่มเติมซึ่งไม่แพงเลย ตั้งแต่คนละ ๓.๕ ยูโร ถึง ๒๕ ยูโร ขึ้นอยู่กับประเภทของชั้นที่นั่งและประเภทของรถไฟ)

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญและผู้โดยสารที่ถือตั๋ว Eurail Pass จะลืมไม่ได้คือ การกรอกวันที่ที่เราจะใช้ตั๋วในช่องที่เขาแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ซ้ายมือระบุวันและเดือนถัดลงมาข้างล่างจากช่องการเปิดใช้ตั๋วที่กรอกโดยเจ้าหน้าที่ ถ้าซื้อแบบ ๕ วัน ก็จะมีช่องให้กรอก ๕ ช่อง เป็นต้น รวมทั้งต้องระบุรายละเอียดของขบวนรถไฟที่เราจะโดยสารด้วย คือ วัน เวลา หมายเลขขบวนรถไฟ และจากเมืองไหนไปไหน ถ้าไม่เช่นนั้น ถ้าขึ้นรถไฟไปแล้ว และมีเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋วและผู้โดยสารยังไม่กรอกข้อมูลที่ว่า ท่านอาจจะต้องเสียค่าปรับซึ่งจะแพงมาก ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ Eurail Pass และต้องการข้อมูลที่มีรายละอียดปลีกย่อยอีกมากมาย อาจศึกษาได้จากเว็บไซต์ที่ให้ไปหรือจะฝากคำถามไว้กับผู้เขียนได้ในช่อง comment ท้ายบทความนี้



และคราวนี้กลุ่มของเราก็พร้อมแล้วที่จะเดินทางต่อไปยังสวิตเซอร์แลนด์ โดยใช้ตั๋ว Eurail Pass ในวันแรกคือวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔ รถไฟขบวนแรกที่เราจะนั่งคือรถไฟ TGV ขบวนที่ ๙๕๗๑ จากปารีสถึงเมือง Strasbourg โดยจะออกจากปารีสเวลา ๐๗.๒๔ น.

แต่ก่อนที่เราจะออกจากปารีส คนอย่างเราๆ ก็แพ้ทางตู้ขายของอัตโนมัติส่งท้ายอีกจนได้ หวังว่าผู้อ่านคงจำได้ว่าในเรื่องเล่าตอนแรกๆ ที่ลอนดอน พวกเราเคยแพ้ทางตู้ขายซิมโทรศัพท์อัตโนมัติที่สนามบินฮีทโธรว์มาแล้ว ที่นี่ก็อีกแล้วที่พี่จุ๋มเขาจะซื้อน้ำเปล่าจากเครื่องขายน้ำอัตโนมัติ ทีนี้พอหยอดเหรียญจำนวนตามราคาน้ำแล้ว ก็นึกว่าเหล็กที่กั้นมันจะเปิดและก็ปล่อยขวดน้ำให้กลิ้งตกลงมาข้างล่างตามช่องรับสินค้าเหมือนปกติทั่วไป ที่ไหนได้สงสัยผิดคิวหรือมันจะทำงานฝืด เหล็กนั่นมันเปิดแบบไม่สุด ทำให้ขวดน้ำค้างอยู่ตรงกลางช่องไม่ยอมตกลงมาที่ช่องรับสินค้า งานนี้พี่จุ๋มบ่นอุบเลย นอกจากจะหิวน้ำแล้วยังเสียเงินฟรีอีกด้วย แต่ยังไงก็ตามยังมีอีกคนที่เห็นคุณค่าของตู้ขายของอัตโนมัตินี้อยู่บ้างนั่นก็คือพี่อ้อยที่เห็นชอบวนเวียนซื้อกาแฟจากตู้ขายอัตโนมัติที่ hostel อยู่เรื่อยๆ แถมชมว่ากาแฟจากตู้อัตโนมัติรสชาติเยี่ยมไม่แพ้การชงของบาริสต้ามืออาชีพเลย :)


Photos credit to http://www.flickr.com/photos/geographyalltheway_photos/5201126792/sizes/m/in/photostream/

video credit to www.youtube.com by EurailGroup, EurailCom

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

BKK flooding 2011




Finally, my hometown and World's best city, Bangkok, is now submerged. I wanna give my fellow Bangkokians all the praise for their toleration of “P.M.”. The mentioned definitely does not refer to the Prime Minister at all, we have “so-called” that person, though. (*sigh*)

All the shame, guilt, and blame put down for "P.M or Poor Management".






Photos credit to http://atcloud.com/stories/39392
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=sitcom&month=27-10-2011&group=54&gblog=177
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000136941
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Bangkok_City_Montage.png by khemkhaeng via Montage from existing wikicommons files.

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กำลังมีแขกมาเยือน

ช่วงนี้ต้องขออภัยผู้อ่านหลายคนที่คอยติดตามตอนใหม่ของการท่องเที่ยวในยุโรป ระยะนี้ผู้เขียนและคนกรุงเทพฯจำนวนนับล้านเรากำลังมีแขกมาเยือนจากเมืองเหนือ คงต้องคอยอยู่ต้อนรับให้เขาประทับใจเสียหน่อย (แต่ไม่ต้องประทับใจมากก็ได้ เีดี๋ยวหลงแสงสีในเมืองกรุงและไม่อยากรีบลงทะเลจะยุ่งกันใหญ่)

คงอีกสักพักจะกลับมาเขียนเรื่องใหม่เมื่อแขกไปแล้ว หวังว่ากลับมาเขียนเรื่องได้เร็วขึ้น คงต้องขอตัวไปแล้วเพราะต้องคอยติดตามข่าวว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ เฮ้อ :-((

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผมคือนายแบบ rookie ชื่อบุญหลง

ช่วงนี้คนไทยทั้งชาติ (จะยกเว้นก็แต่คนที่มันอาศัยประเทศไทยอยู่แต่ไม่ใช่คนไทยที่เรารู้ดีว่าพวกมันเป็นใคร) คงมีความทุกข์ ความขมขื่นเมื่อเห็นสภาพบ้านเมืองประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายๆ จังหวัดที่คนอย่างเราๆ ไม่สามารถเอาชนะได้ ทั้งหมดนี้เราคงจะชี้หน้ากล่าวโทษใครไม่ได้เลย คงต้องโทษตัวเราเอง เพราะามนุษย์ทุกคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาไม่ว่าจะมีส่วนมากหรือน้อยก็ตามที

ในขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่รู้ว่าเมืองหลวงของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ บ้านเกิดของผู้เขียนจะประสบชะตากรรมเช่นไร แต่ยังไงก็ตามจะท่วมมากท่วมน้อย หรือไม่ท่วมเลย(คงเป็นไปได้ยาก) ก็ต้องรับสภาพกันไป ในขณะที่ผู้คนอย่างเราๆ ประสบกับภาวะยากลำบากโดยเฉพาะในจังหวัดอยุธยา สิงห์สาราสัตว์ก็ต้องพลอยรับเคราะห์โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่จากการกระทำของมนุษย์ไปด้วย ที่น่าสงสารคือช้างกว่า ๗๐ เชือก ที่รอความช่วยเหลือจากคนในเรื่องอาหารการกินที่ขณะนี้ขาดแคลนอย่างหนัก แต่ก็ยังดีที่ว่ามีคณะสัตวแพทย์และสถาบันคชบาลเร่งเข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่คงยังไม่เพียงพอ ถ้าท่านใดใจบุญที่จะช่วยช้างเหล่านั้น และประสงค์จะขอบริจาคสามารถบริจาคผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาลำปาง ชื่อบัญชี กองทุนศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เลขที่ 503-1- 84611-9 และส่งใบสำเนานำฝากพร้อมระบุชื่อ ที่อยู่ และ ระบุว่าสนับสนุนอาหารช้าง มาที่ 054- 829330 และ info@thailanndelephant.org

ท่ามกลางข่าวน่าเศร้าก็ยังมีข่าวน่ายินดี ผู้อ่านคงจะจำเรื่องของ "พลายบุญหลง" ได้ ที่เป็นลูกช้างป่าพลัดหลงจากแม่ที่ป่าภูหลวงจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้เขาได้ย้ายพลายบุญหลงไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในลำปางแล้ว ดังนั้นชีวิตต่อแต่นี้ไปของพลายบุญหลงจึงต้องกลายเป็นช้างเลี้ยง ผู้เขียนติดตามข่าวของเจ้าพลายน้อยนี้อย่างต่อเนื่อง เห็นว่าชีวิตของพลายบุญหลงดีขึ้นมีแม่รับที่คอยให้นมแล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจไปกับเจ้าช้างตัวน้อยนี้ ตอนนี้ดูเหมือนว่าชีวิตของพลายบุญหลงจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว มีแม่คอยดูแล (ถึงแม้จะไม่ใช่แม่จริงๆ) และได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากควาญที่เป็นพี่เลี้ยง และดูเหมือนว่าจะเป็นดารารุ่นใหม่ของศูนย์ฯ เสียด้วย ลองดูท่าเขาเสียก่อน เหมือนนายแบบน้องใหม่ปรากฏกายท่ามกลางสื่อมวลชนที่คอยถ่ายรูปทำข่าวยังไงไม่รู้ น่ารักจริงๆ

"วันนี้ที่ลำปางของลูกช้างพลายบุญหลง"



เช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 หลังจากที่ลูกช้างพลายบุญหลงได้เข้ารับการดูแลต่อเนื่องที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป) จ.ลำปาง ตั้งแต่เย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2554 นั้น วันนี้ ลูกช้างพลายบุญหลงก็พยามปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และพี่ควาญคนใหม่



น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง ได้กล่าวถึง ลูกช้างพลายบุญหลงนั้นมีสุขภาพดี คาดว่าอายุของช้างน่าจะประมาณ 5 เดือน น้ำหนัก 155 กิโลกรัม และส่วนสูงประมาณ 90 เซนติเมตร



หลังจากที่ได้ตรวจสุขภาพโดยรวมของพลายบุญหลงแล้ว พบว่า สุขภาพดี แต่เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศช่วงนี้มีฝนตก ลูกช้างเองก็มีอาการเป็นหวัดนิดหน่อย มีน้ำมูก ซึ่งก็ได้ฉีดยาปฏิชีวนะ ไปให้แล้วก็ยังต้องเฝ้าดูอาการอยู่ และหลังจากที่พยายามให้ช้างพังพุ่มพวงซึ่งมีประสบการณ์เลี้ยงดูแลลูกได้ดีเข้ามาเป็นแม่รับนั้น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าพลายบุญหลงจะเข้าใกล้ และไปหาดื่มนมแม่ช้าง



อย่างไรแล้วก็ยังให้พุ่มพวงมายืนแถวๆ คอกอนุบาลลูกช้าง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้มากขึ้น คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวในเรื่องนี้ ลูกช้างมีนิสัยร่าเริง และเข้ากับคนได้ดี เริ่มที่จำกลิ่นพี่ควาญคนใหม่ที่ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จัดมาดูแลได้ มีการเรียนรู้นิสัยของกันและกันแล้ว เวลาหิวก็จะบอกและแสดงอาการ



ทางโรงพยาบาลช้างฯ ก็จัดนมที่ใช้เลี้ยงเด็กทารก ให้กับลูกช้าง พอกินนมอิ่มแล้วก็จะนอนหลับ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับเด็กทารก อย่างไรก็ตามก็คงต้องให้วิตามินเสริมเพื่อโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูกและภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย









"ลูกช้างพลายบุญหลงเข้าหาแม่รับแล้ว"



หลังจากที่ทางศูนย์ อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จ.ลำปาง ได้จัดแม่ช้างพังพุ่มพวง ให้เป็นแม่รับลูกช้างพลายบุญหลง นั้น ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ลูกช้าง พลายบุญหลงได้เริ่มเข้าหาแม่ช้างพังพุ่มพวง และกินนมแม่ช้างพังพุ่มพวง รวมทั้งอึแม่ช้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและแสดงให้เห็นว่าทั้งสองนั้นได้ยอมรับซึ่งกันและกันที่จะเป็นแม่ลูก กันแล้ว



จากเหตุการณ์ที่ลูกช้างพลายบุญหลง พลัดพรากจากอกแม่ช้างเพราะถูกกระแสน้ำป่า พลัดหลงจากโขลงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และพลัดหลงเข้ามาในหมู่บ้านเลยวัง ไสย์ ต.เลยวังไสย์ จ.เลย เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมานั้น ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ผ่านมา ลูกช้างพลายบุญหลงได้กินนมเลี้ยงเด็กทารก มาตลอด วันนี้จึงเป็นวันที่ลูกช้าง ได้มีโอกาสดูดนมจากอกแม่ช้างอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะในน้ำนมแม่ช้างมี สารอาหารที่ลูกช้างต้องการมากกว่านมผง



สำหรับช้างพังพุ่มพวง ซึ่งมีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกช้างและเป็นแม่รับให้แก่ลูกช้าง มาแล้วนั้น เลี้ยงดูเป็นอย่างดีทุกเชือกและรักลูกช้างทุกเชือกถึงแม้จะไม่ใช่เป็นลูกแท้ๆๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากระยะเวลาเลี้ยงดูลูกช้างผ่านมาหลายปี น้ำนมก็มีไม่มากเหมือนตอน เป็นแม่ลูกอ่อน แรกๆ บุญหลงก็พยายามดูดนมจากอกพังพุ่มพวง ซึ่งขณะดูดนมอยู่ก็ส่ง เสียงร้องในลำคอเหมือนกับจะบอกว่าน้ำนมแม่ไหลมาไม่ทันใจเลย จนพี่ควาญผู้ดูแล ต้องป้อนนมชงเสริมให้อีกครั้ง จนอิ่มก็จะวิ่งเล่นใกล้ๆกับที่แม่ช้างยืนอยู่ และพอหิวก็จะ เดินเข้าไปหาแม่ช้างและพยายามดูดนมอีก แต่ก็เป็นเช่นเดิม ซึ่งทางคณะสัตวแพทย์โรง พยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง ก็ยังต้องสั่งให้เสริมด้วยนมชงอีก หลังจากดื่มนมอิ่มแล้ว ก็จะวิ่งเล่นสักพัก ไปหาพี่ควาญบ้าง เล่นกับพี่ควาญ แต่ก็จะไม่อยู่ ไกลแม่ช้างเหมือนวันแรกๆๆที่มาถึง เวลาก็จะนอนหลับอยู่ใกล้ๆ กับแม่ช้างพังพุ่มพวง เสมอ และทางสัตวแพทย์ให้กำชับควาญผู้ดูแลลูกช้างพลายบุญหลง ให้นมลูกช้างจน อิ่มและให้ได้พักผ่อนมากๆ ให้นอนมากๆ เหมือนลูกช้างทั่วไป เพื่อจะได้ทำให้ร่างกาย แข็งแรงด้วย




ดังนั้นหากเป็นช่วงเวลาที่ลูกช้างนอนหลับ ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. จ.ลำปาง จะได้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้ประสงค์จะมาเยี่ยมลูกช้างพลายบุญหลง งดเยี่ยม ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อที่ช้างจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะสังเกตจากป้ายแนะนำ หรือ มองดูได้ในระยะห่างๆๆ

ผู้เขียนหวังว่าข่าวของพลายบุญหลงคงจะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อ่านหลายๆ คนที่รักช้างในช่วงเวลานี้ได้ และหากท่านมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะช่วยช้างที่กำลังประสบกับภาวะน้ำท่วมในอยุธยาได้ก็ขอความร่วมมือบริจาคได้ตามที่บัญชีที่แจ้งไว้ข้างบน ท่านก็จะสามารถช่วยชีวิตสัตว์แสนรู้ตัวโตๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนานและได้สร้างคุโณปการให้มนุษย์อย่างเราไว้มากมาย

เครดิตเนื้อหาข่าวและภาพประกอบโดย ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยลำปาง http://www.thailandelephant.org/

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปารีส...ในความรู้สึก !!! Paris...it's the way you make me feel !!!




หลังจากเปิดบทความนี้ด้วยคลิปวีดีโอการท่องเที่ยวของพวกเราในปารีสไปช่วงหนึ่งแล้ว ก็ได้เวลามาบรรยายความรู้สึกและเล่าถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาในปารีสในช่วงเวลาสองสามวัน

สำหรับตัวผู้เขียนเองครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปสัมผัสเมืองหลวงแห่งแฟชั่นและศิลปะของโลกอย่างปารีส เมื่อสมัยเพิ่งรับราชการใหม่ๆ ยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย (ตอนนี้ตำแหน่งก็ยังน้อยอยู่) ผู้เขียนมีโอกาสไปยุโรปเป็นครั้งแรกเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานต่างประเทศแห่งหนึ่ง ระยะเวลาฝึกอบรมก็นานพอดู โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งเขาจัดกำหนดการให้ไปอบรมที่องค์การยูเนสโกในปารีส (เอ่ยชื่อหน่วยงานนี้ทีไร คนไทยปวดใจทีนั้น) ครั้งนั้นเลยเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ไปเห็นปารีสในแง่มุมต่างๆ

ปารีสเมื่อครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ภาพวาด งานศิลป์ ข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์สวยงามอย่างไร ก็ยังคงสวยอยู่อย่างนั้น (ถึงแม้ว่าจะสังเกตได้ว่ามีของเก่าบางอย่างหายไป เช่น ข้าวของที่เป็นอารยธรรมเก่าแก่ของอียิปต์บางอย่างถูกส่งคืนกลับไปประเทศเจ้าของแล้ว) นอกจากนั้นความลือชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่คอยล่าของมีค่าจำพวกกระเป๋าเงินหรือของมีค่าอื่นๆของนักท่องเที่ยวและคนทั่วๆไป ในสถานีรถไฟใต้ดินและตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในปารีส ก็ยังคงมีอยู่อย่างยั่งยืน แต่ก็อย่างว่าที่ไหนๆ ก็มีมิจฉาชีพ ฉกชิงวิ่งราว เราซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวก็ต้องคอยระมัดระวังเอาเองจะได้เที่ยวอย่างมีความสุข แต่อย่างน้อยปารีสก็มีคุณูปการอย่างหนึ่งกับตัวผู้เขียนเองนั่นก็คือผู้เขียนรู้จักหัดอ่านแผนที่และวิธีใช้รถไฟใต้ดินก็เมื่อมาปารีสในคราวนั้นนั่นเอง จำได้ว่าพอเริ่มรู้จักอ่านแผนที่และการเปลี่ยนสายรถไฟใต้ดินตามสถานีต่างๆ รู้สึกสนุกมาก (ก็ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้) จนต้องพยายามหาเวลามาทดลองนั่งบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย

การกลับมาอีกครั้งในคราวนี้ความรู้สึกก็ไม่ต่างไปจากครั้งแรก ชอบสิ่งนั้นชังสิ่งนี้ซึ่งก็เป็นธรรมดาของอารมณ์มนุษย์ แต่โดยรวมก็ยังคงรู้สึกว่าปารีสก็ยังคงเป็นปารีสที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของมันเอง สำหรับการจัดเวลาการท่องเที่ยวของกลุ่มเราค่อนข้างผ่อนคลายลงมากเมื่อเทียบกับการเที่ยวในลอนดอน ดูเหมือนว่าเราจะเดินน้อยลง และใช้เวลาในสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งยาวนานมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่า paris musuem pass ที่เราใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ วิหารนอเตรอดาม หรือแม้กระทั่งพระราชวังแวร์ซายน์ มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับ london pass เลยทำให้พวกเรารู้สึกว่าไม่ต้องใช้ให้คุ้มด้วยการเข้าชมหลายๆ แห่งเหมือนกับในลอนดอน นอกจากนี้ราคาค่าตั๋วโดยสารรถไฟใต้ดินของที่นี่ก็ถูกกว่าที่ลอนดอน และก็มีหลากหลายประเภทให้นักท่องเที่ยวเลือก แต่สำหรับพวกเราแล้วเราเลือกที่จะซื้อตั๋วแบบ "a carnet” ที่เป็นตั๋วชุดสิบใบใช้สำหรับการเดินทางครั้งเดียวหรือแบบ single ride ตั๋วชุดสิบใบนี้ราคา เพียง ๑๒.๕๐ ยูโร เฉลี่ยก็คือใบละ ๑.๒ ยูโรต่อการเดินทางหนึ่งครั้งและต่อคน ซึ่งนับว่าถูกกว่าซื้อแบบตั๋วเดี่ยวที่เขาคิดราคาที่ ๑.๗ ยูโร

สำหรับเรื่องอาหารการกินของเราก็เป็นไปตามสภาพของกระเป๋าเงิน มื้อไหนกินหรูแล้วก็ต้องเฉลี่ยกลับมากินแบบแบกะดินบ้างเพื่อให้สถานภาพทางการเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในประเทศสุดท้าย ซึ่งยังเหลืออีกตั้งสี่ประเทศ โดยจะเห็นว่าบางครั้งพวกเราก็ไปนั่งกินในร้านอาหารอย่างดีเลย อย่างเช่น ร้านที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็นร้านที่ตั้งอยู่ถนนชองเอลิเซ่เชียวนา แล้วราคาก็ไม่แพงอย่างที่พวกเรากลัวในตอนแรก เป็นร้านอาหารสัญชาติเบลเยี่ยม แต่ก็ทำสไตล์ฝรั่งเศส โดยอาหารขึ้นชื่อของเขาคือหอยแมลงภู่อบซอสอะไรซักอย่าง คล้ายๆ หอบแมลงภู่อบของบ้านเราที่ขายตามร้านทะเลเผาเหมือนกัน แต่น้ำซอสเขาสุดยอดมากเลย พวกเราตักกินซะจนเกลี้ยงหม้อเลย ส่วนหนึ่งคงอยากให้คุ้มค่าเงินที่จ่าย พูดซะตั้งนานยังไม่ได้บอกชื่อร้านเลย ชื่อร้านคือ “Léon de Bruxelles” ตั้งอยู่ถนนชองเอลิเซ่เลย มีคนรีวิวร้านเขาด้วยเนี่ย

www.mdfeeds.com/2010/06/08/leon-de-bruxelles-champs-elysees-paris-france

และนี่ก็เว็บไซท์ของร้านเขา ท่านไหนมีโอกาสไปปารีสก็ขอฝากร้านนี้ในอ้อมใจท่านด้วย อร่อยจริงเรื่องหอยอบ (นี่ไม่ได้ค่าโฆษณา)

www.leon-de-bruxelles.fr

และบางมื้อบางคราวเราก็ต้องกินแบบถนอมเงินในกระเป๋ามีอะไรนิดหน่อยที่นำไปจากเมืองไทยก็เอามาแบ่งๆ กันกิน อย่างตอนที่ไปแวร์ซายน์น่ะก็นั่งกินกันแบบปิกนิกที่สวนข้างวังแวร์ซายน์อย่างที่เห็น จนบางทีคิดว่าตัวเองเป็นออสการ์ เดอ จาร์เจ กลับชาติมาเกิด ถึงตรงนี้มีหลายคนขมวดคิ้วแล้วซิ ใครเกิดไม่ทันยุคสมัยการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง "กุหลาบแวร์ซายน์" รับรองไม่รู้จักออสการ์ เดอ จาร์เจ แน่ๆ เดอ จาร์เจนะ ไม่ใช่ เดอลา โฮยา เพราะนั่นเขาเป็นนักมวย ใครไม่ทราบลองหาคำว่า "กุหลาบแวร์ซายน์" ในกูเกิลได้

ท้ายสุดของวันเราก็ยังมาพึ่งอาหารผัดๆ ทอดๆ แบบเอเชียที่ร้านอาหารจีนที่ชื่อ "Jinding” ซึ่งเป็นร้านใกล้ ที่พักของเรา หรือไม่ก็อาศัยผลไม้ ไส้กรอก แฮมจาก marche franprixหรือซุปเปอร์ทีอยู่ใกล้ๆ กัน แค่นี้ก็มีแรงที่จะเที่ยววันต่อๆ ไปแล้ว

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

พลายบุญหลง

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวอยู่หนึ่งข่าวที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษและรู้สึกกระทบใจตัวเองอย่างมาก ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายคนที่รู้จักผู้เขียนดีคงเดาว่าต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแบบ animal farm ในประเทศนี้แน่ๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสัตว์การเมืองประเภทนั้นหรอก แต่เป็นเรื่องของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลนั่นก็คือช้างนั่นเอง

ช้างที่ตกเป็นข่าวในช่วงนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า "พลายบุญหลง" โดยพลายบุญหลงเป็นลูกช้างป่าอายุประมาณ ๓ ถึง ๖ เดือน ลูกช้างในช่วงวัยเท่าพลายบุญหลงถือว่ายังเป็นช้างเด็กมากๆ และการดำรงชีวิตอยู่ของช้างเด็กวัยนี้ต้องอาศัยนมแม่เป็นหลัก ถึงจะอยู่รอดปลอดภัยจนโตเป็นช้างพลายตัวโตๆ ในอนาคต แต่ก็ให้มีเหตุทำให้พลายบุญหลงต้องพลัดพรากจากอกแม่ที่อบอุ่น เมื่อมีน้ำป่าไหลแรงพัดพาเจ้าช้างป่าตัวน้อยนี้ที่กำลังหากินอยู่กับแม่ช่วงกลางคืนในป่าบริเวณ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง" จังหวัดเลย ทำให้เจ้าช้างตัวนี้หลงเข้ามาบริเวณชุมชนของชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านจับตัวช้างน้อยตัวนี้ได้ (ลักษณะนามของช้างป่าเรียกว่า "ตัว" ในขณะที่ช้างบ้านที่ถูกเลี้ยงไว้จะเรียกลักษณะนามเป็น "เชือก") ก็ตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่า "พลายบุญหลง" พร้อมกับส่งให้ "โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง" อำเภอภูเรือ จ. เลย ดูแลพลายน้อยนี้ต่อไป

เมื่อแรกมาถึงพลายบุญหลงค่อนข้างผอม ถ่ายเหลว มีบาดแผลบริเวณปากและลำคอ ทำให้สัตวแพทย์ต้องคอยประคบประหงมเพราะช้างเล็กๆ อย่างนี้มีความเสี่ยงกับชีวิตอยู่เหมือนกันหากต้องดำรงชีวิตอยู่โดยขาดน้ำนมจากแม่ช้าง และมีสภาพย่ำแย่อย่างที่กล่าว

ตัวผู้เขียนเองโดยพื้นฐานเป็นคนใจอ่อนกับสิ่งมีชีวิตที่กำลังประสบกับความทุกข์ยากไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีเสมอไป แต่สำหรับพลายบุญหลงนี้ ตอนแวบแรกที่ได้เห็นภาพพลายบุญหลงในคลิบวิีดีโอที่สำนักข่าวท้องถิ่นเมืองเลยเขาโพสประกอบหัวข้อข่าว มันรู้สึกกระทบใจตัวเองอย่างแรงซึ่งผู้เขียนเองก็อธิบายไม่ถูก ผู้เขียนเองเชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยเกิดความรู้สึกอย่างนี้

ในช่วงนั้นหลังจากได้ทราบว่าทางศูนย์ฯ ขอความร่วมมือผู้ใจบุญช่วยบริจาคเงินเพื่อช่วยค่านม ค่ายาสำหรับพลายบุญหลง ผู้เขียนเองไม่ได้รีรอเลยที่่จะร่วมบริจาค และก็ดีอยู่อย่างที่ธนาคารที่ทางศูนย์ฯ เปิดบัญชีไว้มีสาขาตั้งอยู่ที่ทำงานผู้เขียนพอดี เรื่องก็เลยง่าย

(คลิบข้างล่างเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ย้ายพลายบุญหลงไปเลี้ยงไว้ที่คอกกักของศูนย์ฯ เพื่อให้ห่างไกลจากการรบกวนของชาวบ้านและเด็กๆ)




และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้เขียนก็คอยติดตามข่าวของเจ้าพลายบุญหลงมาโดยตลอดจากเว็บไซท์ข่าวท้องถิ่นของเมืองเลย ทำให้ทราบว่าสุขภาพของพลายบุญหลงเริ่มดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ พร้อมกันนั้นผู้เขียนก็ได้ทราบว่าทางสัตวแพทย์ขอบริจาคโปรตีนผงยี่ห้อดังจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของพลายบุญหลง

(คลิบข้างล่างเป็นช่วงเวลาที่พลายบุญหลงได้รับการอนุบาลในคอกกักของศูนย์ฯ เพื่อให้สัตวแพทย์คอยดูแลและเฝ้าสังเกตอาการ)




มาถึงตรงนี้ผู้เขียนต้องขอบคุณพี่ริน (พี่ที่ไปเที่ยวด้วยกันที่ยุโรป) ที่ช่วยกรุณาบริจาคเงินสมทบเพื่อช่วยซื้อโปรตีนให้พลายบุญหลง และขอบคุณเพื่อนแป๋วที่เป็นธุระจัดหาโปรตีนที่ว่าให้ผู้เขียนได้ส่งไปให้พลายบุญหลงจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนรู้แล้วว่าความรู้สึกอิ่มเอมใจในฐานะที่เป็นผู้ให้นั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่ผู้เขียนได้เพียรพยามติดตามตรวจสอบสถานะการเดินทางของกล่องพัสดุที่ผู้เขียนส่งไปให้พลายบุญหลงตั้งแต่วันพุธที่ ๑๔ กันยายน ในเว็บไซท์ของไปรณีย์ไทย เมื่อกล่องพัสดุที่ว่ามีสถานะการนำจ่ายที่ถึงมือผู้รับเรียบร้อยแล้ว (แน่นอนว่าเจ้าพลายบุญหลงไม่ได้เซ็นรับพัสดุเองหรอก ถึงแม้ว่าหน้ากล่องจะระบุชื่อพลายบุญหลงเป็นผู้รับก็ตามที)






หลังจากเห็นข้อความของสถานะของพัสดุที่ว่าแล้ว ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองได้รับของขวัญทางด้านจิตใจที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้รับมาเลยในช่วงเวลาที่เดือนนี้เป็นเดือนเกิดของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าบางครั้งความสุขในการฉลองวันเกิดของคนเราก็คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำเงินไปซื้อของขวัญที่หรูหราราคาแพง แต่ถ้าเงินจำนวนนั้นสามารถที่จะต่อชีวิตหรือบรรเทาความทุกข์ยากให้กับเพื่อนร่วมโลกหรือตามคำพระท่านว่าคือเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย แค่นี้ก็มีความสุขล้นเหลือแล้ว

video credit to youtube by linkloei

photo credit to http://www.golokdo.go.th/index.php?mo=3&art=514962

หมายเหตุ: เข้ามาเพิ่มเติมข้อมูล ณ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ ทางศูนย์ฯ ได้ย้ายพลายบุญหลงไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่จังหวัดลำปางแล้ว หลังจากไม่สามารถตามหาแม่ช้างป่าของพลายบุญหลงได้ พลายบุญหลงคงต้องปรับสภาพการใช้ชีวิตจากช้างป่าเป็นช้างเลี้ยงต่อแต่นี้ไป



รายละเอียดข่าวจาก manager online

"ลำปาง - ลูกช้างป่าพลายบุญหลง อายุ 4 เดือนที่พลัดหลงฝูงจากป่าภูหลวง ถูกส่งมาเลี้ยงดูที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยลำปางแล้ว ทางศูนย์เตรียมหาแม่รับให้ หลังลูกช้างไม่ได้ดื่มนมแม่เกรงจะส่งผลกระทบด้านการเจริญเติบโต

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า ลูกช้างป่าพลายบุญหลง อายุ 4 เดือน ซึ่งพลัดหลงฝูงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เข้ามาในหมู่บ้านบ้านเลยวังไสย์ ต.เลยวังไสย์ จ.เลย หลังเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก จนชาวบ้านแจ้งให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงทราบ จึงได้มีจัดชุดปฏิบัติการ 5 ชุดเพื่อตามหาโขลงแม่ช้างที่คาดว่าลูกช้างจะหลงออกมาตามแนวชายป่า ด้วยการตามรอยเท้าและเสียงร้องตามหาลูกของแม่ช้าง แต่ไม่พบว่ามีโขลงแม่ช้างที่มีลูกเล็กแต่อย่างใด ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูกช้างพลายไว้ในเขตอนุรักษ์ฯ

แต่เนื่องจากลูกช้างยังเล็กและยังไม่หย่านม เกรงว่าหากลูกช้างไม่ได้ดื่มนมแม่ก็อาจจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ทางเขตจึงได้พยายามติดตามหาโขลงช้างที่มีลูกช้างพลัดหลงเพื่อนำลูกช้างกลับคืนแต่สุดท้ายก็ติดตามหาไม่พบ

ดังนั้น ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งนำโดยนายชัยณรงค์ ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และนายวัชระ ธรรมสอน หัวหน้าโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง พร้อมด้วยทีมสัตว์แพทย์ศูนย์ช่วยเหลืออาหารช้างป่าภูหลวง ได้นำลูกช้างพลายบุญหลง เดินทางมาถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เมื่อ 1 ต.ค.54 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทางศูนย์ฯ เป็นผู้ดูแลต่อไป

เบื้องต้นทางทีมสัตว์แพทย์ ได้นำลูกช้างไว้ในโรงเรือนและพักผ่อนก่อนหนึ่งคืน หลังจากนั้นในวันพรุ่งนี้จะได้หาช้างมาเทียบเพื่อหาช้างแม่รับให้กับลูกช้างพลายต่อไป และหากได้แม่รับที่สามารถให้นมกับลูกช้างได้ก็จะเป็นการดี เพราะลูกช้างยังต้องดื่มน้ำนมแม่เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

สำหรับลูกช้างพลายบุญหลง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่อาจจะขาดสารอาหารบ้าง แต่โดยรวมถือว่าสุขภาพดี และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ไม่ดุร้ายและไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีการคุมขัง"

เครติดรูปภาพและเนื้อหาข่าวจาก manager online



ปัจจุบันพลายบุญหลงมีแม่รับแล้วชื่อพังพุ่มพวง ช่างเป็นข่าวดีจริงๆ ดีใจด้วยนะเจ้าช้างน้อยขอให้โตไวๆ

“พลายบุญหลง” ได้แม่รับแล้ว
วันศุกร์ ที่ 07 ต.ค. 2554




ลำปาง 7 ต.ค.- ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยหาแม่รับให้ช้างน้อยหลงแม่จากป่าภูหลวงได้เรียบร้อยแล้ว ชื่อ พังพุ่มพวงกำลังตั้งท้อง มีประวัติดี เคยเป็นแม่รับให้พลายปฐมภพช้างเชือกแรกของเอเชียเกิดจากผสมเทียมน้ำเชื้อสด

นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง เปิดเผยถึงพลายบุญหลง อายุ 4 เดือน พลัดหลงจากแม่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย และถูกส่งมาให้อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ระหว่างจัดหาแม่รับให้กับลูกช้าง ทางศูนย์ฯ ให้นมถั่วเหลืองกับพลายบุญหลงวันละกว่า 3 ลิตร ทดแทนนมแม่และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ขณะนี้ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว เนื่องจากหาแม่รับช้างได้เรียบร้อย คือ พังพุ่มพ่วง อายุ 30 ปี กำลังท้องอยู่ 12 เดือน ซึ่งสามารถเข้ากันได้ดี และยอมให้พลายบุญหลงกินนมจากเต้า แต่ยังต้องให้นมถั่วเหลืองเสริมด้วย เพื่อให้ลูกช้างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขณะนี้พลายบุญหลงไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว
นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวว่าพังพุ่มพวงเป็นแม่พันธุ์ที่ดีมากนิสัยไม่ดุร้าย เป็นช้างท่องเที่ยวเคยตกลูกมาแล้ว 1 เชือก อีกทั้งยังเคยเป็นแม่รับของพลายเอไอ หรือพลายปฐมสมภพ ชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช้างที่เกิดขึ้นจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสดเชือกแรกของเอเชีย ถือว่าพังพุ่มพวงมีประวัติในการดูแลช้างน้อยอย่างดี.-สำนักข่าวไทย


ที่มา http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/278153.html

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

เลอ มง แซ็ง มิแชล (Le Mont Saint Michel) มนต์ของเก่าที่เรียกเราไปเยือน

กว่าที่กำหนดการท่องเที่ยวครั้งนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ผู้เขียนต้องอาศัยข้อมูลการท่องเที่ยวจากหลายแหล่งทั้งของไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดสนทนาใน blueplanet ของพันธ์ทิพย์ seat61 หรือเว็บไซท์ทางการของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

สำหรับการจัดกำหนดการท่องเที่ยวในฝรั่งเศส ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะออกไปโลดโผนโจนทะยานนอกเมืองปารีสแต่อย่างใด แต่ให้บังเอิญว่าได้ไปอ่านกระทู้หนึ่งในบอร์ดสนทนา blueplanet ซึ่งเจ้าของกระทู้ได้ขอคำแนะนำจากผู้รู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของฝรั่งเศส มีผู้ตอบท่านหนึ่งให้คำแนะนำเจ้าของกระทู้ว่าหากมีเวลาออกไปเที่ยวนอกปารีส ขอให้ลองไปเที่ยว "มง แซ็ง มิแชล หรือภาษาฝรั่งเศสเขาเรียก Le Mont Saint Michel” รวมทั้งมีภาพประกอบให้ดูด้วย ยังไงก็ตามผู้แนะนำท่านนั้นไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางจากปารีสไป มง แซ็ง มิแชล มากนักเพียงแต่บอกว่าการเดินทางไปเองไม่ค่อยง่ายเท่าไหร่ แต่จะบอกว่ายากก็ไม่เชิง และระยะทางจากปารีสก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ยังไงก็ตามผู้เขียนขอบอกว่าเมื่อได้เห็นรูปประกอบของ มง แซ็ง มิแชล ที่ผู้แนะนำท่านนำมาโพสไว้ในกระทู้แล้ว ความคิดก็โลดแล่นขึ้นมาทันทีว่าเราจะต้องไปสถานที่แห่งนี้ให้ได้ ว่าแล้วก็ขอฉันทานุมัติกับบรรดาพี่ๆ ลูกทัวร์ทุกคนว่าผู้เขียนอยากไป มง แซ็ง มิแชล ทุกคนเห็นเป็นอย่างไร พี่เขาก็ดีจริงๆ เลย เห็นดีด้วยทุกอย่าง หลังจากได้ไฟเขียวแล้วก็เริ่มค้นหารายละเอียดความเป็นมาของ มง แซ็ง มิแชล รวมทั้งการเดินทางจากปารีสไปสถานทีแห่งนี้ทันที




มง แซ็ง มิแชล เป็นวิหารเก่าแก่ที่มีอายุนับพันปีของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ถ้าวัดจากยอดสูงสุดของวิหารจะมีความสูง ๑๗๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนเกาะที่มีน้ำทะเลล้อมรอบในแคว้นนอร์มังดี ตัววิหารสร้างด้วยหินแกรนิตที่แข็งแรงทำให้มีความทนทานสู้แดด ลม ฝน และการกัดกร่อนของน้ำทะเลจนอยู่มาได้เป็นพันปี แรกเริ่มเดิมทีวิหารแห่งนี้ไม่ได้เป็นวิหารสูงใหญ่โตเท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน การก่อสร้างและต่อเติมรวมทั้งการบูรณะ มง แซ็ง มิแชล มีมาหลายยุคสมัยเริ่มตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา วิหารมง แซ็ง มิแชล ได้ผ่านยุคสมัยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างยาวนาน บางยุคบางสมัยที่มีศึกสงครามผู้ครอบครองดินแดนแถบนี้ได้ใช้วิหาร มง แซ็ง มิแชล เป็นที่คุมขังนักโทษ ในขณะที่บางช่วงเวลา มง แซ็ง มิแชลถูกใช้เป็นสถานที่สงบจิตสงบใจของผู้แสวงบุญและนักบวชชาวคริสต์ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงมีเสน่ห์และมนต์ขลังในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือน มง แซ็ง มิแชล ไม่ต่ำกว่าสามล้านคนเลยทีเดียว จะเป็นเพราะมนต์ของความเก่าหรือเรื่องราวน่าสนใจในอดีตที่มีอย่างยาวนานก็แล้วแต่ แต่ช่วงเวลา ณ ขณะนั้นจิตใจของผู้เขียนได้เดินทางไปถึง มง แซ็ง มิแชลเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นภาพวิหารแห่งนี้


คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซท์ทางการของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ถ้าลองมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยอะๆ อย่างนี้เขาคงต้องมีข้อมูลการเดินทางให้เราสิ ผู้เขียนนึกในใจ และแล้วก็ไม่ผิดหวังเมื่อเว็บไซท์ทางการของ มง แซง มิแชล ตามลิงก์นี้
www. http://www.ot-montsaintmichel.com/en/accueil.htm
บอกข้อมูลการเดินทางไป มง แซง มิแชล ที่ค่อนข้างละเอียดไม่ว่าจะทางเรือ รถยนต์ เครื่องบิน หรือแม้กระทั่งรถไฟ สำหรับพวกเราแล้วเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางโดยรถไฟ ผู้เขียนเลือกเอาวันที่ ๒ เมษายน เป็นวันเดินทาง (เป็นวันดีเสียด้วยเพราะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่พวกเราทราบดีว่าท่านทรงปราดเปรื่องวิชาหลากหลายแขนง รวมทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ด้วย)

โดยเราออกเดินทางจากปารีสที่สถานีรถไฟมองปานาส (Paris Montparnasse) เวลา ๐๗.๐๕ น. แล้วไปลงที่สถานีรถไฟเมืองเรนเนส (Rennes Gare) ในเวลา ๐๙.๑๐ น. ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถไฟ TGV เส้นทางแรกนี้คนละ ๔๔ ยูโร จากนั้นเราจะต้องนั่งรถโดยสารต่อไปอีกประมาณชั่วโมงครึ่งจึงจะถึง มง แซ็ง มิแชล โดยเยื้องๆ กับสถานีรถไฟเมืองเรนเนสจะเป็นที่ตั้งของสถานีรถโดยสารของเมืองเรนเนสที่จะพาพวกเราไป มง แซ็ง มิแชล

ผู้เขียนทราบดีอยู่แล้วว่าระบบการเดินทางและการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะในยุโรปสะดวกและตรงเวลามาก ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะมีความสะดวกสบายอย่างมากไม่ว่าจะนั่งรถไฟไปต่อรถโดยสาร หรือนั่งรถโดยสารไปต่อรถไฟ การจัดกำหนดการเดินรถของเขาจะส่งต่อเวลากันได้เป็นอย่างดี ในกรณีของเราก็เช่นเดียวกันเมื่อเราลงมาถึงสถานีรถไฟเรนเนสแล้ว เพียงแค่ข้ามถนนเส้นเล็กๆ ไปเท่านั้นเราก็ถึงสถานีรถโดยสารแล้ว (นี่ก็อีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนในยุโรปถึงชอบใช้ขนส่งสาธารณะก็เพราะมีความสะดวกอย่างนี้นี่เอง ทุกท่านลองไปสังเกตดูได้ว่าเมืองส่วนใหญ่ในยุโรปสถานีรถไฟและรถโดยสารจะอยู่ใกล้กันมาก บางแห่งอยู่ในอาคารเดียวกันด้วยซ้ำ)

เมื่อเราลงจากรถไฟเมื่อเวลา ๐๙.๑๐ น. แล้ว เรามีเวลาอีกประมาณ ๒๐ นาทีก่อนที่รถโดยสารเที่ยวแรกของวันจะออกจากสถานีรถโดยสารของเมืองเรนเนส เมื่อเราไปถึงช่องขายตั๋วเราเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายนั่งรอรถโดยสารอยู่แล้ว มองออกไปนอกอาคารสถานีรถโดยสารก็ยังเห็นนักท่องเที่ยวอยู่จำนวนหนึ่งยืนตั้งแถวรอรถโดยสารที่จะพาเราไป มง แซ็ง มิแชล บริเวณชานชาลาที่สอง ไม่นานหลังจากที่เราซื้อตั๋วราคาคนละ ๑๑.๖๐ ยูโรเรียบร้อยแล้ว รถโดยสารก็มาเทียบชานชาลา ผู้เขียนเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากมายแล้วยังนึกว่าแค่รถคันเดียวนี้คงไม่พอละมัง แต่ก็ยังคงคิดในแง่ดีว่าเดี๋ยวเขาคงจะจัดรถอีกคันนึงเพราะทุกคนในที่นี้ซื้อตั๋วเที่ยวนี้กันหมดแล้วนี่ เขาจะขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งในรถได้ไง ผู้โดยสารเรียงแถวทยอยกันขึ้นรถไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงกลุ่มพวกเรา เราส่งตั๋วโดยสารให้คนขับตรวจสอบ หนึ่งคนผ่านไป สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด พอคนที่แปดคนสุดท้ายในกลุ่มเราผู้โชคดีได้แก่ พี่จุ๋ม คนขับรถนั่นส่ายหน้าไม่ยอมรับตั๋วพี่จุ๋มพร้อมกับบอกว่าที่นั่งเต็มแล้ว พวกเราที่ทยอยหาที่นั่งกันได้แล้วลุกกันพรึ่บพรั่บ เมื่อเห็นพี่จุ๋มยืนอยู่หน้ารถไม่ยอมเดินมาสักที ผู้เขียนเลยเดินออกไปข้างหน้ารถแล้วก็ได้รับคำตอบเดียวกันคือไม่มีที่นั่งพอสำหรับพี่จุ๋มแล้ว ผู้เขียนมองออกไปนอกตัวรถก็ยังคงเห็นผู้โดยสารตกค้างอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ก็เลยถามคนขับไปว่าแล้วจะทำไงกับคนที่จ่ายค่าตั๋วสำหรับรถเที่ยวนี้แล้ว คนขับนั่นบอกอย่างไม่ยินดียินร้ายว่าก็ไปขอคืนเงินได้ หรือจะเก็บตั๋วไว้รอรถเที่ยวถัดไปซึ่งจะออกเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น.

มาด้วยกันแล้ว พอถึงเวลาไปก็ต้องไปด้วยกัน พวกเราทั้งเจ็ดที่ได้ที่นั่งแล้วก็เลยต้องเดินลงจากรถ ซึ่งสร้างความยินดีปรีดากับผู้โดยสารที่ต่อแถวหลังจากพี่จุ๋มที่มองชะเง้อชะแง้ขึ้นมาบนรถว่าข้างบนเขาเจรจาอะไรกัน เพราะนั่นหมายความว่าจะมีที่นั่งว่างสำหรับคนเหล่านั้นอีกเจ็ดคน พอพวกเราลงจากรถลงไปเท่านั้นคนเหล่านั้นก็กรูขึ้นไปบนรถ แต่ยังไงก็ตามนอกเหนือจากพวกเราแล้วก็ยังคงมีผู้โดยสารตกค้างอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้เขียนรู้สึกว่าการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้เป็นไปด้วยดีส่วนหนึ่งก็เพราะบรรดาพี่ๆ ลูกทัวร์ของผู้เขียนมีความเข้าใจสถานการณ์และมองโลกในแง่ดี พี่ๆ เขาพูดกับผู้เขียนหลังจากที่เราตกรถเที่ยวแรกว่า ที่จริงก็ดีเหมือนกันที่เราตกรถเที่ยวนี้ เพราะเราจะมีเวลาอีกร่วมสองชั่วโมงที่จะได้ไปดูบ้านดูเมืองเรนเนสแห่งนี้ ก่อนที่เราจะนั่งรถเที่ยวถัดไป เพราะตอนขากลับเราจะไม่กลับมาเมืองนี้อีก เนื่องจากเราต้องนั่งรถไปต่อรถไฟในอีกเมืองหนึ่งเพื่อกลับปารีส คำพูดเหล่านั้นได้กลบความรู้สึกผิดหวังเล็กๆ ของผู้เขียนที่อยากจะไปเห็น มง แซ็ง มิแชล ให้เร็วที่สุดตามที่ตั้งใจไว้

แล้วก็เป็นอย่างที่พี่เขาบอก เราใช้เวลาร่วมชั่วโมงที่จะเดินสำรวจเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งมีอะไรๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ร้านขายของ อาคารบ้านเรือน รวมทั้งผู้คน แต่ยังไงก็ตามเราก็เผื่อเวลาส่วนหนึ่งเพื่อที่จะได้เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่มายืนรอรถโดยสารที่ชานชาลา คราวนี้ไม่พลาดหลังจากมีบทเรียนว่าเมื่อซื้อตั๋วแล้วต้องรีบมายืนรอที่ชานชาลาเลย อย่าโอ้เอ้ ไม่นานหลังจากนั้นเมื่อรถโดยสารมาเทียบชานชาลาพวกเราก็เป็นผู้โดยสารแปดคนแรกที่ได้ขึ้นบนรถ (คราวนี้ทากาวติดไว้เบาะที่นั่งแล้ว)

ระหว่างทางเราได้เห็นบรรยากาศแบบชนบทของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ท้องทุ่งสำหรับปลูกพืชผักและใช้เลี้ยงสัตว์ ผ่านเส้นทางที่เป็นถนนแบบชนบทเล็กๆ คดเคี้ยวไปมาผ่านหมู่บ้านต่างๆ มากมาย ไม่นานหลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็น มง แซ็ง มิแชล ค่อยๆ โผล่พ้นเส้นขอบฟ้าไกลลิบๆ อยู่เบื้องหน้า โดยมีทุ่งหญ้าเขียวขจีอยู่เบื้องหน้าและความเวิ้งว้างของทะเลสุดลูกหูลูกตาเป็นฉากพื้นหลัง ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นของตนเองที่ได้เห็นภาพ มง แซ็ง มิแชล ที่ค่อยๆ ปรากฎอยู่เบื้องหน้าด้วยสายตาของตนเองมากกว่าการเห็นภาพนั้นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากบ้านที่ห่างไกลออกไปจากที่นี่เกือบหมื่นกิโลเมตร

รถโดยสารพาเรามาเทียบถึงประตูทางเข้า มง แซ็ง มิแชล และเมื่อเราเดินลงจากรถแล้วจึงได้เห็นนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัย เดินกันให้คลาคล่ำ เราเดินสำรวจดูสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปตามทางเรื่อยๆ และก็มาหยุดตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์ของวิหารซึ่งต้องซื้อตั๋วเข้าชม โดยราคาของตั๋วขึ้นอยู่กับจำนวนของพิพิธภัณฑ์ที่เราจะเข้าชม มีตั้งแต่ราคาคนละ ๙ ยูโรสำหรับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่ง และ คนละ ๑๘ ยูโรสำหรับทุกพิพิธภัณฑ์ที่เขาจัดแสดง ไหนๆ ก็มาถึงแล้วเราเลือกที่จะจ่ายคนละ ๑๘ ยูโรเพื่อเข้าชมทุกสิ่งอย่าง ข้างในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของ มง แซ็ง มิแชล เครื่องใช้ไม้สอยในยุคเก่าๆ ที่ผ่านมา รวมไปถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับขังนักโทษในช่วงที่สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเรือนจำชั่วคราว และโบสถ์สำหรับทำพิธีภาวนาของชาวคริสต์ เราเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ จนถึงยอดสูงสุดของ มง แซ็ง มิแชล และมองลงมาข้างล่างเพื่อที่จะได้เห็นลานจอดรถบนทางที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแผ่นดินกับตัวเกาะที่ตั้งของ มง แซ็ง มิแชล ในขณะที่ข้างๆ กันนั้นคลื่นจากทะเลก็ซัดเข้าหาทางเชื่อมนั้นเป็น ระยะๆ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจคือการได้ดูน้ำทะเลหนุนทางเชื่อมแห่งนี้ เขาจะมีกำหนดการบอกช่วงเวลาว่าวันไหนบ้างที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูงจนท่วมทางเชื่อม ซึ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่ว่านักท่องเที่ยวจะได้รับคำแนะนำให้ไปจอดรถที่อื่น

หลังจากที่ได้ชมตามที่ต่างๆ สมความตั้งใจแล้ว ก็ได้เวลากลับกันเสียที โดยขากลับนี้เราจะต้องมารอรถตรงจุดที่เขาจอดให้เราลงตอนขามา โดยคราวนี้ที่หมายของเราคือเมือง Dol de Bretagne (ขออภัยอ่านไม่ออก) ซึ่งรถโดยสารจะออกจาก มง แซ็ง มิแชล บ่ายสามโมงห้าสิบห้านาที พอได้เวลาบ่ายสามเศษๆ พวกเราก็มานั่งรอตรงม้านั่งที่เขาจัดไว้ให้รอรถโดยสารแล้ว เพราะกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนตอนขามา ถ้าเกิดพลาดรถเที่ยวนี้จะยุ่งกันใหญ่เพราะจะตกรถไฟและก็กลับปารีสไม่ได้จะเป็นเรื่อง เราวนเวียนอยู่แถวนั้นคอยสอบถามพนักงานของบริษัทรถโดยสารที่ยืนอยู่แถวนั้นว่าจุดที่เรานั่งรออยู่เนี่ยเป็นจุดรับผู้โดยสารไปเมือง Dol de Bretagne แน่นะ พนักงานนั่นตอบเรายิ้มๆ ว่าใช่อย่างจริงแท้แน่นอนเลย เขาคงขำท่าทางเราที่ดูไม่ค่อยมั่นใจลุกลี้ลุกลนยังไงชอบกลมั้ง เอาเหอะเสียฟอร์มไปสักหน่อยดีกว่าตกรถกลับปารีสไม่ได้ก็แล้วกัน

สักพักรถโดยสารที่จะพาเราไปเมืองที่ว่าก็มาถึง ปรากฎว่าผู้โดยสารไม่เต็มรถอย่างที่เรากลัวตอนแรก พอขึ้นรถได้เราก็ถามย้ำกับคนขับอีกทีให้แน่ใจว่าไปเมือง Dol de Bretagne แน่นะ คนขับไม่ได้ตอบแค่พยักหน้างึกงัก สำหรับตั๋วเราก็ซื้อกับคนขับเลยราคาคนละ ๖.๑๐ ยูโร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔๐ นาทีจาก มง แซ็ง มิแชล เราก็มาถึงสถานีรถโดยสารเมือง Dol de Bretagne ในเวลา ๑๖.๓๕ น. อีกเหมือนกันที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ข้างกันนั่นแหละไม่ไปไหนไกล เราเดินข้ามถนนมาเพื่อมารอรถไฟ TGV ขบวนที่ ๘๐๙๐ ที่จะออกจากสถานีเมือง Dol de Bretagne สักพักรถไฟขบวนที่ว่าก็มาถึง จอดรับส่งผู้โดยสารอยู่สักพักก็ออกจากสถานีเมือง Dol de Bretagne ตรงตามเวลาคือ ๑๖.๕๘ น. สำหรับค่าตั๋วรถไฟเที่ยวนี้ราคาคนละ ๓๐ ยูโร เข้าใจว่าที่ถูกกว่าขามาเพราะไม่ใช่ขบวนด่วนเห็นจอดรับผู้โดยสารตลอดทางเลย กว่าจะถึงสถานีรถไฟมองปานาสก็เกือบสองทุ่มแล้ว

ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเดินทางที่ค่อนข้างสมบุกสมบัน แต่ในขณะเดียวกันในฐานะของคนที่ชอบท่องเที่ยวและชอบเรื่องราวเก่าๆ แนวประวัติศาสตร์ ก็รู้สึกได้ว่าความตั้งใจของตัวเองได้เติมเต็มแล้วเมื่อได้มาพบเห็น สัมผัสบรรยากาศ มง แซ็ง มิแชล ในวันนี้









video credit to youtube by thomeisa

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตัวอยู่ปารีสคลิชชี …ใจอยู่ลอนดอนเกรทพอร์ทแลนด์

หลังจากออกจากชานชาลาของสถานี Paris Gare du Nord แล้ว ผู้เขียนปล่อยให้พี่ๆ สำรวจเส้นทางเพื่อจะหาทางไปสถานีรถไฟใต้ดินของปารีส หรือคนที่นี่เขาเรียกว่าเมโทร ในขณะที่ตัวผู้เขียนกับพี่โป่งต้องไปทำภารกิจสำคัญก่อนที่เราจะออกจากสถานี Gare du Nord แห่งนี้ นั่นก็คือการไปเปิดการใช้ตั๋วรถไฟระหว่างประเทศที่ชื่อ “ยูเรลซีเล็คพาส (Eurail Select Pass) หรือการ Validate ตั๋ว รวมไปถึงการจองที่นั่งรถไฟล่วงหน้าสายด่วนพิเศษทีจีวีของฝรั่งเศส (TGV: Train à Grande Vitesse) เส้นทางปารีส-ลูเซิร์น ที่เราจะต้องเดินทางในอีกสามสี่วันข้างหน้า เพราะถ้าเราไม่รีบจองที่นั่งรถไฟ TGV ล่วงหน้า เราอาจไม่ได้ที่นั่งในรถไฟเที่ยวนั้นๆ ได้ ถึงยังงั้นก็ตามเราก็พบกับสิ่งที่เรากังวลไว้ตั้งแต่ต้น นั่นก็คือรถไฟขบวนที่เราต้องการที่นั่งเต็มหมดแล้ว เราจึงต้องเปลี่ยนแผนที่ตั้งใจไว้โดยคนขายตั๋วแนะนำว่าเราต้องจองที่นั่งของรถไฟสายธรรมดา ซึ่งจะต้องแวะเปลี่ยนรถไฟประมาณสามถึงสี่สถานีกว่าจะเดินทางถึงลูเซิร์น ซึ่งเราไม่มีทางเลือกอื่นเราจึงทำตามคำแนะนำของคนขายตั๋ว สำหรับข้อมูลการซื้อและวิธีใช้ยูเรลพาสโดยละเอียด รวมทั้งความลำบากของพวกเราที่ต้องแบกสัมภาระโดดขึ้นลงรถไฟหลายรอบหลายขบวน จะได้นำมาเล่าในตอนต่อไป

เมื่อทำธุระเรื่องเปิดใช้ตั๋วและจองที่นั่งเรียบร้อยแล้ว จึงได้เวลาที่ต้องเดินทางออกจากสถานี Gare du Nord เสียที แต่โชคไม่เข้าข้างเราเอาเสียเลยที่ขณะนั้นเป็นเวลาเลิกงานของชาวปารีเซียงพอดี ดังนั้นคงไม่น่าแปลกใจว่าตามสถานีเมโทรจะมีคนรอขึ้นรถไฟมากมายสักเพียงใด นอกจากนั้นในรถไฟแต่ละตู้ก็เต็มไปด้วยผู้คน จนไม่มีช่องว่างพอที่จะให้เราและสัมภาระใบโตๆ แทรกเข้าไปได้ พวกเราจึงต้องใช้เวลาอยู่ตามสถานีเมโทรแต่ละแห่งอยู่นานพอสมควรกว่าที่จะมีรถไฟที่พอจะมีที่ว่าง ให้เราแทรกตัวเข้าไปได้ผ่านมาสักขบวน




เราตั้งต้นจากสถานี Gare du Nord นั่งเมโทรสาย ๔ ไปหนึ่งสถานีเพื่อไปลงที่ Barbes Rochechouart จากนั้นต่อด้วยสาย ๒ นั่งไปอีก ๔ สถานีเพื่อลงที่ Place de Clichy แล้วจึงต่อด้วยสาย ๑๓ เพื่อไปลงที่ Mairie de Clichy อันเป็นสถานีจุดหมายของเรา






ออกจากสถานี Mairie de Clichy มาแล้วเราก็ต้องเดินตามหา Paris Clichy Hostel ตามแผนที่ที่พิมพ์มาจากเว็บไซท์ของ Hostel ยังดีที่ Hostel ที่ว่าหาได้ไม่ยากเพราะตั้งอยู่ริมถนน และก็เป็นตึกสูงหลายชั้นรวมทั้งมีป้ายสัญญลักษณ์ Hostelling International ติดตั้งที่ตัวตึกทำให้สังเกตได้ง่าย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นเราก็ได้พบความมีน้ำใจของแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ช่วยชี้ทิศทางที่จะมา Hostel ให้หลังจากที่เธอเห็นกลุ่มนักเดินทางหน้าตาเอเชียเหมือนเธอ หันรีหันขวางมองไปตามเส้นทางของถนนเพื่อหาอะไรบางอย่าง เราพูดคุยกับเธออยู่เป็นนานและขอบอกขอบใจที่เธอช่วยบอกเส้นทางให้ ก่อนจะเดินจากมา (ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าเส้นทางที่เธอบอกนั้นมันผิดทิศ และเราก็เดินทางไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับที่เธอบอก)

แล้วเราก็มาหยุดยืนทอดถอนหายใจหน้า Paris Clichy Hostel หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเราพบว่าทางเข้าตัวอาคาร Hostel แห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าพักเอาเสียเลย เนื่องจากการที่จะเข้าไปในตัวอาคารนั้นเราจะต้องยกกระเป๋าอันหนักหนาสาหัสขึ้นบันได้ไปอีกหลายขั้นเลยทีเดียว แต่เมื่อมาแล้วไหนไหนก็ไหนไหน อดทนอีกอึดใจเดียวเดี๋ยวก็ได้พักเหนื่อยแล้ว ดังนั้นพวกเราเลยร่วมแรงร่วมใจช่วยๆ กันแบกสัมภาระขึ้นบันไดจนไปถึงหน้าเคาน์เตอร์เช็คอิน
















พนักงานเคาน์เตอร์เช็คอินเป็นผู้หญิงผิวสี อายุก็คงรุ่นราวคราวเดียวกับพนักงานเคาน์เตอร์เช็คอินของ Hostel ที่อื่นทั่วไปที่นิยมจ้างนักศึกษาเป็นพนักงาน part-time การบริการของพนักงานที่นี่จะว่าไปก็เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป หน้าตาไม่ได้ยิ้มแย้มหรือบึ้งตึงอะไร ข้อมูลที่ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเข้าพักก็เป็นไปข้อมูลการเข้าพักล้วนๆ เช็คอินเสร็จแล้วก็แล้วกัน และยิ่งเมื่อขึ้นไปเห็นสภาพห้องพักที่กุญแจแสนเปิดยากเปิดเย็น ร่ำๆ จะเถียงกันกับเพื่อนร่วมห้องเพราะเปิดห้องไม่ได้เนี่ยหลายครั้งหลายหน ไหนจะเตียงนอนสองชั้นที่เวลาคนนอนเตียงล่างจะลุกออกจากเตียงต้องก้มหัวคลานออกมาเพราะไม่สามารถลุกขึ้นนั่งได้เพราะหัวติดเตียงบน (ออกแบบยังไงเนี่ย) รวมทั้งสภาพน่ากลัวของห้องน้ำที่อยู่ข้างนอก เวลาจะไปอาบน้ำต้องชวนเพื่อนไปอาบพร้อมๆ กัน











หลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้เรารู้สึกนึกถึง London Central Hostel ที่เกรทพอร์ทแลนด์ที่เราเพิ่งจากมาเป็นกำลังเลยทีเดียว ดูอะไรๆ ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่ทางเข้า ที่ London Central Hostel ไม่ต้องลากสัมภาระขึ้นบันไดมากว่าสิบยี่สิบขั้นเหมือนอย่างที่นี่ พนักงานที่นั่นยิ้มแย้มแจ่มใสให้การบริการอย่างเป็นกันเอง นอกจากเรื่องที่พักแล้วยังชวนพวกเราคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ สภาพห้องพักก็ดูดีมีคีย์การ์ดเหมือนตามโรงแรม ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำก็สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง จะว่าไปให้ผู้เขียนไปพัก hostel ที่ออตตาวาในแคนาดาที่เคยเป็นคุกเก่า สมัยที่ไปเที่ยวตอนเรียนอยู่แคนาดายังจะดีเสียกว่าเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะโทษใครไม่ได้ เพราะคนที่จัดแจงทุกสิ่งอย่างในการท่องเที่ยวครั้งนี้คือตัวผู้เขียนเอง อย่าว่างั้นงี้เลยเดี๋ยวจะหาว่าเราขี้บ่นลองอ่านความเห็นของคนที่เคยเข้าพัก hostel แห่งนี้ดูก็ได้ ตามนี้เลย

www.hihostels.com/dba/hostels-Paris---Clichy-020024.en.htm#tabs=3

video credit to: youtube by Busfotodotnl
Photos credit to: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Carte_M%C3%A9tro_de_Paris.jpg, http://www.hihostels.com/dba/hostels-Paris---Clichy-020024.en.htm#

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จากลอนดอน...กว่าจะถึงปารีส

คราวที่แล้วเล่าค้างถึงตอนที่เรานั่งรถไฟยูโรสตาร์เพื่อเดินทางออกจากลอนดอนไปยังปารีส ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ ๔๙๕ กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมงกับอีก ๑๕ นาที นับว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วมาก






แต่บางคนอาจยังไม่ทราบว่า กว่าที่การคมนาคมขนส่งโดยทางบกระหว่างเมืองหลวงสำคัญของยุโรปทั้งสองจะสะดวกและรวดเร็วได้เช่นปัจจุบันต้องผ่านช่วงเวลาและเหตุการณ์อะไรมาบ้าง

ด้วยความที่ทั้งสองประเทศมีพรมแดนธรรมชาติคั่นกลางที่เป็นทะเลน้ำตื้นและรู้จักกันดีในชื่อของช่องแคบอังกฤษหรือ English Channel ทำให้การเดินทางระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงก่อนปี ค.ศ.๑๙๙๔ ต้องอาศัยเรือเฟอร์รีไม่ว่าจะเป็นเรือรับส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสินค้าและเรือบรรทุกรถยนต์ระหว่างชายฝั่งของทั้งสองประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างยาวนานกว่าจะเดินทางถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ ผู้นำของอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นคือนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของอังกฤษมาการ์เร็ต แธชเชอร์และประธานาธิบดีฟรังซัวร์ มิตเตอร์รองได้ลงนามข้อสัญญาระหว่างกันภายใต้สนธิสัญญา "Treaty of Canterbury" ในปี ค.ศ. ๑๙๘๖ ที่ให้มีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทะเลเชื่อมการคมนาคมของทั้งสองประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Channel Tunnel




(แผนที่นี้เป็นลิขสิทธิ์และจัดทำโดย NormanEinstein, December 15, 2005. ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons Attribution-Share Alike 3.0 Unported license: แหล่งที่มา wikipedia)

แต่กว่าจะบรรลุข้อตกลงและออกมาเป็นสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ ต้องผ่านอุปสรรคหลายอย่าง เช่น เสียงคัดค้านของประชาชนอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นความวิตกกับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดในการดำรงอยู่ของอธิปไตยชาติ หรือ national sovereignty คนอังกฤษจำนวนหนึ่งมีความคิดว่าการที่ประเทศอังกฤษมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่แยกออกมาจากยุโรปแผ่นดินใหญ่นั้นถือว่าเป็นข้อดีที่การคุกคามของภัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นข้าศึกศัตรู การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของคนต่างชาติ การระบาดของโรคต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาในอังกฤษได้โดยง่าย เพราะบทเรียนในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งตอกย้ำให้ชาวอังกฤษมีความคิดเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามสมัยยุคนโปเลียนของฝรั่งเศส หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องต่อสู้กับ axis of evil อย่างฮิตเลอร์และกองทัพนาซี ผู้นำการทำสงครามอย่างสองคนที่กล่าวมานี้มีความพยายามอย่างมากที่จะใช้กองทหารเข้าโจมตีอังกฤษโดยใช้ช่องแคบอังกฤษเป็นเส้นทางผ่านเพื่อขึ้นเกาะอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮิตเลอร์และกองทัพนาซีที่ฮึกเหิมจากการเก็บสะสมชัยชนะที่มีต่อประเทศต่างๆ ทั่วในแถบยุโรป แต่ด้วยความที่บริเวณทะเลช่องแคบอังกฤษเป็นชัยภูมิที่ค่อนข้างดีต่อฝ่ายอังกฤษไม่ว่าจะเป็นกองทัพของนโปเลียนหรือกองทัพนาซีของฮิตเลอร์เองก็ตามไม่สามารถที่จะนำกองทหารฝ่าด่านชัยภูมินี้ได้ จึงต้องล้มเลิกความคิดที่จะใช้กองทัพทหารยาตราขึ้นเกาะอังกฤษ อย่างไรก็ตามทั้งสองคนนี้ก็มีความคิดที่จะสร้างเส้นทางเพื่อหาทางลอดทะเลช่องแคบอังกฤษ ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าความคิดที่จะสร้างเส้นทางลอดทะเลช่องแคบอังกฤษมีมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งริเริ่มในยุคสมัยนี้

นอกจากจะต้องฝ่าด่านเสียงคัดค้านตามที่เล่าแล้ว ปัจจัยทางด้านการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากเพราะการก่อสร้างอุโมงค์ที่ว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล กว่าที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งต่างๆ ได้พร้อมพรั่ง โครงการต้องหยุดอยู่นานกว่าจะกลับมาเริ่มดำเนินการใหม่ภายใต้สนธิสัญญา Canterbury ที่ว่า

ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ การขุดอุโมงค์เริ่มขึ้นพร้อมกันจากทั้งทางฝั่งฝรั่งเศสและฝั่งอังกฤษโดยคนงานและวิศวกรของทั้งสองประเทศ และการขุดอุโมงค์จากทั้งสองฝั่งประเทศมามาบรรจบกันระหว่างกลางอุโมงค์เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๐ จากนั้นการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานใีนปี ค.ศ.๑๙๙๔ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงิน ๔,๖๕๐ ล้านปอนด์ (คิดเป็นมูลค่าเงินในปีค.ศ.๑๙๘๕)ใช้คนงานก่อสร้างทั้งชาวฝรั่งเศสและอังกฤษประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน



ปัจจุบันนอกจาก Channel Tunnel จะเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการเดินรถของยูโรสตาร์ระหว่างสามเมืองหลวงในยุโรปคือ ลอนดอน-ปารีส และลอนดอน-บรัสเซลล์ แล้ว ยังเป็นเส้นทางการคมนาคมระหว่างสองประเทศที่ให้บริการแก่รถยนต์ส่วนบุคคล มอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่งรถบรรทุกขนส่งสินค้าอีกด้วย

สำหรับกลุ่ม backpackers อย่างพวกเราถือว่าการเดินทางจากลอนดอนไปปารีสโดยผ่านเส้นทาง Channel Tunnel ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจครั้งหนึ่ง และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเรียกได้ว่าสมเหตุสมผล เนื่องจากราคาค่าตั๋วเป็นอัตราต่ำสุดที่ยูโรสตาร์เสนอขายคืออยู่ที่คนละ ๓๙ ปอนด์ (เที่ยวเดียว) คิดเป็นเงินไทยตอนที่ซื้อประมาณ ๑,๙๐๐ บาท แต่การที่เราจะได้ราคาต่ำสุดเช่นนี้ต้องซื้อล่วงหน้าเป็นเวลาสามเดือนเลยทีเดียว เพราะถ้าหากเราไม่รีบซื้อล่วงหน้าราคาจะเขยิบสูงขึ้นทุกวัน ยิ่งถ้าใกล้วันเดินทางราคายิ่งแพงมาก แต่อย่างไรก็ตามตั๋วของเราไม่สามารถเปลี่ยนวันและเวลาเดินทางได้ และคืนก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียวคือเปลี่ยนที่นั่ง เปลี่ยนตู้ โดยซื้อผ่านเว็บไซต์ของยูโรสตาร์

www.eurostar.com

นอกจากนั้นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการซื้อตั๋วรถไฟ การเลือกที่นั่งและวิํธีการอื่นๆ สำหรับการใช้รถไฟในยุโรป สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์

www.seat61.com




Video credit to youtube by 24VSenator, erotyczneTsunami

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก (bye bye U.K., bonjour Paris)





ได้ฤกษ์กลับมาเขียนเรื่องราวในบล็อกของตัวเองต่อหลังจากห่างหายไปนานด้วยเหตุผลต่างๆนานา ล่าสุดคือการติดตามดูปรากฏการณ์ "animal farm" อย่างต่อเนื่อง เห็นปรากฏการณ์ "animal farm" แล้วก็ให้สังเวชใจ ยังไง "animal" มันก็คือ "animal" ไม่ว่าจะยุคไหนหรือเปลี่ยนไอ้ตัวนำฝูง "animal" ในฟาร์มนั้นกี่ตัวๆ คุณภาพของ "farm" ก็ไม่เปลี่ยนมีแต่จะเลวร้ายลง นี่ถ้า George Orwell ผู้แต่งเรื่อง "animal farm" ได้มาเห็นปรากฏการณ์ "animal farm" จริงๆ ไม่ได้จินตนาการเหมือนในนิยายคงต้องร้องว่า โอ พระเจ้า มันช่าง "dystopia" เกินจินตนาการจริงๆ

กลับมาเล่าเรื่องที่ยังคงค้างต่อดีกว่า การท่องเที่ยวในลอนดอนของพวกเราคงไม่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป คือไปตามสถานที่สำคัญๆ ของลอนดอนไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารเซนต์พอลหรือเซนต์ปอลที่มองเห็นได้ชัดเจนจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเทมส์บริเวณสะพานมิลเลนเนียมซึ่่งใช้เฉพาะสำหรับคนเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ หรือจะเป็นการไปเที่ยวทาวเวอร์ออฟลอนดอน หรือชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ Her Majesty's Royal Palace and Fortress ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๐ ก็เก่าแก่ประมาณเกือบพันปี ดังนัั้นจึงมีเสียงเล่าลือถึงเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงสิงสถิตย์อยู่ ที่เด่นๆ เห็นจะเป็นวิญญาณของพระนางแอน โบลีน (Queen Anne Boleyn)ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเมื่อปี ค.ศ. ๑๕๓๖ ที่ Tower of London แห่งนี้ ด้วยข้อหาทรยศต่อพระสวามีของนางคือกษัตริย์เฮนรีที่แปด






(รูปเขียนและลายพระนามาภิไธยของพระนางแอน โบลีน แหล่งที่มาวิกิพีเดีย)




โดยมีผู้อ้างว่าเห็นวิญญาณของพระนางเดินหิ้วศีรษะบริเวณ White Tower อยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามพระนางแอน โบลีน ได้ทิ้งมรดกตกทอดที่เป็นคุณูปการแก่สังคมอังกฤษในยุคศตวรรษที่สิบหกและก็อาจเป็นมรดกตกทอดที่มีคุณค่าให้แก่สังคมและคนอังกฤษในรุ่นปัจจุบันนั่นก็คือพระธิดาองค์เดียวของพระนางที่ชื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๑ (Queen Elizabeth I)แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ โดยตลอดรัชสมัยซึ่งเป็นเวลากว่าสี่สิบห้าปีของการครองราชสมบัติของพระองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดประกอบกับขุนนางและที่ปรึกษาที่แวดล้อมพระนางเป็นคนเก่ง จึงทำให้สังคมอังกฤษในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวรรณกรรม งานเขียนต่างๆ โดยกวีเอกเก่งๆ ในยุคของพระนางที่เรารู้จักกันดีคือวิลเลียม เชคสเปียร์ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ เป็นต้น นอกจากนี้อังกฤษในยุคสมัยที่เรียกว่า Elizabethan era ก็ยังรุ่งเรืองในแง่ของการเมืองการปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือ โดยมีนักเดินเรือที่สำคัญของยุคสมัยคือ Sir Francis Drake ที่ให้บังเอิญว่ากลุ่มของเราได้เดินไปพบเรือจำลองชื่อ Golden Hind ที่ตั้งแสดงอยู่แถวริมแม่น้ำเทมส์ของท่านเซอร์คนนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเข้าพอดี(เพิ่งจะเห็นข้อดีของทัวร์แบบขาลากๆ นี้ก็เที่ยวนี้แหละ)

ถัดมาจาก Tower of London อีกนิด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญการเดินทางแบบขาลากๆ เดินลัดเลาะมาสำรวจ Tower Bridge ที่เป็นสัญญลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งเวลาพูดถึงลอนดอน เราขึ้นไปชั้นสูงสุดเพื่อดูนิทรรศการที่เขาจัดให้ดู Tower Bridge ในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งการทำงานของสะพานเวลาที่ต้องเปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่าน (ในบ้านเราคือสะพานพุทธยอดฟ้าก็ใช้กลไกเดียวกันที่สามารถยกพื้นถนนของสะพานเปิดให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ โดยอังกฤษเป็นผู้ออกแบบสะพาน ปัจจุบันสะพานพุทธของเราไม่เปิดให้เรือใหญ่ผ่านแล้ว ในขณะที่ Tower Bride เปิดให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านตกปีหนึ่งมากกว่าพันครั้ง)คนส่วนใหญ่มักจะจำสับสนโดยจะเรียก Tower Bridge เป็น London Bridge ที่จริง London Bridge เป็นสะพานอีกหนึ่งแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับ Tower Bridge ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำธรรมดาทั่วไป




จากนั้นก็เดินลัดเลาะเรื่อยไปตามริมแม่น้ำเทมส์ เห็นการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณนั้น อย่างเช่น แถวย่าน Barbican เราได้เห็นกำแพงเมืองเก่าซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เท่าที่ลองหาข้อมูลดูกำแพงเหล่านี้สร้างมาตั้งแต่สมัยยุคโรมันที่ตอนนั้นยังครอบครองพื้นที่แถบนี้มาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกำแพงปกป้ิองข้าศึก

เดินชมการใช้ชีวิตของผู้คน บ้างก็เป็นกลุ่มนักเรียนตัวน้อยๆ ที่คุณครูพามาทัศนศึกษา บ้างก็เป็นผู้ใหญ่ชายหญิงนั่งจิบกาแฟอยู่ตามร้านกาแฟกลางแจ้งทั่วไป หรือบางทีก็ดูสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างรูปร่างแปลกตาแถวๆ นั้น จนเดินมาถึง Shakespeare's Globe โดยไม่รู้ตัว

Shakespeare's Globe เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานต่างๆ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ กวีเอกสมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๑ รวมทั้งเป็นสถานที่จำลองโรงละคร the Globe Theatre ที่สร้างเมื่อสมัยศตวรรษที่ ๑๖ โดย the Globe Theatre หรือเรียกสั้นๆ ว่า the Globe เป็นโรงละครที่มีหุ้นส่วนหลายคนเป็นเจ้าของที่สำคัญๆ เช่น คือวิลเลียม เชคสเปียร์ ลอร์ดแชมเบอร์แลน นายริชาร์ด เบอร์เบจ ถ้าใครเคยดูภาพยนต์เรื่อง Shakespeare in love ที่นางเอกของเรื่องแสดงโดยกวินเน็ทธ์ พัลโทรว์ ได้รับรางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้ (นอกจากนี้เธอยังได้รับคำชื่นชมจากคนอังกฤษว่าเป็นนักแสดงจากฝั่งอเมริกาที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงคนอังกฤษได้ดี ตอนนี้คงยิ่งดีมากขึ้นเพราะสามีเธอเป็นคนอังกฤษ) ก็จะรู้จักผู้คนที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นเป็นอย่างดี





ผู้เขียนค่อนข้างชอบที่ the Globe นี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นคนชอบบทละครของเชคสเปียร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาได้เห็นข้าวของสิ่งต่างๆ ก็เลยอยากจะใช้เวลาที่นี่ให้นานกว่าที่อื่น และข้อสำคัญไกด์สาวนำชม the Globe เธอดูดีน่ารักอีกต่างหาก ผสมผสานกับภาษาอังกฤษสำเนียงอังกริ๊ดอังกฤษที่น่าฟัง ก้็เลยฟังแบบเพลิดเพลินไปเลย :)


นอกเหนือจากใช้เวลาส่วนหนึ่งในตัวเมืองลอนดอนแล้ว เรายังออกมาเที่ยวเมืองอื่นที่ใกล้ๆ ลอนดอนด้วย ที่เราไม่พลาดคือการเข้าชมการเรียงตัวของกลุ่มหินประหลาด Stonehenge ที่ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมาตั้งอยู่สถานที่นี้ แต่เอาเหอะเขาบอกว่าสถานที่นี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ก็มาดูเสียหน่อย ถัดจากนั้นก็เดินทางต่อไปที่เมืองบาธเืมืองที่เป็นสถานที่อาบน้ำของชาวโรมันเขา ยอมรับว่าเมืองนี้น่าท่องเที่ยวจริงๆ มีสถานที่สวยงามค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น the Royal Cresent ที่เป็นถนนรูปวงพระจันทร์ หรือ the Circus ที่เป็นตึกเรียงกันเป็นแถวยาวครึ่งวงกลม หรือจะเป็นวิหารเก่าแก่ของเมือง









และที่สำคัญเขาบอกต่อๆ กันมาว่า ขนมที่เขาเรียกว่า Bath bun อร่อยนักอร่อยหนา ที่มีชื่อเสียงมากขายอยู่ที่ "Sally Lunn's house (น่าเสียดายที่พวกเราเดินผ่านร้านนี้อย่างหน้าตาเฉย ด้วยความไม่รู้)แต่เราก็มาหยุดที่ร้าน "the Courtyard" ซึ่งค่อนข้างชอบบรรยากาศแบบบ้านๆ ดี มีซุปโฮมเมดด้วย ขนาดผู้เขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่นิยมอาหารตะวันตกยังว่าซุปของเขานี่อร่อยดีจริงๆ เลย นอกนั้นเพื่อไม่ให้เสียชื่อว่ามาอังกฤษแล้วไม่ดื่มชาอังกฤษเห็นจะไม่ได้ เราจึงสั่งชาอังกฤษให้เข้ากับบรรยากาศเสียหน่อย เสียดายที่เรามีเวลาที่เมืองนี้น้อยไป จึงชื่นชมกับบรรยากาศของเมืองบาธไม่ได้เต็มที่ เพราะเราต้องเดินทางต่อไปที่พระราชวังวินด์เซอร์ต่อไปอีก





ทั้งหมดของวันที่เดินทางออกนอกตัวเมืองลอนดอน พวกเราใช้บริการของ international Friends โดยจัดรถมินิบัสพร้อมกับคนขับสำหรับกลุ่มของเราโดยเฉพาะ เนื่องจากลุ่มเรามีคนถึงแปดคน ซึ่งเมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแล้วคุ้มค่าและประหยัดเวลามากกว่าการเดินทางโดยรถไฟที่เราตั้งใจจะใช้การเดินทางแบบนั้นตั้งแต่ตอนแรก แต่ยังไงก็ตามสำหรับผู้เดินทางคนเดียวหรือมีเพื่อนร่วมกลุ่มจำนวนน้อยไม่สามารถเช่ารถพร้อมคนขับแบบเราได้ เขาก็มีบริษัททัวร์อีกมากมายที่ให้บริการจัดทัวร์สำหรับการเดินทางออกนอกเมืองลอนดอนที่เดินทางร่วมกับคนอื่นได้แบบเช้าไปเย็นกลับ โดยรถจะแวะรับผู้เดินทางตามจุดสำคัญและโรงแรมต่างๆ รายละเีอียดสามารถดูได้จาก

http://www.londontoolkit.com/whattodo/london_day_tours.htm


สำหรับค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ เราใช้บัตรผ่านที่เรียกว่า london pass แบบสามวันในการจ่ายเงินแบบเหมารวม ซึ่งคำนวณดูแล้วคุ้มค่ากว่าการซื้อแบบแยกจ่ายค่าเข้าชมแต่ละแห่ง ซึ่งบัตร london pass นี้สามารถเข้าชมสถานที่สำคัญๆ ได้มากกว่าห้าสิบกว่าแห่งในลอนดอนและเมืองใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องลองคำนวณและเปรียบเทียบดูระหว่างการซื้อบัตร london pass กับการซื้อบัตรแยกเข้าชมในแต่ละแห่ง ทั้งนี้หากท่านมีเวลาน้อยและอยากใช้เวลาในการเข้าชมแต่ละแห่งเป็นเวลานานๆ การซื้อบัตร london pass ก็อาจจะไม่คุ้มก็ได้ รายละเอียดดูได้จาก

http://www.londonpass.com/?aid=17&gclid=CNmAhs7I9KkCFQ166wodKjf2Zw




แล้วเหมือนจะถูกโฉลกกับเรื่องชุมนุมประท้วงหรืออย่างไรไม่ทราบ วันแรกที่เราไปถึงลอนดอนก็เจอเข้ากับเหตุการณ์ที่ประชาชนประท้วงรัฐบาลพอดี เฮลิคอปเตอร์ตำรวจบินฉวัดเฉวียนเสียงดังไปทั่วเลย มีการเผาด้วยนะ แต่ขอโทษอยากบอกว่าที่ลอนดอนเด็กๆ โธ่เผาแค่กระดาษอย่ามาทำคุย ต้องมาศึกษาดูงานว่ามืออาชีพเขาทำยังไง มันเผาแบบไม่เหลือซากเลย ที่ไหนหว่าเหมือนจะคุ้นๆ และมืออาชีพรับจ้างเผามันใครกันน้า

ใช้เวลาเดินท่องเที่ยวในลอนดอนกับเมืองใกล้เคียงจนสมใจแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องบอกอำลาลอนดอนกับบ้านชั่วคราวของเราคือ YHA London Central ที่ Great Portland เสียที เพื่อจะเดินทางยังปารีสต่อไป

วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลาบ่ายแก่ๆ บรรยากาศดูซืมๆ นิดหนึ่งเพราะฝนตกลงมาปรอยๆ ทำให้พวกเราทั้งแปดคนต้องเปลี่ยนแผนที่จะนั่งรถไฟใต้ดินมาที่สถานี St Pancras เป็นนั่งรถแท๊กซี่แทน เรามาถึงสถานี St Pancras ก่อนเวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเพราะถึงแม้ว่าเราจะเดินทางโดยรถไฟยูโรสตาร์แต่ก็เป็นการเดินทางข้ามประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของฝรั่งเศสให้เสร็จสิ้นที่สถานี St Pancras แห่งนี้เลย และเมื่อเดินทางถึงปารีสเราก็ไม่ต้องผ่านการตรวจอะไรอีกแล้ว นอกจากนี้ขั้นตอนการตรวจสอบกระเป๋า การออก Boarding Pass ของยูโรสตาร์ เป็นแนวปฏิบัติเดียวกันกับการเดินทางโดยเครื่องบิน จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องไปถึงสถานีรถไฟแต่เนิ่นๆ

เวลาบ่ายสามโมงของวันที่ ๓๐ มีนาคม รถไฟยููโรสตาร์ก็พาพวกเราและผู้โดยสารอื่นๆ ออกจากสถานี St Pancras โดยมีเป้าหมายคือกรุงปารีสที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๔๙๕ กิโลเมตร ในอีกสองชั่วโมงข้างหน้า

(สำหรับคำเฉลยที่มาหัวข้อเรื่องที่ว่า "ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก" ขอให้ย้อนกลับไปดูภาพวีดีโอข้างบนตอนท้ายๆ ช่วงที่พี่ๆ เขาไปช็อปปิ้งที่แฮร์รอดส์ จะเห็นผู้เขียนนั่งหมดสภาพอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดิน knightsbridge ในขณะที่คนอื่นยิ้มสดใสในมือถือถุงข้าวของคนละใบสองใบ อาจจะเป็นเพราะก่อนหน้านั้นหนึ่งวันไปรอชมการเปลี่ยนการ์ดหน้าวังบักกิ้งแฮมเป็นเวลานาน อากาศหนาวเย็น แต่สาเหตุนี้คงไม่เท่าไหร่ สาเหตุจริงๆ คงเป็นโรคแพ้การช็อปปิ้งไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่ คนใกล้ชิดหรือเพื่อนชวนไปช็อปปิ้งที่ไร จะต้องปวดหัวตัวร้อนขึ้นมาทันที ขอนอนอยู่บ้านดีกว่า :)

photos credit to wikipedia

video credit to youtube by pepperbell, gozala00

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หนึ่งวันในเจนีวา

เรื่องนี้เขียนขึ้นมาด้วยความขอบคุณคนอ่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้ติดตามบล็อกนี้ ช่วงสองอาทิตย์มานี้คงเห็นว่าไม่มีเรื่องเที่ยวยุโรปตอนใหม่โพสขึ้นมา ก็เนื่องจากว่าคนเขียนไม่ได้อยู่บ้านเลยไม่มีเวลาได้นั่งสบายๆ เขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ

ก็เลยนำภาพสถานที่ที่ตัวเองอยู่ ณ ขณะนี้มาให้คนอ่านดูไปพลางก่อน ธุระที่มาเจนีวาครั้งนี้ก็เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มาคือมาประชุมเกี่ยวกับด้านแรงงานระหว่างประเทศ จัดโดยสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศภายใต้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา แต่ยังไงก็ตามเวลาที่จะได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ของเจนีวาค่อนข้างมีน้อย เพราะำกำหนดการที่ต้องเข้าประชุมมีตารางแน่นมากเหลือเกิน ยังไงก็ตามหวังว่าภาพต่างๆ ที่นำเสนอข้างล่างนี้คงพอจะสร้างความเพลิดเพลินหรือปะปนไปด้วยข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากจะมาเที่ยวเจนีวา สำหรับเรื่องเล่าทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี... จะได้กลับไปเล่าต่อเมื่อได้กลับไปเมืองไทยแล้วในวันอาทิตย์หน้า





หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปกครองของสวิส: สวิสมีการแบ่งส่วนการปกครองระดับรองจากรัฐหรือ Federation ออกเป็น ๒๖ canton โดยหนึ่งในนั้นคือ เจนีวา Canton มีเมืองหลวงของ Canton ชื่อเดียวกันคือ เจนีวานั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก (2)

ถ้าพูดถึงเรื่อง "เดินแบบขาลาก" ของพวกเราแล้วละก็ คงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงเกือบเที่ยงของวันแรกที่เราไปถึงคือวันที่ ๒๖ มีนาคม ๕๔ หลังจากเสร็จสิ้นการเช็คอินที่ YHA London Central โดยเราต้องฝากกระเป๋าที่ห้องเก็บสัมภาระเอาไว้ก่อนเพราะเวลาที่จะเข้าห้องได้คือบ่ายสองเป็นต้นไป รวมทั้งจัดการเจ้า "Panini" ให้เป็นอาหารกลางวันของพวกเราแบบง่ายๆ เราก็ไม่รีรอที่จะไปตลาด Portabello ถนน Portabello Road ย่าน Notting Hill






พอดีว่าวันที่เราไปคือวันเสาร์นั้นเป็นตลาดนัดใหญ่พอดี มีของขายทุกประเภทตั้งแต่ของกิน ของใช้ต่างๆ รวมไปถึงของเก่า และช่วงเวลาที่ไปมีทั้งคนอังกฤษเองและนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาคลาคล่ำไปหมด จนกลัวว่าคนในกลุ่มเราจะหลงกัน นอกจากการเที่ยวชมตลาดที่เหมือนตลาดจตุจักรบ้านเราแล้ว พวกพี่ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับฮิวจ์ แกรนน์ พระเอกหนังเรื่อง Notting Hill ก็ยังอุตส่าห์ได้ไปถ่ายรูปหน้าร้านหนังสือท่องเที่ยว ที่ตามท้องเรื่องเขาสมมติให้เป็นร้านหนังสือของ วิล แทกเกอร์ พระเอกของเรื่อง (อันที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะพี่ๆ เขาหรอก ผู้เขียนเองก็ชอบหนังเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ชอบตรงประโยคเด็ดของวิล แทกเกอร์ ที่พูดกับแอนนา สก็อต ที่แสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ตส์ โดยในหนังเธอรับบทตรงกับชีวิตจริงคือเป็นดาราสาวชื่อดังของฮอลลีวู้ดที่มาตกหลุมรักวิล แทกเกอร์ ที่ว่า "I live in Notting Hill. You live in Beverly Hills. Everyone in the world knows who you are; my mother has troubles remembering my name." คนเขียนบทสนทนาของตอนนี้นี่ช่างคิดดีจริงๆ เลยทำให้ประโยคข้างต้นเป็น movie quote ที่มีชื่อเสียงและคนมักจะจำได้ เดินเที่ยวชมตลาด Portabello และย้อนรำลึกถึงหนังเรื่อง Notting Hill บริเวณ Notting Hill เป็นที่พอใจแล้ว เราก็เดินกลับมาทางเดิมเพื่อที่จะลงรถไฟใต้ดินสถานีที่เรามาลงก่อนหน้าที่จะมาตลาด Portabello คือ สถานี Notting Hill Gate เพื่อจะต่อไปยังสถานี Tower Hill เมื่อเดินทางมาถึงสถานี Tower Hill แล้ว ดูท่าทีพี่ๆ แต่ละคนก็ยังมีกำลังวังชาดีอยู่ นอกจากนี้ยังสนุกสนานกับการถ่ายรูปบริเวณสถานี Tower Hill เป็นอย่างยิ่ง เพราะฝั่งตรงกันข้ามของถนนเราจะมองเห็นความอลังการของ Tower of London ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเหมาะแก่การที่พี่ๆ ทั้งหลายจะชักภาพตัวเองโดยมี Tower of London เป็นฉากอยู่ด้านหลังเป็นอย่างยิ่ง (อ่ะนะ Tower ก็เก๊าเก่า สร้างมาเป็นไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว คนรึก็...ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เหอะ เหอะ)




ถ่ายรูปกับอาคารเก่าๆ อันเหมาะสมกับช่วงวัยแล้ว backpackers กลุ่มนี้ก็ได้เวลาเดินไปสถานีรถไฟชานเมืองที่ชื่อว่า Docklands Light Railways หรือ DLR โดยสถานีที่เราไปขึ้นชื่อว่าสถานี Tower Gateway ซึ่งระยะทางเดินไม่ไกลจากสถานีรถไฟใต้ดิน Tower Hill ซึ่งเป้าหมายของเราคือ สถานี Cutty Sark for Maritime Greenwich ดูจากชื่อสถานีเป้าหมายของเราก็คงไม่ต้องสาธยายอะไร เพราะที่เที่ยวแห่งต่อไปของเราคือกรีนิชนั่นเอง ที่ำกรีนิชแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของ Royal Observatory อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นลองติจูดศูนย์องศาหรือ Prime Meridian ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นเส้นแบ่งเวลาของโลกชื่อ Greenwich Mean Time หรือ GMT ที่ในภาพมีคนไปยืนตรงเส้นแถบสีเงินเยอะๆ ยังมีพิพิธภัณ์อื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมไปถึงตลาดกรีนิชที่ขายของกินหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งก็รวมไปถึงอาหารไทยของเราด้วย หลังจากเดิน (ไม่ีรู้เดินไปกี่กิโลเมตรแล้วสำหรับวันแรก) ชมสถานที่ต่างๆ ของกรีนิชแล้ว เราก็เปลี่ยนบรรยากาศจากการนั่งรถไฟมานั่งเรือดูบ้าง โดยเรือโดยสารที่เราใช้บริการเป็นของ Thames Clipper ซึ่งเป็นเรือโดยสารสาธารณะเหมือนกับเรือด่วนเจ้าพระยาบ้านเรา แต่ราคาค่าโดยสารเขาคิดราคาเดียวกันหมดไม่ได้คิดเป็นระยะทางที่เรานั่ง สำหรับผู้ถือ Oyster Card ลดให้อีก ๕๐ เพนนี

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทัวร์ขาลากเมืองผู้ดี...ทำผู้จัดทัวร์ป่วยหนัก (1)

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวของเราครั้งนี้ จะจำกัดรูปแบบการท่องเที่ยวเป็น budget travel คือทุกอย่างต้องคำนึงถึงราคาถูกก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าขนส่งสาธารณะทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ก็ใช่ว่าเราจะไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความสะดวกสบายเอาเสียเลย โดยเฉพาะเรื่องปากเรื่องท้อง สำหรับผู้เขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนกินยากกินเย็นกว่าใครๆ ในกลุ่ม เรื่องรสชาดถูกปากคุณภาพถูกใจ ต้องมาก่อนเรื่องราคาเสมอ และดูเหมือนว่าพี่ๆ เขาก็จะตามใจผู้เขียนเสียด้วยสิ ผู้เขียนเสนอร้านอะไร เขาก็ว่าตามนั้น (เสียเด็กหมด)

ดังนั้นเพียงแค่วันที่สองในลอนดอน เราก็ไม่พลาดที่จะไปทำเท่ห์ที่ร้านเป็ด Four Seasons ร้านเป็ดชื่อดังของลอนดอน ซึ่งเขามีอยู่สามสาขา สำหรับสาขาที่เราไปเป็นสาขาแรกดั้งเดิมของร้านเขาตั้งอยู่ถนน Queenways ย่าน Bayswater ส่วนอีกสองสาขาที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ย่านๆ โซโห































ขอบอกว่ารสชาดอร่อยสมคำร่ำลือ ขนาดพี่รินที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรักษาสุขภาพและระวังเรื่องอาหารมาก ยังอดใจไว้ไม่อยู่เลย สำหรับค่าเสียหายไม่แพงเลยเราเฉลี่ยกันแปดคนคิดเป็นเงินไทย คนละไม่ถึงพันบาทได้มั้ง(ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดถ้าผิดเดี๋ยวก็จะมีพี่อ้อยหนึ่งในสมาชิกมา comment ตามข้างล่างอย่างแน่นอน)



ร้านอาหารอีกร้านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ร้าน "Pret A Manger" ร้านนี้ออกแนวเป็นร้านขายอาหารจานด่วนที่คำนึงถึงสุขภาพลูกค้ามากกว่าร้านอาหารจานด่วนชื่อดังหลายๆ ร้าน ดังนั้นเมนูของร้าน Pret A Manger เลยมีทั้งสลัดหน้าตาหลากหลาย น้ำผลไม้นานาชนิด หรืออาหารแนว fusion ทั่วไป เลยทำให้พี่ๆ เขาติดใจมาฝากท้องที่ Pret A Manger อยู่หลายมื้อเหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องราคาผู้เขียนว่าก็ไม่เรียกว่าถูก แต่ก็ไม่แพงถ้าเทียบกับมาตรฐานการครองชีพในกรุงลอนดอน







(บรรยากาศในร้าน Pret A Manger สาขาหน้าสวนสาธารณะ Green Park กับลูกค้าผู้มีเกียรติชาวไทย)

เสร็จสิ้นเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว ก็ต้องมีกำลังวังชาเดินท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้แล้ว ผู้เขียนขอย้ำว่า เดินจริงๆ ในแต่ละวันถ้าไม่นับการนั่งรถไฟใต้ดิน ที่เหลือคือการเดิน ไม่ว่าจะเดินขึ้นลงสถานีรถไฟใต้ดิน เดินจากสถานีรถไฟใต้ดินไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็ไม่อยากจะมานั่งคิดว่าในแต่ละวันพวกเราต้องใช้สองขาเนี่ยเดินเป็นระยะทางกี่กิโลเมตรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเรารู้ซึ้งถึงความหมายของคำว่า "เดินจนขาลาก" ก็เที่ยวนี้เอง คือเรียกว่าถ้าเิดินแล้วต้องเดินเรื่อยๆ ไม่หยุด อย่าได้คิดลงนั่งเพราะจะไม่อยากลุกขึ้นยืนเพราะกล้ามเนื้อขามันตึงไปหมด แต่ก็อีกนั่นแหละคนเราลองเมื่อยขาแล้ว ก็ต้องหาโอกาสนั่งพักให้ได้ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม




























เครดิตรูปภาพ: จากกล้องพี่จุ๋ม พี่ริน และรูปที่แอบถ่ายโดยพี่อ้อย