วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ในวันปีใหม่

ที่จริงตั้งใจว่าจะว่างเว้นการเขียนบล็อกในช่วงนี้เพราะไม่ค่อยจะมีเวลาเท่าไหร่ สาเหตุก็มาจากเรื่องการเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่เล่าไปเมื่อครั้งที่แล้ว แต่ไหนๆ ใครๆ ทั่วบ้านทั่วเมืองเขาก็ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นวันใหม่ในปีใหม่ ก็เลยขอตามกระแสไปด้วยถึงแม้ว่าในความรู้สึก วันที่ ๑ มกราคม ของทุกๆ ปี ก็คือวันธรรมดาอีกวันหนึ่งที่เราต้องดิ้นรนใช้ชีวิตกันในโลกใบนี้ต่อไป จะเลือกทำดีหรือทำไม่ดีในวันไหนๆ ก็เหมือนกัน

สำหรับหลายๆ คน ก็เลือกเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ให้กับชีวิต สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกันว่าสำหรับปีนี้อยากจะสร้างความมีวินัยสำหรับการออมเงินให้มากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินไปค่อนข้างมากกับเรื่องที่ดูไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แต่ยังดีว่าสักสองสามปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้จัดระบบการเก็บเงินที่มีประสิทธิภาพและมีวินัยมากขึ้น แต่ไม่ใช่การออมเงินในบัญชีธนาคาร แต่เป็นการสร้างวินัยในการออมเงินแบบหนึ่งของคนวัยทำงานอย่างผู้เขียน นั่นก็คือ "การลงทุนในกองทุนหุ้น และกองทุนรวม"



หลายๆ ท่านที่เป็นผู้รักการออมเงินแบบฝากเงินในธนาคารและรอส่วนกำไรจากดอกเบี้ย ฟังดังนี้แล้วก็อาจจะคิดว่าผู้เขียนมั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนในกองทุนหุ้นและกองทุนรวมแบบนั้นคือการมีวินัยในการออมเงิน มันคือเอาเงินไปเสี่ยงชัดๆ เพราะก่อนลงทุนเขาก็บอกอยู่แล้ว การลงทุนแบบนี้มีความเสี่ยงและไม่ประกันเงินต้น ความเข้าใจที่ว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแต่ยังไม่ทั้งหมดเสียทีเดียวเพราะเรามีวิธีการลดความเสี่ยงของการลงทุนแบบนั้น

ผู้เขียนเคยคุยกับคนรู้จักหลายๆ คนเกี่ยวกับการลงทุนแบบนี้ ซึ่งคนรู้จักเหล่านั้นค่อนข้างสนใจวิธีการที่ผู้เขียนใช้อยู่ อันที่จริงก็ไม่ใช่วิธีการที่ใหม่อะไรเลย มีคนจำนวนมากที่เขาใช้กันมาแล้ว นั่นก็คือวิธีการที่เขาเรียกว่า "การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือภาษาอังกฤษที่ว่า Dollar Cost Averaging" ซึ่งวิธีการลงทุนแบบนี้อาจจะมีผู้อ่านหลายท่านที่อยู่ในแวดวงการลงทุนใช้อยู่ก็เป็นได้ ถ้าท่านไหนสนใจวิธีการเช่นนี้ก็สามารถหาความรู้ได้ในบทความ บทวิเคราะห์ของกูรูและผู้รู้ได้อย่างง่ายดายในอินเตอร์เนต ผู้เขียนคงไม่สามารถนำมาบอกเล่าได้เพราะความรู้ยังแค่หางอึ่ง แต่ที่อาจจะพอเล่าประสบการณ์ที่ใช้วิธีการบริหารการลงทุนแบบนี้มีที่มาที่ไปก็คือว่า เมื่อสมัยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี ๒๕๔๐ ครอบครัวของผู้เขียนได้รับผลกระทบพอสมควรจากวิกฤตการณ์นี้เพราะแม่ของผู้เขียนเขามีเงินออมจำนวนหนึ่งในกองทุนหุ้นเหล่านั้น พอเกิดวิกฤตการณ์นี้ขึ้น เงินจำนวนที่ว่ามูลค่าของมันลดไปครึ่งหนึ่งเลย ทำเอาแม่ของผู้เขียนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปพักใหญ่ เพราะจริงๆ ครอบครัวของเราไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร มีฐานะปานกลาง เงินจำนวนที่ว่าแม่เขาเก็บหอมรอมริบไว้นาน พอมูลค่าของมันร่วงซะแบบนั้น เป็นใครๆ ก็กลุ้มใจเป็นธรรมดา แต่แม่เขาก็ไม่ได้ขายกองทุนนั้นทิ้งไป รอเวลาให้ทอดนานออกไปหวังว่าเหตุการณ์จะกลับมาดีขึ้นมูลค่าของกองทุนนั้นจะกลับมาแตะเพดานเหมือนเมื่อตอนแรกซื้อใหม่ๆ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จนแม่เขาขี้เกียจจะสนใจกองทุนนั้นแล้ว เขาก็เลยยกให้ผู้เขียนเป็นเจ้าของกองทุนนั้นเองจะทำอย่างไรต่อกับเจ้ากองทุนนี้ก็ตามใจ

เลยทำให้คนอย่างผู้เขียนที่ไม่ได้สนใจและมีความรู้เรื่องหุ้นกองทุนรวมอะไรสารพัดอย่างมาตั้งแต่ต้น ต้องมานั่งเรียนรู้เรื่องที่ว่าเพราะสถานการณ์บังคับ พอศึกษาไปศึกษามาก็เออแน่ะ มันก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยความที่ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟที่เขาชอบว่ากันสำหรับพวกคนเล่นหุ้นแบบไม่บันยะบันยัง อยากได้กำไรเยอะๆ แต่ผลสุดท้ายเห็นเจ๊งกันมาหลายราย ผู้เขียนก็เลยศึกษาว่าเขามีวิธีการยังไงที่จะลดความเสี่ยงการใช้เงินลงทุนไปกับสิ่งเหล่านี้ ก็ไปเห็นมาว่าเขาใช้วิธีการ "เฉลี่ยต้นทุน" อย่างที่ว่า ซึ่งโดยหลักการก็คือว่าผู้ลงทุนจะต้องลงทุนสม่ำเสมอเป็นประจำและระยะเวลาการลงทุนต้องอยู่ในช่วงปานกลางและระยะยาว" ในกรณีของผู้เขียนเลือกเปิดพอร์ตการลงทุนใหม่โดยอาศัยเงินจากการตัดขายหุ้นจำนวนหนึ่งของกองทุนเดิมของแม่ โดยมาซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือที่ใครๆ รู้จักกันดีว่า Long Term Equity Fund หรือ LTF ซึ่งกองทุนนี้ดีสำหรับคนทำงานในแง่ของการลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ลงทุนต้องถือครองกองทุนนี้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่าห้าปีปฏิทิน ถ้าไม่เช่นนั้นต้องคืนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีคืนให้หมด

ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าในช่วงใกล้สิ้นปี บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายจะโหมโฆษณาแคมเปญทั้งหลายเพื่อชักชวนให้คนมาซื้อ LTF ของบลจ.ของตัวเองให้เยอะๆ และก็อีกเหมือนกันมีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มาโหมทุ่มเงินก้อนจำนวนมากเพื่อมาซื้อ LTF นี้ แต่ในกรณีของผู้เขียนได้ลงทุนกับ LTF ของบลจ. แห่งหนึ่งมาสามปีแล้ว โดยอาศัยหลักการลงทุนเฉลี่ยต้นทุนที่ว่า โดยให้ บลจ.หักเงินจากบัญชีธนาคารทุกเดือนๆ ละจำนวนเท่าๆ กันเพื่อซื้อหุ้นใน LTF โดยในแต่ละเดือนจำนวนหุ้นจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับมูลค่าของหุ้นในแต่ละเดือน ซึ่งมาถึง ณ ขณะนี้มูลค่าของความอดทนที่ใช้เงินออมไปกับกองทุนนี้ทุกๆ เดือนจนล่วงเข้าปีที่สี่มานี้แล้ว ผู้เขียนได้รับเงินกำไรมาจำนวนถึง ๖๕% ของเงินต้นที่ลงทุนมาทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่น่าพอใจไม่ใช่น้อย และที่ดีมากขึ้นไปอีกก็คือได้รับเงินปันผลด้วยหากในช่วงปีที่ผ่านมากองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดี แต่ก็ใช่ว่าวิธีแบบนี้จะสร้างกำไรอย่างเดียว ความเสี่ยงในการขาดทุนก็มีบ้างแต่ตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่ามีน้อยกว่า หากผู้ลงทุนไม่ตื่นตกใจไปกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ให้ใช้ความอดทนลงทุนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นการสร้างวินัยในการออมเงินไปในตัว เพราะหากช่วงเวลาไหนสถานการณ์ดีขึ้น ท่านจะเห็นผลของความมีวินัยในการออมเงินก้อนนั้นทันทีเลย

ผู้อ่านท่านไหนที่สนใจก็หาอ่านข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไปว่า "การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน" คืออะไร และเขาทำกันอย่างไร เพียงแค่พิมพ์ค้นหาคำว่า Dollar Cost Averaging แค่นี้ข้อมูลมาเพียบ

ปีใหม่นี้ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีชีวิตที่ราบรื่น มีความสุขสมหวังและประสบความสำเร็จกับเป้าหมายดีๆ ที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำในปีนี้และปีถัดไป รวมไปถึงขอให้เผื่อแผ่ความรักความเมตตาและปัจจัยกับผู้ที่ยังขาดและต้องการการแบ่งปันจากคนอย่างเราๆ ที่มีความพร้อมสมบูรณ์มากกว่า








photos credit to: http://www.intell.rtaf.mi.th/intellFilesUpload/intellnews/49034-01.jpg

ไม่มีความคิดเห็น: