วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 19: เด็กคืออนาคตของชาติ

เมื่อวานเพิ่งผ่านวันเด็กของประเทศไทยเรามาหมาดๆ กิจกรรมอะไรมากมายที่บรรดาผู้ใหญ่จากหน่วยงาน ห้างร้าน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่จัดขึ้นสำหรับเด็ก ทำให้ดูเหมือนว่าบรรดาผู้ใหญ่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กๆ และเยาวชนที่ต้องเติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไป แต่พอผ่านพ้นวันเด็กไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าก็ลอยหายไปกับสายลม เด็กๆ และเยาวชนทั้งหลาย ในประเทศนี้ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องระบบการศึกษาและการพัฒนาทางด้านจิตใจและอารมณ์ จะด้วยเพราะอะไรและอย่างไรนั้นเราๆ ท่านๆ คงจะพอทราบดีกันอยู่แล้ว

เมื่อหลายตอนที่แล้วผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังเป็นเบื้องต้นว่าสมัยที่เรียนอยู่นั้น ทางรัฐบาลท้องถิ่นของออนตาริโอโดยความร่วมมือจาก Georgian College จัดทำงานวิจัยโครงการ "Food for Thought" ซึ่งโครงการที่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของออนตาริโอก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้บริการอาหารเช้าแก่เด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดท้องที่ โดยเด็กๆ ที่รับบริการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กระดับประถมศึกษา ซึ่งทุกๆ เช้าจะมีรถโรงเรียนไปรับเด็กตามบ้าน และจุดนัดหมายต่างๆ เพื่อมาส่งที่โรงเรียน โดยเด็กบางคนที่ต้องรีบออกจากบ้านแต่เช้าก็อาจจะไม่มีโอกาสได้กินอาหารเช้า อาจจะเป็นด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้เด็กๆ หรือบางบ้านครอบครัวมีความขัดสนในเรื่องปัจจัยการเงิน เลยต้องให้ลูกๆ ไปรับบริการอาหารเช้ากันที่โรงเรียน ก็เลยทำให้เด็กๆ เหล่านั้นต้องกลายเป็นน้องผู้หิวโหยกันโดยปริยาย

ด้วยความที่รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลท้องถิ่นเขาใส่ใจและเห็นความสำคัญของเด็กๆ ดังนั้นวิธีปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เด็กๆ ของเขาได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย สติปัญญา รัฐบาลเขาจะทำอย่างจริงจัง โครงการ Food for Thought นี้ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นของออนตาริโอเขาต้องการประเมินคุณภาพการให้บริการอาหารเช้าแก่เด็กๆ ของเขา เพื่อเป็นการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเด็กๆ ทุกคนที่รับบริการจะต้องได้รับอาหารเช้าที่ถูกสุขลักษณะในสัดส่วนที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการก่อนเข้าเรียน เพื่อที่จะได้เริ่มต้นวันใหม่ในห้องเรียนด้วยหัวสมองที่แจ่มใสและสามารถรับความรู้จากการเรียนในชั่วโมงเช้าๆ ได้อย่างเต็มที่

ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองได้รับโอกาสที่ดีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมการจัดทำโครงการนี้ด้วย ได้ไปเห็นการใช้ชีวิตของเด็ก การได้เข้าไปคุยกับครูผู้สอนของโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีวิจัยเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการประเมินผลสำหรับโครงการในภาพรวมต่อไป

และตลอดเวลาที่ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศแห่งนี้ ผู้เขียนสังเกตได้ว่าการใช้เวลาว่างและทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนของแคนาดาส่วนใหญ่จะออกไปในเรื่องของการเล่นกีฬา เช่น ฮอกกี้ เบสบอล หรือบาสเกตบอล เพราะฉะนั้นตามสนามกีฬาหรือว่าตามสนามเด็กเล่นต่างๆ จะมีเด็กๆ มาใช้บริการกันเยอะมาก ผู้เขียนว่าสนามกีฬาหรือสนามเด็กเล่นของเขาก็มีเครื่องเล่นอะไรที่ไม่พิสดารไปจากบ้านเรา ดีไม่ดีบางอย่างยังไม่ทันสมัยเท่าบ้านเราเลย แต่ที่แตกต่างคือสนามกีฬาหรือสนามเด็กเล่นบ้านเราไม่ค่อยมีเด็กมาใช้บริการ ถ้าจะหาต้องไปหาตามร้านเกม นั่งเล่นกันทั้งวันทั้งคืนถ้าร้านไม่ปิดไม่กลับบ้าน

ดังนั้นผู้เขียนถึงไม่แปลกใจว่าทำไมเด็กๆ และเยาวชนของที่นี่ส่วนใหญ่ถึงได้รับการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ที่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ก็เป็นเพราะว่าผู้ใหญ่ของเขาให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อประชากรวัยเด็กที่จะเป็นอนาคตของประเทศเขาต่อไป ดังนั้นท่านๆ ทั้งหลายก็คงไม่ต้องประหลาดใจกับข่าวเมื่อต้นปีใหม่นี้ที่ว่า เด็กผู้หญิงวัยสิบปีชาวแคนาดาค้นพบปรากฏการณ์การระเบิดของดาวฤกษ์หรือปรากฏการณ์ Supernova ซึ่งนับว่าเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์นี้ที่มีอายุน้อยที่สุด

4 January 2011 Last updated at 12:19 GMT



Canadian girl 'youngest to discover supernova'

Kathryn Gray says she is 'really excited' by her interstellar discovery A 10-year-old girl in Canada has become the youngest person to discover a supernova - an exploding star which can briefly outshine a whole galaxy.

Kathryn Gray was studying images taken at an amateur observatory which had been sent to her father.

She spotted the magnitude 17 supernova on Sunday.

Supernovas - which are rare events - are stellar explosions that mark the violent deaths of stars several times bigger than the Sun.

The supernova was discovered in the galaxy UGC 3378, about 240 million light years away, in the constellation of Camelopardalis.

"I'm really excited. It feels really good," Ms Gray told Canada's Star newspaper.

Age estimate

Kathryn's father, Paul Gray, himself an amateur astronomer, helped her make the discovery by taking the steps to rule out asteroids and checking the list of current known supernovas.

The discovery was then verified by independent astronomers and officially registered, the Royal Astronomical Society of Canada (RASC)



Photo and content credit to: http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-12110747

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ในวันปีใหม่

ที่จริงตั้งใจว่าจะว่างเว้นการเขียนบล็อกในช่วงนี้เพราะไม่ค่อยจะมีเวลาเท่าไหร่ สาเหตุก็มาจากเรื่องการเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่เล่าไปเมื่อครั้งที่แล้ว แต่ไหนๆ ใครๆ ทั่วบ้านทั่วเมืองเขาก็ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นวันใหม่ในปีใหม่ ก็เลยขอตามกระแสไปด้วยถึงแม้ว่าในความรู้สึก วันที่ ๑ มกราคม ของทุกๆ ปี ก็คือวันธรรมดาอีกวันหนึ่งที่เราต้องดิ้นรนใช้ชีวิตกันในโลกใบนี้ต่อไป จะเลือกทำดีหรือทำไม่ดีในวันไหนๆ ก็เหมือนกัน

สำหรับหลายๆ คน ก็เลือกเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ให้กับชีวิต สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ตั้งเป้าหมายไว้เหมือนกันว่าสำหรับปีนี้อยากจะสร้างความมีวินัยสำหรับการออมเงินให้มากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินไปค่อนข้างมากกับเรื่องที่ดูไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แต่ยังดีว่าสักสองสามปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้จัดระบบการเก็บเงินที่มีประสิทธิภาพและมีวินัยมากขึ้น แต่ไม่ใช่การออมเงินในบัญชีธนาคาร แต่เป็นการสร้างวินัยในการออมเงินแบบหนึ่งของคนวัยทำงานอย่างผู้เขียน นั่นก็คือ "การลงทุนในกองทุนหุ้น และกองทุนรวม"



หลายๆ ท่านที่เป็นผู้รักการออมเงินแบบฝากเงินในธนาคารและรอส่วนกำไรจากดอกเบี้ย ฟังดังนี้แล้วก็อาจจะคิดว่าผู้เขียนมั่นใจได้อย่างไรว่าการลงทุนในกองทุนหุ้นและกองทุนรวมแบบนั้นคือการมีวินัยในการออมเงิน มันคือเอาเงินไปเสี่ยงชัดๆ เพราะก่อนลงทุนเขาก็บอกอยู่แล้ว การลงทุนแบบนี้มีความเสี่ยงและไม่ประกันเงินต้น ความเข้าใจที่ว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแต่ยังไม่ทั้งหมดเสียทีเดียวเพราะเรามีวิธีการลดความเสี่ยงของการลงทุนแบบนั้น

ผู้เขียนเคยคุยกับคนรู้จักหลายๆ คนเกี่ยวกับการลงทุนแบบนี้ ซึ่งคนรู้จักเหล่านั้นค่อนข้างสนใจวิธีการที่ผู้เขียนใช้อยู่ อันที่จริงก็ไม่ใช่วิธีการที่ใหม่อะไรเลย มีคนจำนวนมากที่เขาใช้กันมาแล้ว นั่นก็คือวิธีการที่เขาเรียกว่า "การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือภาษาอังกฤษที่ว่า Dollar Cost Averaging" ซึ่งวิธีการลงทุนแบบนี้อาจจะมีผู้อ่านหลายท่านที่อยู่ในแวดวงการลงทุนใช้อยู่ก็เป็นได้ ถ้าท่านไหนสนใจวิธีการเช่นนี้ก็สามารถหาความรู้ได้ในบทความ บทวิเคราะห์ของกูรูและผู้รู้ได้อย่างง่ายดายในอินเตอร์เนต ผู้เขียนคงไม่สามารถนำมาบอกเล่าได้เพราะความรู้ยังแค่หางอึ่ง แต่ที่อาจจะพอเล่าประสบการณ์ที่ใช้วิธีการบริหารการลงทุนแบบนี้มีที่มาที่ไปก็คือว่า เมื่อสมัยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี ๒๕๔๐ ครอบครัวของผู้เขียนได้รับผลกระทบพอสมควรจากวิกฤตการณ์นี้เพราะแม่ของผู้เขียนเขามีเงินออมจำนวนหนึ่งในกองทุนหุ้นเหล่านั้น พอเกิดวิกฤตการณ์นี้ขึ้น เงินจำนวนที่ว่ามูลค่าของมันลดไปครึ่งหนึ่งเลย ทำเอาแม่ของผู้เขียนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปพักใหญ่ เพราะจริงๆ ครอบครัวของเราไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร มีฐานะปานกลาง เงินจำนวนที่ว่าแม่เขาเก็บหอมรอมริบไว้นาน พอมูลค่าของมันร่วงซะแบบนั้น เป็นใครๆ ก็กลุ้มใจเป็นธรรมดา แต่แม่เขาก็ไม่ได้ขายกองทุนนั้นทิ้งไป รอเวลาให้ทอดนานออกไปหวังว่าเหตุการณ์จะกลับมาดีขึ้นมูลค่าของกองทุนนั้นจะกลับมาแตะเพดานเหมือนเมื่อตอนแรกซื้อใหม่ๆ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จนแม่เขาขี้เกียจจะสนใจกองทุนนั้นแล้ว เขาก็เลยยกให้ผู้เขียนเป็นเจ้าของกองทุนนั้นเองจะทำอย่างไรต่อกับเจ้ากองทุนนี้ก็ตามใจ

เลยทำให้คนอย่างผู้เขียนที่ไม่ได้สนใจและมีความรู้เรื่องหุ้นกองทุนรวมอะไรสารพัดอย่างมาตั้งแต่ต้น ต้องมานั่งเรียนรู้เรื่องที่ว่าเพราะสถานการณ์บังคับ พอศึกษาไปศึกษามาก็เออแน่ะ มันก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยความที่ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟที่เขาชอบว่ากันสำหรับพวกคนเล่นหุ้นแบบไม่บันยะบันยัง อยากได้กำไรเยอะๆ แต่ผลสุดท้ายเห็นเจ๊งกันมาหลายราย ผู้เขียนก็เลยศึกษาว่าเขามีวิธีการยังไงที่จะลดความเสี่ยงการใช้เงินลงทุนไปกับสิ่งเหล่านี้ ก็ไปเห็นมาว่าเขาใช้วิธีการ "เฉลี่ยต้นทุน" อย่างที่ว่า ซึ่งโดยหลักการก็คือว่าผู้ลงทุนจะต้องลงทุนสม่ำเสมอเป็นประจำและระยะเวลาการลงทุนต้องอยู่ในช่วงปานกลางและระยะยาว" ในกรณีของผู้เขียนเลือกเปิดพอร์ตการลงทุนใหม่โดยอาศัยเงินจากการตัดขายหุ้นจำนวนหนึ่งของกองทุนเดิมของแม่ โดยมาซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือที่ใครๆ รู้จักกันดีว่า Long Term Equity Fund หรือ LTF ซึ่งกองทุนนี้ดีสำหรับคนทำงานในแง่ของการลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ลงทุนต้องถือครองกองทุนนี้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่าห้าปีปฏิทิน ถ้าไม่เช่นนั้นต้องคืนเงินที่ได้รับการลดหย่อนภาษีคืนให้หมด

ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าในช่วงใกล้สิ้นปี บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายจะโหมโฆษณาแคมเปญทั้งหลายเพื่อชักชวนให้คนมาซื้อ LTF ของบลจ.ของตัวเองให้เยอะๆ และก็อีกเหมือนกันมีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มาโหมทุ่มเงินก้อนจำนวนมากเพื่อมาซื้อ LTF นี้ แต่ในกรณีของผู้เขียนได้ลงทุนกับ LTF ของบลจ. แห่งหนึ่งมาสามปีแล้ว โดยอาศัยหลักการลงทุนเฉลี่ยต้นทุนที่ว่า โดยให้ บลจ.หักเงินจากบัญชีธนาคารทุกเดือนๆ ละจำนวนเท่าๆ กันเพื่อซื้อหุ้นใน LTF โดยในแต่ละเดือนจำนวนหุ้นจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับมูลค่าของหุ้นในแต่ละเดือน ซึ่งมาถึง ณ ขณะนี้มูลค่าของความอดทนที่ใช้เงินออมไปกับกองทุนนี้ทุกๆ เดือนจนล่วงเข้าปีที่สี่มานี้แล้ว ผู้เขียนได้รับเงินกำไรมาจำนวนถึง ๖๕% ของเงินต้นที่ลงทุนมาทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่น่าพอใจไม่ใช่น้อย และที่ดีมากขึ้นไปอีกก็คือได้รับเงินปันผลด้วยหากในช่วงปีที่ผ่านมากองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดี แต่ก็ใช่ว่าวิธีแบบนี้จะสร้างกำไรอย่างเดียว ความเสี่ยงในการขาดทุนก็มีบ้างแต่ตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่ามีน้อยกว่า หากผู้ลงทุนไม่ตื่นตกใจไปกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ให้ใช้ความอดทนลงทุนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นการสร้างวินัยในการออมเงินไปในตัว เพราะหากช่วงเวลาไหนสถานการณ์ดีขึ้น ท่านจะเห็นผลของความมีวินัยในการออมเงินก้อนนั้นทันทีเลย

ผู้อ่านท่านไหนที่สนใจก็หาอ่านข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไปว่า "การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน" คืออะไร และเขาทำกันอย่างไร เพียงแค่พิมพ์ค้นหาคำว่า Dollar Cost Averaging แค่นี้ข้อมูลมาเพียบ

ปีใหม่นี้ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีชีวิตที่ราบรื่น มีความสุขสมหวังและประสบความสำเร็จกับเป้าหมายดีๆ ที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำในปีนี้และปีถัดไป รวมไปถึงขอให้เผื่อแผ่ความรักความเมตตาและปัจจัยกับผู้ที่ยังขาดและต้องการการแบ่งปันจากคนอย่างเราๆ ที่มีความพร้อมสมบูรณ์มากกว่า








photos credit to: http://www.intell.rtaf.mi.th/intellFilesUpload/intellnews/49034-01.jpg