วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 10: ดังแล้วแยกวง )

หลังจากเที่ยวเล่นบริเวณน้ำตกตาดกวางสีเป็นที่พอใจ ก็ถึงเวลากลับเข้าตัวเมืองหลวงพระบาง ถึงตอนนั้นก็เลยเวลาเที่ยงไปมากแล้ว รู้สึกว่าหิวข้าวเป็นกำลังเพราะเฝอที่กินไปเมื่อตอนเช้าย่อยสลายเป็นพลังงานสำหรับกิจกรรมการเดินเที่ยวไปหมดแล้ว

บุญใช้เวลาขับรถไม่นานนักก็พาพวกเราเข้ามาถึงในเมือง พวกเราช่วยกันสอดส่ายสายตาหาร้านอาหารที่ดูเข้าท่าเข้าทาง จนกระทั่งเห็นร้านนึงน่าจะดูดีหน่อยก็เลยตกลงใจกันว่าจะใช้บริการร้านนี้ก็แล้วกัน ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายเศษๆ ภายในร้านไม่มีลูกค้าคนไหนเข้ามาใช้บริการ เข้าใจว่าน่าจะคึกคักตอนช่วงเย็นๆ ถึงหัวค่ำ เท่าที่ดูลักษณะร้าน รวมทั้งการตกแต่งและการจัดวางข้าวของจัดว่าพอใช้ได้ ซึ่งน่าจะเน้นบริการลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะตั้งแต่เรามาประเทศลาวนี้สังเกตว่าคนลาวเองไม่นิยมกินอาหารนอกบ้าน อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่นอันที่หนึ่งคือเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นความเห็นของผู้เขียนเองน่าจะเป็นเพราะสังคมของลาวยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยม ขนาดของครอบครัวยังเป็นครอบครัวขยายที่ประกอบไปด้วยสมาชิกหลายรุ่นตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนกระทั่งรุ่นลูกหลาน ดังนั้นหากหุงหากินเองในบ้านน่าจะอบอุ่นกว่าและประหยัดดีด้วย








เมนูของเรามื้อนี้ ก็คงพอจะทายกันถูก ที่ยืนพื้นคือ ผัดผักรวม ไข่เจียว นอกนั้นก็เป็นต้มยำ และรู้สึกจะมีปลาทอดหรือปลานึ่งอะไรด้วยเนี่ยแหละถ้าจำไม่ผิด แต่ที่มีเพิ่มมาใหม่ได้แก่ ส้มตำ ซึ่งเมนูนี้ป้าศรีแกเป็นคนสั่ง จะเป็นด้วยเพราะเห็นว่ามาประเทศลาวแล้วก็น่าจะสั่งอาหารท้องถิ่นเขาเสียหน่อยและดูสิว่าส้มตำเขากับส้มตำบ้านเรารสชาติต่างกันไม๊ ระหว่างรออาหารพวกพี่เขาก็นั่งคุยกันไป มีแต่พี่หวาดกับผู้เขียนที่ไม่ได้ร่วมวงสนทนาด้วย เพราะกำลังสนใจกับทีวีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เราสองคน ซึ่งเขากำลังเปิดช่องไทยพีบีเอส (ชื่อนี้หรือเปล่า ขอสารภาพว่าไม่เคยเปิดช่องฟรีทีวีดูมานานมากแล้ว เพราะเบื่อความไม่มีสาระของรายการบันเทิงของช่องต่างๆ และการนำเสนอข่าวที่ส่วนใหญ่ไร้จรรยาบรรณ เลยตัดปัญหาไม่ดูเลยดีกว่า)ในช่วงนั้นเขาเอาหนังไทยเก่าๆ มาฉาย เออ เลยน่าสนใจหน่อย เรื่องที่กำลังฉายอยู่ชื่อ "สามเณรใจสิงห์" เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่ ขุนพล ฉ่ำเย็นอุรา เล่นเป็นเณรสิงห์ชัย เลยรู้สึกคิดถึงสมัยตอนเด็กๆ เพราะหนังรุ่นเนี้ยเป็นหนังร่วมสมัยตอนผู้เขียนยังเด็กอยู่


พอพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็อดที่จะเล่าไม่ได้ว่า ที่ประเทศลาวเขานิยมชมชอบที่จะติดตามรับชมรายการโทรทัศน์ของประเทศไทยอย่างที่เราทราบกันอยู่ ตั้งแต่ผู้เขียนมาถึงที่นี่ เดินผ่านไปบ้านไหน ร้านรวงไหนก็เห็นเปิดดูแต่โทรทัศน์ของไทย และก็สังเกตอยู่อย่าง ตลอดทางที่นั่งรถผ่านมาตั้งแต่เวียงจันทน์จนถึงหลวงพระบางเนี่ย ผู้เขียนเห็นบ้านจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นบ้านตึกดูดี หรือจนกระทั่งบ้านมุงหลังคาจากดูซอมซ่อ เกือบทุกบ้านมีจานรับดาวเทียม ที่เขาเรียกว่าจานดำ เอาไว้รับชมโทรทัศน์จากต่างประเทศ ที่เด่นๆ คงเป็นรายการจากประเทศไทยกับประเทศจีน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกระแสหลักของโลกยุคปัจจุบันที่ผู้เขียนคิดว่าอาจจะตรงตามคำจำกัดความของนักมานุษยวิทยาชาวคิวบาที่คิดคำว่า "Transculturation" ที่ว่าด้วยเรื่องของการผสมผสานข้ามวัฒนธรรม ตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองดูประเทศไทยก็ได้ วัฒนธรรม k-pop j-pop อะไรเนี่ยแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมไทยไปแล้ว ผู้เขียนคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้วัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศน่าจะเลือนหายไป กลายเป็นวัฒนธรรมสากล ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นของชาติใด และไม่แน่นะว่าวิถีชีวิตรวมทั้งการแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศอาจจะหายไปเช่นกัน กลับกลายรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก อย่างที่อเมริกาภายใต้การนำของคาวบอยจากเท็กซัส จอร์จ บุช จูเนียร์ เคยประกาศไว้เรื่อง "New World Order" เอาไว้ค่อยคุยเรื่องนี้ในตอนต่อๆ ไปดีกว่า

กลับมาเรื่องของเราต่อ หลังจากนั่งรออาหารที่สั่งอยู่เป็นเวลานานมาก (อันเนี้ยขอบ่นหน่อย) อาหารที่เราสั่งก็ค่อยๆ ทยอยมาตั้งที่โต๊ะ อาหารทุกอย่างดูหน้าตาแล้วน่ากินทั้งนั้น ข้าวก็หุงอร่อยมากมาก (ยกโทษให้ที่ให้รอนาน) แต่เดี๋ยวก่อนมีอย่างหนึ่งที่คนสั่งมองหน้าตาของอาหารแล้วลังเล นั่นก็คือ ส้มตำ ดูรูปร่างแล้วสีมันแปลกๆ ดำกระด่างยังไงไม่รู้ดูไม่น่ากินเลย และแล้วคนที่สั่งคือป้าศรีก็ค่อยๆ เลื่อนจานส้มตำมาตรงหน้าผู้เขียนและพี่หวาดอย่างแนบเนียน แล้วพูดขึ้นว่า "เออ ส้มตำเนี่ยสั่งมาให้พี่หวาดกินนะ เห็นว่าชอบกิน" (คือจำคำพูดแกไม่ได้ทุกคำหรอก แต่ป้าศรีพูดประมาณเนี้ย)

พี่หวาดใช้สายตาเหลือบดูป้าศรีเล็กน้อย แล้วทำหน้าเหมือนรู้ทันประมาณว่า "รู้หรอกน่าว่าไม่อยากกิน เลยยกให้ฉันใช่ไม๊ล่ะ" พี่หวาดไม่ได้พูดอะไร แต่ก็รับน้ำจิตน้ำใจของป้าศรีมาด้วยความซาบซึ้ง 5555 พี่หวาดค่อยๆ ใช้ช้อนตักส้มตำจานนั้น และก็ละเลียดกินอย่างไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ อากัปกิริยาของพี่หวาดอยู่ในสายตาของผู้เขียนโดยตลอด ผู้เขียนมองพี่หวาดกินส้มตำจานนั้นพร้อมกับนึกในใจว่า "โอโห พี่คะช่างเป็นคนกินง่ายจริงๆ ดูสิส้มตำสีกระดำกระด่างยังงั้นคงไม่อร่อยเอร็ดอะไรหรอก พี่ก็ยังกินได้นะ โถคงเสียดายสตางค์ละสิ เลยต้องแค่นกินให้มันหมดๆ ไปใช่มั้ยพี่"

ผู้เขียนมองดูพี่หวาดกินส้มตำจานนั้นแบบไม่วางช้อนไปสามสี่คำ ก็ชักเอะใจ เอ๊ะทำไมแกไม่ไปตักกับข้าวจานอื่นเลย หรืออยากจะจัดการอาหารไม่อร่อยจานนี้ให้เสร็จๆ ไป แต่มองหน้าพี่หวาดแล้วเห็นแกก็เฉยๆนะ และก็ไม่ได้พูดอะไร เอางี้ ขอลองชิมมั่งดีกว่า

"SUPERB" นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนร้องขึ้นในใจหลังจากได้ชิมส้มตำจานนั้นเป็นช้อนแรก อร่อยกว่าบ้านเราเยอะเลย หน้าตาไม่น่ากินแต่รสชาติยอดเยี่ยม มารู้ว่าที่ส้มตำสีออกดำๆ นั่นเพราะเขาใส่กะปิ เลยดูไม่ค่อยน่ากิน หลังจากที่ผู้เขียนรู้รสชาติของส้มตำจานนั้นแล้ว จึงได้โฆษณาให้ผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นๆ รู้ และแล้วทุกคนในโต๊ะก็ได้ลองลิ้มชิมรสของส้มตำจานนั้นอย่างเอร็ดอร่อยรวมทั้งป้าศรีคนที่สั่งด้วย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าวันหลังเวลาไปกินอาหารร่วมโต๊ะกับพี่หวาด อย่าสั่งเมนูอะไรที่ท่านไม่มั่นใจเรื่องรสชาติเป็นอันขาด มิฉะนั้นท่านอาจจะพลาดกินอาหารจานอร่อยด้วยการมอบอาหารจานนั้นให้คนกินง่ายอย่างพี่หวาดไปอย่างน่าเสียดาย 5555

หลังจากเสร็จสิ้นจากอาหารมื้อกลางวัน คณะของเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอะไรต่อ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเวลาบ่ายกว่าแล้ว และก็ได้ข้อสรุปว่าจะกลับที่พักคือที่วิลลาพิไลลักษณ์สักแป๊ปหนึ่ง แล้วจะเช่าเรือล่องแม่น้ำโขงในช่วงเย็น

ผู้เขียนและพี่วัฒน์กลับมาที่ห้องได้สักครู่หนึ่ง สักพักพี่วัฒน์ก็พูดกับผู้เขียนว่า "สงสัยพี่จะไม่ล่องเรือแล้วละ รู้สึกท้องไม่ค่อยดี เดี๋ยวไปแล้วหาห้องน้ำเข้าลำบาก" จากนั้นพี่วัฒน์ก็ขอตัวเข้าห้องน้ำเพื่อเป็นการยืนยันว่าแกมีปัญหาเรื่องท้องไส้จริงๆ ผู้เขียนก็เลยคิดว่า ตัวเองก็คงจะไม่ไปเหมือนกัน น่าจะอยู่เป็นเพื่อนพี่วัฒน์ แล้วเดินเที่ยวแถวนี้ดีกว่า

พอได้ข้อสรุปอย่างนั้น เราทั้งคู่ก็เลยไปแจ้งความประสงค์ให้สมาชิกทราบ ผลที่ตามมาคือป้าศรีมีงอนเล็กน้อย แกคงอยากให้ไปพร้อมหน้าพร้อมตากัน ประเภทเลือดสุพรรณ มาด้วยกันไปด้วยกันอะไรเงี้ย แต่ทุกอย่างก็ลงเอยได้ด้วยดีสรุปก็คือว่า พี่นิ ป้าศรี พี่หวาด พี่อ้อย ไปล่องเรือเที่ยวชมแม่น้ำโขง โดยมีบุญไปด้วย สำหรับพี่วัฒน์และผู้เขียนเที่ยวอยู่แต่ในเมืองหลวงพระบาง ดังนั้นช่วงนี้ผู้เขียนก็จะเขียนถึงสิ่งที่ได้พบเจอมาตอนที่แยกกันเที่ยวกับคณะ

พี่วัฒน์และผู้เขียนเลือกที่จะซึมซับความงดงามของหลวงพระบางด้วยการเดินเท้ากันไปเรื่อยๆ เราตั้งต้นด้วยการเดินไปจุดแรกที่เรามาถึงหลวงพระบาง นั่นก็คือบริเวณด้านทางขึ้นของพระธาตุจอมพูสี เราเลี้ยวลัดเลาะเรื่อยไปตามซอยต่างๆ ที่เต็มไปด้วยบ้านรูปทรงเก่าแก่ที่ส่วนมากดัดแปลงให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว บางที่ก็ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อย่างในภาพข้างล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ "เรือนจัน" ผู้เขียนเห็นไกด์ลาวกำลังพาฝรั่งคู่หนึ่งเดินชมพิพิธภัณฑ์อยู่







เราทั้งคู่เดินออกมาจากซอกซอยต่างๆ ที่ตัดออกสู่ถนนใหญ่ ซึ่งจากการเดินเข้าซอยนั้นออกซอยนี้ทำให้เรารู้ว่าการจัดผังเมืองของหลวงพระบางทำไว้ได้ดีและเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก เดินอย่างไรก็ไม่หลง ก่อนที่ผู้เขียนและพี่วัฒน์จะเดินออกจากซอยเล็กๆ เพื่อออกสู่ถนนใหญ่ เราเดินผ่านบ้านหลังหนึ่งที่ดูเหมือนจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์หรือมูลนิธิอะไรสักอย่าง ดูลักษณะการตกแต่ง และการจัดวางข้าวของ ดูน่าสนใจสำหรับเราสองคน เราจึงหยุดดูอยู่ข้างหน้าประตู แต่เนื่องจากป้ายที่ติดประตูด้านหน้าเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เราอ่านไม่ออก ทำให้เราไม่ทราบว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ไว้สำหรับทำอะไร และให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้หรือไม่ และก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไป ประตูบ้านก็เปิดออกมาพร้อมกับเจ้าของสถานที่ที่เป็นชาวลาวกำลังเดินออกมาส่งแขกชาวฝรั่ง และสนทนากันเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เราไม่เข้าใจ พอแขกชาวฝรั่งคนนั้นเดินพ้นออกประตูบ้านไป เจ้าของสถานที่ซึ่งเป็นผู้ชายชำเลืองมองดูเราสองคนด้วยสายตาที่เราคิดว่าไม่ค่อยเป็นมิตร ชายผู้นั้นไม่ได้กล่าวอะไรกับเราสองคน เขาชำเลืองมองเราอยู่ครู่เดียวก็ปิดประตูใส่หน้าเราสองคน

นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้รับการต้อนรับในลักษณะที่ไม่เป็นมิตรจากคนลาว ตั้งแต่เรามาที่นี่คนลาวมีมิตรจิตรมิตรใจ และอุปนิสัยน่ารัก ถ้าถามผู้เขียนว่ารู้สึกโกรธไม๊ คงตอบตรงๆ ว่าไม่ได้โกรธ เพียงแต่นึกแปลกใจเท่านั้น เพราะเขาแสดงออกถึงอาการรังเกียจค่อนข้างโจ่งแจ้ง ผู้เขียนจึงสงสัยว่าชายผู้นี้คงได้รับประสบการณ์อะไรที่ไม่ค่อยดีนักจากคนไทย

เราสองคนเดินออกมาจากสถานที่แห่งนั้นเพื่อออกมาสู่ถนนใหญ่ เราเดินออกมาได้สักพักก็เห็นมีอาคารจัดแสดงผ้าพื้นเมืองของหลวงพระบาง (จำชื่อเป็นทางการไม่ได้เสียแล้ว)ก็เลยชวนกันขึ้นไปดู พอขึ้นไปแล้วสิ่งแรกที่ทำให้เราปลาบปลื้มใจมากคือมีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ซึ่งเคยเสด็จมาที่แห่งนี้ ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าของเราเป็นที่รักใคร่และนับถือของชาวลาวเหมือนกัน




ก่อนที่เราจะเดินกลับที่พักของเรา เพราะพี่วัฒน์เริ่มรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนต้องการจะเข้าห้องน้ำ เราได้เดินผ่านโรงเรียนชั้นประถมของเมืองหลวงพระบาง เด็กๆ กำลังเลิกเรียนพอดี เห็นมีพ่อแม่มารับ บ้างก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับลูก บ้างก็เดินมา ข้างหน้าโรงเรียนก็เหมือนกับโรงเรียนที่บ้านเรา มีขนมนมเนยขายล่อตาล่อใจให้เด็กๆ ได้หาซื้อกินกัน มองดูแล้วก็รู้สึกดี เด็กๆ ที่ไหนก็เหมือนกันหมด ความอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา พร้อมที่จะซึมซับแบบอย่างจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีหรือไม่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับต้นแบบที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ เป็นที่น่าเสียดายนักที่บ้านเราปัจจุบันจะหาผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีช่างยากเย็นเข็ญใจ จะมีก็แต่ผู้ใหญ่ที่ทำตัวเป็นศรีธนญชัย ไม่อยู่กับร่องกับรอย แล้วอย่างนี้เด็กๆ อนาคตของชาติเรา โตขึ้นไปจะเป็นอย่างไรหนอ

ไม่มีความคิดเห็น: