วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (รัฐธรรมาภิบาลหรือรัฐล้มเหลว? เส้นทางของประเทศไทยที่คุณเลือกได้)



ปี 2008 Fund for Peace องค์กรที่ไม่แสวงกำไรซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี ได้จัดลำดับสถานะของประเทศและรัฐไว้ 4 สถานะ ได้แก่ สถานะของรัฐในระดับที่ต้องเตือนภัยขั้นสูง (alert) สถานะของรัฐในระดับเตือนภัย (warning) รัฐที่มีสถานะปานกลาง (moderate) และรัฐที่มีสถานะมั่นคง (sustainable) ในจำนวนทั้งหมด 177 รัฐในสังคมโลกปัจจุบัน มีรัฐจำนวน 20 รัฐที่มีสถานะเลวร้ายที่สุดที่ต้องเตือนภัยขั้นสูงหรือที่รู้จักกันทั่วไปคือเป็นรัฐล้มเหลว โดยประเทศโซมาเลียได้รับการจัดเป็นรัฐอันดับที่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวร้ายแรงที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้นได้รับการจัดอันดับอยู่ในสถานะเตือนภัย ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 89 เขยิบขึ้นมาหนึ่งอันดับจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 90 ในปี 2007 สำหรับรัฐที่มีความมั่นคงสถาวรที่สุดโดยได้รับการจัดลำดับที่ 177 คือประเทศนอร์เวย์

สำหรับดัชนีชี้วัดว่ารัฐไหนเป็นหรือไม่เป็นรัฐล้มเหลวดูได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งในภาพรวมรัฐที่ล้มเหลวจะมีลักษณะดังนี้ 1)รัฐนั้นสูญเสียซึ่งการปกป้องคุ้มครองเขตอาณาของรัฐทางด้านกายภาพ หรือรัฐสูญเสียการบังคับใช้ซึ่งอำนาจและการใช้กองกำลังที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2)อำนาจในการสั่งการเพื่อการบังคับใช้กฎหมายถูกกรัดกร่อน 3) รัฐนั้นไม่สามารถให้การบริการสาธารณะที่สมเหตุสมผลแก่ประชากรของรัฐได้ และ 4) รัฐนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศในสังคมโลกได้ นอกเหนือไปจากนี้รัฐนั้นๆ ยังมีรัฐบาลกลางที่อ่อนแอ มีอาชญากรรมและการคอรัปชั่นแพร่หลายไปทั่วรัฐ

ทีนี้มาพูดถึงรัฐไทยของเรากันบ้าง จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ท่านว่าบ้านเมืองของเรานั้นเข้าข่ายเป็นรัฐล้มเหลวแล้วรึยัง บางท่านที่มองโลกในง่ดีท่านอาจจะบอกว่ายังหรอก บ้านเมืองเรายังไปได้ด้วยดี คอรัปชั่นเราก็มีมาตั้งนานแล้วนี่ยังไม่เห็นมีใครบอกว่าเราเป็นรัฐล้มเหลวสักที แต่สำหรับตัวผู้เขียนเองขอให้คำตอบที่ชัดเจนตรงนี้เลยว่า
"ประเทศไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวแล้ว"

ท่านฟังแล้วรู้สึกยังไงบ้าง รู้สึกตระหนกตกใจและกำลังคิดว่าฉันจะมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองเราดีขึ้นยังไง หรือรู้สึกเฉยๆ และกำลังคิดว่ารัฐล้มเหลวเนี่ยเป็นยังไงหรือแล้วจะเกี่ยวข้องกับฉันอย่างไรล่ะ หรือรู้สึกว่าก็ช่างมันเถิดอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไปเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้หรอกให้ผู้มีอำนาจเขาแก้ไขไป

ถ้าย้อนกลับไปผู้เขียนเคยเขียนเรื่องความหยิ่งยโส ความลำพองใจของจอมโจรหน้าเหลี่ยมจะมีผลทำให้บ้านเมืองของเรากลายเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งตอนนั้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ลองกลับไปอ่านดูได้ มาถึงตอนนี้แล้วทุกอย่างมันชัดยิ่งกว่าชัด เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยด้านสถานะทางสังคม เศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเมืองของเราเข้าข่ายดัชนีชี้วัดของความเป็นรัฐล้มเหลว ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จราจลเผาบ้านเมืองจะจบลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เสียเลือดเนื้อของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องบ้านเมืองกับฝ่ายที่จ้องทำลายล้างบ้านเมืองก็ยังมีให้เห็นในรูปแบบของการลอบสังหารบุคคลสำคัญและการใช้อาวุธสงครามเข้าทำลายล้างกัน ล่าสุดที่เราได้รับทราบกันแล้วก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธสงครามชุดใหญ่ แต่ก็ยังแคล้วคลาดมาได้ ข่าวนี้กระจายไปทั่วโลกจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ทรงอิทธิพล ทำให้สถานการณ์ของชาติอึมครึมขึ้นมาอีก



ทั้งๆ ที่ขณะนี้กทม. อยู่ระหว่างการใช้พรก. สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีกองทหารเฝ้าระวังอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์สังหารโหดนี้ขึ้นได้ ส่วนจะเป็นใครที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดครั้งนี้คงต้องให้สังคมและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมเฝ้าจับตามองผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนสอบสวนตามหาคนร้ายและผู้สั่งการมาให้ได้ มิฉะนั้นแล้วประเทศของเราจะเข้าข่ายการเป็นรัฐล้มเหลวในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายถูกกรัดกร่อนและประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น

กลับมาพูดถึงเรื่องบทบาทของประชาชนกันบ้าง ในสายตาของผู้เขียนในประเทศนี้แบ่งประเภทของประชาชนได้อย่างหยาบๆ สามประเภท ได้แก่
1) ประเภทรักชาติบ้านเมืองและพร้อมที่จะเคลื่อนไหวการแสดงออกต่อสาธารณชน ประเภทนี้ก็อย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ นปช. ซึ่งบางท่านอาจจะแย้งกับผู้เขียนว่า นปช. ไม่ใช่กลุ่มรักชาติบ้านเมืองนะ จริงอยู่ประเภทแกนนำหรือกลุ่มซ้ายอกหักที่ทำหน้าที่เสนาธิการของ นปช. พวกนี้ไม่ได้รักชาติบ้านเมืองแน่นอน แต่ยังมีกลุ่มใหญ่ของ นปช. ที่เป็นประชาชนถูกชักชวนมาด้วยการโฆษณาชวนเชื่อด้วยข้อมูลเท็จของแกนนำว่าให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อชาติบ้านเมือง
2) ประเภทที่รักชาติบ้านเมืองเหมือนกันแต่รักตัวเองมากกว่า ประเภทเหล่านี้มักจะชอบพูดว่าคนที่ออกไปเคลื่อนไหวของกลุ่มแรกเป็นประเภทสุดโต่ง มันไม่คุ้มกันหรอกหากเราออกไปเคลื่อนไหวแล้วเกิดความรุนแรง และถ้าเราเป็นอะไรไปใครจะรับผิดชอบ เรายังทำประโยชน์ให้สังคมได้อีกหากเรายังมีชีวิตอยู่
3) ประเภทไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ใครจะเป็นอะไรไม่สนใจ วันนี้เวลานี้ขอคิดแต่เพียงว่า ตัวฉัน ครอบครัวฉัน แฟนฉัน คนรักฉัน อยู่ดี กินดี พอแล้ว

ผู้เขียนไม่ทราบว่าในจำนวนของประชาชนชาวไทยทั้งหมด ประเภทไหนมีจำนวนมากกว่ากัน ในประเภทแรกที่เป็นกลุ่ม นปช. รักบ้านรักเมือง และได้รับข้อมูลมาผิดๆ นั้น เราคงต้องช่วยกันให้ข้อเท็จจริงแก่พวกเขาว่าใครกันที่เป็นสาเหตุให้ชาติบ้านเมืองต้องแตกแยกในทุกวันนี้

ที่ผ่านๆ มา ประชาชนในกลุ่มที่สองมักจะชอบพูดว่าขอทำตัวเป็นกลางไม่ขอเข้าข้างใคร ผู้เขียนคิดว่าในสถานการณ์ขณะนี้เขาคงต้องนั่งใคร่ครวญให้ดีแล้วว่า ถ้าเขายังมีใจรักชาติบ้านเมืองอยู่บ้าง เขาควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร การนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร สถานการณ์ของชาติบ้านเมืองจะดีขึ้นอย่างไร อย่าลืมว่ามาถึงตอนนี้ บ้านเมืองของเราเดินมาถึงทางแยกแล้ว เราไม่สามารถหลอกตัวเองได้ต่อไปว่าเดี๋ยวเหตุการณ์มันก็ดีไปเองเหมือนครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนอยากจะให้ประชาชนกลุ่มนี้ศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองของประเทศเกาหลีเหนือ พม่า รวันดา คิวบา อิรัก ปากีสถาน และอีกหลายๆ ประเทศให้ดี ว่าประชาชนของประเทศเหล่านี้มีสถานะอย่างไรบ้าง ถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้นำที่ไม่มีความชอบธรรมอย่างไรบ้าง ลำพังแค่อ่านหนังสือพิมพ์วันละสองฉบับแล้วบอกว่าได้ติดตามข้อมูลแล้วรอบด้านแค่นั้นยังไม่เพียงพอ การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการแก่งแย่งชิงอำนาจ บางครั้งข้อมูลข่าวสารที่ลึกลับซับซ้อนมันมีมากกว่าตัวอักษรที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือวารสาร

ดังนั้นหน้าที่ของประชาชนอย่างเราที่รักชาติบ้านเมืองจึงมีหน้าที่ที่ต้องเปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน แล้วใช้วิจารณญาณพินิจพิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ซึ่งในขณะนี้เราคงจะต้องเอาใจช่วยนายกอภิสิทธิ์ให้สามารถบริหารชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นมรสุมร้ายไปให้ได้ เพราะหากนายกทำไม่ได้แล้ว นั่นหมายถึงหายนะของประชาชนอีกหลายล้านคนเช่นเดียวกัน

สำหรับประชาชนในกลุ่มที่สาม ผู้เขียนคงขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึง เพราะตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่าประชาชนที่เข้าข่ายกลุ่มนี้ถ้าเป็นข้าราชการก็จะเป็นประเภทคอรัปชั่นเป็นนิจ เลียผู้ใหญ่เป็นกิจ หรือถ้าทำงานอยู่ภาคเอกชนก็จะเป็นประเภทส่วนรวมจะร้ายดียังไงไม่ว่า ขอให้กิจการของฉันรอดก็พอ คนกลุ่มนี้เมื่อถึงเวลาที่ประเทศประสบกับความหายนะ ก็พร้อมที่จะสละชาติเพื่อชีพของตัวเอง อาจจะโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศที่สามด้วยเงินที่คอรัปชั่นไว้มากพอแล้ว หรือเงินกำไรที่ได้จากการขูดรีดจากสังคมนี้มามากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะพึ่งพาอาศัยคนที่เป็นไทยแต่ชื่อประเภทนี้

อย่างไรก็ตามประเทศนี้ยังพอพึ่งพาได้ก็คงเป็นประชาชนในกลุ่มที่หนึ่งและสอง ผู้เขียนคิดว่าเรายังพอเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้างก็คงมาจากเหตุการณ์การรวมกลุ่มกันของประชาชนที่จะปกป้องชุมชนและสังคมของเขาตามที่เราได้ทราบจากข่าวจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552 นั่นเอง ผู้เขียนคิดว่าเหตุการณ์นั้นเป็นสัญญาณที่ดีในการรวมตัวกันของประชาชนที่จะร่วมกันต่อต้านสิ่งชั่วร้าย อย่าลืมว่าที่คนชั่วและสิ่งชั่วร้ายมันแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทยทุกวันนี้ เป็นเพราะคนดีท้อถอย ยอมจำนนให้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าคนดีของประเทศนี้ยังมีอยู่อีกมากและมีอยู่ในทุกวงการ รวมไปทั้งคนที่ผู้เขียนรู้จักอีกมากมาย ในสถานการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตเช่นนี้ ผู้เขียนได้แต่หวังว่าขอให้กลุ่มคนดีของบ้านเมืองรวมตัวกันให้เหนียวแน่น จะคิดอ่านทำการณ์ใดให้ตั้งมั่นด้วยสติสัมปชัญญะ บนพื้นฐานของหลักศาสนาที่ตนเองนับถือ เมื่อนั้น เราประชาชนคนไทยก็จะสามารถเลือกทางเดินให้กับประเทศของเราได้ ว่าเราจะเลือกทางให้ประเทศของเราไปสู่รัฐแห่งธรรมาภิบาล ถึงแม้ว่าระหว่างทางเดินเราอาจจะเจ็บปวดในอันที่จะต้องพบกับความสูญเสียอะไรไปบ้าง แต่ว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจะได้มา มันก็คุ้มกันแล้วไม่ใช่หรือ

ไม่มีความคิดเห็น: