วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา (ตอน 3: เพื่อนคนแรก)

“Mac ให้มาดูคุณน่ะ คุณก็ชื่อแม๊กเหมือนกันใช่ไม๊”

หญิงสาวที่ชื่อ Akiko ทักทายผู้เขียนเป็นประโยคแรก หลังจากที่ผู้เขียนเปิดประตูด้านนอกให้เธอเข้ามา

“คุณพักอยู่ใน residence เหมือนกันหรือ ไหน Mac บอกว่าไม่มีใครอยู่เลยไง” ผู้เขียนถามสาวน้อยชาวญี่ปุ่นไป

“Mac คงลืมน่ะ ตอนนี้คุณทำธุระส่วนตัวเสร็จรึยัง คุณสนใจที่จะไปดูอะไรข้างนอกไหม เดี๋ยวจะพาไปเอง” Akiko เสนอตัวเป็นไกด์พาผู้เขียนไปทัวร์ดูอะไรต่อมิอะไรข้างนอก

สิบห้านาทีต่อมา เราสองคนก็มาเดินรอบๆ Georgian College Akiko ชี้ชวนให้ผู้เขียนดูอาคารนั้น อาคารนี้ ด้วยความคุ้นเคยและคล่องแคล่ว

ซึ่งพอเสร็จจากเที่ยวชม Georgian College เราสองคนเดินออกมารับอากาศบริสุทธิ์ แถวทะเลสาบซิมโค (Lake Simcoe) ใกล้ๆ college นั่นเอง




อาจจะเป็นไปด้วยเพราะอากาศที่บริสุทธิ์ สถานที่เงียบสงบ และมีเพื่อนใหม่ที่มีน้ำใจ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการตามหากระเป๋าสัมภาระ

ระหว่างนั้นเราสองคนได้สอบถามชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น Akiko เป็นสาวชาวญี่ปุ่นร่างเล็ก อายุอานามประมาณยี่สิบห้า ยี่สิบหก หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้มตามสไตล์ญี่ปุ่น เธอมาอยู่ที่นี่ก่อนผู้เขียนเดินทางมาถึงสักหนึ่งเดือน นอกเหนือจากความต้องการศึกษาหาความรู้ด้านการออกแบบแฟชั่นแล้ว Akiko ต้องการมาตามหาความฝันของเธอในเรื่องของการใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมไปถึงการได้มีโอกาสใช้และพัฒนาภาษาอังกฤษ โดยเธอมาเริ่มต้นที่ Georgian College ในฐานะนักเรียนต่างชาติเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่าหลักสูตร Learning English as a Second Language หรือ ESL นั่นเอง

ที่นี่มีนักศึกษาชาวเอเชียมากมายที่เข้ามาเรียน ESL บางคนเมื่อเรียบจบหลักสูตร ESL แล้ว ก็เข้าเรียนต่อโปรแกรมหลักของ Georgian เลย เช่น Marketing , Hotel and Management, Automotive นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่จะมาจากประเทศเกาหลี รองลงมาคงเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดียก็มีเยอะเหมือนกัน ซึ่งเกือบทั้งหมดของนักศึกษาอินเดียจะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่าคนอินเดียเก่งทางด้านนี้ ซึ่ง Georgian College มี Campus ที่อินเดียด้วยในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ทีนี้พอมีนักศึกษาจากหลากหลายที่มาอยู่รวมกัน ประเด็นความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ต้องมีบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมาจากสาเหตุในเรี่องส่วนตัว หรือความที่มีอคติอันเกิดมาจากในเรื่องเชื้อชาติ ตัวของ Akiko เอง ก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกันในเรื่องความไม่ลงรอยกับนักศึกษาชาวเกาหลี เพราะถ้าผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและเกาหลีคงพอจะรู้ว่าสองชาตินี้เขามีภูมิหลังฝังใจกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในแถบเอเชียบางทีก็เรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ที่กองทัพของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปรุกรานประเทศในเอเชีย ที่สำคัญๆ ได้แก่ เกาหลี จีน โดยในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีพลเมืองของทั้งสองประเทศนี้ถูกสังหารจากทหารลูกพระอาทิตย์ไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสตรีชาวจีนและเกาหลี ต้องตกอยู่ในสภาพที่เขาเรียกว่า “comfort women” ของทหารญี่ปุ่น ดังนั้นเหตุการณ์เหล่านี้เลยเป็นเหมือนรอยแผลที่ประทับอยู่ในใจของชาวเกาหลี และจีน และมันได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีวันลบเลือน

ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ตรงมาจากเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งที่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวของ Akiko อย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นทั้งคำพูดและกริยาอาการ โดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันนั้น ไม่ได้มาจากปัญหาส่วนตัวระหว่างกันแต่อย่างใด ซึ่งตัวผู้เขียนเองมีหน้าที่แค่รับฟัง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ แต่ผู้เขียนก็รู้สึกเห็นใจทั้งสองฝ่าย

จะว่าไป Akiko นับว่าเป็นเพื่อนคนแรกของผู้เขียนในประเทศนี้ จึงทำให้เราสองคนสนิทกันได้ง่ายและรวดเร็ว หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ใน residence ของ college ได้หนึ่งเดือน ผู้เขียนและ Akiko ได้ออกไปอาศัยอยู่ในบ้านที่เปิดให้เช่ารายเดือนในลักษณะ B&B หรือ bed and breakfast โดยแชร์ค่าห้องกัน

สถานที่ที่เราอยู่นั้น เจ้าของบ้านเปิดชั้นใต้ดินหรือ basement ให้เราอยู่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นครบ มีห้องน้ำ ส่วนที่เป็นสำหรับการทำครัว เครื่องซักผ้า สำหรับการเดินเข้าบ้านก็มีประตูแยกต่างหาก ไม่ต้องไปใช้รวมกับเจ้าของบ้าน




ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนและ Akiko ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนี้ เราสองคนก็อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อาจจะมีแนวคิดแตกต่างกันบ้างในเรื่องวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาขัดแย้งอะไร สำหรับการทำอาหารเราสองคนก็สลับกันทำอาหารประจำชาติของตัวเองในบางครั้งบางคราว และก็มีแบ่งปันให้กับเจ้าของบ้านบ้าง บางครั้งเมื่อมีเวลาว่างจากการเรียนเราสองคนก็เคยเดินทางเข้าไปนิวยอร์กซิตี้ ที่อเมริกา ไปเปิดหูเปิดตาดูเมืองใหญ่บ้าง




เท่าที่สังเกต Akiko เป็นคนชอบศิลปะและพวกดนตรี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไปเที่ยวนิวยอร์กซิตี้ Akiko ชวนผู้เขียนเข้าไปในคลับชื่อดังแห่งหนึ่งของนิวยอร์กซิตี้ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงดนตรีแจ๊ซ ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้ไปในสถานที่แบบนี้ของมหานครใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ก ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองเวลาที่ไปต่างประเทศ สถานที่ท่องเที่ยวของผู้เขียนส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่อง landmark ของเมืองนั้น หรือสถานที่ในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่เคยผนวกสถานที่เช่น การแสดงศิลปะ ดนตรีเข้าไปในรายการท่องเที่ยวของผู้เขียนเลย นับว่า Akiko นี่เป็นคนที่เปิดโลกอีกด้านหนึ่งให้กับผู้เขียนอยู่เหมือนกัน

ผู้เขียนและ Akiko พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่ Akiko ต้องไปตามหาฝันของตนเองในเมืองที่ใหญ่กว่า Barrie นั่นก็คือ Toronto โดยเธอจะต้องเข้าไปเริ่มเรียนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ Design และในวันที่ Akiko จะต้องเดินทางไปอยู่ที่ Toronto ผู้เขียนเองก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน เพราะ Akiko เป็นเพื่อนสนิทคนแรกของผู้เขียนที่นี่ อย่างไรก็ตามการที่ได้มีโอกาสรู้จัก Akiko ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้แนวคิด ความหวัง ความฝันของผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่พื้นฐานทางครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยอะไร ซึ่ง Akiko เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเธอต้องทำงานอย่างหนักที่ญี่ปุ่นเพื่อจะได้เก็บหอมรอมริบเงินที่ได้มาศึกษาต่อ โดยความหวัง ความฝันของเธอนั้นอาจจะเหมือนกับของผู้หญิงอีกหลายๆ คนในโลกใบนี้ แต่ที่อาจมีไม่เหมือนกันคือผู้หญิงหลายๆ คนนั้น อาจจะยังไม่เคยลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้ความฝัน ความหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมา เหมือนอย่างที่ Akiko ทำก็ได้

ก่อนที่ Akiko จะเดินทางออกจากบ้านหลังนี้พร้อมด้วยสัมภาระที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร เธอก็ได้มาร่ำลาผู้เขียนและกล่าวคำพูดเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนประสบผลสำเร็จในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ให้กำลังใจตอบกลับเธอไปเช่นกัน

รถที่มารับ Akiko แล่นออกไปแล้ว เห็นท้ายรถลิบๆ อยู่ข้างหน้า ซึ่งก็ได้เวลาของผู้เขียนแล้วเหมือนกันที่จะเริ่มใช้ชีวิตและเดินทางต่อไปในประเทศนี้


ขอบคุณภาพบางส่วนจาก http://www.travel-destination-pictures.com/data/media/49/spirit-catcher-barrie-ontario_73.jpg

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

โอ้โห...กำลังสนุกเลย รีบมาเขียนต่อไวๆนะ แม็ค
ชอบๆๆๆ