วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 6: สังคมพหุวัฒนธรรม (1)



ช่วงนี้ได้ติดตามข่าวนายราเกรซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงธนาคารกรุงเทพพาณิชยการที่หลบหนีคดีไปพักอาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็นเวลาสิบกว่าปี จนกระทั่งก็ถึงวันสิ้นสุดเสียทีสำหรับการต่อสู้คดีระหว่างผู้ต้องหารายนี้ เื่มื่อศาลฎีกาของแคนาดาพิพากษายกคำร้องของผู้ต้องหา และให้ส่งตัวคนผู้นี้กลับมาดำเนินคดีต่อในประเทศไทยตามสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับแคนาดา

เมื่อคนทั่วบ้านทั่วเมืองให้ความสนใจเกี่ยวกับคดีของ fugitive คนนี้ที่ไปฝังตัวอยู่ที่แคนาดาในระยะเวลายาวนาน ก็นึกอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับแคนาดาว่าทำไมจึงมีคนหลากหลายเชื้อชาติไปตั้งรกรากกันที่ประเทศนี้กันนัก ประการแรกน่าจะมาจากแคนาดาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกตามการจัดลำดับใน human development index ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่จะมีผู้คนมากหน้าหลายตา หลากเชื้อชาติ ต้องการมาลงหลักปักฐานในประเทศนี้ เช่น ชนชาติจีน ยิ่งตอนช่วงที่ฮ่องกงต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ช่วงนั้นชาวจีนฮ่องกงโอนสัญชาติไปเป็นพลเมืองของประเทศแคนาดาจำนวนมาก เมืองสำคัญๆ ใหญ่ๆ ตามมณฑลต่างๆ ในแคนาดาจะมีชุมชนใหญ่ของชาวจีนไปตั้งรกรากอยู่มากมาย ที่สำคัญๆ เช่น แวนคูเวอร์ ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย หรือที่โตรอนโตในออนตาริโอ เป็นต้น ยิ่งถ้าเราไปเดินอยู่ในแวนคูเวอร์เนี่ยจะมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในประเทศแถบเอเชียเลย เพราะมีชาวจีนและชาวเอเชียอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เด็กรุ่นใหม่ที่สืบเชื้อสายชาวเอเชียที่นี่จะมีความเป็นอยู่เหมือนฝรั่งทั่วไป มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถพูดภาษาบรรพบุรุษของตัวเองได้ เรียกว่าภายนอกดูเป็นชาวเอเชียแต่ความนึกคิดและการแสดงออกทั้งวัจนะและอวัจนะภาษาจะเป็นแบบฝรั่งไปทั้งหมด

ประการถัดมา ประเทศแคนาดาจัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางเป็นลำดับที่สองของโลกรองจากประเทศรัสเซีย ในขณะที่จำนวนประชากรไม่สมดุลกับขนาดพื้นที่ของประเทศ มีเพียงสามสิบกว่าล้านคนเท่านั้น (ยังน้อยกว่าประเทศไทยเราเกือบเท่าตัวเลย) ดังนั้นแคนาดาจึงอ้าแขนรับบุคคลจากชนชาติต่างๆ เพื่อไปเป็นพลเมืองของแคนาดา กฎระเบียบของการสมัครเป็น citizen ของแคนาดาดูจะไม่ค่อยเข้มงวดเท่าของอเมริกา แต่ก็มีการตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างละเอียดพอสมควร เพื่อที่จะได้คนมีคุณภาพไปเป็นประชากรของแคนาดาต่อไป


และก็เหมือนกันกับประวัติศาสตร์ชาติของสหรัฐอเมริกา เดิมทีพื้นที่ของประเทศแคนาดามีชนเผ่าพื้นเมือง (aborigin) อาศัยมาแต่เก่าก่อนย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 โน่นเลย ชนเผ่าพื้นเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า อีนุอิืท (Inuit)
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็มีชาวยุโรปมาค้นพบดินแดนทวีปอเมริกาเหนือแห่งนี้ ก็เกิดมีการรบพุ่งกันกับชนพื้นเมืองเพื่อแย่งกันครอบครองดินแดน และผลก็เป็นอย่างที่เราได้เรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์ก็คือว่าชาวยุโรปผิวขาวก็มีชัยเหนือชนเผ่าพื้นเมือง โดยชนชาติอังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งพื้นที่การครอบครองโดยฝรั่งเศสได้พื้นที่ตอนบนซึ่งก็คือประเทศแคนาดาในปัจจุบัน และอังกฤษได้ครอบครองส่วนที่เป็นสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน แต่ตอนหลังทำกันท่าไหนไม่ทราบเกิดการรบกันเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างฝรั่งสองชนชาตินี้ และในที่สุดฝ่ายอังกฤษได้รับชัยชนะได้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ


อย่างไรก็ตามมรดกตกทอดของชาวฝรั่งเศสก็ยังคงมีอิทธิพลกับประเทศแคนาดามาจนจวบทุกวันนี้ที่สำคัญคือเรื่องของภาษา แคนาดาเป็นประเทศที่มีภาษาราชการจำนวนสองภาษาได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทุกวันนี้ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ไหนทั่วแคนาดา แผ่นป้ายทางหลวง ป้ายโฆษณา ป้ายชื่อร้าน ป้ายรถเมล์ สารพัดประกาศต่างๆ หรือเสียงประกาศในสนามบิน สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ท่านจะเห็นเขาใช้สองภาษาทั้งสิ้น โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเริ่มต้นก่อน และจะตามมาด้วยภาษาฝรั่งเศส โดยแบบแผนการใช้ภาษาราชการนี้จะใช้ทั่วประเทศยกเว้นเพียงมณฑลเดียวคือ "มณฑลควิเบค"

พูดถึงควิเบคแล้ว มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับมณฑลที่สวยงามและมีเสน่ห่แห่งนี้ รวมทั้งที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของนักร้องเสียงดีชื่อก้องโลกที่เรารู้จักเธอกันอย่างดี นั่นก็คือ ซิลิน ดีออน (Celine Dion) คงต้องนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดาในตอนหน้า

photos credit: members.virtualtourist.com/m/9f189/dc80f/, www.oecglobal.net/.../CAN_Intrax_Promotion.htm, www.closetcanuck.com/2006/11/vancouver-ready
video credit to youtube by ZELDALINKX123

ไม่มีความคิดเห็น: