วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 7: สังคมพหุวัฒนธรรม (2)


นอกเหนือจากพลเมืองคาเนเดียนเชื้อสายเอเชียแล้ว แคนาดายังมีพลเมืองที่สืบทอดเชื้อสายจากชนชาติฝรั่งเศสอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในควิเบกซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา รวมทั้งเป็นมณฑลที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นอันดับสองรองจากออนตาริโอ นอกจากนี้ควิเบกยังมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนกับมณฑลอื่นในเรื่องของการเมือง การปกครอง โดยที่นี่จะใช้เฉพาะภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษมีใช้บ้างในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไรก็ตามหากท่านได้ไปท่องเที่ยวในควิเบกแล้ว บรรยากาศจะเสมือนหนึ่งท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญคือมอนทรีอัล (Montreal) สำหรับเมืองหลวงของควิเบกได้แก่ ควิเบกซิตี้(Quebec City) ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่ามอนทรีอัลมากมายนัก



ตอนที่ผู้เขียนเดินทางไปเที่ยวที่มณฑลควิเบกและที่อื่นๆ ด้วยนั้นเป็นช่วงหน้าหนาวใกล้เทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาวนาน จึงถือโอกาสนี้วางแผนเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ของแคนาดาและเมืองต่างๆ ของอเมริกาที่อยู่ในแถบใกล้เคียง โดยเป็นการเดินทางเพียงลำพัง และมีเส้นทางการเดินทางเป็นวงรอบ (ดูจากเส้นสีน้ำเงินในแผนที่) โดยตั้งต้นจากโตรอนโตและเริ่มขึ้นไปออตตาวา ต่อไปมอนทรีอัลและควิเบกซิตี้ ย้อนกลับมามอนทรีอัลอีกครั้งเพื่อมาสถานีรถเกรย์ฮาวด์ในการเดินทางเข้าอเมริกา นั่งรถผ่านรัฐเวอร์มองเข้ามายังแมซซาซูเซสเพื่อมาเที่ยวบอสตันกับเคมบริดจ์ นั่งรถต่อมายังนิวยอร์กซิตี้เพื่อต่อรถไปยังเมืองหลวงของอเมริกาที่ดีซี จากนั้นจึงได้ฤกษ์เดินทางกลับแคนาดา โดยแวะรายทางผ่านเมืองบัลติมอร์ไปยังเมืองบัฟฟาโลเมืองชายแดนของรัฐนิวยอร์ก อเมริกา ก่อนจะข้ามสะพานสันติภาพ หรือ Peace Bridge บริเวณน้ำตกไนแองการาเพื่อกลับเข้าสู่เมืองไนแองการาออนเดอะเลค (Town of Niagara-on-the-Lake) ของมณฑลออนตาริโอต่อไป


View Larger Map



พอมาดูเส้นทางการเดินทางครั้งนั้นของตัวเอง ก็รู้สึกตกใจว่าช่างทำไปได้ เดินทางคนเดียวในช่วงอากาศหนาวเหน็บพายุหิมะถล่มในหลายพื้นที่ พอมานั่งนึกดูก็คิดว่าเป็นการสิ้นคิดจริงๆ ที่เดินทางในช่วงนั้น เพราะผู้เขียนประสบอุปสรรคจากสภาวะอากาศที่ย่ำแย่จากพายุหิมะ แต่อย่างไรก็ดีในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง จากการได้เรียนรู้ประสบการณ์และความมีน้ำใจของผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งเป็นเรื่องยาวที่จะเล่าถึง ก็คงจะนำมาเล่ากันต่อไปในตอนถัดๆ ไป เพราะตอนนี้ก็ออกนอกเรื่องมาพอควร

ที่ยังเล่าค้างอยู่คือคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปของมณฑลควิเบกในเรื่องของประชากรและการเมืองการปกครอง ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส และพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ (Francophone)ภาษาอังกฤษมีใช้อยู่บ้างในมณฑลนี้แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย บางครั้งผู้เขียนก็รู้สึกติดขัดอยู่บ้างในเรื่องของการใช้ภาษาสื่อสารเมื่อเดินทางมาที่นี่ ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่ผู้เขียนนั่งรอรถเพื่อจะเดินทางไปบอสตันที่สถานีรถโดยสารที่มอนทรีอัล ในขณะที่ผู้ประกาศให้ผู้โดยสารในสถานีได้ทราบถึงกำหนดการเดินรถ เขาก็เริ่มประกาศเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่าเป็นวิถีปฏิบัติของมณฑลนี้ ในขณะที่เงี่ยหูฟังว่าเมื่อไหร่เขาจะประกาศเป็นภาษาอังกฤษต่อ ก็ไม่มีซะเฉยๆ อย่างนั้น ก็เลยไม่รู้กันว่าประกาศอะไรออกไป ทั้งๆ ที่สถานีรถโดยสารน่าจะใช้ทั้งสองภาษาสำหรับการสื่อสาร เพราะคนเดินทางมีหลากหลายสัญชาติ เป็นนักท่องเที่ยวก็เยอะ ผู้เขียนก็เลยรู้สึกเสียอารมณ์บ้างพอสมควร

เมื่อตอนที่แล้วได้เกริ่นไปบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในเรื่องของการเมืองการปกครองของแคนาดาว่าเคยมีชนชาติฝรั่งเศสปกครองแคนาดามาแต่เก่าก่อน จากนั้นจึงมีการสู้รบชิงแผ่นดินกันกับชนชาติิอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีชัยเหนือฝรั่งเศสได้ครอบครองแผ่นดินและสถาปนาระบบปกครองแบบอังกฤษในประเทศแคนาดาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของชนชาติฝรั่งเศสก็ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะอพยพคนของตัวเองกลับประเทศ ก็ยังมีการรวมตัวกันของคนฝรั่งเศสกันอย่างเหนียวแน่นและก็สืบทอดเชื้อสายความเข้มข้นของชนชาติฝรั่งเศสมาถึงทุกวันนี้ในพื้นที่ของมณฑลควิเบก คนมีชื่อเสียงโด่งดังที่เรารู้จักกันดีในแวดวงนักร้องนักแสดงที่มาจากควิเบกก็มีเยอะ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันคือ ซิลีน ดิิออน และลาร่า เฟเบียน ซึ่งคนหลังนี้เป็นชาวเบลเยี่ยมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว ลาร่าได้โอนสัญชาติเป็นคาเนเดียนและมีถิ่นพำนักในควิเบก สำหรับซิลีนนี่ ไม่มีข้อสงสัยเพราะเธอเกิดและเิติบโตที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของควิเบก ดังนั้นเธอจึงมีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแต่เท่าที่สังเกตเธอก็ใช้ภาษาทั้งสองได้ดีพอๆ กัน จะว่าไปชาวคาเนเีดียนที่เข้าสู่วงการนักร้องนักแสดงในอเมริกามีอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ล่าสุดเท่าที่ผู้เขียนรู้และเห็นว่ามีชื่อเสียงมากพอสมควรคือ เอวริล ลาวีน (Avril Lavigne) ซึ่งตอนแรกนึกว่าสาวคนนี้มีถิ่นเกิดที่ควิเบกและมีเชื้อสายฝรั่้งเศส แต่ตรวจสอบดูแล้วเกิดและเติบโตที่ออนตาริโอ แต่ยังไงก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าเธอมีเชื้อสายฝรั่งเศสหรือเปล่า

เมื่อควิเบกซึ่งป็นส่วนหนึ่งของแคนาดายังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของคนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตแบบฝรั่งเศส มาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็คงเดาได้ไม่ยากว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป นั่นก็คือการขอแยกตัวประกาศเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ตอนที่ผู้เขียนไปใช้ชีวิตที่แคนาดาในช่วงนั้นตัวผู้เขียนเองไม่ได้รับรู้ข่าวสารหรือเรียนรู้กับระบบการเมืองของควิเบกมากไปกว่าการที่รู้เพียงว่ามณฑลนี้เป็นของคนเชื้อสายฝรั่งเศส สำหรับเรื่องข้อขัดแย้งกับรัฐบาลส่วนกลางในเรื่องการปกครองนั้นผู้เขียนไม่ได้รับรู้เลย มาได้เรียนรู้ในรายละเอียดจริงๆ ก็ตอนที่ผู้เขียนได้กลับไปแคนาดาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อฝึกอบรมหลักสูตร "Conflict Management" และได้ไปเรียนรู้ในเชิงลีกของการบริหารจัดการข้อขัดแย้งของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่ออตตาวา และไปเรียนรู้ในมุมมองของรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลควิเบก

แนวคิดที่จะขอแยกตัวเป็นอิสระจากแคนาดาของชาวคาเนเดียนเชื้อสายฝรั่งเศสค่อนข้างมีความเกี่ยวเนื่องและเริ่มต้นจากสงครามการปฏิวัติอเมริกาและสงครามกลางเมืองในอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่รายละเอียดผู้เขียนคงต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม อย่างไรก็แล้วแต่นับตั้งแต่ศตรวรรษที่ 18 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 มีการต่อสู้และเรียกร้องของชาวควิเบกในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะแยกตัวเป็นอีกประเทศหนึ่งไม่ขึ้นอยู่กับแคนาดา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติเงียบหรือมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย ที่แย่ที่สุดในความรู้สึกของแคนาดาน่าจะเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 1960-1970 ที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เหมือนภาคใต้ของเราจริงเลย)เช่น การปล้นสดมภ์ การวางระเบิดสังหาร โดยพุ่งเป้าหมายไปที่หน่วยงานสถานที่ของชุมชนเชื้อสายชาวอังกฤษ แต่ปัจจุบันความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้คนก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่แนวความคิดที่จะแยกควิเบกออกไปเป็นรัฐอิสระก็ยังมีอยู่ในความคิดของชาวควิเบกจำนวนไม่น้อย

เท่าที่รู้รัฐบาลกลางที่ออตตาวาพยายามที่จะขจัดปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยสันติวิํีธีและใช้วิถีทางระบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ล่าสุดในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ได้ประกาศว่า ควิเบกเป็นประเทศหนึ่งที่ผนวกเข้ากับแคนาดา ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังเป็นหัวข้อที่ไม่ชัดเจนและหลายฝ่ายก็นำมาถกเถียงกัน ดังนั้นสถานะของควิเบกก็คงยังคลุมเครืออยู่ถึงทุกวันนี้

Credits to googlemap,
www.hicker-fine-art.com/quebec-city-at-dusk-i...
www.pgscanada.com/.../Montreal_Notre_Dame.jpg

ไม่มีความคิดเห็น: