วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 8: MACKPACKER (1)


ตอนนี้มีชื่อว่า MACKPACKER จริงๆ ไม่ได้เขียนผิดหรอก MAC+BACKPACKER เลยกลายเป็น MACKPACKER ไปโดยปริยาย สำหรับตอนนี้เข้ามาเขียนช้าหน่อยเพราะติดงานส่วนตัวและยังไม่มีอารมณ์ปลอดโปร่ง ประเภทที่เด็กวัยรุ่นชอบพูดประมาณ chill out เพียงพอที่จะมานั่งเขียนเล่าเรื่องแบบสบายๆ สาเหตุคงไม่ต้องเกริ่นอะไรกันมาก คนที่รู้จักผู้เขียนดีคงเดาออกว่าสาเหตุมาจากเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งที่ "ชั่วเกินจินตนาการ" คำนิยามนี้มาจากอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ซึ่งตรงใจคนไทยหลายๆ คน สำหรับอาทิตย์ที่แล้วผู้เขียนได้ไปร่วมกับเพื่อนร่วมชาติที่สนามหลวงด้วยเหมือนกัน ตัวผู้เขียนเองใช้วิํธีเดินทางโดยใช้บริการเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ เห็นผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่จัดงานก็รู้สึกดีที่คนไทยจำนวนมากยังรักบ้านเมืองและรักในหลวง เลยเก็บภาพไว้สักหน่อยรวมทั้งภาพตึกโรงพยาบาลที่ในหลวงท่านประทับอยู่มาด้วย




ผู้เขียนและคนที่ไปด้วยช่วยกันหามุมที่นั่ง เดินวนไปมาสองรอบ ก็ได้ที่ตรงข้างซ้ายเวทีอยู่เยื้องกันกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ห่างจากจุดที่คนไม่หวังดีมันยิง M79 ลงมาไม่น่าเกินร้อยเมตร เพราะตรงนั้นไม่ค่อยมีคน ลมพัดเย็นสบายดี นั่งฟังคนบนเวทีพูด ฟังพี่หรั่งร้องเพลง ฟัง อ. ณัฐ กับคุณพวงเดือน ยนตรรักษ์ เล่นเปียโนและร้องเพลงหนักแผ่นดิน ฟัง สว คำนูณ อภิปรายนอกสภา แล้วก็ถึงคิวคุณสนธิพูด กำลังนั่งฟังเพลินๆ ก็มีเสียงดังสนั่นลงมาไม่ไกลจุดที่เรานั่งมากนัก เห็นกลุ่มคนที่นั่งใกล้ๆ กันกับเราลุกขึ้นยืนดูเหตุการณ์แบบงงๆ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงของอะไร แต่ประชาชนก็ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไร ก็ยังเฉยๆ กัน ไม่ได้ลุกฮือหนีออกไปอย่างที่หนังสือพิมพ์หัวสีแดงบางฉบับลงข่าว มารู้ทีหลังว่าเป็นเสียงระเบิดและมีคนบาดเจ็บก็ตอนที่เราเดินไปทางนั้นเพื่อจะกลับบ้าน เหตุการณ์นั่นก็อย่างหนึ่งแล้ว นี่ก็จะเอากันอีกแล้วปลายเดือนนี้ "ชั่วเกินจินตนาการ" อยากจะให้มีสงครามกลางเมืองซะให้ได้ ไม่รู้ไอ้สิ่งมีชิวิตสปีชีส์นี้จะเลวให้ได้ถ้วยไปอวดพญายมราชในนรกซักกี่ใบกัน พอรู้สึกตึงเครียดกันซะขนาดนี้ ก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายกันบ้าง สำหรับตัวผู้เขียนชอบที่จะไปเดินตลาดน้ำแถบย่านบ้านตัวเอง บรรยากาศคลองใสๆ สวนปลูกผักและสวนกล้วยไม้ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก มันพอที่จะทำให้ใจผ่อนคลายไปได้บ้างจากสภาพปัญหาบ้านเมือง ส่วนอาทิตย์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็จะรอดูกันว่ามันจะแสดงความเถื่อน ถ่อย กันระดับไหน

คงต้องเข้าเรื่องที่เป็นชื่อตอนนี้ซักที ไม่อย่างนั้นอารมณ์แบบชิลชิลจะหายไปซะหมด เมื่อตอนที่แล้วเล่าเรื่องคุณลักษณะเฉพาะตัวของมณฑลควิเบกไปแล้วตามมุมมองของนักเดินทางผู้โดดเดี่ยวพร้อมเป้สะพายหลังอย่างผู้เขียน และเพื่อให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องตอนนี้ก็ขอเล่าบรรยากาศและรูปแบบการท่องเที่ยวของผู้เขียนที่ควิเบกในช่วงหน้าหนาวก่อนเทศกาลคริสต์มาสเสียหน่อย

ตลอดช่วงเวลาที่ผู้เขียนอยู่ที่แคนาดา มักจะไปไหนมาไหนคนเดียว อาจจะเป็นเพราะความคุ้นเคยกับชีวิตแบบนี้จากการที่ตนเองเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่น ดังนั้นถ้าไม่ได้ไปไหนกับพ่อแม่ก็มักจะไปไหนมาไหนตามลำพัง เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดาก็จะชอบไปไหนตามลำพัง ที่จริงเพื่อนสนิทในชั้นเรียนที่เป็นชาวแคนาดามีอยู่สองสามคน แต่บรรดาเพื่อนเหล่านี้มีบ้านอยู่ต่างเมืองออกไป และก็เป็นเหมือนชาวตะวันตกทั่วไปที่เขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ดังนั้นเมื่อไม่มีชั่วโมงเรียนพวกเพื่อนเหล่านี้ก็ต้องไปทำงานในที่ไกลๆ ออกไป เพื่อนสนิทของผู้เขียนคนหนึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทไปรษณีย์แคนาดา (Canada Post)ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานเป็นพนักงาน part-time ที่ห้าง Walmart ดังนั้นนอกเวลาเรียนจึงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้พบเจอกันบ่อยนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการผจญภัยแบบโดดเดี่ยวผู้น่ารักก็ต้องเกิดขึ้น

เมื่อคิดอาจหาญที่จะเดินทางคนเดียวในหลายๆ เมืองเช่นนั้นจึงต้องมีเตรียมการล่วงหน้าให้ดี จริงๆ แล้วผู้เขียนเตรียมตัวตั้งแต่อยู่เมืองไทยแล้ว โดยเริ่มจากการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชน หรือ Youth Hostel Association ซึ่งสมาคมบ้านเยาวชนนี้ให้บริการที่พักทั่วทุกมุมโลกแก่นักท่องเที่ยวในราคาประหยัด สำหรับในประเทศไทยเองก็มีสมาคมบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทยตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านคนใดมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดงบค่าใช้จ่าย การหาที่พักแบบบ้านเยาวชนนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง

เมื่อขึ้นชื่อว่าบ้านพักเยาวชนแล้ว นักท่องเที่ยวที่มีอายุมากที่มีวัยล่วงเลยคำว่าเยาวชนมานับสิบปีแต่ใจยังรักการท่องเที่ยวแบบ backpack อาจจะคิดว่าคุณสมบัติด้านอายุของตนเองไม่เข้ากับการเป็นสมาชิกของสมาคมบ้านเยาวชนนี้ได้ ถ้าท่านคิดเช่นนั้นขอตอบว่านั่นเป็นการเข้าใจผิด เพราะบ้านเยาวชนเปิดรับสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย โดยสถานภาพของสมาชิกมีตั้งแต่ 1,2,3 ปี หรือตลอดชีพ ค่าสมัครสมาชิกก็แตกต่างกันออกไป สำหรับตัวผู้เขียนเลือกสมัครแบบหนึ่งปี เมื่อสมัครแล้วก็จะได้บัตรสมาชิกรูปร่างหน้าตาแบบนี้



ตอนนี้ท่านก็รับประกันได้ว่าท่านมีสิทธิที่จะเข้าพักบ้านเยาวชนได้ทุกแห่งทั่วโลกในราคาประหยัด เมื่อเรื่องที่พักพร้อมแล้วเรื่องต่อไปที่จะต้องคำนึงถึงคือเรื่องของพาหนะการเดินทาง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าราคาค่าพาหนะการเดินทางในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถไฟ หรือเครื่องบินนั้นราคาค่อนข้างสูง ทางหนึ่งที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้หากท่านมีสถานภาพเป็นนักศึกษานั่นก็คือการสมัครบัตรนักศึกษาต่างชาติหรือ International Student Identity Card (ISIC) โดยบัตรนี้จะให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของบัตรมากมายในเรื่องส่วนลดราคาค่าพาหนะเดินทางไปไหนต่อไหน ส่วนลดเมื่อไปใช้บริการร้านค้าและบริการอื่นๆ มากมาย ในกรณีของผู้เขียนนั้นไม่ไ้ด้สมัครบัตรนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ในเมืองไทย เลยต้องไปสมัครที่สำนักงานตัวแทนของ ISIC ที่ตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยของแคนาดา เมื่อสมัครแล้วท่านก็จะได้รับบัตรรูปร่างแบบนี้



เพียงเท่านี้ท่านก็พร้อมที่จะเดินทางไปไหนด้วยค่าใช้จ่ายในราคาประหยัดแล้วละ

การเตรียมการเดินทางของผู้เขียนนั้นเิริ่มต้นจากการกำหนดวันเวลาและเส้นทางการเดินทาง เมื่อกำหนดการและเส้นทางเรียบร้อยแล้วจึงไปสำรองที่พักและซื้อบัตรรถโดยสาร โดยเริ่มจากการไปติดต่อสมาคมบ้านพักเยาวชนที่โตรอนโตเพื่อสำรองที่พักในบ้านพักเยาวชนในห้าเมืองคือ ออตตาวา มอนทรีอัล ควิเบกซิตีั้ บอสตัน วอชิงตันดีซี พร้อมจ่ายเงินค่าที่พักให้เรียบร้อยทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อไปถึงเมืองนั้นๆ จะมีที่นอนแน่ๆ ต่อไปก็นำบัตร ISIC ไปซื้อบัตรรถโดยสารตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ซึ่งมีส่วนลดราคาได้เกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลย ตอนนี้ก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจไร้กังวลแล้วเมื่อที่พักและพาหนะพร้อมแล้ว เอ๊ะ ยังก่อน ลืมไปอย่างถ้าระหว่างการเดินทางเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุทำอย่างไร โชคดีที่ทางสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนไปเรียนได้จัดทำประกันสุขภาพให้ผู้เขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เลยไม่ต้องยุ่งยากเพียงนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วย

เราก็จะได้รับการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพตลอดการเดินทาง และเพื่อเป็นการไม่ประมาทในการใช้ชีวิตสำหรับตัวผู้เขียนเองมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำก่อนการเดินทางคือโทรศัพท์มาบอกทางบ้านที่เมืองไทยว่าช่วงเวลาไหนวันไหนอยู่เมืองอะไร ทั้งนี้เผื่อเกิดเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝันเป็นอะไรขึ้นมาทางบ้านจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราบ้าง เอาละคราวนี้ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วก็สามารถเดินทางได้อย่างสบายใจ

วันที่ 13-16 ธันวาคม 2543 (โตรอนโต-ออตตาวา)



ผู้เขียนมาถึงสถานีรถโดยสารของโตรอนโตเมื่อประมาณบ่ายโมงเศษๆ ของวันที่ 13 ธันวาคม ทั้งๆ ที่ออกจาก Barrie มาประมาณ 11 โมงเช้า ทั้งนี้เป็นเพราะคนขับต้องขับรถอย่างระมัดระวังเพราะมีหิมะอยู่เต็มถนนเลย รถที่ผู้เขียนโดยสารเดินทางออกจากโตรอนโตประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง ระยะเวลาเดินทางจากโตรอนโตถึงออตตาวาใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงเศษ มาถึงที่สถานีรถโดยสารในเมืองหลวงของแคนาดาก็ปาเข้าไปเกือบทุ่มแล้ว




เวลาทุ่มในหน้าหนาวก็คงนึกภาพออกว่าพระอาทิตย์ตกดินไปก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมงแล้ว เมื่อออกจากสถานีรถโดยสารพร้อมเป้สัมภาระผู้เขียนจึงได้มองไปยังท้องถนนที่ค่อนข้างมืดเบื้องหน้าจะมีแสงสว่างบ้างก็แค่แสงสลัวของไฟทางพร้อมทั้งถามตนเองในใจว่า "แล้วนี่เราจะเดินทางไปบ้านพักเยาวชนยังไงกันเนี่ย" (ถ้าเป็นบ้านเราคงเรียกมอ'ไซด์รับจ้างไปส่งแล้ว)

ออตตาวาก็เหมือนกับเมืองหลวงของประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจการบริหารราชการของรัฐบาลกลาง ดังนั้นที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญๆ เช่น รัฐสภา ทำเนียบ ฯลฯ และส่วนใหญ่เมืองหลวงของประเทศเหล่านี้มักจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เพราะไม่ได้มีแนวความคิดเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาที่เมืองหลวงเป็นแหล่งรวมศูนย์ความเจริญทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นที่ออตตาวาจึงมีขนาดเล็กกว่าโตรอนโตค่อนข้างมาก และระบบการคมนาคมหลักและครอบคลุมการให้บริการทุกพื้นที่ในเมืองนี้จึงมีเฉพาะรถเมล์โดยสาร ดังนั้นสำหรับตัวผู้เขียนที่ค่อนข้างชอบใช้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าไม่ว่าจะบนดินใต้ดินจึงรู้สึกพะว้าพะวังพอสมควร และยิ่งเป็นหน้าหนาวอย่างนี้ด้วย การไปยืนรอรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์โดยไม่ศึกษาเส้นทางและกำหนดการเดินรถเป็นสิ่งที่ต้องพึงหลีกเลี่ยง เป็นเพราะว่าอากาศข้างนอกหนาวจับจิตอุณหภูมิต่ำสุดของที่นี่ในช่วงหน้าหนาวนี้ติดลบประมาณสามสิบถึงสี่สิบองศาเซลเซียส แล้วคนจากเมืองร้อนอย่างผู้เขียนที่คุ้นเคยแต่กับอุณหภูมิบวกสามสิบองศาเซลเซียสของบ้านเราจะทนเข้าไปได้ยังไง ขืนออกไปยืนรอแบบไม่มีจุดมุ่งหมายมีหวังได้ยืนแข็งอยู่ที่ป้ายรถเมล์แน่ๆ คิดดังนั้นแล้วก็ย้อนกลับเข้าไปในสถานีรถโดยสารอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ไออุ่นจากฮีทเตอร์ข้างใน พลางมองหากระดานประกาศการเดินรถสาธารณะของเมืองนี้ ดีอยู่อย่างว่านี่มีระบบการประกาศเส้นทางเดินรถไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐาน และมีป้ายประกาศบอกเส้นทางการเดินรถพร้อมบอกเวลาที่รถจะเดินทางมาถึงแต่ละจุดๆ ผู้โดยสารจะได้คำนวณเวลาที่จะไปรอที่ป้ายรถเมล์ได้ถูก



ผู้เขียนศึกษาป้ายบอกเส้นทางเดินรถประกอบการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของบ้านพักเยาวชนในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวที่นำติดตัวมาด้วย จนเมื่อมั่นใจก็บอกตัวเองว่าพร้อมแล้วที่จะเดินทางออกจากสถานีรถโดยสารแห่งนี้


Photos Credit: http://www.clker.com/clipart-2398.html, http://static.panoramio.com/photos/original/5202880.jpg, http://ottawaproject.files.wordpress.com/2008/12/dsc01069.jpg, http://www.octranspo1.com/images/files/routes/043map.gif

ไม่มีความคิดเห็น: