วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 17: นักเรียนต่างชาติกับภัยธรรมชาติในท้องถิ่น

เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวที่โด่งดังมากที่สุดที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติในต่างประเทศเห็นจะไม่พ้นข่าวแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิส์ช ในประเทศนิวซีแลนด์ เมืองการศึกษาที่มีนักเรียนต่างชาติรวมทั้งนักเรียนจากประเทศไทยไปเรียนต่อกันจำนวนมาก ผู้เขียนคิดว่ามีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในประเทศที่ตนเองไปศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพายุทอร์นาโด พายุหิมะ แผ่นดินไหว เหตุหนึ่งเพราะว่าไม่มีความคุ้นเคยกับภัยธรรมชาติเหล่านั้น

บ้านเมืองเราจะว่าไปโชคดีมากมายนักที่ไม่มีภัยธรรมชาติแบบนั้น ที่จะพบบ่อยก็เป็นประเภทน้ำท่วม โคลนถล่ม ถึงจะมีที่รุนแรงที่เกิดขึ้นไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมาคือสึนามิที่ภาคใต้ แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก เรียกว่าครั้งหนึ่งในช่วงพระจันทร์มีสีฟ้า ที่แปลตรงตัวตามสำนวนอังกฤษที่ว่า "once in a blue moon" :) เพราะเหตุนั้นทำให้เราคนไทย รวมทั้งภาครัฐไม่ตระหนักที่จะเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมกับการมาของภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับอานุภาพทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้าได้

ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่ว่ามานั่นแหละ เมื่อเดือนแรกที่ไปถึงแคนาดาเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อน ถ้าใครคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในอเมริกา แคนาดา จะทราบดีว่าหน้าร้อนในประเทศอเมริกาเหนือ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดจะเป็นอะไรไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่พายุทอร์นาโด หรือที่เรารู้จักกันว่าทวิสเตอร์ แค่ไปอยู่ได้ไม่ครบเดือนเลยผู้เขียนก็ต้องรับรู้ถึงความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินของชาวแคนาดาที่อยู่เมืองใกล้เคียงจากทอร์นาโด ดีที่ว่าคืนวันเกิดเหตุไอ้เจ้าพายุนี้มันไม่ได้ตรงดิ่งมาเมืองที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ แต่ก็เฉียดๆ ไปถล่มเมืองใกล้เคียง ที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า "touch down" รุ่งเช้าตื่นขึ้นมาถึงเพิ่งรู้ว่ามีพายุนี้เกิดขึ้นมา

ตามปกติหน่วยงานที่ทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ และสำนักงานเตือนภัยของรัฐบาลเขาจะมีประกาศเตือนประชาชนเสมอ หากคาดการณ์ว่าจะมีภัยธรรมชาติพวกนี้เกิดขึ้น เขาจะประกาศเตือนในวิทยุ โทรทัศน์ให้ประชาชนเตรียมพร้อม ไม่ว่าท่านจะอยู่บ้านกำลังชมโทรทัศน์อยู่ หรือกำลังซื้อข้าวของอยู่ที่ตามห้าง หรือขับรถอยู่ เขาก็จะมีการประกาศเตือนภัยออกอากาศในทีวีหรือในวิทยุตามตัวอย่างข้างล่าง




อย่างไรก็แล้วแต่ คนแคนาดาเองก็วิจารณ์ระบบเตือนภัยของประเทศตัวเองว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่แม่นย่ำและก็ดีเท่ากับของสหรัฐอเมริกา อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่ชิคาโก หน่วยงานที่คอย monitor การก่อตัวของพายุทอร์นาโดตรวจได้ว่าจะเกิดทอร์นาโด เรียกว่ากลางใจเมืองชิคาโกเลย ซึ่งระบบการเตือนภัยของอเมริกาดีมาก มีไซเรนเตือนให้ประชาชนทราบทั้งเมืองเลย





ถ้าคนที่พักอาศัยในบริเวณที่เขาเตือนภัยก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ให้หลบภัยบริเวณชั้นใต้ดินของบ้านพร้อมกับเตรียมข้าวของที่จำเป็นในกรณีที่ระบบน้ำไฟไม่มีบริการ ดูดูไปชีวิตของประชาชนในประเทศเหล่านี้ก็น่าลำบากอยู่เหมือนกัน ผิดกันกับบ้านเราที่การเตือนภัยสำหรับภาวะฉุกเฉินหรือ emergency alert เกี่ยวกับภัยธรรมชาติรุนแรงไม่ค่อยมีเท่าไหร่ จะมีก็แต่ภาวะฉุกเฉินที่มีมาจากภัยของกลุ่มสิ่งมีชิวิตที่ทั้งไม่ฉลาด และเป็นคนไม่ดีที่ชอบใส่เสื้อแดง และมีคนหน้าเหลี่ยมบงการให้เผาเมืองไทยมาสองรอบแล้ว โดยที่รัฐบาลก็มี emergency alert มาทั้งสองครั้งเหมือนกัน พูดเรื่องภัยธรรมชาติอยู่ดีดีทำไมวกมาเรื่องนี้จนได้ พูดถึงไอ้ตัวประหลาดหน้าสี่เหลี่ยมกับแก๊งค์มันแล้วของขึ้น เล่าเรื่องภัยธรรมชาติต่อดีกว่า

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ที่ผู้เขียนได้ยินข่าวว่ามีพายุทอร์นาโดที่เมืองมิดแลนด์ (Town of Midland) ทำให้บ้านเรือนเสียหายเยอะมาก เมืองมิดแลนด์นี้ถ้าไม่นับ Barrie กับ Toronto ก็ถือว่าเป็นเมืองที่ผู้เขียนไปบ่อยอยู่เหมือนกัน เหตุผลหนึ่งที่นอกเหนือจากมี Georgian College, Midland Campus ตั้งอยู่แล้ว เมืองมิดแลนด์ที่สังกัด Simcoe County ก็ยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่มากพอสมควร และก็อยู่ไม่ไกลจาก Barrie มาก แค่ประมาณห้าสิบกิโลเมตรเท่านั้น



เห็นคุณป้าที่ประสบภัยที่ให้สัมภาษณ์นักข่าว ทำให้รู้สึกคิดถึงคุณป้าเจ้าของบ้านที่ผู้เขียนเคยไปพักอาศัยอยู่ด้วยจัง เห็นสภาพบ้านเรือน ข้าวของที่พังเสียหายแล้วก็น่าสลดใจเหมือนกัน คุณป้าแกก็ให้สัมภาษณ์แบบปลงๆ ว่ามันเป็นภัยธรรมชาติจะทำไงได้

พอเข้าหน้าหนาวก็อย่านึกว่าจะสบายกว่าหน้าร้อน คิดว่าหน้าหนาวมีหิมะดูโรแมนติก สวยงามอะไรประมาณนั้น บางครั้งบางคราวต้องเผชิญกับพายุหิมะ ถ้ารุนแรงมากฝรั่งเขาจะเรียกว่า blizzard อย่างที่ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังตอน Macpacker ที่ว่าไปติดพายุึหิมะที่วอชิงตันดีซี เกือบจะกลับแคนาดาไม่ได้ และอีกครั้งหนึ่งก็อยู่ที่ Barrie นั่นแหละเป็นช่วงกลางเดือนมกราคม พายุหิมะถล่มเมืองซะจนร้านค้า โรงเรียน ปิดทำการ สำหรับประชาชนตามบ้าน ต้องออกมากวาดหิมะออกจากประตูบ้านไม่งั้นจะเดินทางเข้าออกลำบาก ตัวผู้เขียนก็ต้องมีหน้าที่กวาดหิมะออกจากหน้าบ้านเหมือนกัน เพราะคุณป้าแกแก่แล้วจะให้ทำเองได้ไง แถมเครื่องมือยังเป็นแบบ mannual ก็ต้องออกแรงตักมากขึ้นไปอีก บางบ้านใช้เครื่องกวาดหิมะ ก็เลยทุ่นแรงไปหน่อย ถ้าจะว่าไปแถบเมืองในออนตาริโอที่มีพื้นที่ติดกับทะเลสาป จะเป็นพื้นที่ีที่มีหิมะตกหนักและมีพายุหิมะเข้าบ่อย เพราะแถบๆ นี้เขาเรียกว่าเป็น "snowbelt"

พื้นที่ที่เป็น snowbelt ก็จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตอเมริกาเหนือที่อยู่ใกล้เคียงกับทะเลสาป อย่างในอเมริกาก็มีแถวบริเวณใกล้ทะเลสาปมิชิแกน เป็นต้น และเมืองเหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเล่นสกี อย่างใน Barrie ก็มีสกีรีสอร์ทที่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นสกีกันเยอะเหมือนกัน คุณป้าก็เคยพาผู้เขียนไปดูเขาเล่นสกีที่รีสอร์ทเหล่านั้นเหมือนกัน

สำหรับผู้ที่คิดว่าหิมะในหน้าหนาวในประเทศแคนาดาน่าจะดูโรแมนติก ลองดูเหตุการณ์ข้างล่างนี้ท่านอาจจะเปลี่ยนความคิด ลองดูความหนาของหิมะบนพื้นถนนที่มีหิมะตกอยู่ตลอดเวลา จนทำให้รถบัสอย่าง Barrie Transit ซึ่งเป็นพาหนะที่ผู้เขียนใช้อยู่ประจำระหว่างที่อาศัยอยู่ใน Barrie ติดหล่มของหิมะทำให้เคลื่อนตัวไปไม่ได้



ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าสำหรับคนไทยอย่างเราๆ ที่ิคิดจะไปอยู่เมืองนอกไม่ว่าจะไปศึกษาต่อ หรือทำงานก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพสังคมของประเทศที่เราจะไปอยู่ ต้องศึกษาสภาพการใช้ชีวิตของคนในประเทศของเขา และก็ปฏิบัติให้เหมือนเขาอย่างที่ภาษาอังกฤษเขามีสำนวนที่ว่่า "When in Rome,do as the Romans do" เราจะได้อาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขตามอัตภาพ

video credit to youtube by pplk23, ferris2583, rolls283

ไม่มีความคิดเห็น: