วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่แคนาดา ตอน 18: อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน (แม้จะเป็นคนชาติเดียวกันก็เถอะ)

เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่มักจะเกิดขึ้นในแคนาดา พอเล่ามาถึงตอนนี้แล้วก็เลยอยากจะเล่าให้ต่อเนื่องถึงภัยอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือภัยที่มาจาก "คน"

เปล่า ในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้กำลังจะเล่าถึงภัยที่มาจากคนเชื้อชาติ สัญชาติแคนาดาแต่อย่างใด แต่เป็นเชื้อชาติและสัญชาติเดียวกันกับผู้เขียนและผู้อ่านทุกท่านก็คือ "คนไทยเรานั่นเอง"

ตลอดเวลาที่อยู่ที่แคนาดาผู้เขียนไม่เคยรู้สึกวิตกกังวัลเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมที่มีที่มาจากคนแคนาดาเลย เป็นเพราะว่าแคนาดาเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ดังนั้นเมื่อช่วงใดช่วงหนึ่งที่เกิดคดีอาชญากรรมขึ้นมา ไม่ว่าคดีนั้นๆ จะ้เกิดขึ้นที่ใดในประเทศ จะได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวขานโจษจันกันอย่างมากในสังคมของแคนาดา อย่างเช่น คดีฆาตกรรมนักศึกษาชาวไต้หวันในโตรอนโต มณฑลออนตาริโอ คนที่มณฑลบริติชโคลัมเบีย ซึ่งอยู่กันคนละฟากกับมณฑลออนตาริโอ ก็นำคดีนี้ไปโจษขาน เป็น talk of the town อยู่นานเชียวละ เพราะประเทศเขาไม่ค่อยคุ้นเคยกับคดีฆ่าโหดๆ แบบนี้ แต่้ถ้าเป็นบ้านเรา ขึ้นหน้าหนึ่งวันเดียว วันรุ่งขึ้นมีคดีใหม่ให้ได้รับความสนใจกันอีกแล้ว ดังนั้นเวลาที่ผู้เขียนไปไหนต่อไหนมา แล้วกลับบ้านดึกมากๆ บางทีเดินคนเดียวตอนดึกๆ บนถนนที่มีแค่ไฟสลัวๆ ก็ไม่ค่อยรู้สึกกลัว หรือกังวลแต่อย่างใด

แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ขอบอกว่าเป็นประสบการณ์หนึ่งที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าท่านใดที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศอย่างผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามจะได้ระมัดระวังกันไว้

เมืองที่ผู้เขียนไปใช้ชีวิตอยู่คือเมืองแบร์รี่ ซึ่งอยู่ห่างจากโตรอนโตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณเก้าสิบกิโลเมตร





ด้วยความที่ว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ค่อยใหญ่นัก และเมืองนี้ไม่ได้เน้นไปในเรื่องการทำธุรกิจ แต่จะไปเน้นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะมีทะเลสาปและก็สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมืองมาตากอากาศเวลาหน้าร้อน และมาเล่นสกีตอนหน้าหนาว ดังนั้นแบร์รีก็เลยไม่มีสังคมชาวไทยไปทำธุีรกิจจำพวกร้านอาหารอะไรทำนองนี้ ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่โตรอนโตกัน ดังนั้นผู้เขียนพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าในเมืองนี้ทั้งเมืองมีคนไทยอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นคือตัวผู้เขียนเอง ในช่วงเวลานั้นร้านอาหารของคนเอเชียมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นร้านคนจีนและเกาหลีที่มีอยู่ตามฟู้ดคอร์ทในห้างสรรพสินค้า รสชาติก็พอประทังไปได้ ทั่วทั้งเมืองมีร้านอาหารไทยอยู่ร้านเดียวชื่อร้าน "Royal Thai Cuisine" และก็ไม่ใช่ร้านของคนไทยแต่เจ้าของเป็นคนลาว

ร้านที่ว่านี้ตั้งอยู่ห้าแยกกลางใจเมือง หรือที่ชาวเมืองที่นี่เรียกว่า five points ซึ่งเป็นทำเลที่ดีมาก อาคารบริเวณนี้เป็นอาคารเก่าแก่ที่รัฐบาลเขาอนุรักษ์เอาไว้ โดยเมื่อปลายปี ค.ศ. 2007 อาคารแถวนี้รวมทั้งร้านอาหารไทยร้านนี้ด้วยโดนไฟไหม้หมด โดยต้นเพลิงตามข่าวของ CBC บอกว่ามาจากครัวร้านอาหารไทยแห่งนี้



ภาพข้างล่างเป็นบริเวณ 5 points ก่อนถูกไฟไหม้ จะสังเกตเห็นว่าร้านอาหารไทยตั้งอยู่ตรงหัวมุม


ร้านอาหารไทยที่ว่าผู้เขียนไปใช้บริการเป็นบางครั้งบางคราว เวลาที่คิดถึงอาหารที่บ้าน แรกเริ่มเดิมทีเจ้าของร้านที่เป็นชาวลาวเขาทำหน้าที่สองตำแหน่งคือเจ้าของร้าน กับพ่อครัว โดยมีลูกสาวเป็นคนเสริฟ หลังๆ ที่สังเกตเห็นเมื่อมีแขกมาใช้บริการมากขึ้น เขาก็เริ่มจ้างนักศึกษา Georgian มาเป็นพนักงานเสริฟ ซึ่งต่อมาตาคนพ่อเริ่มจะทำอาหารไม่ทันลูกค้า เพราะมีทั้งลูกค้าที่นั่งทานที่ร้าน และก็ take out เอาเป็นว่าขายดีจนทำไม่ทัน เขาก็จ้างคนครัวเพิ่มอีกคนซึ่งเป็น "คนไทย"

"คนครัวคนไทย" คนนี้มาทำงานที่ร้านอาหารไทยแห่งนี้หลังจากที่ผู้เขียนอยู่ที่แบร์รีได้เกือบครึ่งปีเห็นจะได้ เป็นอันว่าช่วงเวลานี้เมืองนี้ก็มีคนไทยสองคนคือผู้เขียนกับ "คนครัว" คนนี้ ช่วงแรกที่ได้พบกันก็เป็นความรู้สึกเหมือนคนทั่วไปที่จากบ้านเกิดมา แล้วมาพบคนบ้านเดียวกันย่อมจะดีใจพูดคุยกันถูกคอ ดีใจที่มีโอกาสได้พูดภาษาไทยกับคนอื่นได้บ้าง แรกๆ ก็คุยกันเรื่องทั่วๆ ไป สอบถามกันว่าเป็นใครมาจากไหน บ้านอยู่จังหวัดอะไร มาทำอะไรที่นี่ บทสนทนาก็จะเป็นประมาณนี้

พอหลังๆ เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น รวมทั้ง "คนครัว" คนนี้เริ่มมารู้ว่าผู้เขียนชอบไปนิวยอร์กบ่อยๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ "คนครัว" คนนี้ก็เริ่มสนใจไถ่ถามว่าผู้เขียนไปทำอะไรที่นิวยอร์กบ่อยๆ ตัวเขาเองก็อยากจะเข้าอเมริกาเหมือนกัน เพราะว่ามีญาติอยู่ที่เมืองอะไรสักแห่ง ผู้เขียนเองก็จำที่เขาบอกไม่ได้แล้ว ทำไปทำมาตอนหลังๆ "คนครัว" คนนี้ก็เริ่มนำพฤติกรรมของเจ้าของร้านชาวลาวมาเล่าให้ผู้เขียนฟังประมาณว่าเป็นไปในเชิงลบ แล้วก็เปรยๆ ว่าอยากจะลาออกแล้วไปอยู่กับญาติที่อเมริกาที่อยู่ที่เมืองที่ว่านั่น

พอท้ายสุดเขาก็มาขอร้องให้ผู้เขียนพาเขานั่งรถไปส่งเข้าประเทศอเมริกา โดยผ่านแดนที่เมืองบัฟฟาโลที่ผู้เขียนเดินทางเข้าออกเป็นประจำ โดยเขาจะเป็นคนออกค่าเดินทางเอง ผู้เขียนก็ถามกลับไปว่า ตัวเขาจะเข้าได้หรือ มีวีซ่าเข้าอเมริกาหรือเปล่า เขาก็ยังยืนยันบอกว่าไม่มีปัญหา ขอให้เห็นใจว่าเป็นคนไทยด้วยกันอะไรประมาณนี้

บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นผู้เขียนเองไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ยังน้อย แค่คิดว่าไปส่งเข้าชายแดนก็พอแล้ว ไหนๆ ก็คนไทยด้วยกัน ซึ่งพอมานั่งนึกตอนนี้ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่า แม้แต่วีซ่าเข้าประเทศแคนาดาของ "คนครัว" คนนี้ เป็นประเภทไหนกันแน่ เพราะถ้าเป็นวีซ่าท่องเที่ยวแล้วแอบมาทำงานแบบนี้โดนแน่

ผลสุดท้ายก็คือว่าก็นั่งรถบัสเกรย์ฮาวน์จากโตรอนโตไปด้วยกัน พอไปถึง immigration ของฝั่งแคนาดาทุกคนต้องลงจากรถเพื่อไปแสดงตัวและเอกสารผ่านพิธีการออกเมือง ซึ่งตรงนี้ก็ผ่านไปได้ ผู้เขียนก็ไม่ทันได้เฉลียวใจว่าวีซ่าเข้าแคนาดาของคนๆ นี้ เป็นแบบเข้าออกครั้งเดียว หรือหลายครั้ง ถ้าเข้าออกได้ครั้งเดียวนั่นหมายถึงคนๆ นี้จะเข้าแคนาดาไม่ได้อีก พอมาถึงวันนี้ และตรงนี้ก็เกิดคำถามในใจอีกว่า แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ immigration ของแคนาดาไม่ตรวจสอบว่า "คนครัว" คนนี้มีวีซ่าเข้าอเมริกาหรือเปล่า แต่สรุปก็คือ "คนครัว" คนนี้ผ่านพิธีออกเมืองจากฝั่งแคนาดาไปเรียบร้อยแล้ว

พอรถแล่นผ่านไปได้อีกสักหน่อย ก็ถึง immigration ฝั่งอเมริกา ผู้เขียนกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ก็ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง โดยทุกอย่างผ่านไปด้วยดีไม่มีอะไร พอมาถึง "คนครัว" คนนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็พลิกดูพาสปอร์ต พลิกไปพลิกมา แล้วก็ถามว่าวีซ่าเข้าอเมริกาไม่เห็นมี เขาก็เลยซัก "คนครัว" คนนี้ใหญ่เลย สุดท้ายเป็นอันว่าเขาก็ไล่กลับมาฝั่งแคนาดา







ก็เลยต้องกลับมาฝั่งแคนาดา โดยผู้เขียนก็ต้องตามมาด้วย ตอนนั้นผู้เขียนก็เริ่มไม่ไว้วางใจแล้วว่า คนคนนี้จะมาไม้ไหน จะลักลอบเข้าฝั่งอเมริกาแบบผิดกฏหมายหรือเปล่า ทีนี้พอมาถึง immigration แคนาดาที่เำพิ่งผ่านออกไปเมื่อสักครู่ คราวนี้ละเรื่องใหญ่ เขาซักทั้ง "คนครัว" คนนี้ กับผู้เขียนเป็นการใหญ่ เขาถามว่าผู้เขียนรู้จักคนๆ นี้อย่างไร แล้วทำไมจะไปอเมริกาถึงไม่มีวีซ่า เป็นคนชักชวนให้เข้าไปหรืออะไรทำนองนี้ แล้วก็ถามว่าเรียนอยู่ที่ไหน คราวนี้ผู้เขียนนึกถึงพ่อแก้วแม่แก้วพร้อมกับคิดไปว่า "ซวยแล้ว สงสัยงานเข้า คงสงสัยว่าเราเป็นคนชักชวนให้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายแน่เลย"

ผู้เขียนก็อธิบายตามความเป็นจริง ตั้งแต่เริ่มต้นว่ารู้จักคนๆ นี้ยังไง แล้วเขาขอร้องให้ทำอย่างนี้ โดยผู้เขียนไม่ได้รู้เห็น และก็ไม่ได้รู้เจตนาที่แท้จริงของคนๆ นี้เลย ใช้เวลาอธิบายความจริงไปพักใหญ่ ประกอบกับพาสปอร์ตของผู้เขียนเป็นพาสปอร์ตราชการ เจ้าหน้าที่เขาอาจคิดว่าที่พูดมาทั้งหมดเป็นความจริงก็ได้มั้ง เขาก็เลยปล่อยให้ผู้เขียนกลับเข้าไปฝั่งแคนาดา โดยที่ไม่ได้ทำอะไรหรือบันทึกอะไรไว้เป็นหลักฐาน พอออกมาได้ผู้เขียนก็รีบเดินทางกลับเลย ไม่สนใจว่า "คนครัว" นั่นจะเป็นยังไง

พอมาถึงตรงนี้ก็มานั่งนึกหวาดเสียวว่า ถ้าวันนั้นเจ้าหน้าที่เขาไม่เชื่อ แล้วเขาทำเรื่องอะไรต่อมิอะไร ชะตาชีวิตของตัวเองจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ เป็นเพราะหลวมตัวไว้วางใจคนที่มาจากประเทศเดียวกันนี่เอง เรื่องนี้ก็เลยเป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน แม้จะเป็นคนไทยเหมือนกันก็ตามที

ผู้เขียนหวังว่าเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดคงจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้อ่านหลายๆ ท่านที่ทั้งอยู่ที่ต่างประเทศแล้วและที่กำลังจะไป ให้ได้เกิดความระมัดระวัง ไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ เพราะบางทีในเวลาที่เราอยู่ต่างประเทศแล้วได้พบกันคนไทยด้วยกัน ความไว้วางใจบางครั้งบางคราก็เกิดขึ้นได้ง่าย โดยที่เราไม่ทันคิดหน้าคิดหลังให้ดี ถ้าคนนั้นดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีความซวยก็จะมาถึงตัวอย่างที่ผู้เขียนพบเจอมาแล้ว




http://www.peacebridge.com/images/PBAbuilding.jpg

video credit to youtube by Mediascrape

photos credit to http://en.wikipedia.org/wiki/File:Barrie_in_relation_to_North_America.png,
http://mw2.google.com/mw-panoramio/photos/medium/3401163.jpg, http://cdn.wn.com/pd/b0/04/154939319aaaffc8fedab943f057_grande.jpg,http://www.peacebridge.com/images/PBAbuilding.jpg

ไม่มีความคิดเห็น: