วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

เล่าเรื่องเยือนเมืองลาว (ตอน 9: ฉันเห็นเสื้อเหลืองแดงปะทะกันในหลวงพระบาง)

"เบื่อ พวกม็อบ นปช. หนีมาเที่ยวหลวงพระบางดีกว่า"

เปล่านะข้อความข้างต้นน่ะผู้เขียนไม่ได้เป็นคนพูดนะ ถึงแม้จะมีความคิดเหมือนกันก็ตามที 555 ข้อความเมื่อกี้น่ะอยู่ในสมุดเยี่ยมที่เหล่าบรรดาลูกค้าคอกาแฟของร้านกาแฟยอดนิยมอันเอกอุในเมืองหลวงพระบางชื่อว่าร้าน "ประชานิยม" หรือ "ปะซานิยม" ในภาษาลาว เขียนเอาไว้เพื่อแสดงว่าตัวเองได้มาถึงหลวงพระบางแล้ว ซึ่งใครมาหลวงพระบางแล้วโดยเฉพาะพวกคอกาแฟไม่ได้มาแวะร้านกาแฟเจ้านี้ถือว่ายังไม่ได้มาหลวงพระบาง

ดังนั้นหลังจากได้ใส่บาตรพระเป็นที่ชื่นอกชื่นใจแล้ว ผู้เขียนเป็นคนขอให้บุญพาคณะเรามากินกาแฟร้านนี้หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราไปแวะกินข้าวเปียกและเฝอกันมาคนละชามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ร้านกาแฟเจ้านี้ไม่ได้เป็นร้านหรูหราอย่างที่ใครหลายคนจินตนาการ เป็นเพียงร้านค้าเพิงไม้หลังเล็กๆ ที่มีม้านั่งยาวไว้บริการลูกค้า ตอนที่เราไปถึงร้าน เป็นเวลาสายพอสมควรแล้ว จำนวนลูกค้าเลยบางตา พอหลังๆ เหลือเฉพาะเรา 7 คนที่เป็นลูกค้า อุปกรณ์ที่แม่ค้าคนงามใช้เป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ ช่างทำให้เรานึกถึงร้านกาแฟอาโกหน้าปากซอยที่สมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ใช้ให้เราวิ่งไปซื้อโอเลี้ยง โอยั๊วะ ซะจริงๆ เลย อย่างแก้วทรงโบราณที่ก้นแก้วเป็นรูปทรงจีบและมีหลายๆ จีบ (คงพอจำกันได้นะ) หม้อต้มกาแฟเตาถ่านหรือฟืน (ของที่นี่เขาใช้ฟืนท่อนใหญ่ๆ เป็นเชื้อเพลิง เพราะไม้ที่นี่ยังเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายและไม่แพง ดูซิใช้ฟืนซะหม้อดำเป็นเหนี่ยงเลย ได้อารมณ์จริงๆ)

ในกลุ่มพวกเราใครที่กินกาแฟได้ก็สั่งกาแฟร้อน ใครกินไม่ได้ก็สั่งโอวัลตินร้อน พอรับออเดอร์ลูกค้าแล้ว แม่ค้าเธอก็จัดการชงกาแฟร้อน โอวัลตินร้อนทันที กรรมวิธีก็เหมือนกับที่บ้านเราสมัยก่อนไม่มีผิด ก่อนอื่นต้องนำน้ำร้อนที่เดือดๆ ในหม้อต้มมาลวกแก้วทุกใบให้ร้อนก่อน เพื่อเป็นการรักษาความร้อนของกาแฟไม่ให้เย็นเร็ว เหมือนสมัยก่อนเลยใช่ไม๊ล่ะ แม่ค้าเธอชงกาแฟอย่างแคล่วคล่อง แป๊ปเดียวกาแฟลาวหอมกรุ่นก็มาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว พวกเราร้องขอขนมคู่หรือปาท่องโก๋จากแม่ค้าเพื่อมากินคู่กับกาแฟ ปรากฏว่าหมดซะแล้ว ขายดีจริงๆ ปาท่องโก๋หรือที่ภาษาลาวเรียกว่าขนมคู่เนี่ยอร่อยจริงๆ ขอบอก ระหว่างนั่งละเมียดละไมไปกับกาแฟรสชาติดี พวกเราก็เปิดดูสมุดเยี่ยมของร้านที่มีลูกค้ามาเซ็นชื่อและเขียนข้อความเอาไว้ ดูแล้วเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และในจำนวนนี้ (มีมากซะด้วย) เป็นบรรดาเหล่านักรบมือตบเสื้อเหลือง บางคนก็เขียนข้อความระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องการบ้านการเมือง บางคนก็เขียนแค่ว่าฉันเป็นพันธมิตรมาเที่ยวหลวงพระบาง อะไรประมาณเนี้ย พวกเราเลยถือโอกาสเขียนชื่อตัวเองต่อท้ายให้รู้ว่าฉันก็มาหลวงพระบางและก็มาร้านประชานิยมด้วยเหมือนกันนะ

เสร็จการดื่มกาแฟแล้ว เราก็เริ่มเดินเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบางเพื่อดูสถานที่เก่าแก่และวัดวาอารามของเมือง ที่แรกที่เราแวะชมได้แก่ วังเจ้ามหาชีวิตพระองค์สุดท้ายของประเทศลาว ซึ่งสถานที่ก็อยู่ตรงกันข้ามกับพระธาตุจอมพูสีที่เราไปมาเมื่อวานนี้เอง แต่เมื่อวานนี้เราไม่สามารถเข้ามาที่วังนี้ได้เพราะเลยเวลาเปิดให้เข้าชมแล้ว

อนุสาวรีย์ที่อยู่ในรูปนั่นคือ "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา" เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย โดยราชวงศ์ของลาวสิ้นสุดเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตอนที่ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ที่จริงเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์และราชวงศ์รวมไปถึงเรื่องราวของอาณาจักรลาวนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากเหมือนกัน โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยเดียวกันกับช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาเลยเชียวละ ตอนนั้นหลวงพระบางเป็นอาณาจักรใหญ่และเป็นเมืองหลวงของลาว ถ้าหากจะเล่าเท้าความกันถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของชนชาติลาวนี้ เห็นทีจะต้องเปิดชั้นเรียนวิชา "ประวัติศาสตร์และการเมืองของลาว" เป็นแน่แท้ และที่จริงแล้วผู้อ่านบางคนอาจจะมีความรู้ลึกและรู้เรื่องดีในเรื่องนี้มากกว่าผู้เขียนก็เป็นได้ เอาเป็นเล่าคร่าวๆ ว่า "เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา" ท่านก็ยังมีสาแหรกและทายาทที่สืบเชื้อสายเจ้าอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางแห่งนี้

และก็เหมือนกับประเทศอื่นทั่วไปที่มีกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง โดยที่ลาวนี้ยังมีกลุ่มที่ใครๆ เรียกว่า "กลุ่มกบฏม้ง" หรือ "ขบวนการต่อต้านลาว" หรือ "กลุ่มลาวขาว" โดยเป้าหมายของชนกลุ่มนี้ต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลลาวและสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่สืบเชื้อสายเจ้าและราชวงศ์ของหลวงพระบาง รวมทั้งข้าราชการบางส่วนที่นิยมเจ้า ถ้าผู้อ่านย้อนไปเมื่อประมาณ 3-4 ปีมานี้ มีเหตุการณ์สังหารโหดชาวลาวหญิงชายคู่หนึ่งที่จังหวัดหนองคาย โดยคนทั้งคู่เป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าสายหลวงพระบาง ซึ่งสาเหตุจากการถูกสังหารครั้งนี้สันนิษฐานว่ามาจากการที่ทั้งคู่อยู่ในกลุ่มผู้เคลื่อนไหวให้เกิดการล้มล้างรัฐบาลลาว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในลาว และก่อนหน้านี้สักเจ็ดแปดปีเหตุการณ์ต่อต้านรัฐบาลลาวของกลุ่มกบฏม้งมีความรุนแรงมาก ความรุนแรงของเหตุการณ์เทียบเท่ากับสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเลย โดยกลุ่มกบฏจะคอยซุ่มโจมตีและซุ่มยิงรถโดยสารของผู้ที่ใช้เส้นทางระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ก็ซึ่งเป็นเส้นทางที่คณะของเราใช้เดินทางนั่นเอง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ไม่แตะต้องทรัพย์สินใดๆ เป้าหมายก็เพียงเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนและสร้างความสั่นคลอนสถานภาพของรัฐบาล ถึงแม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้จะลดระดับความรุนแรงไปแล้ว และผู้คนที่ใช้เส้นทางนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ระหว่างที่เราใช้เส้นทางนี้เดินทางเราเห็นว่ามีตำรวจและทหารลาวประจำการอยู่ตามเส้นทางเป็นระยะๆ

ในกรณีนี้ผู้เขียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองของลาว อาจเป็นเพราะเรายังไม่มีความลึกซึ้งและรู้เรื่องดีพอเกี่ยวกับที่มาของข้อขัดแย้งดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถกล่าวในที่นี้ได้คือ "อำนาจ" เป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง ดังนั้นผู้คนจึงขวนขวายที่อยากจะมีอำนาจไม่ว่าจะเป็นระดับเล็กในองค์กร หรือระดับใหญ่ในระดับประเทศหรือระดับโลก ฉะนั้นผู้ที่มีและใช้อำนาจจะต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้องตามครรลองครองธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้อำนาจเป็นและไม่เป็นคนติดอำนาจ เมื่อคนผู้นั้นหมดอำนาจไปแล้ว ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีความเข้าใจได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ปัญหาที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันคือการลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจของผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งในภาคองค์กรราชการ เลยไปถึงระดับนักการเมืองในระดับประเทศ เพราะสาเหตุนี้จึงทำให้บ้านเมืองเราวุ่นวายไม่รู้จบ ก็คงต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม

เราเดินชมรอบๆ วังของเจ้ามหาชีวิต อยู่แต่เพียงบริเวณภายนอก โดยที่ไม่ได้เข้าไปดูข้างในที่มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิตตอนที่ท่านประทับอยู่ ณ ที่นี้ พวกเราได้แต่เกาะรั้วดูจากข้างนอก อันเนื่องมาจากข้างในมีนักท่องเที่ยวเข้าไปชมจำนวนมาก และก่อนเข้าจะต้องฝากข้าวของไว้ข้างนอก เช่น กล้องถ่ายรูป และประการสำคัญคือต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าซิ่นตามธรรมเนียมลาว ก็เลยเห็นว่าค่อนข้างขลุกขลักเลยไม่เข้าไปดีกว่า แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ได้เป็นการบ่นว่าอะไร ในทางตรงกันข้ามกลับเห็นดีงามไปกับชาวลาวที่ยังคงที่จะรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ในเรื่องการแต่งกาย และเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเราในฐานะผู้มาเยือนควรให้ความเคารพต่อความเชื่อและวัฒนธรรมของสถานที่ที่เรามาเยือน

เท่าที่สังเกตดูจากภายนอก ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิตก็มีลักษณะคล้ายกันกับเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ของเราที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์และตามวังเก่าต่างๆ แต่ในเรื่องรายละเอียดศิลปะการตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ก็แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมประเพณี

หลังจากเราชมวังเจ้ามหาชีวิตจนพอใจแล้ว สถานที่ต่อไปก็ไม่พ้นวัดวาอาราม ที่เมืองหลวงพระบางนี้มีวัดเยอะเหลือเกิน ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมตอนเช้าจำนวนของพระที่ออกบิณฑบาตรจึงมีมากมายเหลือเกิน บางคนก็บอกว่ามีมากถึง 300 รูป แน่ะ บางที่รั้วขอบเขตพัธสีมาอยู่ติดกันเลย จนเราแทบแยกไม่ออกนึกว่าเป็นวัดเดียวกัน แต่ที่เราสังเกตได้วัดในหลวงพระบางจะไม่มีถาวรวัตถุมลังเมลืองเหมือนกับวัดในประเทศไทยที่มีโบสถ์ วิหารใหญ่โต ลักษณะอาคารสถานที่ของวัดของที่นี่มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ใหญ่โต บางที่เหมือนกับเขาจงใจที่จะไม่บูรณะดูเก่าๆ ทึมๆ ดูขลังดี แต่วัดสำคัญที่เราจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือวัด "เชียงทอง" ซึ่งวัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดที่สวยมากจริงๆ ลักษณะของสถาปัตยกรรมคล้ายกับวัดที่อยู่ตามภาคเหนือของบ้านเรา หลังคาโบสถ์ทำเป็นหลังคาซ้อนกันสามชั้น และกระเบื้องหลังคาก็ยังคงปล่อยไว้ตามสภาพเดิม เท่าที่ทราบวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก ของเมืองหลวงพระบาง และวัดแห่งนี้ยังเป็นมีโรงเก็บราชรถของเจ้ามหาชีวิตด้วย (ตามภาพข้างบน) ซึ่งก็คงเหมือนกับราชรถของไทยเราที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สำหรับข้างในโบสถ์นั้นก็คล้ายกันกับของไทยในเรื่องคติความเชื่อของพุทธศาสนา แต่แตกต่างตรงลักษณะศิลปะและลวดลายที่วาดไว้บนผนังโบสถ์เป็นศิลปกรรมแบบลาวที่ใช้เพียงสีทองในการวาดภาพ สำหรับที่ตั้งของวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้จุดที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกัน ดังนั้นเราจึงสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำสองสายได้จากบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้
เราออกจากวัดเชียงทองเป็นเวลาที่สายมากแล้ว แต่ก็เร็วเกินไปที่จะกินข้าวเที่ยงและตอนนั้นแดดก็แรงมากเกินกว่าที่จะเดินดูอะไรได้อีก บุญก็เลยแนะนำว่าไปเที่ยว"น้ำตกตาดกวางสี" กันดีกว่า ซึ่งก็อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไม่มากน่าจะประมาณสิบหรือยี่สิบกิโลประมาณนั้น อืมพวกเราก็เห็นดีด้วยได้ไปดูน้ำตกเย็นๆ จะได้ชุ่มชื่นใจตอนที่อากาศร้อนๆ หน่อย

ไม่นานจากนั้นเราก็มาถึงบริเวณน้ำตก เห็นสถานที่ของน้ำตกแล้วคิดถึงพิษณุโลกจัง เพราะที่จังหวัดนี้ผู้เขียนเคยไปใช้ชีวิตอยู่ตั้งสี่ปี และก็ออกบ่อยที่ผู้เขียนไปนอกเมืองเพื่อไปเที่ยวน้ำตกที่มีมากมายหลายแห่งไล่เรียงตั้งแต่อำเภอวังทองจนเกือบเข้าเขาค้อเพชรบูรณ์โน่น สำหรับที่น้ำตกตาดกวางสีแห่งนี้ ผู้เขียนคิดว่าลักษณะการจัดการภูมิทัศน์ของเขาดีกว่าที่บ้านเรามาก เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูเบาประเทศลาวเป็นอันขาด ทางที่จะขึ้นไปดูน้ำตกนั้นมีทางลาดยางและทางที่เป็นป่าที่เขาถางทางไว้ให้แล้ว แต่ก่อนที่จะขึ้นไปดูน้ำตกพวกเราต้องเสียค่าเข้าเสียก่อน แต่จำไม่ได้แล้วว่าคนละเท่าไหร่


พวกเราเพลิดเพลินกับเสียงและความเย็นของละอองน้ำที่กระเซ็นมาจากน้ำตก พร้อมกับกินโรตี อันเป็นของว่างที่ซื้อมาจากทางเข้าน้ำตก รู้สึกแผ่นละ 20 บาท แต่ของที่นี่แผ่นใหญ่กว่าเล็กน้อยและไม่โรยน้ำตาล รสชาติยังสู้บ้านเราไม่ได้
พอเสร็จจากการกินแล้วก็ได้เวลาเดินย่อย ผู้เขียนกับพวกพี่ๆ ก็เดินลัดเลาะไปตามแนวน้ำตกที่มีการถางทางเดินไว้ให้แล้ว ชื่นชมบรรยากาศธรรมชาติ ฟังเสียงน้ำตก เสียงนกร้องได้ไม่ทันไร ฉับพลันทันใดผู้เขียนก็เห็นกลุ่มคนจำนวนมากอยู่ตรงธารน้ำตกข้างหน้า กำลังส่งเสียงภาษาไทยดังเอะอะ ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านั้นใส่เสื้อเหลืองแดง บางคนก็กำลังกลุ้มรุมทุบตีกัน เอ๊ะ! นี่มันเป็นเหตุการณ์การปะทะกันของพันธมิตรกับนรกป่วนชาติหรือยังไงเนี่ย โอโฮ ระบาดมาถึงหลวงพระบางเลยนะเนี่ย
แหะแหะ จริงๆ เปล่าหรอกคนเขียนล้อเล่นน่ะ ปรากฏว่าเป็นกลุ่มน้องนักศึกษาจากธรรมศาสตร์เขาใส่เสื้อเชียร์ฟุตบอลประเพณีของปีนี้น่ะ ก็สีประจำธรรมศาสตร์สีเหลืองแดงไง "สีเหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้" เขาใส่มาเหมือนกันหมดทุกคนเลย สงสัยมาทัศนศึกษาน่ะ โล่งอกใช่ไม๊ล่ะว่าไม่มีสงครามสีมาแพร่ระบาดถึงบ้านเมืองอื่นเขาให้คนไทยที่รักชาติบ้านเมืองอย่างเราๆ ขายหน้าเพื่อนบ้านและคนต่างชาติอื่นๆ เก็บเอาไว้ตีกันในบ้านละกัน





















































































































































































ไม่มีความคิดเห็น: