วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

คุยคั่นเวลา (ตอนรากเหง้าของคนไทยกำลังจะล้มหายตายจาก)

หากท่านผู้อ่านไม่ได้อยู่ในแวดวงของเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน ท่านอาจไม่รู้จักผู้ชายที่กำลังหล่อและปั้นพระที่อยู่ในรูป ตัวผู้เขียนเองก็อาจไม่รู้จักท่านเหมือนกันหากไม่บังเอิญว่าผู้เขียนได้ใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิตนิสิตมหาวิทยาลัยเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมไปถึงบุตรสาวของท่านผู้นี้ก็เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนเดียวกันกับผู้เขียน จึงทำให้ผู้เขียนได้รู้จัก "จ่าทวี บูรณเขตต์" ในฐานะผู้ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในทางที่ดีของจังหวัดพิษณุโลก และการเป็นพ่อของเพื่อนร่วมชั้นเรียน

ในช่วงที่ไปใช้ชีวิตที่พิษณุโลกใหม่ๆ ผู้เขียนมีความสงสัยว่าทำไมผู้ชายที่เกษียณอายุจากราชการทหารที่เป็นเจ้าของโรงหล่อพระจึงเป็นที่ยอมรับนับถือนักจากคนจังหวัดพิษณุโลก ตัวท่านนั้นมีอะไรนอกเหนือไปจากการเป็นเจ้าของโรงหล่อพระ และเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล็กๆ ที่มาจากการจัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านส่วนหนึ่งที่มีอยู่กว้างขวางพอสมควรที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ในตัวเมืองหรือ ตอนนั้นผู้เขียนเองก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ รวมไปถึงคำตอบของคนที่อยู่รอบข้างตัวผู้เขียนที่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่เข้าถึงแก่นคำถาม และอาจจะเป็นช่วงชีวิตวัยรุ่นอายุแค่ 18-19 ปี ทำให้ผู้เขียนไม่ได้สนใจอย่างจริงจังกับสิ่งที่จ่าทวีเป็นและทำอยู่ ณ ขณะนั้น มากไปกว่าการที่ท่านผู้นี้เป็นพ่อของเพื่อน

เมื่อใดที่มหาวิทยาลัยมีงานพระราชทานปริญญาบัตร นิสิตอย่างผู้เขียนมีหน้าที่ไปแสดงความยินดีกับรุ่นพี่และคอยดูพระราชพิธีอยู่ห่างๆ ครั้งหนึ่งที่จ่าทวีได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเสนอชือให้เป็นผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีคุโณปการด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านจากผลงานการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของท่านนั่นเอง และคราวใดที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาจังหวัดพิษณุโลกไม่ว่าจะด้วยการทรงมาพระราชทานปริญญาให้แก่ผู้จบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเรา หรือจะเสด็จมาด้วยการอื่น ทุกๆ ครั้งของหมายเสด็จไปตามที่ต่างๆ จะต้องมีพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยิ่งเพิ่มความอยากรู้ถึงความสำคัญของจ่าทวีและผลงานของท่านให้มีมากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองในช่วงเวลาของการใช้ชีวิตในขณะนั้น ก็ละเลยที่จะหาคำตอบให้กับตัวเอง คงใช้เวลาในฐานะนิสิต เรียน เล่น เที่ยวสนุกสนานกับเพื่อน ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเหยียบย่างเข้าไปดูว่าในพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีนั้นมีความสลักสำคัญอะไรนัก ขนาดเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านถึงต้องเสด็จเข้าไปทอดพระเนตร ทั้งๆ ที่หอพักของผู้เขียนและพิพิธภัณฑ์ห่างกันแค่สองช่วงถนน และตอนนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

จนกระทั่งใกล้จบการศึกษา ผู้เขียนมีความคิดที่อยากตระเวณเที่ยวให้ทั่วพิษณุโลกก่อนกลับบ้านเป็นการถาวร เพื่อเป็นการรำลึกว่าครั้งหนึ่งตัวเองเคยมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ด้วยความสุข ผู้เขียนและเพื่อนๆ จึงได้ออกเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวีด้วย เมื่อแรกเข้าไปนั้นผู้เขียนคิดว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ดูเหมือนไร้ชีวิต เนื่องมาจากมีคนเข้าเยี่ยมชมน้อยมาก ดูราวกับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงสถานที่เก็บของเก่า ของใช้พื้นบ้าน เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว อุปกรณ์ที่คนสมัยก่อนใช้จับสัตว์ และอะไรอีกมากมาย ของเหล่านั้นเหมือนกับว่ารอให้ผุพังและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนรู้สึกมีความชื่นชมจ่าทวีและครอบครัวที่มีความอุตสาหะในการที่จะรักษาของเหล่านี้ให้แก่บุคคลรุ่นหลังได้ดู และชื่นชมถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในการประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอย นอกไปจากนี้ผู้เขียนได้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่งในการทำสิ่งที่ตัวเองรักและชื่นชอบ ผู้เขียนทราบมาว่าของใช้ที่นำมาแสดงเหล่านั้น จ่าทวีใช้ระยะเวลามาเนิ่นนานในการเสาะหาและเก็บสะสมของใช้พื้นบ้านเหล่านั้น โดยท่านเริ่มสะสมมาตั้งแต่วัยหนุ่ม

หลังจบการศึกษาไปได้ไม่นานนัก ผู้เขียนได้รับทราบเรื่องของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีอีกครั้งหนึ่งจากเพื่อนเมื่อคราวที่เรามานัดพบปะสังสรรค์กัน โดยตอนนั้นผู้เขียนทราบมาว่าลูกสาวอีกคนหนึ่งของท่านชื่อ "คุณปู" ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอันเป็นความต้องการของผู้เป็นพ่อที่อยากเห็นลูกจบการศึกษาด้านโบราณคดี ได้มารับช่วงต่อในการเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผู้เขียนนึกอยู่ในใจว่าสถานการณ์ของพิพิธภัณฑ์น่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นเพราะได้คนรุ่นใหม่มาช่วยบริหารอีกแรงหนึ่ง

ข่าวคราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลือนหายไปจากความนึกคิดของผู้เขียนเป็นเวลาร่วม 20 ปี จนกระทั่งมาวันหนึ่งเมื่อต้นปีนี้เอง



"พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ภูมิปัญญาไทยที่กำลังสิ้นใจ"






นั่นเป็นหัวข้อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งที่ผ่านกระทบสายตาของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนต้องรีบเข้าไปอ่านในรายละเอียดเนื้อหาข่าวโดยทันที โดยในเนื้อหาข่าวระบุว่าได้มีการจัดเสวนาระหว่างนักวิชาการและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ก็คือ "คุณปู" นั่นเอง ซึ่งสาระของการเสวนาเป็นการบอกเล่าของความยากลำบากในการบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ภายใต้กระแสอันเชี่ยวกรากของระบอบทุนนิยมตะวันตก


(รายละเอียดตาม weblink ข้างล่างนี้) http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=8479


อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความขมขื่นและภาระที่หนักอึ้งของผู้หญิงคนหนึ่งที่จะต้องแบกรับ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว "คุณปู" และผู้เขียนก็อยู่ในวัยไล่เรี่ยกัน แต่ภาระและหน้าที่ดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับตัวผู้เขียนเองคงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าการให้กำลังใจ "จ่าทวี" "คุณปู" รวมไปถึงครอบครัวบูรณเขตต์ให้สามารถฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปให้ได้ ถึงแม้ว่าในใจผู้เขียนเองยอมรับแล้วว่ามันมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีลมหายใจยืนยาวไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานภายใต้การดูแลของ "จ่าทวี" และทายาท ที่มีใจรักในการทำสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนมองเห็นภาพอนาคตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เหลือทางเลือกอยู่ไม่มาก ถ้าคนไทยและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกันคนละไม้ละมือเพื่อต่อลมหายใจพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในอนาคตลูกหลานของเราก็คงจะไม่รู้จักรากเหง้าและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ หวังแต่เพียงให้มีผู้เข้าใจถึงความรักในสิ่งที่ตนเองกำลังทำของจ่าทวีและทายาท หวังให้ผู้คนเหล่านั้นที่มีฐานะทางการเงินไม่ลำบาก ได้สละเวลาและทุนทรัพย์ของพวกเขาที่ใช้ไปในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟที่ปารีส หรือบริติช มิวเซียม ที่ลอนดอน ได้หันกลับมาดูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของไทยเรากันบ้าง เพื่อเป็นการรักษาสิ่งดีดีเหล่านี้เอาไว้ให้ยั่งยืนเท่าที่จะทำได้


จากคำถามที่เคยถามตนเองเมื่อ 20 ปีก่อน มาถึงวันนี้ผู้เขียนมีคำตอบให้กับตนเองแล้ว ผู้เขียนมองเห็นผู้ชายวัยกลางคนยืนเคียงข้างกับลูกสาวและคนในครอบครัวบูรณเขตต์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่คุณลุงจ่ามีความอุตสาหะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี คุณลุงจ่าต้องทุ่มเทแรงกาย แรงทรัพย์ เพื่อที่จะรักษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ประวัติและที่มาของคนไทยให้กับเด็กยุคใหม่ ในขณะที่นอกประตูรั้วพิพิธภัณฑ์ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกเเข้ามาเคาะถึงประตูรั้วของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะรู้ตัวดีว่า แรงกาย แรงใจ และแรงทุนทรัพย์ของตนนั้นไม่สามารถต้านทานกระแสความแรงของวัฒนธรรมต่างถิ่นได้ แต่ลุงจ่าก็ยังทำในสิ่งที่ตนเองรักต่อไปถึงแม้ว่าจะรู้ดีว่าจะไม่ได้อะไรตอบแทนกลับคืนมาในรูปของทรัพย์สินเงินทอง สิ่งนี้เองที่ทำให้คุณลุงจ่าเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวพิษณุโลก รวมทั้งได้รับการยกย่องจากคนข้างนอก แต่ยังไงก็ตามเฉพาะแค่คำสรรเสริญเยินยอเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ความฝันของผู้ชายวัยกลางคนนี้เป็นจริงได้ ชาวพิษณุโลกเองก็ดี หรือใครๆ ก็ตามที่เห็นคุณค่าของความคิดและการกระทำของปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ อยากจะขอให้ท่านช่วยกันต่อลมหายใจให้กับพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ด้วยการกระทำใดๆ ที่ท่านพอจะทำได้


สำหรับตัวผู้เขียนเองขอเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยในเบื้องต้นได้รับทราบมาว่า วันที่ 1 เมษายน 2552 นี้ จะมีงาน "ฟื้นวิถีชุมชน ชื่นชมคนท้องถิ่น" ตั้งแต่เวลา 15.00 - 23.00 น.มีเวทีเสวนา “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน่าน - แควน้อย”โดย อ.ศรีศักร วัลลิโภดม และดนตรีเพื่อชีวิตโดย เอ้ ผูกพัน วงคาวบอยบ้านตะวันออกจ.พิษณุโลก หงา คาราวาน, หว่อง มงคล อุทก, และผองเพื่อน บัตรเข้างาน 200 บาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี สอบถามรายละเอียดได้ที่ พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี 055-212749 และกลุ่มหนุ่มสาวศึกษาเพื่อการฟื้นฟูวิถีชุมชนท้องถิ่น หรือท่านอาจจะเข้าไปในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนลิงค์ไว้ให้ข้างๆ คลังบทความก็ได้



ไม่มีความคิดเห็น: