วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดลิ้นชักความทรงจำที่ต่างแดน

"Fancies are for remembrance"
June 22/2001
Sincerly,

Mary


วันนี้ผู้เขียนได้ฤกษ์ทำความสะอาดห้องนอนซะที หลังจากที่ปล่อยให้ห้องรกไปด้วยหนังสือหนังหาหลากหลายประเภท พอที่จะเริ่มเก็บบรรดาหนังสือเหล่านั้นขึ้นวางบนหิ้งหนังสือ ก็มีหนังสือจิ๋วเล่มหนึ่งตกลงมา ชื่อปกหนังสือเขียนว่า "Life's Little Treasure Book on Wisdom"



"เอ เรามีหนังสือแบบนี้ด้วยหรือ เล่มจิ๋วมาก" พอเปิดหน้าแรกของหนังสือก็เห็นข้อความภาษาอังกฤษตามที่เขียนโปรยไว้ข้างบน

"Mac, I'm glad to have you here. I'm so happy that we know each other. I hope you'll get back to Barrie again sometimes. So, give me a hug".

ข้อความข้างบนนั้นเป็นคำพูดของ Mary ผู้ที่เขียนข้อความในหนังสือเล่มจิ๋วนั้นให้ผู้เขียนเก็บไว้เป็นที่ระลึก หลังจากที่ผู้เขียนเดินทางไปบ้านของเธอเพื่อกล่าวคำอำลาก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทย ในสมัยเมื่อตอนผู้เขียนไปใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนอีกครั้งหนึ่งที่เมือง Barrie มณฑล Ontario ของแคนาดาเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2543-2544

Mary เป็นผู้หญิงวัยกลางคนรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ของผู้เขียน เธอเป็นเพื่อนสนิทของ Marilyn Jenkinson ผู้หญิงที่เป็น landlady หรือเจ้าของบ้านที่ผู้เขียนพักอาศัยอยู่ด้วย ผู้เขียนรู้จักกับ Mary เมื่อวันที่ Marilyn พาผู้เขียนไปโบสถ์ประจำเมือง Barrie ในวันอาทิตย์ ซึ่งนอกเหนือจาก Mary แล้ว Marilyn ยังแนะนำผู้เขียนให้รู้จักเพื่อนเธอคนอื่นๆ ด้วย ถ้าจะว่าไปแล้วผู้เขียนรู้สึกผูกพันกับ Mary มากกว่า Marilyn ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ อาจจะเป็นเพราะอะไรบางอย่างในตัวของ Mary ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่ของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ่นที่อ้วนท้วน ลักษณะการพูดการจา แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือความคิด ค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างฝรั่งกับไทย

สามีของ Mary เสียชีวิตไปนานแล้ว ในขณะที่ลูกสาว 3 คน แยกย้ายมีครอบครัว ไปอยู่ตามที่ต่างๆ ไกลออกไป นานๆ เวลามีเทศกาลที่ครอบครัวฝรั่งเขาต้องมาพบกัน เช่น Thanksgiving Day ก็ถึงจะมาเยี่ยมแม่กันสักที Mary นั้นมีโรคประจำตัวอย่างที่คนอ้วนเป็น เช่น ความดัน ไขมันสูง ทำให้เธอเดินเหินเหมือนจะไม่ค่อยคล่อง และดูสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามเธอก็สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังกะทัดรัดชานเมือง Barrie ได้อย่างมีความสุข

"So Mary, I know this might be my impolite conversation, but it really sticks in my throat that why your children let you go it alone. ผู้เขียนเคยถามเธอครั้งหนึ่งว่าทำไมลูกๆ ของเธอถึงได้ปล่อยให้เธออยู่ตามลำพังเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแม่มีโรคประจำตัว ที่จริงแล้วผู้เขียนเองรู้ดีว่าสิ่งนี้เป็นวิถีของชาวตะวันตกในเรื่องของการแยกครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังรู้สึกเหมือนๆ จะรับไม่ได้กับการทอดทิ้งแม่ที่เป็นหญิงหม้ายและมีโรคประจำตัวรุมเร้าอย่าง Mary ให้อยู่อย่างเดียวดายในบ้าน

"That's OK., I know the way you treat your parents, Mac. I'm doing OK. นั่นเป็นประโยคที่ Mary ตอบผู้เขียนแบบกลางๆ พร้อมด้วยรอยยิ้ม หลังเหตุการณ์วันนั้นผู้เขียนเองก็ไม่เคยคิดจะตั้งคำถามแบบนี้กับ Mary อีก เพราะกลัวว่าอาจจะไปกระทบใจเธอเข้า

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะเล่าประสบการณ์ในสมัยที่อยู่ในแคนาดา อันที่จริงพวกพี่ๆ ที่ไปเที่ยวลาวด้วยกันและได้ติดตามอ่าน blog ของผู้เขียนก็เคยแนะนำว่าให้เขียนเล่าตอนที่ไปอยู่ที่แคนาดาบ้าง แต่เข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านอาจมีประสบการณ์ตรงจากการได้ไปเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเหล่านี้มาแล้ว ดังนั้นการเล่าว่าเคยไปเที่ยวสถานที่นั้น เมืองนี้ ก็อาจจะเฝือ และที่จริงแล้วผู้เขียนชอบการเล่าเรื่องในเชิงที่จะออกไปในแนวสังคมวิทยา การได้พบปะผู้คน การคบหาเพื่อนต่างชาติ เพราะเหมือนเราได้เรียนรู้ชีวิตคนหลากหลายประเภท อาจจะมีการแทรกการเล่าเรื่องว่าไปสถานที่อะไรมาบ้างระหว่างอยู่ที่โน่น แต่จะไม่ใช่ประเด็นหลักของการเล่าเรื่อง

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางท่านสงสัยว่าเวลาผ่านมานานแล้ว ผู้เขียนยังจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้อยู่หรือ ลองกลับไปอ่านข้อเขียนตอนหนึ่งที่บอกว่าตอนเด็กๆ ชอบเขียนไดอารี ดังนั้นเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่แคนาดาผู้เขียนได้จดบันทึกไว้หมด หวังว่าจะยังคงมีคนคอยติดตามเรื่องของผู้เขียนตอน "เปิดลิ้นชักความทรงจำที่ต่างแดน ที่แคนาดา"

ไม่มีความคิดเห็น: